บัณฑิตศึกษา

โครงสร้างหลักสูตร ∙ บัณฑิตศึกษา ภาคภาษาอังกฤษ ∙ หลักสูตรวิทยาศาสตร์จิตวิทยา

ภาพรวมโครงสร้างหลักสูตร

 

หลักสูตรวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (psychological sciences) เปิดสอนทั้งระดับปริญญาเอกและระดับปริญญาโท ผู้สมัครที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโททางจิตวิทยาโดยตรงสามารถสมัครเข้าเรียนในแผนวิจัยที่ไม่มีการเรียนรายวิชาได้ ส่วนผู้สมัครที่จบปริญญาตรีหรือปริญญาโทในสาขาวิชาอื่น ต้องเข้าเรียนในแผนที่มีการเรียนรายวิชาและทำวิจัย

 

นอกจากนี้นิสิตปริญญาโทที่ต้องการเลื่อนระดับจากปริญญาโทเป็นปริญญาเอก สามารถลงทะเบียนขอสอบวัดคุณสมบัติปริญญาเอกได้ หากสอบผ่านจะสามารถยกเว้นการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และเปลี่ยนสถานภาพเป็นนิสิตปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องสมัครเข้าศึกษาใหม่

 

โปรดดูรายละเอียดโครงสร้างหลักสูตรและเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาแต่ละระดับดังต่อไปนี้

ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรระดับปริญญาเอก เปิดรับสมัครในสองรูปแบบ ได้แก่

 

แผนวิจัย (Research Tracks)

1.1 รับสมัครผู้จบปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยา

แผนการเรียนรายวิชาและวิจัย (Coursework + Research Tracks)

2.1 รับสมัครผู้จบปริญญาโทสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มีวุฒิปริญญาตรีจิตวิทยา

 

โครงสร้างหลักสูตรและเงื่อนไขการจบการศึกษาของแต่ละแผนมีดังนี้

 

 

โปรดดูคำอธิบายรายละเอียดเงื่อนไขการจบการศึกษาแต่ละข้อด้านล่าง

ระดับปริญญาโท

หลักสูตรระดับปริญญาโท เปิดรับสมัครในสองรูปแบบ ได้แก่

แผนวิจัย (Research Tracks) ก1: รับสมัครผู้จบปริญญาตรีสาขาวิชาจิตวิทยา

แผนการเรียนรายวิชาและวิจัย (Coursework + Research Tracks) ก2: รับสมัครผู้จบปริญญาตรีสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เคยเรียนรายวิชาจิตวิทยามาอย่างน้อย 1 รายวิชา

 

โครงสร้างหลักสูตรและเงื่อนไขการจบการศึกษาของแต่ละแผนมีดังนี้

 

 

โปรดดูคำอธิบายรายละเอียดเงื่อนไขการจบการศึกษาแต่ละข้อด้านล่าง

รายละเอียดเงื่อนไขการจบการศึกษาแต่ละข้อ

การเรียนรายวิชา (coursework)

สำหรับผู้เข้าเรียนในรูปแบบที่ 2 ซึ่งมีการเรียนรายวิชา จะต้องเรียนรายวิชาครบ 30 หน่วยกิต ดังนี้

  • รายวิชาบังคับ 9 หน่วยกิต เพื่อสร้างทักษะการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง ได้แก่
      • สถิติ 1 (3 หน่วยกิต)
      • สถิติ 2 (3 หน่วยกิต)
      • การวิจัยเชิงจิตวิทยา (3 หน่วยกิต)
  • รายวิชาแกนจิตวิทยา 9 หน่วยกิต เพื่อให้นิสิตมีความรู้รากฐานจิตวิทยาที่มั่นคง หลักสูตรฯ กำหนดรายวิชาแกน 5 วิชาตามแนวคิดของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน นิสิตต้องเลือกเรียนวิชาแกน 3 จาก 5 วิชาดังต่อไปนี้
      • จิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ (3 หน่วยกิต)
      • รากฐานของปริชาน (3 หน่วยกิต)
      • จิตวิทยาประยุกต์ (3 หน่วยกิต)
      • มูลฐานชีวภาพของพฤติกรรม (3 หน่วยกิต)
      • จิตวิทยาพัฒนาการ (3 หน่วยกิต)
  • รายวิชาเลือกในแขนงวิชา 9 หน่วยกิต คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละแขนงวิชา
      • วิชาเลือกแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม
      • วิชาเลือกแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน
      • วิชาเลือกแขนงวิชาจิตวิทยาธุรกิจ
  • รายวิชาเลือกเสรี 3 หน่วยกิต เปิดกว้างให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาได้โดยเสรี เพื่อเสริมและเติมเต็มความรู้และทักษะที่จำเป็นกับเป้าหมายการเรียนรู้และเส้นทางอาชีพที่นิสิตแต่ละคนวางแผนไว้ โดยอาจเลือกเรียนรายวิชาด้านสถิติและวิจัยขั้นสูง รายวิชาจากแขนงวิชาอื่น หรือคณะอื่น ๆ ก็ได้

 

แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

ระบบแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio system) เป็นระบบการตั้งเป้าหมายและวางแผนการพัฒนานิสิตเป็นรายบุคคล โดยภายในปีการศึกษาที่ 1 นิสิตจะทำข้อเสนอแผนการเรียนและกิจกรรมที่จะทำตลอดระยะเวลาที่เรียนในหลักสูตร เพื่อสะสมความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายที่นิสิตตั้งไว้ (อย่างน้อย 6 อย่างสำหรับปริญญาเอก และ 4 อย่างสำหรับปริญญาโท)

 

นิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาจะเสนอแต่งตั้งกรรมการแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio committee) ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในแขนงวิชาหรือบุคคลภายนอกอีก 1 ท่าน ซึ่งจะประชุมร่วมกับนิสิตเพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงแผนการเรียนและกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแฟ้มสะสมผลงาน และติดตามความก้าวหน้ากับนิสิตปีละครั้งจนกระทั่งนิสิตจบการศึกษา

 

ผลงานที่จะใส่ในแฟ้มสะสมงานได้มีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ยืดหยุ่นและจัดให้เหมาะกับเป้าหมายอาชีพของนิสิตแต่ละคนได้ โดยอาจแบ่งเป็นหมวดได้ดังนี้ (คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

  • ทักษะการวิจัยขั้นสูง เช่น การลงทะเบียนเรียนรายวิชาสถิติหรือการวิจัยขั้นสูงที่นอกเหนือจากรายวิชาบังคับ
  • ทักษะหรือความรู้เชิงลึก เช่น การเข้าร่วมการเสวนาของแขนงวิชา เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ภาคการศึกษา
  • ทักษะหรือความรู้เชิงกว้าง เช่น การลงทะเบียนเรียนและสอบผ่านรายวิชาต่างคณะที่ได้รับความเห็นชอบจากหลักสูตร
  • ทักษะการนำเสนออย่างมืออาชีพ เช่น การนำเสนอแบบปากเปล่า โปสเตอร์ หรือการเป็นผู้อภิปรายหรือเสวนาในการประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ
  • การฝึกประสบการณ์อาชีพ เช่น การฝึกงานหรือการทำโครงการภาคปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายอาชีพในบริบทธุรกิจหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ  การสอนรายวิชาระดับปริญญาตรีสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายอาชีพเชิงวิชาการ เช่น เป็นอาจารย์  การเขียนโครงการเพื่อขอทุนวิจัยภายนอก สำหรับผู้มีเป้าหมายอาชีพด้านนักวิจัย
  • การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัยหรือบทความทางวิชาการที่มีคุณภาพพร้อมส่งตีพิมพ์ในวารสารหรือรายงานการประชุมระดับนานาชาติในฐาน Scopus หรือ ISI (นอกเหนือจากที่ใช้เพื่อจบการศึกษา)

 

วิทยานิพนธ์ปริญญาโท (Master’s Thesis)

นิสิตปริญญาโทจะต้องพัฒนาโครงร่างวิทยานิพนธ์และสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ภายในไม่เกินภาคการศึกษาที่ 4 ที่เข้าศึกษา  เมื่อได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว นิสิตต้องยื่นโครงการวิจัยเข้ารับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนลงมือเก็บข้อมูล

 

เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จแล้ว นิสิตจะสามารถขอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ได้ก็ต่อเมื่อสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ผ่านมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน และมีหลักฐานว่าผลงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ หรือได้ส่งนิพนธ์ต้นฉบับไปเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติแล้ว

 

การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)

นิสิตปริญญาเอกไม่ว่าจะเข้าศึกษาในรูปแบบที่ 1 หรือรูปแบบที่ 2 จะต้องสอบวัดคุณสมบัติให้ผ่านภายในภาคการศึกษาที่ 3 นับตั้งแต่เข้าศึกษา กระบวนการสอบเริ่มจากนิสิตต้องลงทะเบียนรายวิชาการสอบวัดคุณสมบัติ อาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตเสนอแต่งตั้งกรรมการสอบวัดคุณสมบัติต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร จากนั้นนิสิตต้องส่งบทความทบทวนวรรณกรรมและแนวคิดการทำวิจัยของตนเองให้กรรมการสอบวัดคุณสมบัติประเมิน กรรมการสอบวัดคุณสมบัติจะพิจารณาว่าจะทดสอบเพิ่มเติมในประเด็นใดและอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่านิสิตมีความพร้อมด้านความรู้ความสามารถที่จะทำวิจัยในระดับปริญญาเอก โดยอาจกำหนดรูปแบบการสอบเป็นข้อเขียน หรือการสอบปากเปล่า หรือผสมผสานกันก็ได้

 

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (Ph.D. Dissertation)

หลังจากสอบวัดคุณสมบัติปริญญาเอกผ่านแล้ว นิสิตปริญญาเอกจะต้องพัฒนาโครงร่างวิทยานิพนธ์และสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ เมื่อได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว นิสิตต้องยื่นโครงการวิจัยเข้ารับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนลงมือเก็บข้อมูล

 

เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จแล้ว นิสิตจะสามารถขอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ได้ก็ต่อเมื่อสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ผ่านมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน และมีหลักฐานว่าผลงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ หรือได้ส่งนิพนธ์ต้นฉบับไปเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาขาติครบตามเงื่อนไขแล้ว

 

การตีพิมพ์ (Publications)

ส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตต้องได้รับการเผยแพร่ด้วยการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ หรือนำเสนอในการประชุมวิชาการที่มีรายงานสืบเนื่องหลังการประชุม เกณฑ์การเผยแพร่สำหรับนิสิตแต่ละแผนการศึกษามีดังนี้

นิสิตปริญญาเอกแผนวิจัย (1.1 และ 1.2) ต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยอย่างน้อย 1 ฉบับต้องเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

นิสิตปริญญาเอกแผนการเรียนรายวิชาและวิจัย (2.1 และ 2.2.) ต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 ฉบับ

นิสิตปริญญาโทแผนวิจัย (ก1) ต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติอย่างน้อย 1 ฉบับ

นิสิตปริญญาโทแผนการเรียนรายวิชาและวิจัย (ก2) ต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ อย่างน้อย 1 ฉบับ หรือ นำเสนอในการประชุมเชิงวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติที่มีรายงานสืบเนื่องฉบับเต็ม (proceeding) อย่างน้อย 1 ฉบับ

การปรับระดับจากปริญญาโทเข้าสู่ปริญญาเอก

นิสิตที่เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สามารถปรับระดับเข้าสู่ปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสมัครใหม่ โดยนิสิตจะมีสามารถใช้ช่องทางนี้ในการเลื่อนระดับได้ ต้องเป็นนิสิตในแผน ก1 ที่การทำวิทยานิพนธ์มีความก้าวหน้าดี หรือนิสิตในแผน ก2 ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมเมื่อสิ้นปีการศึกษาที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 3.50 และมีอาจารย์รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก

 

นิสิตปริญญาโทที่ต้องการเลื่อนระดับ สามารถลงทะเบียนการสอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกได้ภายในภาคการศึกษาที่ 4 ที่เข้าศึกษา หากสอบวัดคุณสมบัติผ่านจะสามารถปรับระดับเข้าสู่ปริญญาเอก ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท และเริ่มทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกได้เลย