ข้อควรคำนึงในการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมในผู้สูงวัยโรคซึมเศร้า

13 May 2024

นุสบา สมพานิช และ อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

 

โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้สูงวัย โดยความเสี่ยงของภาวะ นี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบุคคลมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป (World Health Organization, 2021) การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavior therapy; CBT) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการป่วย ซึมเศร้า ข้อดีของวิธีนี้คือเป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม จึงไม่มีการใช้ยาระงับอาการต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และถูกกล่าวว่าดีกว่าแนวการบำบัดอื่น ๆ เช่น เทคนิคการผ่อนคลาย การบำบัดด้วยจิตวิเคราะห์ หรือแม้แต่การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย (Huang et al., 2015)

 

 

การบำบัดด้วย CBT ในผู้สูงวัยนั้น มีขั้นตอนในการบำบัดที่เหมือนกับการบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มวัยอื่น ๆ แต่เนื่องจากผู้สูงวัยเป็นบุคคลในช่วงวัยที่ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย และมีความต้องการปรารถนาอันซับซ้อนแตกต่างจากกลุ่มวัยอื่น ๆ จึงมีข้อควรคำนึงถึงในการให้การบำบัดด้วย CBT กับกลุ่มผู้สูงวัย ดังนี้

 

ข้อแรก ความแตกต่างระหว่างวัย

 

ผู้ให้การบำบัดควรคำนึงถึงสภาพสังคม ความเชื่อ และแนวคิดที่ผู้สูงวัยถูกหล่อหลอมมา ว่ามีความแตกต่างจากคนอีกยุคสมัยหนึ่ง เช่น ผู้สูงวัยอาจจะไม่พูดหรือพูดเป็นนัยเกี่ยวกับปัญหาทางครอบครัวที่ตนเองประสบพบเจอ เนื่องจากเติบโตมาในสังคมที่ปลูกฝังว่าไม่ควรนำเรื่องครอบครัวไปพูดนอกบ้าน เมื่อมีความเข้าใจดังนี้แล้ว ผู้ให้การบำบัดจะประเมินความต้องการหรือนัยยะแฝงของผู้เข้ารับการบำบัดได้ดียิ่งขึ้น (Laidlaw et al., 2003; Laidlaw & McAlpine, 2008) นำไปสู่การหาข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของผู้สูงวัยผ่านบุคคลรอบข้างเพิ่มเติมจากการสอบถามจากผู้สูงวัยโดยตรงเพียงอย่างเดียว

 

ข้อต่อมา บุคคลผู้มีอิทธิพลทางใจต่อผู้สูงวัย (เช่น ลูก หลาน เป็นต้น)

 

ในการบำบัดผู้สูงวัย บางครั้งผู้ให้การบำบัดต้องคำนึงถึงบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อผู้เข้ารับการบำบัด เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าบุคคลดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบ่งชี้หนึ่งถึงความสำเร็จของการบำบัด (Koder et al., 1996; Laidlaw & McAlpine, 2008) ไม่ว่าจะโดยการพูดคุยเกลี้ยกล่อมให้ผู้สูงวัยเข้ารับการบำบัดจนครบกระบวนการ หรือการติดตามสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุเมื่ออยู่ในบ้าน

 

ข้อที่สาม การสร้างเป้าหมายของการบำบัด

 

เนื่องจากผู้สูงวัยอาจเผชิญความท้าทายจากการเสื่อมถอยของระบบการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาการทางสมอง ซึ่งเป็นภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปเมื่อบุคคลมีอายุที่มากขึ้น ในการบำบัดอาจจะเริ่มต้นที่การสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ ที่สามารถวัดให้เห็นถึงความสำเร็จได้ชัด โดยเป้าหมายที่ตั้งในช่วงแรก ๆ ให้เน้นไปที่เป้าหมายเชิงพฤติกรรมมากกว่าเป้าหมายเชิงความคิด เพราะเป็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ทั้งนี้ควรเน้นให้มีการเสริมแรงที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และควรกระตุ้นให้เกิดการทบทวนหรือกระทำซ้ำบ่อย ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างการแปรความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว (Koder et al., 1996; Mirowsky & Ross, 1992)

 

ข้อสุดท้าย ความสามารถทางด้านจิตปัญญา (Cognition) ของผู้สูงวัย

 

เนื่องจากผู้สูงวัยมีการเสื่อมถอยของการทำงานของร่างกายและสมอง ซึ่งส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์และอารมณ์ของผู้สูงวัย ผู้บำบัดจะต้องออกแบบ โปรแกรมการบำบัดโดยคำนึงถึงความสามารถด้านพัฒนาการของผู้เข้ารับการบำบัดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจัยนี้เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งถึงความสำเร็จของการบำบัด โดยมีงานวิจัยพบว่าหากผู้สูงวัยมีความบกพร่องด้านการคิดวิเคราะห์ การบำบัดด้วย CBT จะส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ มากกว่าการเปลี่ยนความคิดของผู้สูงวัย (Simon et al., 2015)

 

 

นอกจากนี้ในการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมควรมีการตระหนักถึงความท้าทายเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย เช่น

 

ประการแรก “ความเชื่อ” ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในผู้สูงวัย

 

ผู้สูงวัยที่มีความเชื่อดังกล่าว มักจะมีการรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้มากกว่าความเป็นจริง งานวิจัยของ Mirowsky & Ross (1992) ระบุว่าผู้สูงวัยมักจะรายงานถึงอาการทั่วไป เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ หรือปัญหาด้านการมีสมาธิจดจ่อ ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่จะรายงานถึงความคิดฆ่าตัวตายสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งหากผู้ให้การบำบัดไม่คำนึงถึงจุดนี้ อาจจะมีการตอบสนองต่ออาการบางข้อมากเกินพอดี โดยละเลยที่จะสังเกตและค้นหาปัญหาด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้ให้การบำบัดจะต้องให้การระมัดระวังในการประเมินความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายของผู้เข้ารับการบำบัดเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยต่อปัญหาอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่

 

ประการที่สอง “ความเชื่อ” ว่า ผู้สูงวัยไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้

 

ความเชื่อดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ให้การ บำบัดมีความพยายามในการให้บริการน้อยลงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้อัตราความสำเร็จของการบำบัดนั้นลดน้อยลงไปด้วย ปัจจุบันมีการศึกษามากมายที่ออกมายืนยันแล้วว่าผู้สูงวัยสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ และการทำงานของสมองในผู้สูงวัยก็สามารถถูกพัฒนาได้เช่นกัน (Depp et al., 2012; Laidlaw et al., 2003).

 

ประการที่สาม ความต้องการ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และคนที่เข้าใจ

 

มนุษย์ทุกกลุ่มอายุต่างต้องการที่จะได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ และมีคนที่เข้าใจด้วยกันทั้งนั้น ความต้องการนี้ไม่ใช่ข้อยกเว้นในกลุ่มผู้สูงวัย และเนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง อาจทำให้มีการสร้างความผูกพันกับผู้ให้การบำบัดง่ายกว่าบุคคลในช่วงวัยอื่น ๆ ความผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจนี้เป็นดาบสองคม ที่อาจผลส่งดีต่อกระบวนการระหว่างการบำบัด และอาจเป็นผลร้ายที่คาดไม่ถึงเมื่อการบำบัดสิ้นสุดลง เช่นผู้สูงวัยอาจจะย้อนกลับมามีอาการซ้ำอีกเพื่อให้ได้พบกับผู้บำบัดคนเดิม ทั้งนี้ ผู้ให้การบำบัดควรตั้งปณิธานและข้อตกลงระหว่างผู้ให้การบำบัดและผู้เข้ารับการบำบัดที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มให้การบำบัด และปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นอย่างเคร่งครัด ด้วยมาตรฐานตามวิชาชีพใน ฐานะผู้บำบัดของตน (Laidlaw & McAlpine, 2008)

 

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า CBT นั้นมีข้อดีต่อการบำบัดอาการซึมเศร้าในผู้สูงวัย ทั้งในแง่ประสิทธิผลและการไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม การให้การบำบัดความคิดและพฤติกรรมในผู้สูงวัยนั้นมีความละเอียดอ่อนและเฉพาะเจาะจงหลายประการ ผู้บำบัดหรือบุคคลในครอบครัวของผู้สูงวัยจึงควรทำงานร่วมกันกับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพัฒนาการ ความคิด และพฤติกรรมผู้สูงวัย เพื่อพัฒนาโปรแกรมการบำบัดเกิดประสิทธิผลและเหมาะสมกับวัยของผู้เข้ารับการบำบัด

 

 

หนังสือแนะนำ

 

Beck, J. S. (2011). Cognitive behavior therapy: Basics and beyond. The Guilford Press.

 

Laidlaw, K., Thomposom, L. W., Dick-Siskin, L., & Gallagher-Thompson, D. (2003). Cognitive Behaviour Therapy with Older People. John Wiley & Sons.

 

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (2562). ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 9.). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

References

 

Depp, C., Harmeell, A., & Vahia, I. V. (2012). Successful Cognitive Aging. Current Topics Behavior Neuroscience, 10(November 2011), 35–50. https://doi.org/10.1007/7854

 

Huang, T. T., Liu, C. B., Tsai, Y. H., Chin, Y. F., & Wong, C. H. (2015). Physical fitness exercise versus cognitive behavior therapy on reducing the depressive symptoms among community-dwelling elderly adults: A randomized controlled trial. International journal of nursing studies, 52(10), 1542-1552. https://doi.org/10.1016/j.ijnurstu.2015.05.013

 

Koder, D. A., Brodaty, H., & Anstey, K. J. (1996). Cognitive therapy for depression in the elderly. International journal of geriatric psychiatry, 11(2), 97-107. https://doi.org/10.3109/09638237.2014.971143

 

Laidlaw, K., & McAlpine, S. (2008). Cognitive Behaviour Therapy: How is it Different with Older People? Journal of Rational-Emotive & Cognitive-Behavior Therapy, 25, 250-262. doi: 10.1007/s10942-008-0085-6

 

Laidlaw, K., Thomposom, L. W., Dick-Siskin, L., & Gallagher-Thompson, D. (2003). Cognitive Behaviour Therapy with Older People. John Wiley & Sons.

 

Mirowsky, J., & Ross, C. E. (1992). Age and depression. Journal of health and social behavior, 187-205. https://doi.org/10.2307/2137349

 

Simon, S. S., Cordás, T. A., & Bottino, C. M. (2015). Cognitive behavioral therapies in older adults with depression and cognitive deficits: a systematic review. International journal of geriatric psychiatry, 30(3), 223-233. https://doi.org/10.1002/gps.4239

 

World Health Organization. (2021, October). Ageing and Health. World Health Organization. Retrieved May 10, 2022, from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageingand-health

 

 


 

 

บทความโดย

นุสบา สมพานิช นิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา แขนงวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และอาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้