เคล็ดลับจับโกหก

22 Feb 2022

ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คุณคิดว่าการโกหกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนคะ

 

นักจิตวิทยาชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งที่อยากทราบคำตอบนี้ ได้ให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจดบันทึกประจำวันอย่างละเอียดแล้วนำมาวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า คนทั่วไปมักพูดโกหกโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง นั่นแปลว่าในแต่ละวัน เรามีโอกาสไม่น้อยเลยนะคะที่จะต้องเจอกับคำโกหก และบางครั้ง เราเองก็พูดโกหกบ้างเหมือนกันใช่ไหมคะ แล้วเรื่องอะไรบ้างที่คนเรามักพูดโกหก นักจิตวิทยากลุ่มดังกล่าวพบว่า เรื่องที่คนเราพูดโกหกบ่อยที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น รองลงมาคือเรื่องการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว หรือแผนการว่าจะทำอะไร รวมไปถึงความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง

 

 

ทำไมคนเราต้องพูดโกหกเรื่องเหล่านี้ด้วย

 

เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง หรืออาจปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม จริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ บ่อยครั้งการโกหกก็มีเป้าหมายเพื่อปกป้องจิตใจตนเองและผู้อื่นจากความเจ็บปวด ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน เช่น บางคนอาจเล่าเรื่องโกหกที่ทำให้ตนเองดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อให้ดูโก้หรู ดูเก่งกว่าความจริงที่ตนเองเป็น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกดีกับตัวเองได้ชั่วคราว หรือบางครั้งก็ต้องพูดโกหกเพื่อถนอมน้ำใจ รักษาหน้า รักษาความรู้สึกของคู่สนทนา

 

 

คงเห็นแล้วว่าการโกหกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ทำความผิดร้ายแรงซึ่งโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากการสืบสวนสอบสวน ชนิดที่ต้องทดสอบกันด้วยเครื่องจับเท็จเท่านั้น การโกหกเกิดขึ้นรอบตัวเรา ในชีวิตประจำวันของเรา จากปากคนรอบข้างที่เราสนทนาด้วย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไราคู่สนทนาของเรากำลังโกหก มีสัญญาณหรือเบาะแสอะไรบ้างไหมที่จะช่วยบอกเราได้ นักจิตวิทยามีคำตอบเหล่านี้ค่ะ

 

 

นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดลองความสามารถในการจับโกหกของคนทั่วไป โดยให้นักศึกษาจำนวนมากมาพูดโกหกบ้างจริงบ้างเกี่ยวกับเจตคติเรื่องต่าง ๆ ของตนให้แนบเนียนที่สุด ให้ผู้ร่วมการทดลองนับหมื่นคน จากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักจิตบำบัด นักศึกษาสาขาวิชานิติศาสตร์ ศิลปินดารา มาจับโกหก พบว่าความพยายามของคนส่วนใหญ่ในการจับโกหก ไม่ได้ทำให้เขาจับโกหกได้ดีไปกว่าการเดาสุ่มเลย คือ มีอัตราการตอบถูกว่าผู้พูดกำลังโกหกหรือพูดจริงเพียงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

.

เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองจำนวนหนึ่งที่สามารถบอกได้ถูกต้อง 90 เปอร์เซ็นต์ ว่าผู้พูดกำลังพูดจริงหรือโกหก ในการทดลองทุก ๆ รอบ ซึ่งมีอยู่เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมการทดลองทั้งหมด คนที่เก่งกาจในการจับโกหกเหล่านี้ตอบตรงกันว่า เขาสังเกตจากอวัจนภาษา และวิธีการใช้คำพูดของผู้พูดแต่ละคน ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงได้เสนอแนะวิธีสังเกตเบาะแสของการพูดโกหกที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจับเท็จ โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากสีหน้าท่าทาง วิธีการพูด การใช้ภาษา

 

 

 

สัญญาณจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจับโกหก

 

 

1. สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก

 

นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกให้เหตุผลว่า การพูดโกหก คือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้เชื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นจริง ดังนั้น ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก หรือความรู้สึกละอายใจที่พูดโกหก หรือกรณีการแสร้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกอื่นที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ย่อมมีร่องรอยของอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่รั่วไหลออกมาทางสีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่น้ำเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ยากจะควบคุมไว้ให้แนบเนียนได้ตลอดเวลา เมื่อผู้พูดเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าโกหก เราอาจสังเกตเห็นสัญญาณของความกลัว ซึ่งแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่าและกลัวว่าจะถูกจับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องเสี่ยง และผู้พูดรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ แต่เมื่อใดที่คู่สนทนาเป็นคนที่ไว้วางใจในตัวผู้พูดมาก หรือรู้สึกว่าเป็นการพูดโกหกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรทำ แต่ตนเองก็กำลังพูดโกหก ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกผิด หรือละอายที่พูดโกหก สัญญาณต่าง ๆ ที่แสดงถึงความรู้สึกละอายใจหรือรู้สึกผิดก็จะรั่วไหลออกมาให้เราสังเกตได้ เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ ส่วนกรณีที่เป็นการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง โดยโกหกว่ากำลังรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อนของคุณอาจไม่ชอบหนังที่คุณชวนไปดูเลย แต่เขาก็พยายามแสดงออกว่าชอบมากเพื่อไม่ให้คุณเสียใจ เขาจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง แต่อย่างที่กล่าวไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ปฏิกิริยาทางอารมณ์มักเป็นไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ความรู้สึกแรกที่แท้จริงอาจปรากฏขึ้นบนสีหน้าทันทีในแวบแรกที่พูดกันถึงหนังเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้คู่สนทนาเสียใจ ผู้พูดก็จะพยายามยิ้มแย้มเพื่อกลบเกลื่อนและบอกกับคุณว่า เขาชอบ หนังเรื่องนี้สนุกดี หากเราสังเกตพบว่าคู่สนทนามีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่เขาแสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คุณรู้

2. สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญา

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้พูดจะต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ หรือมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้เวลาพูดความจริง ทำไมการพูดเรื่องโกหกใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่าการพูดความจริง นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการพูดโกหกคือการพูดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นมา ในขณะที่การพูดความจริง ผู้พูดไม่ต้องใช้ความพยายามในการแต่งเรื่องมากนัก เพียงแค่เล่าไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากความพยายามที่ใช้ไปในการสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแล้ว คนที่กำลังพูดโกหกยังต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางของตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดจดจ่ออยู่พอสมควร ดังนั้น คนที่กำลังพูดโกหกจึงอาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น การตอบสนองกลับ เช่น การตอบคำถามจะช้ากว่า มีท่าทีลังเลในการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง จดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด และควบคุมกิริยาอาการไม่ให้มีพิรุธนั่นเอง และหากต้องทำอะไรที่ใช้ความคิดไปด้วย คนที่กำลังโกหกมักทำงานนั้นได้ไม่ดี เช่น จำข้อมูลอื่น ๆ ที่เข้ามาในขณะนั้นไม่ค่อยได้ เพราะสมองกำลังยุ่งอยู่ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ข้อสังเกตนี้จะใช้ได้ดีก็เมื่อคนที่พูดกับคุณคือคนที่คุณรู้จักหรือเคยคุยด้วยแล้ว เพราะการตอบช้า พูดช้า ไม่มีเกณฑ์สากลตายตัว แต่เป็นการเปรียบเทียบกับเวลาปกติที่คนคนนั้นพูดความจริงมากกว่าค่ะ บางคนอาจเป็นคนคิดช้าตอบสนองช้าโดยธรรมชาติอยู่แล้วนะคะ นอกจากนั้น ท่าทีลังเลก็อาจเป็นเพราะเรื่องที่กำลังพูดเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็ได้

3. ลักษณะของเรื่องราวและคำพูด

 

เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าก็จะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องโกหกเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เวลาแต่งเรื่องภายในเวลาที่จำกัด คนเราก็มักสร้างเรื่องราวที่น่าจะเป็นไปได้เท่าที่นึกออกในขณะนั้น ซึ่งเมื่อไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริง ก็ย่อมไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงอะไรได้มากไปกว่าข้อมูลคร่าว ๆ แต่บางที ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาดีเกินไปก็จะดูเหมือนซ้อมมา ท่องบทมา และราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ นักจิตวิทยาพบว่า เวลาคนเราเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับคำพูดของเรามากนัก เราอาจพูดผิดออกเสียงผิดบ้าง และกรณีที่เป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานานพอสมควร เราอาจหลงลืมจำไม่ได้ เล่าไปแล้วอาจย้อนกลับมาแก้ กลับมาเติมรายละเอียด แต่ผู้พูดโกหกที่มีเวลาเตรียมตัวซักซ้อมมาดีมักไม่ค่อยมีการพูดผิดพลาด และเล่าเรื่องยาว ๆ ได้ราบรื่นดี ไม่มีอาการหลงลืม ไม่มีการย้อนกลับมาเติมข้อมูลอะไรในภายหลัง ด้านการใช้คำพูด นักจิตวิทยาในต่างประเทศวิเคราะห์คำพูดที่โกหก พบว่า จะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง และมักพูดไม่เต็มเสียง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการโกหกที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกผิดหรือละอายใจ เช่น โกหกคนที่รักและไว้วางใจตนเอง คาดว่าเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่โกหก

 

สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้ว่า การที่เราสังเกตเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่กล่าวมา ไม่ได้ทำให้เราสามารถสรุปได้ทันทีว่าผู้พูดกำลังโกหก สัญญาณเหล่านี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เช่น แรงจูงใจของผู้พูด บุคลิกลักษณะโดยธรรมชาติของผู้พูดด้วยนะคะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้