ข่าวและกิจกรรม

โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568

 

โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568

 

 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วม โครงการอบรมความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2568 โดยอบรมผ่านโปรแกรม ZOOM ระหว่างวันที่ 9 – 17 มิถุนายน 2568 เวลา 18.00 – 21.00 น. และสอบวัดผล ในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง อบรมและบรรยายโดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป และเป็นการปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

 

เนื้อหาการอบรมจะมุ่งเน้นไปที่ พื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ และความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัย โดยคาดหวังว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมจะมีความรู้ และความเข้าใจทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการ รวมถึงเนื้อหาในด้านจิตวิทยาพัฒนาการเบื้องต้น เพื่อนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการทำความเข้าใจ และสร้างผลงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการในเชิงลึกต่อไปได้

 

 

ผู้เข้าอบรมจะได้รับ วุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา ได้ผู้เข้าอบรมจะต้องผ่านเกณฑ์การวัดผลดังนี้

  • ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง (18 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม

 

 

 

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2568 (ลิงค์สำหรับดูย้อนหลังจะถูกจัดส่งทางอีเมล)

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

 

*บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว
มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ*

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
    โครงการอบรมแบบออนไลน์ หากลิงค์รับสมัครยังคง activate ท่านสามารถดำเนินการสมัครและชำระค่าลงทะเบียนได้เลย
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์จะจัดส่งให้อีเมล กรุณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ และอีเมล
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอยโทร. 02-218-1307 หรือ email: Wathinee.s@chula.ac.th

Social So Chill – Monthly Live Talk 2025

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2568


 

 

Ep.01 – สัมผัสรักผ่านหน้าจอ: ด้อม ศิลปิน และความใกล้ชิดในยุคโซเชียล

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ นัทธ์ชนัน สังฆรักษ์ และวรินธา วิจิตรวรศาสตร์ นิสิตระดับปริญญาตรี

 

Ep.02 – Psychologal safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

Ep.03 – Connecting Throuh Shared Emotions

วิทยากร: Dr. Adi Shaked

 

Ep.04 – Family Resilience: ครอบครัวไทยที่เข้มแข็งปรับตัวกับเหตุไม่คาดคิดอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และคุณกุณฑลีพร อมรชัยยาพิทักษ์ นิสิตระดับปริญญาเอก

 

Ep.05 – 

วิทยากร:

 

Ep.06 – 

วิทยากร:

 

Ep.07 – 

วิทยากร:

 

EP.08 – 

วิทยากร:

 

EP.09 – 

วิทยากร:

 

EP.10 – 

วิทยากร –

 

EP.11 – 

วิทยากร –

 

EP.12 – 

วิทยากร –

 

 

 

งานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ครบรอบการดำเนินงาน 2 ปี TIMS

 

วันที่ 25 เมษายน 2568 สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานงานประชุมวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต ณ ห้อง Ballroom ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส เพื่อรายงานผลการดำเนินงานครบรอบ 2 ปี โดยนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการเด่น 9 โครงการ ได้แก่

 

  1. โครงการระบบนิเวศนโยบายสาธารณะเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  2. โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา
  3. โครงการการอภิบาลระบบสุขภาพจิตในประเทศไทย
  4. โครงการพัฒนาตัวแบบและกระบวนการอาสาสมัครสุขภาพจิตในชุมชน (ม้านั่งมีหู)
  5. โครงการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลและครอบครัว
  6. โครงการพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพใจชุมชนด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวกผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
  7. โครงการการพัฒนาระบบและเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต
  8. โครงการพัฒนาหลักสูตรเสริมพลังอาสาสมัครผู้รับฟังเพื่อส่งเสริมสุขภาพใจในกลุ่มผู้พิการ
  9. โครงการพัฒนามาตรวัดความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี และเสริมกลไกการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในทุกมิติ

 

 

 

 

ภาพบรรยากาศงาน

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ “ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)” ปี 2568

 

โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ

“ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)”

ประจำปี พ.ศ. 2568

 

 

 

‘โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ เป็นโครงการสําหรับการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการปรึกษา ได้เรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ของจิตวิทยาการปรึกษา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา และทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงการคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนําศาสตร์ทางจิตวิทยาการปรึกษาไปประยุกต์ใช้ต่อตนเอง และผู้อื่นให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายผลักดันการเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น/ชุดรายวิชา ที่มีการรับรองความสามารถ และรองรับการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ให้กับผู้สนใจเข้าศึกษา และสามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตเมื่อเข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรของคณะ ในการนี้คณะจิตวิทยาจึงได้จัดให้มีโครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY)’ ขึ้นมาเพื่อนำร่องสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 2 สิงหาคม 2568 (อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม) ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

** โครงการนี้เป็นการเรียนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัด ไม่มีการฝึกปฏิบัติ ผู้เรียนยังไม่สามารถให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาได้ **

 

 

การอบรมประกอบด้วย

  • บรรยาย
    เปิดสอนแบบชุดรายวิชา (Module) โดยการบรรยายแบ่งเป็น 16 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง (รวมชั่วโมงการบรรยายทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง)
  • สอบวัดผล
    จัดสอบ 1 ครั้ง ระยะเวลา 3 ชั่วโมง

 

 

การประเมินผล

  • การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน คิดเป็นร้อยละ 30
  • สอบวัดผลและรายงาน คิดเป็นร้อยละ 70

โดยประเมินผลแบบ Letter Grade มีเกณฑ์การวัดผล ดังนี้

 

Letter Grade
ช่วงคะแนน
A
85 คะแนนขึ้นไป
B+
80 – 84 คะแนน
B
75 – 79 คะแนน
C+
70 – 74 คะแนน
C
65 – 65 คะแนน
D
60 – 64 คะแนน
F
ต่ำกว่า 60 คะแนน

 

 

หลักเกณฑ์การบันทึกระบบคลังหน่วยกิต / เทียบโอนรายวิชาเมื่อเข้าศึกษา

 

Certificate of Achievement
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 16 หัวข้อ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการต้องสอบผ่านโดยได้รับการประเมินผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 (B ขึ้นไป)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องสอบผ่านโดยต้องได้รับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนและการสะสมหน่วยกิตในระบบคลังหน่วยกิต ของคณะจิตวิทยา มาแล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการ (ผู้เข้าร่วมโครงการประจำปี พ.ศ. 2567 สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 – ปีการศึกษา 2571)

 

Certificate of Attendance
  1. ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าเรียนในหัวข้อที่อบรม
  2. มีระยะเวลาเก็บในแต่ละหัวข้อ ตั้งแต่หัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 16 เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงมีสิทธิ์ขอสอบรับวุฒิบัตรรับรองผลการเรียนเพื่อเทียบโอนรายวิชา (Certificate of Achievement)
  3. มีระยะเวลาการขอเทียบโอนได้ โดยต้องเข้าร่วมโครงการครบ 16 หัวข้อ นับตั้งแต่ภาคการศึกษาถัดไปจากปีที่เข้าร่วมโครงการในหัวข้อแรก จนถึงสอบผ่านการอบรมโครงการ รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี

 

 

การเทียบโอนรายวิชา

 

รหัสรายวิชา
ชื่อรายวิชา
จำนวนหน่วยกิต
3802601
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY
3 (3-0-9)
คำอธิบายรายวิชา
การวิเคราะห์เปรียบเทียบและการประเมินโดยประสบการณ์เกี่ยวกับทฤษฎีและเทคนิคในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
ทักษะเบื้องต้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด งานวิจัยปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง
Comparative analysis and empirical evaluation of counseling and psychotherapy theories, and techniques;
basic skills for counseling and psychotherapy; current relevant research.
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
  • เข้าใจและวิเคราะห์จุดเด่น ข้อจำกัดและความแตกต่างระหว่างทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่สำคัญได้
  • สามารถค้นหาและอธิบายทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่ได้รับมอบหมายได้

 

* การเทียบโอนรายวิชาจะสมบูรณ์เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ภายในภาคการศึกษาแรกของการเข้าศึกษาในหลักสูตร

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม / วิทยากร

 

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

 
ประเภทผู้เข้าร่วมอบรม
อัตราค่าลงทะเบียน
1
บุคคลทั่วไป (Early Bird)
18,000 บาท (16 หัวข้อ)
2
บุคคลทั่วไป (หัวข้อละ 2,000 บาท)
20,000 บาท (16 หัวข้อ)
3
* บุคคลทั่วไป สำหรับสอบวัดผล
500 บาท

 

หมายเหตุ

  • บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว มีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  • * ผู้ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนสำหรับการสอบวัดผล ต้องเป็นผู้เคยเข้าร่วมอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หัวข้อ ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด (THEORIES OF COUNSELING AND PSYCHOTHERAPY) มาแล้วไม่เกิน 5 ปี และผ่านการทดสอบโดยได้ระดับคะแนนการทดสอบอยู่ระหว่างร้อยละ 60 – 74
  • Early Bird ช่วงระยะเวลารับสมัคร ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
  • ลงรายหัวข้อ หัวข้อละ 2,000 บาท (โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนชำระเงิน)

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ และจะมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ติดต่อไปเพื่อให้ท่านชำระค่าลงทะเบียน
  2. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนด
  3. เมื่อส่งหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนเรียบร้อยจึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  4. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  5. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี สนลอย งานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Tel. 02-218-1307 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. (จันทร์ – ศุกร์)
E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 


 

การเดินทางมายังคณะจิตวิทยา
อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

ขนส่งสาธารณะ

  • BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 2 แล้วเดินตรงเข้ามาทางประตูสนามนิมิบุตร ประมาณ 300 เมตร
  • รถเมล์ ป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ / มาบุญครอง / โอสถศาลาที่จอดรถ

 

อาคารจอดรถ 4 ติดกับอาคารจุฬาพัฒน์ 14

 

 

 

 

คำอธิบายหัวข้อการเรียน

 

 

1. Why be a counsellor
นักจิตวิทยาการปรึกษาคืออะไร แล้วทำไมเราจึงอยากเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา
2. Difference, Diversity, and Power
ความแตกต่างหลากหลายและมิติทางอำนาจในกระบวนการปรึกษา
3. Wounded Counsellor: Therapeutic Use of Self
ประสบการณ์บาดแผลทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการปรึกษา
4. Psychoanalytic and Psychodynamic Therapy
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์และพลวัต: เหตุใดทฤษฎีต้นตำรับของจิตบำบัดนี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน
5. Humanistic Approach – Rogerian Client-Centered Approach
ทฤษฎีจิตบำบัดแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง : เมื่อศักยภาพของมนุษย์เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง
6. Logotherapy
จิตบำบัดแนวความหมายในชีวิต : แม้ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ชีวิตก็ยังมีความหมาย มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองเสมอ
7. Gestalt Therapy
จิตบำบัดแนวเกสตัลท์ : สุขภาวะทางจิตดีขึ้นได้ด้วยการตระหนักรู้อย่างเป็นปัจจุบันขณะ
8. Buddhist Approach
จิตวิทยาการปรึกษาเชิงพุทธ : บูรณาการพุทธธรรมสู่การดูแลใจเชิงจิตวิทยา
9. Adlerian Therapy & Behavioral Therapy
จิตบำบัดแบบแอดเลอเรียนเพื่อการเข้าใจและแก้ไขปมในใจที่บ่มเพาะในวัยเด็ก และจิตบำบัดมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เมื่อความสุขและความทุกข์กำหนดโดยสิ่งแวดล้อม
10. Cognitive Behavioural Therapy: The Gold Standard for Depression and Anxiety
จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรมนิยม : จิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับสำหรับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
11. Acceptance and Commitment Therapy
จิตบำบัดแนวการยอมรับและพันธสัญญา : ยอมรับความท้าทาย พร้อมยืนหยัดต่อความหมายในชีวิต
12. Couple and Family Therapy
พื้นฐานจิตวิทยาความสัมพันธ์และครอบครัว
13. Reality Therapy
การปรึกษาแบบเผชิญความจริง : ชีวิตมีทางเลือก เมื่อทางเลือกเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ค้นหาทางเลือกสู่ชีวิตที่ปรารถนา
14. The Controversy of Diagnosis
มองข้อถกเถียงเกี่ยวกับการวินิจฉัยในศาสตร์จิตวิทยาการปรึกษาในมุมต่าง ๆ
15. Art Therapy
ศิลปะบำบัดในศาสตร์กระบวนการปรึกษา
16. Therapeutic Relationship: A significant predictor of therapeutic outcome
สัมพันธภาพในกระบวนการปรึกษา : ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของจิตบำบัด

 

 

ขอแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะผู้บริหารฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสาธิต อาคาร 60 ปี สัตวแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

 

 

ขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

 

วันที่ 22 เมษายน 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และคณะผู้บริหารสถาบันฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาฯ

Rape Myth มายาคติ…ที่ทำให้การข่มขืน กลายเป็นเรื่องเล็ก

 

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ในการศึกษาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ (Feminist) ได้กล่าวถึงความเชื่อในการกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้เหยื่อสำหรับการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) การข่มขืน (Rape) และการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีผลมาจากการยอมรับมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth Acceptance) (McMahon, 2007) โดยการโยนความผิดในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นให้มีสาเหตุจากการแต่งกายของเหยื่อ (Payne, 1999) พฤติกรรม หรือการปฏิเสธที่ไม่ชัดเจนของผู้ถูกกระทำ (O’Byrne, 2008)

 

โดยในการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความหมายของมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth) เอาไว้ว่าเป็นความเชื่อ ความคิด หรือเจตคติที่ประกอบไปด้วยการกล่าวโทษเหยื่อของการข่มขืน การลดทอนความรุนแรงและผิดของผู้กระทำ ไปจนถึงการลดทอนความจริงจังของเหตุการณ์ตลอดจนผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ (Payne, 1999) เป็นความเข้าใจผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศหรือการข่มขืน อคติ และภาพเหมารวมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและผู้กระทำในการข่มขืน (Burt, 1980) ที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ หรืออาจหมายถึงเจตคติและความเชื่อที่แพร่กระจายอย่างไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดการตัดสินเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่ผิดจากที่ควรจะเป็น (Lonsway & Fitzgerald, 1994) ซึ่งมักแสดงให้เห็นในรูปแบบชุดความคิดที่ว่า “เหยื่อพูดโกหก”, “เหยื่อเป็นคนเรียกร้องให้มีเพศสัมพันธ์”, “เหยื่อต้องการแบบนั้น” ซึ่งเป็นการโจมตีไปที่เหยื่อของการข่มขืน หรือในทางตรงข้ามคือการลดการกล่าวโทษผู้กระทำ อาทิ “ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น”, “ผู้กระทำไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อมีสิ่งเร้า” ตลอดไปจนถึงลดความรุนแรงของเหตุการณ์ อาทิ “เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย” หรือ “เหยื่อไม่ได้เจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้น” (Bohner, 1998; Eyssel & Bohner, 2010; Lonsway & Fitzgerald, 1994)

 

  • “ก็ไม่เห็นจะขัดขืนเลยนี่…จะเรียกว่าข่มขืนได้อย่างไร?”
  • “แต่งตัวโป๊ขนาดนั้น ใครเห็นก็อดไม่ได้หรือเปล่า?”
  • “จริง ๆ แล้วก็ชอบไม่ใช่เหรอ?”
  • “ก็แค่ครั้งเดียว สมัยนี้แล้วก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่…”

 

แนวคิดของ Lonsway และ Fitzgerald นั้น ได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างกว้างขวางจากคำพูด คำวิจารณ์ และการตัดสินทางสังคมของผู้คนทั่วไปที่มีต่อเหยื่อของการข่มขืน และแม้ว่าในปัจจุบันสื่อและสังคมออนไลน์ (Social Network) จะถูกใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้แขนงต่าง ๆ ข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดไปจนถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ และถูกใช้เพื่อการรณรงค์อย่างหลากหลายด้วยความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นก็ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก ถ้อยคำและตัวอักษรที่แสดงถึงการตัดสินจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์ ไม่ต่างจากการกรีดซ้ำบาดแผลของเหยื่อที่ได้รับความทุกข์ทรมานในอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเหยื่อเลยแม้แต่น้อย

 

มายาคติที่เป็นความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วอาจแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยการทำความเข้าใจมุมมองของผู้ถูกกระทำให้มากขึ้น พิจารณาข้อเท็จจริง มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และคำนึงถึงหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้มุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น

 

 

มายาคติที่ 1 : ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ เธอ / เขา ดื่มมากเกินไป

ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครสมควรถูกข่มขืนหรือถูกทำร้าย ความมึนเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการล่วงละเมิดทางเพศ และการดื่มสุราหรือของมึนเมาก็ไม่ใช่การเชิญชวนให้มีกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด

 

มายาคติที่ 2 : เธอ / เขา เป็นฝ่ายเรียกร้องเอง

ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครเรียกร้องความรุนแรงหรืออาชญากรรมทางเพศ การให้ความยินยอมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความไม่สะดวกใจ หรือมีเหตุขัดข้องบางประการ

 

มายาคติที่ 3 : เธอ / เขา ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน

ข้อเท็จจริง : ในบางครั้ง ความเครียดและความตกใจที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เสมอไป การแสดงอาการนิ่งเฉยมักเกิดขึ้นเมื่อกลไกการป้องกันของสมองสั่งให้ร่างกายหยุดนิ่ง หรือที่เรียกว่าภาวะช็อค ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู่ขัดขืนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ทำร้ายมีความแข็งแรงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบหลีกหนี (Flight) โดยอัตโนมัติ

 

มายาคติที่ 4 : เธอ / เขา ไม่ได้ปฏิเสธ แล้วจะไม่ยินยอมได้อย่างไร?

ข้อเท็จจริง : การปฏิเสธที่ชัดเจน อาจไม่ใช่สิ่งที่เหยื่อสามารถกระทำได้ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือรู้สึกถึงภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำอาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ทุกเมื่อ ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการเอ่ยปฏิเสธหรือขอความช่วยเหลือในขณะนั้น

 

มายาคติที่ 5 : หากร่างกายตอบสนอง นั่นก็ไม่ใช่การข่มขืน

ข้อเท็จจริง : ปฏิกิริยาทางกายภาพของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้ามเนื้อเรียบและระบบประสาทที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการหล่อลื่นตามธรรมชาติ การแข่งตัว หรือการถึงจุดสุดยอดก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกระทำมีความสุขหรือยินยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพียงเท่านั้น

 

 

อาชญากรรมทางเพศคือสิ่งที่สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศและทุกวัย อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เกือบทุกรูปแบบไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะระมัดระวังตัวมากเพียงใด ในสถานการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างโหดร้ายให้แก่เหยื่อที่ต้องเผชิญ การเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ความเห็นอกเห็นใจแค่เพียงเศษเสี้ยว ก็อาจเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น ตลอดจนได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

 

เพราะบาดแผลในจิตใจไม่เคยเป็นเรื่องเล็กสำหรับใคร การทำความเข้าใจและไม่ตัดสินจึงเป็นการรักษาความเจ็บปวดนั้นได้ไม่มากก็น้อย…ลองเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนที่มาบาดแผลกันนะคะ

 

 

Reference :

Ten Myth About Rape : https://clevelandrapecrisis.org/resources/resource-library-2/featured/rape-myths/

Lonsway, K. A., & Fitzgerald, L. F. (1994). Rape myths. In review. Psychology of women quarterly, 18(2), 133-164.

Rape Myths & Facts : https://rsvpcenter.washu.edu/get-informed/rape-myths-facts/

 

 


 

 

บทความโดย

คุณบุณยาพร อนะมาน
นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)

 

 

เมื่อผู้สูงวัยในบ้าน เริ่มเปลี่ยนผ่านจากสุขภาพแข็งแรง สู่ภาวะเปราะบาง

 

เหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจเปลี่ยนสถานการณ์ภายในครอบครัวได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง มาเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เราผู้ที่เป็นลูกหลาน เป็นคู่ชีวิต และเป็นสมาชิกในครอบครัว ควรเตรียมรับมืออย่างไร?

 

เหตุการณ์พลิกผันที่อาจเกิดขึ้น มีได้หลากหลายแบบ เช่นเมื่อผู้สูงวัยในบ้านหกล้ม หมดสติ เป็นลม หน้ามืดตามัว ชักกระตุก มีภาวะสมองขาดเลือด (หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง และพูดติด ๆ ขัด ๆ) ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ เป็นเหตุฉุกเฉินให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้สูงวัยบางท่านหลังจากออกจากโรงพยาบาลในคราวแรก ๆ ก็สามารถฟื้นจากอาการป่วย และกลับมาดูแลตนเองได้ แต่ในหลาย ๆ ราย เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะมีช่วงที่ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งมากขึ้น และการฟื้นคืนของร่างกาย ก็เป็นไปได้ยากขึ้น จนเข้าสู่ภาวะเปราะบาง

 

 

สัญญาณเตือนความเปราะบาง


 

 

ประเมินจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 5 ประการคือ

  1. การก้าวเดินที่ช้าลง
  2. น้ำหนักตัวที่ลดลง
  3. แสดงออกว่าเหนื่อยเพลีย
  4. กำลังมือในการหยิบจับสิ่งของอ่อนแอลงไป
  5. การมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง

 

หากมีความเปลี่ยนแปลงจาก 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็แสดงว่าบุคคลกำลังเข้าสู่ภาวะเปราะบาง (frailty) หากมีความเปลี่ยนแปลงประมาณ 1-2 ประการ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง (pre-frail) และผู้สูงวัยที่แข็งแรง (robust) จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากนี้การมีโรคภัยรุมเร้าหลายโรคร่วมกัน ก็บ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางนี้ได้เช่นกัน

 

ภาวะเปราะบางในผู้สูงวัยมักจะมาควบคู่กันกับความสามารถทางการรู้คิดที่เสื่อมถอย (cognitive impairment) หรือการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ดังนั้นบุคลากรทางด้านสุขภาพจึงพยายามผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาพต่าง ๆ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยทางการรู้คิดให้กับผู้สูงวัย เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมทางสังคมที่ให้ผู้สูงวัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คน และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เป็นต้น

 

เมื่อผู้สูงวัยในบ้านเริ่มเข้ารู้ภาวะเปราะบาง ก็หมายความว่าความสามารถในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองก็จะเสื่อมถอยลงไปด้วย การดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการดูแลสุขอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมที่ใช้ทักษะการจัดการที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การจ่ายบิล การจัดตารางนัดหมาย การเดินทางไปทำกิจกรรมตามที่นัดหมาย และการจัดยา ผู้สูงวัยในบ้านที่ยังไม่เปราะบาง จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองโดยอิสระ แต่ผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ควรต้องมีผู้ช่วยดูแลเพื่อความปลอดภัย เพราะจากที่เคยจัดยากินได้เองตามฉลาก ก็จะเริ่มกินยาผิด กินยาซ้ำ หรือไม่ได้กินเลย หรือจากเดิมที่สามารถเตรียมอาหารเองได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่เมื่อเริ่มเปราะบาง ก็จะลืมเปิดเตาทิ้งไว้ หรือ กินอาหารซ้ำ เพราะนึกว่ายังไม่ได้กิน หรือข้ามมื้ออาหารไปเลย

 

 

การจัดการเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลง


 

 

ลูก ๆ ที่เคยวางใจให้ผู้ใหญ่ในบ้านดูแลตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็จะเริ่มสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และต้องเริ่มปรับตัว วางแผน จัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

  • เริ่มพูดคุยกันในครอบครัว ถึงทางเลือกต่าง ๆ ในการดูแล โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน และให้น้ำหนักกับความต้องการของตัวผู้สูงวัยเป็นสำคัญ ผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่จะรู้สึกอุ่นใจที่สุดที่บ้านของตน การย้ายออกจากบ้านจึงควรเป็นตัวเลือกท้าย ๆ
  • ประเมินค่าใช้จ่าย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน กล้องวงจรปิด ตามความเหมาะสมต่าง ๆ ของครอบครัว
  • จากเดิมที่ผู้สูงวัยในบ้านเคยจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น การไปพบแพทย์ การจัดยาและกินยา การจัดหาอาหาร การจ่ายบิลต่าง ๆ เมื่อมีภาวะเสื่อมถอย ลูกหลานต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
  • ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมควบคู่ไปด้วย อาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ หรือบริการสมาชิกทางโทรศัพท์ที่ให้ซื้อสินค้าต่อเนื่องแบบจ่ายปลายทาง ลูกหลานจึงควรสอดส่องดูแลในเรื่องนี้ด้วย
  • แต่ละบุคคลตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายไม่เท่ากัน บางคนตอบสนองด้วยความทุกข์ บางคนต่อต้าน บางคนเรียกร้องความช่วยเหลือที่มากเกินจริง โปรดให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงนี้ กระบวนการการรับมือของทุกคนในครอบครัวอาจใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปี แต่ในที่สุดจะมีจุดที่ลงตัวสำหรับทุกคน

 

พึงระลึกไว้เสมอว่า แต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ทุก ๆ ครอบครัว พยายามจัดการอย่างดีที่สุดตามปัจจัยที่เป็นไปได้

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จากงานวิจัยที่ติดตามผลระยะยาว พบว่า ภาวะเปราะบาง มีทิศทางทางพัฒนาการได้ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบที่แย่ลงตามเวลา (ประมาณ 40%) 2. แบบคงที่ และ 3. แบบดีขึ้น คือมีความเปลี่ยนแปลงขาขึ้นจากระดับเปราะบางมาเป็นระดับเฝ้าระวัง (ประมาณ 20%) นั่นหมายความว่า หากมีการปรับตัวทางสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้สูงวัยที่เคยอยู่ในภาวะเปราะบาง ก็สามารถเลื่อนขั้นกลับมาสุขภาพดีขึ้นได้

 

การออกกำลังกายเป็นประจำนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบุคคลสะสมแต้มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไว้ตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว ก็จะช่วยชะลอภาวะเปราะบางที่เกิดขึ้นเมื่ออายุที่มากขึ้นได้ แม้กระทั่งในผู้สูงอายุที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยทางสุขภาพร่างกาย เมื่อได้เข้าร่วมโปรแกรมสร้างเสริมการออกกำลัง ก็มักจะกลับมามีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากการออกกำลังจะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพใจอีกด้วย การมีสุขภาพใจที่ดี ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลังใจในการดูแลสุขภาพของตนตามไปด้วย

 

การออกกำลังใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ทางจิตวิทยาเราเรียกทักษะนี้ว่า การฟื้นคืนได้ทางจิตใจ (psychological resilience) คือ เชื่อมั่นในตนเองว่าตนสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมรับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต และเชื่อว่าความพยายามจะนำไปสู่ความสำเร็จ

 

หวังว่าทุกคนจะมีการฟื้นคืนได้ทั้งทางกายและทางใจ เพื่อที่จะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

 

 

 

 

อ้างอิง

 

Hoogendijk, E. O., & Dent, E. (2022). Trajectories, Transitions, and Trends in Frailty among Older Adults: A Review. Annals of geriatric medicine and research, 26(4), 289–295. https://doi.org/10.4235/agmr.22.0148

 

Nari, F., Jang, B. N., Youn, H. M., & others. (2021). Frailty transitions and cognitive function among South Korean older adults. Scientific Reports, 11, 10658. https://doi.org/10.1038/s41598-021-90125-6

 

Lee, Y., Nishita, Y., Tange, C., Zhang, S. Shimokata, H., Lin, S., Chu, W. Otsuka, R. (2025). Association between objective physical activity and frailty transition in community-dwelling prefrail Japanese older adults. The Journal of nutrition, health and aging, 29(4). https://doi.org/10.1016/ j.jnha.2025.100519

 

Ye, B., Li, Y., Bao, Z., Gao, J. (2024). Psychological Resilience and Frailty Progression in Older Adults. JAMA Netw Open, 7(11):e2447605. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.47605

 

Zingmark, M., Norström, F. Transitions between levels of dependency among older people receiving social care – a retrospective longitudinal cohort study in a Swedish municipality. BMC Geriatr 21, 342 (2021). https://doi.org/10.1186/s12877-021-02283-x

 

 

คู่มือการช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะฉุกเฉิน

 

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/assets/mediadol/07d66ab7-e16d-ec11-80f9-00155d1aab27/6d80d881026a03090b171bd8728e2b14.pdf

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

งานสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ของคณะจิตวิทยา

 

ภาพบรรยากาศงานสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 806 ชั้น 8 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

คณะจิตวิทยาขอกราบขอบพระคุณ ผศ.นิรมล ชยุตสาหกิจ รศ. ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล และ รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว ที่ให้ความกรุณาเดินทางมาร่วมงานและให้คำอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ไทยอันเป็นสิริมงคลยิ่งแก่คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะจิตวิทยา

 

 

 

การเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ใจนิ่ง…ในวันที่โลกไม่แน่นอน : จิตวิทยาในการรับมือภัยพิบัติ” + ถอดเทป

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง

“ใจนิ่ง…ในวันที่โลกไม่แน่นอน : จิตวิทยาในการรับมือภัยพิบัติ”

 

ในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 17.00-18.00 น.
LIVE ทางเพจ Psychology CU

 

ร่วมเสวนาโดย

 

  • ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
    (ผู้ดำเนินการเสวนา) คณบดีคณะจิตวิทยา และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตกุล
    รองคณบดี หัวหน้าศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO) อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
  • รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี
    ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
    ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
  • รศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์
    อาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และผู้รับผิดชอบหน่วยวิจัยทางจิตวิทยาด้านภัยพิบัติและสุขภาวะ

 

 

 

 

 


 

 

 

สรุปการเสวนา

 

 

คำถามเมื่อเจอเหตุการณ์ภัยพิบัติ เราควรเริ่มดูแลจิตใจตนเองอย่างไร

 

รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า)

 

อย่างแรก เราต้องสร้างความคาดหวังที่เหมาะสม คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกว่าเราไม่กังวลเลย เริ่มจากการแยกคำสองคำให้ออก ณ สถานการณ์ปัจจุบัน เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติมายังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เรา “กังวล” ได้ แต่อย่า “วิตกกังวล” การดูแลจิตใจนั้นเราต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่า เรากังวล หรือ วิตกกังวล ถ้าวิตกกังวลจะมีองค์ประกอบสามอย่าง 1. มีอาการทางกาย ใจเต้น ใจสั่น กลัว เหงื่อแตก 2. มีอาการทางความคิด คิดซ้ำ ๆ วนไปวนมาเกี่ยวกับสถานการณ์ร้าย ๆ ที่จะเกิดขึ้น 3. หลีกหนีเหตุการณ์ หลีกหนีสถานการณ์ สถานที่ หรือสิ่งแวดล้อมที่เรากังวล ถ้าครบสามองค์ประกอบนี้จะเป็นวิตกกังวล เวลาที่เราวิตกกังวลจะทำให้เราระแวง

 

เบื้องต้น ถ้าเรากังวล ในสถานการณ์ที่ผ่านไปยังไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ กังวลเถอะ กังวลได้ เวลากังวลเรามีสิทธิที่จะคิดซ้ำ ๆ มีสิทธิที่จะคิดกังวล แต่ไม่อยากให้ถึงกับมีอาการทางกาย ถ้ามีอาการทางกายเราอาจจำเป็นที่ต้องการความช่วยเหลือ เวลาที่เรากังวลเราจะระวัง แต่เมื่อไรก็ตามที่ความกังวลของเราแปลงร่างกลายเป็นไปวิตกกังวล คราวนี้เราจะระแวง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตัวของเราจะแตกต่างกัน ณ เหตุการณ์ปัจจุบันเรากังวลได้ เรามีสิทธิในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง กับเหตุการณ์ที่เป็นขนาดใหญ่ ที่พลังของธรรมชาติกำลังสั่งสอนอะไรเราบางอย่าง เรากังวลได้แต่อย่าให้มันเกินขอบเขตไปที่วิตกกังวล

 

เวลาเราดูแลจิตใจตัวเอง อย่าคาดหวังเกินไปว่าเราจะใจนิ่งเป็นน้ำ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ ตั้งความคาดหวังกับตัวเราให้เหมาะสม

 

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ (อ.เติ้น) สรุป

 

คือให้ยอมรับในความกังวลนั้น เพราะถ้าไม่ยอมรับ มันอาจขยายต่อไปเป็นเรื่องอื่น ตอนนี้พวกเราทุกคนถูกสั่นสะเทือนด้วยพลังของธรรมชาติ เราคงต้องยอมรับกับความหวั่นไหว ความกังวลที่เกิดขึ้น แต่อย่าให้มันข้ามไปเป็นการวิตกกังวล โดยการสังเกตดูสามอย่าง คืออาการทางกาย ทางความคิด และการหลีกหนี ถ้ามันมีทั้งสามอย่างนี้แสดงว่ามันมีการยกระดับ และเราต้องทำอะไรบางอย่าง

 

 


 

 

ในฐานะพ่อแม่เราควรจะสื่อสารกับลูก ๆ อย่างไร เมื่อเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

 

ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (อ.นีท)

 

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เท่าที่ได้สำรวจเก็บข้อมูล ดูจากในโซเชียลมีเดียและคนใกล้ตัว พบว่ามีเด็ก 2 แบบ คือเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ตรง ๆ คืออาจจะอยู่ในอาคารสูง ณ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ เขาก็จะมีความรู้สึกกระทบใจมาก เพราะเขาอยู่ในเหตุการณ์ที่ต้องเดินลง ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีบ้านสั่น เพราะฉะนั้นเด็กเขาจะทำตามที่โรงเรียนสอน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่เขาทำได้ เด็กลงไปใต้โต๊ะ ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่าแล้วผู้ใหญ่จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเด็ก

 

ณ ขณะที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าเกิดว่ามันมีการช่วยเหลือกันลงมา ผู้ใหญ่ทำไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความกังวลใจของเด็กที่เพิ่งเจอเหตุการณ์สด ๆ ร้อน ๆ เด็กโดยส่วนใหญ่เขาจะพูดเลยว่าหนูกลัว และเราในฐานะที่เป็นคนในครอบครัว เราจะบอกอย่างไรดี ถ้าเราบอกได้ว่า “กลัวได้ลูก แม่ก็กลัวอยู่ เรากลัวไปด้วยกันนะ” สิ่งที่สำคัญคือการร่วมรู้สึก ในการดูแลคนครอบครัวนั้นเราสามารถแสดงออกได้ว่า กังวลไปด้วยกันเถอะ เราไม่จำเป็นต้องโชว์ความแข็งแรง ว่าฉันไม่เป็นไร เพื่อให้ลูกเห็นว่านี่ไงฉันเป็นแบบอย่างของคนที่สู้ได้ แต่จริง ๆ แล้วในใจเราก็หวั่นไหว ทำไมเราไม่เปลี่ยนพลังงานเป็น “เราสู้ไปด้วยกัน” เราขึ้นไปดูที่บ้านกันเถอะว่ามีรอยอะไรมั้ย แล้วเราก็กังวลไปด้วยกัน

 

เรากำลังฝึกให้เด็กรับรู้อารมณ์ เข้าใจอารมณ์ของตนเอง และในขณะเดียวกันเราก็สื่อสารอารมณ์ต่อกันและกัน ซึ่งทำแบบนี้เด็กจะรู้สึกปลอดภัย ไม่ใช่ว่าปลอดภัยที่พ่อแม่แข็งแกร่งแล้วเขาจะผ่านไปได้ แต่มันแปลว่า เมื่อเวลาที่เขามีความหวั่นไหวทางอารมณ์ ผู้ใหญ่ก็เข้าใจและร่วมรู้สึกไปกับเขาได้ บรรยากาศในครอบครัวที่ร่วมรู้สึกจะทำให้ความรู้สึกว่าเขาปลอดภัยที่จะเล่าให้ฟังได้ ว่าเขาไม่จำเป็นว่าเขาต้องแข็งแรง เขาไม่จำเป็นต้องเข้มแข็ง เมื่อเขารู้สึกกลัวเขาก็บอกได้ว่ากลัว แล้วเราก็สู้ไปด้วยกัน

 

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ (อ.เติ้น) สรุป

 

คำว่า “กลัวได้ลูก” คือการอนุญาตให้รู้สึกและสัมผัสความรู้สึก มีการตระหนักรู้ถึงความรู้สึก การที่เราบอกว่ากลัวได้ลูก มันคือการที่ลูกจะได้ตระหนักรู้ในความรู้สึกของตัวเอง และเราตระหนักรู้ในความรู้สึกของลูก ซึ่งมันเป็น common experience ที่คนมี และเราก็เปิดโอกาสให้มี เราจะได้ข้ามภาพลวงตาบางอย่างว่าพ่อแม่เป็นยอดมนุษย์ที่เข้มแข็งที่สุดในโลก เมื่อเด็ก ๆ ได้ยินจากพ่อแม่ว่ากลัวได้ลูก และสิ่งที่เกิดไม่ได้ผิดปกติเลย มันโอเคที่จะเกิด และเราก็ร่วมรู้สึกกับเขา มันก็เป็นช่องทางที่ถ้าเขารู้สึกกลัวจนมันขยายใหญ่ขึ้น เขาก็จะมาสื่อสารกับเรา

 

 


 

 

องค์กรควรเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติของพนักงานอย่างไร

 

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตกุล (อ.กิ๊ก)

 

หลายครั้งที่องค์กรจะต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ รวมถึงภัยพิบัติด้วย เช่น จากโควิดที่ผ่านมา จะเห็นได้เลยว่าหลายองค์กรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้าง Resilience ให้บุคลากร ให้คนมีความสามารถในการฟื้นตัวจากความเครียด มองในแง่ดี เปิดใจรับ เห็นอกเห็นใจกัน ทีนี้ก็อยากจะชวนไปมองอีกแง่หนึ่ง ก็คือแล้วตัวองค์กรเองมีความสามารถที่จะฟื้นตัวจากเหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์แค่ไหน Resilience มันไม่ได้มีแค่ในระดับบุคคล แต่ในระดับองค์กรก็สำคัญมาก ๆ เลย

 

องค์กรก็ควรให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ มันมีด้วยกัน 2 ขั้น อันแรกคือเราสามารถวางแผนล่วงหน้าได้เลยก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ หลายองค์กรก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว ค่อนข้างที่จะเป็นมืออาชีพมาก ๆ มีแผนบริหารความเสี่ยงหรือแผนในการรับมือฉุกเฉิน เช่นเมื่อเกิดโควิดเรายังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไร เรายังสามารถจัดการเรียนการสอน หรือดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น เราสามารถกำหนดล่วงไว้ก่อนล่วงหน้าได้เลย เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เราจะอพยพคนออกจากตึกอย่างไรให้ปลอดภัย เราอาจจะมี protocol ร่วมกันว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเราแพลนที่จะตอบสนองอย่างไร นี้เป็นเชิงรุก

 

นอกจากที่ว่าเราจะให้มี Resilience ทั้งคนในองค์กรรวมถึงตัวองค์กรเองมีแผนรับมือที่ฉุกเฉิน อีกอันคือเราจะต้องยืดหยุ่น องค์กรต้องปรับระบบ โครงสร้างอะไรที่มันรองรับให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบันที่เราก็คาดการณ์ได้ยาก เราจะมีระบบงานหรือกระบวนสื่อสารอย่างไรที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง

 

จึงอยากจะชวนมองว่าการที่เราเสริมสร้างทักษะจำเป็นให้บุคลากรสามารถมีใจที่พร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวองค์กรเองก็ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ ปรับปรุงวัฒนธรรมต่าง ๆ ต้องแคร์เรื่องความปลอดภัยมากขึ้น จากเดิมที่เราก็ใหม่กับบางเรื่อง อย่างตัวเองก็ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับเหตุการณ์อพยพจากตึก อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะได้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนเกิดความวิตกกังวล หนึ่งเลยเป็นเพราะว่าการสื่อสารไม่ชัดเจน ระบบการสื่อสารจะทำอย่างไรให้รวมศูนย์ข้อมูลให้มัน real time มากขึ้น หรือการที่ข้อมูลมัน overwhelm มันเยอะเกิน ก็ทำให้คนวิตกกังวลได้ บางทีเรามีแอพสื่อสารหลายช่องทาง และเราระดมส่งกันหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้เราตกอกตกใจ ทั้งที่ข้อมูลบางทีก็ยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ตรงนี้ก็อาจจะต้องปรับในเรื่องระบบการสื่อสาร

 

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ (อ.เติ้น) สรุป

 

วันก่อนได้เคย discuss กันกับอ.กล้าว่าวันนั้นคนควรจะเสพข้อมูลหรือไม่ ก็คิดกันว่าคนควรจะเสพเพราะมันเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องไม่ให้มันมากเกินไป ซึ่งมันยิ่งยกระดับความวิตกกังวล ดังนั้นตามที่อ.กิ๊กบอก เส้นของการสื่อสารต้องชัด และมีคนที่รู้ว่าข้อมูลจากแหล่งไหนจึงเป็นข้อมูลที่เราจะต้องฟัง ถ้าองค์กรกำหนดเส้นเหล่านี้ได้ชัด มันก็จะลดภาวะความกังวลของพนักงานได้ และเราก็จะสามารถมี empathy ต่อกันและกันโดยไม่ยกระดับอารมณ์ไปจนกระทั่งเป็นการวิตกกังวล

 

 


 

 

เราสามารถประเมินระดับความเสี่ยงของที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของเราอย่างไร

 

รศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ (อ.จุ)

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวมันเกิดมาแล้วทั่วโลก เรามี know how เรื่องการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวเต็มมือกันอยู่แล้ว แต่หลายคนอาจจะเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวกันเป็นครั้งแรก พอพูดถึงในเรื่องการประเมินความเสี่ยง มันเป็นเรื่องที่เราควรจะทำกัน “ก่อน” ที่จะเกิด บ้านเราถือว่าความเสี่ยงที่ต่อแผ่นดินไหวถือว่าต่ำมาก ช่วงนี้เราอาจจะบอกว่าจริง ๆ เรามีรอยเลื่อน รอยแยก ที่กาญจนบุรี ที่พม่า ของที่กาญอยู่ในเมืองไทยก็จริงแต่ขนาดไม่ได้ใหญ่มาก ที่พม่ามันใหญ่ก็จริงแต่ด้วยระยะทางโดยปกติแล้วมันจะไม่ค่อยมาถึงเมืองไทย เพราะฉะนั้นภัยของแผ่นดินไหวสำหรับบ้านเราถือว่าก่อนหน้านี้โอกาสที่จะเกิดมีความเสี่ยงต่ำมาก

 

เวลาเราประเมินความเสี่ยงนั้นเราจะดูกันอยู่ 2 แกน แกนแรกคือโอกาสที่จะเกิด (possibility) เช่น บ้านเรามีน้ำท่วมทุกปี แปลว่าโอกาสที่จะเกิดสูง จากความถี่ที่เราจะพบกับมัน อีกแกนหนึ่งคือความรุนแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะรุนแรงกับชีวิตเรามากน้อยขนาดไหน เพราะฉะนั้นถ้ามันเกิดทุกปีแล้วมันรุนแรงมาก เช่นบ้านเราอยู่ใกล้ที่ที่น้ำท่วมทุกปี แปลว่าพอเข้าฤดูกาลเราก็จะ alert และเราก็จะเตรียมตัวรับมือ เพราะในการประเมินความเสี่ยงแวบหนึ่งของเราคือเรามองว่ามันอันตราย กลับมาที่แผ่นดินไหว จะเห็นว่าโอกาสเกิดที่ผ่านมาเรารับรู้ว่ามันต่ำมาก ขณะที่ความรุนแรง คิดว่าทุกคนพยักหน้าตรงกันว่าถ้าเกิดกับบ้านเราแล้วมันรุนแรงแน่นอน เพราะฉะนั้นกรณีนี้มันจึงเป็นจุดที่ยากเหมือนกัน เพราะว่า “รุนแรงแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่า” แล้วเราควรจะเตรียมป้องกันมันดีมั้ย ทีนี้เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว สำหรับเรามันเสี่ยงทั้งนั้น วิชาการเคยว่าอย่างไรเราทิ้งไปหมดแล้วเราจะต้องอยู่กับข้างหน้ามัน เพราะฉะนั้นการประเมินความเสี่ยงที่ดีที่สุดควรจะต้องทำตอนที่มันยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็เตรียม

 

เมื่อเหตุการณ์ที่เราเคยรับรู้ว่ามันไม่น่าจะเกิดกับเรา มันเกิดขึ้น การรับรู้ความเสี่ยงมันก็จะขยับขึ้นทันที เราจะตระหนักมากขึ้น จะเห็นว่าทุกคนเริ่มติดตามข่าวสาร มองหาว่าประเทศไทยมีรอยร้าวตรงไหน เรารู้หมด การรับรู้ความเสี่ยงของเรามันสูงขึ้น…มาก ในการเจอภัยพิบัติครั้งหนึ่ง การรับรู้ความเสี่ยงมันก็ส่งผลต่อระดับความกังวลอย่างที่อ.กล้าได้กล่าวมา ยิ่งอ่านข้อมูลยิ่งกังวล ถามว่าจะ calm down ลงได้อย่างไร ในหน่วยวิจัยของเราจะโฟกัสในเรื่อง preparation คือทำอย่างไรให้เราเตรียมตัว เราพบว่า ยิ่งคนกังวล คนจะยิ่งเตรียมตัวมากขึ้น และเราก็เชื่อว่าการเตรียมตัวของเราจะช่วยทำให้เรากังวลน้อยลง เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วมันเป็นลูกศรสองทาง คือ ความรู้สึกมันนำไปสู่พฤติกรรม เราคิดว่าจะทำอย่างไร เราตระหนัก เรามีความรู้มากขึ้น และเรามีความเต็มใจที่จะทำอะไรเพื่อเป็นการป้องกันมากขึ้น เตรียมกระเป๋าหนีภัย เคลียร์ทางหนีไฟให้มันไม่รก เปิดทางให้มันใช้ได้ มันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาหลังจากการรับรู้ความเสี่ยง และในระยะยาวมันก็ทำให้เราค่อย ๆ เบาใจลงไปได้

 

การเตรียมตัวเหล่านี้ ข้อดีของมันคือไม่ใช่แค่เฉพาะแผ่นดินไหว อย่างเรื่องเคลียร์ช่องทางหนีไฟ ในเหตุไฟไหม้ก็ใช้ได้ หรือการอพยพในเหตุความรุนแรงใด ๆ การเตรียมการแบบนี้เป็น common preparation คือใช้ร่วมกันได้ ถ้าในครั้งถัด ๆ ไปเราทำมันได้ดีขึ้น รับมือได้ดีขึ้น คนเราก็จะมั่นใจมากขึ้น อย่างที่ญี่ปุ่น มันไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีเขาดีอย่างเดียว แต่มันคือการทำหลาย ๆ ครั้ง ซ้อน ๆ กันไปจนเป็นทักษะและเป็นสามัญสำนึก

 

 


 

ตอนนี้มันมีอีกคำที่คนพูดถึง คือ PTSD เราจะประเมินอย่างไรว่ามันเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่ว ๆ ไป และอะไรที่นับว่าเป็นการยกระดับที่ถึงขั้นควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวขาญ

 

รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า)

 

คำนี้ก็กลายมาเป็นคำยอดฮิต PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่เขย่าตัวตนของเรา ที่ทำให้เรากังวล จริง ๆ เหตุการณ์ภัยพิบัติทุกอันมีโอกาสที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดประสบการณ์ PTSD ได้ ทีนี้มาทำความรู้จักก่อนว่ามันคืออะไร มันต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง

 

  • อันแรก มีความรู้สึกว่าเราตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์นั้นมันผ่านไปแล้ว เป็นลักษณะของ re-experience บางคนเกิด flashback เห็นภาพนั้น มีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บางคนอาจจะออกมาในรูปแบบฝัน ฝันร้าย ฝันเห็นภาพตรงนั้นอีกครั้ง
  • อันที่สอง คือเป็นลักษณะที่เราพยายามหลีกหนีเหตุการณ์ตรงนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากจะไปเจอสถานที่นั้น หรือบางคนมีลักษณะชาไปทั้งตัว นี่ก็เป็นลักษณะที่จะพบบ่อยใน PTSD
  • อันที่สาม เป็นลักษณะใจเต้นใจสั่น ตกใจง่าย เป็น hyperarousal หรือขวัญผวาได้ง่าย

 

อย่างไรก็ตาม PTSD มันมีเงื่อนไขเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรามีเหตุการณ์แผ่นดินไหววันที่ 28 มีนา ปกติแล้วในทางการแพทย์เราก็จะประมาณการไว้ว่า ถ้าเราจะเป็น PTSD อาการที่กล่าวมา 3 ประการนั้น มันยังคงอยู่ต่อเนื่องเกิน 1 เดือนหลังจากวันนั้น แต่ในช่วงนี้ อาการที่เพิ่งพูดไปมันพอมีได้ มันอาจจะเป็น ASD – Acute stress disorder คือมีอาการความกลัวซึ่งเกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เราเพิ่งประสบพบเจอมา ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ ณ ช่วงนี้ บางคนอาจจะมีใจเต้นใจสั่น กังวล นอนไม่หลับบ้าง ให้สังเกตดูเบื้องต้น มันอาจจะเป็นการปรับตัวของร่างกายจากการที่เราเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญมา ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ความเข้มข้นของมันควรจะลดลงตามระยะเวลาที่มันผ่านไป แต่สำหรับบางท่าน อาจจะตกอยู่ในอาการนั้นอยู่เป็นสัปดาห์ ๆ หรือบางท่านอาจจะครบเดือน เกินหนึ่งเดือน ลองสังเกตตัวเราเองดูว่าการกินการนอนของเรากลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมมากน้อยแค่ไหน ใจเต้น ใจสั่น ยังนอนขวัญผวาอยู่มั้ย ภาพเหตุการณ์วันที่ 28 มันเหมือนกับรีรันกลับมา จนเข้ม จนภาพนั้นมันยังอยู่กับเราชัด ในมุมส่วนตัวของผมอาจจะไม่จำเป็นต้องครบหนึ่งเดือน ถ้าสักสองสัปดาห์ยังไม่ดีขึ้น บางทีการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็อาจจะเป็นทางออกที่ดี เดี๋ยวนี้ใครก็พบนักจิตวิทยาได้ทั้งนั้น

 

 


 

 

มีค่านิยมทางสังคมไทยอะไรบ้างที่ช่วยให้เรากลับมาใจนิ่ง หรือปรับตัวปรับใจได้

 

ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (อ.นีท)

 

ในมุมของจิตวิทยาพัฒนา มีอยู่ 2 ประเด็นที่คิดได้ ก็คือ การมีสติ mindfulness นั้นเป็นเรื่องที่จิตวิทยาหลาย ๆ แขนงใช้ร่วมกัน หลักการใช้สติคือการที่เราอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น และอยู่กับปัจจุบัน ในจิตวิทยาที่เกี่ยวกับเวลา เรามองว่าคนที่มองแต่ภาพอนาคต กลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจนเกินไป มันก็ไม่ดี หรือคนที่คิดดื่มด่ำอยู่แต่กับอดีต คิดถึงแต่เรื่องในวันวาน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในก่อนเก่า มากเกินไปก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นจุดตรงกลางก็คือการที่เราพยายามทำให้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเรากลมกล่อม

 

ในแง่ของการรับรู้ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ชอบในสิ่งที่อาจารย์ทุกท่านพูดถึงเรื่องการเตรียมตัว และการเตรียมรับมือล่วงหน้า เพราะมันหมายถึงว่า ถ้าเราควบคุมปัจจุบันได้ มันจะทำให้อนาคต.. อย่างที่อ.จุพูดว่าถ้าเราวางแผนไว้อย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไร ใจเราจะนิ่งได้มากขึ้น เพราะเราได้เตรียมตัว รอบนี้เป็นรอบที่เราเตรียมตัวน้อยเพราะเราไม่ได้ตระหนักว่ามันจะเกิด แต่หลังจากนี้เราเชื่อว่าสังคมไทยจะมีการพูดทักกันมากขึ้นว่า เราทำแบบนี้จะดีหรือ ลดสเป็กจะดีหรือ หรือว่าวางของไว้เกะกะแบบนี้จะดีหรือ ถ้าล็อกประตูตรงนี้มันจะยากหรือเปล่า มันจะเกิดคำถามทั้งในบ้านและในสังคม ถามกัน ซึ่งมันไม่ใช่การถามเพื่อจับผิด แต่เป็นการถามเพื่อให้มีวัฒนธรรมของความปลอดภัย จริง ๆ แล้ววัฒนธรรมของความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ควรจะมี ถ้าเรามีความตระหนักรู้ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น มันน่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ดีต่อ ๆ ไป ที่เราจะเตือนกันว่าเรากำลังประมาทอยู่หรือเปล่า

 

นึกถึงตอนโควิดที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องล้างมือกันบ่อย ๆ ทำไมต้องใส่แมสก์ จนมาถึงจุดที่พ่อแม่สามารถสอนเด็ก ๆ ว่า ล้างมือนะลูก ใส่แมสก์นะ เราอยู่ในจุดที่ดูแลตัวเอง ระแวดระวังมากขึ้น ดูค่าฝุ่น เรามีสังคมที่ถ้ามองในแง่ดีคือเรามีความระมัดระวังมากขึ้น เราสร้างวัฒนธรรมของการเตือนกันและกัน ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

 

 


ผู้นำควรแสดงบทบาทอย่างไรในช่วงวิกฤตเพื่อไม่ให้ทีมเสียขวัญ

 

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตกุล (อ.กิ๊ก)

 

ไม่ว่าในบริบทไหนผู้นำก็ควรสื่อสารด้วยความเข้าใจ มี empathetic communication แต่ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ คนเปราะบางมากขึ้น คนวิตกกังวล ระแวดระวัง sensitive ไปหมด ตรงนี้ยิ่งต้องระมัดระวัง ผู้นำไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจถึง อะไรเป็นความเครียด อะไรเป็นความวิตกกังวลของสมาชิกในองค์กรเท่านั้น แต่ empathy ยังต้องตามมาด้วยการกระทำ เพราะบางทีเรามีความเห็นอกเห็นใจ มี emotional support ทางอารมณ์อย่างเดียว มันไม่พอ ไม่ทำให้คนรู้สึกอุ่นใจอย่างระยะยาว เราต้องมี action เช่น คนกลัวว่าเมื่อเข้าไปทำงานแล้วจะอันตราย เราได้มีมาตรการหรือมีการ take action เข้าไปตรวจสอบโครงสร้างตึกอย่างเป็นรูปธรรมหรือยัง เพราะฉะนั้น empathy ที่ดีมันต้องตามมาด้วย action จึงจะทำให้ความเข้าอกเข้าใจกันมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

เช่นเดียวกันกับที่พูดไปตอนต้น ว่าหลายองค์กรอยากเสริมสร้างเรื่อง resilience เวลาคนผ่านการเปลี่ยนแปลง วิกฤตการณ์ต่าง ๆ สามารถที่จะฟื้นตัวกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติ องค์กรก็เช่นกัน เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างทรัพยากรทางจิตใจให้บุคลากร หนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ การสนับสนุนทางสังคม social support ในฐานะผู้นำ ถ้าสมาชิกคนไหนเขาไม่เข้าหา ไม่มาบอกเราว่าเขามีข้อวิตกกังวลอะไร บางทีเราต้องเป็นคน reach out เป็นคนเดินเข้าไปถามเองเลย เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนเขากลัวมากเลย แต่ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออก บางทีเราก็ต้องเช็คทั้งในรูปแบบแบบสำรวจ ออนไลน์ก็ได้ หรือจะเป็นการถามแบบ informal ทักทายกัน เช็คอัพกัน ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง

 

การให้การสนับสนุนกันในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้นำบางคนอาจจะพูดน้อย มุ่งงาน มุ่งตรวจสอบตึกให้ทุกคนมาทำงานปลอดภัย แต่เขาไม่ค่อยพูดอะไรมาก สมาชิกในองค์กรอาจจะมีคำถาม ถ้าเราเป็นผู้นำ เราก็อาจจะต้องฝึกที่จะเข้าหาให้ทั่ว ทุกภาคส่วน

 

 


 

 

การเตรียมรับมือภัยพิบัติ ทุกคนสามารถทำได้อย่างไร

 

รศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ (อ.จุ)

 

การเตรียมรับมือภัยพิบัติไม่จำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนจากความวิตกกังวลก็ได้ ที่ผ่านมาเราคุยกันว่าเรากังวลเลยลงมือกระทำเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น รู้สึกวิตกกังวลน้อยลง จริง ๆ แล้ว การรับมือกับภัยพิบัติสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นวัฒนธรรม ยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยสวมหน้ากากกัน เราสวมมากขึ้นเมื่อตอนโควิด ซึ่งมันเริ่มจากการบังคับ ถ้าไม่ใส่หน้ากากจะไม่ให้เข้าไปในอาคาร ไม่ให้ใช้ขนส่งมวลชน มันเป็นการทำพฤติกรรมตามเงื่อนไข หรือถูกบังคับให้ทำ ทีนี้เราจะเห็นว่าปัจจุบันเรามีการใส่หน้ากาก อาจจะด้วยความกังวลในระดับหนึ่ง เช่น มีค่าฝุ่น หรือวันนี้เรามีอาการไอ เราก็ทำ เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวมันสามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ คำถามว่าเราจะต้องเตรียมอะไรในชีวิตประจำวันของเราบ้าง ก็ลิงค์ไปที่การประเมินความเสี่ยงของเรานั่นเอง ชีวิตของเราอะไรมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย และอะไรที่เกิดขึ้นแล้วมันจะอันตราย เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่แผ่นดินไหว แต่ว่าอยากให้มองถึงอันตรายโดยถ้วนทั่วที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา อย่างทางหนีไฟ เรามีการซ้อมหนีไฟ เราเลยจะนึกถึงทางหนีไฟเฉพาะในกรณีไฟไหม้ แต่เราก็มาพบว่าจริง ๆ แล้วทางนั้นมันไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีไฟไหม้อย่างเดียว เราใช้ในโอกาสอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นการที่เราประเมินความเสี่ยงก็จะนำไปสู่อะไรที่ว่า เราจะทำอะไรที่มันช่วยให้เราปลอดภัย ทำได้ในชีวิตประจำวัน ที่มันไม่หนัก ไม่เป็นภาระกับเรามากเกินไป แล้วมันทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น เช่น ถ้าเราอยู่ที่ญี่ปุ่น มันจะมีไอเท่มน่ารัก ๆ เป็นตุ๊กตาที่พอดึงออกมาก็จะมีเสียงดัง สำหรับสาวน้อยทั้งหลายที่ต้องเดินทางในที่มืดที่เปลี่ยว ตัวนกหวีดที่ส่งเสียงดังก็จะช่วยให้คนสนใจเรา ซึ่งมันลดโอกาสการเกิดอาชญากรรมได้ หรือในส่วนที่เป็นชนบท ระหว่างเดินทางอาจจะเจอสัตว์ป่า ก็จะมีพวกกระดิ่งกริ๊ง ๆ ที่เมื่อเดินไปแล้วส่งเสียงให้พวกสัตว์ป่าทราบว่ามีคนเดินผ่านมาทางนี้ เพราะตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหมีของญี่ปุ่น หรือช้างในไทย พอเขารู้สึกว่ามีคนมาเขาก็จะเลี่ยงในระดับหนึ่ง ไม่ได้พุ่งมาหาเรา แต่ออกไปจากเรา เพราะงั้นไอเท่มพวกนี้เราพกติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หลาย ๆ อย่างพวกนี้ก็มีขายมากขึ้น สินค้าเพื่อความปลอดภัยและน่ารักด้วย

 

ไม่อยากให้ทำเพราะกังวล เพราะถ้าไม่กังวลจะไม่ทำ ถือซะว่าปีนี้เราจะค่อนข้างจริงจังกับการซ้อมหนีไฟมากขึ้น จะไม่โดดกัน จะมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี เราจะได้คุ้นทาง เคยชินกับการเดินลงตรงนั้น ทำให้เราไปได้เร็วขึ้น เกิดแอคชั่นได้เร็วขึ้น แต่ถ้าอีกสองสามปีสิ่งนี้มันไม่เกิดขึ้นอีก ชีวิตที่สงบสุขมันเป็นเรื่องที่ดี แต่สักวันเราอาจจะลืมเลือนการระแวดระวัง การเตรียมพร้อมลงไปก็ได้ จึงอยากให้เป็นการทำโดยคิดเสียว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราทำแล้วเราปลอดภัยขึ้น เหมือนเป็นชีวิตประจำวันของเราแบบหนึ่ง

 

และที่อยากจะเติมก็คือการพูดคุยกับในครอบครัว ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ มีคุณพ่อคุณแม่ มีผู้สูงอายุ เจนกลาง เจนน้อง ๆ อย่างที่อ.นีทบอกว่าจริง ๆ ลูกก็เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่มีส่วนรวมในการคิดได้ว่าเราจะทำอะไรให้บ้านของเราปลอดภัยขึ้น เรามาช่วยกันทำความสะอาดบ้านให้เราสามารถออกไปได้ง่าย ๆ กันเถอะ เราช่วยกันมาเตรียมจัดกระเป๋ากันเถอะ ให้เรามีวัฒนธรรมการคุยในครอบครัวว่ามีอะไรที่เราช่วยกันทำให้มันปลอดภัยขึ้นได้บ้าง หรือบอกกันว่า “ไม่เป็นไรนะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นแบบนี้ที่โรงเรียน หนูรอที่โรงเรียน แม่จะไปรับ” การกำหนดจุดนัดพบในกรณีฉุกเฉิน เผื่อว่าเราไม่สามารถติดต่อสื่อสารหากันทางโทรศัพท์ได้ เหมือนเป็นนิทาน เป็นเกมการจำลองสถานการณ์ว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้น เราทำแบบนี้กันนะ ให้ทุกคนเข้าใจตามนั้น เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว หลังจากความตกใจแรก ๆ เช่น เราบ้านหมุนหรือแผ่นดินไหวกันนะ พอเราตกใจเสร็จแล้วเราจะคิดได้คิดต่อว่าเราจะทำอะไรต่อ จากการที่เราได้เตรียมมาแล้วก่อนหน้านี้

 

สรุปก็คือ หนึ่ง การซ้อม อะไรที่มีการซ้อมอยู่ประจำ ก็ให้เข้าร่วม สอง การพูดคุยกันในครอบครัว เรื่องของการประเมินความเสี่ยงอยากให้มีการแบ่งปันกันในครอบครัว หรือชุมชน ถ้าเรามีทบาทของการเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน กรรมการหมู่บ้าน คอนโด การพูดคุยเรื่องนี้และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน มันก็นำไปสู่อะไรที่มันทำได้ในภาพรวมมากขึ้น เพื่อให้เราได้วัฒนธรรมการเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตเรา โดยไม่ต้องเอาความวิตกกังวลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเลย หวังว่าสังคมไทยจะพัฒนาไปทางนั้นพร้อม ๆ กัน

 

 


 

 

ทิ้งท้าย ทำอย่างไรให้ใจนิ่ง

 

รศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า)

 

เบื้องต้นช่วงนี้ ขออนุญาตใช้คำง่าย ๆ ปรนเปรอตัวเอง ดูแลตัวเอง Self-care แรกสุดเลย ต้องยอมรับก่อนว่ามีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นปกติ เราผ่านเหตุการณ์ที่สะเทือนตัวเรา สิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็ยอมรับ และหลังจากนั้นก็ปรนเปรอตัวเอง หาอะไรทาน อยู่กับคนที่บ้าน ทำกิจกรรมตามปกตินั่นแหละ มันเป็นเรื่องปกติที่เราต้องทำอยู่แล้ว กินให้ได้ นอนให้หลับ ออกกำลังกายตามปกติ ดึงตัวเองกลับมา ใช้ชีวิตประจำวันให้ใกล้เดิมมากที่สุด แล้วก็อาจจะมีคำว่า Self-compassion กรุณาต่อตนเอง ชื่นชมตนเองว่าได้ผ่านเหตุการณ์ตรงนี้มาพร้อมกับคนส่วนใหญ่ ให้กำลังใจให้รางวัลตนเอง

 

สำหรับคำถามเรื่อง GAD เข้าใจว่าหมายถึง General anxiety disorder คือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น PTSD หรือ Panic หรืออะไรก็ตามที่คนพูดถึง ณ ขณะนี้ ก็จะเป็นอยู่ในกลุ่มของความวิตกกังวล ถามว่ากระตุ้น (GAD) ได้มั้ย ก็คงกระตุ้นได้ แต่อย่าเพิ่งไปลิงค์ว่ามันกระตุ้นหรือไม่ อยากให้มองถึงวิธีการจัดการกับความวิตกกังวลมากกว่า ถึงแม้มันกระตุ้นมา แต่เราสามารถจัดการได้ ผมขอสารภาพกับสังคมไทยทราบว่า ผมก็เป็นคนที่วิตกกังวล ผมเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาแต่เป็นคนขี้กังวล แต่ระดับความวิตกกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้เราจะเป็นคนขี้กังวลมากกว่าคนอื่น แต่เรามีวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความวิตกกังวล ตรงนั้นสำคัญกว่า ความวิตกกังวลไม่ว่ามาจากอะไรก็ตาม มันไม่สำคัญเท่าวิธีการจัดการของเรา ถ้าเราสามารถจัดการได้เราก็ใช้ชีวิตได้ปกติ

 

REBT (Rational Emotive Behavior Therapy) หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ก็เป็น therapy ที่เหมาะกับการช่วยเหลือผู้รับบริการที่มีความวิตกกังวลอยู่แล้ว แต่ตั้งคำถามแค่ว่า พอเรากังวลแล้ว กลัวแล้ว ณ ปัจจุบันนี้ เราทำอะไรได้บ้าง มันจะได้ตีกรอบให้เรารู้ว่าเราเดินไปข้างหน้า แล้วลงมือทำ

 

ผศ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (อ.นีท)

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของวงจรเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่บ้าน สายใยที่ผูกเชื่อมกันในครอบครัว เวลาที่คับขัน เรานึกถึงใคร เราให้ความสำคัญกับใครในชีวิตของเรา เรามีคนที่เราเห็นว่าเป็นที่หนึ่งในใจ เป็นเบอร์ต้น ๆ ในใจ ที่เราอยากโทรไปหาเขาจังเลยว่าเขาโอเคหรือยัง หรือถ้าเราอยู่ด้วยกันกับเขาเราจะคิดว่าเราอยากทำอะไร อันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้กลับมาทบทวน ว่าที่ผ่านมาเราดีต่อกันพอแล้วหรือยัง หรือเราคุยกันมากพอแล้วหรือยัง เหตุการณ์แบบนี้มันเป็นตัวย้ำเตือนเราเหมือนกันว่าเราไม่เคยพูดหวาน ๆ กับคนที่เรารักเลย หรือเราไม่เคยกอดเขาเลย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเวลาที่เรากลัว การกอด การสัมผัสมือ การถาม การพูดกันเพราะ ๆ มันสำคัญ มันจำเป็นต่อใจเรามาก ๆ เลย ถ้าบ้านไหนคิดได้แล้วว่าเราไม่เคยทำ แต่ในโอกาสแบบนี้เป็นโอกาสที่เราควรเปลี่ยนมั้ย ถ้าเราไม่เคยทำ หรือทำไม่เป็นเลย เป็นโอกาสที่ดีมั้ยที่จะลองทำกัน

 

อิฐผนังปูนเป็นบ้านรูปแบบหนึ่ง แต่บ้านที่เป็นใจความสำคัญทางจิตวิทยาคือบ้านที่เป็นมนุษย์ ในสังคมครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน ในสังคมองค์กร หรือทุก ๆ ที่ ที่บ้านคือคำว่าคนที่อยู่ด้วยกัน ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ที่เห็นใจและแคร์กัน ดังนั้นอยากจะฝากว่า การกอด การจับมือ การพูดเพราะ ไม่ใช่ว่ามันเห่ยหรือมันเชยจังเลย ที่เราพูดเพราะต่อกัน จริง ๆ แล้วมันไม่ควรเชยเลย การที่เราให้กำลังใจกัน เราฉีดยากันและกัน เราชมกัน การพูดเพราะ ๆ ต่อกัน การพูดดีต่อกัน เป็นเรื่องที่ควรทำ ณ เวลานี้มาก ๆ ดังนั้นอยากฝาก ใครที่ยังไม่ค่อยได้ทำ ทำให้มากขึ้น เราจะได้มีสังคมที่แข็งแรง

 

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตกุล (อ.กิ๊ก)

 

แม้ว่าเราจะผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันมันเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เรามองว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกตนเอง ฝึกทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง มองเห็นเลยว่าในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา หลายคนมี skill set ที่จำเป็นต่อโลกปัจจุบันและอนาคตมาก ๆ เลย ก็คือ resilience ต้องมีการฝึกที่จะเป็นคนมีความมั่นใจว่าเราจะผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ เราจะทำอย่างไรที่จะปรับตัว ปรับมุมมองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนเราอาจจะมีความคิดที่ยึดติด ว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เช่นมองว่าจะสอนนิสิตอย่างไรถ้าไม่มาออนไซต์เราจะทำยังไง แต่ก่อนเราไม่มีไฮบริดด้วยซ้ำ ตอนนี้เราก็เริ่มปรับตัวเรื่อย ๆ แล้ว เราเริ่มฝึกที่จะมีความคิดยืดหยุ่นมากขึ้น มองวิกฤตเป็นโอกาส เช่น โอกาสที่จะได้อยู่กับคนที่เรารักและแสดงความรักต่อกัน ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือที่บ้าน จะเห็นได้ว่าทุกคนมีการถามไถ่ว่าเป็นอย่างไร ที่บ้านเป็นยังไง มีใครได้รับผลกระทบ เราจะเห็นถึงสิ่งดี ๆ เหล่านี้ตามมาด้วย เลยไม่อยากให้จมอยู่กับอารมณ์ทางลบมากเกินไป จนบางทีเราดึงตัวเรากลับมายาก อย่างที่อ.กล้าบอก เราก็กลับมาปรนเปรอตัวเอง หาอะไรทำที่สนุกสนาน บางทีเราก็มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยซ้ำ จึงอยากให้มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่เราได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

 

รศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ (อ.จุ)

 

อยากให้เรื่องของการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่รู้สึกว่าเมื่อคุยถึงเรื่องความเสี่ยงแล้วมันบาด เราไม่อยากคิดถึงเรื่องนั้น เราไม่อยากคุยเลย จึงอยากให้ตรงนี้มันเป็นโอกาสให้ทุกท่านพูดเรื่องความเสี่ยงในทาง positive เช่น ว่ามีคอลเลคชั่นใหม่ ๆ มันมีฟังก์ชั่นนี้ด้วยนะ ไว้เตือนแผ่นดินไหวได้ด้วย หรืออะไรอย่างนี้ มีไอเท่มตัวนี้น่ารัก ที่มันจะช่วย อย่างจุเองจะมีผ้าเช็ดหน้าที่มันกันไฟได้ มีผ้าฝืนหนึ่งที่ถ้ามีไฟไหม้จะสามารถใช้มันไปตบ ๆ ๆ แล้วไฟจะดับได้ ให้เราคุยเรื่องนี้กันได้ที่มันจะไม่ toxic กับชีวิตเรา หรือกับความสัมพันธ์ของเรา เชียร์ค่ะ อยากให้เราได้คุยกันว่าใครมีเตรียมอะไรบ้าง ที่มันเป็นทางบวก แล้วเรามาแบ่งปันกัน ช่วยกันคิดในครอบครัว ทุกคนมามีส่วนร่วม คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เราต้องมีสติในการรับกับสิ่งที่เราไม่คุ้น แต่ในเรื่องของภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ know how มันมีอยู่เยอะเลย เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกท่านไม่คุ้น แต่ว่าแค่เรายังไม่ได้เอามันมาอยู่ใกล้ ๆ กับตัวเราเฉย ๆ ก็อยากให้มีสิ่งนี้ค่ะ เจอหน้าใครแล้วทุกคนเอาไอเท่มที่ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นมาคุยกัน

 

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ (อ.เติ้น) สรุป

 

แม้ว่าเราจะไลฟ์จบ ที่คณะจิตวิทยาต่อให้ไม่ไลฟ์ก็มีพวกเราอยู่ ถ้าใครสนใจเรื่องดูแลจิตใจในภาวะวิกฤต ที่คณะของเราก็มีทั้งงานวิจัย และบริการต่าง ๆ จากทุกศาสตร์ทางจิตวิทยา ที่ท่านมาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ และเรายินดีที่จะมีส่วนช่วย สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกคนรู้ว่ามันมี common humanity ที่อ.กล้าพูดถึง self-compassion (ความเมตตากรุณาต่อตนเอง) ทุกข์ครั้งนี้เป็นทุกข์ที่ทุกคนร่วม สิ่งที่เรามาเสวนากันคือเราร่วมทุกข์กัน เพียงแต่เราไม่ได้ร่วมทุกข์แล้วจมทุกข์ แต่เราร่วมทุกข์เพื่อให้เราผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ กลับมาที่ใจนิ่ง ๆ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราคงต้องปรับตัวกับโลกที่ผันผวนในตอนนี้