ลักษณะบุคคลที่อยู่ด้วยยากและวิธีการรับมือ

21 Dec 2020

ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

ตามปกติมนุษย์เราต้องการอยู่ใกล้ชิดบุคคลที่เป็นมิตร บุคคลที่มีความสุข มีความอบอุ่นปลอดภัยที่จะอยู่ใกล้ บุคคลที่มีความรักและความปรารถนาดีให้กับเรา อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องพบเจอกับบุคคลที่มีบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถเลือกได้ว่า เราจะพบคนประเภทหรือแบบใด

 

ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของบุคคลที่อยู่ด้วยยากหรือยากที่จะอยู่ด้วย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า toxic people หรือ toxic personality โดยในทางจิตวิทยาบุคลิกภาพเรียกว่าผู้มีบุคลิกภาพด้านมืดสามประการ (dark triad personality)

 

  1. พวกหลงตนเอง (narcissism) บุคคลประเภทนี้ จะต้องการการให้เกียรติอย่างมาก ต้องการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากคนอื่น คิดว่าตนเองมีความสำคัญ มีอำนาจ มีความงาม มีสติปัญญามากกว่าคนอื่น มองว่าตนเองมีเอกลักษณ์เหนือกว่าคนอื่น หรือมักยึดโยงกับบุคคลที่มีอำนาจหรือมีตำแหน่ง ต้องการการชื่นชมจากผู้อื่น ต้องการให้บุคคลอื่นเชื่อฟังตน หรือใช้ประโยชน์ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง
  2. พวกแมคไควิลเลียน บุคลิกภาพประเภทนี้มาจากนักการทูตชาวอิตาลีเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชื่อ Niccolò Machiavelli ที่เป็นผู้สังเกตว่า นักการทูตรอบตัวเขาหลายคนมีบุคลิกภาพแบบนี้ โดยบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคไควิลเลียนจะมีลักษณะที่มักทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยใช้ประโยชน์จากผู้อื่น เช่น อาจประจบเอาใจผู้มีอำนาจจนเกินงาม ไม่จริงใจ ทำผิดแต่ไม่รับผิดและพยายามเอาตัวรอด มีเล่ห์เหลี่ยม ถ้าสังคมหรือองค์การที่มีธรรมาภิบาล บุคคลประเภทนี้จะอยู่ยาก
  3. พวกไซโคพาธ (psychopath) บุคคลประเภทนี้จะไม่รู้สึกผิดเมื่อทำไม่ดีกับผู้อื่น ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อาจดูมีเสน่ห์ในเบื้องต้นแต่เมื่อคบไปนาน ๆ จะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือปัญหาตามมาได้ มักพบบุคลิกภาพแบบนี้ในฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer)

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าบุคลิกภาพด้านมืดทั้งสามประเภทจะทำให้บุคคลแวดล้อมไม่มีความสุข นอกจากนี้ยังมีลักษณะนิสัยอื่น ๆ อีกที่ยากต่อการที่บุคคลทั่วไปจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น คนที่เห็นแก่ตัว คนที่มักครอบงำผู้อื่นไม่ให้ผู้อื่นเป็นตัวของตัวเอง คนที่มักตำหนิบุคคลอื่น คนขี้เหวี่ยงขี้วีน ขี้โมโห อารมณ์ไม่ดี คนที่ไม่ทำตามที่พูด คนที่มักโกหกและมีข้อแก้ตัวตลอดเวลา คนที่ไม่ให้เกียรติบุคคลอื่น คนที่มักนินทาและแทงข้างหลัง คนที่หยิ่งทะนงหรือหยิ่งยโสไม่ฟังความคิดบุคคลอื่น ซึ่งเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนก็อาจมีลักษณะนิสัยที่กล่าวมาไม่มากก็น้อย บางครั้งเราก็แสดงออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างน้อยบทความนี้ก็อาจทำให้เราตระหนักว่า ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้บุคคลที่มีความจริงใจและเป็นกัลยาณมิตร

 

ลักษณะนิสัยที่กล่าวมาทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้หงุดหงิด ไม่มีความสุข และอาจทำให้มีการนับถือตนเองที่ต่ำลง ดังนั้นเรามาดูวิธีการอยู่กับบุคคลเหล่านี้ให้มีความสุขกันค่ะ นักจิตวิทยาแนะนำว่า เราควรมีขอบเขตหรือช่องว่างหรือระยะห่างเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีลักษณะนิสัยที่กล่าวมา หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “set boundary” กล่าวคือ เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้ก็พยายามปฏิสัมพันธ์ให้น้อย มีการวางตัวของเราที่เหมาะสม เมื่อเราคำนึงสิทธิของเขา เขาก็ต้องรู้จักคำนึงสิทธิของเรา ไม่ใช่ว่าเราต้องโอนอ่อนเข้าหาเขาฝ่ายเดียว

 

ทั้งนี้ การวางตัวหรือพฤติกรรมการตอบสนองดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะในการดำเนินชีวิต หรือถ้ามีระยะห่างระหว่างกันแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องเลิกติดต่อกันหรือติดต่อกันให้น้อยที่สุด

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผู้ช่วยศาสราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและการประยุกต์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้