การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ – Cyberbullying

12 Oct 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เป็นพฤติกรรมการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการคุกคาม ล่อลวง และรังแกผู้อื่นโดยเจตนา โดยมีการกระทำซ้ำ ๆ และผู้ถูกกระทำไม่สามารถแก้ตัวหรือปกป้องได้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมักสื่อสารด้วยความรุนแรงหรือก้าวร้าว โดยตั้งใจที่จะทำร้ายหรือสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้อื่น

 

ช่องทางการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์สามารถเกิดขึ้นได้จาก 7 ช่องทางดังนี้

  • instant message,
  • email,
  • SMS,
  • social media,
  • chat room,
  • blog,
  • internet gaming

 

งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า Cyberbullying โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงมัธยมต้นซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่น และมีวัยรุ่นประมาณร้อยละ 20-40 เคยเป็นเหยื่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เด็กที่ถูกข่มเหงรังแกมักมีปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเหงา การไร้ความสุข และมีปัญหาด้านการนอน
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เป็นการข่มเหงที่ไม่ค่อยมีผู้สังเกตเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กต่างเก็บซ่อนการข่มเหงรังแกจากคนที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เช่น ผู้ปกครอง เพราะมองว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้พวกเขาได้ และยังอาจถูกระงับการใช้งานโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต

 

ด้วยเหตุนี้ การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างช้า ๆ พวกเขากลายเป็นคนเงียบ ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เข้าสังคมเหมือนก่อน แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ยากหากไม่ได้รับการใส่ใจเพียงพอ

 

 

แรงจูงใจในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

ผู้รังแกมีแรงจูงใจในการก่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์โดยส่วนใหญ่เกิดจากความสะดวกและรวดเร็วในการข่มเหงรังแก ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมีอำนาจ ศักดิ์ศรี การได้แสดงออกถึงความก้าวร้าว การแก้แค้น ความอิจฉา การได้รับความสนใจ ดูเจ๋ง ดูแข็งกร้าว เป็นที่เกรงกลัวจากผู้จนโดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้สำเร็จและไม่ค่อยถูกจับได้

 

นอกจากนี้ แรงจูงใจอื่นๆ อาจประกอบไปด้วย ความสนุกสนาน และการกระทำเพื่อลดความเบื่อหน่าย ทำเพื่อความรู้สึกตลกขบขัน โด่งดัง และมีอำนาจ หรือทำเพียงเพราะรู้สึกดีเฉย ๆ

 

มีงานวิจัยในนักเรียนมัธยมปลาย พบว่า การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์มักเกิดจากแรงจูงใจภายใน (เช่น เพื่อความสนุกส่วนตน) มากกว่าเป็นแรงจูงใจภายนอก เพราะการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ผู้รังแกมักไม่ได้รับผลกระทบอะไร เช่น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นตอนปลายมักใช้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ให้ไปในทางที่ตนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับความนิยม การมีชื่อเสียง และเรื่องทางเพศ

 

มีงานวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อมาก่อน บางงานพบว่าการแก้แค้นหรือการเอาคืนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทวีความรุนแรง

 

 

รูปแบบการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


(Willard, 2007; Kowalski et al., 2014)

 

  1. การปะทะคารม (Flaming) คือ การโต้เถียงไปมาระหว่างบุคคล จนก่อเกิดความรุนแรง มีการใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว และมีการดูถูกเหยียดหยาม มักเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ (เช่น ตามกระทู้บอร์ดสนทนา) มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว (เช่น อีเมล)
  2. การก่อกวน (Harassment) คือ การใช้ถ้อยคำหรือการกระทำใดๆ ที่สร้างความรำคาญใจและความทุกข์ใจต่อบุคคลหนึ่งโดยเจตนา โดยกระทำซ้ำๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ช่องสนทนาทาง Facebook
  3. การใส่ร้ายป้ายสี (Denigration) คือ การส่งต่อข้อมูลของบุคคลที่ไม่เป็นความจริง ผู้ส่งอาจนำข้อมูลไปเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ส่วนตัว
  4. การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น (Impersonation) คือ การแอบอ้างเป็นบุคคลหนึ่งและกระทำสิ่งที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลนั้น เช่น ใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าว่ากล่าวผู้อื่น เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมให้กับผู้อื่น ข่มเหงรังแกบุคคลอื่น เป็นต้น การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่นสามารถทำโดยการสร้างตัวตนเลี่ยนแบบบุคคลนั้นขึ้นมาใหม่ หรือขโมยรหัสผ่านของบุคคลนั้นเพื่อใช้ตัวตนบนโลกออนไลน์ของบุคคลนั้นทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม
  5. การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัว (Outing and trickery) คือ การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัวที่โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดความอับอายของบุคคลหนึ่งแก่ผู้อื่น
  6. การขับออกจากกลุ่มหรือการคว่ำบาตร (Exclusion / ostracism) คือ การขับบุคคลหนึ่งออกจากกลุ่มในโลกออนไลน์ เช่น การไม่ตอบสนองข้อความใดๆ ก็ตามที่บุคคลส่ง หรือลบบุคคลออกจากกลุ่มใน Facebook หรือ Line และกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือการพูดคุยต่าง ๆ ในโลกออนไลน์
  7. การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) คือ การกระทำที่มุ่งร้าย ก่อกวน สร้างความรำคาญให้กับบุคคลหนึ่งอย่างมาก ผ่านทางไซเบอร์ทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต จนทำให้เหยื่อรู้สึกกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือถูกทำอะไรที่ผิดกฎหมายทั้งต่อตัวเองและครอบครัว
  8. การถ่ายคลิปวิดีโอและนำไปเผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ต (Video recording of assaults) คือ การนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ตามที่ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความอับอายให้บุคคลนั้น
  9. การส่งสิ่งที่มีความล่อแหลมทางเพศ (Sexting) คือ การส่งข้อความ รูปเปลือยหรือรูปกึ่งเปลือยที่มีความล่อแหลมทางเพศให้กับผู้อื่น

 

 

การข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม Vs การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  • ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ

เหยื่อมักประสบปัญหาเรื่องความวิตกกังวลในการเข้าสังคม ซึ่งมีผลจากความหวาดระแวงที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้ก่อการข่มเหงรังแก และมีใครบ้างมีพบเห็นหลักฐานการรังแกบนอินเทอร์เน็ต เช่น รูปตัดต่อที่สร้างความอับอาย เหยื่อจะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้า ไร้พลังอำนาจ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดหรือยุติการข่มเหงรังแกได้ เห็นคุณค่าในตนเองลดลงจากความรู้สึกอับอายหรือการถูกเกลียดชัง ส่งผลให้เกิดความกลัว ความสิ้นหวัง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

  • ผลกระทบทางพฤติกรรม

การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ส่งผลให้เหยื่อขาดความสามารถในการจดจ่อหรือตั้งสมาธิ เพราะมีความหมกมุ่นและวิตกกังวลกับการถูกรังแก จนอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน หรืออาจรู้สึกอับอายหวาดกลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน ส่งผลต่ออัตราการใช้ยาเสพติด การโกงข้อสอบ เพิ่มอัตราการเข้าสถานพินิจ การถูกพักการเรียน และการพกอาวุธเข้ามาในโรงเรียน และมีความคิดหรือพฤติกรรมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในที่สุด

 

 

ลักษณะของเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  1. บุคคลที่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ โดยเด็กที่มีความพยายามอย่างมากในการปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อน ๆ ทางช่องทางสื่อสารในอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกข่มเหงรังแก
  2. บุคคลที่ชอบเล่นในเครือข่ายสังคมสังคมออนไลน์ นักเรียนที่เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 40% ขณะที่นักเรียนที่ไม่ได้เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 20% นอกจากนี้ วัยรุ่นที่ใช้ระบบการส่งข้อมูลทันทีหรือช่องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ซ้ำ ๆ มากกว่าบุคคลที่ไม่ใช้
  3. กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน อาทิ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และ Bisexual มีแนวโน้มที่จะเป็นเป้าหมายของการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เช่นเดียวกับการข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม มีงานวิจัยพบว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับการเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อความข่มขู่คุกคามจากคนแปลกหน้า

 

 

แนวทางการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  1. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการให้ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ ในการจัดการและรับมือเมื่อถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
  2. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางโรงเรียน มีการสร้างนโยบายสำหรับการรับมือ มีการวางระบบการรายงานเมื่อเกิดเหตุ ออกแบบโปรแกรมที่สอนนักเรียนเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย สอนวิธีการหลีกเลี่ยงและการใช้เทคโนโลยีเป็นแนวทางในการป้องกันและลดแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
  3. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางคุณครูและนักจิตวิทยาในโรงเรียน ครูต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกและการช่วยเหลือนักเรียนในห้องเรียน ส่วนนักจิตวิทยาโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมหรือการอบรมให้เด็กนักเรียนทั้งตัวเหยื่อและผู้ก่อการข่มเหงรังแก และสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวต่อตัวเด็กและผู้ปกครอง
  4. การให้ความช่วยเหลือผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เช่น www.isafe.org http://www.sticksnstones.co.nz/ http://www.childnet.com/resources/lets-fight-it-together ซึ่งประกอบด้วยวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ และมีชุดบทเรียนที่ช่วยให้นักเรียนได้อภิปรายร่วมกัน
  5. การให้ความช่วยเหลือผ่านนักจิตวิทยาการปรึกษา สำหรับเหยื่อ นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความชอกช้ำทางจิตใจและการฟื้นฟูทางจิตใจ สำหรับผู้ก่อการข่มเหงรังแก นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ จากนั้นจึงมุ่งเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองและทักษะการเข้าสังคม รวมถึงทักษะการควบคุมอารมณ์ การจัดการอารมณ์โกรธ และวิธีการแสดงความรู้สึกที่เหมาะสม

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์” โดย พิมพ์พลอย รุ่งแสง (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58264

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้