ข่าวและกิจกรรม

Lying – การโกหก

 

 

 

 

การโกหก หมายถึง การที่ผู้พูดบอกข้อมูลเท็จให้กับบุคคลอื่น โดยที่ผู้พูดรู้ว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยจงใจ

 

วัตถุประสงค์ของการโกหกไม่เพียงเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการหลอกลวงเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้สำเร็จในการโน้มน้าวใจบางสิ่ง นักจิตวิทยา พบว่า มีแรงจูงใจมากมายในการโกหก เช่น รักษาหน้าตา หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น สร้างความประทับใจ การขอความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงเพื่อทำร้ายผู้อื่น (Miller & Stiff, 1993; Kashy & DePaulo, 1996)

 

 

Lindgkold และ Walters (1983) จัดรูปแบบการโกหกเป็น 6 ประเภท โดยเรียงลำกับที่มีการยอมรับมากที่สุดถึงน้อยที่สุด คือ

 

  1. Save others shame – การโกหกเพื่อช่วยผู้อื่นจากความเจ็บปวดที่เล็กน้อย ความอับอาย หรือความละอาย
  2. Protect from punishment – การโกหกเพื่อปกป้องตนเองหรือบุคคลอื่นจากการถูกลงโทษหรือความไม่พอใจ สำหรับการล้มเหลวเล็กน้อย หรือการทำผิดพลาดร้ายแรงจากความสะเพร่าซึ่งทำร้ายบางคน
  3. Influence officials – การโกหกเพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น ในทางที่ได้รับการตอบสนองที่ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
  4. Enhancing appearance and protect gain – การโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีกว่าความเป็นจริง หรือปกป้องผลประโยชน์บางอย่าง
  5. Exploitative persuasion – การโกหกเพื่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้ตนเองได้ประโยชน์
  6. Direct harm, Self-gain – การโกหกเพื่อทำร้ายคนอื่นแต่ตัวเองได้ผลประโยชน์

 

สำหรับงานวิจัยในประเทศไทย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) ได้แบ่งประเภทการโกหกไว้ 4 รูปแบบ ตามแรงจูงใจเป้าหมาย ดังนี้

 

  1. Altruistic – การโกหกเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องผู้อื่น
  2. Conflict avoidance – การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับผู้อื่น
  3. Social acceptance – การโกหกเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ หรือให้คนอื่นดูมีความคิดเห็นเหมือนผู้อื่น
  4. Self-gain – การโกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะทางวัตถุนิยม

 

 

ความถี่และมุมมองต่อการโกหก


 

งานวิจัยของ DePaulo และคณะ (อ้างถึงใน Vrji, 2008) พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 147 คน รายงานว่าตนมีการโกหก 1-2 ครั้งต่อวัน และจะเป็นการโกหกเพื่อตนเองมากกว่าโกหกเพื่อคนอื่น ยกเว้นกรณีของคู่รักเพศหญิง ที่จะโกหกเพื่อตนเองและเพื่อคนอื่นพอ ๆ กัน และผู้ร่วมการวิจัยเพศชายมักโกหกเพื่อตนเองกับเพศชายด้วยกัน แต่จะโกหกเพื่อผู้อื่นกับเพศหญิง

 

เมื่อถามถึงมุมมองของการโกหก ผู้เข้าร่วมการวิจัยรายงานว่า พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องโกหกของตนอย่างจริงจัง และไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย หรือไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการถูกจับได้ อย่างไรก็ตาม การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่ไม่มีการโกหกก็ยังน่าพอใจมากกว่า และช่วยให้มีความใกล้ชิดกันมากกว่า

 

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Oliveira และ Levine (2008) พบว่า ผู้ที่มองการโกหกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้จะเห็นการโกหกเป็นเครื่องมือที่จะนำความสำเร็จทางสังคมหรือความสำเร็จส่วนตนมาสู่ตนเอง พวกเขาจะฝึกโกหกมากกว่าผู้อื่น และยังสำนักผิดน้อยกว่า จริงจังน้อยกว่า แต่ให้ความเข้าใจมากกว่า ส่วนผู้ที่ไม่ยอมรับการโกหก จะโกหกน้อยกว่าและรู้สึกมากกว่า มีความโกรธมากกว่าหากทราบว่าตนถูกโกหก และยังตัดสินคนที่โกหกในแง่ร้ายมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า หากเป็นการโกหกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันหรือเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น การโกหกจะได้รับการยอมรับมากขึ้น และวัฒนธรรม รวมถึงประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก (เป็นคู่สมรส เพื่อน หรือคนแปลกหน้า) ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับการโกหกด้วย

 

 

ความเป็นไปได้ในการโกหก


 

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการโกหก พบว่า ผู้ที่มีลักษณะชอบสร้างความประทับใจและชอบเข้าสังคมมีการรายงานการโกหกสูงกว่าผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวต่ำ (Karhy & DePaulo, 1996) ส่วนผู้ที่วิตกกังวลทางสังคมสูงและคนขี้อาย รายงานว่ามีความรู้สึกอึดอัดไม่สบายระหว่างโกหก มีการแสดงท่าทีพิรุธสูง และโกหกไม่ได้นาน (Vrij & Holland, 1998) ตรงข้ามกับผู้ที่มีลักษณะการหาผลประโยชน์จากผู้อื่น จะรับรู้ความสามารถในการโกหกในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน และรู้สึกละอายใจเพียงเล็กน้อย และเมื่อต้องโกหกในสถานการณ์ร้ายแรง ผู้ที่มีการหาผลประโยชน์จากผู้อื่นจะรู้สึกสบายใจทั้งก่อนและหลังการโกหก (Gozna, Vrij, & Bull, 2001)

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่า คนที่มีลักษณะซื่อสัตย์และกล้าแสดงออก มักไม่โกหกเพื่อให้สังคมยอมรับตน รวมถึงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนบุคคลที่มีลักษณะแมคคาวิลเลี่ยนสูง มักโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และโกหกเพื่อตนเอง ในขณะที่บุคคลที่มีทำตามแรงจูงใจสูงจะโกหกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนผู้ที่มีความเมตตาสูงจะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่จะไม่โกหกเพื่อตัวเอง (McLeod & Genereux, 2008)

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับการโกหก (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) พบว่า ความซื่อสัตย์ไม่สามารถทำนายความเป็นไปได้ในการโกหก แต่สามารถทำนายการยอมรับการโกหกได้ กล่าวคือ สำหรับบุคคลที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะโกหกหรือไม่ (อาจขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะโกหกหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก) แต่ทั้งนี้ ผู้ที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูงมักจะไม่ยอมรับการที่ตนต้องถูกโกหก

 

นอกจากนี้ บุคคลที่มีความเมตตาสูง จะลังเลกับการโกหกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หากพิจารณาว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือเห็นว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้นั้นกระทำผิด

 

ส่วนผู้ที่มีความกล้าแสดงออกสูงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และไม่กังวลใจต่อการแสดงปฏิกิริยาของตนอย่างตรงไปตรงมา แต่กรณีที่ตนถูกโกหก อาจยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) เช่นเดียวกับผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง มักจะไม่โกหกเพื่อตนเอง แต่จะโกหกเพื่อคนอื่นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงผู้ที่มีความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็จะไม่โกหกเพื่อตนเองและไม่ยอมรับการโกหกเพื่อตนเองเท่าใดนัก (ฉัตรดนัย ศรชัย และคณะ, 2556)

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบมองโลกในแง่ดี บุคลิกภาพแบบเป็นมิตร การเห็นคุณค่าในตนเอง และความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อการยอมรับการโกหกและความเป็นไปได้ในการโกหก” โดย ฉัตรดนัย ศรชัย, นชา พัฒน์ชนะ และ สุณิสา พรกิตติโชติเจริญ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44154

 

“การทำนายความเป็นไปได้ในการโกหกและการยอมรับการโกหกด้วยตัวแปรบุคลิกภาพ” โดย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46443

 

ภาพประกอบจาก https://timedotcom.files.wordpress.com/

 

ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย

 

ความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแง่รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) เป็นประเด็นที่สังคมในหลากหลายประเทศให้การยอมรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 2019 มี 28 ประเทศที่กำหนดให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ขณะที่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเพศหลากหลาย ก็มีการถกประเด็นพูดคุยเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ข้อกฎหมายให้รองรับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน เรียกได้ว่า เราอาจจะเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการแสดงออกว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงในอีกไม่นาน

 

อย่างไรก็ตาม ความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คำศัพท์บางคำในอดีตก็มีความหมายที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งทางวาจาและผ่านงานเขียนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่บัญญัติขึ้นบางคำก็ยังไม่มีคำศัพท์ในภาษาไทยที่สื่อความได้อย่างชัดเจนหรือไม่เป็นที่แพร่หลาย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราควรเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากบางครั้งการใช้คำที่เราคุ้นเคยจากประสบการณ์ในอดีตอาจสื่อความไปในทางลบ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้รับสารได้

 

วันนี้ทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ และความหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ตรงกันและหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายทางลบในเชิงเหยียดต่อรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศต่อบุคคลอื่น เริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)

นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่กำกวมและถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในทางลบหรือเชิงเหยียดรสนิยมทางเพศและไม่ควรนำมาใช้ เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของทุกเพศอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของทุกคนในสังคม

 

ตัวอย่างคำที่ไม่ควรใช้ คือ คนเบี่ยงเบนทางเพศ รักร่วมเพศ สาวประเภทสอง สายเหลือง ไส้เดือน คุณแม่ ซิส ประเทือง แต๋ว เก้ง กวาง ขุดทอง เป็นต้น

 

 

อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)

คือ การรับรู้เพศของบุคคลนั้นที่มีต่อตนเอง ว่ามีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยที่แต่ละสังคมก็มีกลุ่มทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด เช่น เด็กชาย เด็กหญิง ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศอื่น ๆ ไม่นับรวมถึงความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อบุคคลอื่น ๆ

 

เพศกำเนิด (sex หรือ biological sex)

คือ เพศที่ถูกกำหนดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จากอวัยวะสืบพันธุ์ โครโมโซม และฮอร์โมนต่างๆ แบ่งได้เป็น ชาย หญิง หรือ ภาวะเพศกำกวม

 

เพศ (gender)

คือ สถานะทางเพศที่เกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา พฤติกรรม สังคมและวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็น ลักษณะความเป็นชาย (masculinity) และลักษณะความเป็นหญิง (femininity)

 

Cisgender

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ตรงกับเพศกำเนิด ได้แก่

คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นหญิงผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง

คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง

 

Transgender
(คำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคือ ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศ)

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศด้วย ได้แก่

Trans men คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การตัดเต้านม หรือการเสริมอวัยวะเพศชาย

Trans women คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การเสริมเต้านม หรือการตัดอวัยวะเพศชาย

 

Genderqueer

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่มากกว่าการแสดงออกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือบางครั้งไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

 

 

รสนิยมทางเพศ (sexual orientation)

คือ ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออก โดยเมื่อก่อนมีการจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ Homosexual หรือกลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศเดียวกัน และ Heterosexual หรือ กลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศตรงข้าม (ชายรักหญิง และหญิงรักชาย) ในปัจจุบันสองคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็น คำที่เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

LGBTQ

(คำที่คนไทยทั่วไปยังใช้เรียกคือ เพศที่สาม)

คือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่คนที่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศที่หลากหลาย เช่น คนที่ระบุว่าตนเองเป็น เกย์ เลสเบี้ยน ไบ และคนที่ยังค้นหาความชอบทางเพศของตนเอง

 

เลสเบี้ยน (lesbian)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้หญิง รวมถึงกลุ่ม ทอมและดี้

 

เกย์ (gay)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชาย และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้ชาย

 

ไบ (bisexual)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อคนที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง หรือเพศอื่นๆ โดยที่มาคือคำว่า bi ไม่ได้แปลว่าสองอย่างตรงตัว แต่แปลว่ามากกว่าหนึ่ง เช่น ผู้หญิงที่เป็นไบ (bisexual women) อาจมีความสนใจและความชอบทางเพศต่อผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ หรืออื่นๆ

 

เควียร์ (queer)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่มีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง ที่ไม่เป็นไม่ตามบรรทัดฐานของสังคม เดิมทีการใช้คำนี้แสดงถึงความเหยียดรสนิยมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ แต่ในปัจจุบันชาว LGBTQ นำกลับมาใช้เพื่อแสดงถึงสิทธิในการเลือกใช้คำที่สะท้อนความเป็นตัวตน

 

Questioning

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาความสนใจหรือความชอบทางเพศ รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง

 

Asexual

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ไม่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อเพศอื่น ๆ ต่างจากภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ

 

 

ดังที่กล่าวว่าภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ความหมายในยุคสมัยหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในอีกยุคสมัยหนึ่ง อีกทั้งความรู้สึกต่อถ้อยคำต่าง  ๆ ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและการรับรู้เจตนาของผู้ส่งสาร แต่ในบริบทที่เป็นทางการ เป็นสาธารณะ หรือเป็นการสื่อสารที่ไม่อาจคาดเดาขอบเขตการยอมรับของผู้รับสารได้ การระมัดระวัง…ด้วยตระหนักในสิทธิและในเกียรติของกันและกัน จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย

นิสิตปริญญาโท แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อยู่ก่อนแต่ง: ในบริบททางจิตวิทยา

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภารกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำของช่วงวัยดังกล่าว คือการไปร่วมงานมงคลสมรส หรืองานแต่งงานของเพื่อน ๆ หากแต่ว่าในคู่รักหลาย ๆ คู่ เลือกที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน (premarital cohabitation) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นทั้งในสังคมสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมทั้งประเทศไทย

 

สำหรับความหมายของการอยู่ก่อนแต่ง คือการตกลงใจที่จะอาศัยอยู่และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสหรือพิธีแต่งงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมดังกล่าว แม้เคยไม่เป็นที่ยอมรับเพราะขัดกับจารีตประเพณี แต่กลับพบได้มากยิ่งขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาถึงรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวในบริบททางจิตวิทยาให้มากยิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวมักถูกเชื่อมโยงกับผลทางลบต่อชีวิตคู่หลังแต่งงาน จึงมีงานวิจัยจำนวนที่พยายามศึกษาผลของความรักดังกล่าว โดยจากงานวิจัยต่างประเทศพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งงานและคุณภาพของการแต่งงาน โดยเมื่อเทียบกับคู่รักที่แต่งก่อนอยู่ พบว่าคู่ที่อยู่ก่อนแต่งมักมีความพึงพอใจในการแต่งงานต่ำกว่า มีการทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งและการนอกใจที่สูงกว่า และนำมาซึ่งอัตราการหย่าร้างที่สูงกว่าอีกด้วย ผลเสียดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าเป็นผลของการอยู่ก่อนแต่งงาน (Cohabitation effect)

 

อย่างไรก็ตามการอยู่ก่อนแต่งย่อมต้องมีคุณประโยชน์ หรือเหตุผลที่สำคัญบางประการ มิฉะนั้นเทรนด์ดังกล่าวคงไม่แพร่หลายอย่างมากในโลกปัจจุบัน จากข้อสรุปของนักจิตวิทยาพบว่า เหตุผลที่คู่รักเลือกอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 3 สาเหตุสำคัญ ดังนี้

 

  1. การอยู่ก่อนแต่งเพราะต้องการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน (time together) เป็นความปรารถนาที่คู่รักอยากมีเวลา, ใช้เวลาร่วมกันมากยิ่งขึ้น เพิ่มความใกล้ชิด เติมความหวานกับคนรักมากขึ้น
  2. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อความสะดวก (convenience) เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อเกื้อหนุนหากคู่รักของตน ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้ เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือเพื่อความสะดวกสบาย
  3. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อทดลองความสัมพันธ์ (testing) เป็นการอยู่ร่วมกันเนื่องจาก คู่รักต้องการพิสูจน์หรือเกิดความสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่มีจะเป็นความรักที่ยาวนาน สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหา เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก่อนที่จะแต่งงานกันในที่สุด

 

ดังนั้นการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงานจึงอาจเป็นประโยชน์ในแง่ของการได้รู้จักคนรักของตนเองมากยิ่งขึ้น ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายบางประการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมสู้การแต่งงานในที่สุดนั่นเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าความเชื่อมโยงระหว่างการอยู่ก่อนแต่งและผลเสียของมันนั้นลดน้อยลงไปแล้ว

 

 

ดังนั้นแล้วคู่รักในยุคปัจจุบันควรเลือกตัดสินใจอย่างไรดี?

 

ก่อนตอบคำถามดังกล่าว มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Rosenfeld และ Roesler ในปี 2019 ซึ่งศึกษาข้อมูลของคู่รักในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2015 พบข้อมูลที่ช่วยให้เห็นภาพว่า การอยู่ก่อนแต่งงานนั้นให้คุณประโยชน์กับคู่รักในปีแรกเพียงเท่านั้น แต่กลับส่งผลเสียในปีถัดไป กล่าวคือในปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่เคยอยู่ก่อนแต่งจะมีสัดส่วนการหย่าร้างต่ำกว่าคู่รักที่อยู่หลังแต่ง เนื่องจากพวกเขาสามารถปรับตัวและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงชีวิตเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะที่คู่รักที่มาอยู่ด้วยกันหลังแต่งงานกลับเผชิญภาวะช๊อค หรือปรับตัวไม่ทันเมื่อต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจึงมีความเสี่ยงการหย่าร้างในช่วงแรกสูงกว่า แต่เมื่อผ่านปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่อยู่ก่อนแต่งจะกลับมาเสี่ยงต่อการหย่าร้างสูงแทน

 

ที่เป็นเช่นนั้นอาจมองได้ว่า การอยู่ก่อนแต่งเปลี่ยนมุมมองความคิดของคู่รักว่าความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและไม่สำคัญ หรือเป็นที่ลักษณะบุคคลนั้นเองที่ชอบความเป็นอิสระ ไม่เคร่งศาสนา เมื่อความสัมพันธ์มีปัญหาจึงยุติและจบความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า

 

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวจึงเป็นงานชิ้นล่าสุดที่ช่วยให้เห็นถึงคุณและโทษของการอยู่ก่อนแต่งงาน แต่ทว่าสำหรับในประเทศไทย งานวิจัยที่เกี่ยวกับชีวิตสมรสนั้นอาจยังมีไม่มากนัก จึงไม่อาจสรุปได้ว่าคู่รักที่อยู่ก่อนแต่งงาน จะเผชิญสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับของต่างประเทศหรือไม่ หรือการอยู่ก่อนแต่งหรือแต่งก่อนอยู่ สิ่งใดจะทำให้ความรักจีรังยั่งยืนกว่ากัน เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของชีวิตคู่ มีหลายปัจจัย ทั้งภูมิหลัง ลักษณะความสัมพันธ์ ตัวคนรัก และตัวของท่านเอง ว่าจะประคองความสัมพันธ์ต่อไปเช่นไร

 

“เพราะชีวิตคู่ไม่มีสูตรสำเร็จ คงต้องขึ้นอยู่ที่คนสองคน จะช่วยกันปรุงแต่งความสัมพันธ์ให้ออกมาเป็นอย่างไรครับ”

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

DiDonato, T. E. (2014, July 25). Should you move-in together, or not? Surprising facts about relationship quality and pre-marital cohabitation. Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/meet-catch-and-keep/201407/should-you-move-in-together-or-not

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Working with cohabitation in relationship education and therapy. Journal of Couple & Relationship Therapy, 8(2), 95-112.

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Couples’ reasons for cohabitation: Associations with individual well-being and relationship quality. Journal of Family Issues, 30(2), 233-258.

 

Rosenfeld, M. J., & Roesler, K. (2019). Cohabitation experience and cohabitation’s association with marital dissolution. Journal of Marriage and Family, 81(1), 42-58.

 

Stanley, S. M. (2018, November 3). Living together before marriage may raise risk of divorce: Is living together before marriage associated with risk in marriage or not? Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/sliding-vs-deciding/201811/living-together-marriage-may-raise-risk-divorce

 

ภาพประกอบจาก https://www1.cbn.com/cbnnews/us/2018/october/study-couples-who-live-together-before-marriage-are-at-greater-risk-of-divorce-nbsp

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมตามระดับความอบอุ่นและความสามารถ

 

นักจิตวิทยาสังคมได้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมหรือภาพเหมารวมทางความคิด (stereotype) เป็นเวลานาน โมเดลหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ Stereotype Contents Model (Fiske, Cuddy, Glick & Xu, 2002) โมเดลนี้อธิบายว่ากลุ่มต่างๆ ในสังคมถูกจัดแบ่งตามการประเมินบุคลิกภาพ 2 มิติ ได้แก่ มิติความอบอุ่น (warmth dimension) และมิติความสามารถ (competence dimension)

 

มิติความอบอุ่นครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความเป็นมิตร การชอบเข้าสังคมและการมีคุณธรรมจริยธรรม มิตินี้สะท้อนความเชื่อว่ากลุ่มนี้แนวโน้มในการร่วมมือเพียงใด เป็นตัวบ่งชี้ว่ากลุ่มใดจะเป็นมิตร กลุ่มใดจะเป็นศัตรู

 

มิติความสามารถครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความรู้ ความฉลาด ทักษะต่างๆ มิตินี้สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของกลุ่ม เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม

 

เมื่อใช้โมเดลนี้ศึกษาภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมในสหรัฐอเมริกา (Fiske et al., 2002) พบว่ากลุ่มต่างๆ ถูกประเมินว่ามีระดับความอบอุ่นและความสามารถที่ไม่เท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

 

  1. กลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบ (Admiration group) กลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่สูงมาตั้งแต่อดีต มีอำนาจ เข้าถึงทรัพยากรของสังคมได้อย่างง่ายดาย ทำคุณประโยชน์ในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นสูงและมีความสามารถสูง เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตร เอื้อเฟื้อ เก่ง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่น่าไว้ใจของสังคม ชาวอเมริกาผิวขาวที่เกิดในประเทศ ชาวคริสต์ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้
  2. กลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง (Contemptuous group) เป็นกลุ่มคู่ตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางสังคมต่ำมาตั้งแต่อดีต ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมได้ จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นต่ำและความสามารถต่ำ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าไร้สมรรถภาพ เป็นปฏิปักษ์ ไม่น่าเข้าใกล้ เชื่อถือไว้ใจไม่ได้ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่พึ่งพาสวัสดิการของรัฐ กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
  3. กลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม (Paternalistic group) เป็นกลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้อย่างจำกัด แต่ไม่ได้เป็นภยันตรายในสังคม เนื่องจากไม่มีพลังจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิใดๆ จึงได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่าความสามารถ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตรแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น กลุ่มผู้สูงวัยและผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิตเวชถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
  4. กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง (Envious group) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจ มีสถานะสูง สามารถเข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้ แต่เอารัดเอาเปรียบไม่แบ่งปันทรัพยากรของตนกับผู้อื่นในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าความสามารถสูงกว่าความอบอุ่น ตรงข้ามกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเก่ง ความสามารถสูง แต่เห็นแก่ประโยชน์ของตน ขาดจริยธรรม กลุ่มเศรษฐี ชาวเอเชี่ยนอเมริกันและชาวยิวถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้

 

 

ในสังคมไทยนั้นยังไม่ได้นำโมเดลนี้มาใช้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มอย่างเต็มระบบ มีเพียงงานวิจัยโดยนิสิตคณะจิตวิทยา หลักสูตรนานาชาติเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น (กัณฑเดช ลาภพรหมรัตน และชัญญา ไช่, 2561) ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 146 คนรายงานภาพเหมารวมทางความคิดเกี่ยวกับแพทย์ คณาจารย์จุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ นักการเมือง (โดยรวม ไม่ระบุพรรค) ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยซึมเศร้าและคนไร้บ้าน พบว่าแต่ละกลุ่มได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับที่แตกต่างกันไป (คะแนนเฉลี่ย 3 ถึง 5.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน)

แพทย์และคณาจารย์จุฬาฯได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถสูงกว่ากลุ่มอื่น คะแนนความอบอุ่นใกล้เคียงกับคะแนนความสามารถ จึงจัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบในสังคมไทยได้

 

ผู้สูงอายุได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่ามีความสามารถเล็กน้อยจึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม

 

นักการเมืองได้รับการประเมินว่ามีความสามารถมากกว่าความอบอุ่นจึงกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง

 

คนไร้บ้านได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ ประกอบกับคะแนนความอบอุ่นและความสามารถของกลุ่มนี้ที่สูงพอ ๆ กัน จึงใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงที่สุดในกลุ่มที่ได้รับการศึกษาในครั้งนี้

 

สำหรับผู้ป่วยจิตเภทและซึมเศร้านั้น ได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถมากกว่าคนไร้บ้านแต่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ คะแนนความอบอุ่นไม่ต่างกับคะแนนความสามารถ จึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง

 

จะเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มสังคมชัดเจนเท่าในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษานำร่อง กลุ่มที่ใช้ในการศึกษาไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย จึงควรมีการศึกษาต่อไป ผู้อ่านสามารถเสนอชื่อกลุ่มที่ท่านคิดว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับต่างกันในคอมเมนต์ได้เลยค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) Stereotype Content: Competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of Personality and Social Psychology, 82(6), 878-902.

DOI: 10.1037//0022-3514.82.6.878

 

Lappromrattana, K. & Tsai, C. (2018). Stereotype and Discrimination among Thais from Different Generations (Unpublished undergraduate research). Faculty of Psychology, Chulalongkorn University: Thailand.

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

องค์กรของคุณกำลังบริหารด้วยความกลัวอยู่หรือเปล่า?

 

หากย้อนไป 15 ถึง 20 ปีที่แล้ว โนเกีย (NOKIA) เป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับหนึ่งของโลก คงไม่มีใครคิดเลยว่า ปัจจุบันเมื่อพูดถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับแทบไม่มีคนนึกถึงแบรนด์โนเกียอีกต่อไปแล้ว

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับโนเกีย?

จากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่สัมภาษณ์เชิงลึกอดีตผู้จัดการและวิศวกรของโนเกียรวม 76 คน พบว่าในช่วงที่โนเกียตกต่ำจนพ่ายแพ้แอปเปิ้ลและกูเกิ้ลในสงครามสมาร์ทโฟน (ค.ศ. 2005 – 2010) นั้น บรรยากาศในองค์กรคุกรุ่นไปด้วย “ความกลัว” (Vuori & Huy, 2015)

 

ขณะนั้นแอปเปิ้ลและกูเกิ้ลกำลังลงทุนมหาศาลกับการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต่อมากลายเป็นระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของโนเกียซึ่งเป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์แบบปุ่มกดจึงกดดันให้วิศวกรและผู้บริหารระดับกลางเร่งสร้างโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสให้เร็วที่สุด

 

ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรของโนเกียรู้ว่าเป้าหมายนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะเทคโนโลยีที่โนเกียมีอยู่ในขณะนั้น พัฒนาให้กลายเป็นโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสได้ยาก การวิจัยและพัฒนาระบบใหม่จะต้องใช้เงินสูงมากและใช้เวลานานกว่าที่ผู้บริหารกำหนดหลายปี แต่ไม่มีใครกล้ารายงาน “ข่าวร้าย” นี้กับฝ่ายบริหารระดับสูงอย่างตรงไปตรงมา ได้แต่พยายามพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิมต่อไป จึงเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจไปว่า น่าจะพัฒนาระบบเดิมเพื่อสร้างโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสได้สำเร็จในเร็ววัน

 

 

ความกลัวมาจากไหน และส่งผลอย่างไรกับโนเกีย?

 

ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรที่ให้สัมภาษณ์รายงานว่า ประธานและผู้บริหารของโนเกียในขณะนั้น เป็นคนเจ้าอารมณ์มาก มักเห็นเขาตะคอกพนักงานเป็นประจำ คนที่ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้บริหารระดับสูงจะถูกเรียกว่า “พวกขี้แพ้” ถูกตำหนิให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ว่าไม่เก่งและไม่ทะเยอทะยานมากพอที่จะทำงานให้ได้ตามเป้าที่ผู้บริหารตั้งไว้ มีการขู่ว่าจะไล่ออกหรือลดตำแหน่งอยู่บ่อย ๆ ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งเล่าว่า เขาคุยกับเพื่อนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางว่าน่าจะทักท้วงการตัดสินใจของผู้บริหาร แต่ได้รับคำตอบว่า “ผมไม่กล้าหรอก ผมมีครอบครัวและลูกยังเล็กอยู่นะ” ที่ปรึกษาทางธุรกิจรายหนึ่งกล่าวว่า มันยากมากที่จะพูดหรือบอกสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงไม่อยากได้ยิน

 

สุดท้าย ในปี ค.ศ. 2007 เมื่อแอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนเป็นครั้งแรก โนเกียก็ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัส แต่แรงกดดันทางการตลาดทำให้ต้องใช้กลยุทธ์สร้างสินค้าจากเทคโนโลยีเท่ามีอยู่ออกมาขายแข่งในระยะสั้น แทนที่จะได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ที่แข่งขันกับแอปเปิ้ลได้ในระยะยาว มูลค่าหุ้นของบริษัทตกต่ำลงเรื่อย ๆ ถึง 90% ภายใน 6 ปี และในที่สุดก็ถูกไมโครซอฟต์ซื้อกิจการไป

 

แน่นอนว่าความกลัวไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความล้มเหลวของโนเกีย ยังมีปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก แต่อาจกล่าวได้ว่า บรรยากาศความกลัวนั้นเป็นต้นตอที่ทำให้พนักงานไม่กล้านำปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยกับผู้บริหาร จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การทำงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและมีการแข่งขันสูง การบริหารด้วยความกลัวไม่ใช่ทางออกที่ดีอีกต่อไป

 

 

แล้วผู้นำจะลดบรรยากาศความกลัวในองค์กรได้อย่างไร?

 

เอมี่ เอ็ดมุนเซ็น อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งศึกษาผู้นำและทีมที่มีประสิทธิภาพ เสนอว่า แทนที่จะใช้ความกลัวในการบริหาร ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศที่มี ความปลอดภัยทางจิตใจ (psychological safety)

 

ความปลอดภัยทางจิตใจ คือ ความรู้สึกของคนในทีมที่สบายใจว่า ตนสามารถแสดงความคิดเห็นและรายงานข้อมูลที่แท้จริงได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกิดผลเสียกับตนเอง (Edmondson, 2019)

 

ผลการวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า พนักงานที่รู้สึกปลอดภัยทางจิตใจจะกล้าแสดงความคิดเห็น โต้แย้ง ตั้งคำถาม ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยไม่กังวลว่าจะถูกผู้นำหรือคนอื่นในทีมมองว่าไร้ความสามารถ ด้อยศักยภาพ ถูกเขม่น หรือแก้แค้นเอาคืน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้โดยภาพรวมองค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีมากขึ้น

 

เพื่อสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้พนักงานในองค์กร เอ็ดมุนเซ็นเสนอว่าผู้บริหารสามารถใช้แนวทางดังนี้ค่ะ

 

  1. สร้างความเข้าใจในเป้าหมายร่วมกัน ผู้บริหารต้องสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทั้งคุณค่าและความสำคัญของเป้าหมายให้ลูกน้องยอมรับ เพราะหากลูกน้องยอมรับเป้าหมายและเข้าใจความสำคัญของพันธกิจ ก็ย่อมตั้งใจทำงานเองโดยไม่ต้องขู่บังคับด้วยความกลัวอยู่ตลอดเวลา
  2. แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเอ็ดมุนเซ็นเรียกว่าความถ่อมตัวอย่างเหมาะสมตามโอกาส (situational humility) นั่นคือ ผู้บริหารควรยอมรับว่าบางเรื่องตนเองก็ไม่รู้ ยอมรับฟังลูกน้องที่รู้เรื่องนั้น และใช้คำถามมากกว่าคำสั่ง เพราะไม่มีลูกน้องคนไหนอยากทักท้วงหรือให้ข้อมูลกับผู้นำที่แสดงออกว่ารู้ดีทุกเรื่องและมีธงในใจอยู่แล้วว่าต้องการอะไร พูดไปก็ไม่ฟังและอาจดุกลับมาอีกด้วย
  3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสาร เช่น ในการประชุมเพื่อเสนอความเห็น รายงานความคืบหน้า แสวงหาความช่วยเหลือหรือร่วมมือ ผู้บริหารควรกำหนดกติกาให้ทุกคน รวมทั้งผู้นำเอง ให้ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ ชื่นชมความพยายามของผู้นำเสนอ และหากมีจุดบกพร่องก็ชี้ให้เห็นอย่างสุภาพ และเคารพศักดิ์ศรีกันและกัน งดการวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีตัวบุคคลในเชิงไม่สร้างสรรค์ เช่น แค่นี้ทำไม่ได้หรือ คิดมาได้ยังไง ใครสั่งใครสอนมาเนี่ย
  4. นิยามความล้มเหลวเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพราะไม่มีใครสร้างสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่ครั้งแรก ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะได้ผลที่ต้องการ ผู้บริหารจึงต้องนิยามความล้มเหลวให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้พนักงานเชื่อว่าสามารถทำผิดพลาดได้บ้างหากเป็นไปเพื่อเรียนรู้และนำมาพัฒนางานให้ดีขึ้น หากความล้มเหลวหมายถึงหายนะ การเสียหน้า การถูกลงโทษอย่างรุนแรง หรือไล่ออก ก็คงไม่มีใครอยากเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ และหากเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ใช่ไหมคะ

ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่อยากเป็นคนสุดท้ายที่ได้รู้ข่าวร้ายขององค์กร มาช่วยกันลดบรรยากาศความกลัวในองค์กร และเพิ่มพื้นที่การทำงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจกันดีกว่าค่ะ

 


 

คุณสามารถทำแบบประเมินเพื่อวัดระดับ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological safety) ในการทำงาน และรับรายงานผลทันทีได้ที่นี่ค่ะ https://chulapsych.au1.qualtrics.com/jfe/form/SV_e5oTDPMGLKShVBj

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Edmondson, A. C. (2019). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. New Jersey: John Wiley & Sons.

 

Vuori, T. O., & Huy, Q., N. (2015). Distributed attention and shared emotions in the innovation process: How Nokia lost smartphone battle. Administrative Science Quarterly, 61(1), 9-51. https://doi.org/10.1177/0001839215606951

 

ภาพจาก https://images.squarespace-cdn.com

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่

 

สมองของคนเรานั้นชอบหาทางลัด

 

เวลาที่พบใครทำอะไรไม่ดี เราก็มักจะตัดสินง่าย ๆ ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการมานั่งทำความเข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างเช่น การมานั่งคิดว่า “วันนี้เขาเจออะไรมาบ้าง” “ขณะนี้เขากำลังคิดกำลังรู้สึกอะไร” “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาเคยมีประสบการณ์แบบไหนเกิดขึ้นในชีวิตของเขา”

 

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นตัวเราเองที่ทำอะไรไม่ดี สมองของเราจะคิดหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อหาข้อแก้ต่างให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาอะไรนัก เพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่แล้ว เรารู้ว่าวันทั้งวันนี้เราเจออะไรมา เราเข้าใจหัวอกของตัวเอง เรารู้ดีว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปด้วยความคิดและความรู้สึกแบบไหน

 

กล่าวได้ว่า คนเราล้วนมีความพร้อมที่จะปกป้องตัวเอง เพราะเรามีข้อมูลของเรา แตกต่างจากเรื่องราวของคนอื่น ที่เราไม่ได้รู้อะไร เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงมุมมองของคนอื่นขนาดที่ put oneself in other’s shoes แล้วจะทำได้อย่างอัตโนมัติ

 

นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Self-serving bias หรือ ความลำเอียงเข้าข้างตน” (อะไรดีเอาเข้าตัว อะไรชั่ว-เพราะจำเป็น) และ Fundamental attribution error หรือ ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ” (เขาทำเช่นนั้นเพราะเขาเป็นคนเช่นนั้น)

 

ถึงแม้มนุษย์จะนิยมความยุติธรรม แต่ความลำเอียงหรือ bias นั้น เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยประโยชน์บางประการ

 

เนื่องจากการลำเอียงเข้าข้างตนนั้นช่วยให้เรารักษาความรู้สึกที่ดีกับตัวเองไว้ได้ เรามีความสุขกับเรื่องดี ๆ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก “ความเก่ง” “ความดี” และ “ความพยายาม” ของเรา และเราก็ไม่ต้องมาเป็นทุกข์เนื่องจาก “ความไม่ดี” “ความไม่เก่ง” หรือ “ความขี้เกียจ” ของเรา

 

ความภาคภูมิใจในตนเป็นสุดยอดอารมณ์ที่น่าพึงปรารถนา การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาระดับไว้ ขณะที่ความรู้สึกผิด (guilty) นั้นเป็นสุดยอดอารมณ์ทางลบที่แย่ยิ่งกว่าอารมณ์ใด ๆ เราจึงต้องบอกตัวเองว่าเราทำดีเพราะเราเป็นคนดี ส่วนที่เราทำไม่ดีเพราะมีปัจจัยแวดล้อมนานามาทำให้มันเป็นไป จะเป็น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความไม่รู้ ความถูกกระทำก่อน หรือความ ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกัน’ (descriptive norm) ก็ตาม

 

เราไม่ได้ “จงใจ” คิดเข้าข้างตัวเองเพื่อเหตุผลเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติเหมือนเวลามีแสงสว่างมาก ๆ เราก็ต้องหยีตา แม้แต่นักจิตวิทยาเองที่เข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้น…

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประโยชน์เช่นนั้น เป็นไปโดยธรรมชาติด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น แต่ขึ้นชื่อว่าความลำเอียงแล้ว ของที่มันไม่ตรง มันก็มีโทษที่ความไม่ตรงนั่นเอง

 

ยิ่งไม่ตรงมาก คือลำเอียงเข้าข้างตัวเองมาก ก็เป็นกับดักทำร้ายตัวเองได้ เมื่อเราไม่ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงจากเรื่องดีและร้ายของเรา การจะทำให้เกิดเรื่องดีซ้ำ ๆ หรือป้องกันและแก้ไขเรื่องร้ายย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้าผนวกกับ Fundamental attribution error ด้วยแล้ว เราจะยิ่งกลายเป็นผู้อยุติธรรมไปกันใหญ่ จนเข้าตำรา “ความผิดคนอื่นเท่าผืนฟ้า ความผิดตนเองแค่เม็ดทราย”

 

ความลำเอียงที่กล่าวมานี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่จะมากหรือจะน้อย

 

ถ้าใครกำลังคิดว่าปฏิเสธว่า “ฉันไม่เคยเป็นอย่างนั้น” “ฉันไม่ใช่คนคิดเข้าข้างตัวเอง” และ “ฉันไม่เคยโทษใครมั่วๆ”

 

  • ลองนึกทบทวนดูก่อนว่า เวลาที่เราใช้รถใช้ถนนผิดกฎจราจร เราบอกตัวเองว่าอย่างไร
  • เวลาที่พบเห็นคนอื่นใช้รถใช้ถนนผิดกฏจราจร เราคิดถึงเขาว่าอย่างไร
  • เวลาที่เรามาสาย เราอธิบายว่าอย่างไร
  • เวลาที่คนอื่นมาสาย ผิดนัดเรา เรารู้สึกกับเขาเช่นไร
  • เวลาที่เราไม่รักษ์โลก เรามีเหตุผลอะไร
  • เวลาที่คนอื่นไม่รักษ์โลก เราคิดว่าแต่ละคนมีเหตุผลอะไร

 

ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้สัก 10 สถานการณ์ แล้วได้คำตอบเช่นเดิม คือเราไม่เคยอธิบายตัวเองและตัดสินคนอื่นแตกต่างกันเลย นั่นแปลความได้ 2 อย่าง คือ ถ้าท่านไม่ใช่ยอดคนที่อยู่เหนือสัญชาตญาณเหล่านั้น ท่านก็เป็นคนที่เข้าข้างตัวเองแบบสุด ๆ ไปเลย (ผ่าม…!)

 

ถ้ามีบางคราว ที่เราคิดหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง(เก่ง) แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้นกับคนอื่น
และก็มีบางคราว ที่เราตัดสินตัวเองอย่างเป็นธรรม รวมถึงมองในมุมของคนอื่นอย่างเข้าใจ

 

ท่านคือคนทั่วไป…ที่ไหลไปตามธรรมชาติของมนุษย์บ้าง และมีสติเท่าทันตัวเองบ้าง

 

การระลึกรู้ตัวไม่ใช่วิถีของการประหยัดพลังงาน มันจึงไม่ใช่ default ของเรา เป็นสิ่งที่แม้เราเคยทำได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้อยู่ตลอด และสติเป็นคนละเรื่องกับตรรกะ ผู้ที่มีตรรกะดีก็สามารถตกอยู่ในวิถีของปุถุชนได้ ดังนั้นสติจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และฝึกอยู่ตลอดเวลา

 

การฝึกสตินั้นจะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นการฝึกฝนที่ไม่สิ้นสุด แต่จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ คือการดึงการรั้งตัวเองไม่ให้ไหล เราอาจจะห้ามตัวเองไม่ทันเวลาเอ่ยคำแก้ตัว หรือยั้งตัวเองไม่อยู่ตอนวิพากษ์ (หรือบริภาษ) คนอื่น แต่เราสามารถนำมาคิดทบทวนภายหลังได้ ตอนที่หัวเราโล่งๆ ไม่ได้โกรธ กลัว หรือวิตกกังวลอะไร ย้อนฟังเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของตัวเอง เปรียบเทียบกับเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของคนอื่น

 

“ใจเย็นๆ” อาจเป็นคำติดปากที่เรามักใช้พูดปลอบใจคนอื่น แต่เราก็สามารถนำมาใช้กับตัวเองได้เช่นกัน

 

แค่ไม่รีบร้อนสรุปเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นที่เราไม่มีทางรู้ข้อมูลได้ครบถ้วนในนาทีนั้น

 

ตั้งคำถามก่อนฟันธงคำตอบ

 

หา second opinion ที่เชื่อถือได้ (ที่ใจเย็นกว่าเรา)

 

และที่สำคัญที่สุด – จึงต้องกล่าวถึงหลังสุด – คือการยอมรับในความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนและทุกเมื่อ

 

เราสามารถทำอะไรผิดไปก็ได้ เข้าใจอะไรผิดไปก็ได้ เพราะเราไม่ใช่คนดี 100% และไม่รู้อะไรไปเสียทุกอย่าง

 

การยอมรับในความบกพร่องของตัวเองจะช่วยให้เราปกป้องตัวเองน้อยลง

 

เมื่อเราไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการปกป้องตนเอง เราก็จะมีทรัพยากรสำหรับการเรียกสติและคิดได้อย่างมีตรรกะมากขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำไมความต่างจึงนำไปสู่ความเกลียด : มุมมองเชิงจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives)

หากเราสังเกตสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามีปรากฎการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นสองขั้วตรงข้าม เช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ Liberal-Conservative ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา Brexit Leave – Brexit Remain เป็นต้น

 

ซึ่งถ้าเราลองวิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่าการแบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสองขั้วแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโดยยึดทัศนคติ ความคิดและค่านิยมที่แต่ละกลุ่มยึดถือเป็นหลักในการจัดประเภท เรามักไม่ได้มองความแตกต่างนี้แบบเป็นกลาง ทว่าเราประเมิน ให้คุณค่าและใส่ความรู้สึกเข้าไปผูกติดว่าแบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดี หรือคนที่อยู่กลุ่มนี้จะเป็นคนดีและคนที่อยู่ในอีกกลุ่มจะเป็นคนเลว กลุ่มคนนี้รักชาติ กลุ่มคนนี้ชังชาติ

 

…เคยสงสัยกันรึเปล่าว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์เราแบ่งความแตกต่างออกเป็นขาว-ดำอย่างสุดขั้ว…

…แล้วทำไมเราถึงเกลียดคนที่ต่างจากเราแบบที่เราไม่มองเขาเป็นมนุษย์เหมือนเราเลยด้วยซ้ำไป…

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะประเมินว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่เหมือนเราเป็นคนดี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับคำว่า “ดี” ที่เราเคยเข้าใจ และก็ยากเสียเหลือเกินที่ความคิดความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนแปลงได้

 

กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเรานี้สามารถอธิบายโดยใช้หลักการทางจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives) ได้แก่ การแบ่งแยก (Splitting) การโยนความรู้สึก (Projection) และการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

หากวิเคราะห์ตามหลักการคิดแบบง่ายๆ นั้น การที่เรา “คิดหรือรับรู้” ว่าตนเองเป็นคนดี ก็เพราะว่ามีกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนเลวอยู่เพื่อให้เราเปรียบเทียบ แล้วเราพยายามเอาตัวเองออกมาให้ไกลและแตกต่างจากกลุ่มเลวให้มากที่สุด และจะพยายามอยู่ใกล้กับกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนดีให้มากที่สุด เพื่อให้เรารับรู้ว่าเราเป็นคนดี

 

ดังนั้นความแตกต่างในสังคมจึงเป็นเสมือนการแบ่งแยกให้รู้ว่านี่คือ “ฉันหรือพวกฉัน” ซึ่งต่างจาก “พวกเขา” เช่น การจะรับรู้ว่าเราเป็นกลุ่มคนที่รักชาติได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มคนที่เรารับรู้ว่าชังชาติขึ้นมาเปรียบเทียบ

 

ในขณะเดียวกัน เราจะพยายามลดความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล กลัวหรือคับข้องใจลง ซึ่งมีกระบวนการทางจิตใจตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ คือ การแบ่งแยกสิ่งที่เรารู้สึกดีและสิ่งที่เรารู้สึกไม่ดีภายในตนเองออกจากกันโดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า Splitting

 

หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายที่สุดคือ มนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่เรารู้สึกดีและรู้สึกไม่ดีในตัวเองผสมปนกัน แต่เรามักจะทนไม่ได้กับการที่มีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีในตัวเองเก็บไว้ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวง ดังนั้นเราก็จะโยนความรู้สึกที่ไม่ต้องการนี้ออกนอกตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนี้อยู่ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Projection หรือการโยนความรู้สึก แล้วเราจะโยนไปไหนล่ะ ก็โยนไปให้คนอื่น กลุ่มคนที่เหมาะมากที่จะเป็นเป้าหมายก็คือ กลุ่ม “พวกเขา” ที่ต่างจากเรา ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวงที่เคยมีในใจก็ถูกโยนออกไปกลายเป็นความเกลียด เกลียดกลุ่มคนที่แตกต่างที่เราโยนความรู้สึกของเราที่ไม่ต้องการไปสู่พวกเขา

 

ความเกลียด กลัว วิตกกังวลที่เราโยนออกไปสู่กลุ่มที่แตกต่างจากเราถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น สร้างความแตกต่างให้มีมากเกินความเป็นจริงจนกระทั่งทำให้เรามองกลุ่มคนที่เราโยนความรู้สึกที่ไม่ดีไปให้นั้นเลวร้ายจนไม่มีสิ่งที่ดีอยู่ภายใน ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เรารู้สึกดีและปลอดภัย เราก็โยนความรู้สึกที่ดีหรือคุณลักษณะที่ดีไปสู่กลุ่มที่เราระบุว่าเป็นกลุ่มของเรา รับรู้ว่ากลุ่มเราดีเกินกว่าความเป็นจริง เป็นกระบวนการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

กระบวนการข้างต้นจึงสามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันในสังคมว่า เพราะเหตุใดคนบางคนจึงเกลียดคนที่ต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ วัฒนธรรม ฯลฯ มากเสียจนไม่มองว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา ไม่สมควรที่จะโดนขู่ ขับไล่ ทำร้าย หรือถูกปฏิบัติเสมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์

 

การจะปรับให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการความคิดแบบนี้ คือ เราต้องถามตนเองว่าการที่เรามองคนอื่นว่าเขาเลว อันตราย น่ากลัว ความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน หรือเรากำลังโยนความรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวลที่เรามีในใจออกไปสู่คนอื่นอยู่รึเปล่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล ไม่ปลอดภัยเมื่อมีคนที่คิดเห็นต่างจากเรา แล้วความรู้สึกนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม คนที่เรามองว่าเป็นคนดีที่ไม่มีที่ติ เขาดีแบบนั้นจริงๆ หรือไม่ ความคิดนี้อยู่บนเหตุผลและหลักฐานตามความเป็นจริงแค่ไหน หรือเราแค่ทำให้คนนั้นหรือกลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มคนอุดมคติเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีที่เราก็อยู่ในกลุ่มนั้น

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักการวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจโดยที่เราไม่รู้ตัว (Unconscious process) ดังนั้นการวิเคราะห์นี้จึงไม่รวมกลุ่มคนที่ “เจตนา” ที่จะใส่ร้าย สร้างความแบ่งแยก ความเกลียดชัง หรือความกลัว เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ว่ากลุ่มคนที่คิดต่างจะมาทำลายค่านิยม วิถีชีวิตและความเชื่อที่เรามี ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

 

จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้จึงอยากชวนเราลองถามตนเองดูว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของคำพูดหรือสื่อจากคนที่ต้องการสร้างความกลัวเพื่อให้เราเกลียดคนบางกลุ่มหรือบางคนอยู่หรือไม่…

 

 

รายการอ้างอิง

 

Clarke, S. (1999). Splitting Difference: Psychoanalysis, Hatred and Exclusion. Journal for the Theory of Social Behaviour, 29(1), 21–35. https://doi.org/10.1111/1468-5914.00089

 

ภาพจาก https://clipartimage.com/clipart/9636-devlil-and-angel-clipart.html

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Sunk cost fallacy: หลักจิตวิทยาว่าด้วยการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล (ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์)

 

การตัดสินใจเป็นกระบวนการคิดที่ใช้เหตุใช้ผล ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมคุ้มค่าที่สุดภายใต้บริบทและข้อจำกัด

 

นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นกับการตัดสินใจในทุก ๆ ครั้ง

 

ในแต่ความเป็นจริง นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า มนุษย์เราไม่ค่อยจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเท่าใดนัก คนเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย

 

คนหลีกเลี่ยงความสูญเสียก็ฟังดูเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน แต่ความไม่สมเหตุสมผลมันอยู่ตรงที่ว่า แม้แต่ในกรณีที่การเลือกที่จะเสี่ยงมีมูลค่ามากกว่า คนเราก็ยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นอยู่ดี

 

ลองนึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ กัน

 

คุณได้รับข้อเสนอให้ทายผลของการปั่นแปะ ทายหัวทายก้อย
ถ้าคุณทายถูก คุณจะได้เงิน 100 บาท แต่ถ้าคุณทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

ข้อเสนอนี้มีมูลค่าความคาดหวังเป็นศูนย์ มีอัตราได้เสีย 1 ต่อ 1 ด้วยโอกาส 50-50 ข้อเสนอนี้ไม่ได้น่าดึงดูดใจเลย และคนส่วนใหญ่ก็มักจะ ไม่รับข้อเสนอนี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สมเหตุสมผลแล้ว

 

แต่สมมติว่าคุณได้รับข้อเสนอใหม่ ถ้าทายถูก คุณจะได้เงิน 150 บาท แต่ถ้าทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

คุณจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่?

 

คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับยอมข้อเสนอนี้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่คุ้มที่จะเสี่ยง เรามีเงินอยู่ในกระเป๋าแน่ ๆ แล้ว 100 บาท ทำไมต้องเสี่ยงที่จะเสียมันไปเพื่อเงินอีกแค่ 50 บาท

 

ทั้ง ๆ ที่ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว มูลค่าคาดหมายของข้อเสนอนี้เป็นบวก รับรองได้ว่าไม่มีเจ้ามือที่ไหนยอมให้อัตรานี้เพราะจะขาดทุนแน่นอน การปฏิเสธข้อเสนอนี้จึงไม่สมเหตุสมผลในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์

 

ทั้ง ๆ ที่เป็นการตัดสินใจที่คุ้มเสี่ยงแต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกว่า มันได้ไม่คุ้มเสีย?

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ในปริมาณที่เท่ากัน คนเรามักรู้สึกว่ามูลค่าที่สูญเสียนั้นมีน้ำหนักมากกว่ามูลค่าที่เราจะได้ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย คือ การเสียดายต้นทุนจม

 

สมมติว่าคุณกำลังจะไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เมื่อไปถึงเคาท์เตอร์ขายตั๋วคุณพบว่า คุณทำเงินหล่นหายไป 200 บาท คุณอาจจะหงุดหงิดที่ซุ่มซ่ามทำเงินหล่นหาย แล้วก็ควักเงิน 200 ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง เพราะรู้สึกว่าเงินที่หายไปนั้นต่างกรรมต่างวาระกับการซื้อตั๋วดูหนัง

 

ทีนี้ลองจินตนาการอีกสถานการณ์ คุณซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้จากบ้าน แต่เมื่อไปถึงหน้าโรง คุณพบว่าคุณทำตั๋วที่ซื้อไว้หล่นหายไป คราวนี้คุณกลับรู้สึกว่า คุณไม่อยากจ่ายเงินอีก 200 เพื่อดูหนัง ถ้าต้องจ่ายอีกก็เหมือนซื้อตั๋วใบละตั้ง 400 บาท

 

ทั้งที่จริง ๆ แล้วในสองเหตุการณ์นี้หากคุณเลือกซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ คุณก็เสียเงิน 400 บาท เท่ากัน

 

นี่เป็นเพราะว่าในสถานการณ์ที่สอง คุณรู้สึกว่าได้สูญเสียตั๋วไปแล้ว การต้องจ่ายเงินซื้อซ้ำอีก จะตอกย้ำความสูญเสียนั้น เสียดายต้นทุนที่จมไปแล้ว ทำให้คุณพลาดโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศชมภาพยนตร์

 

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดกับทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย

 

เช่น เมื่อคุณรอรถเมล์อยู่นานแล้ว ก็จะไม่อยากเปลี่ยนใจไปโบกแท็กซี่เพราะคิดว่าอีกเดี๋ยวรถเมล์ก็คงจะมา เลยพลาดโอกาสโบกแท็กซี่ไปหลายคัน หรือนักลงทุนที่ซื้อหุ้นแล้วหุ้นตก จะไม่อยากขายเพราะรู้สึกว่าหากยังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน หนำซ้ำยังไปซื้อหุ้นเพิ่มมาเฉลี่ยต้นทุน จนทำให้ต้นทุนจมหนักยิ่งกว่าเดิม พลาดโอกาสที่จะนำทรัพยากรนั้นไปทำอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

ทั้งหมดนี้เพราะมัวแต่กลัวว่า สิ่งที่เคยลงทุนไปแล้วจะสูญเปล่า

 

การใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจจึงมักเอนเอียงด้วยปัจจัยความกลัวเหล่านี้ ทางที่ดีแล้วเมื่อคุณต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หนึ่งในทางออกที่ดี คือ นั่งลงทำรายการข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก พิจารณามูลค่า พิจารณาความน่าจะเป็นของตัวเลือกต่าง ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน

บางครั้งคุณอาจจะพบว่าต้นทุนที่จมหายไปนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปเอาคืนมาได้

 

การตัดใจทิ้งต้นทุนที่จมไป อาจจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากว่าก็ได้

 

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน หากหย่าร้างกัน แล้วลูกน้อยของเรานั้นจะเป็นอย่างไร

 

: สรุปงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องการหย่าร้างและการปรับตัวของเด็กเล็ก

 

ใครหลาย ๆ คน ย่อมวาดฝันถึงการมีครอบครัวที่มีความสุข มีพ่อ แม่ และลูกน้อยที่เข้ามาเติมเต็มความเป็นครอบครัวในอุดมคติ แต่บางทีเมื่อวันเวลาผ่านไป ก็อาจมีปัจจัยหลาย ๆ ประการที่ไม่เป็นใจ ทำให้ความความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักมีรอยร้าว บางครอบครัวเริ่มมีความบาดหมาง ไม่เข้าใจกันจนนำไปสู่ความคิดเรื่องการหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ คำถามที่ผุดขึ้นตามมาสำหรับบ้านที่มีลูกน้อย ก็คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “แล้วลูกของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร”

 

ด้วยสังคมมักตีตราการหย่าร้างว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน เด็กที่พ่อแม่หย่าร้าง ได้ชื่อว่าเป็นเด็กบ้านแตก เด็กมีปัญหา ซึ่งในทางจิตวิทยาพัฒนาการถือว่าแนวคิดเช่นนี้เป็นการด่วนสรุปและเหมารวมจนเกินไป

 

เพราะการหย่าร้างไม่ได้นำไปสู่ปัญหาของเด็กไปเสียทั้งหมด มีปัจจัยและบริบทแวดล้อมตัวเด็กอีกหลายแง่มุมที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนหลังการหย่าร้าง เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ในภาวะที่สถานการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป จะส่งเสริมกระบวนการในการปรับตัวของลูกกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสามารถพิจารณาจากหลาย ๆ ประเด็นร่วมกันดังต่อไปนี้

 

1. ผู้เลี้ยงดู

ก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องการหย่าร้าง เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ในทางจิตวิทยา คำว่าผู้เลี้ยงดู (caregiver) ในที่นี้หมายถึง พ่อ แม่ สมาชิกในครอบครัว พี่เลี้ยง หรือบุคคลใดก็ได้ ที่ให้เวลาแก่เด็กในการเลี้ยงดู ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ดังนั้นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเติบโตของเด็ก อาจไม่ใช่เพียงผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อหรือแม่จากทางสายเลือดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ แม่ มักจะเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก แต่ก็ต้องคำนึงเสมอว่า ปัจจัยของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ต้องดูตามแต่สถานการณ์ของแต่ละบ้านที่ต่างกันออกไป

 

2. คุณภาพของผู้เลี้ยงดู

คุณภาพของการเลี้ยงดูนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก กล่าวคือ เด็กมีบ้านที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันครบ แต่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ เช่น ปล่อยปะละเลย ไม่มีการฝึกวินัยให้แก่เด็ก หรือ แสดงความก้าวร้าวรุนแรงภายในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากกว่าเด็กที่โตมาในบ้านที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น และใส่ใจในการเติบโตของเด็กเสียอีก หลายคนมีความกังวลว่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ความเชื่อนี้จึงไม่เป็นจริงเสมอไป หลายคนยังมีความกังวลอีกว่า เด็กที่โตมาแล้วขาดพ่อหรือขาดแม่ จะเป็นเด็กมีปัญหาทางด้านตัวตนทางเพศ ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เนื่องจากในการเติบโตของมนุษย์ทุกคนย่อมมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นนอกเหนือจากพ่อแม่ของตน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ครู เพื่อนบ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถเป็นตัวแบบในการเรียนรู้บทบาททางเพศและบทบาทต่าง ๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกว่าเด็กควรจะอยู่กับใครเมื่อมีการหย่าร้าง ก็ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก และใครที่เป็นผู้ที่สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ

 

3. แบ่งกัน 50:50

ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการแบ่งเวลาของพ่อและแม่ในการเป็นผู้เลี้ยงดูเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง 50:50 เช่น อยู่บ้านพ่อ 3 คืน บ้านแม่ 3 คืน เป็นต้น แนวคิดนี้ในเบื้องต้นนั้นดูมีความยุติธรรมดี แต่เมื่อคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องคุณภาพการเลี้ยงดู และความพร้อมของแต่ละบุคคล แนวคิดนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับทุกบ้าน ควรพิจารณาสัดส่วนการเลี้ยงดูที่เกิดขึ้นจริงในช่วงก่อนการแยกกัน ถ้าโดยปกติทั้งพ่อและแม่มีส่วนในการเลี้ยงดูลูกพอ ๆ กัน แนวคิดของการแบ่งกันคนละครึ่งก็น่าจะเหมาะสม แต่ทั้งนี้อาจยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น การเดินทางระหว่างสองบ้าน เวลาที่สะดวกของพ่อแม่ ควรเน้นที่คุณภาพชีวิตของลูกเป็นหลัก หากลูกสามารถพูดสื่อสารได้แล้ว ก็ควรฟังความต้องการของลูกเป็นสำคัญ

 

4. ระดับความขัดแย้งของพ่อแม่

หากการหย่าร้างเป็นไปอย่างราบรื่น การพูดจาตกลงกันเรื่องการวางแผนเลี้ยงลูกก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เด็กมักจะปรับตัวต่อการหย่าร้างได้ดีในกรณีที่พ่อแม่ร่วมกันดูแลลูก หรือในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้เลี้ยงดูหลัก แต่มีอีกฝ่ายที่สามารถไปมาหาสู่ พาลูกไปทำกิจกรรมร่วมกันได้ ก็จะยังให้ผลที่ดีต่อตัวเด็ก (Adamsons & Johnson, 2013) แต่มีพ่อแม่หลายคู่ที่จบความสัมพันธ์กันโดยยังมีความขัดแย้ง ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ช่วยเลี้ยงลูก พูดถึงกันในแง่ร้ายให้ลูกฟัง กระทำรุนแรงทางกาย ไปจนถึง มีการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย ความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กในการหย่าร้าง เช่น ในกรณีที่มีฝ่ายหนึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่ง การแยกตัวเด็กออกจากพ่อหรือแม่ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากกว่า (Mahrer, O’Hara, Sandler, & Wolchik, 2018)

 

5. การได้รับการสนับสนุนเงินค่าเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคมอื่น ๆ

ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะทั้งพ่อและแม่จะตัดสินใจร่วมกันเลี้ยงดูหลังการหย่าร้าง ผู้ที่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง รายงานในงานวิจัยว่าตนประสบความลำบากอย่างมากในการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากต้องหารายได้เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของตนและลูก หากก่อนการหย่าร้างไม่เคยทำงานมาก่อนก็จะยิ่งต้องปรับตัวอย่างมาก ในบางรายทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีจนมีภาวะซึมเศร้าไม่สามารถดูแลและเป็นกำลังใจให้ลูกได้ (พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท, 2543) การทำงานหารายได้ของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น เบียดบังเวลาของการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกไปอย่างมาก ต้องฝากลูกไว้กับผู้อื่น ซึ่งแน่นอนมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดู เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวหลังการหย่าร้างได้ แม่เลี้ยงเดี่ยวควรได้รับการช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงดูทั้งจากอดีตคนรัก และจากครอบครัว รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น การช่วยเลี้ยงเด็ก การให้ที่อยู่อาศัย การให้กำลังใจ เพื่อให้ทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กสามารถตั้งหลักกับการเปลี่ยนแปลงไปได้

 

6. อายุของลูก

ทารกในวัย 0-2 ปี จะเป็นช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ที่เด็กมีต่อผู้เลี้ยงดู เป็นพัฒนาการตามปกติที่ทารกในวัยนี้จะแสดงอาการงอแงกลัวการแยกจาก (separation anxiety) เพราะเป็นช่วงของการเรียนรู้ เมื่อผ่านช่วงพัฒนาการนี้ไปได้ เด็กจะเรียนรู้ว่าเมื่อผู้เลี้ยงดูออกนอกบ้านแล้วก็จะกลับมาหา เด็กเล็ก ๆ จะรู้สึกอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ดังนั้นหากเกิดการหย่าร้างในขณะที่ลูกเป็นวัยทารก ครอบครัวควรวางแผนให้ดี กำหนดให้ชัดว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก ให้เด็กยังรู้สึกว่าได้รับการดูแลและความรัก ไม่ทอดทิ้ง

 

หากเป็นเด็กวัยเตาะแตะอายุประมาณ 2-4 ปี เด็กวัยนี้กำลังต้องการเรียนรู้ที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีพัฒนาการในทุกด้านมากขึ้น เริ่มพูดสื่อสาร ร่างกายพัฒนาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างใจ เริ่มอยากทดลองทำอะไรด้วยตัวเองซึ่งอาจเสี่ยงอุบัติเหตุ และยังอยู่ในระหว่างกันเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในบ้านและในสังคม เช่น เวลากินเวลานอน การรอคิว การขอโทษ การขอบคุณ เป็นต้น เด็กวัยนี้ต้องการผู้ดูแลที่คอยช่วยส่งเสริม คอยบอกตักเตือนว่าอะไรควรไม่ควร และคอยให้กำลังใจ เป็นงานที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หากมีคนในครอบครัวหรือพี่เลี้ยงมาช่วย ก็จะช่วยให้ทั้งพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น และในกรณีที่การหย่าร้างและแยกกันอยู่เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ในวัยเรียน วัยที่เริ่มมีการเข้าสังคม การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองและวางแผนร่วมกันให้ดี การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ย้ายไปอยู่ที่ที่ไม่คุ้นเคย ต้องปรับตัวเข้ากับผู้คนและสังคมใหม่ อาจทำให้การปรับตัวของเด็กต่อการหย่าร้างยิ่งยากขึ้น

 

 

สุดท้ายนี้อยากขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน เชื่อว่าก่อนที่จะตัดสินใจหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ ทั้งคู่ได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะรักษาความสัมพันธ์ แม้ในที่สุดทั้งสองจะไม่ได้อยู่ด้วยกันในฐานะของคนรัก แต่ขอให้หันหน้าเข้าหากันในฐานะของพ่อแม่ ที่ช่วยกันให้ลูกสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ จากงานวิจัยของ Van der Wal, Finkenauer, และ Visser (2019) ที่ติดตามพัฒนาการของเด็กภายหลังการหย่าร้าง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ แน่นอนว่าเด็กมีความรู้สึกลบกับการหย่าร้างของพ่อแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเด็กก็มีกระบวนการปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในบ้านที่พ่อแม่ยังร่วมกันดูแลลูก ในงานวิจัยของไทย ก็พบเช่นกันว่าในที่สุดเด็กก็จะมีพลวัตของการปรับตัวไปในจุดที่เข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเป็นบทเรียนซึ่งเป็นความจริงของชีวิต (ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์, 2551)

 

 

รายการอ้างอิง

 

พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท (2543). การปรับตัวของสตรีที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพังในชุมชนเมือง กรุงเทพมหานคร (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

 

ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์ (2551). พลวัตการปรับตัวและการดำรงตนของบุตรในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, กรุงเทพมหานคร.

 

Adamsons, K., & Johnson, S. K. (2013). An updated and expanded meta-analysis of nonresident fathering and child well-being. Journal of Family Psychology, 27(4), 589 – 599.

 

Mahrer, N. E., O’Hara, K. L., Sandler, I. N., & Wolchik, S. A. (2018). Does shared parenting help or hurt children in high-conflict divorced families? Journal of Divorce & Remarriage, 59(4), 324-347. doi: 10.1080/10502556.2018.1454200

 

Van der Wal, R. C., Finkenauer, C., & Visser, M. M. (2019). Reconciling mixed finding on children’s adjustment following high-conflict divorce. Journal of Child and Family Studies, 28, 468 – 478.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Loneliness – ความเหงา

 

 

 

 

ความเหงา หมายถึง ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความทุกข์และไม่สบายใจ เนื่องมาจากการรับรู้ว่าตนเองขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม

 

Weiss (1973) ได้จำแนกความเหงาออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

  1. ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับบุคคลที่ใกล้ชิด โดยการเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่สามารถช่วยให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงได้
  2. ความเหงาทางสังคม (Social loneliness) คือ ความเหงาที่เกิดจากการขาดเครือข่ายทางสังคมหรือการขาดกิจกรรมทางสังคม ความเหงาประเภทนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มเครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมทางสังคม

 

ส่วน Beck และ Young (1978) ได้แบ่งความแตกต่างของความเหงาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าพึงพอใจเป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งจากการสื่อสารระหว่างบุคคล ปัญหาการหย่าร้างของพ่อแม่ หรือความขัดแย้งในครอบครัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข
  2. ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational loneliness) เป็นความเหงาที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางลบ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดการหยุดชะงัก เช่น การตายของคนที่รัก
  3. ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient loneliness) เป็นความรู้สึกอ้างว้างที่เกิดขึ้นชั่วขณะเป็นครั้งคราว เช่น หลังจากประสบความสำเร็จ บุคคลอาจพบความสุขและความโล่งอกแต่ยังรู้สึกว่างเปล่า หรือความรู้สึกหลังจากจบงานเลี้ยงเนื่องจากต้องแยกจากกลุ่มเพื่อน

ทั้งนี้ ความเหงาแบบชั่วคราวมักเป็นความรู้สึกที่ไม่ยาวนาน สามารถจางหายได้รวดเร็ว ส่วนความเหงาแบบเรื้อรังมักเกี่ยวข้องกับการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งและความไม่พอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม ขณะที่ความเหงาจากสถานการณ์บางครั้งอาจมีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเครียดมากกว่าความเหงาสองประเภทที่กล่าวมา

 

 

การจัดการความเหงา

 

อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการจัดการความเหงา คือ บุคคลไม่เต็มใจที่จะรับรู้ หรือยอมรับว่าตนเองรู้สึกเหงา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือบุคคลต้องตระหนักและยอมรับความรู้สึกเหงา จึงจะสามารถจัดการความความเหงาได้ ซึ่ง Rokach และ Brock (1997) ได้เสนอวิธีจัดการความเหงาไว้ 6 วิธี ดังนี้

 

  1. สะท้อนและการยอมรับความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งในด้านความคิดและความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อให้เกิดตระหนักและการปรับโครงสร้างทางความคิด
  2. พัฒนาตนเองและความเข้าใจในตน เน้นถึงความเชื่อและคุณค่าในตนเอง
  3. เพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธืกับผู้อื่น ทั้งคนเดิมที่เคยรู้สึกและคนใหม่
  4. ปฏิเสธพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การแยกตัว
  5. เพิ่มความผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อาจทำให้โดยการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา
  6. เพิ่มกิจกรรม ได้แก่การอุทิศตนในงาน และกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อทางสังคม

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ, สุพิชฌาย์ นันทภานนท์, หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895

 

ภาพจาก http://randomwallpapers.net/