ข่าวและกิจกรรม

สองวันในโลซาน…เมืองที่เคยขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีเป็นอันดับต้นของโลก

 

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศออสเตรีย แถมได้อยู่เมืองกราซ (Graz) เมื่องที่อยู่ทางตอนใต้ของออสเตรียก็เลยถือโอกาสไปเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสียเลย เพราะไม่ห่างจากกันมาก ในความคิดแรกการมาโลซานคือมาตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใจอยากเห็นแฟลตเลขที่ 16 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เคยใช้ชีวิตอยู่หลายปีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดูจากแผนที่ก็ดูไม่ห่างจากสถานีรถไฟโลซาน ระหว่างเดินหาแฟลตก็สำรวจเมืองไปด้วย และที่เมืองโลซานนี้เองทำให้ได้รู้จักน้องคนไทย “น้องไอซ์” เป็นคนอุดรธานีโดยกำเนิดแต่ตามครอบครัวมาอยู่โลซานตั้งแต่ 3 ขวบ

 

การมาที่โลซานทำให้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของนักเรียนที่นี่ จากการพูดคุยกับน้องไอซ์และศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่โรงเรียนโปลีเทคนิคกลางแห่งเมืองโลซาน (École Polytechnique Federale de Lausanne (EPFL)) ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า เด็กที่นี่พัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ของตนเอง (Self-Concept) หรืออัตลักษณ์ของตนเอง (Self-Identity) ได้เร็ว ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายหรือมัธยมต้นเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วเรารู้ว่าเราเป็นใครมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนคงเคยประสบปัญหา ไม่แน่ใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราจะเป็นอะไร เราจะทำงานอะไร เราจะเป็นคนแบบไหน เราจะพบเจอสิ่งที่เราอยากเป็นจริง ๆ ได้เมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นหลายคนอยากรู้และต้องหาคำตอบ ซึ่งคำตอบที่จะได้ต้องหาด้วยตัวเอง ส่วนที่ว่าทำไมเด็ก ๆ ที่โลซานจึงหาอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว นั่นเพราะเด็ก ๆ ที่นี่ นอกจากจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องพยายามอย่างมากในการหาความชอบและความต้องการของตน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอีกทั้งต้องลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนต้องมีอาชีพและทางชีวิตของตน เพราะค่าครองชีพของคนในประเทศนี้สูงมาก หากเทียบกับประเทศออสเตรียแล้วถือว่าสูงกว่าถึงเกือบสองเท่า

 

เด็กที่เมืองโลซานไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ อาจจะเข้าเรียนเพียง 1 ปี หรือ 2 ปีก็ได้ การเรียนในชั้นอนุบาลเน้นเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ การเล่น การออกกำลังกายเป็นหลัก พอเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาเด็กต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ และเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมต้นเด็กจะสามารถเลือกเรียนในโปรแกรมที่ตนถนัดได้ เด็กอาจถูกแบ่งตามความถนัดของตนเอง เกรดที่ได้ หรือเรียนคละกัน ซึ่งก็แล้วแต่ระบบของแต่ละมลฑล พอถึงเวลานี้เด็กส่วนใหญ่เริ่มมองหาลู่ทางชีวิตของตัวเองแล้ว เด็กหลายคนสมัครไปทำงานหลังเลิกเรียนหรือเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่มัธยมต้น เพราะต้องการทดลองดูว่าเขาน่าจะชอบอาชีพรูปแบบไหนมากกว่า เขาถนัดแบบไหนและยังเป็นการประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนเองอีกด้วย เด็ก ๆ ที่นี่ไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะพ่อแม่ไม่ได้บังคับ เขาเลือกเรียนตามที่เขาถนัด พอจะเข้ามัธยมปลายเด็กก็ต้องคิดและตัดสินใจแล้วว่าตนเองจะเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ นอกจากวิชาบังคับที่พวกเขาต้องเรียนเด็กสามารถเลือกวิชาเลือก เช่น ช่างไม้ ภาวะผู้นำ การโรงแรม ร้องเพลง ดนตรี การเป็นจิตอาสา เป็นต้น หากเลือกสายสามัญก็จะเรียนตามระบบและเข้ามหาวิทยาลัย หากเลือกสายอาชีพพวกเขาต้องเตรียมตัวฝึกงานไปด้วยเรียนไปด้วย เด็ก ๆ จะได้เงินเดือนจากการฝึกงานและได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญรัฐบาลช่วยค่าเล่าเรียนให้อีกครึ่งหนึ่ง

 

เราคงไม่มาพูดเพื่อเปรียบเทียบว่ารัฐบาลประเทศนั้นประเทศนี้ดีอย่างไร แต่สิ่งที่จะพูดถึงคือ การวางระบบเช่นนี้เป็นการช่วยเด็กให้เข้าใจและตระหนักถึงความชอบ ความถนัดและความสามารถของตนเองได้เร็ว และยังช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น ทุ่นเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

 

ดังนั้นการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ในแต่ละระดับชั้นจึงช่วยให้เด็กเกิดอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว เมื่อเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมปลาย เด็ก ๆ ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะไปในสายสามัญหรือสายอาชีพ หากเป็นสายสามัญก็สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อได้ด้วยการสอบเข้า การศึกษาในระดับปริญญาตรีของที่นี่ใช้เวลา 3 ปี แล้วสามารถเรียนต่ออีก 1 ปีครึ่งเพื่อจบปริญญาโท คนส่วนใหญ่ที่นี่จึงจบปริญญาโท

 

ส่วนการศึกษาสายอาชีพ (ซึ่งผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ) นักเรียนเข้าเรียนในระดับสูงเช่นกัน โดยเลือกตามความถนัดของตนเอง เด็กที่เลือกสายอาชีพต้องฝึกงานตามองค์กรเอกชนไปด้วยและเรียนไปด้วย เด็กเลือกจำนวนวิชาและจำนวนวันที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่เหลือก็ไปทำงานและฝึกงาน การที่เด็ก ๆ ได้ทำงานและฝึกงานเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงของการทำงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ทำงานมาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มพูนความเข้มแข็งทั้งในทางทฤษฎี ทางปฏิบัติ และการดำเนินชีวิต เมื่อเลือกเรียนจบสายอาชีพหนึ่ง แต่หากทำงานไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่สามาถตอบโจทย์ตัวเองได้ ก็สามารถกลับมาเรียนในระดับเดิมแต่เปลี่ยนสายอาชีพได้เช่นกัน อย่างเช่น น้องไอซ์ก็เลือกเรียนสายอาชีพในตอนแรก เธอเลือกเรียนถ่ายภาพ แต่เมื่อคิดว่าอาชีพช่างภาพยังไม่น่าจะตอบโจทย์ น้องไอซ์จึงกลับมาเรียนสาขาการทำอาหารเมื่ออายุ 26 ปีและตอนนี้ก็กำลังฝึกงานในคลีนิคคนชรา อีกสองปีก็จะจบไปเป็นเชฟ

 

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการพูดคุยกันกับน้องไอซ์ในวันที่สองของการอยู่โลซาน ทำให้คิดถึงพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก ๆ ที่โลซาน และทำให้เข้าใจเลยว่า การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากการประเมินความถนัดและความชอบของตน การได้เลือกจากความชอบ และการได้ลงมือทำลองผิดลองถูกนั้นสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเสริมอัตลักษณ์ของตนเอง การที่ได้เรียนในระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวตนจะช่วยให้เด็กสร้างเสริมตัวตนและบุคลิกภาพของตนเองได้อย่างชัดเจน แต่การผลักภาระให้แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือพ่อแม่ การช่วยเหลือและสนับสนุนโดยไม่ขีดเส้นทางชีวิตของลูกโดยพ่อแม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเด็กได้อย่างมาก หากพ่อแม่ลองปล่อยให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ทดลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ประสบกับความสมหวังและความผิดหวัง น่าจะช่วยให้เด็กประเมินและรับรู้ความสามารถ รวมไปถึงความต้องการของตนเองได้ดียิ่งขึ้น การที่เด็กพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้ดีจะช่วยให้เขาเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงทางบุคลิกภาพ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในแง่ดีอีกด้วย ในขณะที่เด็กบางคนไม่สามารถพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมก็อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกแปลกแยกและมีความซึมเศร้า ในที่สุดเด็กเหล่านี้อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ปัญหาทางอารมณ์และบุคลิกภาพได้

 

หลายท่านอาจยังมองว่าการพัฒนาตัวตนไม่สำคัญ เพราะเดี๋ยวพอโตขึ้นเด็กก็จะเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจตนเองได้เอง จริง ๆ แล้วโลกคงไม่สวยขนาดนั้น เพราะคนที่เป็นทุกข์จากเรื่องนี้ก็คือเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง และเราก็เห็นตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้จากกลุ่มเด็กแว้น เด็กที่อยู่ตามแก๊งอาชญากรรม หรือแม้แต่เด็กที่แปลกแยกจากสังคม จากการศึกษาก็พบว่าเรื่องพัฒนาการด้านตัวตนของเด็กกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าฝ่ายชี้นำ แล้วให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนจากการได้ลองผิดลองถูก การลงมือทำและการมีประสบการณ์ด้วยตัวของเขาเอง เขาจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เพราะแน่ใจได้เลยว่าหากคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นเขามีความสุข เราก็จะยิ่งมีความสุขยิ่งกว่า

 

 

ภาพจาก https://highereducationdevelopment.wordpress.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ

 

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจหรือเกิดวิกฤติในสังคม หลายคนต่างติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุค และทวิตเตอร์ ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบนาทีต่อนาที แต่ก็มีหลายครั้งที่ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสาร อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังเลือกที่จะเชื่อข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์อยู่เช่นเดิม คำถามที่น่าสนใจคือเพราะเหตุใด?

 

นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการเปิดรับข้อมูลข่าวสารและพบว่า การส่งต่อข้อมูลข่าวสารแบบ Word-of-mouth หรือ “ปากต่อปาก” จากเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดนั้น เป็นกลวิธีในการเผยแพร่ข้อมูลที่ทรงอิทธิพลและก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อผู้รับสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้รับสารจะเกิดความรู้สึกว่า ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ

 

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์กรหนึ่ง ออกมาให้ข้อมูลในขณะเกิดภาวะน้ำท่วมว่า ระดับน้ำยังคงทรงตัว อันเป็นผลมาจากการวางแผนขององค์กรของตนเอง เปรียบเทียบกับ นางสาว B ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเป็นเพื่อนสนิทกับผู้รับสาร ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ระดับน้ำยังไม่แน่นอน ในกรณีนี้ผู้รับสารมักเชื่อถือข้อมูลของนางสาว B มากกว่านาย A เพราะนางสาว B ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนำเสนอข้อมูลเหมือนกับ นาย A

 

ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากบุคคลในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนเองรู้จัก สนิทสนม คุ้นเคย มากกกว่า อย่างไรก็ดี ผู้รับสารก็ยังควรพิจารณาข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะการส่งต่อข้อมูลแบบ “ปากต่อปาก” นั้นกว่าจะมาถึงเรา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน

 

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในแง่ใดแล้ว ก็มักชอบค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเพียงอย่างเดียว และเลือกที่จะไม่เปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง

 

นักจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี่ว่า “อคติในการยืนยันความเชื่อของตน” หรือ Confirmation bias ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลพยายามค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นอันตรายต่อการตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ หรือการเกิดภาวะน้ำท่วม

 

ลองคิดดูว่า หากเรามีอคติในการยืนยันความเชื่อของตน และปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราอย่างแน่นอน จึงค้นหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดที่ว่าน้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราเพียงอย่างเดียว แม้จะมีข้อมูลจากหน่วยงานหนึ่งที่ระบุว่า ย่านที่เราอาศัยอยู่ มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังภัย แต่เราเลือกที่จะไม่เปิดรับหรือเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวเลย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมีมากน้อยเพียงใด หรือในทางตรงกันข้าม หากเราปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะท่วมที่พักอาศัยของเราแน่นอน จึงค้นหาแต่ข้อมูลที่ระบุว่าน้ำจะท่วมจนทรัพย์สินจะเสียหายทั้งหมด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจมากเกินเหตุ จนอาจเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า และมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนได้

 

ดังนั้นแล้ว การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในยามที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ทางที่ดีที่สุด คือการเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน พยายามลดอคติที่เกิดขึ้นในใจ และรับฟังข้อมูลข่าวสารด้วยสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

การแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมต่อประเด็นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์

 

หลายๆ คน อาจเคยพบเจอการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ และอาจเคยพบเห็นข้อความหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่าปกติ ยิ่งกว่านั้น หากคุณเคยแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ คุณเคยรู้สึกว่า หลังจากที่แสดงความคิดเห็นบางอย่างไปแล้ว คุณยิ่งรู้สึกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่แสดงความคิดเห็นลงไปมากขึ้นกว่าเดิม

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคำอธิบาย….

 

คุณสมบัติสำคัญของการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์คือ Deindividuation หรือการลดอัตลักษณ์ของตนเอง ความหมายก็คือ เราไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวเรานั่นเอง ซึ่งเกิดจากการสนทนา การแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น เป็นการสนทนา และแสดงความคิดเห็นผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เห็นหน้ากันจริง ๆ ดังนั้น เราจึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากกว่าปกติ

 

นอกจากนี้ การที่เราแสดงความคิดเห็นในสภาวะนิรนามเช่นนี้ เท่ากับว่าเราไม่ถูกกดดันจากสังคม หรือบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ เราจึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของเราจริง ๆ ทำให้เมื่อแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เรามักจะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เราคิดจริง ๆ ทำให้ยึดถือในความคิดเห็นของเรามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อยากให้เป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ หรือให้กำลังใจกันดีกว่า เพราะการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับตนเอง นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดอารมณ์ทางลบอีกด้วย

 

ในช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายอย่าง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงอยากจะติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด นาทีต่อนาที โดยเฉพาะการเลือกรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ของท่าน แต่การใช้เวลาติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลเสียทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และที่สำคัญ ท่านอาจจะกลายเป็นคนที่ติดอินเทอร์เน็ต หรือสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “Internet addiction” ไปเลยก็ได้

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ในบทความออนไลน์ Psychologytoday.com รายงานว่า จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ตนเองใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ขณะที่ 40% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะขับรถ ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่บุคคลจดจ่ออยู่กับการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จนเกิดความเคยชินในการรับส่งข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วจากสื่อออนไลน์นี้ ทำให้บุคคลขาดความระมัดระวัง และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และบุคคลรอบตัวจริง ๆ นอกจากนี้ ข่าวที่ปรากฏให้เห็นหลายครั้งก็พบว่า พ่อแม่บางคนให้ความสนใจต่อสังคมออนไลน์มากกว่าการดูแลลูกของตน จนละเลยและทำให้ลูกของตนเองถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

 

ดังนั้น หากคุณเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วล่ะก็ ควรระมัดระวังถึงระยะเวลาและความถี่ในการใช้งานด้วย เพื่อจะไม่ตกเป็นทาสของสื่อออนไลน์ การใจจดใจจ่อติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จนละเลยที่จะทำภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญ ก็อาจส่งผลเสียได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์?

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำถามนี้ ดิฉันเกิดคำตอบขึ้นมาทันทีว่า ทำตัวตามสบาย ตามปกติสิ ไม่เห็นจะต้องมี “How to” เพื่อมารับมือหรือจัดการกับ “ปัญหา” นี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาวิเคราะห์อีกที การที่ครอบครัวในสังคมของเรายังมีคำถามนี้อยู่ อาจหมายความว่า เรายังมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจอยู่ และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติทั่วไป คาดว่าคงไม่มีใครเคยถามว่า ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่ใช่เกย์?

 

ดังนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนในครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของลูก ๆ บทความนี้จึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ และผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเกิดความเข้าใจ และประเมินการกระทำ คำพูดที่เรามีต่อลูกที่มีความรักที่หลากหลาย

 

เรื่องทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเกย์นี้ เราอาจจะมองได้ 2 ประเด็นคือ ลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ หรือ เราสงสัยว่าลูกเป็นเกย์ แต่ลูกไม่กล้าหรือยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยกับเรา

 

ในประเด็นแรก หากลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ ขอให้คุณพ่อคุณแม่จงชื่นชมที่เขากล้าที่จะมาเปิดเผยกับเรา เพราะนั่นแปลว่าลูกเราไว้ใจและสนิทใจกับเรามากเพียงพอที่จะเปิดเผยตัวตนของเขาแก่เราได้ จงรักเขาให้มากกว่าเดิม และบอกเขาว่า เราดีใจที่เขาสามารถบอกเราเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าลูกเป็นอย่างไรพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม อย่าทำให้เขาผิดหวังหรือทำให้เขากังวลว่าเขาอาจจะทำให้เราผิดหวัง พ่อแม่บางคนจะพูดกับลูกว่า “ตอนนี้จะเป็นอะไรก็ได้ เดี๋ยวต่อไปก็เปลี่ยนเอง” ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับในตัวลูกนะคะ แต่จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ได้ยอมรับเขาอย่างเต็มที่และเรายังอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นลูกในแบบที่เราต้องการ (กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา, 2559)

 

ลูกทุกคนจะมีความกลัวว่าตนเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักถ้าเราไม่เป็นหรือทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ อย่าสร้างความกลัวหรือความกังวลให้ลูกเลยค่ะ เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา พ่อแม่บางคนจะเข้าใจผิดว่าลูกเลือกที่จะเป็นเกย์ หรือการเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรือพ่อแม่บางคนจะโทษตนเองที่ทำให้ลูกเป็นเกย์ อย่าคิดหรือพูดเช่นนั้นกับลูกเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกผิดและเสียใจ ความชอบในเพศใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกกันได้นะคะ เราลองถามตัวเองดูสิคะว่า เราเลือกที่จะชอบคนต่างเพศรึเปล่า หากพ่อแม่ยอมรับไม่ได้เมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์นั้น คนที่ต้องปรับตัวและปรับทัศนคติจะไม่ใช่ลูก แต่เป็นพ่อแม่นั่นเองค่ะ

 

อีกประเด็นที่ว่าถ้าเราสงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเกย์ แต่ไม่กล้ามาบอกเรา เราควรจะทำอย่างไรดี

 

ขอให้พ่อกับแม่ค่อย ๆ ชื่นชมบุคคลที่เป็นเกย์ในสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าลูกจะมีเพศอะไร หากลูกเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม ลูกก็จะเป็นที่รักและน่าชื่นชมในสายตาพ่อแม่และคนในสังคม พ่อแม่บางคนไม่มีสติ ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองพูดนี่เองที่ทำให้ลูกไม่กล้าเข้ามาเปิดใจคุยกัน พ่อแม่บางคนเผลอพูดจาล้อเลียนหรือดูถูก กดขี่บุคคลรักเพศเดียวกัน หารู้ไม่ว่าลูกของเรากำลังสังเกตและจดจำว่าพ่อแม่ของเขามีทัศนคติอย่างไรต่อบุคคลเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าไปคุยกับพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจเรา เราต้องปรับทัศนคติ การกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนนะคะ จากนั้นหาโอกาสบอกลูกไปตรง ๆ ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนเดิม ประโยคนี้เป็นประโยคที่ลูก ๆ หลายคนอยากได้ยินที่สุดจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

 

 

อ้างอิง

 

กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา. (2559). ประสบการณ์ชีวิตของเลสเบี้ยน เกย์และไบเซ็กชวลภายหลังการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนเองต่อบิดาและมารดา. โครงการทางจิตวิทยา ปริญญาบัณฑิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“ช่างมัน” เสียบ้างก็ดี แต่จะให้ดีอย่าเผลอ “ช่างมัน” ไปซะทุกเรื่อง

 

Giving a damn for something you want to live for…

 

คุณเคยพูดกับตัวเองไหมว่า “ช่างมันเถอะ” กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิต ลองนึกย้อนดูว่าคุณพูดอย่างนั้นในเรื่องอะไรบ้าง หากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลืมหยิบสินค้าที่ราคาไม่แพงของจากร้านค้าหลังชำระเงินแล้ว โดนคนแซงคิวซื้ออาหารตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน ได้ยินคนในที่ทำงานนินทาว่าร้ายเราเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรถยนต์ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวกระจกข้างเป็นแผลนิด ๆ หน่อย ๆ

 

“ช่างมันเถอะ” ดูจะเป็นวิธีคิดต่อสถานการณ์ที่ดี เพราะหากคุณปล่อยวางกับเรื่องหยุมหยิมเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของคุณน่าอยู่ขึ้น ไม่ทำให้คุณคิดหมกมุ่นวุ่นวายใจ หัวเสียเจียนบ้า เสียเวลาคิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องจนทำให้หมดพลังงานที่จะสามารถไปทำอย่างอื่นที่จำเป็น การ “ช่างมัน” ในเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญ คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือ การมีสติ (mindfulness) ซึ่งเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ และช่วยให้เราเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ปล่อยวางและหยุดคิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ถ้าทำได้แล้วอาจทำให้เราเห็นโลกในมุมที่รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ความคิดและความรู้สึกโปร่งเบา ไม่ต้องแบกไปเสียทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่เราเลือกจะ “ช่างมัน” เพื่อช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ก็มักเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา การเก็บเรื่องเหล่านี้มานั่งเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือกลุ้มใจจนหน้าดำคร่ำเครียดนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร รังแต่จะทำให้เสียสุขภาพจิต เราจึงเลือกใช้วิธีคิดแบบปล่อยวาง หรือปลง เพื่อให้จิตใจเป็นสุข

 

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยกแยะเรื่องที่จะ “ช่างมัน” ด้วยเหมือนกัน มิฉะนั้นจากเรื่องที่ควร “ปล่อยวาง” จะกลายเป็น “ละเลย” สิ่งที่สิ่งที่สำคัญไปเสีย

 

หากเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่พิจารณาแล้วว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียขึ้นได้อีกในอนาคตหรือสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การเลือกที่จะ “ช่างมัน” อย่างนี้จะกลายเป็น “ละเลย” และประมาทกับอนาคตจนเกินไป แม้การใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จะช่วยให้เราเป็นสุข เมื่อเผชิญเรื่องแก้ไขไม่ได้หรือเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย แต่ก็ควรระวังตัวเองไม่ให้ใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จนเคยชินเป็นนิสัย จากแค่ “ปล่อยวาง” ให้ใจสบาย อาจจะเลยเถิดไปถึง “ละเลย” เรื่องสำคัญของชีวิตไปได้

 

อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวพัดพาให้เรารู้สึกว่า ช่างมัน กับทุก ๆ เรื่องไปเสียหมดจนสุดท้ายเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก็แค่ทำสิ่งที่ควรจะทำเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ พาให้เรารู้สึกเหมือนกับจะใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยขาดซึ่งความหมายหรือแก่นสารในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสุขภาวะที่ดี

 

ทฤษฎี Self-Determination Theory/SDT หรือการกำหนดตนเอง กล่าวถึงความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของมนุษย์ (psychological needs) 3 อย่าง ได้แก่ ความสามารถ (competence) การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relatedness) และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ (autonomy) ล้วนเป็นสิ่งที่หากเราได้ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนั้นจะจูงใจให้เราลุกขึ้นมา ริเริ่ม ทำสิ่งต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำตามหน้าที่และยอมรับบรรทัดฐานของสังคมที่เรายึดถือ อีกนัยหนึ่งก็คือ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาจากแรงจูงใจภายใจตัวเรา

 

จริง ๆ แล้วความต้องการทางจิตใจพื้นฐานดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนกับความต้องการทางกายภาพ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้นั้น ทั้งมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์โลกนั้น ต่างมีความต้องการทางกายภาพ เช่น ออกซิเจน น้ำ และสารอาหาร ซึ่งเราต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่หากเราขาดแคลนสิ่งเหล่านี้เราก็จะทุกข์ทรมาน ดังนั้นการสร้างปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตัวเอง อย่างบรรยากาศ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม (ให้ตัวเรารู้สึกถึงว่ามีความชำนาญหรือความถนัดในบางอย่างที่ท้าทาย) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (เช่น ได้รับการสนับสนุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมหรือกลุ่มนั้นๆ) และมีอิสระในการตัดสินใจหรือรู้สึกถึงว่าตนสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ (ไม่ใช่แค่ให้นายสั่งเท่านั้น หรือทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น) ก็จะทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมุ่งหวังหรือมุ่งมั่นให้สำเร็จจนได้

 

หากเราละเลยการรักษาระดับแรงจูงใจภายในที่จะผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกับตัวเรา นอกจากความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของเราจะพร่องหรือถูกละเลยแล้ว ก็จะทำให้ตัวเราจมอยู่กับสิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำ แต่ทำสิ่งนั้นให้ผ่านไปวันหนึ่งอย่างแกนๆ เท่านั้น แรงจูงใจภายในนั้นสำคัญมากเพราะจะเป็นพลังผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จในระยะยาว รวมถึงนำไปสู่ความรู้สึกภูมิใจต่อคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ตัวเองได้ลงมือกระทำอย่างแท้จริง ต่างจากแรงจูงใจที่เกิดจากภายนอกตัวเรา เช่น รางวัล คำชม หรือกำหนดเวลา deadline ต่าง ๆ ที่แม้จะกระตุ้นให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงสภาวะชั่วคราว ไม่ยั่งยืน หากขาดรางวัลหรือปัจจัยกระตุ้น อีกทั้งไม่ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิหรือความหมายลึกซึ้งต่อผลงานที่ได้รับ

 

อย่างนี้แล้ว การสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งตนเองและคนอื่นรอบตัวเรา เช่น บุตรหลาน พนักงาน นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่สามีหรือภรรยา พึงระวังว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ต้องแยกแยะระหว่างความต้องการที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่ต้องการควบคุมพฤติกรรมด้วยการใช้สิ่งจูงใจภายนอก (เงิน หรือ รางวัล ต่าง ๆ)

 

หากเราต้องการสร้างแรงจูงใจที่ยั่งยืนและช่วยสร้างคุณค่าและความหมายของการกระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ควรสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจจากภายในตัวบุคคล – – สื่อสารกับตนเองหรือเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน – – เรียนรู้ความต้องการของตนเองหรือเป้าหมาย แทนที่จะควบคุมกำกับให้ทำตาม – – และเปิดโอกาสให้ตนเอง/เป้าหมายได้ลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ไม่ท้าทายมาก เพื่อลิ้มรสความสำเร็จ สร้างความรู้สึกถึงความสามารถ ความชำนาญ ที่ทำให้วงจรแรงจูงใจจากภายในหมุนล้อขับเคลื่อน การทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และยั่งยืน

 

 

 

ภาพจาก http://sourcesofinsight.com/find-your-drive-the-keys-to-motivation/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มารักตัวเองกันเถอะ

 

ในวิชาทางจิตวิทยาสังคมที่ดิฉันสอนในเทอมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้มอบหมายให้นิสิตหาบทความทางจิตวิทยาในหัวข้อที่ตนสนใจมาอ่าน แล้วอภิปรายเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตของตนเอง เพื่อให้นิสิตได้หัดค้นคว้าและเห็นว่า “จิตวิทยาสังคมมีประโยชน์นะจ๊ะ”

 

ปรากฏว่า นิสิตหลายคนส่งงานมาในหัวข้อ การเห็นคุณค่าของตนเอง หรือ self-esteem ค่ะ ส่วนใหญ่ทำมาในแนว “ทำอย่างไรดี รู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเองเท่าไร” “อยากเพิ่ม self-esteem”

 

หนึ่งในบทความที่นิสิตอ่านแล้วส่งมาก็คือหน้าเว็บไซต์ในบรรณานุกรมค่ะ ได้บอกวิธีง่าย ๆ ในการเพิ่มความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองของคนเรา เมื่อนำมาผนวกกับงานวิจัยสมัยใหม่อื่นๆ สรุปเป็นไอเดียจำง่าย ๆ และทำก็ง่าย ได้ดังนี้ค่ะ

 

“ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน” และ “รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี”

 

 

1. ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน

 

หลักการง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอยากให้ตัวเองเก่งขึ้น ดีขึ้น น่าคบมากขึ้น มีอะไรดี ๆ ให้ภูมิใจ ก็ต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จค่ะ เราไม่สามารถจะนั่งคิดและมั่นใจไปผิด ๆ ว่าตัวเองเจ๋งอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งที่ไม่จริงได้ เสียเวลาเปล่า ๆ ถ้าอยากพัฒนาตัวเองให้มีอะไรดีเด่นมากขึ้นก็ต้องฝึกฝนลงมือทำ เริ่มต้นง่าย ๆ ค่ะ

 

ถามตัวเองว่า เรามีจุดแข็งอะไร เราถนัดอะไร มันต้องมีสักอย่างสองอย่างสิน่า เจียวไข่ก็ได้ เล่นเกมออนไลน์ก็ได้ อะไรก็ได้ แค่ต้องเอาดีให้ได้

ลุกขึ้นมาลงมือทำสิ่งนั้น ความสำเร็จมักจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ก็มันเป็นงานที่เราถนัดนี่นา จริงมั้ยคะ

 

“ผมชอบเล่นเกม เอาดีทางนี้ก็ได้ใช่มั้ยครับอาจารย์” เอ้า… เอาเลยค่ะ ให้เป็นแชมป์ไปเลย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่การประสบความสำเร็จค่ะ สิ่งนี้แหละจะทำให้เราภูมิใจในตัวเองมากขึ้นและเห็นว่าเราก็มีดีเหมือนกันนะ การเห็นคุณค่าของตัวเองนั้นมีโครงสร้างที่ง่ายมาก ๆ ก็คือ เมื่อใดที่นึกถึงตัวเองขึ้นมา เราก็ควรจะรู้สึกดี เช่น มั่นใจ ภูมิใจ ดีใจที่เราเป็นตัวเองแบบนี้ รู้สึกยอมรับและไม่รังเกียจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเชื่อมโยงตัวเราเองเข้ากับสิ่งดี ๆ เช่น การประสบความสำเร็จในอะไรสักอย่าง เมื่อทำได้แล้วเมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงตัวเอง ความรู้สึกภูมิใจก็จะเกิดตามมา คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปกป้องประคบประหงมลูกจนเกินไปไม่ยอมให้หยิบจับทำอะไรที่ลำบากเลย เพราะเขาจะไม่เคยได้พบว่าตัวเองทำได้ และไม่เคยได้เกิดความภูมิใจในตัวเองค่ะ

 

 

2. รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี

 

“อาจารย์ครับ แต่กว่าจะได้เป็นแชมป์เกม ก็แพ้อยู่ตลอด ๆ แล้วเมื่อไรจะภูมิใจในตัวเองได้สักทีล่ะครับ” หนทางสู่ความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ง่าย เราน่าจะต้องแพ้ ผิดพลาด ต้องอด หรือทำไม่ได้ดีมาก่อน หรือเราอาจจะพบว่าตัวเองมีจุดอ่อนหรือไม่ได้เรื่องในบางเรื่อง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาสมัยใหม่เสนอว่า การเห็นคุณค่าของตนเองที่แท้จริง คือ การยอมรับและให้ความเมตตาแก่ตัวเอง โดยเฉพาะในจุดอ่อนหรือข้อด้อยของเรา ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง แล้วทำไมเราจึงจะคาดหวังให้ตัวเองไม่มีข้อด้อยอะไรเลย? ดิฉันเองเป็นคนขี้ลืมอย่างร้ายกาจจนทำให้เสียการเสียงานมาแล้ว นึกถึงทีไรก็เจ็บแปล๊บที่หัวใจ และกังวล เบื่อตัวเองและรู้สึกว่าเราไม่ได้เรื่อง แต่หากเรามองตัวเองด้วยความเมตตาและให้อภัย เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า เราก็เป็นมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ย่อมจะมีข้อด้อยข้อผิดพลาดได้ การตระหนักดังนี้น่าจะช่วยให้เรายอมรับตัวเองทั้งร้ายและดีอย่างที่เราเป็น ได้ไม่ยากค่ะ แหม… เวลามีแฟน เราทุกคนก็มักจะหวังให้เขารักเราในแบบที่เราเป็น แล้วตัวเราเองละคะ ทำไมถึงรับตัวเองไม่ได้

 

เมื่อเราสามารถยอมรับตนเองทั้งร้ายและดีได้แล้ว ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตก็จะไม่สามารถทำอะไรเราได้มาก เพราะแม้ประสบความสำเร็จเราก็รักตัวเอง แม้ล้มเหลวเราก็ยังรักตัวเองในแบบที่เป็น แบบนี้จึงจะเป็นการเห็นคุณค่าในตัวเองที่คงทนยืนยาวค่ะ

อ่านจบแล้วอย่าลืมให้กำลังใจคนในกระจกด้วยนะคะ ^v^

 

รายการอ้างอิง

 

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-squeaky-wheel/201604/5-ways-boost-your-self-esteem-and-make-it-stick

 

 


 

 

บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

ความเชื่อและค่านิยมของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

 

 

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด ที่ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าวัยรุ่น เช่น ครีมทาผิวขาว ครีมรักษาสิว รอยแผลเป็น น้ำผักผลไม้ผสมคอลลาเจน อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

จากงานวิจัยในประเทศแคนาดาของ เบลล์ และคณะ เมื่อปี 2547 ได้ทำการสำรวจวัยรุ่นแคนาดาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่น ผลการวิจัยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีการบริโภคอาหารเสริม โดยวัยรุ่นเพศหญิงบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความงามมากกว่าวัยรุ่นเพศชาย โดยเฉพาะสมุนไพรควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้กลุ่มผู้วิจัยตระหนักถึงแรงจูงใจในการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่นว่า อาจมาจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารเสริม เช่น เชื่อว่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายหรือช่วยให้มีรูปร่างที่ดีขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็นได้

 

สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่นกัน โดย ลักขณา อังอธิภัทร และคณะ ได้ศึกษาในปี พ.ศ. 2551 ถึงพฤติกรรมการบริโภค และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.2 บริโภคอาหารเสริมและยังคงบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนร้อยละ 20.3 นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้และการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในระดับต่ำ โดยเข้าใจและเชื่อตามโฆษณา ว่าสามารถช่วยรักษาโรค บำรุงร่างกาย ลดความอ้วน และเสริมความงามได้ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานแต่อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งวัตถุประสงค์ตามการโฆษณา อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

 

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรเข้ามาดูแลควบคุมการโฆษณา และทำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเสริมความงาม ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

 

 

พฤติกรรมการลดน้ำหนักของวัยรุ่นและผลกระทบด้านลบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก


 

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการลดความอ้วนของวัยรุ่นไทย ของ ศิวรักษ์ กิจชนะไพบูลย์ ที่ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง ปี พ.ศ. 2554) พบว่าวัยรุ่นไทยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง รับรู้ว่าตนเองอ้วน ในขณะที่เกณฑ์น้ำหนักอยู่ในระดับสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนี้เกิดพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีการใช้ยาลดน้ำหนัก การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการดื่มกาแฟลดน้ำหนัก

 

นอกจากนี้สื่อโฆษณาต่าง ๆ ในปัจจุบันเน้นการนำเสนอนางแบบที่รูปร่างหน้าตาภายนอก การมีหุ่นที่ผอมเพรียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งส่งผลตอกย้ำให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการให้ตนมีรูปร่างผอมหุ่นดีเหมือนนางแบบในโฆษณา

 

การที่วัยรุ่นมีแนวโน้มลดน้ำหนักเพื่อให้รูปร่างตนเองผอมเพรียวเหมือนดาราในโฆษณา อาจนำไปสู่พฤติกรรมการลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนมายังวัยรุ่นถึงการบริโภคอาหารเสริมว่า วัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิง บริโภคอาหารเสริมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด แคปซูล ชงดื่ม หรือในรูปแบบของวิตามินต่างๆ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการบริโภคอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวนี้ ส่งผลทางลบอย่างมากต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีภูมิต้านทานโรคต่ำได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่วัยรุ่นมีให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป อาจส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนั้น มีพฤติกรรรมการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี และทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงของการศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น


 

วัยรุ่นปัจจุบันมีต้นแบบความงามจากดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบ ซึ่งต้นแบบเหล่านี้มีหน้าตาที่สวยหล่อทั้งจากธรรมชาติ หรือจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม จากการสำรวจของสำนักเด็กดีโพล ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าเยาวชนไทยในปัจจุบัน มีค่านิยมในการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ตนเองดูดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจ โดยมีดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบเป็นต้นแบบด้านความงาม

 

สำหรับวงการวิชาการมีนักวิจัยหลายท่านให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมของวัยรุ่น เช่น งานวิจัยของ Lunde (ลุนเด้) ศึกษาทัศนคติของวัยรุ่นชาวสวีเดนต่อการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะยอมรับการศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่า โดยวัยรุ่นหญิงที่อยากมีรูปร่างผอมบาง มักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้วัยรุ่นหญิงที่ชอบอ่านบล็อกความงามแฟชั่น ก็มีความสัมพันธ์กับการอยากมีรูปร่างที่ผอมบางมาก และมักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงาม นอกจากนี้ ผลการวิจัยวัยรุ่นอังกฤษของ Swami ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น

 

จะเห็นได้ว่าทั้งต้นแบบ ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่มีหน้าตาและรูปร่างที่วัยรุ่นชื่นชอบ รวมทั้งสื่อ ที่มีการนำเสนอต้นแบบกลุ่มนี้ ล้วนส่งอิทธิพลต่อวัยรุ่นในการเลียนแบบ เพื่อให้ตนเองมีรูปร่างหน้าตาที่ดีเหมือนต้นแบบ และนำไปสู่การทำศัลยกรรมเสริมความได้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และดูแลพฤติกรรมสุขภาพความงามของวัยรุ่นให้หมาะสมและปลอดภัย

 

Markey และ Markey ได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจในการเข้ารับบริการทำศัลยกรรมเสริมความงาม กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ผลการวิจัยพบว่าความสนใจในการเข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม มีความสัมพันธ์กับน้ำหนัก ความไม่พึงพอใจในรูปร่าง สื่อ และความน่าดึงดูดใจทางร่างกาย งานวิจัยสรุปว่าผู้หญิงที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตน มีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรม เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Farshidfar และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการยอมรับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอิหร่าน อายุ18 ถึง 20 ปี มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด โดยปัจจัยด้านภาพลักษณ์ทางร่างกายและการเห็นด้วยกับการทำศัลยกรรม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงาม

 

สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2552 สำนักเด็กดีโพล สำรวจค่านิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่นไทย จำนวน 5,074 คน พบว่า วัยรุ่นสนใจการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยกลุ่มนักศึกษา สนใจทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด นอกจากนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่รับรู้ว่า การทำศัลยกรรมความงามในปัจจุบันมีความปลอดภัย โดยพบว่าการเสริมจมูกเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการทำหน้าใส กรีดตาสองชั้น การฉีดปากให้อวบอิ่มหรือผ่าตัดปากให้บาง การเสริมคาง การตัดกรามทำหน้าเรียว และการเสริมหน้าอก ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตัดสินใจทำศัลยกรรม คือ ต้องการให้ตัวเองดูดี เพื่อผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน และทำเพราะพ่อแม่สั่งให้ทำ

 

 

ปัญหาที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามไม่ถูกวิธีหรือเข้ารับบริการสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน


 

ปัจจุบันพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีส่วนผสมจากสารต้องห้าม เช่น สารปรอท สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ เป็นต้น

 

ตัวอย่างผลกระทบด้านลบ เช่น เครื่องสําอางทาสิวหรือทำให้หน้าขาวที่ผสมสารปรอท ส่งผลให้เกิดการแพ้ มีผื่นแดง ผิวหน้าดำ เครื่องสำอางที่ผสมกรดวิตามินเอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้าแดง ระคายเคือง อาการแสบร้อนรุนแรง ผิวหนังอักเสบ ผิวลอกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

นอกจากนี้ ปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดวิธี นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมฉีดผิวให้ขาวด้วยสารกลูต้าไธโอน โดยฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อเร่งให้ได้ผิวขาวเร็วขึ้น โดยการฉีดอย่างต่อเนื่องและเกินขนาด 2-3 เท่าตัว ทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวลดลง เกิดอาการระคายเคือง แพ้แสงแดดได้ง่าย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง และอาจส่งผลกระทบให้จอประสาทตาอักเสบ จนอาจนำไปสู่การตาบอดได้

 

เช่นเดียวกันสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบพบว่า สถานเสริมความงามหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน มีการนำยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอมมาใช้ เช่น คอลลาเจน โบท็อกซ์ กลูตาไธโอน วิตามินซี รกแกะ นอกจากนี้ยังนำเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกับอย.มาให้บริการ ซึ่งการเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่ขาดมาตรฐาน อาจทำให้วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อและได้รับอันตรายจากเข้ารับบริการเพิ่อเสริมความงามได้

 

ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหรือการทำศัลยกรรรมเสริมความงามกับกลุ่มวัยรุ่น ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มันน่าจะทำให้เรามีความสุข

 

คนทุกคนย่อมมีสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นใหญ่ ๆ ตั้งแต่บ้านที่อยู่อาศัย หรือรถคันใหม่ หรือเป็นเพียงแค่ของชิ้นเล็ก ๆ เช่น กระเป๋าใบใหม่ หรือเสื้อผ้าตัวใหม่

เราทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า เมื่อเราได้ครอบครองสิ่งนั้นแล้ว เราน่าจะมีความสุขมากขึ้น

 

เราน่าจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่ เมื่อได้ขับรถคันใหม่ เมื่อได้ใช้กระเป๋าใบใหม่ หรือได้ใส่เสื้อผ้าตัวใหม่

 

ลองนึกถึงเมื่อเรากำลังจะซื้อรถคันใหม่ เราบอกกับตัวเองถึงข้อดีต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับรถคันนั้น อาจจะเปรียบเทียบกับรถคันเดิมของเรา หรืออาจจะเปรียบเทียบกับชีวิตของเราเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถ

 

รถคันใหม่ทันสมัยกว่า ประหยัดน้ำมันมากกว่า เครื่องยนต์แรงกว่า และตัวถังสวยกว่ารถคันเก่า หรืออาจจะคิดว่า เมื่อเรามีรถ ชีวิตเราจะสะดวกสบายว่าเมื่อก่อนครั้งที่เรายังไม่มีรถส่วนตัวมากเพียงใด

 

เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เรามักจะสรุปว่า การซื้อรถคันใหม่ย่อมทำให้เรามี “ความสุข” มากขึ้นได้แน่นอน

 

บางคนอาจจะคิดว่าในการซื้อรถคันใหม่ นอกจากจะทำให้เกิดความสุข หรืออารมณ์ทางบวกที่เกิดจากความพึงพอใจแล้ว อาจจะยังทำให้เกิดความทุกข์ได้กับปัญหาหลาย ๆ ประการที่อาจจะตามมา

 

การซื้อรถคันใหม่สักคัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การประกันภัย ไปจนถึงการซ่อมบำรุงประจำปี สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาซึ่งความทุกข์หรือทำให้ความสุขของเราลดลงได้

 

การได้มีประสบการณ์กับสิ่งของใหม่ ๆ ที่เราซื้อมานั้น จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ตามที่เราได้คาดเอาไว้ก่อนแล้วหรือไม่?

 

เราสามารถคาดการณ์ “ประสบการณ์” ของตัวเองได้ดีแค่ไหน แล้วถ้าประสบการณ์นั้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการด้วยแล้ว เราจะสามารถบอกได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใดว่า เราจะมีความสุขมากเพียงใดเมื่อเราได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จะมีด้วยกัน 3 แบบ คือ

 

  • แบบแรก ความสุขที่เราได้รับเมื่อ “ใช้” รถนั้น พอ ๆ กับระดับของความสุขที่เราคิดเอาไว้เมื่อตอนกำลังที่จะซื้อรถ
  • แบบที่สอง ความสุขที่เราได้รับนั้น มากกว่าที่เราคิดเอาไว้
  • และแบบสุดท้าย ความสุขที่เราได้รับนั้น น้อยกว่าที่เราคิดเอาไว้

 

ในความเป็นจริง เรามักจะคาดการณ์ระดับความสุขมากเกินความเป็นจริงเมื่อเรากำลังตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ มีคำอธิบายและทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีอยู่สามคำอธิบายที่น่าสนใจ

 

 

1. ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์

 

มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวที่น่าเหลือเชื่อมาก เมื่อพูดถึงความสามารถในการปรับตัว หลายคนอาจจะนึกไปถึงการที่มนุษย์ไปอาศัยอยู่ ในที่ที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัด หรือร้อนจัด หรืออาจจะนึกไปถึงการที่ต้องปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น คนเราสามารถปรับตัวในเรื่องความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความสุข ความทุกข์ ได้เช่นเดียวกัน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ เรา “เคยชิน” ได้เร็วนั้นเอง

เราอาจจะนึกไปถึงคนรู้จักที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตึงเครียด หรือน่าหดหู่ แต่ถ้าลองสังเกตดู พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา หรืออย่างน้อย ระดับความทุกข์ของเขานั้นก็ไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความสุขก็เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนเรามีความสุขมาก ๆ เราก็ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา ความสุขของเรานั้นก็อาจจะไม่ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

 

นักจิตวิทยาตั้งสมมติฐานว่า คนเรามี “จุดสมดุลของความสุข” ซึ่งจุดสมดุลนี้เปรียบเสมือนระดับความสุขพื้นฐานของบุคคล

 

ถ้าเรามีระดับความสุขมากหรือน้อยกว่าระดับความสุขพื้นฐานนี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้ระดับความสุขของเราใกล้เคียงกับระดับพื้นฐานมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมคล้ายเดิมก็ตาม

 

การปรับตัวเข้าสู่ระดับสมดุลนี้เองเป็นคำอธิบายประการหนึ่งสำหรับคำตอบที่ว่า คนเรามักจะคาดการณ์ “ระดับความสุข” ของตัวเองมากเกินกว่าระดับที่พวกเขาจะมีเมื่อได้รับประสบการณ์จริง

 

ในการซื้อรถคันใหม่ เมื่อเราเริ่มใช้รถไปสักพัก แน่นอนว่าระดับความสุขของเรา จากที่เคยมีมากและห่างจากจุดสมดุลของความสุข มันก็จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น กลายเป็นว่าระดับความสุขหลังจากนั้นน้อยกว่าระดับความสุขที่เรา “คาด” ว่าจะมีก่อนซื้อรถ

 

อาจจะมีการเข้าใจกันผิดไปว่า “ความสุข” ของคนเรานั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนยาวนานได้ เพราะเรามีจุดสมดุลของความสุขที่คงที่ จุดสมดุลของความสุขนี้เปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน จะค่อยเป็นค่อยไปเสียมากกว่า และจะเกิดจากการที่บุคคลมีความคิด มุมมอง และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมโดยตรง

การปรับระดับของความสุขเข้าสู่จุดสมดุลนี้ทำให้นักจิตวิทยาบางคนมองว่า กระบวนการนี้ นอกจากจะทำให้เราประเมินความสุขในอนาคตผิดไปแล้ว ยังทำให้เราพยายามออกแรงหาสิ่งต่างๆ มาทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลที่ได้นั้นมักจะไม่คงทนยาวนาน

 

 

2. การให้ความสนใจของบุคคล

 

ในชีวิตแต่ละวันของเรา มีสิ่งมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจ ตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า ไปจนถึงเข้านอนในตอนกลางคืน ทั้งเรื่องการทำงาน การเรียน การเงิน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

เนื่องจากความสนใจเป็นทรัพยากรที่เรามีจำกัด เราจึงจำเป็นต้องจัดสรรการให้ความสนใจไปยังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม

 

คำถามคือ แล้วการแบ่งความสนใจนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า เราจะสามารถคาดการณ์ระดับความสุขได้แม่นยำเพียงใดเกี่ยวกับการบริโภคสิ่งต่าง ๆ

 

ตอนที่เรากำลังตัดสินใจเลือกซื้อของ เรามุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปกับการเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เรากำลังจะซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบรถคันใหม่กับรถคันเก่า หรือจะเป็นการเปรียบเทียบรถยี่ห้อต่าง ๆ หรือรถรุ่นต่าง ๆ กัน เราจะต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องราคา เครื่องยนต์ รูปลักษณ์ของตัวถัง การบริการหลังการขาย และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าในความสนใจของเราในขณะนั้น จะมีแต่ “ชีวิต” ของเราในขณะที่ใช้รถคันใหม่ เราจะให้ความสนใจแต่ว่า การใช้รถคันใหม่ของเรานั้นจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการใช้รถคันเก่าเพียงใด หรือจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าชีวิตตอนที่เราไม่มีรถใช้เพียงใด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ความสนใจจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ของเราจริง ๆ แล้วจะค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว

 

ลองนึกถึงเวลาที่เรากำลังจะเลือกซื้อรถคันใหม่ ช่วงนั้นในหัวของเราจะมีแต่เรื่องรถ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ หรือจะเป็นการนึกไปถึงประสบการณ์ที่มีความสุขของเราขณะขับรถคันใหม่

 

จากการให้ความสนใจอย่างมากนี่เอง ที่อาจจะทำให้เราคิดไปเองว่า เราน่าจะมีความสุขมากจากการใช้รถคันนี้ จนลืมคิดไปว่าในชีวิตจริงของเรานั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการงาน การเรียน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจของเรานี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบระดับความสุขเมื่อคิดถึงแต่การซื้อรถและได้ขับรถคันใหม่เพียงอย่างเดียว กับระดับความสุขเมื่อมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาดึงความสนใจของเราออกจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำนักนี่ยังไม่รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัด อุบัติเหตุ การขโมย หรือแม้แต่การบริการหลังการขาย สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้คิดคำนึงตั้งแต่ตอนที่เรากำลังตัดสินใจซื้อรถ อาจจะทำให้ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นมีความสุขน้อยลงไปกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้

 

ซึ่งความสำคัญของเรื่องเหล่านี้คือ การคาดการณ์ที่เกินกว่าระดับที่เป็นจริงอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้ การตัดสินใจผิดในที่นี้หมายถึงการใช้เงินลงทุนในการหาความสุขให้กับตัวเองผิดไป

 

เราอาจจะคิดว่ารถที่มีขนาดหรือเครื่องยนต์แตกต่างกันจะนำความสุขมาให้เราแตกต่างกัน ซึ่งการคิดเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจกับประสบการณ์ใช้รถเพียงอย่างเดียว จนลืมไปว่าในชีวิตจริงแล้ว ความสุขที่เราจะได้รับนั้นอาจจะไม่แตกต่างกันมากนักเพราะเรามักจะมีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตอีกมากมายมาดึงความสนใจของเราไป เป็นผลให้เราอาจจะเลือกใช้เงินอย่างไม่เหมาะสมในการซื้อสินค้าที่อาจมีราคาสูงเกินไป

 

 

3. ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์และการได้รับประสบการณ์

 

พูดง่าย ๆ คือว่า เวลาเราตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเราคาดการณ์ผลของมันจากการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ แต่การมีประสบการณ์ในการใช้สินค้านั้นมักจะเกิดขึ้นเดี่ยว ๆ และมักจะไม่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น

 

ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์ที่มีการเปรียบเทียบ และประสบการณ์ที่ไม่มีการเปรียบเทียบอาจจะทำให้เราไม่ได้มีความสุขมากเท่ากับที่คิดไว้ หรือถ้าแย่ไปกว่านั้น คืออาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้

 

สมมติว่าเรากำลังจะซื้อบ้าน และตัดสินใจเลือกระหว่างบ้านสองหลัง บ้านทั้งสองหลังนี้มีทุกอย่างเหมือนกันยกเว้นอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือบ้านหลังแรกมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าบ้านหลังที่สอง อย่างที่สองคือบ้านหลังแรกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ง่าย เช่น อาจจะตั้งอยู่ใกล้กับพืชพรรณบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนที่ตั้งของบ้านหลังที่สองไม่มีปัญหาดังกล่าว ในการเลือกซื้อเรามักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างบ้านทั้งสองหลัง แต่ในการอยู่อาศัยเราจะไม่มีการเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัด ถ้าเราลองถ่วงน้ำหนักดูและเปรียบเทียบว่าบ้านหลังไหนจะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน แล้วพบว่าเราให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเรื่องที่ตั้งที่อาจจะทำให้เราเกิดอาการภูมิแพ้ เราอาจจะตัดสินใจเลือกบ้านหลังแรก แต่ประสบการณ์เมื่อเราอยู่อาศัยนั้นเรามักจะพบว่า ความแตกต่างระหว่างขนาดพื้นที่ใช้สอยที่แตกต่างกันไม่ได้ทำให้เรามีระดับความสุขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในการอยู่อาศัยจริง เราไม่มีการเปรียบเทียบกับตัวเลือกที่เราไม่ได้เลือก ความแตกต่างเรื่องความสุขจึงไม่เด่นชัดนัก ในทางกลับกันพื้นที่ตั้งที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้น น่าจะมีผลกระทบต่อระดับความสุขจากการอยู่อาศัยของเรามากกว่า และสิ่งนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าเราต้องอยู่ในบ้านหลังนั้นพร้อมกับอาการภูมิแพ้ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง อาการภูมิแพ้ที่เราเป็นนั้น เป็นข้อเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบใด ๆ

 

จากทั้งหมดนี้ สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนทราบเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อสิ่งต่าง ๆ คือ เวลาจะตัดสินใจซื้อให้นึกถึง “ประสบการณ์” ของเราในการใช้ของสิ่งนั้นในระยะยาว โดยไม่มีการเปรียบเทียบ และให้นึกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจริง มักจะน้อยกว่าที่เราคิดไว้เสมอ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม

 

ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่ม (Aggression between social groups)

 

 

เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า สังคมทางเอเชียหรือสังคมไทยมักเป็นสังคมที่มีความผูกพันกันเป็นกลุ่มมากกว่าสังคมทางตะวันตกที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากกว่า อย่างไรก็ตามในทุกสังคมย่อมมีความเป็นกลุ่ม หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือมีความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรา ซึ่งความเป็นกลุ่มเขา-กลุ่มเรานี่เองทำให้ในบางครั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขึ้น

 

สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอาจเกิดจากการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรหรือสิ่งต่าง ๆ เช่น วัตถุ อำนาจ เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แต่ละกลุ่มจึงต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรนั้น ๆ และอาจทำให้เกิดความคับข้องใจ ความมุ่งร้ายหรือความไม่เป็นมิตรต่อกลุ่มอื่น จนทำให้เกิดความก้าวร้าวตามมาในที่สุด

 

นอกจากนี้ เมื่อบุคคลมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ทางสังคม (Social Identity Theory; Tajfel, 1981) และบุคคลมักจะมองกลุ่มของตนดีกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลนั้นรู้สึกดี มีการนับถือตนเองที่สูงขึ้น ทำให้บุคคลมองกลุ่มตนเองแตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยบุคคลจะมองสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอื่นมีความเหมือนกัน ไม่ได้มองว่าบุคคลแต่ละคนมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน การมองที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตามมา เราจึงพบว่า บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมักได้รับการสรรเสริญเยินยอจากคนในกลุ่ม หากแต่บุคคลนอกกลุ่มทำผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจได้รับการติเตียนไม่หยุด

 

หากกลุ่มเรามีชะตากรรมร่วมกันมาก่อน ก็จะยิ่งทำให้เกิดความผูกพันหรือความเหนียวแน่นในกลุ่มและเมื่อมีความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการแก้แค้น แม้กับคนที่ไม่ได้มาทำร้ายตน แต่มาทำร้ายคนในกลุ่มตน และทำให้เกิดการแก้แค้นคนนอกกลุ่ม แม้ว่าคนคนนั้นไม่ได้เป็นคนที่มาทำร้ายแต่เพียงเพราะอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่มาทำร้าย

 

 

นักวิชาการ (Sherif, 1958) ได้ทำการทดลองให้เห็นจริงว่า ถ้าสองกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันและต้องทำให้สำเร็จเพื่อความอยู่รอดของทั้งสองกลุ่ม ก็จะทำให้สองกลุ่มเกิดความร่วมมือกัน เป็นการสนับสนุนเจตคติทางบวกระหว่างกลุ่ม เช่น สองกลุ่มในตอนแรกมีการแบ่งข้างกันแล้วให้แข่งขันกัน เช่น แข่งเกมที่มีแพ้และชนะ ก็อาจทำให้รู้สึกเป็นพรรคเป็นพวก หลังจากนั้นให้สองกลุ่มช่วยกันหาวิธีนำเสบียงขึ้นไปยังที่พักแรมที่ค่ายพักแรมบนภูเขาเนื่องจากรถขนเสบียงเสีย เมื่อสองกลุ่มได้ร่วมแรงร่วมใจหาวิธีขนเสบียงไปบนค่ายพักแรมบนภูเขาได้สำเร็จก็จะรู้สึกดีต่อกันและรักกันมากขึ้น

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ หากแต่ถ้าเรารู้เท่าทันกลไกของความขัดแย้ง เช่น การเตือนตนเองให้มีความรัก ความเมตตาต่อบุคคลอื่นตามหลักศาสนาของตน การติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน การไม่ตัดขาดจากกันและการมีเป้าหมายร่วมกัน จะทำให้สามารถลดความขัดแย้งและความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการติดต่อสื่อสารกันในทางบวก หากเป็นการติดต่อสื่อสารกันแล้วทำให้เกิดการบาดหมางกันมากขึ้น เช่นหากต้องติดต่อสื่อสารกับคนที่ยากหรือก้าวร้าวมาก นักจิตวิทยาแนะนำว่า ติดต่อให้น้อยที่สุดหรือไม่ติดต่อเลยน่าจะดีกว่า

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sherif, M. (1958). Superordinate goals in the reduction of intergroup conflict. American Journal of Sociology, 63, 349-356.

 

Tajfel, H. (1981). Human groups and social categories: Studies in Social Psychology. Cambridge: Cambridge University Press.

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วาณิชย์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เหยียดในเหยียด

 

คำว่า “เหยียดในเหยียด” นั้น ไม่ได้เป็นคำที่อยู่ในสารบบคำศัพท์จิตวิทยา จึงอาจไม่มีคำนิยามที่อธิบายความหมายตรงกันในทางวิชาการ แต่ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินหรือได้เห็นคำนี้มาบ้างตามเพจหรือบอร์ดสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เห็นว่าเป็นคำที่น่าสนใจดีทีเดียวค่ะ

 

แต่ก่อนจะมาตีความกันว่า “เหยียดในเหยียด” คืออะไร คงจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “การเหยียด” นั้นหมายถึงอะไร

 

การเหยียด หรือ เจตคติรังเกียจกลุ่ม (Prejudice) หมายถึง ความลำเอียงอันมีที่มาจากการจัดกลุ่มทางสังคม อาทิ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น รูปร่าง ฯลฯ และเกิดความเชื่อแบบเหมารวมว่าคนกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร จนนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันในทางชื่นชอบหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อคนกลุ่มนั้นๆ อย่างไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม

 

การแสดงออกซึ่งการเหยียดหรือเจตคติรังเกียจกลุ่มมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบตามลำดับความรุนแรง ได้แก่ การต่อต้านด้วยคำพูด การหลีกเลี่ยง การกีดกันทางสังคม การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึง การกำจัดหรือทำลายล้าง โดยทั่วไปแล้วเรามักไม่ใช้คำว่าเหยียดแบบโดด ๆ แต่เราจะใช้คู่กันกับกลุ่มบุคคลหรือประเด็นที่เป็นเป้าหมาย เช่น เหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนา เหยียดคนจน เหยียดคนรวย ฯลฯ

 

เรื่องที่น่าสนใจว่าด้วยการเหยียดนั้นคือ ส่วนใหญ่แล้วมันมักเกิดขึ้นโดยปราศจากการตระหนักรู้ตัวของบุคคล พูดง่าย ๆ ก็หมายถึง หลายครั้งคนเรามักไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองนั้นเหยียดคนอื่น

 

เห็นได้จากงานวิจัยหลาย ๆ งานที่พบว่า เมื่อให้บุคคลประเมินว่าตนเองมีความรู้สึกต่อกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นเช่นไร บุคคลมักประเมินว่าตนเอง “ไม่ได้มีความรู้สึกทางลบหรือมีอคติต่อกลุ่มคนนั้น ๆ” แต่เมื่อทดสอบด้วยการทดลองหรือการวัดเจคติโดยนัย ผลที่ออกมากลับไม่สอดคล้องกัน เช่น มีการถอยห่างหรือเว้นระยะกับคนที่สีผิวต่างกันมากกว่ากับคนที่สีผิวเดียวกัน ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือบุคคลต่างถิ่น เลือกจ้างงานหรือให้เงินเดือนสูงกว่ากับผู้สมัครเพศชายมากกว่าผู้สมัครเพศหญิงทั้งที่คุณสมบัติไม่แตกต่างกัน เป็นต้น

 

นั่นแสดงให้เห็นว่า บุคคลอาจมีความเชื่อหรือความรู้สึกทางลบกับกลุ่มคนบางกลุ่มแบบไม่รู้ตัว แต่สิ่งเหล่านี้จะฟ้องออกมาผ่านความรู้สึกไม่ไว้วางใจเมื่อมีสถานการณ์ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กัน จึงมีการเลือก/ไม่เลือก ให้คุณ/ให้โทษ เข้าใกล้/ถอยห่าง กับคนกลุ่มนั้นที่แตกต่างจากกลุ่มคนกลุ่มอื่น

 

แม้ว่าการเหยียดดูเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะมักนำไปสู่การปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกลุ่มคนที่ถูกเหยียด แต่การเหยียดก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดขึ้นง่ายแต่ควบคุมยาก

 

ที่ว่าเป็นธรรมชาตินั้น เริ่มจากการที่มนุษย์มีความสามารถในการทำความเข้าใจและจดจำข้อมูลที่จำกัด มนุษย์จึงต้องหาทางลดภาระของสมองโดยการย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยการจัดกลุ่มข้อมูลเป็นประเภท ๆ ลงโฟลเดอร์ แล้วให้คำนิยามแปะโฟลเดอร์กลุ่มข้อมูลนั้นไว้ ทั้งนี้คำนิยามนั้นจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่บุคคลได้เรียนรู้ ทั้งจากประสบการณ์ของตนโดยตรงและการหล่อหลอมของบุคคลรอบข้างและสังคมที่เติบโตมา

 

นั่นแปลว่า หากตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิต ประสบการณ์ได้ให้แง่มุมที่หลากหลายต่อกลุ่มข้อมูลนั้น ความเชื่อเหมารวมแบบบวกหรือลบไปทางใดทางหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งโดยส่วนมาก แง่มุมที่หลากหลายมักจะเป็นกับกลุ่มข้อมูลที่ตัวบุคคลเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มข้อมูลนั้น เช่น ตัวผู้เขียนเองเป็นผู้หญิง ผู้เขียนย่อมเข้าใจว่าผู้หญิงเป็นอย่างไร ผู้เขียนเป็นคนไทย ผู้เขียนก็รู้ว่าคนไทยเป็นอย่างไร มีความแตกต่างหลากหลายภายในกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มคนไทยขนาดไหนบ้าง แต่ผู้เขียนมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชายและคนชาติอื่นน้อยกว่า ดังนั้นผู้เขียนก็อาจจะใช้ความเชื่อเหมารวมในการตัดสินคนกลุ่มอื่นที่ผู้เขียนไม่รู้จักดี

 

แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ใช้ว่าการเหยียดหรืออคติจะควบคุมไม่ได้เสียเลย สำคัญที่เราจะต้องมีสติรู้ตัวตลอดเวลา ว่าเราคิด รู้สึก หรือกำลังจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นความลำเอียงอยู่หรือไม่ ถ้ารู้ตัว ก็เตือนตัวเองให้สนใจคำนิยามหน้าโฟลเดอร์น้อยลง และพิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของข้อมูลแต่ละหน่วยในโฟลเดอร์นั้นมากขึ้น เช่น ไม่ใช่พิตบูล “ทุกตัว” ที่ดุร้าย แต่พิตบูลที่ดุร้ายกัดเจ้าของตนตาย เป็นเฉพาะพิตบูลที่เจ้าของไม่เข้าใจธรรมชาติของมันและถูกเลี้ยงมาอย่างไม่ถูกต้องต่างหาก

 

 


 

 

อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ “การเหยียด” ไปเสียไกล กลับมาที่วลี “เหยียดในเหยียด” ซึ่งเป็นใจความหลักของบทความนี้กันนะคะ

 

เท่าที่ผู้เขียนสังเกตถึงการใช้วลี “เหยียดในเหยียด” ในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ผู้เขียนพบว่ามีการใช้วลีนี้ใน 2 ความหมายด้วยกัน

 

ความหมายที่ 1 คือ การที่บุคคลรู้สึกว่าผู้อื่นเหยียดตนนั้นเป็นเพราะบุคคลต่างหากที่เหยียดตัวเอง

 

ความหมายเช่นนี้ ผู้เขียนพบในกรณีที่เริ่มจากการมีคนใช้คำประเภท “ดำ” “อ้วน” “ดั้งแหมบ” “ติ่ง” “เสี่ยว” “ตุ๊ด” “แคระ” “สายเหลือง” “หน้าเทา” ในการเรียกขานหรือคอมเมนต์ถึงผู้อื่น แล้วก็ตามมาด้วยการที่คนผู้นั้นถูกตำหนิ ว่าการใช้ถ้อยคำเช่นนั้นเป็นการพูดจาที่ไม่สุภาพ เป็นการเหยียดคนผิวคล้ำ เหยียดเพศ เหยียดเพื่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งคำตำหนินี้ก็ตามมาด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า “หากคุณ ‘รู้สึก’ ว่าคำเหล่านั้นเป็นคำไม่ดี เป็นคำที่ ‘แย่’ กว่าคำอื่น ๆ มันไม่ใช่ว่าเป็นคุณเองหรือที่เห็นคำว่าดำ คำว่าอ้วน คำว่าตุ๊ด เป็นคำที่แย่กว่าการบรรยายคุณลักษณะอื่น ๆ” สรุปได้ว่า “คุณเองนั่นแหละที่กำลังเหยียดความอ้วนความดำความตุ๊ดอยู่ใช่ไหม” เพราะถ้าคุณไม่รู้สึกว่ามันแย่ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอ่อนไหวหรือเดือดร้อนกับคำเรียก/คอมเมนต์แบบนี้ก็ได้ (ตราบใดที่คำพูดเหล่านั้นไม่มีน้ำเสียงหรือบริบทอื่นใดประกอบให้แน่ชัดว่าเป็นคนดูถูกเดียดฉันท์ หรือนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ)

 

ความหมายที่ 2 ซึ่งเป็นความหมายที่พบเจอมากกว่า คือ การแอนตี้การเหยียดด้วยการเหยียด

 

กรณีนี้เป็นกรณีที่พบเจอได้บ่อย โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่ผู้คนมีความหุนหันพลันแล่นต่อการตอบสนองต่อสิ่งที่ตนไม่ชอบใจหรือรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง จนบางครั้งแสดงออกมาในลักษณะการกระทำในสิ่งเดียวกันกับที่ตนถูกกระทำ อาจเพื่อความสะใจ หรือเพื่อ “ให้รู้สำนึก” ว่าสิ่งที่พูดหรือทำมานั้นมันสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้อื่นเพียงใด จึงกลายเป็นตอบโต้การเหยียดด้วยด้วยการเหยียดกลับไปนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ นางเอ พูดจาวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นว่ารูปร่างหน้าตาไม่ดี ใช้คำเปรียบเปรยในทางลบ จากนั้น นางเอ ก็ถูกโจมตีว่า ก็ยังดีกว่านางเอที่ไปทำศัลยกรรมมา ขนาดทำแล้วได้แค่นี้ จิตใจไม่พัฒนาขึ้นเหมือนหน้าตาถึงได้ชอบมาเหยียดรูปลักษณ์คนอื่น

 

หรือกรณีที่ นายบี แสดงความคิดเห็นถึงนางเอกละครที่มีบุคลิกห้าวคล้ายทอม ว่าอย่างนี้ต้อง “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” “เดี๋ยวเจอผู้ชายก็หายเป็นทอม” จากนั้น นายบีก็ถูกโจมตีว่าคำพูดคำจาแบบนั้นคือการเหยียดเพศ คุกคามทางเพศ อย่าคิดว่าเป็นผู้ชายแล้วจะเหนือกว่า สิ่งที่ผู้ชายมีติดตัวมาแต่กำเนิดไม่ได้จำเป็นกับผู้หญิงขนาดนั้น คนที่คิดแบบนี้คงมีปมเรื่องขนาด

 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ในการตำหนิผู้อื่นว่าแสดงทัศนคติเหยียดรูปร่างหน้าตาหรือเหยียดเพศนั้น ก็มีการสะท้อนถึงการเหยียดการศัลยกรรมและการเหยียดขนาดอยู่ในการตำหนิด้วย การแอนตี้การเหยียดลักษณะนี้ จงถูกมองว่าเป็นการเหยียดในเหยียด เหยียดซ้อนเหยียด เหยียดมาเหยียดกลับไม่โกง เป็นต้น

 

ไม่ว่าจะด้วยความหมายไหนก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการเหยียดไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่สามารถเกิดกับใครก็ได้ หรือเกิดกับเราก็ได้ถ้าเราขาดสติระลึกตน เพราะมนุษย์ใช้ระบบการจัดการข้อมูลเหมือน ๆ กัน คือการจัดกลุ่มข้อมูล และการจัดประเภทข้อมูลทางสังคมก็นำไปสู่การมีความเชื่อเหมารวม (stereotype) ซึ่งเมื่อไรที่เราหลงลืม เราก็จะใช้ความเชื่อเหมารวมนี้ตัดสินผู้อื่นด้วยความลำเอียง ปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยใจอคติ

 

ความหลงลืมนั้นก็เกิดขึ้นได้ง่ายค่ะ เมื่อใดที่เราเหนื่อย โกรธ เสียใจ เราก็มักใช้ความเคยชินของเราแทนที่จะใช้เหตุใช้ผล เพราะการควบคุมตนด้วยสตินั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานชีวิต แต่มนุษย์ก็ถูกออกแบบมาให้หาทางประหยัดพลังงานของตน ดังนั้นการจะมีสติได้ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เมื่อเราฝึกอย่างดีแล้ว เราก็จะใช้พลังงานน้อยลงในงานนั้น เปรียบเหมือนคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกล้ามเนื้อมาก ก็จะเหนื่อยน้อยลงในการวิ่งระยะทางเท่าเดิม

 

ถ้าเราไม่อยากเป็นผู้ที่เหยียดคนอื่น หรือเป็นคนที่เหยียดในเหยียด เหยียดตนเอง เหยียดโลกทั้งใบ เราอาจต้องหมั่นฝึกให้ถามตนเองอยู่เสมอก่อนที่พูดหรือทำอะไร รวมถึงฝึกทบทวนในสิ่งที่ตนได้พูดหรือกระทำลงไปแล้ว หรืออาจฝึกที่จะคิดมากกว่าพูด หยุดคิดดูว่าตอนนี้เรารู้สึกเช่นไร เกิดความคิดอย่างไรในใจตน ทำความเข้าใจคำพูดและการกระทำของคนอื่น (หรือของตนเอง) พิจารณาถึงที่มาโดยไม่ตัดสิน คิดอยู่เสมอว่าไม่มีใครอยากเป็นตัวร้าย ทำตัวไม่ดีใส่คนอื่น ถ้าวาจาของเขา (หรือของเรา) ร้ายกาจ ก็ลองพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม

 

เมื่อเข้าใจก็จะเมตตาได้

ความเมตตาจะช่วยแก้ผิดให้เป็นถูกได้

หรือเปลี่ยนสิ่งไม่ดีที่เป็นธรรมดาโลก…ให้ดีขึ้น อบอุ่นมากขึ้นได้

 

 

 

อ้างอิง

 

จริยา ดำรงโฆษิต, ชลาลัย นพพรเลิศวงศ์ และ ทัศนวรรณ มานัสวิน (2555). การทำนายความเชื่อเหมารวมทางเชื้อชาติ เจตคติรังเกียจกลุ่ม และแนวโน้มการกีดกันทางสังคม โดยใช้การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง. [วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. CUIR.

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/48386

 

 

 


 

 

บทความโดย

คุณรวิตา ระย้านิล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยาวิวัฒนาการ – Evolutionary Psychology

 

จิตวิทยาวิวัฒนาการ เป็นแขนงของจิตวิทยาที่ค่อนข้างใหม่และเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสาขาวิชาที่มีเป้าหมายที่จะศึกษาธรรมชาติของมนุษย์เราด้วยมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ

 

แน่นอนว่าจากแง่วิวัฒนาการนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก หรือบุคลิกภาพ ล้วนมีสาเหตุมาจากกระบวนการวิวัฒนาการเป็นหลัก

 

 

กระบวนการวิวัฒนาการจะอธิบายพฤติกรรมของเราได้อย่างไร


 

ความจริงเราก็คุ้นเคยกันดีกับทฤษฏีวิวัฒนาการว่า ลักษณะใดที่เอื้อต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ลักษณะนั้นก็จะได้รับการถ่ายทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆ ไป ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” หรือ “การปรับตัวเพื่อการอยู่รอด”

 

นักชีววิทยาศึกษาวิวัฒนาการการปรับตัวของกลไกทางสรีระ หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำนองเดียวกัน นักจิตวิทยาก็ศึกษาการปรับตัวของกลไกทางจิต เช่น พวกเราส่วนใหญ่กลัวงู กลัวแมงมุม กลัวความสูง กลัวความมืด หรือแม้กระทั่งกลัวคนแปลกหน้า ความกลัวเหล่านี้ช่วยให้เราพ้นภยันตรายต่าง ๆ เป็นคุณลักษณะที่วิวัฒนาการจนกลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งต้นตอก็มาจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบรรพบุรุษของเรานั่นเอง

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า กลไกการปรับตัวทางจิตของเรามีความเฉพาะด้าน คือ ถูกออกแบบมาโดยกระบวนการวิวัฒนาการ เพื่อแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับตัว ตัวอย่างเช่น ด้านการเลือกรับประทานอาหาร

 

มนุษย์เรานิยมชมชอบอาหารที่มีรสหวาน เพราะในยุคแรกเริ่ม กลไกนี้นำคนเราไปหาสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น พืชผักผลไม้ที่สุกแล้ว และเราก็ติดใจในรสชาติของอาหารที่มีไขมันเพราะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญแต่หาได้ยากมาก และบรรพบุรุษของเราอยู่รอดได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่นาน ๆ ทีจะล่ามาได้ด้วยความลำบาก กลไกทางจิตสำหรับความพึงใจในอาหารนี้จึงตกทอดมาสู่เราโดยไม่รู้ตัว

 

 

 

แม้ว่ากลไกทางจิตเหล่านี้จะมีคุณค่าเพื่อการอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าต้นตอ คือคุณค่าสำหรับยุคดึกดำบรรพ์ของมนุษย์หลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว ดังนั้นหมายความว่าเราอาจมีแนวโน้มทางจิตใจที่วิวัฒนาการมาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเราในขณะนี้อีกต่อไปแล้ว

 

ตัวอย่างเช่น ความชอบในรสชาติอาหารที่มีไขมันที่เอื้อต่อการอยู่รอดในอดีต แต่ปัจจุบันไขมันไม่ได้เป็นอาหารที่หายากอีกต่อไปแล้ว หมูปิ้ง เนื้อทอด มันทอด มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง หากเราไม่ตระหนักและระมัดระวังตัวให้ดี กลไกทางจิตที่วิวัฒนาการมาอาจเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอดของเราก็ได้

 

มนุษย์วิวัฒนาการกลไกทางจิตที่แก้ปัญหาและช่วยให้อยู่รอดและแพร่เผ่าพันธุ์มาจนทุกวันนี้ กลไกทางจิตเหล่านี้กลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือองค์ประกอบของบุคลิกภาพ

 

ที่น่าสนใจประการหนึ่งได้แก่ กลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

เราคงไม่ปฏิเสธนะคะว่า เราต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้คนรอบข้าง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อยากมีพวกพ้อง แน่นอนทีเดียว เพราะในสภาพแวดล้อมที่บรรพบุรุษของเราเผชิญเมื่อหลายพันปีมาแล้วนั้น การถูกโดดเดี่ยวมักทำให้มีอันตรายถึงชีวิต เพราะลำพังคนเดียวก็อาจตกเป็นเหยื่อของสิงห์สาราสัตว์ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ไม่มีพวกพ้องที่คอยปกป้องดูแลหรือแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน

 

ดังนั้นจึงทำนายได้ว่า มนุษย์เราได้วิวัฒนาการกลไกทางจิต เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกัน หรือการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ที่มักจะทำให้เอาชีวิตไม่รอด

 

 

 

กลไกนี้คืออะไร…

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนี้ เป็นต้นตอและบทบาทของ “ความวิตกกังวลทางสังคม” ค่ะ

ความวิตกกังวลทางสังคมหมายถึง ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือวิตกกังวลว่าจะถูกประเมินในแง่ลบ หรือถูกมองในทางไม่ดีในสถานการณ์ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

นักจิตวิทยาแขนงวิวัฒนาการนี้เสนอว่า ความวิตกกังวลทางสังคมเป็นการปรับตัวที่มีเฉพาะในมนุษย์เราเท่านั้น ไม่มีในสัตว์อื่น เป็นกลไกทางจิตหรือธรรมชาติของมนุษย์ หรือบุคลิกภาพของเรา ที่มีบทบาทหรือทำหน้าที่ป้องกันมิให้เราถูกขับไล่หรือเนรเทศออกจากกลุ่ม

 

การที่เราเป็นห่วงว่าผู้อื่นจะมองเราในทางไม่ดี หรือหวาดหวั่นการประณามจากผู้อื่น หรือหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียน ล้วนเป็นกลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อให้เราอยู่รอด เพราะจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และพยายามไม่ทำสิ่งที่สร้างความระคายเคืองแก่ผู้อื่น

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ที่ไม่สนใจใยดีกลุ่มมักถูกตัดออกจากกลุ่ม และไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง หรือไม่มีโอกาสหาคู่ และไม่มีโอกาสสืบทอดเชื้อสาย มากเท่าผู้ที่ “แคร์” ความคิดเห็นของกลุ่ม ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือผู้ที่มีความวิตกกังวลทางสังคมนั่นเอง ดังนั้นเราส่วนใหญ่จึงมีคุณลักษณะนี้ ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่เป็นผลของวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด

 

ธรรมชาติของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาให้มีความวิตกกังวลทางสังคม หรือความเป็นห่วงว่าจะได้รับการประเมินทางลบจากผู้อื่น

 

ตัวอย่างเช่น ในวัยรุ่น เยาวชนบางคนคล้อยตามกลุ่มเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ให้ได้เข้าเป็นพวก บางครั้งอาจถึงขนาดต้องทำในสิ่งที่โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบ เช่น ดื่มสุรา เสพสารเสพติด หนีเรียน ผู้ที่ไม่คล้อยตามมักถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม

การ “เนรเทศ” เป็นกลไกการควบคุมทางสังคมที่ผู้คนทุกระดับอายุนำมาใช้

 

นักวิจัยพยายามศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองของบุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยใช้การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า fMRI ภาพที่ได้ บ่งบอกว่าในระบบประสาทของเรานั้น ความเจ็บปวดทางสังคมที่บุคคลประสบภายหลังการถูกปฏิเสธ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย คือมีการทำงานของสมองปรากฏขึ้นที่บริเวณเดียวกัน

 

นักจิตวิทยาได้อธิบายถึงเหตุผลที่ความเจ็บปวดทางความรู้สึกและทางร่างกายมีต้นตอทางประสาทคล้ายคลึงกัน ว่าอาจเป็นเพราะความจริงที่ว่า ความผูกพันทางสังคมส่งเสริมการอยู่รอด ดังนั้นธรรมชาติจึงวิวัฒนาการ “ระบบการเตือนภัยทางสังคม” ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองบริเวณเดียวกันกับที่ควบคุมระบบความเจ็บปวดทางกายภาพอยู่แล้ว เพราะความเจ็บปวดเป็นสัญญาณพื้นฐานที่สุดที่บ่งบอกว่ามี “สิ่งผิดปกติ”
ดังนั้นระบบความผูกพันทางสังคมที่อยู่กับระบบความเจ็บปวด ก็จะเพิ่มโอกาสการอยู่รอด

 

นอกจากความวิตกกังวลทางสังคม นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังเสนอกลไกทางจิตอื่น ๆ อีก เช่น พฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นของเรา โดยอ้างว่าการช่วยเหลือจะเกิดหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความใกล้เคียงทางพันธุกรรมระหว่างผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือ ยิ่งผู้รับไม่มีความคาบเกี่ยวทางพันธุกรรมกับผู้ให้ การช่วยเหลือก็จะยิ่งลดน้อยลง

 

ฉะนั้นตามข้อเสนอนี้หมายถึง เราก็มักจะช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งมี “ยีน” หรือลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับเรามาก มากกว่าช่วยหลาน ๆ ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราน้อย และการช่วยเหลือก็คาดว่าจะลดลงไปอีกสำหรับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราเพียงนิดเดียว

 

นอกจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์คับขัน หรือสถานการณ์วิกฤต คนเรามักจะช่วยญาติพี่น้องที่อายุน้อยมากกว่าช่วยญาติพี่น้องที่อายุมาก หรือก็คือญาติพี่น้องที่มีศักยภาพในการเจริญพันธุ์สูงกว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลักษณะทางพันธุกรรมของเราจะได้ถูกถ่ายทอดต่อไปนั่นเอง

 

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการกล่าวว่า ผู้หญิงและผู้ชายได้ปรับตัวมาเหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทั้งหญิงและชายมีต่อมเหงื่อเพราะต้องกำกับอุณหภูมิร่างกายภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ชอบในรสชาติของอาหารคล้ายกัน

 

แต่ก็มีอีกหลายด้านที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัวที่แตกต่างกันมาตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ คือ “ผู้หญิงต้องตั้งครรภ์และให้กำเนิดทายาท ส่วนผู้ชายไม่ต้อง”

 

เพราะว่าความแตกต่างนี้คงเส้นคงวาตลอดเส้นทางวิวัฒนาการ จึงเป็นเหตุให้น่าคิดว่า จิตใจมนุษย์น่าจะวิวัฒนาการกลไกทางจิตใจที่เฉพาะด้านของเพศหญิงและเพศชาย ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีสมองที่แตกต่างกันในรูปแบบการคิด ความรู้สึกและการกระทำ

 

 

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่าในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย บทบาทที่แตกต่างกันในการทำหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์ คือผู้หญิงมีการลงทุนสูง ต้องอุ้มท้อง ประมาณ 38-40 สัปดาห์ กว่าจะได้ทายาทหนึ่งคน อีกทั้งตลอดชั่วชีวิตก็สามารถมีทายาทได้จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ซึ่งทั้งไม่ต้องทุ่มเทอะไรเลยในเชิงสุขภาพส่วนตัวในการสร้างผู้สืบทอดพันธุกรรม และในทางทฤษฎีก็มีได้ไม่จำกัดจำนวนด้วย ขึ้นอยู่กับโอกาสที่มี

ดังนั้นจึงทำให้ชายหญิงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ ความแตกต่างในลักษณะของคู่ครองที่ชอบ หรือที่เลือก

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอ้างว่าเพราะความเป็นจริงที่ผู้หญิงและผู้ชายมีสภาวะกดดันหรือข้อจำกัด หรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากต้องการประสบความสำเร็จในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ หรือสร้างทายาท ผู้หญิงผู้ชายจึงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกันในการเลือกคู่ครอง ตามข้อเสนอดังนี้ค่ะ

 

  • ผู้หญิงต้องลงทุนมากกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งทายาท ดังนั้นผู้หญิงจึง “พิถีพิถัน” ในการเลือกคู่ครองมากกว่าผู้ชาย เป็นต้นว่าผู้หญิงต้องการใช้เวลาทำความรู้จัก ศึกษารายละเอียด และพิจารณาความเหมาะสมของผู้ชายที่เข้ามาในชีวิต มากกว่าผู้ชายพิจารณาผู้หญิง
  • นอกจากนี้ผู้หญิงและผู้ชายก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการคัดเลือกคู่ครองด้วย ผู้ชายเพ่งเล็งที่ศักยภาพในการเจริญพันธุ์มากกว่า เช่น ความเยาว์วัย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ลักษณะที่บ่งบอกถึงพลานามัย ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณที่สดใสเต่งตึง ดวงตาที่เป็นประกาย หรือความสวยงามนั่นเอง ส่วนผู้หญิงจะเพ่งเล็งที่ศักยภาพของคู่ครอง ในการหาทรัพยากรมาให้และการคุ้มครองปกป้องดูแลมากกว่า ซึ่งคือความสามารถ ความเก่ง ความขยันนั่นเอง

 

ผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในธรรมชาติของการปรับตัว ที่มีต้นตอมาจากความจริงที่ว่า การปฏิสนธิของทารกเกิดขึ้นภายในร่างกายของฝ่ายหญิง นั่นก็หมายความว่าตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ผู้ชายเสี่ยงต่อการลงทุนให้กับผู้ที่ไม่ใช่ทายาททางพันธุกรรมของตน ในขณะที่ผู้หญิงมั่นใจได้เสมอว่าทารกที่คลอดออกมานั้นคือทายาทของตนเอง

 

เมื่อมองในแง่นี้จากสายตาของบรรพบุรุษในยุคหลายพันปีก่อน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ชายจะมีความโกรธแค้นหึงหวงอย่างยิ่ง หากคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น เพราะส่งผลร้ายต่อความชัดเจนในการสืบทอดเชื้อสายของเขา

แต่ในกรณีของผู้หญิง ถ้าฝ่ายชายเพียงแค่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น ความชัดเจนว่าใครคือทายาทของฝ่ายหญิงก็ไม่ถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แต่อันตรายต่อความสำเร็จในการสืบทอดเชื้อสายของฝ่ายหญิงอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าฝ่ายชายไปรักใคร่ผูกพันปกป้องดูแลและปันทรัพยากรไปให้หญิงอื่น

 

ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาวิวัฒนาการจึงทำนายว่า ผู้หญิงและผู้ชายให้น้ำหนักสาเหตุที่ทำให้หึงหวงแตกต่างกัน

 

  • คือผู้ชายจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้หญิง ในกรณีที่คู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
  • ส่วนผู้หญิงจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้ชาย ในกรณีที่คู่ครองไปมีพันธะผูกพันระยะยาวหรือไปรักหญิงอื่น

 

การทดลองในหลาย ๆ ประเทศโดยให้หญิงชายจินตนาการเหตุการณ์ที่ทำให้หึงหวง ได้ผลสนับสนุนข้อเสนอนี้ คือพบว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความทุกข์เพราะหึงหวง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างสองเหตุการณ์ ผู้ร่วมการทดลองชายรายงานว่าระทมทุกข์มากกว่าและมีปฏิกิริยาทางสรีระเช่น ใจเต้นแรง หน้านิ่วคิ้วขมวดมากกว่า เมื่อจินตนาการคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ส่วนผู้หญิงนั้นตรงกันข้าม คือเป็นทุกข์มากกว่าเมื่อจินตนาการว่าคู่ครองมีความรู้สึกผูกพันกับหญิงอื่น

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังทำนายความแตกต่างระหว่างผู้หญิงผู้ชายในเรื่องพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ ผู้ชายซึ่งลงทุนน้อยในการมีทายาท จะเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์ ด้วยการแสวงหาผู้หญิงจำนวนมาก โดยไม่เลือกมากค่ะ

 

การวิจัยในหลาย ๆ ประเทศได้ข้อมูลสอดคล้องกับการทำนายนี้ คือเมื่อถามถึงภายในช่วงเวลา 30 ปีจากนี้ไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายทั่วโลกปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงประมาณ 13 คน ส่วนผู้หญิงปรารถนาประมาณ 2.5 คน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่รายงานว่า ผู้ชายคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศบ่อยกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และอย่างน้อย ๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายยินดีมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ในขณะที่แทบจะไม่พบผู้หญิงที่ยินดีเลย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยก็ตาม

 

 

จิตวิทยาวิวัฒนาการเป็นแขนงวิชาใหม่ ซึ่งยังต้องการการศึกษาวิจัยเพื่อความชัดเจนต่อไปอีกหลายประเด็น แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงพอจะพูดได้ว่าความจริงแล้วมนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกยุคใหม่โดยมีสมองบรรพบุรุษในยุคหินของเราค่ะ

 

 


 

 

 

จากบทสารคดีวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกูล บูรพวงศ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาพจาก www.picsart.com