



นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ในการศึกษาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ (Feminist) ได้กล่าวถึงความเชื่อในการกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้เหยื่อสำหรับการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) การข่มขืน (Rape) และการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีผลมาจากการยอมรับมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth Acceptance) (McMahon, 2007) โดยการโยนความผิดในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นให้มีสาเหตุจากการแต่งกายของเหยื่อ (Payne, 1999) พฤติกรรม หรือการปฏิเสธที่ไม่ชัดเจนของผู้ถูกกระทำ (O’Byrne, 2008)
โดยในการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความหมายของมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth) เอาไว้ว่าเป็นความเชื่อ ความคิด หรือเจตคติที่ประกอบไปด้วยการกล่าวโทษเหยื่อของการข่มขืน การลดทอนความรุนแรงและผิดของผู้กระทำ ไปจนถึงการลดทอนความจริงจังของเหตุการณ์ตลอดจนผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ (Payne, 1999) เป็นความเข้าใจผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศหรือการข่มขืน อคติ และภาพเหมารวมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและผู้กระทำในการข่มขืน (Burt, 1980) ที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ หรืออาจหมายถึงเจตคติและความเชื่อที่แพร่กระจายอย่างไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดการตัดสินเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่ผิดจากที่ควรจะเป็น (Lonsway & Fitzgerald, 1994) ซึ่งมักแสดงให้เห็นในรูปแบบชุดความคิดที่ว่า “เหยื่อพูดโกหก”, “เหยื่อเป็นคนเรียกร้องให้มีเพศสัมพันธ์”, “เหยื่อต้องการแบบนั้น” ซึ่งเป็นการโจมตีไปที่เหยื่อของการข่มขืน หรือในทางตรงข้ามคือการลดการกล่าวโทษผู้กระทำ อาทิ “ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น”, “ผู้กระทำไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อมีสิ่งเร้า” ตลอดไปจนถึงลดความรุนแรงของเหตุการณ์ อาทิ “เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย” หรือ “เหยื่อไม่ได้เจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้น” (Bohner, 1998; Eyssel & Bohner, 2010; Lonsway & Fitzgerald, 1994)
แนวคิดของ Lonsway และ Fitzgerald นั้น ได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างกว้างขวางจากคำพูด คำวิจารณ์ และการตัดสินทางสังคมของผู้คนทั่วไปที่มีต่อเหยื่อของการข่มขืน และแม้ว่าในปัจจุบันสื่อและสังคมออนไลน์ (Social Network) จะถูกใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้แขนงต่าง ๆ ข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดไปจนถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ และถูกใช้เพื่อการรณรงค์อย่างหลากหลายด้วยความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นก็ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก ถ้อยคำและตัวอักษรที่แสดงถึงการตัดสินจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์ ไม่ต่างจากการกรีดซ้ำบาดแผลของเหยื่อที่ได้รับความทุกข์ทรมานในอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเหยื่อเลยแม้แต่น้อย
มายาคติที่เป็นความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วอาจแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยการทำความเข้าใจมุมมองของผู้ถูกกระทำให้มากขึ้น พิจารณาข้อเท็จจริง มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และคำนึงถึงหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้มุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น
มายาคติที่ 1 : ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ เธอ / เขา ดื่มมากเกินไป
ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครสมควรถูกข่มขืนหรือถูกทำร้าย ความมึนเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการล่วงละเมิดทางเพศ และการดื่มสุราหรือของมึนเมาก็ไม่ใช่การเชิญชวนให้มีกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด
มายาคติที่ 2 : เธอ / เขา เป็นฝ่ายเรียกร้องเอง
ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครเรียกร้องความรุนแรงหรืออาชญากรรมทางเพศ การให้ความยินยอมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความไม่สะดวกใจ หรือมีเหตุขัดข้องบางประการ
มายาคติที่ 3 : เธอ / เขา ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน
ข้อเท็จจริง : ในบางครั้ง ความเครียดและความตกใจที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เสมอไป การแสดงอาการนิ่งเฉยมักเกิดขึ้นเมื่อกลไกการป้องกันของสมองสั่งให้ร่างกายหยุดนิ่ง หรือที่เรียกว่าภาวะช็อค ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู่ขัดขืนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ทำร้ายมีความแข็งแรงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบหลีกหนี (Flight) โดยอัตโนมัติ
มายาคติที่ 4 : เธอ / เขา ไม่ได้ปฏิเสธ แล้วจะไม่ยินยอมได้อย่างไร?
ข้อเท็จจริง : การปฏิเสธที่ชัดเจน อาจไม่ใช่สิ่งที่เหยื่อสามารถกระทำได้ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือรู้สึกถึงภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำอาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ทุกเมื่อ ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการเอ่ยปฏิเสธหรือขอความช่วยเหลือในขณะนั้น
มายาคติที่ 5 : หากร่างกายตอบสนอง นั่นก็ไม่ใช่การข่มขืน
ข้อเท็จจริง : ปฏิกิริยาทางกายภาพของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้ามเนื้อเรียบและระบบประสาทที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการหล่อลื่นตามธรรมชาติ การแข่งตัว หรือการถึงจุดสุดยอดก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกระทำมีความสุขหรือยินยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพียงเท่านั้น
อาชญากรรมทางเพศคือสิ่งที่สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศและทุกวัย อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เกือบทุกรูปแบบไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะระมัดระวังตัวมากเพียงใด ในสถานการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างโหดร้ายให้แก่เหยื่อที่ต้องเผชิญ การเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ความเห็นอกเห็นใจแค่เพียงเศษเสี้ยว ก็อาจเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น ตลอดจนได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม
เพราะบาดแผลในจิตใจไม่เคยเป็นเรื่องเล็กสำหรับใคร การทำความเข้าใจและไม่ตัดสินจึงเป็นการรักษาความเจ็บปวดนั้นได้ไม่มากก็น้อย…ลองเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนที่มาบาดแผลกันนะคะ
Ten Myth About Rape : https://clevelandrapecrisis.org/resources/resource-library-2/featured/rape-myths/
Lonsway, K. A., & Fitzgerald, L. F. (1994). Rape myths. In review. Psychology of women quarterly, 18(2), 133-164.
Rape Myths & Facts : https://rsvpcenter.washu.edu/get-informed/rape-myths-facts/
บทความโดย
คุณบุณยาพร อนะมาน
นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)
เหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจเปลี่ยนสถานการณ์ภายในครอบครัวได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง มาเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เราผู้ที่เป็นลูกหลาน เป็นคู่ชีวิต และเป็นสมาชิกในครอบครัว ควรเตรียมรับมืออย่างไร?
เหตุการณ์พลิกผันที่อาจเกิดขึ้น มีได้หลากหลายแบบ เช่นเมื่อผู้สูงวัยในบ้านหกล้ม หมดสติ เป็นลม หน้ามืดตามัว ชักกระตุก มีภาวะสมองขาดเลือด (หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง และพูดติด ๆ ขัด ๆ) ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ เป็นเหตุฉุกเฉินให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้สูงวัยบางท่านหลังจากออกจากโรงพยาบาลในคราวแรก ๆ ก็สามารถฟื้นจากอาการป่วย และกลับมาดูแลตนเองได้ แต่ในหลาย ๆ ราย เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีช่วงที่ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งมากขึ้น และการฟื้นคืนของร่างกาย ก็เป็นไปได้ยากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะเปราะบาง
ประเมินจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 5 ประการคือ
หากมีความเปลี่ยนแปลงจาก 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็แสดงว่าบุคคลกำลังเข้าสู่ภาวะเปราะบาง (frailty) หากมีความเปลี่ยนแปลงประมาณ 1-2 ประการ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง (pre-frail) และผู้สูงวัยที่แข็งแรง (robust) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากนี้การมีโรคภัยรุมเร้าหลายโรคร่วมกัน ก็บ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางนี้ได้เช่นกัน
ภาวะเปราะบางในผู้สูงวัยมักจะมาควบคู่กันกับความสามารถทางการรู้คิดที่เสื่อมถอย (cognitive impairment) หรือการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ดังนั้นบุคลากรทางด้านสุขภาพจึงพยายามผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาพต่าง ๆ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยทางการรู้คิดให้กับผู้สูงวัย เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมทางสังคมที่ให้ผู้สูงวัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คน และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น
เมื่อผู้สูงวัยในบ้านเริ่มเข้ารู้ภาวะเปราะบาง ก็หมายความว่าความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองก็จะเสื่อมถอยลงไปด้วย การดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการดูแลสุขอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมที่ใช้ทักษะการจัดการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การจ่ายบิล การจัดตารางนัดหมาย การเดินทางไปทำกิจกรรมตามที่นัดหมาย และการจัดยา ผู้สูงวัยในบ้านที่ยังไม่เปราะบาง จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองโดยอิสระ แต่ผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ควรต้องมีผู้ช่วยดูแลเพื่อความปลอดภัย เพราะจากที่เคยจัดยากินได้เองตามฉลาก ก็จะเริ่มกินยาผิด กินยาซ้ำ หรือไม่ได้กินเลย หรือจากเดิมที่สามารถเตรียมอาหารเองได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่เมื่อเริ่มเปราะบาง ก็จะลืมเปิดเตาทิ้งไว้ หรือ กินอาหารซ้ำ เพราะนึกว่ายังไม่ได้กิน หรือข้ามมื้ออาหารไปเลย
ลูก ๆ ที่เคยวางใจให้ผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็จะเริ่มสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และต้องเริ่มปรับตัว วางแผน จัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้
พึงระลึกไว้เสมอว่า แต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ทุก ๆ ครอบครัว พยายามจัดการอย่างดีที่สุดตามปัจจัยที่เป็นไปได้
สิ่งที่น่าสนใจคือ จากงานวิจัยที่ติดตามผลระยะยาว พบว่า ภาวะเปราะบาง มีทิศทางทางพัฒนาการได้ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบที่แย่ลงตามเวลา (ประมาณ 40%) 2. แบบคงที่ และ 3. แบบดีขึ้น คือมีความเปลี่ยนแปลงขาขึ้นจากระดับเปราะบางมาเป็นระดับเฝ้าระวัง (ประมาณ 20%) นั่นหมายความว่า หากมีการปรับตัวทางสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้สูงวัยที่เคยอยู่ในภาวะเปราะบาง ก็สามารถเลื่อนขั้นกลับมาสุขภาพดีขึ้นได้
การออกกำลังกายเป็นประจำนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบุคคลสะสมแต้มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไว้ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว ก็จะช่วยชะลอภาวะเปราะบางที่เกิดขึ้นเมื่ออายุที่มากขึ้นได้ แม้กระทั่งในผู้สูงอายุที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยทางสุขภาพร่างกาย เมื่อได้เข้าร่วมโปรแกรมสร้างเสริมการออกกำลัง ก็มักจะกลับมามีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากการออกกำลังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพใจอีกด้วย การมีสุขภาพใจที่ดี ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลังใจในการดูแลสุขภาพของตนตามไปด้วย
การออกกำลังใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางจิตวิทยาเราเรียกทักษะนี้ว่า การฟื้นคืนได้ทางจิตใจ (psychological resilience) คือ เชื่อมั่นในตนเองว่าตนสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมรับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต และเชื่อว่าความพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จ
หวังว่าทุกคนจะมีการฟื้นคืนได้ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
Hoogendijk, E. O., & Dent, E. (2022). Trajectories, Transitions, and Trends in Frailty among Older Adults: A Review. Annals of geriatric medicine and research, 26(4), 289–295. https://doi.org/10.4235/agmr.22.0148
Nari, F., Jang, B. N., Youn, H. M., & others. (2021). Frailty transitions and cognitive function among South Korean older adults. Scientific Reports, 11, 10658. https://doi.org/10.1038/s41598-021-90125-6
Lee, Y., Nishita, Y., Tange, C., Zhang, S. Shimokata, H., Lin, S., Chu, W. Otsuka, R. (2025). Association between objective physical activity and frailty transition in community-dwelling prefrail Japanese older adults. The Journal of nutrition, health and aging, 29(4). https://doi.org/10.1016/ j.jnha.2025.100519
Ye, B., Li, Y., Bao, Z., Gao, J. (2024). Psychological Resilience and Frailty Progression in Older Adults. JAMA Netw Open, 7(11):e2447605. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.47605
Zingmark, M., Norström, F. Transitions between levels of dependency among older people receiving social care – a retrospective longitudinal cohort study in a Swedish municipality. BMC Geriatr 21, 342 (2021). https://doi.org/10.1186/s12877-021-02283-x
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
ภาพบรรยากาศงานสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 806 ชั้น 8 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ
คณะจิตวิทยาขอกราบขอบพระคุณ ผศ.นิรมล ชยุตสาหกิจ รศ. ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล และ รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว ที่ให้ความกรุณาเดินทางมาร่วมงานและให้คำอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ไทยอันเป็นสิริมงคลยิ่งแก่คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะจิตวิทยา
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “สงกรานต์รวมใจ วิถีไทย จุฬาฯ สืบสานประเพณี” (Songkran Celebrating Traditions and Togetherness) ในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ศาลาพระเกี้ยว
กิจกรรมเริ่มด้วยพิธีรดน้ำขอพรจากนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดี รวมถึงอดีตผู้บริหารจุฬาฯ ตามด้วยการประกวด “ทูตสงกรานต์” ที่แต่ละหน่วยงานส่งตัวแทนมาเข้าร่วมนำเสนอ Spirit of Chula พร้อมด้วยบูธอาหารมากมายจากส่วนงานต่าง ๆ
คณะจิตวิทยาได้นำก๋วยเตี๋ยวหลอดแสนอร่อยในชื่อร้าน “จิตดีหลอดเด็ด” มาบริการชาวจุฬาฯ และส่งนักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (Psych-CEO) คุณบุณยาพร อนะมาน เข้าร่วมประกวดทูตสงกรานต์ในครั้งนี้ด้วย
วันที่ 28 มี.ค. 2568 คณะจิตวิทยา โดยคณบดีและผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและฝ่ายวิชาการ เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมตักบาตร “บุญสุนทาน ประจำเดือนมีนาคม 2568” ณ เรือนไทย จุฬาฯ ซึ่งจัดโดยธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ งานนี้มี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน และมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารและบุคลากรคณะ สถาบัน หน่วยงาน และนิสิตจุฬาฯ ร่วมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ 9 รูป จากวัดสระเกศ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
วันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 คณะจิตวิทยาเข้าร่วม พิธีตักบาตร พิธีถวายชัยมงคลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาส ครบ 9 รอบ (108 ปี) แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
วันที่ 21 มีนาคม 2568 ระหว่างเวลา 08.30 – 09.00 น. ณ ห้องประชุม HB7211 ชั้น 2 อาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง Faculty of Psychology, Chulalongkorn University และ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร นิสิตและนักศึกษาทั้งสองสถาบันในด้านการบริหารจัดการด้านการประกันคุณภาพและพัฒนาองค์กรรวมถึงพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การประชุมวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิชาการ การจัดอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการ ต่อไป
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เป็นหนึ่งในประเภทย่อยของความรุนแรงในความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด (domestic abuse/violence) ซึ่งรวมถึงคู่สมรส บุตร ญาติ หรือบุคคลในครัวเรือน
ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักหมายความเจาะจงถึงความรุนแรงต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รักอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ อยู่ร่วมกันหรือไม่อยู่ร่วมกัน สมรสแล้วหรือยังไม่สมรส และเป็นความสัมพันธ์ที่ยุติไปแล้วหรือยังดำเนินอยู่ก็ได้ ซึ่งในความสัมพันธ์นั้น ๆ มีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบทางลบ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือทางเพศ รวมไปถึงพฤติกรรมควบคุมคนรักของตนด้วย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2021 ที่เก็บข้อมูลจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย พบว่า เพศหญิงร้อยละ 13-61 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางร่างกาย และร้อยละ 6-59 มีโอกาสประสบความรุนแรงทางเพศในความสัมพันธ์แบบคู่รัก โดยเหยื่อทั้งสองกลุ่มมีโอกาสมากขึ้นที่จะเสี่ยงต่อพฤติกรรมควบคุมต่าง ๆ โดยคู่รักร่วมด้วย
การศึกษาในประเทศไทยในปี 2018 พบสถิติเพศหญิงที่เคยประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักถึงร้อยละ 15.4 แบ่งเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจร้อยละ 7.5-15.4 ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 2.6-10.6 ความรุนแรงทางเพศร้อยละ 3.3-10.4 และพฤติกรรมควบคุมร้อยละ 4.6-28.5 แตกต่างกันตามลักษณะของพฤติกรรมรุนแรง
นอกจากนี้ยังชี้ว่า 1 ใน 6 ของเพศหญิงที่สมรสแล้วหรืออาศัยร่วมกันกับคนรักเคยประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก โดยพบความรุนแรงทางจิตใจมากที่สุด เช่น ทำให้หวาดกลัว คุกคาม ทำให้อับอาย และการข่มขู่ และพบความรุนแรงทางร่างกายระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น การผลักหรือตบ มากกว่าความรุนแรงระดับสูง เช่น การขู่ด้วยอาวุธ เตะ กระทืบ และบีบคอ ความรุนแรงทางเพศพบน้อยที่สุด โดยรายงานว่าเป็นการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม ในส่วนของพฤติกรรมควบคุม เพศหญิงในประเทศไทยรายงานว่าพฤติกรรมที่พบมากที่สุดคือการที่คนรักยืนยันว่าจะต้องรู้ให้ได้วาตนกำลังอยู่ที่ไหนตลอดเวลา และโกรธเมื่อคู้ว่าตนพูดคุยกับเพายคนอื่น และระบุว่าความรุนแรงเหล่านี้มักเกิดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง
แม้การศึกษาในประเทศไทยที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นไปที่การประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหญิง ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักนั้นเกิดได้โดยไม่จำกัดเพศ รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มีโอกาสประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน การศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นในเพศชายและเพศหญิง ทั้งความรุนแรงที่กระทำโดยคนรักเพศเดียวกันและต่างเพศ โดยมีการอธิบายว่าความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและการควบคุมมากกว่าเพศ
ทั้งนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหลากหลายยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอคติของสังคมและความเกรงกลัวว่าจะถูกตัดสินและตีตราเพิ่มจากที่เป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงรักหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของการตีความทฤษฎีเฟมินิสต์ที่มุ่งเน้นการอธิบายถึงความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักด้วยเหตุผลเชิงเพศและอำนาจ ทำให้การมองว่าเพศหญิงทำร้ายเพศหญิงกันเองนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยพบว่ามีเพียงร้อยละ 3 ของการวิจัยในประเด็นนี้ที่ศึกษาความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในเพศหลากหลาย แต่ผลกระทบของผู้ที่ประสบความรุนแรงนั้นอาจเทียบเคียงได้กับกลุ่มรักเพศตรงข้าม
การสำรวจของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกา พบสถิติการประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักในกลุ่มหญิงรักหญิงร้อยละ 43.8 ในกลุ่มหญิงไบเซ็กชวลร้อยละ 61.1 และกลุ่มหญิงรักขายร้อยละ 35 ในขณะที่พบในกลุ่มชายรักชายร้อยละ 26 ในกลุ่มชายไบเซ็กชวลร้อยละ 37.3 และกลุ่มชายรักหญิงร้อยละ 29 จะเห็นได้ว่าในการสำรวจนี้แม้จะพบความรุนแรงในเพศหญิงมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็มีโอกาสประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักได้ และความรุนแรงนั้นอาจกระทำโดยเพศใดก็ได้เช่นกัน
ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักอาจเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น (teenager dating violence) มีงานวิจัยพบว่าผู้ที่ประสบความรุนแรงในสัมพันธ์แบบคู่รักในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสเป็นเหยื่อต่อไปทั้งในช่วงวัยรุ่นและช่วงวัยผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย
ความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักนั้นนำไปสู่ผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจมากมายของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลทางร่างกายไปจนถึงการเสียชีวิต โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล อาการต่าง ๆ ของโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ความรู้สึกผิดและโทษตนเอง ความมั่นใจในตนเองต่ำ โรคเรื้อรังทางกายและทางจิตใจ รวมไปถึงพบความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมทางลบต่าง ๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ เสพติดแอลกอฮอล์ และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
ผู้ที่ประสบความรุนแรงไม่ได้ตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยการยุติความสัมพันธ์ในทันทีเสมอไป การออกจากความรุนแรงนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและมีปัจจัยหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง งานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักเสนอให้เห็นว่าการให้ความหมายต่อสถานการณ์ที่ตนอยู่และพฤติกรรมควบคุมที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อการยอมรับความรุนแรง ซึ่งอาจแฝงมาในรูปของความหึงหวงที่มักเชื่อมโยงกับภาพการรับรู้ว่าเป็นการแสดงออกของความรัก ความปลอดภัย และการปกป้อง โดยสัญญาณความรุนแรงขั้นมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกแล้วแต่มักไม่ถูกมองเห็น การให้ความหมายเพื่อให้ความรุนแรงดูเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เช่นนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
งานศึกษาในปี 2004 พบว่า ยิ่งผู้หญิงประสบความรุนแรงในระดับสูง จะมีความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนั้นต่อ ซึ่งสะท้อนว่าผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงไม่ได้นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พบว่าไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุดที่ได้ผลกับทุกคน วิธีการที่ผู้หญิงคนหนึ่งใช้แล้วลดความรุนแรงได้ อาจส่งผลให้เพิ่มความรุนแรงในผู้หญิงอีกคน งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์นั้นโดยส่วนใหญ่มีการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น พยายามคุยกับคนรักเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นร้อยละ 94 แจ้งตำรวจร้อยละ 92 พยายามเลี่ยงการพบเจอคนรักร้อยละ 90 พยายามยุติความสัมพันธ์ร้อยละ 89 อย่างไรก็ตาม วิธีการที่พบว่ามักทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากที่สุดคือการติดต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รักและใช้บริการที่พักพิงสำหรับผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว วิธีการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีการวางแผนการรับมือเพื่อความปลอดภัยต่อไป ในขณะผู้ที่เลือกใช้วิธีการสู้กลับทางร่างกายมักทำให้สถานการณ์แย่ลง ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ใช้วิธีการยอมทำตามที่คนรักต้องการเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงนั้นไม่สามารถลดความรุนแรงได้จริง แต่กลับพบระดับความซึมเศร้าที่สูงขึ้นด้วย
แม้งานวิจัยในอดีตจะมุ่งเน้นไปที่การยุติความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่มีหลายงานที่บ่งชี้ว่าการยุติความสัมพันธ์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป ในบางสถานการณ์การออกจากความสัมพันธ์เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น การถูกข่มขู่ว่าจะเพิ่มความรุนแรงหากคิดจะจากไปจากผู้กระทำ การสะกดรอย หรือการใช้บุตรเป็นเครื่องมือในการควบคุมแทน และสำหรับบางคน ก็มีความรักความผูกพัน และการพึ่งพาคู่รักของตนอยู่มาก รวมกับความไม่มั่นใจในตนเอง ความกลัว ความโดดเดี่ยว ความละอาย ความรู้สึกผิด และการยึดคู่รักเป็นส่วนของตัวตนของตัวเอง และบางคนไม่มีปัจจัยสนับสนุนภายนอกมากพอที่จะออกจากความสัมพันธ์ เหยื่อหลายคนจึงเลือกที่จะหาสมดุลระหว่างสิ่งที่จำเป็นและสิทธิของตนเอง โดยเลือกอยู่ในความสัมพันธ์ การมองว่าการยุติความสัมพันธ์คือทางเลือกที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ที่รุนแรงอาจช่วยสนับสนุนอำนาจในตนเอง (empowerment) แต่ในอีกทางหนึ่งการเหมารวมดังกล่าวอาจละเลยความซับซ้อนของสถานการณ์และความต้องการของบุคคลที่เลือกตัดสินใจอยู่ต่อในความสัมพันธ์
การเคยเห็นหรือมีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอาจทสอนเด็กให้เข้าใจว่าการกระทำความรุนแรงเป็นการให้แรงเสริมและเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อาจส่งผลให้เด็กแสดงความไม่พอใจ การแก้ปัญหา และการควบคุมผู้อื่นออกมา ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติเมื่อเผชิญกับสภาพการณ์ความขัดแย้งและเพิ่มความรู้สึกถึงศักยภาพของตนเอง นักวิจัยหลายคนจึงนำทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมมาใช้อธิบายลักษณะการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวทั้งที่ดีและไม่ดี อาทิ คนเราเรียนรู้ที่จะเป็นคู่รักและเป็นพ่อแม่จากการสังเกตผู้ปกครองของตนเองในบทบาทต่าง ๆ แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ประสบการณ์ทางบวก แต่หากได้เรียนรู้ต้นแบบพฤติกรรมมาจากครอบครัวแล้วก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลดทอนความรุนแรงหรือหลีกหนีจากพฤติกรรมนั้น ผู้ใหญ่ที่เคยเห็นการกระทำความรุนแรงของพ่อแม่ในวัยเด็กมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงในคู่รักทั้งที่เป็นผู้กระทำผิดและเป็นเหยื่อได้
ผู้ที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง ได้แก่ รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (fearful) หรือหมกมุ่น (preoccupied) สัมพันธ์กับการเป็นเหยื่อความรุนแรงในคู่รัก โดยเฉพาะในเพศหญิง ส่วนรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวลสัมพันธ์กับการกระทำความรุนแรงในคู่รัก โดยเฉพาะในเพศชาย ส่วนสามีที่ชอบทำร้ายซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบไม่สนใจ (dismiss) ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจและการควบคุมภรรยาของตนเอง นอกจากนี้ประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อความรุนแรงในคู่ครองทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวลว่าจะถูกทอดทิ้งและการหลีกหนีความใกล้ชิดอีกด้วย
งานวิจัยพบว่าความหลงตนเองสัมพันธ์กับความก้าวร้าว กล่าวคือคนที่มีความหลงตนเองสูง เมื่อถูกวิจารณ์จะตอบโต้รุนแรงและก้าวร้าวกว่าคนอื่น โดยมีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวในหลายรูปแบบ เช่น ทางคำพูด ทางกาย และทางเพศ นอกจากนี้บุคคลที่หลงตนเองสูงมักขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) จึงไม่กังวลต่อความทุกข์ทรมานของเหยื่อ แม้ว่าพวกเขาสามารถตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้แต่ก็มักไม่ตระหนักเมื่อไม่รู้สึกสนใจจะทำ อีกทั้งพวกเขามีแนวโน้มจะรักษาการขยายมุมมองเกี่ยวกับตนเองด้วยการบิดเบือนการรับรู้อันเป็นเหตุให้ทำพฤติกรรมผิดปกติได้อย่างง่ายดาย เช่น อ้างกับตนเองได้ว่าเหยื่อความรุนแรงของพวกเขามีความปรารถนาทางเพศหรือมีการแสดงออกบางอย่างที่สอดคล้องกับพวกเขาอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดคือพวกเขามีความกังวลในการสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น ทำให้พวกเขาแสวงหาการเอาชนะทางเพศเพื่อการโอ้อวดต่อกลุ่มเพื่อนของพวกเขา
สาธิดา เต็มกุลเกียรติ. (2567). ประสบการณ์การรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของผู้เคยถูกกระทำความรุนแรงในความสัมพันธ์แบบคู่รัก [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://digiverse.chula.ac.th/Info/item/dc:95735
ศรัญญา ศรีโยธิน. (2557). การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกระทำความรุนแรงและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2014.221