ทำความรู้จักคนที่มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (Highly Sensitive Person) และความจำเป็นต่อวิวัฒนาการมนุษย์

06 Jul 2022

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

 

ปราชญ์ อายุ 35 ปี เขารู้สึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าตนเองนั้นแตกต่างจากคนรอบข้าง สมัยอนุบาล เขามักจะไม่ชอบกิจกรรมเข้าจังหวะเพราะรู้สึกว่าเสียงเพลงลำโพงดังเกินไปจนเขาต้องปิดหูร้องไห้ พ่อแม่ของเขารู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่อ่อนไหว โยเย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็ยังไม่ชอบเสียงดัง จึงทำให้เขาไม่สนุกที่จะไปปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงและพูดคุยเรื่องสัพเพเหระที่เขามองว่าไม่ค่อยมีความหมายกับชีวิต เพื่อนของเขามักจะล้อว่าเขาเจ้าน้ำตาเพราะเขาซาบซึ้งกับบทกวี ศิลปะ มากเสียจนหลายครั้งเขาร้องไห้ออกมาด้วยความสงสารตัวละคร ปราชญ์รู้สึกอายกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าลูกผู้ชายไม่ควรจะเสียน้ำตาง่าย ๆ ในที่ทำงาน ปราชญ์รู้สึกเหนื่อยล้าง่ายเมื่อต้องรับอารมณ์รุนแรงของหัวหน้า เมื่อถึงวันพักผ่อนปราชญ์ปราชญ์ชอบที่จะอยู่ในที่เงียบ ๆ มีคนน้อย ๆ มากกว่าที่จะเดินทางไปเที่ยวไกลอยู่ในที่ที่มีคนพลุกพล่าน

 

หากคุณเคยได้พบเจอกับคนแบบปราชญ์ หรือรู้สึกว่าตัวเองมีลักษณะคล้ายกับปราชญ์ คุณอาจจะกำลังมองเห็นคนที่ “มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง” (Highly Sensitive Person: HSP) ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่เพิ่งจะได้รับความสนใจในการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังไม่ถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา

 

 

บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง คืออะไร

 

ในปี ค.ศ. 1997 คู่สามีภรรยานักวิจัยชาวอเมริกัน ดร. อาเธอร์ แอรอน และดร. เอเลน แอรอน ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 39 คน และทำการวิจัยเชิงปริมาณในกลุ่มตัวอย่าง 900 คน โดยได้พบว่า หัวใจของบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง หรือ HSP คือ ความลึกในการประมวลผลข้อมูล (depth of processing) นั่นคือ บุคคลที่เป็น HSP จะมีความสามารถในการครุ่นคิดหรือประมวลผลสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบกับผัสสะต่าง ๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งกว่าปกติ ทำให้ HSP มีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง คิดลึกซึ้ง มีประสาทรับสัมผัสที่ไวกว่าปกติ และรับรู้เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ดีเป็นพิเศษ

 

นอกจากความลึกในการประมวลผลข้อมูลแล้ว ดร. เอเลน แอรอนยังได้ระบุองค์ประกอบที่เป็นลักษณะสำคัญอื่น ๆ ของบุคคลที่เป็น HSP ไว้อีก สามอย่าง ได้แก่

 

  1. เหนื่อยล้าง่ายจากสิ่งที่เข้ามากระตุ้น (Easily Overstimulated) : HSP มักเกิดความเครียดได้ง่ายจากเสียง สภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย กำหนดส่งงาน บุคคลที่เป็น HSP อาจจะไม่ตอบรับคำชวนไปทานอาหารหรือร่วมปาร์ตี้เพราะเพราะพวกเขาต้องการเวลาในการพักผ่อนมากกว่าปกติ (HSP บางกลุ่มอาจจะชอบแสวงหาความตื่นเต้นและชอบการเข้าสังคม แต่หลังจากที่ผ่านกิจกรรมแล้วพวกเขาต้องการเวลาในการพักผ่อนนานกว่าปกติเช่นกัน)
  2. การตอบสนองทางอารมณ์ที่ไว (Emotional Reactivity) หรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) สิ่งที่บุคคลทั่วไปสังเกตได้ง่ายในบุคคลที่เป็น HSP คือ พวกเขามักจะมีอารมณ์ต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างเข้มข้น (ทั้งทางบวกและทางลบ) และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ง่าย
  3. รู้สึกไวต่อสิ่งเร้าแม้เพียงเล็กน้อย (Sensitivity to Subtle Stimuli) บุคคลที่เป็น HSP จะได้ยิน ได้กลิ่น รับรสและรับความรู้สึกทางกายได้ไวกว่าคนส่วนใหญ่ แม้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่คนทั่วไปแทบไม่รู้สึก เช่น กลิ่นอับของห้อง หรือรสชาติของอาหารที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ในความเข้าใจของคนทั่วไป คนอย่างปราชญ์อาจจะถูกมองว่า เป็นคนขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม อ่อนไหวเกินไป หรือเรื่องมาก ซึ่งแท้จริงแล้วบุคลิกภาพแบบ HSP ของปราชญ์นั้นมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมที่อยู่ในประชากรประมาณร้อยละ 20 -30 ของประชากรทั้งหมด การศึกษาในระดับยีนส์พบว่า HSP มีรหัสพันธุกรรมที่ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะมีความไวต่อการประมวลผลข้อมูล (Sensory Processing Sensitivity) ที่ลึกซึ้งกว่าคนอื่น แต่ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ความผิดพลาด และไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นการจัดสรรจากกระบวนการวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

 

งานวิจัยทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์และชีววิทยาจำนวนมากสนับสนุนว่าทั้งมนุษย์และสัตว์มากกว่า 100 สายพันธุ์ มีลักษณะของ HSP ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 20- 30) ซึ่งแนวคิดทางด้านวิวัฒนาการ อธิบายสัดส่วนในการเกิด HSP ต่อ non-HSP ว่า เป็นการกระจายความเสี่ยงให้ประชากรในเผ่าพันธุ์มีทั้งแบบที่ระแวดระวัง (เช่น ไวต่ออาหารใหม่ที่อาจเป็นพิษ) เพื่อรักษาสถานะความปลอดภัยเดิมแก่เผ่าพันธุ์ (HSP) และกลุ่มที่กล้าเสี่ยง (non-HSP) เพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเผ่าพันธุ์ ในกรณีที่สภาพแวดล้อมเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

แม้ในปัจจุบัน วัฒนธรรมของมนุษย์จะวิวัฒนาการมาไกลเกินกว่าเพียงแค่การอยู่รอดทางร่างกายแล้ว แต่ในแง่พื้นฐานทางชีววิทยาของมนุษย์ยังคงติดอยู่ในกรอบของวิวัฒนาการอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่สามารถเลือกได้ว่าคนในครอบครัวของเราจะมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบ HSP หรือไม่ แต่ในฐานะของผู้เลี้ยงดูเป็น HSP หรือมีบุตรหลานเป็น HSP สิ่งที่ทุกบ้านสามารถทำได้ คือการทำความเข้าใจบุคลิกภาพพื้นฐานที่เกิดขึ้น เพื่อหากลยุทธในการปรับตัวและมอบสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน และคนในครอบครัวที่เอื้อแก่พัฒนาการทางบวกของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

 


 

 

 

บทความวิชาการ

 

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

แชร์คอนเท็นต์นี้