ทำไมเราจึงกักตุนอาหาร

08 May 2020

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

 

ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศไทย ผู้คนตื่นตัวกับข่าวสาร ทำให้สินค้าหลายตัวเป็นที่ต้องการอย่างมากจนขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันเชื้อโรค หรืออุปกรณ์วัดไข้ ต่อมาเมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็ทำนายกันว่าจะมีการล๊อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวในไม่ช้า ผู้คนจึงเริ่มกักตุนอาหาร เกิดเป็นภาพชั้นวางของกินในซุปเปอร์มาเก็ตตลอดจนร้านสะดวกซื้อว่างโล่งเพราะพนักงานเติมสินค้าไม่ทัน

 

บทความนี้จะมาชวนดูกันว่าความคิด ความรู้สึกแบบไหน ที่ทำให้คนตื่นตัวที่จะกักตุนสินค้า ในช่วงที่ผ่านมาบ้าง

 

กักตุน (hoard) นอกจากความหมายในพจนานุกรมที่แปลว่า เก็บไว้ในที่ที่กำหนด (กัก) เพื่อไว้ใช้ในอนาคตหรือเวลาขาดแคลน (ตุน) ยังมีความหมายทางกฎหมาย คือ การกักเก็บสินค้าไว้ไม่นำออกมาขายตามปกติเพื่อเก็งกำไรไว้ขายเมื่อสินค้าขาดตลาด ในขณะที่ภาษาอังกฤษ hoard หมายถึง การสะสมจำนวน มาก ๆ ซึ่งมักจะไม่ใช่การสะสมแบบเปิดเผย ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น อยู่ในภาวะสงคราม มีโรคระบาด หรือแค่ไม่ยอมทำความสะอาด หรืออาจมีสาเหตุมาจากอาการทางจิตอื่น ๆ ก็ได้

 

โดยสำหรับสถานการณ์ COVID-19 ก็จะขอให้ ความไม่แน่นอน (uncertainty) เป็นตัวแทนหลักของสถานการณ์นี้ จากการที่เราไม่แน่ใจในข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการอยู่ การกิน การเรียน การเดินทาง และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะมีข่าวจริงข่าวปลอมที่คอยสร้างความกังวลอีกแรงหนึ่ง ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลนี้ แต่ละบุคคลได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และมีวิธีการและความสามารถในการจัดการกับความเครียดแตกต่างกันออกไป ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ ทำให้เราเหลือตัวเลือกในการจัดการความเครียดได้ไม่มากนัก เช่น เราไม่สามารถไปออกกำลังกาย หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้เหมือนปกติ เป็นเหตุบังคับให้เราต้องอยู่กับปัญหา และจัดการความเครียดที่ตัวปัญหา ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ ติดตามข่าวสาร และสำรองอาหารของใช้ เมื่อเราเตรียมตัวสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคตส่วนหนึ่งแล้ว เราจึงเริ่มหาวิธีผ่อนคลายความเครียดอื่น ๆ เช่น เล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังภายในบ้าน เป็นต้น

 

ที่จริงแล้วนักจิตวิทยามองว่า การสำรองอาหารและเครื่องใช้ เป็นวิธีการหนึ่งในการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่เหมาะสม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะอารมณ์ จากความกดดันของสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการซื้อ อาจทำให้เรายอมซื้อของแพงกว่าปกติ หรือซื้อมากกว่าที่เราจำเป็น นักจิตวิทยาเรียกการจับจ่ายภายใต้ความกดดันนี้ว่า panic buying ซึ่งเป็นคำที่ทางนักจิตวิทยายืมมาจากกลุ่มนักลงทุน โดย panic buying ของนักจิตวิทยาจะอธิบายถึงการซื้อที่อยู่ภายใต้แรงกดดัน ยกตัวอย่างความกดดันในสถานการณ์ทั่วไป เช่น การที่เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ แต่เราชื้อมาเพราะว่ามันมีโปรโมชั่น Flash sale 1 แถม 1 สินค้าจำนวนจำกัด ฯลฯ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าไม่ซื้อตอนนี้จะเสียโอกาส เมื่อเกิดความคิดอย่างนั้นแล้วก็อาจทำให้เสียการไตร่ตรองส่วนอื่น ๆ ไปจนตัดสินใจซื้อสินค้ามา

 

สำหรับความกดดันในสถานการณ์ COVID-19 เราก็จะกดดันเพราะจำเป็นต้องมีมาสก์ เจล และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะติด COVID-19 ได้ หรือเราจำเป็นจะต้องออกไปซื้ออาหารมาตุนไว้เพราะไม่รู้ว่าห้างจะถูกปิดไหม หรือจะออกจากบ้านไม่ได้ไปอีกนาน เป็นต้น โดยนักจิตวิทยาได้อธิบาย panic buying ในสถานการณ์ COVID–19 ไว้ 3 ลักษณะ

 

  1. เป็นความขัดแย้งระหว่าง ความปรารถนาที่จะรักษากิจวัตรประจำวันปกติไว้ กับ ความไม่แน่นอนของมาตรการต่าง ๆ ที่อาจจำกัดการเข้าถึงเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ว่าจะมีระยะเวลา ถึงเมื่อใด ทำให้เกิดความกังวล จึงซื้อโดยปรารถนาเพื่อรักษากิจวัตรประจำวันไว้ให้ได้นานที่สุด
  2. ความเครียดจากการติดตามข่าวสารรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละวัน ยิ่งมีรายงานติดเชื้ออยู่ในจังหวัดเดียวกับเราหรือใกล้เคียงก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการ lock-down มากและยาวนานขึ้น ทำให้ต้องสำรองอาหารและของใช้จำเป็นสำหรับตนเองและคนในครอบครัวให้สอดคล้องกับความเครียดที่มี
  3. เป็นความรู้สึกสูญเสียความควบคุมสถานการณ์ในอนาคต (loss of control about the future) เมื่อไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรจะต้องทำอย่างไรเราก็จะสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไร ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันได้ง่าย โดยเฉพาะปัจจุบันเรารับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ได้รวดเร็วและกว้างขวางกว่าสมัยโรคระบาดอื่น ๆ เมื่อเราเห็นภาพผู้คนแออัดตามห้างเพื่อซื้อของใช้ต่าง ๆ เราก็อดตื่นตระหนกไปด้วยไม่ได้

หากจะจับจ่ายในช่วงนี้ก็อยากให้ทุกคนสำรวจความคิด ความรู้สึกตัวเอง ว่าเรามักจะหวั่นไหวตื่นตระหนก จากสื่อต่าง ๆ ที่เรารับเข้ามาหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ต้องใช้ความพยายามในการแยกแยะข่าวจริงข่าวเท็จ ก็ขอให้เรามีความตระหนักรู้ตัวว่าเราเกิดความตระหนกเมื่อใด จากสิ่งใด นอกจากนี้ก็อาจจะลองสำรวจตัวเองว่าของที่ซื้อมาแล้วและวางไว้ยังไม่ได้ใช้ ใครซื้อมา ซื้อมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ลำดับความสำคัญของของใช้ประจำวันใหม่ แล้วค่อยใส่หน้ากากพกเจลออกไปจับจ่าย ยิ่งมีคนไปด้วยก็จะช่วยลดความตระหนกได้ระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ต้องคิดคนเดียวซื้อคนเดียว มีคนช่วยกันกระตุกช่วยพิจารณา ก็หวังว่าจะจับจ่ายกันอย่างมีสติยิ่งขึ้น ไม่ใช่ช่วยกันตระหนกเป็นสองสามเท่านะครับ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sim, K., Chua, H. C., Vieta, E., & Fernandez, G. (2020). The anatomy of panic buying related to the current COVID-19 pandemic. Psychiatry Research, 288, 113015. https://doi.org/10.1016/j.psychres.2020.113015

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้