เรียนแล้วเครียด! จัดการกับความเครียดอย่างไรดี?

22 Jul 2021

อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

 

ในสังคมปัจจุบันที่ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรม และสังคม ความคาดหวังที่สังคมมีต่อวัยรุ่นก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน และด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เอง ส่งผลให้ความคาดหวังของสังคมที่วัยรุ่นรับรู้นั้นมีลักษณะไม่ชัดเจน ไม่คงที่ และที่สำคัญคือ บางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความคาดหวังเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเครียดได้

 

เรื่องหนึ่งที่สร้างความเครียดให้กับวัยรุ่นในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมากคือ ความเครียดจากการเรียน

 

ความเครียดจากการเรียน (Academic stress) เกิดขึ้นได้จากความวิตกกังวลที่มีต่อเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ไม่ว่าจะเป็น การสอบ งานต่างๆ ที่จะต้องส่งในแต่ละวิชา ระบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน รวมไปถึง การวางแผนการเรียนเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

 

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความเครียดจากการเรียนที่เกิดขึ้น กระบวนการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การจัดการกับความเครียด (Coping) ซึ่งเป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ความคิดและลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าสาเหตุนั้นจะเป็นสาเหตุที่เกิดจากภายนอกตัวบุคคลหรือภายในตัวบุคคลก็ตาม

 

โดยทั่วไป การจัดการกับความเครียดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ การจัดการแบบเผชิญหน้ากับปัญหา (Approach coping) และ การจัดการแบบหลีกเลี่ยงปัญหา (Avoidance coping)

 

การจัดการแบบเผชิญหน้ากับปัญหา คือ บุคคลพยายามที่จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุและผลของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อที่จะเตรียมตัวรับมือกับผลที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา หรือแม้แต่พยายามที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อปัญหาเพื่อให้มองเห็นถึงมุมมองทางบวกจากปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงพยายามที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้

 

ตัวอย่างเช่น เมื่อทำข้อสอบไม่ได้ หากใช้การจัดการแบบเผชิญหน้ากับปัญหา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีความพยายามวิเคราะห์ว่า เพราะอะไรถึงทำข้อสอบไม่ได้ ผลสอบที่ได้น่าจะเป็นอย่างไร (การวิเคราะห์ปัญหา) การทำข้อสอบไม่ได้ครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง (การเปลี่ยนมุมมอง) การสอบครั้งหน้าควรจะเตรียมตัวอย่างไร (การหาข้อมูลเพิ่มเติม)

 

ในขณะที่ การจัดการแบบหลีกเลี่ยงปัญหา มีลักษณะของการมุ่งเน้นที่อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความเครียด โดยหลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาหรือแม้แต่ผลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากปัญหานั้น ๆ หรืออาจจะยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นโดยไม่ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ รวมไปถึงพยายามที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง บางครั้งอาจมีการแสดงออกถึงอารมณ์ทางลบเพื่อลดความเครียด เช่น บ่น ร้องไห้

 

ในเหตุการณ์ ‘ทำข้อสอบไม่ได้’ เหมือนกัน หากใช้การจัดการแบบหลีกเลี่ยงปัญหา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อาจจะไม่พูดถึงผลการสอบเลย (การหลีกเลี่ยง) หรืออาจจะมีคำพูด เช่น “อืม…ครั้งนี้ก็ทำไม่ได้แล้วนี่ เดี๋ยวครั้งหน้าก็อาจจะทำได้ก็ได้” (การยอมรับ) “ช่างมัน ไปเล่นเกมกันเถอะ” (การทำกิจกรรมอื่นๆ) “อาจารย์ออกข้อสอบอะไรก็ไม่รู้ ยากมาก ทำไม่ทันเลย เราว่ามันยากเกินไป…” (การแสดงออก)

 

ทั้ง 2 รูปแบบของการจัดการกับความเครียดนั้น ส่งผลต่อวัยรุ่นแตกต่างกันออกไป

 

การใช้การจัดการแบบเผชิญหน้ากับปัญหาช่วยลดปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า รวมไปถึงปัญหาทางด้านพฤติกรรมของวัยรุ่น เช่น ความก้าวร้าว ได้

 

ในขณะที่ การใช้การจัดการแบบหลีกเลี่ยงปัญหา ส่งผลให้วัยรุ่นมีปัญหาในการกำกับอารมณ์ทางลบของตนเอง เพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหาการติดแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และยังส่งผลทางลบอย่างต่อเนื่องกับปัญหาทางด้านการเรียนด้วย

 

จะเห็นได้ว่า การจัดการแบบเผชิญหน้ากับปัญหา นอกจากจะช่วยให้วัยรุ่นมีการเตรียมตัวต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย

 

 

ทำอย่างไรที่จะช่วยให้วัยรุ่นเลือกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา

 

นอกจากการชี้ให้วัยรุ่นเห็นถึงประโยชน์ของการเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วนั้น สิ่งที่จะสร้างให้กับวัยรุ่นเพิ่มเติมได้คือ การเพิ่มทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยในการแก้ปัญหา เช่น ทักษะการวิเคราะห์เหตุและผลที่จะช่วยให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ทักษะการมองในหลากหลายมุมมองที่จะช่วยให้มองเห็นข้อดีของเรื่องราวต่างๆ ทักษะการมีสติ (Mindfulness) ที่จะช่วยให้เกิดการตระหนักรู้ในปัญหาและอารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการที่มีคนรอบข้างเป็นแหล่งสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านข้อมูลที่จะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจและแก้ปัญหาได้ หรือแม้แต่ทางด้านอารมณ์ เช่น การรับฟัง การให้กำลัง ที่จะช่วยลดความเครียดหรืออารมณ์ทางลบต่าง ๆ ได้

 

วิธีการที่วัยรุ่นเรียนรู้ที่จะใช้จัดการกับปัญหาและความเครียดที่เกิดขึ้นนั้น จะส่งผลไปยังความคาดหวังต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นควรจะรู้สึกอย่างไร ควรจะคิดอย่างไร ควรจะจัดการอย่างไร ซึ่งสุดท้ายแล้ววิธีการที่วัยรุ่นเลือกที่จะใช้จัดการกับปัญหาก็จะส่งผลกลับมายังความคิดและอารมณ์ของวัยรุ่นเอง

 

 

รายการอ้างอิง

 

Arsenio, W. F., & Loria, S. (2014). Coping with negative emotions: Connections with adolescents’ academic performance and stress. The Journal of Genetic Psychology, 175(1), 76-90. https://doi.org/10.1080/00221325.2013.506293

 

Ramli, N. H. H., Alavi, M., Mehrinezhad, S. A., & Ahmadi, A. (2018). Academic stress and self-regulation among university students in Malaysia: Mediator role of mindfulness. Behavioral Sciences, 8(12). http://doi.org/10.3390/bs8010012

 

ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/

 

 

 


 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้