Stress – ความเครียด

30 Sep 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

ความเครียด ในทางจิตวิทยาหมายถึง อาการที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายจิตใจและสติปัญญาต่อสิ่งที่มาคุกคาม เป็นภาวะชั่วคราวของความไม่สมดุล ซึ่งเกิดกระบวนการรับรู้หรือการประเมินของบุคคลที่มีต่อสิ่งที่เข้ามาในประสบการณ์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งคุกคาม โดยที่การรับรู้หรือการประเมินนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในสังคม การทำงาน ธรรมชาติและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต กับปัจจัยภายในบุคคลอันประกอบด้วย เจตคติ อารมณ์ ลักษณะประจำตัว ประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนความต้องการของบุคคลนั้น (Lazarus, 1996)

 

 

สาเหตุของความเครียด


 

กรมสุขภาพจิต (2541) ได้แบ่งสาเหตุของความเครียดไว้ดังนี้

 

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิต เช่น ปัญหาการเงิน การงาน ครอบครัว ที่อยู่อาศัย การเรียน สุขภาพ มลพิษ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลเกิดความเครียดขึ้น

 

การคิดและประเมินสถานการณ์ของบุคคล เราจะสังเกตได้ว่าคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ใจเย็น จะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย เอาจริงเอาจังกับชีวิตและใจร้อน อาจรวมถึงบุคลิกภาพเดิมของแต่ละบุคคลที่รู้สึกว่าตนเองมีคนคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา เช่น มีคู่สมรส มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีเพื่อนสนิทที่รักใคร่และไว้วางใจกันได้ ก็จะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง

 

อาการที่แสดงออกถึงความเครียด


 

Robbins (2000) แบ่งลักษณะผลของความเครียดที่แสดงออกเป็น 3 ทาง ดังนี้

 

ทางร่างกาย – โดยมากอาการเครียดจะแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งผลการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดโดยผู้วิจัยด้านสุขภาพพบว่า ความเครียดสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายได้ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะและนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

 

ทางจิตใจ – ความเครียดทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ความเครียดส่งผลทางด้านจิตใจโดยแสดงออกในรูปแบบของความรู้สึกกดดัน วิตกกังวล โกรธง่าย เบื่อหน่าย และเลื่อนลอย

 

ทางพฤติกรรมเมื่อบุคคลเกิดความเครียดจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การบริโภคเปลี่ยนแปลง สูบบุหรี่หรือดื่มสุรามากขึ้น พูดเร็ว นอนหลับยาก

 

 

ระดับของความเครียด


 

Frain และ Valiga (1979) แบ่งความเครียดออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

 

ระดับที่ 1 ความเครียดในชีวิตประจำวัน – เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นตามปกติ ไม่คุกคามต่อการดำเนินชีวิตและสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ในระดับนี้บุคคลจะร฿สึกถึงความสามารถในการปรับตัวต่อความเครียดเป็นอย่างดี มีการปรับตัวได้ด้วยความเคยชินและเป็นอัตโนมัติ เช่น การเดินทางในสภาพการจราจรติดขัด

 

ระดับที่ 2 ความครียดระดับต่ำ – เป็นความเครียดที่นานๆ ครั้งบุคคลจะได้รับสิ่งคุกคาม อาจเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคล ความเครียดระดับนี้ช่วยให้บุคคลมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวอยู่เสมอ ปฏิกิริยาที่แสดงออกเป็นลักษณะแสดงถึงความกังวลเล็กน้อย มีความกลัวหรือความอาย แต่ความเครียดจะหมดไปเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เช่น เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต การสัมภาษณ์งาน ฯลฯ

 

ระดับที่ 3 ความเครียดระดับปานกลาง – เป็นความเครียดที่บุคคลได้รับเป็นเวลานาน และไม่สามารถปรับตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาในลักษณะของการปฏิเสธ ก้าวร้าว พูดน้อย ซึม เนื่องจากไม่สามารถความคุมเหตุการณ์นั้นได้ เช่น การเปลี่ยนตำแหน่ง การเปลี่ยนงาน การได้รับการผ่าตัด ฯลฯ

 

ระดับที่ 4 ความเครียดระดับรุนแรง – เป็นความเครียดที่บุคคลประสบความล้มเหลวในการปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่คุกคามอยู่ตลอดเวลา จนเกิดภาวะหมดกำลังหรือเบื่อหน่ายชีวิตในที่สุด

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ของความเครียด ตราบาป เจตคติในการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาและภาวะวิกฤตวัยกลางคนในคนวัยทำงาน” โดย นิศานาถ เรืองเดชสิริพงศ์ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52348

 

แชร์คอนเท็นต์นี้