รหัสวิชา |
ชื่อย่อ |
ชื่อภาษาไทย |
วัน |
เวลา |
หมายเหตุ |
3800101 |
GENERAL PSYCHOLOGY |
จิตวิทยาทั่วไป |
กรุณาดูใน reg chula |
Sport Science / ND / Psy Minor / Gened-So |
|
3800111 |
RES MTHD/STAT PSY |
ระเบียบวิธีวิจัยและสถิติทางจิตวิทยา |
กรุณาดูใน reg chula |
Psy only / ผ่านรายวิชา 3800101 |
|
3800120 |
CAREERS PSY |
อาชีพทางจิตวิทยา |
อังคาร |
13.00-14.00 น. |
Psy only |
3800202 |
PSY LIFE WORK |
จิตวิทยาในชีวิตและการทำงาน |
พฤหัสบดี |
13.00-16.00 น. |
Gened-So |
3800219 |
SURVEY DESIGN/ANA |
การออกแบบและวิเคราะห์เชิงสำรวจ |
กรุณาดูใน reg chula |
Psy only / ผ่านรายวิชา 3800218 |
|
3800250 |
HUMAN RELATIONS |
มนุษยสัมพันธ์ |
กรุณาดูใน reg chula |
Gened-So |
|
3800316 |
QUALITATIVE MTHD |
ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ |
จันทร์ |
9.00-12.00 น. |
Psy only |
3800355 |
PSY JUD DEC MAKING |
จิตวิทยาการลงความเห็นและการตัดสินใจ |
พุธ |
9.00-12.00 น. |
ผ่านรายวิชา 3800203/3800204/3801110 |
3800381 |
CLIN ASSMT I |
การประเมินทางจิตวิทยาคลินิก 1 |
ศุกร์ |
13.00-17.00 |
ผ่านรายวิชา 3800101 และ 3800314/3800315 |
3801110 |
COGNITIVE PSY |
จิตวิทยาปริชาน |
กรุณาดูใน reg chula |
Psy student / Psy Minor ผ่านรายวิชา 3800101 |
|
3801301 |
COGNITIVE NEURO |
ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปริชาน |
อังคาร |
13.00-16.00 น. |
Psy only / ผ่านรายวิชา 3800101 และ 3801201 |
3801331 |
BEHAV NEURO |
ประสาทศาสตร์เชิงพฤติกรรม |
อังคาร |
13.00-17.00 น. |
Psy only |
3802202 |
COUNSELING PSY |
จิตวิทยาการปรึกษา |
จันทร์ |
8.00-12.00 น. |
Psy student / Psy Minor |
3802301 |
HELP PROCESS/SKILL |
กระบวนการและทักษะการช่วยเหลือเชิงจิตวิทยาการปรึกษา |
ศุกร์ |
8.00-12.00 น. |
ผ่านรายวิชา 3802202 |
3802313 |
POS PSY PERS GROW |
จิตวิทยาเชิงบวกและความงอกงามส่วนบุคคล |
อังคาร |
9.00-12.00 น. |
|
3803350 |
INTRO GRP DYNAMICS |
พลวัตกลุ่มขั้นนำ |
จันทร์ |
9.00-12.00 น. |
Psy student / Psy Minor |
3803379 |
SOC PSY AGGRESS |
จิตวิทยาสังคมความก้าวร้าว |
พฤหัสบดี |
9.00-12.00 น. |
|
3803425 |
ATTITUDE THEO CHG |
ทฤษฎีและการเปลี่ยนเจตคติ |
อังคาร |
9.00-12.00 น. |
Psy only |
3804102 |
FUND OF DEV PSY |
มูลสารจิตวิทยาพัฒนาการ |
พุธ |
10.00-12.00 น. |
|
3804103 |
DEVELOPMENTAL PSY |
จิตวิทยาพัฒนาการ |
จันทร์ |
8.00-12.00 น. |
Psy student / Psy Minor |
3804231 |
ADO PSY |
จิตวิทยาวัยรุ่น |
พฤหัสบดี |
9.00-12.00 น. |
Psy student / Psy Minor |
3804300 |
AB DEV CHILD ADO |
พัฒนาการอปกติในเด็กและวัยรุ่น |
จันทร์ |
13.00-16.00 น. |
|
3804301 |
USE TESTS DEV PSY |
การใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาพัฒนาการ |
จันทร์ |
13.00-17.00 น. |
|
3804353 |
INTRO EARLY INTERV |
การกระตุ้นพัฒนาการขั้นนำ |
พฤหัสบดี |
18.00-22.00 น. |
ผ่านรายวิชา 3804101/3804103 หรือโครงการอบรมจิตวิทยาพัฒนาการ |
3804451 |
FAMILY PSY LIFE |
จิตวิทยาครอบครัวและชีวิต |
ศุกร์ |
9.00-12.00 น. |
|
3805201 |
I/O PSY |
จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ |
พฤหัสบดี |
9.00-12.00 น. |
Psy student / Psy Minor |
3805300 |
PERSONNEL PSY |
จิตวิทยาบุคลากร |
ศุกร์ |
13.00-16.00 น. |
ผ่านรายวิชา 3805201/3805301 |
3805302 |
PSY HUM RES DEV |
จิตวิทยาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ |
อังคาร |
13.00-16.00 น. |
ผ่านรายวิชา 3805201/3805301 |
3805309 |
PERS PSY |
จิตวิทยาบุคลากร |
ศุกร์ |
13.00-16.00 น. |
|
3805340 |
CRCULT PSY WRK |
จิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมและการทำงาน |
พุธ |
9.00-12.00 น. |
|
3806201 |
HEALTH PSYCHOLOGY |
จิตวิทยาสุขภาพ |
พฤหัสบดี |
9.00-12.00 น. |
ข่าวและกิจกรรม
กิจกรรม “สยองขวัญ” เพื่อความ “บันเทิง”
ทุกคนชอบ หนังสยองขวัญ หรือ เล่นเกมสยองขวัญกันไหมครับ ?
คนเขียนไม่ชอบครับ แล้วมันก็มีช่วงหนึ่งของปี ที่ความสยองขวัญชอบมาวนเวียนหน้าโทรทัศน์ในสมัยเด็ก จนโตมาตอนนี้ Social platform ไหนมันก็ตามไปหมด หลัง ๆ นี้นอกจากจะเสียขวัญ แล้วบางทีก็มีการตลาดให้เสียทรัพย์ด้วย ใช่แล้วผมกำลังพูดถึงช่วง Halloween และการรับชมหนังหรือเล่นเกมสยองขวัญ
ถึงส่วนตัวคนเขียนจะไม่ชอบมากแค่ไหน แต่ก็มีคนใกล้ตัวหลายคนที่ค่อนข้างจะเพลิดเพลินจากกิจกรรมเหล่านี้ แล้วแต่ละคนชอบกิจกรรมสยองขวัญแบบไหนกันบ้าง
แรงจูงใจในการรับชมและใช้งานสื่อสยองขวัญ
Johnston (1995) ได้จำแนกแรงจูงใจในการรับชมและใช้งานสื่อสยองขวัญ ไว้ 3 กลุ่ม
- resolved-ending types : กลุ่มผู้ที่พึงพอใจกับบทสรุปของเนื้อเรื่องที่ได้รับการคลี่คลายสบายใจ เพลิดเพลินกันเนื้อเรื่อง และต้องการตอนจบที่ไม่ค้างคา ไม่ทิ้งปมให้ต้องเก็บไปนอนคิด หรือว่าจุดจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะในตอนต่อไป ที่จะสร้างความไม่สบายใจคนคนกลุ่มนี้เก็บไปนอนกลุ้มใจฝันร้าย
- thrill watchers : กลุ่มผู้ที่รู้สึกเพลิดเพลินกับความรู้สึก ตื่นเต้น ตกใจ หวาดกลัว ลุ้นระทึก มักจะมีอารมณ์ร่วมลุ้นไปกับ ตัวละครหลักที่ต้องเอาชีวิตรอดหรือถูกไล่ล่า
- gore watchers : กลุ่มผู้สนใจในการไล่ล่า การทำลายล้าง กล้าหาญไม่กลัวเลือด เอฟเฟกต์ทั้งนองเลือด และเลือดสาด และสนใจเกี่ยวกับวิธีการฆาตกรรมและฉากการตายของตัวละคร และจะเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องราวที่แสดงมุมมองของผู้ล่ามากกว่า
สำหรับผู้เขียนแล้วโดยทั่วไปก็คือแทบไม่มีแรงจูงใจใด ๆ เลย เพื่อนฝูงชวนเล่นเกมผีก็ขอเป็นแค่ผู้ชม หรี่เสียง ดูครึ่งจอ หรือโดนตี๊อให้เล่นก็เล่นได้ไม่นาน เพราะรู้สึกถูกกระตุ้นมากเกินไป เครียดจนออกมาเป็นอาการทางกาย ใจเต้น มือสั่นและชา แต่ก็จะมีบางโอกาสที่มีแรงจูงใจในรูปแบบของ resolved-ending types โอกาสที่มีเกมสยองขวัญออกใหม่แล้วพี่เอก HRK (สตรีมเมอร์) อัพคลิปขึ้นมาบน YouTube มาให้ดูก็สนใจเข้าไปชมเนื้อเรื่องบ้าง แต่ก็จะดูแบบหรี่เสียง-ครึ่งจออยู่ดี หลังจากนั้นก็จะมีความสนใจกับเกมที่มีทางเลือกระหว่างเนื้อเรื่อง และมีหลายฉากจบ รู้สึกสนใจเนื้อเรื่องความเป็นมา ก็ไปหาคลิปที่มีคนเล่าสรุปแบบตัดฉากสยองขวัญ เสียงที่ทำให้ตกใจ และอื่น ๆ ที่ทำคนขวัญอ่อนอย่างผู้เขียนให้รู้สึกปลอดภัยที่จะดู ซึ่งก็เพลิดเพลินกับเนื้อเรื่อง แต่ก็มีภาพติดตาและเสียงหลอนหูให้ไปนอนคิดหลายคืนอยู่ดี
นี่คือเรื่องราวของคนขวัญอ่อนคนหนึ่ง ในขณะที่โลกใบนี้ก็ยังมีผู้คนมากมายที่แข็งแกร่งและสนุกสนานกับความตื่นเต้นตกใจเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้ว หนังและเกมเหล่านี้ก็คงไม่มีคนสนใจใช้งาน และไม่มีการทำออกมาเยอะขนาดนี้ จึงชวนมาลองดูกันว่า
จิตวิทยามีอะไรมาอธิบายความแตกต่างที่ทำให้แต่ละคน เพลิดเพลิน หรือ หลีกเลี่ยง กิจกรรมสยองขวัญเหล่านี้
บุคลิคภาพที่พบในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อแนวสยองขวัญมากที่สุด คือ การแสวงหาการสัมผัส (sensation seeking) ที่พูดถึงความพึงพอใจจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่าง ๆ โดยคนที่มีแรงจูงใจในเชิง thrill watchers และ gore watchers ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีคะแนนองค์ประกอบของ adventure seeking สูง ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า ลักษณะต่าง ๆ ของการแสวงหาการสัมผัส จะสูงสุดในช่วงวัยรุ่น ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมอยากรู้อยากลอง และนิยมความกล้า ความท้าทาย
ตัวแปรที่ศึกษารองลงมาก็จะเป็น ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ในกลุ่มเห็นอกเห็นใจสูงก็มักจะสนใจในมุมมองของเหยื่อ กระตุ้นให้มีแรงจูงใจในการรับชมแบบ thrill watchers มากกว่า และชอบตอนจบที่ได้รับการคลี่คลาย
นอกจากที่พบว่าลักษณะการแสวงหาการสัมผัสมีจุดสูงสุดในช่วงวัยรุ่นแล้ว ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับความกลัวตามพัฒนาการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัยเด็ก นึกย้อนไปถึงช่วงที่เรายังใช้โทรทัศน์เป็นสื่อหลัก และเป็นสถานที่ที่หลายครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน เด็กก็มักจะได้รับชมในสิ่งที่ครอบครัวเปิด ไม่ว่าจะเป็นแนวสยองขวัญน่ากลัว หรือความรุนแรงเลือดสาดใด ๆ เด็กก็มักจะแสดงความกลัว และความสนใจคล้อยตามไปกับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งก็ดีกว่าการปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์โดยลำพัง ความกลัวของวัยเด็กจะมีลักษณะที่เกิดการแผ่ขยาย (generalization) ได้ง่าย ซึ่งถ้าหากว่ามีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำระหว่างการรับชมก็จะช่วยให้เด็กสามารถแยกแยะและระบุสาเหตุของกลัวได้ ทั้งในลักษณะของ
- การช่วยให้เด็กสามารถแยกสิ่งสมมติที่สร้างความกลัวในสื่อต่าง ๆ แต่ไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ปีศาจในหนัง/การ์ตูน
- หากเป็นสิ่งที่มีในโลกความเป็นจริงก็อาจช่วยถามเพื่อให้เด็กอธิบายว่าเด็กกำลังกลัวอะไร เพราะอะไร อย่างเช่น กลัวงูเพราะอานาคอนด้ามันจะกลืนเราลงไปทั้งตัว ก็จะเป็นโอกาสอันที่ที่จะสอนเด็กให้เรียนรู้ระหว่างงูใหญ่ งูเล็ก รวมถึงงูมีพิษ และงูที่มีโอกาสพบเจอได้ในละแวกบ้าน เป็นต้น
ความกลัวโดยทั่วไปของแต่ละช่วงวัย
เด็กอายุประมาณ 3-8 ปี จะตกใจเมื่อวัตถุ หรือสัตว์ใด ๆ เคลื่อนที่โดยฉับพลัน และจะกลัวสัตว์ ความมืด สิ่งลี้ลับต่าง ๆ เช่นผี หรือ ปีศาจ ที่พบเห็นตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงคน สัตว์ วัตถุ ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นชินและมีลักษณะไม่น่าไว้ใจ
ในช่วงวัย 9–12 ปีจะเริ่มกลัวที่จะเจ็บป่วยใด ๆ ซึ่งก็ทำให้มนุษย์เรียนรู้และระวังอันตรายรอบตัวมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะกลัวการตายของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว และอาจรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย
หลังจากช่วงวัยรุ่น ทุกวัยก็จะมีลักษณะความกลัวที่เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น แต่ละคนก็จะเรียนรู้ที่จะกลัวตามประสบการณ์และความสนใจ และสิ่งที่บุคคลกังวล ณ ขณะนั้นของแต่ละคน อย่างเช่น กลัวโรงเรียน กลัวสังคม กลัวภัยพิบัติ ซึ่งก็จะเป็นทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม (คน สัตว์ วัตถุ สถานที่ ฯลฯ) นามธรรม (กลัวยากจน กลัวไม่ได้รับการยอมรบ ฯลฯ) หรือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตที่มาจากการรับข่าวสาร ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การเมือง สภาพแวดล้อมของโลก ฯลฯ
เราก็จะพอเห็นว่ามนุษย์เราก็มีทั้งความกลัวทั่วไปที่มีประโยชน์อย่างการกลัวเจ็บ กลัวตาย เพื่อให้ชีวิตปลอดภัย ความกลัวที่บอกให้เรารู้และเตรียมความพร้อมว่าปัญหานั้นกำลังจะเข้ามา ให้ระวังและจงเตรียมตัวรับมือ และความกลัวที่เหมือนจะไม่สมเหตุสมผลอย่าง กลัวผี กลัวเลือด ฯลฯ ซึ่งเจ้าตัวคนที่กลัวก็คงไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรก็แค่หลีกเลี่ยงเอา แต่ก็จะมีคนกลุ่มที่ไม่กลัวจะพยายามทำให้คนที่กลัว “เอาชนะ” ความกลัวเหล่านั้นด้วยความเชื่อต่าง ๆ อย่างเช่น “ดู/ทำบ่อย ๆ จนชิน จะได้หายกลัว” เป็นต้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครใช้วิธีไหนแล้วสำเร็จบ้าง ไว้โอกาสหน้าจะลองหาอ่านมาเขียนต่อนะครับผม
การบรรยายพิเศษ เรื่อง การสังหารหมู่ตามมุมมองจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Massacre: A Personality Perspective)
การสังหารหมู่ตามมุมมองจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Massacre: A Personality Perspective)
วันพฤหัสบดีที่ 27 ต.ค. 65 เวลา 15.00-16.00 น.
ณ ห้อง 422 ตึกจุฬาพัฒน์ 4
Conformity – การคล้อยตาม
การคล้อยตาม (Conformity) คือ การที่บุคคลถูกแรงกดดันจากบุคคลหรือจากกลุ่มให้เปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือพฤติกรรมให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานของบุคคลหรือกลุ่มนั้น ๆ โดยความกดดันที่มี อาจเกิดขึ้นจริง หรืออาจเกิดจากการที่บุคคลคาดคิดไปเองก็ได้
การคล้อยตามไม่ใช่แค่เพียงการแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการที่บุคคลถูกอิทธิพลทางใดทางหนึ่งจากสิ่งที่ผู้อื่นกระทำ นั่นคือเมื่ออยู่กับกลุ่ม บุคคลจะพยายามแสดงพฤติกรรมหรือความคิดให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานของกลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากเมื่อตนอยู่คนเดียว ดังนั้นการคล้อยตาม คือ การเปลี่ยนพฤติกรรรมหรือความเชื่อให้สอดคล้องกับผู้อื่น โดยที่พื้นฐานเดิมของตนนั้นไม่ได้คิดหรือเชื่ออย่างนั้น หรือเมื่ออยู่คนเดียวจะไม่ทำอย่างนั้น
Macdonal และ Levy (2000) แบ่งการคล้อยตามของบุคคลที่ถูกอิทธิพลทางสังคมออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- การยอมตาม (compliance) คือ การที่บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามอิทธิพลทางสังคม แต่ยังคงรักษาความคิดความเชื่อเดิมของตนไว้
- การแปรผัน (conversion) คือ การที่บุคคลเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมและความคิด ค่านิยม รวมถึงเจตคติไปตามอิทธิพลทางสังคม
- การไม่ขึ้นกับผู้อื่น (independent) คือ การที่บุคคลไม่ได้รับอิทธิพลทางสังคม และมีการแสดงถึงการต่อต้านออกมาทางความคิด พฤติกรรม เนื่องจากการมีเจตคติที่คงเส้นคงวา
- การปฏิเสธการคล้อยตาม (anticonformity) คือ การที่บุคคลพยายามแสดงความคิดเห็น พฤติกรรม และการตัดสินใจให้เป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับสังคม โดยมิได้มาจากเจตคติส่วนตนจริง ๆ
[ จากการจัดประเภทข้างต้น แม้การยอมตามจะเป็นส่วนหนึ่งของการคล้อยตาม แต่สองคำนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องนิยามและบริบททางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ การยอมตามเป็นการตอบสนองที่เกิดหลังกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด “ร้องขอ” ให้อีกฝ่ายช่วยแสดงพฤติกรรมตามที่ตนต้องการ ผู้ที่ยอมตามจะรับรู้ว่าตนเองกำลังได้รับการกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่างตามความปรารถนาของผู้อื่น และพฤติกรรมการยอมตามนั้นจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บุคคลถูกร้องขอให้ทำอะไรบางอย่างไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยนัย ]
Myers (2010) อธิบายถึงปัจจัยที่เพิ่มการคล้อยตามไว้ 7 ข้อหลัก ดังนี้
- เมื่อเรื่องที่ต้องตัดสินเป็นเรื่องยากหรือบุคคลรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ บุคคลจะคล้อยตามผู้อื่นมากขึ้น เพราะตระหนักว่าตนไม่มีศักยภาพเพียงพอในการคิดเรื่องนั้นเอง จึงอาศัยเชื่อตามผู้อื่น
- เมื่อกลุ่มมีสมาชิกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ช่วยเพิ่มการคล้อยตามกลุ่มมากขึ้น เพราะอิทธิพลของเสียงข้างมาก
- กลุ่มกลมเกลียวสามัคคีกัน ความรักใคร่สนิทสนมกันภายในกลุ่มทำให้บุคคลมีความรู้สึกทางบวกต่อคนในกลุ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความชอบพอและเห็นด้วยในสิ่งที่คนในกลุ่มคิดหรือกระทำ
- กลุ่มมีเสียงเป็นเอกฉันท์ การที่สมาชิกกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นจำนวนที่มากเพียงพอที่จะทำให้บุคคลเชื่อตาม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะตัดสินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนคล้อยตามกลุ่มได้
- กลุ่มมีสถานภาพสูง หากสมาชิกกลุ่มเป็นคนเก่ง ฉลาด หรือแต่งกายดีดูภูมิฐานน่าเชื่อถือ ก็ทำให้สมาชิกคนอื่น ๆ คล้อยตามมากขึ้นได้
- การตอบโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ หากบรรทัดฐานกลุ่มมีปรากฏอยู่ชัด บุคคลย่อมรู้ดีว่าการแสดงความเห็นหรือกระทำพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของกลุ่มตน เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากที่จะทำให้สมาชิกกลุ่มคนอื่น ๆ ไม่ชอบตน หรืออาจนำไปสู่การไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม
- การไม่ได้ผูกมัดตนเองหรือประกาศจุดยืนย่างเปิดเผยมาก่อน หากบุคคลมีจุดยืนของตนที่ชัดเจนและได้แสดงให้คนอื่น ๆ รับรู้จุดยืนที่แน่วแน่นี้ เมื่อมีความเห็นมาแย้งกับจุดยืนตน จะทำให้บุคคลไม่คล้อยตามและยืนหยัดในจุดยืนของตน เพราะคนเราต้องการปกป้องเสรีภาพและอิสรภาพในการติดหรือกระทำใด ๆ ได้อย่างเสรี และไม่ต้องการถูกบีบบังคับ หากได้แสดงจุดยืนของตนไปชัดเจนแล้วแต่มีความเห็นอื่นมาค้านและพยายามโน้มน้าวให้เชื่อตาม ทำให้บุคคลรู้สึกว่าถูกริดรอนเสรีภาพในการคิดได้อย่างอิสระ จึงยึดมั่นในความคิดของตนมากกว่าเดิม ดังนั้น การที่บุคคลไม่ได้ผูกมัดความคิดตนหรือประกาศจุดยืนตนอย่างชัดเจนมาก่อน ทำให้บุคคลคล้อยตามผู้อื่นมากขึ้นได้
ข้อมูลจาก
“อิทธิพลของการถูกปฏิเสธจากกลุ่มต่อการคล้อยตามกลุ่ม : การศึกษาอิทธิพลกำกับของความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่ออิทธิพลส่งผ่านของ ความก้าวร้าว” โดย ธีร์กัญญา เขมะวิชานุรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46118
“ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ” โดย ภัทรา พิทักษานนท์กุล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18153
ภาพจาก https://new.ppy.sh/forum/t/247613
การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก (Parenting by lying): เมื่อพ่อแม่โกหกลูกด้วยความปรารถนาดี
“ถ้าลูกยอมเขียนหน้านี้จนเสร็จ… คุณแม่จะพาไปทะเลนะ” คุณแม่ท่านหนึ่งกล่าวกับลูกน้อยวัย 3 ขวบ ที่กำลังงอแง ไม่ยอมทำกิจกรรม
ในภายหลัง เมื่อคุณครูถามคุณแม่ไปว่า “มีแผนจะไปเที่ยวทะเลกันหรือคะ”
คุณแม่หันมากระซิบกับคุณครูว่า “เปล่าค่ะ ไม่ได้จะพาไปหรอกค่ะ พูดให้ลูกยอมทำเฉย ๆ”
คิดว่าคงจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่าน ที่เคยใช้วิธีที่คล้าย ๆ กันนี้ เพื่อหลอกล่อให้ลูกยอมทำตามที่บอก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีของพ่อแม่ เพื่อตัวของลูก ๆ เอง
ในทางจิตวิทยาเราเรียกการโกหกลักษณะนี้ว่า “Parenting by lying” หรือขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก”
ไม่ได้มีเพียงพ่อแม่คนไทยเท่านั้นที่ทำแบบนี้ พ่อแม่ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการสากลที่พ่อแม่ใช้กับลูกเลยก็ว่าได้
จากงานวิจัยในหลากหลายวัฒนธรรมพบว่า ประเภทของ “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” ที่พ่อแม่มักใช้กับลูก มีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่
- โกหกเพื่อให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้เสร็จ เช่น “ถ้าทำการบ้านเสร็จ พ่อจะพาไปเที่ยวสวนสัตว์”
- โกหกเพื่อความปลอดภัย เช่น “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ”
- โกหกเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี เช่น “นั่งให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นคุณหมอจะมาฉีดยา”
- โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงคำขอของลูก เช่น “ของเล่นอันนี้เขายังไม่ขายนะ วันนี้ยังซื้อไม่ได้”
สาเหตุหลักที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องอธิบายเยอะ และหลายครั้งก็ทำให้ลูกเชื่อฟังได้จริง ๆ
แต่การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก ก็มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว
ปัญหา 3 ข้อ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการโกหก
1. ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่
เมื่อพ่อแม่พูดโกหก ในครั้งแรก ๆ ลูกอาจจะเชื่อฟัง และคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดจะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นความจริง แต่ในที่สุดเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่โกหก เกิดเป็นความไม่เชื่อใจ หรืออาจไม่สนใจสิ่งที่พ่อแม่พูด ไม่ว่าพ่อแม่จะพูดความจริงหรือไม่ก็ตาม ลูกอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่พูดก็ได้ (เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ได้ไปสวนสัตว์อยู่ดี และตำรวจก็ไม่มาจับอยู่แล้ว) และอาจพัฒนาไปเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูกได้อีกด้วย
2. การโกหกเป็นเรื่องปกติ
เมื่อพ่อแม่ใช้วิธีการโกหก ก็เท่ากับพ่อแม่เป็นตัวแบบให้ลูก ว่าการโกหกหรือการไม่ทำตามสัญญาเป็นสิ่งที่ทำได้ (เพราะพ่อแม่ก็ทำ) และเด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีจากสิ่งที่พ่อแม่ทำ มากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด
3. พัฒนาเป็นปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาทางใจ
งานวิจัยพบว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” อาจมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาลูกโกหกพ่อแม่ มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อต้านพ่อแม่ หรือปัญหาความวิตกกังวล ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเริ่มต้นมาจากการที่ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่ และมีความรู้สึกโกรธอยู่ในใจที่ถูกพ่อแม่โกหกนั่นเอง
เพื่อหลีกเลี่ยง “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” พ่อแม่ควรทำอย่างไร
1. ตั้งเงื่อนไขที่เกิดขึ้นได้จริง
เช่น ถ้าบอกลูกว่า “ถ้าทำการบ้านเสร็จ จะพาไปสวนสัตว์” หากลูกทำการบ้านเสร็จจริง ๆ ก็ควรพาไปสวนสัตว์ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าคิดว่าการไปสวนสัตว์ไม่สามารถทำได้ ก็ควรตั้งเงื่อนไขอื่นที่มีความเป็นไปได้
2. อธิบายผลที่จะตามมาตามความเป็นจริง
แทนที่จะโกหกให้เด็กเกิดความกลัวที่ไม่เป็นความจริง เช่น แทนที่จะโกหกว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับ” (ความจริงคือ ตำรวจไม่ได้จะมาจับถ้าเด็กไปไหนมาไหนคนเดียว แต่ตำรวจน่าจะเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกหลงทางมากกว่า) พ่อแม่ควรอธิบายตามความจริงไปว่า “เดินใกล้ ๆ แม่ไว้นะ เดี๋ยวหลง” และอาจเสริมด้วยว่า ถ้าลูกหลงกับแม่ให้ทำอย่างไร
สุดท้ายนี้ การดูแลลูกไม่เคยมีสูตรสำเร็จตายตัว บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความเข้าใจอย่างยิ่งว่าในบางกรณีพ่อแม่ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการบางอย่าง เพื่อควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อยให้ได้ผลโดยทันที อย่างไรก็ตามบทความนี้ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจกับสิ่งที่ตนเองพูดกับลูกให้มากขึ้น ถ้าตกลงอะไรกับลูกแล้ว ก็ควรทำให้ได้ตามที่ตกลงไว้ และควรหาโอกาสพูดคุยกับลูก เพื่ออธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกได้เข้าใจผลที่จะตามมา ตามความเป็นจริง เพื่อการเติบโตที่เหมาะสม เพื่อรักษาซึ่งความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดี และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในระยะยาว
รายการอ้างอิง
Dodd, B., & Malm, E. K. (2021). Effects of Parenting by Lying in Childhood on Adult Lying, Internalizing Behaviors, and Relationship Quality. Child Psychiatry & Human Development, 1-8. https://doi.org/10.1007/s10578-021-01220-8
Santos, R. M., Zanette, S., Kwok, S. M., Heyman, G. D., & Lee, K. (2017). Exposure to parenting by lying in childhood: Associations with negative outcomes in adulthood. Frontiers in Psychology, 8, 1240. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2017.01240
Liu, M., & Wei, H. (2020). The dark side of white lies: Parenting by lying in childhood and adolescent anxiety, the mediation of parent-child attachment and gender difference. Children and Youth Services Review, 119, 105635. https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2020.105635
Talwar, V., & Crossman, A. (2022). Liar, liar… sometimes: Understanding Social-Environmental Influences on the Development of Lying. Current Opinion in Psychology, 101374. https://doi.org/10.1016/j.copsyc.2022.101374
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2565
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2565 ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระหว่างวันที่ 25 พ.ย. – 23 ธ.ค. 2565 (เฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์) เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยา เนื้อหาการอบรมจะเป็นการปูพื้นฐานให้ผู้ที่ไม่เคยศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยามาก่อนได้เรียนรู้และเข้าใจกับคำว่า “จิตวิทยา” โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นฐานในการศึกษากระบวนการแห่งการรู้สึก การรับรู้ การเรียนรู้ การจำ การคิด การจูงใจ บุคลิกภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนำศาสตร์ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านจิตวิทยาให้แก่ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่จำเป็น และสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษารายวิชาที่กำหนดในหลักสูตรในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์การวัดผลของโครงการจะได้รับวุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะจิตวิทยาได้
เกณฑ์การวัดผล
- ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการอบรม (21 ชั่วโมง)
- สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป
หัวข้อการฝึกอบรม
หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึง
วันที่ 31 ธันวาคม 2565 (หากชมคลิปวิดีโอภายหลังช่วงเวลาสอบจะไม่นับเป็นเวลาเรียน)
อัตราค่าลงทะเบียน
บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วมีสิทธิเปิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
เงื่อนไขการลงทะเบียน
- กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
- การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
- เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
- บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
- ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
- เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี
โทร 02-218-1307, 088-833-6493 (เบอร์มือถือกรุณาติดต่อภายในเวลา 10.00-17.00 น.)
การดูคลิปวิดีโอสำหรับการเรียนย้อนหลัง
สามารถติดตามการดูคลิปย้อนหลังได้ที่: LINK
**การเรียนย้อนหลังทางคลิปวิดีโอสามารถนับเป็นชั่วโมงการเข้าเรียนได้**
ทีมงานของโครงการจะลงลิงค์วิดีโอหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง
สามารถเรียนย้อนหลังทางคลิปวิดีโอได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
- ในการเข้าชมแต่ละคลิป ท่านจะต้องลงทะเบียนด้วย ชื่อ-สกุล ภาษาเดียวกับที่ท่านลงทะเบียนเข้าห้อง Zoom เท่านั้น
- กรุณาเข้ารับชมย้อนหลังด้วยลิงก์ห้อง Zoom ที่ได้จากการ Register ของท่านเอง หากท่านเข้าชมด้วยลิงก์ของผู้อื่น จะไม่นับเป็นการเข้าร่วมชั้นเรียน
- ท่านสามารถรับชมย้อนหลังได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค. 65 (ก่อนเวลาสอบ) หากท่าน Register เพื่อรับชมย้อนหลังจากนั้น จะไม่นับเป็นการเข้าร่วมชั้นเรียน
Moral Disengagement – การละเลยคุณธรรม
การละเลยคุณธรรม คือ การที่บุคคลรับรู้ว่าพฤติกรรมที่ตนทำเป็นสิ่งไม่ดี (ผิดศีลธรรม) แต่ก็ยังเลือกที่จะทำ โดยบุคคลได้โน้มน้าวตนเองว่าคุณธรรมที่ตนมีเป็นมาตรฐานนั้นไม่สามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์หรือบริบทที่ตนกำลังเผชิญอยู่ เพื่อลดความรู้สึกไม่ดีและความรู้สึกผิดที่ได้ทำพฤติกรรมนั้นลงไป เพื่อปกป้องมโนภาพแห่งตนและช่วยบรรเทาความไม่คล้องจองของปัญญา (Cognitive dissonance)
การเปลี่ยนโครงสร้างทางการรู้คิด (cognitive restructuring) เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีในมุมมองที่ดีขึ้น เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะได้อนุญาตให้ตนสามารถทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้โดยไม่รู้สึกผิด และนำมาสู่การทำพฤติกรรมที่ไม่ดีซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ
กลไกการโน้มน้าวตนเองในการละเลยคุณธรรม มีทั้งหมด 8 กลไก ดังนี้
1. การให้เหตุผลรองรับพฤติกรรมที่ไม่ดี (Moral Justification)
คือ กระบวนการในการให้เหตุผลต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ทำลงไปว่าเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ โดยอ้างว่านำไปสู่คุณค่าของสังคมหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางศีลธรรมอื่น ๆ เช่น การที่ฉันทำร้ายผู้อื่นเพื่อเป็นการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของโรงเรียนของฉัน
2. การเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่แย่กว่า (Advantageous comparison)
คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ได้กระทำกับพฤติกรรมที่แย่กว่า เมื่อเปรียบเทียบผลของการกระทำจะเห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีมีความร้ายแรงน้อยลง เช่น การโกหกในการรายงานหน้าชั้นยังดีกว่านักข่าวที่รายงานเรื่องโกหกออกสื่อ
3. การเปลี่ยนแปลงคำเพื่อลดความรุนแรงของพฤติกรรม (Euphemistic labeling)
คือ การใช้คำใหม่ให้บรรเทาความรุนแรงของพฤติกรรม เป็นการเปลี่ยนความ เช่น การนำของของคนอื่นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช่การขโมย แต่เป็นการขอยืมไปก่อนเท่านั้น
การปิดบังความรับผิดชอบของผู้กระทำ (minimizing one’s agentive role) เป็นการปิดบังหรือลดความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้ตนเองสบายใจว่าตนไม่ได้ต้องการเป็นผู้กระทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ต้องทำเพราะเป็นความต้องการของผู้อื่น
4. การปัดความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น (Displacement of responsibilities)
คือ การส่งต่อความรับผิดชอบของตนว่ามาจากคำสั่งของผู้อื่น เช่น ฉันปลอมเอกสารเพราะหัวหน้ามอบหมายให้ฉันทำ คนที่ต้องรับผิดชอบคือหัวหน้างานของฉัน
5. การกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น (Diffusion of responsibilities)
คือ การกระจายความรับผิดชอบให้กับกลุ่ม เช่น การลอกงานเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถ้าฉันถูกลงโทษคนอื่นก็ต้องถูกลงโทษด้วย
การลดความรู้สึกต่อผลที่เกิดขึ้นของพฤติกรรม (disregarding or distorting the consequence) เป็นการลดความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นหลังจากทำพฤติกรรม โดยการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ได้รับผลกระทบ
6. ลดความร้ายแรงของผลที่ตามมาของพฤติกรรม (Distortion of consequence)
คือ การลดความร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการทำพฤติกรรมเพื่อลดความรู้สึกผิดที่จะเกิดขึ้น เช่น การปลอมแปลงเอกสารไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ไม่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงได้หรอก
7. ลดมุมมองความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ (Dehumanization)
คือ หากผู้กระทำผิดรับรู้ว่าผู้ถูกกระทำเป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะเกิดความเห็นใจและรู้สึกผิดต่อการกระทำ จึงลดความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำลง เช่น มองเป็นคนนอกกลุ่มที่ไม่สมควรได้รับความเห็นใจ เช่น ฉันไม่ได้ว่าร้ายคนนั้น แต่ว่าร้ายบริษัทคู่แข่งของเราที่เขาทำงานอยู่
8. โทษผู้อื่น (Attribution of blame)
คือ การที่มนุษย์มองตนเองว่าดี ไม่มีข้อผิดพลาด ทำให้เปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่าผลของการกระทำที่ไม่ดีเป็นความรับผิดชอบของเหยื่อที่สมควรได้รับอยู่แล้ว เช่น ที่ฉันทำร้ายเชา เพราะเขาทำตัวไม่ดีสมควรได้รับการลงโทษจากฉัน
ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยคุณธรรม
ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการละเลยคุณธรรม ได้แก่ บุคลิกภาพแบบแมคคิวิเลียน (Machiavellianism) ความเชื่อเรื่องอำนาจควบคุมภายนอก (External locus of control)
บุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์ทางลบกับการละเลยคุณธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเป็นมิตรและการมีจิตสำนึก (Agreeableness and Conscientiousness) การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) การรู้สึกผิดและความละอาย (Guilt and Shame)
ปัจจัยด้านเพศและวัย
มีการวิจัยบางงานพบว่า กลุ่มบุคคลช่วงวัยรุ่นมีการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมมากกว่ากลุ่มวัยเด็ก และกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยแต่ละวัยมีรูปแบบการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมต่างกัน วัยรุ่นมักใช้กลไกการกระจายความรับผิดชอบกับกลุ่ม ส่วนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะใช้กลไกการละเลยคุณธรรมในการสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่นเป็นรายบุคคล
ส่วนงานวิจัยที่เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า เพศหญิงมักใช้กลไกการกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น ขณะที่เพศชายมักใช้กลไกการให้เหตุผลรองรับพฤติกรรมที่ไม่ดี
งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการละเลยคุณธรรมกับการรังแกภายในโรงเรียน พบว่า กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ในโรงเรียนมีการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมดังนี้ (ตามลำดับ)
-
- “การถูกรังแกเป็นเรื่องปกติของการเป็นเด็ก” – เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการรู้คิด
- “นักเรียนที่ถูกรังแกสมควรได้รับการกระทำเหล่านั้น” – โทษเหยื่อ
- “เป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการดูแลไม่ให้เกิดการรังแกในโรงเรียน” – ส่งต่อความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด
- “การถูกรังแกทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น” – ลดความรู้สึกต่อผลของพฤติกรรม
รายการอ้างอิง
“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018
ภาพจาก https://thenounproject.com/term/angel-and-devil/
Psych Stats Clinic : คลินิกให้คำปรึกษาทางสถิติเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา
- สมมุติฐานข้อนี้ต้องใช้สถิติอะไรวิเคราะห์นะ?
- เก็บข้อมูล thesis / senior project มาแล้ว ทำไงต่อ?
- จะวิเคราะห์สถิติตัวนี้ ต้องเตรียมข้อมูลอย่างไร?
- ได้ output มาแล้ว อ่านยังไงอะ?
ถ้าคุณมีคำถามประมาณนี้ Psych Stats Clinic ช่วยคุณได้
Psych Stats Clinic : คลินิกให้คำปรึกษาทางสถิติเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา
เปิดให้บริการแก่นิสิตทุกระดับและทุกชั้นปี จองเวลาเข้าปรึกษาเกี่ยวกับสถิติและการใช้โปรแกรมวิเคราะห์ทางสถิติต่าง ๆ ทั้งในการเรียนและการทำวิจัย กับพี่ยู ณัฐพัชร์ สิมะรังสฤษดิ์ นิสิตปริญญาเอก แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ ผู้มีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยสอนวิชาสถิติ และให้คำปรึกษาด้านสถิติเพื่อการวิจัยมาอย่างยาวนาน
ให้บริการกลางเดือนตุลาคม 2565 นี้เป็นต้นไป
คลิกที่นี่เพื่อจองเวลาเข้ารับคำปรึกษาไว้ล่วงหน้าได้เลย!
การตัดวงจรการลอกเลียนแบบการก่อเหตุความรุนแรง
และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน สังคม และทุก ๆ ท่าน ช่วยกันตัดวงจรการลอกเลียนแบบการก่อเหตุความรุนแรง ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้



บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (Highly Sensitive Person) และความแตกต่างในการเลี้ยงดูผ่านกรณีศึกษาของคริสเตนและชาร์ล
(สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง ขอให้ย้อนกลับไปทำความเข้าใจในบทความเรื่อง ทำความรู้จักคนที่มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง และความจำเป็นต่อวิวัฒนาการมนุษย์)
โดยธรรมชาติของมนุษย์ การหยิบเอาบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ (majority) มาตัดสินความเป็นปกติเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในทุกยุคทุกสมัย สำหรับบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนสูง (HSP) การถูกตีตราว่า “ดราม่า” “ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” “เรื่องมาก” หรือ “แปลก” เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ๆ และผู้ที่เป็น HSP ส่วนใหญ่ซึ่งอาจไม่เข้าใจในบุคลิกภาพของตนเอง มักจะต้องทนแบกรับความรู้สึกว่าตนเองแปลกแยก หรือพยายามที่จะเลี่ยงการถูกตีตราด้วยการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของคนส่วนมาก ซึ่งนั่นกลับทำให้พวกเขายิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง และเกิดความเครียดในที่สุด
ในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างของ ดร. เอเลน แอรอน ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดและผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพแบบ HSP ดร. แอรอนได้พบว่า การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เด็กที่เป็น HSP เติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง สามารถยินดีกับข้อดีและมีความสามารถในการรับมือกับข้อด้อยของการเป็น HSP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คริสเตน เป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งที่สงสัยว่าตัวเอง “บ้า” เธอกล่าวว่าตั้งแต่เล็ก ๆ เธอมักจะรู้สึกกลัวเวลาต้องเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน เธอรู้สึกว่าเสียงหม้อและกระทะของเล่นที่เพื่อเคาะในห้องนั้นดังเกินไปจนเธอต้องปิดหูร้องไห้ ในวัยเด็กครูมักจะลงความเห็นว่าเธอ “ชอบเหม่อ” แต่เมื่อประเมินพัฒนาการแล้วกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ แถมเธอยังถูกส่งไปในชั้นเรียนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (gifted) อีกด้วย สุดท้ายจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเธอน่าจะไม่สามารถ “กรองสิ่งเร้า” รอบตัวออกได้แบบเด็กคนอื่น คริสเตน ผ่านวัยเด็กมาได้ด้วยการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย เธอเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันต่ำและอยู่แถวบ้าน จนเมื่อถึงวัยในวัยรุ่น คริสเตนตกหลุมรักและติดตามแฟนของเธอไปพบพ่อแม่ของเขาที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่แม้จะชั่วคราวก็ทำให้คริสเตนเกิดความเครียด จนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า คริสเตนแสดงอาการกังวลออกมาบ่อยครั้งจนทำให้แฟนของคริสเตนขอตัดความสัมพันธ์ เมื่อคริสเตนกลับมาเรียนเธอก็กังวลกับการเรียน คริสเตนกำลังอยู่ในจุดที่อันตรายต่อสุขภาวะทางจิตเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะที่ ชาร์ล ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนสูงและเกิดในครอบครัวศิลปินซึ่งเข้าใจความละเอียดอ่อนได้ดี ครอบครัวของชาร์ลสนับสนุนความเป็นตัวเองของเขาอย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสให้ชาร์ลแสดงอารมณ์ที่ล้นเอ่อทั้งทางบวกและลบออกมาได้ ชาร์ลรับรู้ถึงลักษณะบุคลิกภาพของตนเองมาตลอดและรับรู้ว่าบุคลิกภาพของตนเองเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ ชาร์ลเห็นข้อดีของการเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนสูงมากมาย เขามองว่าแม้เขาจะเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่เขามีอะไรที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น การมีรสนิยมที่ดีในด้านดนตรี ความรู้สึกดีกับตนเองนี้ทำให้ชาร์ลสามารถปรับตัวได้ดีเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ แม้ว่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูงระดับ Ivy League และขณะเดียวกัน ชาร์ลก็สามารถยอมรับข้อด้อยของบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงและหาวิธีจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม เขาเลือกซื้อบ้านที่อยู่ในละแวกเงียบสงบ และเขาทราบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะคิดมากและเกิดอาการซึมเศร้าในบางครั้ง แต่ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ชาร์ลมีชีวิตที่มีความสุข และนับถือตนเอง
แม้บุคคลจะถือกำเนิดด้วยพื้นฐานบุคลิกภาพที่คล้ายกัน แต่พื้นฐานบุคลิกภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินอนาคตของแต่ละคน จากกรณีตัวอย่างของคริสเตนและชาร์ล เราจะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคม มีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพื้นฐานที่ติดตัวพวกเขามาแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เลี้ยงดูพึงระวังคือ แม้เด็กแต่ละคนจะมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงเหมือนกัน แต่ HSP แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างเฉพาะตัวกันออกไป
คุณลักษณะสำคัญ 3 ด้านที่ HSP แต่ละคนมีต่างกันมากน้อย ซึ่งก่อให้เกิดความเฉพาะตัว ได้แก่
1. ความยากง่ายในการถูกกระตุ้นทางจิตใจ (Ease of Excitation) เช่น เหนื่อยง่ายเมื่อต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน หรืออารมณ์เสียง่ายเมื่อหิว หรือง่วง
2.ความอ่อนไหวกับความงาม (Aesthetic Sensitivity) เช่น การรู้สึกประทับใจกับศิลปะและดนตรี และ
3.การมีขีดความอดทนต่อการกระตุ้นทางผัสสะที่ต่ำ (Low Sensory Threshold) เช่น รู้สึกไม่ดีได้ง่ายเมื่อต้องอยู่ในที่แสงจ้า หรือมีกลิ่นแรง
การทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของผู้ที่เป็น HSP จึงต้องอาศัยการสังเกต ซักถามจากผู้เลี้ยงดูหรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เจาะจง และนำไปสู่การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโต
บทความวิชาการโดย
อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา