ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

28 Nov 2023 - 15 Feb 2024

ประกาศ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

ประกาศทุน

 

ด้วย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสรรทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยสูง ให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลิตผลงานวิชาการและผลงานวิจัยคุณภาพสูงร่วมกับคณาจารย์

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา วาระพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จึงกำหนดรายละเอียดการขอรับทุนอุดหนุนการศึกษา ไว้ดังนี้

 

 

1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567”

 

2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป

 

3. ผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน

 

3.1 วุฒิการศึกษา ตรงตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

 

3.1.1 จบการศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.2 กำลังศึกษาปีสุดท้ายในสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.3 นิสิตปริญญาโทคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกผ่าน และเปลี่ยนระดับเป็นปริญญาเอกภายในปีการศึกษา 2566

 

3.2 มีผลการเรียนสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ณ วันที่สมัคร และเมื่อสำเร็จการศึกษา

 

3.3 ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP ตั้งแต่ 75 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้นไป หรือ IELTS ตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

3.4 นิสิตต้องมีโครงร่างวิทยานิพนธ์ โดยมีจำนวนคำ ไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 คำ

 

3.5 นิสิตต้องมีอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกลงรับเป็นอาจารย์ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ตามแบบฟอร์ม

 

4. ผู้มีสิทธิ์รับทุน

 

4.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 3 และ

 

4.2 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่นิสิตสมัครเข้าศึกษาพิจารณาเห็นชอบให้ได้รับทุนนี้ และ

 

4.3 ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา ในปีการศึกษา 2567

 

5. เงื่อนไขการรับทุน

 

5.1 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาของการรับทุน (โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องใส่ชื่อนิสิตร่วมในการตีพิมพ์บทความทางวิชาการด้วย)

 

5.2 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 ปีหลังวันที่จบการศึกษา โดยผลงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

 

(1) ผลงานวิจัยตีพิมพ์ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอยู่ในฐานข้อมูล ISI/SCOPUS จัดอยู่ในลำดับควอไทล์ที่ 2 หรือเหนือกว่า ตามประกาศฉบับล่าสุดในการจัดลำดับวารสารของ Journal Citation Report – Clarivate Analytics (JCR) หรือ Scimago Journal & country (SJR)

 

(2) ในบทความที่ตีพิมพ์ นิสิตต้องระบุชื่อนิสิตผู้รับทุนเป็นชื่อแรก อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักเป็น corresponding author และระบุสังกัดว่า สังกัดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

5.3 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา การทำวิทยานิพนธ์ และการทำวิจัย โดยผ่านการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เพื่อพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนในภาคการศึกษาถัดไป

 

5.4 นิสิตต้องระบุการได้รับทุนสนับสนุนการศึกษา ในกิตติกรรมประกาศ ดังนี้

 

กิตติกรรมประกาศ ในวิทยานิพนธ์ ระบุดังนี้ “ขอขอบพระคุณคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการสนับสนุนทุนการศึกษา อันเป็นประโยชน์และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี”

 

กิตติกรรมประกาศ ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทุกประเภท ระบุดังนี้ “บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง………………………………………….. โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

6. จำนวนเงินทุน และระยะเวลาการรับทุน

 

6.1 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จำนวน 3 ทุน เมื่อนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรละ 1 ทุน โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 4 ภาคการศึกษา ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 35,000 บาท

ค่าธรรมเนียมพิเศษ ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 50,000 บาท

ผู้ได้รับทุนสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีได้ โดยได้รับการยกเว้นการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาผู้เข้าร่วมฟัง

 

6.2 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จำนวน 3 ทุน เมื่อนิสิตสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถยื่นขอรับทุนได้ในภาคการศึกษาถัดไปจากที่ได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษา ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 35,000 บาท

 

7. การระงับทุน คณะจิตวิทยาจะระงับการให้ทุน ดังนี้

 

7.1 พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต

 

7.2 ทุจริตในการสอบหรือคัดลอกผลงานวิชาการ

 

7.3 อยู่ในระหว่างการลาพักการศึกษา

 

7.4 นิสิตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับทุนตามข้อ 5

 

7.5 คณะจิตวิทยา เห็นสมควรให้ระงับทุน

 

8. การสมัครขอรับทุน

 

ให้นิสิตติดต่อฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

 

ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณบดีคณะจิตวิทยา

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้