เมื่อบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และพ่อแม่ต้องกลายเป็นครูจำเป็น

12 Jun 2020

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

สถานการณ์โลกเราในยามนี้ที่มีโควิด-19 นั้นทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบด้าน สำหรับครอบครัวที่มีลูก ๆ วัยเรียนแล้ว เรื่องใหม่ที่ต้องเจอก็คือบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และการเรียนในระบบของเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากหน้าจอ หรือมาจากแบบฝึกหัดที่คุณครูส่งมาให้ โดยพ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นคุณครูจำเป็น ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะพ่อแม่ยังต้องทำงาน และการเรียนรู้ของเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราควรจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

 

อย่าคาดหวังความเพอร์เฟกต์ ก่อนอื่นเลย ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมใจให้พร้อม ว่าบ้านไม่ใช่โรงเรียน และเราไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ ทั้งในแง่ของเวลา เงินทอง และอุปกรณ์ แต่เราสามารถทำให้ดีที่สุดตามความสามารถของเราและลูกได้ในสถานการณ์เช่นนี้

 

วางแผน แต่ละบ้านต่างก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ห้องหับภายในบ้าน เรื่องเวลางานของพ่อแม่ หรือแม้แต่เรื่องเทคโนโลยี เราจึงควรวางแผนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในบ้าน อย่างเรื่องเวลา หากพ่อแม่สะดวกช่วยเรื่องเรียนลูกได้ 1-2 ชั่วโมงในวันทำงาน ก็จัดชั่วโมงเพิ่มไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น หากการเรียนผ่านทางออนไลน์เป็นปัญหาสำหรับครอบครัว เราก็อาจต้องกลับมาใช้แบบฝึกหัดแบบกระดาษหรืออ่านหนังสือแทน ดูออนไลน์หรือค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตร่วมกับลูกบ้างเท่าที่จำเป็นเพื่อการตรวจสอบข้อมูล หากโรงเรียนต้องการให้ส่งการบ้านทุกวัน แต่ด้วยตารางแล้วไม่สามารถจัดได้ ก็คุยกับคุณครูให้เคลียร์ ช่วยกันหาแนวทางที่จะทำได้ ที่สำคัญไม่ควรไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่น ๆ เพราะแต่ละครอบครัวล้วนมีปัจจัยไม่เหมือนกัน

 

เวลาคุณภาพ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านกังวลว่าเวลาที่ให้กับลูกในการเรียนที่บ้านนั้นจะน้อยไป ขอให้นึกไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาคุณภาพ (quality time) นั้นสำคัญกว่าเวลาจำนวนมาก อีกอย่างหนึ่ง การเรียนในบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบตัวต่อตัว ซึ่งเด็กจะได้รับความสนใจจากเราอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการเรียนในโรงเรียนที่ครูจะต้องแบ่งความสนใจให้เด็กหลายคน ดังนั้นเพียง 1-2 ชั่วโมงในการเรียนรู้ในบ้าน ก็พอจะเทียบเคียงกันได้

 

เด็กมีความสามารถในการให้ความสนใจจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า (attention span) ได้ดีขึ้นตามอายุ หากอยากทราบว่าลูกเราสามารถนั่งทำกิจกรรมได้นานเท่าไร วิธีคำนวณคือ ให้เอาอายุลูก คูณด้วย 2-3 นาที คือ หากมีลูกอายุ 3 ขวบ เด็กจะสามารถทำกิจกรรมตรงหน้าได้นานประมาณ 6-9 นาที จากนั้นต้องหาอะไรอย่างหนึ่งมาทำแก้ขัดก่อน เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กก็เป็นร้องเพลง ชวนคุยเรื่องอื่น เป็นต้น แล้วค่อยพาลูกกลับมาสู่กิจกรรมที่ต้องการอีกครั้ง หากเป็นกิจกรรมที่ยาก พ่อแม่อาจจะช่วยแนะวิธีคิดเป็นขั้น ๆ ว่าทำอะไรก่อนหลัง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเครียด พ่อแม่จึงไม่ควรตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก

 

บรรยากาศสำคัญ หลายครั้งที่การสอนการบ้านหรือนั่งเรียนกับลูกกลายเป็นเรื่องเครียด เพราะเราไปตั้งความหวังกับลูกมากเกินไป พ่อแม่ผู้ปกครองอาจรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ลูกคิดไม่ได้ ทำไมลูกไม่ตั้งใจ จนบรรยากาศเริ่มเสีย พ่อแม่ก็ไม่สนุก ลูกก็ไม่สนุก ขอให้เอาใจเราไปใส่ในใจลูกให้มาก ๆ เด็กอย่างไรก็คือเด็ก ที่ต้องการการเล่น หากเราอยากให้เด็กเรียนรู้ ก็ต้องทำให้การเรียนสนุกและเหมือนการเล่น เช่น ทำเหมือนเป็นเกมโชว์ แปลงเป็นการเล่านิทาน หรือแสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น ดังนั้น ต้องไม่เครียด บรรยากาศที่ดีสำคัญมาก

 

ธรรมชาติของคนเราจดจำอารมณ์ความรู้สึกได้เก่งมาก ถ้าเรียนแล้วสนุก การเรียนรู้ของเด็กจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเขาก็จะรักการเรียนรู้ แต่หากถูกตำหนิอยู่เสมอ เด็กก็จะมีรอยประทับของความรู้สึกแย่ ๆ นี้ติดตัวเขาไปตลอด อาจทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการเรียน และตำหนิตัวเองว่าไม่เก่ง ทำไม่ได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการตัวเด็กเอง

 

สร้างแรงผลักดันจากภายใน เด็กจะพัฒนาตัวเองได้ดี ถ้ามีความสุขกับกิจกรรมที่ได้ทำ ทำแล้วอิน อยากจะเรียนรู้เพิ่ม อยากจะเก่งขึ้นด้วยตนเอง แบบนี้เรียกว่ามีแรงผลักดันจากภายใน คือมี passion การเรียนรู้ที่มาจากความชอบเช่นนี้ จะทำให้เด็กพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่โดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นทักษะที่เฉพาะตัวนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้ พ่อแม่จึงควรพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกชอบและสนใจ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำให้สุดความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่ลูกชอบจะเป็นเรื่องไร้สาระหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกยุคใหม่หมุนไปเร็วมาก จะมีอาชีพแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายที่เราไม่สามารถเอาบรรทัดฐานของยุคสมัยเรามาวัดได้ ดังนั้นลูกอยากทำอะไรก็ส่งเสริมและให้กำลังใจ ไม่ควรไปห้ามปรามให้ต้องทะเลาะบั่นทอนความสัมพันธ์กัน

 

พ่อแม่หลายท่านอาจเคยได้ทราบเรื่องการส่งเสริมโดยการให้รางวัล การให้รางวัลนั้นได้ผลดี แต่จะให้ผลเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น พ่อแม่อาจใช้รางวัลเพื่อช่วยดึงความสนใจให้เด็กทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ เมื่อลูกเริ่มปรับตัวกับงานที่ไม่ชอบได้ดีขึ้นบ้างแล้ว รางวัลอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป การให้รางวัลที่มากและบ่อยเกินไปอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อกับการทำกิจกรรมนั้น หากเด็กไม่ชอบวิชาเลข พ่อแม่บอกว่าถ้าทำเกรดได้ดีจะให้รางวัลเป็นสิ่งของ แต่เมื่อผลการเรียนเลขดีขึ้น ลูกอาจจะรู้สึกดีกับวิชานี้ขึ้นมาบ้าง เริ่มมีความมั่นใจแล้ว ก็ให้กำลังใจให้พยายามต่อด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าตั้งใจ ก็จะเก่งขึ้นได้ เรียกว่ามี growth mindset

 

เรียนรู้จากลูก อาจเรียกได้ว่า วิกฤตินี้โควิดอาจเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักกับลูก ว่าแท้จริงแล้วลูกชอบหรือสนใจอะไร และเน้นการสอนทักษะชีวิตให้ลูก เป็นเรื่องที่พ่อแม่สนใจก็ได้ ซึ่งเป็นความรู้นอกตำรา แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น การรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์ตัวเอง การสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ รับฟังผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดในภาวะนี้คือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่สามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำอยู่แล้วในบ้าน มาประยุกต์สอนลูก ๆ เช่น การซ่อมแซม บำรุงรักษาข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน การประหยัดอดออม การค้าขาย เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านปรับตัวปรับใจให้รับกับสถานการณ์โควิด – 19 นี้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่บ้านด้วยกัน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกันให้มาก ๆ เพื่อก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้

 

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/free-photos-vectors/education

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้