ทำไมความต่างจึงนำไปสู่ความเกลียด : มุมมองเชิงจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives)

08 Jul 2019

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

หากเราสังเกตสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามีปรากฎการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นสองขั้วตรงข้าม เช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ Liberal-Conservative ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา Brexit Leave – Brexit Remain เป็นต้น

 

ซึ่งถ้าเราลองวิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่าการแบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสองขั้วแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโดยยึดทัศนคติ ความคิดและค่านิยมที่แต่ละกลุ่มยึดถือเป็นหลักในการจัดประเภท เรามักไม่ได้มองความแตกต่างนี้แบบเป็นกลาง ทว่าเราประเมิน ให้คุณค่าและใส่ความรู้สึกเข้าไปผูกติดว่าแบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดี หรือคนที่อยู่กลุ่มนี้จะเป็นคนดีและคนที่อยู่ในอีกกลุ่มจะเป็นคนเลว กลุ่มคนนี้รักชาติ กลุ่มคนนี้ชังชาติ

 

…เคยสงสัยกันรึเปล่าว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์เราแบ่งความแตกต่างออกเป็นขาว-ดำอย่างสุดขั้ว…

…แล้วทำไมเราถึงเกลียดคนที่ต่างจากเราแบบที่เราไม่มองเขาเป็นมนุษย์เหมือนเราเลยด้วยซ้ำไป…

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะประเมินว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่เหมือนเราเป็นคนดี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับคำว่า “ดี” ที่เราเคยเข้าใจ และก็ยากเสียเหลือเกินที่ความคิดความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนแปลงได้

 

กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเรานี้สามารถอธิบายโดยใช้หลักการทางจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives) ได้แก่ การแบ่งแยก (Splitting) การโยนความรู้สึก (Projection) และการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

หากวิเคราะห์ตามหลักการคิดแบบง่ายๆ นั้น การที่เรา “คิดหรือรับรู้” ว่าตนเองเป็นคนดี ก็เพราะว่ามีกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนเลวอยู่เพื่อให้เราเปรียบเทียบ แล้วเราพยายามเอาตัวเองออกมาให้ไกลและแตกต่างจากกลุ่มเลวให้มากที่สุด และจะพยายามอยู่ใกล้กับกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนดีให้มากที่สุด เพื่อให้เรารับรู้ว่าเราเป็นคนดี

 

ดังนั้นความแตกต่างในสังคมจึงเป็นเสมือนการแบ่งแยกให้รู้ว่านี่คือ “ฉันหรือพวกฉัน” ซึ่งต่างจาก “พวกเขา” เช่น การจะรับรู้ว่าเราเป็นกลุ่มคนที่รักชาติได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มคนที่เรารับรู้ว่าชังชาติขึ้นมาเปรียบเทียบ

 

ในขณะเดียวกัน เราจะพยายามลดความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล กลัวหรือคับข้องใจลง ซึ่งมีกระบวนการทางจิตใจตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ คือ การแบ่งแยกสิ่งที่เรารู้สึกดีและสิ่งที่เรารู้สึกไม่ดีภายในตนเองออกจากกันโดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า Splitting

 

หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายที่สุดคือ มนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่เรารู้สึกดีและรู้สึกไม่ดีในตัวเองผสมปนกัน แต่เรามักจะทนไม่ได้กับการที่มีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีในตัวเองเก็บไว้ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวง ดังนั้นเราก็จะโยนความรู้สึกที่ไม่ต้องการนี้ออกนอกตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนี้อยู่ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Projection หรือการโยนความรู้สึก แล้วเราจะโยนไปไหนล่ะ ก็โยนไปให้คนอื่น กลุ่มคนที่เหมาะมากที่จะเป็นเป้าหมายก็คือ กลุ่ม “พวกเขา” ที่ต่างจากเรา ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวงที่เคยมีในใจก็ถูกโยนออกไปกลายเป็นความเกลียด เกลียดกลุ่มคนที่แตกต่างที่เราโยนความรู้สึกของเราที่ไม่ต้องการไปสู่พวกเขา

 

ความเกลียด กลัว วิตกกังวลที่เราโยนออกไปสู่กลุ่มที่แตกต่างจากเราถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น สร้างความแตกต่างให้มีมากเกินความเป็นจริงจนกระทั่งทำให้เรามองกลุ่มคนที่เราโยนความรู้สึกที่ไม่ดีไปให้นั้นเลวร้ายจนไม่มีสิ่งที่ดีอยู่ภายใน ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เรารู้สึกดีและปลอดภัย เราก็โยนความรู้สึกที่ดีหรือคุณลักษณะที่ดีไปสู่กลุ่มที่เราระบุว่าเป็นกลุ่มของเรา รับรู้ว่ากลุ่มเราดีเกินกว่าความเป็นจริง เป็นกระบวนการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

กระบวนการข้างต้นจึงสามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันในสังคมว่า เพราะเหตุใดคนบางคนจึงเกลียดคนที่ต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ วัฒนธรรม ฯลฯ มากเสียจนไม่มองว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา ไม่สมควรที่จะโดนขู่ ขับไล่ ทำร้าย หรือถูกปฏิบัติเสมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์

 

การจะปรับให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการความคิดแบบนี้ คือ เราต้องถามตนเองว่าการที่เรามองคนอื่นว่าเขาเลว อันตราย น่ากลัว ความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน หรือเรากำลังโยนความรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวลที่เรามีในใจออกไปสู่คนอื่นอยู่รึเปล่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล ไม่ปลอดภัยเมื่อมีคนที่คิดเห็นต่างจากเรา แล้วความรู้สึกนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม คนที่เรามองว่าเป็นคนดีที่ไม่มีที่ติ เขาดีแบบนั้นจริงๆ หรือไม่ ความคิดนี้อยู่บนเหตุผลและหลักฐานตามความเป็นจริงแค่ไหน หรือเราแค่ทำให้คนนั้นหรือกลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มคนอุดมคติเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีที่เราก็อยู่ในกลุ่มนั้น

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักการวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจโดยที่เราไม่รู้ตัว (Unconscious process) ดังนั้นการวิเคราะห์นี้จึงไม่รวมกลุ่มคนที่ “เจตนา” ที่จะใส่ร้าย สร้างความแบ่งแยก ความเกลียดชัง หรือความกลัว เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ว่ากลุ่มคนที่คิดต่างจะมาทำลายค่านิยม วิถีชีวิตและความเชื่อที่เรามี ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

 

จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้จึงอยากชวนเราลองถามตนเองดูว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของคำพูดหรือสื่อจากคนที่ต้องการสร้างความกลัวเพื่อให้เราเกลียดคนบางกลุ่มหรือบางคนอยู่หรือไม่…

 

 

รายการอ้างอิง

 

Clarke, S. (1999). Splitting Difference: Psychoanalysis, Hatred and Exclusion. Journal for the Theory of Social Behaviour, 29(1), 21–35. https://doi.org/10.1111/1468-5914.00089

 

ภาพจาก https://clipartimage.com/clipart/9636-devlil-and-angel-clipart.html

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้