ดีที่สุด vs สมบูรณ์แบบ

01 Sep 2023

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

 

เราทุกคนต่างต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองและครอบครัว การดำเนินชีวิตของเราจึงเป็นไปในทิศทางเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยการดำเนินชีวิตแบบนั้น หลายครั้งเราเองก็รู้สึกว่าการใช้ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เกิดคำถามว่าอะไรคือความสมบูรณ์แบบในชีวิตของเรา อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่แท้จริงสำหรับเรา ดังนั้น การทำความเข้าใจคำว่า “ดีที่สุด” จึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น

 

ก่อนอื่นเรามีคำอยู่ 2 คำที่มีความหมายที่ใกล้เคียงกันค่อนข้างมากก็คือ คำว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” และ “สิ่งที่สมบูรณ์แบบ” (Perfection) ถึงแม้ว่าสองคำนี้จะมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างในการรับรู้อยู่เช่นกัน หากเราพูดว่า “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับฉัน” กับ “สิ่งที่สมบูรณ์แบบสำหรับฉัน” ตามการรับรู้ของคนทั่วไป เราค่อนข้างจะรับรู้ความหมายในเชิงบวกกับประโยคแรกมากกว่าประโยคที่สอง

 

เพราะอะไรเราถึงรับรู้ “สิ่งที่ดีที่สุด” ดีกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

หนึ่งในเหตุผลที่พอจะอธิบายได้ก็คือ คนเรารับรู้ความสมบูรณ์แบบตามการศึกษาทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ความสมบูรณ์แบบเป็นลักษณะที่บุคคลตั้งมาตรฐานของตนเองไว้สูงเกินไปและวิพากษ์วิจารณ์ตนเองมากเกินไป ประกอบไปด้วยลักษณะของความพยายามที่จะไปสู่มาตรฐานที่ตั้งไว้ (perfectionistic striving) และลักษณะความกังวลว่าจะไปถึงมาตรฐานได้หรือไม่เมื่อเทียบกับความเป็นจริง (perfectionistic concern) นอกจากนี้ ความสมบูรณ์ยังมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางสุขภาพจิตหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ หมดไฟในการทำงาน การติดงาน (workaholism)

 

เราจะเห็นได้ว่าความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำว่าความสมบูรณ์แบบ ก็คือ การมีมาตรฐานเป็นตัวชี้วัดว่า ชีวิตนี้ดีแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเป็นไปตามมาตรฐานปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่เกิด แต่เมื่อไหร่ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานปัญหาย่อมตามมา มาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี”

 

แต่ทว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” มันก็มีมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาจากตัวเองไม่ใช่หรือที่บอกว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี คำตอบคือใช่ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้คำว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” มีความหมายใกล้เคียงกับ “สมบูรณ์แบบ” อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดอาจมีอีกความหมายหนึ่งได้เช่นกันก็คือ สิ่งนี้ดีที่สุด(แล้ว)สำหรับฉัน การรับรู้ตรงนี้สะท้อนอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดีแล้วสำหรับฉัน ฉันพึงพอใจกับสิ่งนี้แล้ว นั่นสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการรับรู้ที่ไม่มีมาตรฐานที่ตัวเองสร้างขึ้นแล้ว และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารับรู้ “สิ่งที่ดีที่สุด” เป็นทางบวกมากกว่า “สมบูรณ์แบบ”

 

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรารับรู้ไปในทางบวก เราก็ควรดำเนินชีวิตที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เต็มที่โดยที่ไม่มีมาตรฐานอะไรมาเป็นตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานจากคนอื่นหรือจากตนเอง และผลที่ตามมาก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา

 

 

อ้างอิง

 

Frost, R. O., Marten, P., Lahart, C., & Rosenblate, R. (1990). The dimensions of perfectionism. Cognitive Therapy and Research, 14(5), 449–468. https://doi.org/10.1007/BF01172967

 

Stoeber, J., & Otto, K. (2006). Positive conceptions of perfectionism: Approaches, evidence, challenges. Personality and Social Psychology Review, 10(4), 295–319. https://doi.org/10.1207/s15327957pspr1004_2

 

Limburg, K., Watson, H. J., Hagger, M. S., & Egan, S. J. (2017). The relationship between perfectionism and psychopathology: A meta-analysis. Journal of Clinical Psychology, 73(10), 1301-1326. https://doi.org/10.1002/jclp.22435

 

Clark, M. A., Michel, J. S., Zhdanova, L., Pui, S. Y., & Baltes, B. B. (2016). All work and no play? A meta-analytic examination of the correlates and outcomes of workaholism. Journal of Management, 42(7), 1836–1873. https://doi.org/10.1177/0149206314522301

 

Hill, A. P., & Curran, T. (2016). Multidimensional perfectionism and burnout: A meta- analysis. Personality and Social Psychology Review, 20(3), 269–288. https://doi.org/10.1177/1088868315596286

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้