ข่าวและกิจกรรม

โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568

 

โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568

 

 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วม โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568 โดยอบรมผ่านโปรแกรม ZOOM ระหว่างวันที่ 9 – 17 มิถุนายน 2568 เวลา 18.00 – 21.00 น. และสอบวัดผล ในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง อบรมและบรรยายโดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป และเป็นการปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

 

เนื้อหาการอบรมจะมุ่งเน้นไปที่ พื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ และความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัย โดยคาดหวังว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมจะมีความรู้ และความเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการ รวมถึงเนื้อหาในด้านจิตวิทยาพัฒนาการเบื้องต้น เพื่อนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการทำความเข้าใจ และสร้างผลงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการในเชิงลึกต่อไปได้

 

 

ผู้เข้าอบรมจะได้รับ วุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา ได้ผู้เข้าอบรมจะต้องผ่านเกณฑ์การวัดผลดังนี้

  • ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง (18 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม

 

 

 

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2568 (ลิงค์สำหรับดูย้อนหลังจะถูกจัดส่งทางอีเมล)

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

 

*บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว
มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ*

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
    โครงการอบรมแบบออนไลน์ หากลิงค์รับสมัครยังคง activate ท่านสามารถดำเนินการสมัครและชำระค่าลงทะเบียนได้เลย
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์จะจัดส่งให้อีเมล กรุณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ และอีเมล
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอยโทร. 02-218-1307 หรือ email: Wathinee.s@chula.ac.th

Social So Chill – Monthly Live Talk 2025

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2568


 

 

Ep.01 – สัมผัสรักผ่านหน้าจอ: ด้อม ศิลปิน และความใกล้ชิดในยุคโซเชียล

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ นัทธ์ชนัน สังฆรักษ์ และวรินธา วิจิตรวรศาสตร์ นิสิตระดับปริญญาตรี

 

Ep.02 – Psychologal safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

Ep.03 – Connecting Throuh Shared Emotions

วิทยากร: Dr. Adi Shaked

 

Ep.04 – Family Resilience: ครอบครัวไทยที่เข้มแข็งปรับตัวกับเหตุไม่คาดคิดอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และคุณกุณฑลีพร อมรชัยยาพิทักษ์ นิสิตระดับปริญญาเอก

 

Ep.05 – 

วิทยากร:

 

Ep.06 – 

วิทยากร:

 

Ep.07 – 

วิทยากร:

 

EP.08 – 

วิทยากร:

 

EP.09 – 

วิทยากร:

 

EP.10 – 

วิทยากร –

 

EP.11 – 

วิทยากร –

 

EP.12 – 

วิทยากร –

 

 

 

งานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ครบรอบการดำเนินงาน 2 ปี TIMS

 

วันที่ 25 เมษายน 2568 สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานงานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต ณ ห้อง Ballroom ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส เพื่อรายงานผลการดำเนินงานครบรอบ 2 ปี โดยนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการเด่น 9 โครงการ ได้แก่

 

  1. โครงการระบบนิเวศนโยบายสาธารณะเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  2. โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา
  3. โครงการการอภิบาลระบบสุขภาพจิตในประเทศไทย
  4. โครงการพัฒนาตัวแบบและกระบวนการอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน (ม้านั่งมีหู)
  5. โครงการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและครอบครัว
  6. โครงการพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพใจชุมชนด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวกผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
  7. โครงการการพัฒนาระบบและเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต
  8. โครงการพัฒนาหลักสูตรเสริมพลังอาสาสมัครผู้รับฟังเพื่อส่งเสริมสุขภาพใจในกลุ่มผู้พิการ
  9. โครงการพัฒนามาตรวัดความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี และเสริมกลไกการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในทุกมิติ

 

 

 

 

ภาพบรรยากาศงาน

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ “ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)” ปี 2568

 

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ

“ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

ประจำปี พ.ศ. 2568

 

 

 

‘โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ เป็นโครงการสําหรับการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการปรึกษา ได้เรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ของจิตวิทยาการปรึกษา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา และทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงการคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนําศาสตร์ทางจิตวิทยาการปรึกษาไปประยุกต์ใช้ต่อตนเอง และผู้อื่นให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายผลักดันการเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น/ชุดรายวิชา ที่มีการรับรองความสามารถ และรองรับการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ให้กับผู้สนใจเข้าศึกษา และสามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรของคณะ ในการนี้คณะจิตวิทยาจึงได้จัดให้มีโครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ ขึ้นมาเพื่อนำร่องสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 2 สิงหาคม 2568 (อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม) ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

** โครงการนี้เป็นการเรียนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัด ไม่มีการฝึกปฏิบัติ ผู้เรียนยังไม่สามารถให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาได้ **

 

 

การอบรมประกอบด้วย

  • บรรยาย
    เปิดสอนแบบชุดรายวิชา (Module) โดยการบรรยายแบ่งเป็น 16 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงการบรรยายทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผล
    จัดสอบ 1 ครั้ง ระยะเวลา 3 ชั่วโมง

 

 

การประเมินผล

  • การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 30
  • สอบวัดผลและรายงาน คิดเป็นร้อยละ 70

โดยประเมินผลแบบ Letter Grade มีเกณฑ์การวัดผล ดังนี้

 

Letter Grade
ช่วงคะแนน
A
85 คะแนนขึ้นไป
B+
80 – 84 คะแนน
B
75 – 79 คะแนน
C+
70 – 74 คะแนน
C
65 – 65 คะแนน
D
60 – 64 คะแนน
F
ต่ำกว่า 60 คะแนน

 

 

หลักเกณฑ์การบันทึกระบบคลังหน่วยกิต / เทียบโอนรายวิชาเมื่อเข้าศึกษา

 

Certificate of Achievement
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 16 หัวข้อ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องสอบผ่านโดยได้รับการประเมินผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 (B ขึ้นไป)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องสอบผ่านโดยต้องได้รับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนและการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต ของคณะจิตวิทยา มาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการ (ผู้เข้าร่วมโครงการประจำปี พ.ศ. 2567 สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 – ปีการศึกษา 2571)

 

Certificate of Attendance
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าเรียนในหัวข้อที่อบรม
  2. มีระยะเวลาเก็บในแต่ละหัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 16 เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงมีสิทธิ์ขอสอบรับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนเพื่อเทียบโอนรายวิชา (Certificate of Achievement)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องเข้าร่วมโครงการครบ 16 หัวข้อ นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการในหัวข้อแรก จนถึงสอบผ่านการอบรมโครงการ รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี

 

 

การเทียบโอนรายวิชา

 

รหัสรายวิชา
ชื่อรายวิชา
จำนวนหน่วยกิต
3802601
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY
3 (3-0-9)
คำอธิบายรายวิชา
การวิเคราะห์เปรียบเทียบและการประเมินโดยประสบการณ์เกี่ยวกับทฤษฎีและเทคนิคในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
ทักษะเบื้องต้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด งานวิจัยปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง
Comparative analysis and empirical evaluation of counseling and psychotherapy theories, and techniques;
basic skills for counseling and psychotherapy; current relevant research.
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
  • เข้าใจและวิเคราะห์จุดเด่น ข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่สำคัญได้
  • สามารถค้นหาและอธิบายทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่ได้รับมอบหมายได้

 

* การเทียบโอนรายวิชาจะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ภายในภาคการศึกษาแรกของการเข้าศึกษาในหลักสูตร

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม / วิทยากร

 

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

 
ประเภทผู้เข้าร่วมอบรม
อัตราค่าลงทะเบียน
1
บุคคลทั่วไป (Early Bird)
18,000 บาท (16 หัวข้อ)
2
บุคคลทั่วไป (หัวข้อละ 2,000 บาท)
20,000 บาท (16 หัวข้อ)
3
* บุคคลทั่วไป สำหรับสอบวัดผล
500 บาท

 

หมายเหตุ

  • บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  • * ผู้ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนสำหรับการสอบวัดผล ต้องเป็นผู้เคยเข้าร่วมอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY) มาแล้วไม่เกิน 5 ปี และผ่านการทดสอบโดยได้ระดับคะแนนการทดสอบอยู่ระหว่างร้อยละ 60 – 74
  • Early Bird ช่วงระยะเวลารับสมัคร ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
  • ลงรายหัวข้อ หัวข้อละ 2,000 บาท (โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนชำระเงิน)

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ และจะมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ติดต่อไปเพื่อให้ท่านชำระค่าลงทะเบียน
  2. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด
  3. เมื่อส่งหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนเรียบร้อยจึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  4. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  5. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย งานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tel. 02-218-1307 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. (จันทร์ – ศุกร์)
E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 


 

การเดินทางมายังคณะจิตวิทยา
อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

ขนส่งสาธารณะ

  • BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 2 แล้วเดินตรงเข้ามาทางประตูสนามนิมิบุตร ประมาณ 300 เมตร
  • รถเมล์ ป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ / มาบุญครอง / โอสถศาลาที่จอดรถ

 

อาคารจอดรถ 4 ติดกับอาคารจุฬาพัฒน์ 14

 

 

 

 

คำอธิบายหัวข้อการเรียน

 

 

1. Why be a counsellor
นักจิตวิทยาการปรึกษาคืออะไร แล้วทำไมเราจึงอยากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา
2. Difference, Diversity, and Power
ความแตกต่างหลากหลายและมิติทางอำนาจในกระบวนการปรึกษา
3. Wounded Counsellor: Therapeutic Use of Self
ประสบการณ์บาดแผลทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการปรึกษา
4. Psychoanalytic and Psychodynamic Therapy
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์และพลวัต: เหตุใดทฤษฎีต้นตำรับของจิตบำบัดนี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน
5. Humanistic Approach – Rogerian Client-Centered Approach
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง : เมื่อศักยภาพของมนุษย์เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง
6. Logotherapy
จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต : แม้ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ชีวิตก็ยังมีความหมาย มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองเสมอ
7. Gestalt Therapy
จิตบำบัดแนวเกสตัลท์ : สุขภาวะทางจิตดีขึ้นได้ด้วยการตระหนักรู้อย่างเป็นปัจจุบันขณะ
8. Buddhist Approach
จิตวิทยาการปรึกษาเชิงพุทธ : บูรณาการพุทธธรรมสู่การดูแลใจเชิงจิตวิทยา
9. Adlerian Therapy & Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบแอดเลอเรียนเพื่อการเข้าใจและแก้ไขปมในใจที่บ่มเพาะในวัยเด็ก และจิตบำบัดมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เมื่อความสุขและความทุกข์กำหนดโดยสิ่งแวดล้อม
10. Cognitive Behavioural Therapy: The Gold Standard for Depression and Anxiety
จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรมนิยม : จิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับสำหรับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
11. Acceptance and Commitment Therapy
จิตบำบัดแนวการยอมรับและพันธสัญญา : ยอมรับความท้าทาย พร้อมยืนหยัดต่อความหมายในชีวิต
12. Couple and Family Therapy
พื้นฐานจิตวิทยาความสัมพันธ์และครอบครัว
13. Reality Therapy
การปรึกษาแบบเผชิญความจริง : ชีวิตมีทางเลือก เมื่อทางเลือกเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ค้นหาทางเลือกสู่ชีวิตที่ปรารถนา
14. The Controversy of Diagnosis
มองข้อถกเถียงเกี่ยวกับการวินิจฉัยในศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาในมุมต่าง ๆ
15. Art Therapy
ศิลปะบำบัดในศาสตร์กระบวนการปรึกษา
16. Therapeutic Relationship: A significant predictor of therapeutic outcome
สัมพันธภาพในกระบวนการปรึกษา : ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของจิตบำบัด

 

 

ขอแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะผู้บริหารฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสาธิต อาคาร 60 ปี สัตวแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

 

 

ขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และคณะผู้บริหารสถาบันฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาฯ

Rape Myth มายาคติ…ที่ทำให้การข่มขืน กลายเป็นเรื่องเล็ก

 

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ในการศึกษาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ (Feminist) ได้กล่าวถึงความเชื่อในการกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้เหยื่อสำหรับการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) การข่มขืน (Rape) และการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีผลมาจากการยอมรับมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth Acceptance) (McMahon, 2007) โดยการโยนความผิดในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นให้มีสาเหตุจากการแต่งกายของเหยื่อ (Payne, 1999) พฤติกรรม หรือการปฏิเสธที่ไม่ชัดเจนของผู้ถูกกระทำ (O’Byrne, 2008)

 

โดยในการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความหมายของมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth) เอาไว้ว่าเป็นความเชื่อ ความคิด หรือเจตคติที่ประกอบไปด้วยการกล่าวโทษเหยื่อของการข่มขืน การลดทอนความรุนแรงและผิดของผู้กระทำ ไปจนถึงการลดทอนความจริงจังของเหตุการณ์ตลอดจนผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ (Payne, 1999) เป็นความเข้าใจผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศหรือการข่มขืน อคติ และภาพเหมารวมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและผู้กระทำในการข่มขืน (Burt, 1980) ที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ หรืออาจหมายถึงเจตคติและความเชื่อที่แพร่กระจายอย่างไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดการตัดสินเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่ผิดจากที่ควรจะเป็น (Lonsway & Fitzgerald, 1994) ซึ่งมักแสดงให้เห็นในรูปแบบชุดความคิดที่ว่า “เหยื่อพูดโกหก”, “เหยื่อเป็นคนเรียกร้องให้มีเพศสัมพันธ์”, “เหยื่อต้องการแบบนั้น” ซึ่งเป็นการโจมตีไปที่เหยื่อของการข่มขืน หรือในทางตรงข้ามคือการลดการกล่าวโทษผู้กระทำ อาทิ “ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น”, “ผู้กระทำไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อมีสิ่งเร้า” ตลอดไปจนถึงลดความรุนแรงของเหตุการณ์ อาทิ “เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย” หรือ “เหยื่อไม่ได้เจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้น” (Bohner, 1998; Eyssel & Bohner, 2010; Lonsway & Fitzgerald, 1994)

 

  • “ก็ไม่เห็นจะขัดขืนเลยนี่…จะเรียกว่าข่มขืนได้อย่างไร?”
  • “แต่งตัวโป๊ขนาดนั้น ใครเห็นก็อดไม่ได้หรือเปล่า?”
  • “จริง ๆ แล้วก็ชอบไม่ใช่เหรอ?”
  • “ก็แค่ครั้งเดียว สมัยนี้แล้วก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่…”

 

แนวคิดของ Lonsway และ Fitzgerald นั้น ได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างกว้างขวางจากคำพูด คำวิจารณ์ และการตัดสินทางสังคมของผู้คนทั่วไปที่มีต่อเหยื่อของการข่มขืน และแม้ว่าในปัจจุบันสื่อและสังคมออนไลน์ (Social Network) จะถูกใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้แขนงต่าง ๆ ข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดไปจนถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ และถูกใช้เพื่อการรณรงค์อย่างหลากหลายด้วยความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นก็ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก ถ้อยคำและตัวอักษรที่แสดงถึงการตัดสินจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์ ไม่ต่างจากการกรีดซ้ำบาดแผลของเหยื่อที่ได้รับความทุกข์ทรมานในอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเหยื่อเลยแม้แต่น้อย

 

มายาคติที่เป็นความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วอาจแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยการทำความเข้าใจมุมมองของผู้ถูกกระทำให้มากขึ้น พิจารณาข้อเท็จจริง มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และคำนึงถึงหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้มุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น

 

 

มายาคติที่ 1 : ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ เธอ / เขา ดื่มมากเกินไป

ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครสมควรถูกข่มขืนหรือถูกทำร้าย ความมึนเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการล่วงละเมิดทางเพศ และการดื่มสุราหรือของมึนเมาก็ไม่ใช่การเชิญชวนให้มีกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด

 

มายาคติที่ 2 : เธอ / เขา เป็นฝ่ายเรียกร้องเอง

ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครเรียกร้องความรุนแรงหรืออาชญากรรมทางเพศ การให้ความยินยอมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความไม่สะดวกใจ หรือมีเหตุขัดข้องบางประการ

 

มายาคติที่ 3 : เธอ / เขา ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน

ข้อเท็จจริง : ในบางครั้ง ความเครียดและความตกใจที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เสมอไป การแสดงอาการนิ่งเฉยมักเกิดขึ้นเมื่อกลไกการป้องกันของสมองสั่งให้ร่างกายหยุดนิ่ง หรือที่เรียกว่าภาวะช็อค ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู่ขัดขืนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ทำร้ายมีความแข็งแรงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบหลีกหนี (Flight) โดยอัตโนมัติ

 

มายาคติที่ 4 : เธอ / เขา ไม่ได้ปฏิเสธ แล้วจะไม่ยินยอมได้อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : การปฏิเสธที่ชัดเจน อาจไม่ใช่สิ่งที่เหยื่อสามารถกระทำได้ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือรู้สึกถึงภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำอาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ทุกเมื่อ ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการเอ่ยปฏิเสธหรือขอความช่วยเหลือในขณะนั้น

 

มายาคติที่ 5 : หากร่างกายตอบสนอง นั่นก็ไม่ใช่การข่มขืน

ข้อเท็จจริง : ปฏิกิริยาทางกายภาพของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้ามเนื้อเรียบและระบบประสาทที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการหล่อลื่นตามธรรมชาติ การแข่งตัว หรือการถึงจุดสุดยอดก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกระทำมีความสุขหรือยินยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพียงเท่านั้น

 

 

อาชญากรรมทางเพศคือสิ่งที่สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศและทุกวัย อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เกือบทุกรูปแบบไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะระมัดระวังตัวมากเพียงใด ในสถานการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างโหดร้ายให้แก่เหยื่อที่ต้องเผชิญ การเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ความเห็นอกเห็นใจแค่เพียงเศษเสี้ยว ก็อาจเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น ตลอดจนได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

 

เพราะบาดแผลในจิตใจไม่เคยเป็นเรื่องเล็กสำหรับใคร การทำความเข้าใจและไม่ตัดสินจึงเป็นการรักษาความเจ็บปวดนั้นได้ไม่มากก็น้อย…ลองเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนที่มาบาดแผลกันนะคะ

 

 

Reference :

Ten Myth About Rape : https://clevelandrapecrisis.org/resources/resource-library-2/featured/rape-myths/

Lonsway, K. A., & Fitzgerald, L. F. (1994). Rape myths. In review. Psychology of women quarterly, 18(2), 133-164.

Rape Myths & Facts : https://rsvpcenter.washu.edu/get-informed/rape-myths-facts/

 

 


 

 

บทความโดย

คุณบุณยาพร อนะมาน
นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)

 

 

เมื่อผู้สูงวัยในบ้าน เริ่มเปลี่ยนผ่านจากสุขภาพแข็งแรง สู่ภาวะเปราะบาง

 

เหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจเปลี่ยนสถานการณ์ภายในครอบครัวได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง มาเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เราผู้ที่เป็นลูกหลาน เป็นคู่ชีวิต และเป็นสมาชิกในครอบครัว ควรเตรียมรับมืออย่างไร?

 

เหตุการณ์พลิกผันที่อาจเกิดขึ้น มีได้หลากหลายแบบ เช่นเมื่อผู้สูงวัยในบ้านหกล้ม หมดสติ เป็นลม หน้ามืดตามัว ชักกระตุก มีภาวะสมองขาดเลือด (หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง และพูดติด ๆ ขัด ๆ) ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ เป็นเหตุฉุกเฉินให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้สูงวัยบางท่านหลังจากออกจากโรงพยาบาลในคราวแรก ๆ ก็สามารถฟื้นจากอาการป่วย และกลับมาดูแลตนเองได้ แต่ในหลาย ๆ ราย เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีช่วงที่ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งมากขึ้น และการฟื้นคืนของร่างกาย ก็เป็นไปได้ยากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะเปราะบาง

 

 

สัญญาณเตือนความเปราะบาง


 

 

ประเมินจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 5 ประการคือ

  1. การก้าวเดินที่ช้าลง
  2. น้ำหนักตัวที่ลดลง
  3. แสดงออกว่าเหนื่อยเพลีย
  4. กำลังมือในการหยิบจับสิ่งของอ่อนแอลงไป
  5. การมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง

 

หากมีความเปลี่ยนแปลงจาก 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็แสดงว่าบุคคลกำลังเข้าสู่ภาวะเปราะบาง (frailty) หากมีความเปลี่ยนแปลงประมาณ 1-2 ประการ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง (pre-frail) และผู้สูงวัยที่แข็งแรง (robust) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากนี้การมีโรคภัยรุมเร้าหลายโรคร่วมกัน ก็บ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางนี้ได้เช่นกัน

 

ภาวะเปราะบางในผู้สูงวัยมักจะมาควบคู่กันกับความสามารถทางการรู้คิดที่เสื่อมถอย (cognitive impairment) หรือการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ดังนั้นบุคลากรทางด้านสุขภาพจึงพยายามผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาพต่าง ๆ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยทางการรู้คิดให้กับผู้สูงวัย เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมทางสังคมที่ให้ผู้สูงวัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คน และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น

 

เมื่อผู้สูงวัยในบ้านเริ่มเข้ารู้ภาวะเปราะบาง ก็หมายความว่าความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองก็จะเสื่อมถอยลงไปด้วย การดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการดูแลสุขอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมที่ใช้ทักษะการจัดการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การจ่ายบิล การจัดตารางนัดหมาย การเดินทางไปทำกิจกรรมตามที่นัดหมาย และการจัดยา ผู้สูงวัยในบ้านที่ยังไม่เปราะบาง จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองโดยอิสระ แต่ผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ควรต้องมีผู้ช่วยดูแลเพื่อความปลอดภัย เพราะจากที่เคยจัดยากินได้เองตามฉลาก ก็จะเริ่มกินยาผิด กินยาซ้ำ หรือไม่ได้กินเลย หรือจากเดิมที่สามารถเตรียมอาหารเองได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่เมื่อเริ่มเปราะบาง ก็จะลืมเปิดเตาทิ้งไว้ หรือ กินอาหารซ้ำ เพราะนึกว่ายังไม่ได้กิน หรือข้ามมื้ออาหารไปเลย

 

 

การจัดการเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลง


 

 

ลูก ๆ ที่เคยวางใจให้ผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็จะเริ่มสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และต้องเริ่มปรับตัว วางแผน จัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

  • เริ่มพูดคุยกันในครอบครัว ถึงทางเลือกต่าง ๆ ในการดูแล โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน และให้น้ำหนักกับความต้องการของตัวผู้สูงวัยเป็นสำคัญ ผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่จะรู้สึกอุ่นใจที่สุดที่บ้านของตน การย้ายออกจากบ้านจึงควรเป็นตัวเลือกท้าย ๆ
  • ประเมินค่าใช้จ่าย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด ตามความเหมาะสมต่าง ๆ ของครอบครัว
  • จากเดิมที่ผู้สูงวัยในบ้านเคยจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น การไปพบแพทย์ การจัดยาและกินยา การจัดหาอาหาร การจ่ายบิลต่าง ๆ เมื่อมีภาวะเสื่อมถอย ลูกหลานต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
  • ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมควบคู่ไปด้วย อาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ หรือบริการสมาชิกทางโทรศัพท์ที่ให้ซื้อสินค้าต่อเนื่องแบบจ่ายปลายทาง ลูกหลานจึงควรสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
  • แต่ละบุคคลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายไม่เท่ากัน บางคนตอบสนองด้วยความทุกข์ บางคนต่อต้าน บางคนเรียกร้องความช่วยเหลือที่มากเกินจริง โปรดให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงนี้ กระบวนการการรับมือของทุกคนในครอบครัวอาจใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปี แต่ในที่สุดจะมีจุดที่ลงตัวสำหรับทุกคน

 

พึงระลึกไว้เสมอว่า แต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ทุก ๆ ครอบครัว พยายามจัดการอย่างดีที่สุดตามปัจจัยที่เป็นไปได้

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จากงานวิจัยที่ติดตามผลระยะยาว พบว่า ภาวะเปราะบาง มีทิศทางทางพัฒนาการได้ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบที่แย่ลงตามเวลา (ประมาณ 40%) 2. แบบคงที่ และ 3. แบบดีขึ้น คือมีความเปลี่ยนแปลงขาขึ้นจากระดับเปราะบางมาเป็นระดับเฝ้าระวัง (ประมาณ 20%) นั่นหมายความว่า หากมีการปรับตัวทางสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้สูงวัยที่เคยอยู่ในภาวะเปราะบาง ก็สามารถเลื่อนขั้นกลับมาสุขภาพดีขึ้นได้

 

การออกกำลังกายเป็นประจำนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบุคคลสะสมแต้มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไว้ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว ก็จะช่วยชะลอภาวะเปราะบางที่เกิดขึ้นเมื่ออายุที่มากขึ้นได้ แม้กระทั่งในผู้สูงอายุที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยทางสุขภาพร่างกาย เมื่อได้เข้าร่วมโปรแกรมสร้างเสริมการออกกำลัง ก็มักจะกลับมามีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากการออกกำลังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพใจอีกด้วย การมีสุขภาพใจที่ดี ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลังใจในการดูแลสุขภาพของตนตามไปด้วย

 

การออกกำลังใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางจิตวิทยาเราเรียกทักษะนี้ว่า การฟื้นคืนได้ทางจิตใจ (psychological resilience) คือ เชื่อมั่นในตนเองว่าตนสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมรับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต และเชื่อว่าความพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จ

 

หวังว่าทุกคนจะมีการฟื้นคืนได้ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

 

 

 

 

อ้างอิง

 

Hoogendijk, E. O., & Dent, E. (2022). Trajectories, Transitions, and Trends in Frailty among Older Adults: A Review. Annals of geriatric medicine and research, 26(4), 289–295. https://doi.org/10.4235/agmr.22.0148

 

Nari, F., Jang, B. N., Youn, H. M., & others. (2021). Frailty transitions and cognitive function among South Korean older adults. Scientific Reports, 11, 10658. https://doi.org/10.1038/s41598-021-90125-6

 

Lee, Y., Nishita, Y., Tange, C., Zhang, S. Shimokata, H., Lin, S., Chu, W. Otsuka, R. (2025). Association between objective physical activity and frailty transition in community-dwelling prefrail Japanese older adults. The Journal of nutrition, health and aging, 29(4). https://doi.org/10.1016/ j.jnha.2025.100519

 

Ye, B., Li, Y., Bao, Z., Gao, J. (2024). Psychological Resilience and Frailty Progression in Older Adults. JAMA Netw Open, 7(11):e2447605. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.47605

 

Zingmark, M., Norström, F. Transitions between levels of dependency among older people receiving social care – a retrospective longitudinal cohort study in a Swedish municipality. BMC Geriatr 21, 342 (2021). https://doi.org/10.1186/s12877-021-02283-x

 

 

คู่มือการช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะฉุกเฉิน

 

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/assets/mediadol/07d66ab7-e16d-ec11-80f9-00155d1aab27/6d80d881026a03090b171bd8728e2b14.pdf

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

งานสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ของคณะจิตวิทยา

 

ภาพบรรยากาศงานสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 806 ชั้น 8 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

คณะจิตวิทยาขอกราบขอบพระคุณ ผศ.นิรมล ชยุตสาหกิจ รศ. ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล และ รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว ที่ให้ความกรุณาเดินทางมาร่วมงานและให้คำอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ไทยอันเป็นสิริมงคลยิ่งแก่คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะจิตวิทยา

 

 

 

การเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ใจนิ่ง…ในวันที่โลกไม่แน่นอน : จิตวิทยาในการรับมือภัยพิบัติ” 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง

“ใจนิ่ง…ในวันที่โลกไม่แน่นอน : จิตวิทยาในการรับมือภัยพิบัติ”

 

ในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 17.00-18.00 น.
LIVE ทางเพจ Psychology CU

 

ร่วมเสวนาโดย

 

  • ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
    (ผู้ดำเนินการเสวนา) คณบดีคณะจิตวิทยา และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตกุล
    รองคณบดี หัวหน้าศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO) อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
  • รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี
    ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
    ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
  • รศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์
    อาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และผู้รับผิดชอบหน่วยวิจัยทางจิตวิทยาด้านภัยพิบัติและสุขภาวะ