เพราะไม่สมบูรณ์แบบ…จึงไม่สมควรเป็นผู้ถูกกระทำ : รู้จักมายาคติ “Perfect Victim” หรือ “เหยื่อในอุดมคติ”

09 Aug 2023

คุณบุณยาพร อนะมาน

 

“เป็นผู้หญิงแต่เมาจนไม่รู้เรื่อง ก็สมควรแล้วที่จะเกิดเรื่องแบบนี้”
“ขายบริการไม่ใช่เหรอ? ได้เงินจะเรียกว่าถูกข่มขืนได้ยังไง?”
“ไม่แปลกหรอกที่จะถูกต่อย ก็ดูสิปากแบบนี้”

 

แม้จะฟังดูโหดร้ายจนไม่น่าเกิดขึ้นได้ แต่คำพูดที่ทิ่มแทงเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ซ้ำร้ายยังเป็นคำพูดที่ส่งถึงผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงเพียงเพราะผู้ถูกกระทำเหล่านั้น “ไม่ใช่เหยื่อสมบูรณ์แบบ”

 

Perfect Victim (เหยื่อสมบูรณ์แบบ) หรือ Ideal Victim (เหยื่ออุดมคติ) เป็นภาพจำทางสังคมที่กำหนดกรอบของ “ผู้ถูกกระทำ” หรือ “ผู้ตกเป็นเหยื่อ” ด้วยลักษณะต่าง ๆ ที่ผู้คนให้การตัดสินว่าเป็นลักษณะของผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ โดย นิลส์ คริสตี (Nills Christie) นักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ ได้เคยเขียนถึงความคาดหวังต่อ “ผู้ถูกกระทำ” ว่ามีลักษณะตามเงื่อนไข 5 ประการด้วยกัน ที่ทำให้เหยื่อคนหนึ่งได้รับความเชื่อถือว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำในความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ

 

  1. ผู้ถูกกระทำจะต้องมีลักษณะอ่อนแอ อาจเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ผู้สูงอายุ หรือเยาวชน
  2. ผู้ถูกกระทำจะต้องมีประวัติ หรือหน้าที่การงานที่ดี
  3. ผู้ถูกกระทำจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างแท้จริง
  4. ผู้ถูกกระทำจะต้องไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใด ๆ หรือมีความรู้จัก สนิทสนมกับผู้กระทำ
  5. ผู้กระทำจะต้องเป็นคนไม่ดี ที่มีอำนาจมากกว่าผู้ถูกกระทำ

 

โดยคำจำกัดความที่ถูกตัดสินโดยสังคมเหล่านี้ ได้ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมากถูกจัดให้อยู่นอกเหนือความเป็นเหยื่อ หรือไม่ได้รับความเชื่อถือในกรณีความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียอย่างรุนแรงในการได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเหมาะสม เพียงเพราะกรอบทางสังคมที่มีความเชื่อมั่นต่อสมมติฐานโลกยุติธรรม (Just-World fallacy) หรืออิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) อันตั้งบนพื้นฐานที่เชื่อว่าการกระทำของบุคคลหนึ่ง ๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะนำผลที่ยุติธรรมโดยศีลธรรมและเหมาะสมมายังบุคคลนั้น และมีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินด้านจริยธรรมของสังคม

 

ตรรกะวิบัติ (Fallacy) ที่ส่งผลทางลบต่อผู้ถูกกระทำนี้ถูกส่งต่อในสังคมเป็นระยะเวลานานหลายชั่วอายุคน ด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่กำหนดกรอบคำจำกัดความของ “คนดีมีศีลธรรม” เอาไว้เพื่อเป็นแบบอย่างความประพฤติของผู้คน และถูกทำให้แพร่หลายมากขึ้นด้วยสื่อต่าง ๆ ที่เข้าถึงความรู้สึกและความคิดของผู้คนได้ง่าย อาทิ บทประพันธ์ งานเขียน นวนิยาย หรือแม้กระทั่งละครโทรทัศน์ที่เสนอภาพลักษณ์ของตัวละครเอกหรือตัวละครฝ่ายธรรมะที่จะได้รับความสุขในชีวิตก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตบนบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม

 

แม้ว่าแบบอย่างนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการประพฤติตน แต่ก็คล้ายจะเป็นดาบสองคมต่อผู้คนด้วยเช่นกันเมื่อภาพจำเหล่านั้นได้สร้างการตัดสินให้ผู้ที่ไม่ประพฤติตามแบบอย่างนั้นกลายเป็น “คนไม่ดี” ที่สมควรได้รับ “บทลงโทษจากการกระทำของตน”

 

 

 

มายาคติเหยื่อสมบูรณ์แบบ….ส่งผลเสียมากมายกว่าที่ทุกคนคิด


 

 

ความเลวร้ายของทัศนคติหรือกรอบแนวคิดที่กำหนดความเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ของสังคมนั้น ส่งผลเสียต่อผู้ได้รับความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมากมาย ในกระบวนการทางกฎหมายของคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือการล่วงละเมิดทางเพศนั้น เรื่องราวของเหยื่อจะถูกเปิดเผยต่อสังคมและหยิบยกขึ้นมาทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อกลายเป็นโมฆะจากกรอบความคิดของ “ความเป็นเหยื่อ” นั้น เพื่อกล่าวโทษว่าพฤติกรรม ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตของผู้เผชิญกับความรุนแรงดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากตัวผู้ถูกกระทำเอง อาทิ

 

  • การตัดสินคดีความการกระทำชำเราในประเทศอิตาลี ผู้พิพากษายกเลิกข้อกล่าวหาของชายวัย 46 ปีที่กระทำต่อเพื่อนร่วมงานหญิง เพราะฝ่ายหญิงไม่ได้กรีดร้องขอความช่วยเหลือในระหว่างที่ถูกกระทำ
  • ข้อแก้ต่างของนักบินในประเทศมาเลเซียที่กระทำการข่มขืนแอร์โฮสเตสสาว ให้การว่าเธอทำตัวปกติและยังมีความสุขดีหลังจากเกิดเหตุการณ์ จึงไม่ถือเป็นการข่มขืน เพราะเธอไม่ได้แสดงออกถึงบาดแผลทางจิตใจหรือความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ซามูเอล ลิตเติ้ล (Samuel Little) ฆาตกรต่อเนื่องอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา ก่อเหตุฆาตกรรมเหยื่อไปกว่า 93 ราย โดยรอดพ้นจากการจับกุมจนกระทั่งอายุ 79 ปี ด้วยการก่อเหตุฆาตกรรม “กลุ่มเหยื่อที่ตำรวจไม่ให้ความสนใจ” เช่น โสเภณี คนติดยา คนผิวดำ และคนไร้บ้าน ในขณะที่ตัวผู้กระทำเองมีภาพลักษณ์เป็นชายแก่ใจดีที่มีทรัพย์สินพร้อมสมบูรณ์
  • คดีความทำร้ายร่างกายอดีตแฟนสาวของนักแสดงชาย ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงฝ่ายหญิงในการกระทำนี้ว่าสมควรถูกกระทำ มีคำพูดและความประพฤติไม่เหมาะสมให้เห็นใจ และใช้อำนาจผลักดันอดีตแฟนหนุ่มในทางหน้าที่การงานอย่างไม่สมควร

 

โดยจะเห็นได้ว่าความเป็น “เหยื่อในอุดมคติ” นั้นส่งผลให้ผู้ถูกกระทำในหลายต่อหลายครั้งถูกปฏิเสธการช่วยเหลือ การได้รับความเห็นใจ หรือแม้แต่การเยียวยาทางจิตใจอย่างที่สมควรได้รับ นอกเหนือไปจากนั้นแม้แต่การเปิดเผยเรื่องราวภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอดีตนั้น ในบางครั้งยังถูกมองว่าเป็นการใช้กระแสสังคมเพื่อเป็นการหาผลประโยชน์ส่วนตนเช่นที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางลบของ #metoo ที่เปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้คนจำนวนมากในโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

 

การตัดสินคนคนหนึ่งด้วยกรอบความคิดที่สร้างจากภาพเหมารวม อาจสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจให้กับผู้ถูกกระทำไปชั่วชีวิต ซ้ำร้ายยังเป็นการตอกย้ำบาดแผลจากความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น และตราบาปทางจิตใจให้เกิดการโทษความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง

 

 

 

เพียงเพราะไม่ตรงตามอุดมคติ ไม่ได้แปลว่าไม่ได้รับความเจ็บปวด

เหยื่อสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ความเลวร้ายจากการถูกกระทำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของผู้เผชิญ

 

เพราะในโลกใบนี้ “ไม่มีใครไร้ที่ติ” จึงไม่ควรที่จะมีใครถูกเพิกเฉยต่อความรุนแรงเพราะความด่างพร้อยในชีวิต…ความเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจ อาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างให้โลกอันแสนโหดร้ายของคน ๆ หนึ่งน่าอยู่มากขึ้นได้นะคะ 🙂

 

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

Nuttkamol Chaisuwan. (2019). เพราะเหยื่อคือกลุ่มคนที่ตำรวจไม่สนใจ : เหตุผลและคำรับสารภาพจากฆาตกรต่อเนื่อง 93 ศพ. https://thematter.co/thinkers/samuel-little-serial-killer/87403

 

ศิรอักษร จอมใบหยก. (2023). หรือเป็นเพราะฉันไม่ดี ถึงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเหยื่อความรุนแรง. https://themomentum.co/wisdom-perfect-victim/

 

Nudchanard k.. (2021). ในโลกนี้ไม่มี “เหยื่อในอุดมคติ”. https://www.sherothailand.org/post/th_there-is-no-perfect-victim

 

Wesley Lowery. (2020). Indifferent Justice Part 1 “The Perfect Victim”

 

รวิตา ระย้านิล. (2022). การโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ. https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/article-victimblame

 

 


 

 

 

บทความโดย

คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้