Triangular theory of love – ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก

02 May 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

Sternberg (1986) เสนออทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก ซึ่งอธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรักว่าประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

 

  1. ความใกล้ชิด (intimacy) เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ คือ มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกันในความรู้สึก ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ความเอื้ออาทรต่อกัน สื่อสารกันได้อย่างดี มีความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของความสัมพันธ์
  2. ความเสน่หา (passion) เป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ เกิดจากแรงขับภายในระบบของร่างกาย หรือความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นทางสรีระ เป็นความดึงดูดทางเพศ เช่น ความพอใจในรูป กลิ่น เสียง หรือจริตกิริยาของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเสน่ห์อื่นๆ และยังรวมถึงเหตุกระตุ้นอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติกด้วย
  3. ความผูกมัด (commitment) เป็นองค์ประกอบด้านความคิด คือการตัดสินใจที่จะรักหรือมีพันธะทางใจหรือทางสังคมต่อกัน การใช้เวลาร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ หรือการใช้ชีวิตร่วมกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความรับผิดชอบในพันธะที่ตกลงต่อกัน การรับพันธะผุกพันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อมีความสนิทสนมกันมากขึ้น และเปลี่ยนไปตามระดับของความสุดความพอใจในแต่ละช่วงเวลา หากมีปัญหายุ่งยากในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรับพันธะผูกพันอาจลดระดับลงไป

 

องค์ประกอบด้านความใกล้ชิดเป็นแกนหลักที่สามารถพบได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ มีความคงทนค่อนข้างสูง และมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระยะยาว ส่วนความเสน่หามักพบในความสัมพันธ์เชิงคู่รักเท่านั้น เด่นชัดในความทรงจำ และมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระยะสั้น มีผลต่อปฏิกิริยาทางร่างกายและการรับรู้ความเจ็บปวด ขณะที่ความผูกมัดนั้นมีความผันแปรในแต่ละช่วงอายุ เช่น มีความผูกมัดกับครอบครัวในวัยเด็ก ผูกมัดกับเพื่อนในช่วงวัยรุ่น และผูกมัดกับคนรักในวัยผู้ใหญ่ มีผลต่อการรับรู้ความเจ็บปวดและความสามารถในการควบคุมตนเอง

 

 

การจัดประเภทของความรัก


 

จากองค์ประกอบของความรักทั้งสาม สามารถจำแนกความรักออกได้เป็นประเภทต่างๆ 8 ประเภท ดังนี้

 

  1. การไม่มีความรัก (nonlove) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีองค์ประกอบทั้งสามเลย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบง่ายๆ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีความรู้สึกหรือรักมาเกี่ยวข้อง
  2. ความชอบ (liking) เป็นรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดเท่านั้น เกิดขึ้นกับคนที่เราสนิทสนมใกล้ชิดด้วย เช่น เพื่อน คนรู้จัก
  3. รักแบบหลงใหล (infatuated love) เป็นรักที่ประกอบด้วยความเสน่หาอย่างเดียว เกิดขึ้นได้บ่อย ทำนองรักแรกพบ
  4. ความสัมพันธ์แบบปราศจากความรัก (empty love) เป็นรักที่ประกอบด้วยความผูกมัดอย่างเดียว เช่น มีการแต่งงานที่ปราศจากความรู้สึกต่อกัน เพียงแค่อยู่ร่วมกัน (ซึ่งอาจพัฒนาองค์ประกอบอื่นภายหลัง)
  5. รักแบบโรแมนติก (romantic love) เป็นรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิด และความเสน่หา เกิดเมื่อบุคคลรู้จักกัน ใกล้ชิดกัน จึงเกิดความรู้สึกตื่นตัวทางร่างกาย ปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิก ได้สัมผัสและถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างกันโดยยังไม่มีพันธะผูกมัด
  6. รักแบบมิตรภาพ (companionate love) เป็นรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดและความผูกมัด มักเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น เพื่อน หรือคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน
  7. รักแบบไร้สติปัญญา (fatuous) เป็นรักที่ประกอบด้วยความเสน่หาและความผูกมัด โดยบุคคลพบรักและผูกมัดกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งรักแบบนี้มักจบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
  8. รักสมบูรณ์แบบ (consummate love) เป็นรักที่มีทั้งสามองค์ประกอบ ทั้งความเสน่หา ความใกล้ชิด และความผูกมัด รักรูปแบบนี้เป็นรักที่บุคคลปรารถนาแต่ยากที่จะเกิดขึ้นและรักษาให้คงสภาพไว้ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่แวดล้อมในความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีองค์ประกอบของความรักทั้งสามเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย สิริภรณ์ ระวังงาน (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/37529

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้