Sensation seeking – การแสวงหาการสัมผัส

27 Jan 2017

 

 

การแสวงหาการสัมผัส เป็นลักษณะของความต้องการได้รับการสัมผัสที่มีความแปลกใหม่ (novelty) และเข้มข้น (intensity) ซึ่งบุคคลที่มีลักษณะการแสวงหาการสัมผัสสูงจะปรารถนาที่จะรับความเสี่ยง ทั้งทางร่างกายและสังคม เพื่อรักษาระดับความพึงพอใจตามความต้องการของตน

 

โดยที่ระดับพฤติกรรมความเสี่ยงเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับ

 

  • ปัจจัยต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อม/การขัดเกลาทางสังคม – ระดับการแสวงหาสิ่งตื่นเต้นเร้าใจของพ่อแม่ การปลูกฝังเรื่องศาสนาจากครอบครัว การเป็นลูกคนโตหรือลูกคนเดียว วัฒนธรรมในแต่ละสังคมที่จะยอมรับการแสดงออกในบางเรื่องแตกต่างกัน
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม/ปัจจัยทางชีววิทยา เช่น ระดับ threshold ระดับเอนดอร์ฟิน ระดับเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส

 

ทั้งนี้การแสวงหาการสัมผัสจะมีระดับสูงมากที่สุดในวัยรุ่นและลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามระดับสารเคมีในระบบประสาทส่วนกลาง

 

ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูง (high-sensation seeker) จะมีปฏิกิริยาและความรู้สึกทางบวกต่อสถานการณ์ที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เช่น ชอบความรู้สึกตื่นเต้นขณะขับรถเร็ว การกระโดดร่ม หรือการดูภาพยนตร์ระทึกขวัญ ดังนั้นเขาจะเลือกสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เพิ่มการกระตุ้นความรู้สึกเหล่านี้เพื่อตอบสนองความต้องการความแปลกใหม่และความตื่นเต้นของตน

 

ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสต่ำ (low-sensation seeker) จะไม่ต้องการแสวงหาสิ่งเร้าใด ๆ เพื่อมากระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่ คือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน ไม่ชอบความรุนแรงหรือความเสี่ยง แต่จะชอบละครเพลง ละครเวทึแนวชีวิตและแนวตลก ชอบนิยายแนวชีวิตและโรแมนติก

 

คนแสวงหาการสัมผัสสูงมักชอบทำในสิ่งที่คนแสวงหาการสัมผัสต่ำเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงมาก ทั้งความเสี่ยงทางร่างกายและทางสังคม เช่น การชอบขับรถเร็ว การแต่งตัวแบบแปลกๆ ตามที่วัยรุ่นนิยม

 

 

การแสวงหาการสัมผัสกับความก้าวร้าว

 

มีงานวิจัยพบว่าการแสวงหาการสัมผัสสามารถทำนายพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้ เช่น การขับรถแบบเสี่ยงอันตราย การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือติดเชื้อ การใช้ยาเสพติดและการเล่นพนัน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การเสี่ยงไม่ใช่ประเด็กหลักของการแสวงหาการสัมผัส แต่เป็นเพียงสิ่งที่คนใช้เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมที่ตอบสนองความพึงพอใจด้านความแปลกใหม่ การเปลี่ยนแปลง และความตื่นเต้น เช่น การขับรถเร็วและพยายามขับรถแซงคันหน้า บุคคลอาจทำเพื่อความสนุก โดยไม่ได้คิดว่าอาจเกิดอุบัติเหตุรถชนที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นบาดเจ็บได้ จะเห็นได้ว่าการขับรถเร็วเป็นพฤติกรรมเสี่ยง และความต้องการความสนุกเป็นความต้องการแสวงหาการสัมผัส ส่วนการตั้งใจขับรถแซงหน้าผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บเป็นความก้าวร้าว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแสวงหาการสัมผัสมีความเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวได้

 

ทั้งนี้ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูงอาจไม่ได้ทำพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหมด เช่น พวกเขารู้สึกสนุกถ้าได้ฟังเพลงร็อครุนแรง ดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หรือภาพยนตร์สยองขวัญ ท่องเที่ยวสถานที่แปลกใหม่ ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์

 

 

การแสวงหาการสัมผัสกับสื่อเพื่อความบันเทิง

 

การแสวงหาการสัมผัสมีลักษณะพื้นฐานทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับความต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ การเสี่ยง และการกระตุ้นทางร่างกาย ซึ่งบุคลิกภาพการแสวงหาการสัมผัสไม่ได้มีศักยภาพสำหรับแค่การเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพในการค้นหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเข้มข้นในด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย

 

งานวิจัยบางส่วนพบว่า การแสวงหาการสัมผัสมีความสัมพันธ์กับความชอบการกระตุ้นจากสื่อเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ที่รุนแรง ดนตรีที่มีความรุนแรง ซับซ้อน แปลกใหม่และก้องกังวาน อย่างเพลงร็อค เพลงพั้งค์ สิ่งพิมพ์และข่าวหรือเอกสารที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ นอกจากนี้ยังพบว่า บุคคลที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูงจะใช้เวลาในการดูภาพยนตร์แอคชั่น ผจญภัย และเปลี่ยนช่องโทรทัศน์บ่อยอีกด้วย

 

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการแสวงหาการสัมผัส ความก้าวร้าวและความปรารถนาในการใช้สื่อที่รุนแรงเพื่อความบันเทิงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” โดย อัจฉริยา เลิศอนันต์วรกุล (2548) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6746

 

“การศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของความรู้สึกแสวงหาสิ่งตื่นเต้นเร้าใจกับพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร” โดย ขวัญหทัย เมืองสุวรรณ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47588

 

ภาพจาก wiki

แชร์คอนเท็นต์นี้