โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

14 Apr 2020

ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

 

บุคคลที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist คือ บุคคลที่ตั้งมาตรฐานกับตัวเองและคนรอบข้างเอาไว้สูง และมักไม่ยอมยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนง่าย ๆ โดยเรียกว่า เป็นคนที่ต้องการให้ทุกอย่าง perfect โดยหลายคนเชื่อว่าการคาดหวังความสมบูรณ์แบบเป็นคุณสมบัติที่น่าพึงปรารถนา เพราะคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบน่าจะมีความ เพียรพยายาม ทุ่มเททำสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุด ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุก ๆ ด้าน

 

นักจิตวิทยาพบว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเสมอไป เนื่องจาก การคาดหวังความสมบูรณ์แบบมักจะเป็นแรงผลักดันให้คนเราทำงานหนัก ตั้งอกตั้งใจทำดีที่สุด ซึ่งย่อมทำให้ประสบความสำเร็จสูงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การเล่นกีฬา ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หากสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการคาดหวังความสมบูรณ์แบบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และบนมาตรฐานที่เป็นไปได้

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังพบว่า คนที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบโดยส่วนใหญ่นั้นจะตั้งมาตรฐานสูงจนเกินจริง ทั้งยังมีความคิดแบบขาวดำในการตัดสินความสำเร็จ คือ ถ้าไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ก็จะมองว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลายคนถึงกับเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ กล่าวคือถ้าทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ ก็จะรู้สึกตัวเองมีคุณค่า แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไร้ความสามารถ

 

ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบไม่พึงพอใจอะไรง่าย ๆ แม้แต่ตัวพวกเขาเอง บางคนใช้เวลากับการทำงานชิ้นหนึ่ง ๆ มากเกินความจำเป็น เพราะแม้จะทำได้สำเร็จแล้วก็ยังไม่พึงพอใจ จนงานเสร็จช้ากว่ากำหนด บางคนถึงกับไม่ยอมลงมือทำงานเพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี การมีนิสัยคาดหวังความสมบูรณ์แบบจึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานมากกว่าที่จะช่วยให้งานออกมาดี

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบมากเกินจริงจึงมักอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลได้ง่าย และบางรายอาจถึงกับคิดฆ่าตัวตาย เมื่อเห็นว่าตนเองไม่สามารถเป็นได้อย่างอุดมคติที่อยากจะเป็น อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความสุข

 

 

ลักษณะนิสัยของคนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)


 

นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบไว้ 3 แบบ ซึ่งคนคนหนึ่งอาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีทั้งสามอย่างอยู่ในตนเองก็เป็นได้ ดังนี้

  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง
  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในคนอื่น
  • การคิดว่าคนอื่นคาดหวังให้ตนสมบูรณ์แบบ

 

 

ปัญหาของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง


 

 

ปัญหาที่ 1 คือ การตั้งมาตรฐานสำหรับวัดความสำเร็จสูงเกินกว่าความเป็นจริง

 

โดยคนทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเองย่อมต้องตั้งเป้าหมายของสิ่งที่จะทำให้สูงเข้าไว้ก่อน เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาตนเอง แต่การตั้งเป้าหมายให้สูงนั้น ต้องมีความสมเหตุสมผล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ หากสูงเกินไปจนไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็อาจหมดแรงจูงใจได้ ทว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจะตั้งเป้าหมาย หรือมาตรฐานในการวัดผลความสำเร็จที่สูงเกินเอื้อมอยู่เสมอ แถมยังคิดหมกมุ่นอยู่แต่ผลลัพธ์มากกว่าสนุกกับกระบวนการทำงานอีกด้วย

 

ซึ่งบุคคลประเภทนี้จะมองไปที่ผลลัพธ์ว่าเขาอยากเป็นอย่างไร อยากได้อะไร มากแค่ไหน ดีแค่ไหน แต่ไม่ได้นำประสบการณ์ในอดีต หรือความเป็นไปได้อื่น ๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เช่น บุคคลหนึ่งอยากทำงาน 20 ชิ้นให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว แต่ลืมพิจารณาว่าในอดีตทำได้อย่างมากวันละ 12 ชิ้น หรือคนทั่วไปทำได้มากที่สุดแค่ 10 ชิ้นเท่านั้น เมื่อเป้าหมายหรือมาตรฐานสูงเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริง บุคคลนี้จึงต้องหักโหมทำงานอย่างหนัก เหนื่อย ไม่สนุก แล้วก็ต้องเผชิญกับความผิดหวัง เป็นต้น

 

นักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อจะตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งใด เราควรประเมินความสามารถของตัวเองตามความเป็นจริง อย่าฝืนตัวเอง เพื่อลดแรงกดดัน เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สนุกกับการทำงาน และมีลุ้นที่จะทำสำเร็จให้ได้ชื่นใจ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับเป้าหมายที่ยากจะทำได้สำเร็จ

 

ปัญหาที่ 2 คือ การไม่พึงพอใจในความสำเร็จที่ไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย

 

มักคิดหมกหมุ่นอยู่กับความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง อยากให้ตนเองเป็นคน Perfect นั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องตั้งมาตรฐานไว้สูง และกดดันตัวเองให้ทำให้ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับคนที่มีลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่เขาเรียกว่า “ความสำเร็จ” นั้นมีอย่างเดียว คือสมบูรณ์แบบตามที่ตั้งมาตรฐานเอาไว้ หากมีข้อผิดแม้แต่จุดเดียว นั่นคือ “ความล้มเหลว” แม้ว่างานนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามไปเรียบร้อยแล้ว หากมีที่ติสักนิด คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบก็จะคิดวนเวียนอยู่แต่ความผิดพลาดเหล่านั้น เฝ้าโกรธตัวเอง โทษตัวเอง จนบางทีก็ไม่ได้ชื่นชมกับความสำเร็จของตนเองเลย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้ ให้ลองคิดถึงแง่บวก หรือด้านที่ประสบความสำเร็จของสิ่งที่ตนทำ แล้วถามตัวเองว่า สิ่งที่ผิดพลาดนั้น มันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่ โดยคนอื่นคิดว่ามันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่

 

ปัญหาที่ 3 คือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตัวเอง มีความกลัวความล้มเหลว และกลัวการผิดพลาด

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจำนวนมากไม่ได้ถูกผลักดันด้วยแรงจูงใจที่อยากจะประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง ที่คนเหล่านี้พยายามทุ่มเททำงานหนักให้สมบูรณ์เต็มร้อย ก็เพราะกลัวความผิดพลาดและล้มเหลว เพราะคนเหล่านี้มักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จ และ ความสำเร็จสำหรับคนเหล่านี้ คือต้องได้ตามที่ตั้งเป้าไว้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หากเกิดข้อผิด พลาดเล็กน้อย ก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวทันที และยังส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าในตนเองลดลงไปด้วย บางครั้งความกลัวดังกล่าวก็มีความรุนแรงมาก จนทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรนอกเหนือจากกรอบหรือวิธีการที่เคยประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างก็ไม่ตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะเลือกทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อต้องลงมือทำงาน ก็ลังเล ไม่กล้าลงมือ เพราะมัวแต่กังวลว่าทำแล้วจะไม่ดี จะไม่สำเร็จ

 

บางคนเลยเลือกที่จะหนีไปจากความกลัวเหล่านี้ด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ทำงานเสียเลย เพราะตราบใดที่ยังไม่ลงมือทำ ก็ไม่ต้องเสี่ยงที่จะผิดพลาด ความกลัวเช่นนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะแทนที่คนเหล่านี้จะนำศักยภาพของตนออกมาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ ก็กลับถูก “ความกลัวว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ” ขัดขวางไม่ให้ลงมือทำอะไรเลย

 

นอกจากนี้ การไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าลงมือ และไม่กล้าเสี่ยงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน ยังทำให้เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงจัดว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานและพัฒนาตนเองด้วย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า เราควรเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อความผิดพลาดเสียใหม่ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้ ถ้าเกิดความรู้สึกกลัว ๆ กล้า ๆ ไม่ลงมือทำเสียที ก็ลองกำหนดเวลาที่จะทำสิ่งนั้นให้ชัดเจน เช่นวันนี้ สองชั่วโมง และลงมือทำเลย

 

ปัญหาที่ 4 คือ การตกอยู่ในภาวะตึงเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า จนกระทั่งอาจคิดฆ่าตัวตายได้

 

ในคนทั่วไป การประสบความสำเร็จย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองดี มีคุณค่า และการประสบความล้มเหลวก็ย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า หรือคิดว่าคนอื่นจะไม่รัก แต่คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง ซึ่งตั้งมาตรฐานกับตนเองไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง ย่อมมีโอกาสที่จะทำได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ่อยกว่าคนทั่วไป

 

นอกจากนี้ คนเหล่านี้ ซึ่งมักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จชนิดสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เมื่อประสบความล้มเหลวยังมักโทษตัวเอง โกรธตัวเองอย่างรุนแรงอีกด้วย บางคนเชื่อว่า การเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ตนมีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น ทุกครั้งที่ทำอะไรผิดพลาด ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

 

นักจิตวิทยาพบว่า ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก เพราะไม่สามารถเป็นคนที่ “สมบูรณ์แบบ” อย่างที่ตัวเองตั้งมาตรฐานเอาไว้ได้ บางครั้งอาจเข้มข้นมากจนนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้

 

โลกนี้มีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่มากมาย เนื่องจาก มาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ เลิกกลัวความผิดพลาด กล้าที่จะลองผิดลองถูก ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น ความสำเร็จหรือการเป็นคนดีมีคุณค่าไม่จำเป็นต้องปลอดจากความผิดพลาดเสมอไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้