รักในวัยเรียน

08 Feb 2022

ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

“รักในวัยเรียน” ความรักในที่นี้หมายถึงความรักฉันชู้สาว หรือจะเรียกอีกอย่างก็คือ “การมีแฟนในวัยเรียน” ความรักต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นความรักความผูกพันกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น จะว่าเป็นธรรมชาติก็พูดได้เช่นกัน เพราะในวัยเด็กเริ่มรุ่น เด็กจะผูกพันสนใจใครบางคนเป็นพิเศษ ก็เนื่องมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนซึ่งจะหลั่งออกมาในช่วงของวัยเริ่มรุ่น 

 

นักจิตวิทยาบางท่านกล่าวว่า เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การตื่นตัวทางเพศและการเริ่มสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกว่า “ความรัก” ดังนั้นเมื่อเด็กวัยรุ่นที่เริ่มมีความรู้สึกอย่างนี้ เด็กวัยรุ่นก็จะคิดว่า “ฉันรักคนนี้แล้ว” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นความตื่นเต้น ความสนใจผิวเผินที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้าสังคมรอบตัวโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความรักและการมีแฟน” วัยรุ่นจะเกิดพฤติกรรมของการตามอย่างกันได้ง่ายขึ้น มีการเดินจับกันเป็นคู่ ๆ ถ้าคนไหนไม่มีแฟนคนนั้น “แปลก” หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าค่านิยมของกลุ่มสังคมที่เด็กวัยรุ่นอยู่เป็นลักษณะนี้ก็จะทำให้เด็กวัยรุ่นเกิดความรักในวัยเรียนหรือมีแฟนในวัยเรียนได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรักของเด็กวัยเริ่มรุ่นเป็นความรักที่ผิวเผิน เกิดเนื่องจากความตื่นตัวทางเพศและการทำตามอย่าง จึงทำให้ความรักในช่วงนี้เป็นความรักที่มีการเปลี่ยนแปลงง่าย ยังไม่ใช่ความรักที่คงทนถาวรเหมือนความรักของผู้ใหญ่ หรือที่เป็นความรักฝรั่งเขาเรียกว่า “Puppy Love” นั่นเอง

 

ความรักในวัยเรียนมีโอกาสของการเกิดขึ้นได้สูง เพราะร่างกายของช่วงวัยรุ่นจะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่จะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นเริ่มมีความสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษและถ้าสังคมรอบตัวของเด็กวัยรุ่นให้ค่านิยมต่อการมีแฟนก็จะยิ่งทำให้เด็กวัยรุ่น เกิด “ความรักในวัยเรียน” ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังเป็นโชคดีของผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่น นั่นก็คือมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาแล้วพบว่า ถ้าเราเบนความสนใจของเด็กวัยรุ่นให้ไปมุ่งสนใจทางอื่นที่มีประโยชน์ เช่นทางด้านการเรียนหรือทางด้านกีฬา ก็จะสามารถทำให้เด็กวัยรุ่นเบี่ยงเบนความสนใจโดยไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องทางเพศมากนัก จนไม่เกิด “ความรักในวัยเรียน” ที่ออกนอกลู่นอกรอยไป

 

 

ขั้นตอนของความรัก

 

ความรักที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ย่อมจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ คือในขั้นแรกจะเป็นความรักที่ซาบซึ้งหวาบหวาม ขั้นนี้เป็นช่วงของการรักกันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นระยะที่คนที่รักกันพยายามทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง มีการสร้างภาพที่ดีของตนเองขึ้นในสายตาของฝ่ายตรงข้าม เช่น พูดเพราะ แต่งตัวสวย ทำตัวดี ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะแรกของความรักหรือการเป็นแฟนกัน ในเด็กวัยรุ่นจะเห็นได้ชัดถึงการสร้างความผูกพันหวานซึ้งซึ่งกันและกันมีการโทรศัพท์หากันทุกช่วงเวลา มีข้อความหวาน ๆ ให้กันเป็นความรักและความลุ่มหลงผสมเข้าด้วยกัน ซึ่งในระยะนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่อาจมีการสร้างความผูกพันลึกซึ้ง หรืออาจถึงการมีเพศสัมพันธ์กันได้ อย่างไรก็ตามในระยะนี้จะอยู่ไม่นานนัก จากการศึกษาพบว่า จะอยู่ประมาณ 4-12 เดือน

 

ระยะที่สองเป็นระยะที่ตัวตนที่แท้จึงเริ่มปรากฏ นั่นก็คือหลังจากคบไปได้ระยะหนึ่ง ตัวตนที่แท้จริงจะปรากฏให้อีกฝ่ายได้เห็น การทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายจะลดลงระยะนี้วัยรุ่นจะปรับตัวต่อสภาพความเป็นจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการปรับตัวนี้จะนำไปสู่การเข้ากันได้หรือแตกกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับสภาพความเป็นจริงของอีกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

.

ส่วนในระยะสุดท้าย จะเป็นระยะที่ดูการเข้ากันได้ในสภาพที่ไกลตัวออกไป นั่นก็คือ จะดูสภาพของครอบครัวของแต่ละฝ่าย สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งถ้าคนที่รักกันสามารถผ่านขั้นที่ 3 ได้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน และเข้าสู่การอยู่ด้วยกันอย่างถาวร ก็จะอยู่ด้วยกันด้วยดี มีความสุข

 

 

ในระยะวัยรุ่น ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ ถ้าเกิดความรักขึ้นก็มักจะอยู่ในระยะแรก มีความหวือหวาของอารมณ์รักแรง โกรธแรง ซึ่งเป็นลักษณะของวัยรุ่น ดังนั้นความรักของเด็กวัยรุ่นจะเป็นความรักที่มีความผูกพันกันสูง เรียกว่าขาดกันไม่ได้ รวมทั้งรู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจเขาได้ดีกว่าคนที่เขารัก ดังนั้น การห้ามไม่ให้ “วัยรุ่นรักกัน” จะยิ่งทำให้วัยรุ่นเกิดความกดดัน มีการแอบพบกัน มีการโกหกผู้ปกครอง และเนื่องจากต้องหลบซ่อน แอบพบกันจึงทำให้การเรียนเสีย เรียนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปกครองควรพยายามเข้าใจเด็กวัยรุ่น พยายามให้พฤติกรรมของวัยรุ่นอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องห้ามแต่ควรจะประคับประคองให้อยู่ในพฤติกรรมที่เหมาะสม จะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหน้า

 

 

ทำไมรักของวัยรุ่นถึงยังไม่มั่นคง

 

ความรักของวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงมัธยมตอนต้น ซึ่งยังเป็นความรักที่เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น รู้สึกรักคนนี้ 2 เดือน พอพบคนใหม่เปลี่ยนไปชอบคนใหม่ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สำหรับเรื่องนี้ เราสามารถอธิบายพฤติกรรมของวัยรุ่นช่วงนี้ได้ในหลายประการคือ

 

ประการแรก วัยรุ่นในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนกลาง (อายุ 13-17 ปี) เป็นช่วงที่เด็กค้นหาความเป็นตนซึ่งความเป็นตนในที่นี้ก็คือ การค้นหาว่าเขาเป็นใครมีความสามารถแค่ไหนมีความต้องการอะไรในชีวิตที่แท้จริง ซึ่งการค้นพบตัวเองจะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงหรือการสังเกตคนรอบตัว ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนการรับรู้ตนเองและความต้องการของตัวเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนคนที่ตนเองรักเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตนในขณะนั้น และเมื่อวัยรุ่นค้นพบตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ความรักของวัยรุ่นจะมั่นคงขึ้น และไม่เปลี่ยนแปลงง่ายนัก

 

ประการที่สองก็คือ ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้น จะมีการติดยึดอยู่กับลักษณะภายนอก เช่น ชอบคนหล่อ ชอบคนสวย หรือชอบคนเก่ง ซึ่งยังไม่คำนึงถึงการเข้ากันไม่ได้ในความคิดและทัศนคติ ทำให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กันไม่นาน ซึ่งในเรื่องนี้นักจิตวิทยาพบว่า สัมพันธภาพจะยืนยาวได้ทั้งคู่จะต้องมีทัศนคติที่เหมือนกัน 75% หรือ 3/4 ของความคิดเห็นจะต้องเหมือนกัน จากลักษณะยึดติดกับลักษณะภายนอก และเด็กวัยรุ่นยังอยู่ในการค้นหาตัวเอง จึงทำให้ความรักที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นตอนต้นมีลักษณะไม่มั่นคง ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นจึงควรดูแลวัยรุ่นให้สายสัมพันธ์ในรูปของความรักของวัยรุ่นอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะพอควร อย่าปล่อยโอกาสที่มากเกินไป จนทำให้วัยรุ่นสามารถทำพฤติกรรมที่เกินเลย เพราะในช่วงวัยรุ่นยังเป็นความรักที่ไม่มั่นคง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็จะทำให้เสียหายด้วยกันทุกฝ่าย

 

 

ความรักกับเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน

 

ในช่วงวัยรุ่นเด็กจะเริ่มมีการตื่นตัวทางเพศ ซึ่งในระยะนี้อารมณ์ทางเพศของวัยรุ่นจะเปรียบเสมือนไฟที่ได้รับเชื้อเพลิงเข้าไปไฟก็จะลุกขึ้นโดยง่าย ดังนั้นความใกล้ชิด การสัมผัสที่เด็กวัยรุ่นมีให้กันจะเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงซึ่งพร้อมจะทำให้ไฟซึ่งก็คือพฤติกรรมทางเพศลุกขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มมีความรักก็ย่อมต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ตนรัก โอกาสของการเกิดพฤติกรรมทางเพศที่เกินเลย หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้อย่างไร สำหรับในเรื่องนี้มีผู้รู้หลายท่านแนะนำวิธีการในการแก้ปัญหานี้หลายประการ ประการที่สำคัญก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจของการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน

 

ในปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศตลอดจนเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไป เด็กรุ่นยุคใหม่มีการยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ชายจะยอมรับให้มีเพศสัมพันธ์กับคนรักมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม สังคมปัจจุบันยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมีมากขึ้น โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งนี้ ที่บ้านและโรงเรียนควรทำความเข้าใจให้วัยรุ่นได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาและความเสี่ยงต่าง ๆ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

 

 

ถ้าวัยรุ่นมีรักในวัยเรียนจะทำอย่างไร

 

ความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไปไม่พ้น ถ้าเราพบว่าวัยรุ่นเกิดความรักระหว่างกันและกันฉันหนุ่มสาวขึ้นในวัยเรียนเราจะทำอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะในช่วงวัยรุ่น “ความรักเปรียบเสมือนโคถึก” จะห้ามก็ไม่ได้ ซึ่งถ้าห้ามจะยิ่งเกิดการกดดันและเกิดพฤติกรรมหลบซ่อน เพราะวัยรุ่นเปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าเราไปห้ามไปขัดขวางไม่ให้เรือแล่น เรือก็จะแตก ดังนั้นเราจะถือหางเสือเรืออย่างไรที่จะทำให้เรือค่อย ๆ พยุงตัวไปได้จนกว่าจะผ่านกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้

 

ความจริงโดยธรรมชาติของวัยรุ่น ความรักส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน วัยรุ่นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนคนที่ตนรักไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อความรักเกิดขึ้น เราก็ควรเปลี่ยนกระแสความรักของวัยรุ่นให้เป็นกระแสความรักที่ดี หรือตามศัพท์สมัยใหม่ เรียกว่า “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” นั่นเอง

 

เราจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างไร จริง ๆ แล้วความรักจะเหมือนพลังงานที่มีแรงผลักดันหรือแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กอยู่ในห้วง “ความรัก” เราสามารถกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของความรัก และมีการทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อคนที่คนรัก เช่น จัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันกับคนที่เด็กรัก เช่น ช่วยกันเรียน ช่วยกันดูหนังสือ หรือทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมร่วมกันในทิศทางสร้างสรรค์นี้สามารถตอบสนองของการอยากอยู่ใกล้ชิดกันได้ ตลอดจนยังทำให้เด็กเรียนรู้นิสัยที่แท้จริงของกันและกันในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง รวมทั้งอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

 

 

ความรักเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเกิดในผู้ใหญ่ หรือในวัยเรียน ความรักจะสร้างประโยชน์มากมายถ้าเรารู้จักเปลี่ยนพลังงานที่เกิดจากความรักให้ไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม และเมื่อเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว พฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการให้เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น

 

 


 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้