ข่าวและกิจกรรม

ก้าวข้ามความแตกต่าง: เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย (ตอนที่ 1/2)

 

คนแต่ละยุคซึมซับประสบการณ์และค่านิยมทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงพัฒนามุมมอง แนวคิด และค่านิยมเฉพาะตัวที่สะท้อนยุคสมัยของตนเอง ทำให้พวกเขามีลักษณะและมุมมองร่วมกันมากกว่าที่จะคล้ายคลึงกับคนรุ่นก่อน สิ่งนี้เป็นรากฐานของ “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ generation gap คาร์ล มันไฮม์ (Karl Mannheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยเขาได้พัฒนา “ทฤษฎีรุ่นวัย” (Theory of Generations) ในผลงาน “The Problem of Generations” ที่ตีพิมพ์ในปี 1928

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย — ความแตกต่างที่เกิดจาก “ขอบเขตของอายุ” (age boundaries)

 

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนที่เกิดในยุคเดียวกันมักมีมุมมองและให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางคล้ายคลึงกัน การเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีข้อสังเกตว่า:

  • คนแต่ละยุคได้ซึมซับและสะสมประสบการณ์เฉพาะของยุคสมัยของตนเอง
  • คนแต่ละยุคมีลักษณะร่วมและความคล้ายคลึงกันกับคนในยุคเดียวกันมากกว่าที่จะเหมือนกับคนในรุ่นพ่อแม่

 

 

ถอดรหัสลักษณะเฉพาะของคนแต่ละยุคในสังคมปัจจุบัน

 

 

 

กลุ่มคนตามช่วงอายุ

  • ยุคปู่ย่าตายาย หรือ Silent Generation คนที่เกิดปี พ.ศ. 2468 – 2485 อายุ 80 ปี ขึ้นไป
  • ยุคลุง ป้า พ่อและแม่ หรือ Baby Boomers คนที่เกิดปี พ.ศ 2489 – 2507 อายุ 58-76 ปี
  • ยุค พ่อและแม่ น้า อา Generation X คนที่เกิดปี พ.ศ. 2508 – 2522 อายุ 43-57 ปี
  • ยุค น้า อา พี่ น้อง Generation Y คนที่เกิดปี พ.ศ. 2523 – 2540 อายุ 25-42 ปี
  • ยุค พี่ น้อง Generation Z คนที่เกิดปี พ.ศ 2539 ปี อายุต่ำกว่า 25 ปี
  • ยุค หลาน เหลน Generation Alpha คนที่เกิดปี พ.ศ. 2553 ปี อายุต่ำกว่า 12 ปี

 

ลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนแต่ละยุค โดยแบ่งตามคุณลักษณะเด่น และการใช้เทคโนโลยี อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

 

 

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย มีแนวโน้มเป็นภัยเงียบ อาจก่อให้เกิดปัญหา เมื่อคนเรา…

 

  1. ขาดความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัย ทำให้เกิดการคาดหวังที่เกินจริง
    • เมื่อคนต่างวัยให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมและความเชื่อที่แต่ละวัย “ควรจะมี”
    • คนรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสงคราม (รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย) มองว่าควรทำงานที่เดียวตลอดชีวิตและมีความภักดี ในขณะที่คนยุคใหม่หรือเจนวาย (Gen Y) มองหาความท้าทายและโอกาสจากหลากหลายองค์กร ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง
  2. ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้คนมองต่างกันได้ง่ายขึ้น
  3. ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีธุระเยอะ ไม่มีเวลาให้กันเท่าที่ควร
  4. อยู่ในครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน ที่มีความหลากหลายของคนต่างรุ่นวัย (คนมักเข้าใจคนรุ่นใกล้ตัวและเห็นต่างกับคนรุ่นที่ห่างจากตน)

 

 

ปัญหาคือ พอคุยกันไม่ได้ เลยไม่เข้าหากัน หนีหน้ากันเพียงเพราะไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากโต้เถียงกัน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน ช่องว่างยิ่งห่างขึ้น

 

 

 


 

 

อ่านต่อตอนที่ 2/2

 

 


 

 

บทความโดย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration; IOM) ในการจัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ Psyche Space ชั้น 3 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การประชุมนี้เป็นการนำเสนอเนื่อหาของคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย เรื่อง “Mapping of Available MHPSS services for Vulnerable Migrants in Thailand and Development of a Handbook for Shelter Staff in Designing and Delivering MHPSS Support for Victims of Trafficking during the NRM Reflection Period” โดยคู่มือดังกล่าวมีเนื้อหาประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมแก่บุคคลเปราะบางในกระบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนการดูแลจัดการบาดแผลทางจิตใจแบบทุติยภูมิและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลตนเองของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมนำเสนอตัวอย่างการนำทฤษฎีไปใช้ในทางปฏิบัติ

 

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณซัสเกีย ก๊อก หัวหน้าฝ่ายคุ้มครอง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน มาเป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ตัวแทนจากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตัวแทนจากบ้านพักเด็กและครอบครัว และตัวแทนจากองค์กรที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในบริบทต่าง ๆ มาร่วมรับฟังเนื้อหาและแสดงความเห็นเพื่อใช้ในการพัฒนาคู่มือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้ปฏิบัติงานต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

ขอแสดงความยินดีกับ อ. ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล และ อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ในโอกาสที่ได้รับการอนุมัติให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ

 

  • อ. ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ

  • อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต และผู้อำนวยการหลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในโอกาสที่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 892 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567

ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” สาขาวิชาจิตวิทยา

 

 

 

 

พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 “วันปิยมหาราช” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ หน้าหอประชุมจุฬาฯ พระลานพระราชวังดุสิต โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรจุฬาฯ คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และนิสิตจุฬาฯ ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมด้วย

มูลนิธิสติแอพ ร่วมกับ TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, กรุงเทพมหานคร และ Maybelline New York จัดงาน Better Mind Better Bangkok 2024

 

เพื่อฉลองวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ที่ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี มูลนิธิสติแอพ ร่วมกับ TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต, กรุงเทพมหานคร, Maybelline New York, มูลนิธิเพื่อคนไทย, สสส., ThaiPBS และ Samyan Mitrtown จัดงาน Better Mind Better Bangkok 2024 ขี้น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ณ สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 3

 

ภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนา 4 เวที ภายใต้ธีม L.O.V.E ได้แก่

 

  • Loving Yourself – การรักตัวเอง
  • Opening Hearts – การยอมรับผู้อื่น
  • Valuing Lives – การมีสุขภาวะที่ดี
  • Enhancing Connection – การมีสัมพันธ์ที่ดี

 

 

 

 

Loving Yourself: The Art of Self-Care
14.00 – 14.50 น.

 

วิทยากร

  • คุณนิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์: นักเขียน ผู้จัดรายการ Have a nice day และเจ้าของเพจ Roundfinger (Moderator)
  • คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์: ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และ Soulsmith นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว และผู้จัดรายการ R U OK podcast
  • คุณยิปโซ อริย์กันตา มหพฤกษ์พงศ์: นักแสดง
  • ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์: คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS)

 

Opening Hearts: Embracing Social Inclusion
15.00 – 15.50 น.

 

วิทยากร

  • คุณกันตพร สวนศิลป์พงศ์: นักเขียน, นักจิตวิทยาการปรึกษา, ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต MasterPeace (Moderator)
  • ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์: โฆษกกรมสุขภาพจิต จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
  • คุณซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ: นักร้อง/ศิลปินสังกัด Warner Music Thailand
  • คุณสโรชา กิตติสิริพันธุ์: นักจิตวิทยาและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

 

Valuing Lives: Understand Well-Being
16.15 – 17.05 น.

 

วิทยากร

  • คุณมะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์ – นักจิตบำบัด เจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang (Moderator)
  • คุณไมกี้ ปณิธาน บุตรแก้ว – นักแสดงและตัวแทนจาก Maybelline Brave Together
  • พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ – ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
  • คุณจารุปภา วะสี – ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา

 

Enhancing Connection: Fostering Community Support
17.15 – 18.05 น.

 

วิทยากร

  • คุณบุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล – Transmedia Journalist, The Active ThaiPBS (Moderator)
  • คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ – ศิลปิน, ผู้ก่อตั้ง จุดพักใจ, นักจิตบำบัด
  • นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ – นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกัน, ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
  • คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ – ผู้ก่อตั้ง แอพสติ

 

 

รับชมไลฟ์ย้อนหลัง

https://www.facebook.com/satiapp/videos/1077876293924377/

 

 

 

นอกจากเวทีเสวนาทั้ง 4 แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ

  • รับพาสปอร์ตสำหรับสะสมแสตมป์เพื่อแลกของที่ระลึกที่บูธลงทะเบียน
  • เติมอุปกรณ์บำรุงหัวใจด้วย ‘กล่องปฐมพยาบาลใจ’
  • ไอศกรีมเย็นๆ ชื่นใจจาก ‘Harmony Ice Cream’
  • กาแฟโดยผู้พิการทางสายตาจาก ‘Dots Coffee’
  • มินิคอนเสิร์ตจาก ‘คุณไมกี้ ปณิธาน บุตรแก้ว’ ตัวแทนจาก Maybelline Brave Together กับกิจกรรม Let’s be Brave, Let’s paint the pain

 

 

ภาพบรรยากาศในงาน

TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต

 

สรุปเนื้อหาย่อยง่าย จากการพูดคุยบนเวทีเสวนาในงาน

Visual Note

 

 

ขอแสดงความยินดีกับนิสิตที่ได้รับรางวัล “การนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยาย ระดับดีเด่น” ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักสูตรและการสอน ประจำปี 2567

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ คุณปฏิภาณ ตาคำ นิสิตปริญญาโทแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ พร้อมด้วย รศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ และ ศ.พิเศษ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ได้รับรางวัล “การนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยาย ระดับดีเด่น” (เรื่อง ผลของการฝึกสติที่มีต่อสัมฤทธิผลในการเรียนคีย์บอร์ดขั้นต้นของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3) ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักสูตรและการสอน ประจำปี 2567 เมื่อวัน 28 กันยายน 2567 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

 

บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม (Authoritarian personality)

 

ในปัจจุบัน เรามักได้ยินการกล่าวถึงบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมกัน ในทางจิตวิทยาสังคมมีคนศึกษาบุคลิกภาพอำนาจนิยมกันมากในต่างประเทศ ในช่วงราวปี 1950 เรามาดูกันนะคะว่า บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมมีลักษณะอย่างไร

 

 

บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม (Authoritarian personality) เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มเชื่อฟังและยอมรับอำนาจที่เป็นทางการ หรือผู้ที่มีอำนาจในสังคม มักจะมีความเชื่อที่เข้มงวดในกฎเกณฑ์ และมีเจตคติหรือทัศนคติที่เป็นศัตรูกับกลุ่มที่แตกต่างจากตนเอง ในทางจิตวิทยาสังคม ลักษณะนี้ถูกศึกษาครั้งแรกโดยทีโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) และคณะในงานวิจัยเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของฟาสซิสต์และลัทธินาซีในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ลักษณะสำคัญของบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม ได้แก่:

 

  1. การเชื่อฟังอำนาจ: มีความเคารพและยอมรับต่อผู้มีอำนาจและสถาบันทางการ
  2. การเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มที่แตกต่าง: มีทัศนคติที่ไม่ดีหรือเป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่แตกต่างจากตน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์, ศาสนา, หรือวัฒนธรรมอื่นๆ
  3. ความเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์: เชื่อในความสำคัญของการรักษาระเบียบและกฎระเบียบอย่างเข้มงวด
  4. การรักชาติและความเชื่อในความเหนือกว่าของชาติหรือกลุ่มของตน: มีทัศนคติที่เน้นความสำคัญของความรักชาติและความเชื่อว่าชาติหรือกลุ่มของตนมีความเหนือกว่ากลุ่มอื่น
  5. การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง: มีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมของตน

 

 

บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มเป็นเชิงอนุรักษ์นิยมและชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย (conservative and orderly personality) บุคลิกภาพเหล่านี้มักประกอบด้วยลักษณะดังนี้:

 

1. บุคลิกภาพแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Personality):
  • มีความเชื่อในคุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมเดิม
  • ต้านทานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
  • ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความปลอดภัย

 

2. บุคลิกภาพแบบรักระเบียบ (Orderly Personality):
  • มีความต้องการในความเรียบร้อยและความเป็นระเบียบในชีวิตประจำวัน
  • มีความเกรงกลัวการวุ่นวายและความสับสน
  • ชอบกฎระเบียบและการปฏิบัติตามกติกาที่ชัดเจน

 

 

นอกจากนี้ บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมสัมพันธ์กับบุคลิกภาพแบบการครอบงำทางสังคม (social dominance orientation; SDO)

 

บุคลิกภาพแบบการครอบงำทางสังคม (Social Dominance Orientation; SDO) เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่สะท้อนถึงความเชื่อและทัศนคติที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียมและลำดับชั้นทางสังคม คนที่มี SDO สูงมักจะเชื่อว่าบางกลุ่มควรมีอำนาจและสิทธิพิเศษเหนือกลุ่มอื่น และสนับสนุนระบบสังคมที่มีการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน

 

ลักษณะสำคัญของบุคลิกภาพแบบ SDO ได้แก่:

 

  1. การยอมรับความไม่เท่าเทียม: มีความเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมในสังคมเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็น
  2. การสนับสนุนลำดับชั้นทางสังคม: เชื่อว่าการแบ่งแยกและการจัดลำดับชั้นในสังคมจะช่วยรักษาความเป็นระเบียบและเสถียรภาพ
  3. การมองกลุ่มอื่นเป็นปฏิปักษ์: มักมีทัศนคติเป็นศัตรูหรือไม่ไว้วางใจต่อกลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าในลำดับชั้นทางสังคม
  4. การแสวงหาความเป็นผู้นำและอำนาจ: มักต้องการอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจและสามารถควบคุมหรือชี้นำผู้อื่นได้

 

 

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมและการครอบงำทางสังคม


 

1. อายุ:
  • อายุที่มากขึ้น: คนที่มีอายุมากขึ้นมักมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมและ SDO สูงขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตและความเชื่อที่พัฒนามาในช่วงเวลาที่ยาวนาน ความรู้สึกว่าระบบสังคมต้องการความเป็นระเบียบและการควบคุมอาจเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • วัยหนุ่มสาว: วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวมักมีแนวโน้มที่จะต่อต้านระบบอำนาจและกฎระเบียบ เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยที่มีการค้นหาตัวตนและทดสอบขอบเขตต่างๆ

 

2. ความสุข:
  • วัยกลางคนและสูงอายุ: คนที่มีอายุมากขึ้นมักมีแนวโน้มที่จะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์ชีวิตที่ยาวนานขึ้นและมีความมั่นคงทางการเงินและครอบครัว
  • วัยหนุ่มสาว: วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวอาจเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนในชีวิตมากกว่า ซึ่งอาจทำให้ระดับความสุขต่ำกว่า

 

3. ความก้าวร้าว:
  • วัยหนุ่มสาว: วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวมักมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่า เนื่องจากการค้นหาตัวตนและการจัดการกับอารมณ์ที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่
  • อายุมากขึ้น: เมื่อคนมีอายุมากขึ้น พวกเขามักมีแนวโน้มที่จะมีการควบคุมอารมณ์ดีขึ้นและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลง

 

4. ฐานะทางเศรษฐกิจ:
  • คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง จะมีความก้าวร้าวน้อยกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ

 

 

การเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลในตัวแปรต่าง ๆ ข้างต้น จะทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Chaiwutikornwanich A. (unpublished manuscript). The Impact of Social Dominance Orientation, Authoritarianism, and Social Identity on Aggression and Life Satisfaction in Thailand: A Comparative Analysis Across Age Groups and Socioeconomic Statuses.

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

 

จรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต – Ethics of mental health professionals

 

ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต หมายถึง นักวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถที่ได้มาตรฐานในการให้บริการด้านจิตเวช จิตวิทยา และสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจของบุคคล ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตอาจหมายถึง จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตบำบัด นักสังคมสงเคราะห์

 

จรรยาบรรณ คือ จริยธรรมในวิชาชีพที่เป็นบทมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติอันเหมาะสมในการประกอบอาชีพหรือปฏิบัติงาน เขียนขึ้นโดยสมาคมและองค์กรแต่ละวิชาชีพเพื่อให้นักวิชาชีพหรือสมาชิกนั้นได้ตระหนักและยึดถือปฏิบัติ อีกทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าสิ่งใดควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีชื่อเสียงของนักวิชาชีพ

 

หลักจรรยาบรรณมีขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ ผู้ให้บริการในฐานะนักวิชาชีพ และสังคมหรือสาธารณชน

 

ในแง่ประโยชน์ต่อผู้รับบริการ คือ ช่วยรับรองสิทธิของผู้รับริการและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการ รวมถึงเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประพฤติผิดในหน้าที่ของผู้ให้บริการ

 

ในแง่ประโยชน์ต่อผู้ให้บริการ คือ เป็นหลักหรือแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต อกทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงประกอบการตัดสินใจ เมื่อผู้ให้บริการเผชิญกับปัญหาทางจรรยาบรรณ อีกทั้งเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้นักวิชาชีพหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตแตกต่างจากผู้ช่วยเหลืออื่น ๆ

 

ในแง่ประโยชน์ต่อสังคม หลักจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่รับรองมาตรฐาน สร้างความไว้วางใจ เป็นหลักประกันให้แก่สังคมว่ามีการกำกับดูแลการบริการไม่ให้เป็นภัยต่อผู้รับบริการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

หลักจรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตมีหลากหลาย ที่สำคัญ ๆ และมักถูกนำมาศึกษาเปรียบเทียบ ได้แก่

 

 

1. หลักจรรยาบรรณสำหรับนักจิตวิทยาและมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน
APA’s Ethical Principles and Code of Conduct

 

ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่

 

คำนำและการนำไปใช้


 

เป็นการกล่าวแนะนำวัตุประสงค์ และขอบเขตของการนำหลักจรรยาบรรณไปประยุกต์ใช้

 

บทนำ


 

เป็นเนื้อหาที่กล่าวถึงบทบาทความรับผิดชอบของนักจิตวิทยาในการสร้างและพัฒนาความรู้ในเชิงวิชาชีพและเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมและความเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น

 

หลักทั่วไป


 

เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ช่วยแนะแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนในการประกอบวิชาชีพหรือใช้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจ ประกอบด้วย 5 หลักการ คือ

    • หมวด A สิทธิประโยชน์แก่ผู้รับบริการและการหาประโยชน์โดยไม่ชอบ คือ นักจิตวิทยาต้องเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับบริการหรือผู้ที่ปฏิบัติงานด้วย และมีการดูแลป้องกันมิให้เกิดอันตราย ต้องนำมาซึ่งประโยชน์และสิทธิของผู้เกี่ยวข้อง หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหน้าที่รับผิดชอบและสิ่งที่เกี่ยวข้อง นักจิตวิทยาต้องพยายามแก้ไขความขัดแย้งตามแนวทางที่เหมาะสม หลักเลี่ยงหรือลดอันตรายที่อาจจะเกิดจากความคิดเห็นหรือการกระทำในฐานะนักจิตวิทยาที่จะส่งผลต่อบุคคลอื่น และต้องตระหนักว่าสุขภาพกายและใจของตนเองสามารถส่งผลต่อความสามารถในการให้บริการ
    • หมวด B ความรับผิดชอบ คือ นักจิตวิทยาพึงสร้างสัมพันธภาพที่น่าไว้วางใจกับผู้รับบริการหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเองอย่างเหมาะสม พยายามจัดการควบคุมความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายหรืออันตราย พึงปรึกษา ส่งต่อ และร่วมมือกับวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการหรือผู้ที่ปฏิบัติงานด้วย รวมถึงยอมเสียสละเวลาเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ได้ค่าตอบแทน หรือให้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย
    • หมวด C ความซื่อสัตย์ คือ นักจิตวิทยาพึงส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นจริงในการค้นคว้าวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยไม่ขโมย หลอกหลวง หรือปลอมแปลงบิดเบือนข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งต้องรักษาสัญญาและไม่โกหกเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการ นักจิตวิทยาต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
    • หมวด D ความยุติธรรม คือ นักจิตวิทยาต้องตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงและได้ประโยชน์จากวิชาจิตวิทยาอย่างเท่าเทียมกัน พึงใช้การตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามหลักวิชาชีพ และระมัดระวังไม่ให้เกิดอคติที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ
    • หมวด E ความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี คือ นักจิตวิทยาพึงเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมถึงสิทธิส่วนบุคคลในการรักษาความลับและการตัดสินใจต่าง ๆ ให้คุณค่ากับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ปัจเจกชน และบทบาท โดยมุ่งกำจัดอคติที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยความต่างเหล่านี้

หลักมาตรฐานจรรยาบรรณ


 

เป็นเนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบของนักจิตวิทยาในเรื่องนั้น ๆ ประกอบไปด้วย 10 หมวดหมู่ ได้แก่

    1. การแก้ไขจัดการกรณีพิพาทด้านจรรยาบรรณ
    2. ความสามารถและความชำนาญ
    3. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
    4. ความลับและสิทธิส่วนบุคคล
    5. การโฆษณาและการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ
    6. การเก็บรักษาข้อมูลและค่าบริการ
    7. การให้การศึกษาและการฝึกอบรม
    8. งานวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่
    9. การทดสอบทางจิตวิทยา
    10. การบำบัดรักษา

 

 

2. หลักจรรยาบรรณของสมาคมการให้คำปรึกษาและจิตบำบัดแห่งสหราชอาณาจักร

Ethical Framework of British Association for Counselling & Psychotherapy (BACP)

 

ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่

 

คำนำ


 

เป็นการกล่าวถึงความสำคัญของหลักจรรยาบรรณที่เป็นหลักการทางจรรยาบรรณ ค่านิยม และมาตรฐานความประพฤติที่สมาคมคาดหวังจากสมาชิก

 

พันธกิจที่มีต่อผู้รับบริการ


 

เป็นส่วนที่กล่าวถึงภาพรวมและข้อสรุป หรือความรับผิดชอบที่สมาชิกจะปฏิบัติต่อผู้รับบริการ ซึ่งสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบในการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้รับบริการเกี่ยวกับการให้บริการ

 

หลักการทั่วไปทางจริยธรรม


 

เป็นส่วนที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ให้บริการทำความเข้าใจแนวคิดหลักการที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการ และช่วยในการนิเทศ ใช้ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรม ประกอบด้วย 6 หลักการ คือ

    • การก่อประโยชน์ คือ การทำสิ่งที่ดีและสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น เป็นการกระทำเชิงบวกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อาจหมายถึงการทำความดี มีเมตตากรุณา ปรารถนาดีและเอเฟื้อแก่เพื่อนมนุษย์
    • การไม่ก่อให้เกิดอันตราย คือ การไม่ทำอันตรายทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้รับบริการ หรือไม่ทำในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของผู้รับบริการ และไม่แสดงพฤติกรรมเพิกเฉยละทิ้งหน้าที่การให้บริการ เป็นการกระทำที่ครอบคลุมทั้งการปฏิบัติ ท่าที่ คำพูด สีหน้า แววตาที่แสดงต่อผู้รับบริการ พึงปฏิบัติด้วยความเมตตา เห็นใจ และเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้รับบริการ
    • การเคารพเอกสิทธิและความเป็นอิสระ คือ สิทธิของผู้รับบริการในการตัดสินใจเลือกและรับผิดชอบกับพฤติกรรมของตนเองโดยที่ผลของพฤติกรรมนั้นไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สามารถที่จะกำกับตนเองและอิสระที่จะเลือกด้วยตนเองโดยปราศจารการครอบงำจากผู้อื่น แต่ไม่ควรใช้กับผู้ที่ไม่มีความสามารถในการตัดสินใจหรือปกครองชีวิตตนเองได้อย่างเพียงพอ เช่น ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิสิตภาวะ ผู้ที่ด้อยสมรรถภาพ ทั้งนี้การไม่พูดความจริง ไม่เปิดเผยผลการรักษา ส่งผลต่อการตัดสินใจในการจะกระทำใด ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ละเมิดต่อหลักการเคารพเอกสิทธิ
    • ความไว้วางใจ คือ ผู้ให้บริการต้องสร้างความน่าไว้วางใจ เคารพข้อตกลง และคำสั่นสัญญาที่มีร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และให้ถือว่าการเก็บรักษาความลับและข้อตกลงนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่เกิดจากความไว้วางใจของผู้รับบริการ ให้จำกัดการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับเกี่ยวกับผู้รับบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเงื่อนไขที่ตกลงไว้เบื้องต้น
    • ความยุติธรรม คือ ความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ความไม่ลำเอียง โดยไม่คำนึงถึงอายุ ฐานะ อาชีพ เพศ เชื้อชาติ หรือระดับการศึกษาของผู้รับบริการ ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรี ผู้ให้บริการต้องยึดมั่นความเท่าเทียมและเป็นกลาง ระมัดระวังไม่ให้เกิดอคติ หลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ
    • ความเคารพตนเอง คือ การที่ผู้ให้บริการดูแลตนเองทั้งเรื่องความรู้ความสามารถ และสุขภาพกายสุขภาพใจ ใช้หลักการทางจริยธรรมอื่น ๆ อย่างเหมาะสมเพื่อสิทธิของตนเองในแง่ของการเงินและค่าตอบแทนที่สมควรได้รับ รวมถึงการขอคำปรึกษา การบำบัด หรือโอกาสอื่น ๆ ในการพัฒนาตนเองตามที่กำหนด มีความรับผิดชอบทางจริยธรรมในการเข้ารับการนิเทศเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทางวิชาชีพและชีวิตส่วนตัว รวมถึงแสวงหาการฝึกอบรมและโอกาสอื่น ๆ สำหรับการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

 

หลักการประพฤติปฏิบัติ


 

เป็นส่วนที่เกี่ยวข้อกับการประพฤติปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพ เป็นการะบุรายละเอียดของพฤติกรรมที่นักวิชาชีพพึงปฏิบัติหรือไม่พึงปฏิบัติ แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ได้แก่

    1. การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการเป็นอันดับหนึ่ง
    2. ทำงานด้วยมาตรฐานทางวิชาชีพ
    3. ความเคารพในความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้รับบริการ
    4. สร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสม
    5. การเริ่มและยุติกระบวนการ
    6. ความซื่อสัตย์
    7. การเป็นที่ไว้วางใจ พึ่งพาได้
    8. การเก็บรักษาความลับ
    9. การทำงานร่วมกับผู้อื่น
    10. กระบวนการนิเทศ
    11. การอบรมและการศึกษา
    12. การฝึกงาน
    13. การวิจัย
    14. การดูแลตนเองในฐานะของนักวิชาชีพ
    15. การจัดการกับประเด็นทางจริยธรรม

 

 

3. หลักจรรยาบรรณของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศจีน

Chinese Psychological Society’s Code of Ethics for Counseling and Clinical Practice

ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

 

บทนำ


 

เป็นเนื้อหาที่กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหลักจรรยาบรรณฉบับนี้ว่าจัดทำขั้นโดยสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศจีน เพื่อช่วยให้นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงผู้รับบริการและสาธารณชนเข้าใจหลักการสำคัญของจรรยาบรรณ และเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบของนักวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสาขาจิตบำบัดและการให้คำปรึกษา อีกทั้งเพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านสุขภาพจิต และช่วยรับรองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้รับบริการและสาธารณชน

 

หลักการทั่วไปทางจริยธรรม


 

ประกอบด้วย 5 หลักการคือ

 

    • การก่อประโยชน์ คือ การก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้รับบริการ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญที่สุด โดยนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาพึงปกป้องสิทธิของผู้รับบริการ พึงมุ่งเน้นที่จะให้บริการอย่างเหมาะสม และระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายที่จะมีขึ้นกับผู้รับบริการ
    • ความรับผิดชอบ คือ นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาพึงรักษามาตรฐานการให้บริการไว้ในระดับสูง และมีความรับผิดชอบต่อความประพฤติของตนเอง พึงตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพ มีจริยธรรม และความรับผิดชอบทางกฎหมายและการรักษาชื่อเสียงทางวิชาชีพของตนเอง
    • ความซื่อสัตย์ คือ นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาพึงมุ่งมั่นส่งเสริมความซื่อสัตย์และความจริงของการประพฤติปฏิบัติที่เกี่ยวกับการประเมิน วิจัย และการสอน
    • ความยุติธรรม คือ นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาพึงปฏิบัติต่องานของตนและผู้ที่ทำงานด้วยทั้งในสาขาวิชาชีพของตนเอง และวิชาชีพอื่น ๆ ด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม พึงใช้เหตุผลอย่างเหมาะสม และควรระวังป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากอคติที่อาจเกิดขึ้นหรือข้อจำกัดต่าง ๆ
    • ความเคารพ คือ นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษาพึงแสดงความเคารพต่อทุกคนและเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล รวมถึงสิทธิส่วนบุคคลในการรักษาความลับและการตัดสินใจต่าง ๆ

 

หลักมาตรฐานทางจรรยาบรรณ


 

เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับหลักจรรยาบรรณและข้อประพฤติปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ ประกอบไปด้วย 7 หมวดหมู่ ได้แก่

    1. ความสัมพันธ์เชิงวิชาชีพ
    2. ความเป็นส่วนตัวและการเก็บรักษาความลับ
    3. ความรับผิดชอบทางวิชาชีพ
    4. การทดสอบและการประเมินทางจิตวิทยา
    5. การสอน การฝึกอบรม และการนิเทศ
    6. งานวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่
    7. การแก้ปัญหาประเด็นทางจริยธรรม

 

 

ในประเทศไทย หลักจรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตไม่ได้ละเอียดและชัดเจนครบถ้วนเทียบเท่ากับต่างประเทศ แต่มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางสุขภาพจิตอยู่บ้าง เช่น

 

  • ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะ พศ. 2559 ประกอบไปด้วย บททั่วไป การโฆษณา การประกอบโรคศิลปะ การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน การทดลองในมนุษย์ และการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล
  • ข้อบังคับแพทยสภาพ ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ประกอบไปด้วย บทนิยาม หลักทั่วไป การโฆษณา การประกอบวิชาชีพเวชกรรม การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงาน การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ การศึกษาวิจัยและทดลองในมนุษย์ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาค

 

จากงานวิจัยของ Leach และ Harbin ปี 1997 ที่ศึกษาเปรียบเทียบหลักจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาใน 24 ประเทศ พบว่ามี 10 หลักการทั่วไปและข้อปฏิบัติที่นานาประเทศมีร่วมกัน ได้แก่ (1) การรักษาความลับ (2) การเปิดเผยความลับ (3) ขอบเขตความสามารถเชี่ยวชาญ (4) การหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ (5) ความสัมพันธ์ที่หาประโยชน์โดยมิชอบ (6) การมอบหมายงานและการนิเทศ (7) ค่าบริการและการจัดการทางด้านการเงิน (8) การหลีกเลี่ยงการหลอกลวงหรือการให้ข้อมูลเท็จ (9) การแจ้งข้อมูลและรับความยินยอมก่อนเข้าร่วมกระบวนการ (10) การแจ้งข้อมูลและรับความยินยอมก่อนเข้าร่วมการวิจัย

 

 


 

 

 

ประเด็นทางจริยธรรมที่ยากในการตัดสินใจ Ethical Dilemma

 

 

งานวิจัยของ Pope (1992) ได้สำรวจประเด็นความขัดแย้งทางด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นกับนักจิตวิทยาที่เป็นสมาชิกของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน พบว่าปัญหาที่พบบ่อยในบริการสุขภาพจิต ได้แก่ การเก็บรักษาความลับของผู้รับบริการ และความสัมพันธ์ทับซ้อน

 

การเก็บรักษาความลับ

 

ในความเป็นจริงมีบางสถานการณ์ที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องละเมิดการรักษาความลับ หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้รับบริการหรือบุคคลอื่น หรือเกิดการททารุณกรรมในเด็ก หรือการเปิดเผยความลับที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อ

 

Younggren และ harris (2018) เสนอวิธีช่วยในการรับมือและจัดการกับปัญหาการรักษาความลับไว้ ดังนี้

 

  1. ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตควรวิเคราะห์ปัญหาด้านจริยธรรมที่เกี่ยวกับการรักษาความลับโดยอิงกับกฎหมายเป็นหลัก
  2. ใช้ใบยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับกระบวนการและขอบเขตทั้งหมด โดยมีการพูดคุยทำความเข้าใจรวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการสอบถามข้อสงสัยและแสดงความคิดเห็นต่อการยินยอมนี้อย่างเป็นอิสระ
  3. หากเผชิญกับสถานการณ์ที่สับสนหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการรักษาความลับ ให้ระงับการกระทำทุกอย่างจนกว่าจะได้วิธีการแน่ชัด ซึ่งแนวทางอาจได้มาจากการปรึกษาผู้ร่วมงานที่เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมและกฎหมาย อาจารย์นิเทศ ทนายความ หรือสมาคมวิชาชีพที่สังกัด
  4. การทำงานที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย (เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต) ควรมีข้อตกลงที่แน่ชัดและเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ปฏิบัติงาน
  5. หากประเมินว่าผู้ปกครองไม่ได้ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของลูกหรือเด็กที่อยู่ในการดูแล ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตควรเข้ารับคำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของเด็กโดยผู้ปกครอง

 

ความสัมพันธ์ทับซ้อน

 

โดยทั่วไปแล้วความสัมพันธ์ทับซ้อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ความสัมพันธ์ทับซ้อนเชิงชู้สาว และความสัมพันธ์ทับซ้อนที่ไม่ใช่เชิงชู้สาว

 

ความสัมพันธ์ทับซ้อนเชิงชู้สาว เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับทางร่างกาย เป็นเรื่องความรู้สึกทางเพศ มีกิจกรรมหรือการแสดงออกในเชิงชู้สาว การมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้รับบริการถือว่าเป็นเรื่องที่จริงจังที่สุดในการละเมิดหลักจรรยาบรรณ เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ผิดและทรยศต่อความเชื่อใจหรือส่งผลเสียต่อผู้รับบริการ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นการเอาเปรียบและการบงการ ผลกระทบที่เกิดกับผู้รับบริการไม่ต่างจากการเป็นเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเทศ จึงเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้ให้บริการในการจำกัดขอบเขตของความสัมพันธ์ให้อยู่ในความเหมาะสม

 

ความสัมพันธ์ทับซ้อนไม่ใช่เชิงชู้สาว แบ่งออกได้เป็น 8 ประเทศ ดังนี้

 

  • ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ฉันมิตรสหาย
  • ความสัมพันธ์ทางสังคม คือ การได้พบเจอกันในเหตุการณ์ที่เป็นความบังเอิญ เช่น พบเจอกันในงานแต่งงานของคนรู้จัก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกิจกรรมทางสังคมที่รู้ล่วงหน้าแล้ว มีการเชิญชวนอีกฝ่ายด้วยความตั้งใจ
  • ความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการเงิน เช่น การลงทุนร่วมกัน การรับผู้รับบริการเป็นพนักงาน การยืมเงินผู้รับบริการ การรับของขวัญที่นอกเหนือจากค่าบริการ
  • ความสัมพันธ์ทางวิชาชีพหรือเพื่อนร่วมงาน คือ การมีความสัมพันธ์กันหลากหลายบทบาท หลายหน้าที่ แต่อยู่ในสถานะหรือตำแหน่งอำนาจระดับเดียวกัน
  • การนิเทศหรือความสัมพันธ์ที่มีการประเมิน ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งแบบบังเอิญหรือตั้งใจก็ได้
  • ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น มีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เป็นสมาชิกโบสถ์เดียวกัน
  • ความสัมพันธ์ทางวิชาชีพหรือเพื่อนร่วมงานบวกกับความสัมพันธ์ทางสังคม
  • ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน

 

เรื่องความสัมพันธ์ทับซ้อนนี้เป็นพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ค่อนข้างคลุมเครือ เนื่องจากบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน เช่น การรับสิ่งของหรือของตอบแทนจากผู้รับบริการ โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาจมีนัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการบำบัด แต่ในบางวัฒนธรรมหรือบางสังคมมองว่าการให้ของขวัญตอบแทนเป็นเรื่องปกติ ไม่แสดงถึงนัยยะอื่นนอกจากความรู้สึกขอบคุณ และการปฏิเสธน้ำใจอาจเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ในบางวัฒนธรรมตะวันออก เช่น ประเทศจีน จะรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจและประสงค์เข้ารับบริการกับผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตที่รู้จักหรือคุ้นเคยกันมากกว่า ดังนั้นการแก้ไขประเด็นขัดแย้งด้านจริยธรรมในการบริการด้านสุขภาพจิตควรศึกษาหลักจริยธรรมของตน ขอคำแนะนำ และมีความถี่ถ้วนในกระบวนการตัดสินใจตามหลักจริยธรรมเพื่อจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้

 

 

 

 


 

 

 

ข้อมูลจาก

 

พรพรหม ลิขิตโฆษิตกุล. (2566). การสำรวจความเชื่อทางจรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทย [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2023.138