แบบวัดทางจิตวิทยา

09 Jan 2018

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

 

หลาย ๆ คนคงจะเคยเห็นหรือเคยได้ลองตอบคำถามตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เมื่อคุณตอบคำถามเสร็จแล้ว คำตอบที่คุณได้จากคำถามเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่คุณอยากรู้ เช่น

 

  • คุณจะได้รู้ว่าคุณมีความเครียดหรือไม่
  • คุณมีบุคลิกภาพอย่างไร
  • มุมมองที่คุณมีต่อความรักเป็นอย่างไร

 

ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และในบางครั้งคุณอาจจะสังเกตเห็นว่าชุดคำถามบางชุดมีการใช้คำว่า “แบบวัดทางจิตวิทยา”

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร?


 

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วแบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และการสร้างแบบวัดทางจิตวิทยานั้นทำอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบวัดที่เราตอบกันอยู่นั้นบอกสิ่งที่เราต้องการจะรู้ได้อย่างแท้จริง แบบวัดทางจิตวิทยานั้นมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไร และแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยวิธีการวิจัยนั้นมีความแตกต่างอย่างไรจากแบบวัดที่เราเห็นกันทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ

 

แบบวัดทางจิตวิทยาเริ่มมีการใช้เมื่อประมาณสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ของแบบวัดทางจิตวิทยาในสมัยนั้นคือ ความต้องการที่จะประเมินความสามารถและศักยภาพของทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามว่ามีมากน้อยแค่ไหน ต้องมีการฝึกเพิ่มหรือลดอะไรหรือไม่ เพื่อให้การรบของทหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับในปัจจุบัน นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งเพื่อช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินพัฒนาการในเด็ก การประเมินสภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งความสุข เป็นต้น

 

นอกจากนี้แบบวัดทางจิตวิทยายังถูกนำมาใช้ในบริษัทหรือในวงการธุรกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินความสามารถเพื่อคัดคนเข้าทำงาน หรือแม้แต่เพื่อเลื่อนขั้นให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือความคิดเห็นที่มีต่อบุคคลข้ามเพศ รวมไปถึงความคิดเห็นที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมของตนที่เกิดขึ้น และการวางแผนต่อสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น พฤติกรรมการดื่มเหล้าของตนเองในปัจจุบัน และการวางแผนที่จะเลิกดื่มเหล้าในอนาคต เป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างที่ นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการทำงาน

 

 

กว่าจะได้แบบวัดทางจิตวิทยามาหนึ่งชุด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยผู้พัฒนาแบบวัดนั้นต้องทำอะไรกันบ้าง?


ก่อนที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยจะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยา เพื่อประเมินอะไรสักอย่างขึ้นมาได้นั้น นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้น จะต้องมีการระบุความหมาย หรือพฤติกรรมที่เขาต้องการที่จะประเมินอย่างชัดเจนก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการที่จะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาวะความเครียด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้นจะต้องระบุให้ได้ก่อน ความเครียดในแบบวัดที่เขากำลังจะพัฒนาขึ้นนั้นคืออะไร ลักษณะอาการแบบไหนที่ฟ้องว่าคนกำลังเครียด และอะไรที่ไม่ใช่

 

การระบุความหมายหรือหาพฤติกรรมที่จะสื่อได้ถึงความเครียดนั้น ทำได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทฤษฎีทางวิจัย งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมา หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ จากนั้น เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัย สามารถระบุความหมายหรือคำอธิบายที่ชัดเจน สำหรับสิ่งที่เขาต้องการประเมินแล้ว ความหมายหรือคำอธิบายที่สร้างขึ้นจะถูกนำมาพัฒนาเป็นคำถามที่ใช้ในแบบวัด

 

คำถามที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้น ๆ บางคำถามอาจถามความถี่ของพฤติกรรมหรืออาการทางกายที่เกิดขึ้น เพื่อดูความเข้มข้นของสิ่งที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยต้องการจะศึกษา บางครั้งคำถามที่สร้างขึ้นอาจจะขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อดูมุมมองของผู้ตอบ เช่น แบบวัดความเครียดจะมีทั้งลักษณะคำถามที่ประเมินอาการทางกายที่อาจจะบ่งบอกถึงความเครียดที่เกิดขึ้น ว่ามีบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพื่อดูความเข้มข้นของความเครียดที่ผู้ตอบมี และยังมีคำถามที่ขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อว่า ตนมีความคิดหรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือไม่ เพื่อดูว่าผู้ตอบรู้สึกถึงระดับความเครียดของตัวเองหรือไม่

 

เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้คำถามที่จะนำมาใช้ในแบบวัดทางจิตวิทยาแล้ว แบบวัดชุดนั้นจะถูกนำมาทดสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางสถิติ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาอย่างเป็นระบบ ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ เพื่อพัฒนาให้แบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพ สามารถประเมินสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยมักจะต้องทำเพื่อพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

 

คุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

ในการสร้างหรือการพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่งนั้น การทดสอบคุณภาพของแบบวัดเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคำตอบที่ได้จากแบบวัดนั้นเป็นอย่างที่ผู้ตอบเป็นอยู่หรือคิดอยู่จริง ซึ่งการทดสอบนั้นอาจจะถูกทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติ และรวมไปถึงการวิเคราะห์ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ คุณภาพของแบบวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ผลที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้ หรือแม้แต่คำตอบที่คุณได้จากแบบวัดชุดนั้น จะไม่อาจทำให้เราแน่ใจได้เลยว่า ผลที่ได้นั้นสะท้อนตัวผู้ตอบจริง ๆ ในทางจิตวิทยาหรือการวิจัยนั้น นักจิตวิทยาและนักวิจัยมักจะดูเรื่องใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เราเรียกกันว่า “ความตรงและความเที่ยง”

 

ความตรง หรือ validity ก็คือ แบบวัดนั้นสามารถวัดในสิ่งที่เราอยากรู้ได้จริง ๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันง่าย ๆ ก็อย่างเช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก คือเครื่องมือที่เราแน่ใจได้อย่างแน่นอนว่า มันจะบอกน้ำหนักของสิ่งที่วางอยู่บนเครื่องชั่งนั้นจริง ๆ ไม่รวน หรือว่ากลายไปวัดอย่างอื่นแทน ก็เหมือนกันกับแบบวัดทางจิตวิทยานั่นแหละ เราต้องการที่จะแน่ใจว่า แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นประเมินในสิ่งที่เราต้องการจะรู้จริง ๆ แบบวัดความเครียดก็สามารถประเมินความเครียดของผู้ตอบได้จริง

 

ความเที่ยง หรือ reliability ความเที่ยงจะบอกเราว่าผลที่ได้ออกมาจากแบบวัดชุดนั้น ถ้าเราตอบแบบวัดชุดนั้นซ้ำอีกครั้งจะได้ผลเท่าเดิมหรือไม่ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่าถ้าน้ำหนักของเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักเครื่องนั้นสักกี่ครั้ง ตัวเลขที่แสดงถึงน้ำหนักของเราก็ยังคงเป็นตัวเลขเดิมอยู่ตลอดนั่นเอง ไม่ใช่ว่าชั่งตอนเช้าได้ 60 กก. พอมาตอนบ่ายกลายเป็น 50 กก. แบบนี้แสดงว่าเครื่องชั่งหรือแบบวัดของเรามีปัญหาแน่นอน

 

ในทางการวิจัยและการพัฒนาแบบวัดเรามีวิธีการมากมายที่จะทดสอบเพื่อให้รู้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีความตรงจริงหรือไม่ และมีความเที่ยงหรือไม่ แล้วเราที่เป็นผู้ใช้จะรู้ได้อย่างไร?

 

โดยส่วนมากถ้าแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นผ่านการพัฒนาขึ้นมาด้วยการวิจัย ผู้พัฒนาจะมีการรายงานขั้นตอนในการสร้างแบบวัดพร้อมทั้งคุณภาพของแบบวัดด้วย ซึ่งถ้าแบบวัดชุดนั้นมีการเผยแพร่สู่สาธารณะชนหรือเป็นแบบวัดที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รายงานการสร้างแบบวัดก็ควรจะต้องมีอยู่คู่กับแบบวัดชุดนั้น หรือไม่ผู้พัฒนาก็ควรจะต้องรายงานคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นไว้ด้วย

 

 

ประโยชน์ของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน โดยใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ในผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นในเด็กหรือในผู้ใหญ่ และใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในการศึกษาความคิดเห็นต่าง ๆ หรือแม้แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากในหมู่นักจิตวิทยา ในบริษัทต่าง ๆ หรือองค์การต่าง ๆ ก็มีการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาอยู่เช่นกัน เป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในองค์การนั้นก็มีหลากหลายกันออกไป อาจจะเพื่อการคัดเข้าทำงาน หรือเพื่อนำผลที่ได้จากแบบวัดทางจิตวิทยามาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลื่อนขั้น หรือย้ายตำแหน่งงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สามารถนำแบบวัดทางจิตวิทยาไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปได้ด้วย เช่น แบบวัดทางจิตวิทยาที่ใช้ในการประเมินความเครียด หรือความสุข แบบวัดเหล่านี้มักจะเป็นแบบวัดที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ผู้ใช้สามารถตอบและคำนวณคะแนนที่ได้จากแบบวัดชุดนั้น และนำคะแนนที่ได้ไปเทียบกับผลเพื่อแปลความหมายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ใช้อาจจะใช้คะแนนที่ได้จากแบบวัดเหล่านี้ มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยให้ตระหนักและเข้าใจสภาพทางจิตใจของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมตัว หรือเตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากสภาพทางจิตใจที่เป็นอยู่ได้

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำแบบประเมินความเครียด ที่มีคำถามเกี่ยวกับความคิด หรือมุมมองต่าง ๆ ที่คุณมีต่อตัวของคุณเอง โดยคำถามเหล่านี้เป็นความคิดที่นำไปสู่สภาวะความเครียด และพบว่า คะแนนที่คุณได้นั้นแสดงถึง สภาวะความเครียดในระดับสูง สิ่งนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณตระหนักกับตนเองได้ว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคุณเครียด แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของคุณนั้น อาจจะกำลังส่งผลกระทบต่อระบบความคิดและความรู้สึกของคุณอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นคุณอาจจะต้องคอยสังเกตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพื่อคอยผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดลงบ้าง หรือเตรียมเข้าพบนักจิตวิทยาการปรึกษา หากพบว่าความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและจิตใจของคุณ เป็นต้น

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาในนิตยสารหรือในเว็บไซต์ต่าง ๆ แตกต่างอย่างไรกับแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาตามแนวทางการวิจัย?


 

แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้น เคยมั้ยที่รู้สึกว่า เวลาอ่านคำถามและคำตอบแล้วเราไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่า คำถามนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความเครียด หรือการถามแบบนี้จะช่วยบอกอะไรเกี่ยวกับรูปแบบความรักของเราได้ นั่นเป็นเพราะว่าคำถามนั้นอาจยังไม่มีความชัดเจนพอ แต่สำหรับแบบวัดทางจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นมานั้นประโยคที่ใช้เป็นคำถามจะมีความชัดเจน ไม่มีความกำกวม หรือพาให้เคลือบแคลงว่า ข้อคำถามเหล่านี้จะสามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้จริง ๆ หรือไม่

 

นอกจากนี้แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้มีการบอกถึงคุณภาพของแบบวัดชุดนั้น นั่นก็คือความตรงและความเที่ยงที่ได้เคยพูดถึงไปแล้ว รวมไปถึงการอธิบายขั้นตอนในการพัฒนาแบบวัดชุดนั้นว่าทำมาอย่างไร ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างใด ซึ่งส่วนนี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า คำตอบหรือผลที่ได้จากการแปลผลแบบวัดนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบหรือไม่ ซึ่งในขณะที่แบบวัดทางจิตวิทยาที่ผ่านการสร้างหรือการพัฒนาด้วยวิธีดำเนินการวิจัย มักจะต้องมีการรายงานขั้นตอนการสร้างและคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นด้วย ดังนั้นผู้ใช้ก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าผลหรือคำตอบที่ผู้ตอบได้จากการทำแบบวัดชุดนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้