Stereotype – ภาพในความคิด

20 Dec 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ภาพในความคิด หมายถึง ความเชื่อที่บุคคลมีต่อคนกลุ่มหนึ่ง ว่าคนกลุ่มนั้นมีลักษณะหรือนิสัยใจคอบางประการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถาวร โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีในคนกลุ่มนั้น

 

เช่น ผู้หญิงต้องเก่งงานบ้าน, ผู้ชายต้องเข็มแข็ง, ครูต้องเจ้าระเบียบ, นักบัญชีต้องละเอียดรอบคอบ, คนจีนค้าขายเก่ง, คนญี่ปุ่นชอบทำงานหนัก

 

ภาพในความคิดเป็นวิธีการที่คนเรารับรู้บุคคลโดยแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อลดความซับซ้อนของข้อมูล กล่าวคือ แทนที่จะรับรู้ว่าบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างไร เราจะมีการรับรู้ว่าสมาชิกของแต่ละกลุ่มมีลักษณะอย่างไร ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลมาใช้ของบุคคล

 

ทั้งนี้ ที่มาของภาพในความคิดอาจเกิดจากการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรง หรือเกิดจากการรับรู้ผ่านสื่อ/บุคคลอื่นก็ได้ โดยภาพในความคิดเกิดจากการแผ่ขยายของการเรียนรู้ (generalization) ว่าสิ่งที่มีลักษณะเช่นตัวอย่างจะต้องมีลักษณะที่เหมือนกัน ข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพในความคิดหรือความคิดเดิมของเราก็จะได้รับการจัดกลุ่มเข้ารวมกับภาพในความคิดนั้น ส่วนภาพในความคิดที่ไม่สอดคล้องก็จะไม่ได้รับการจดจำหรือถูกหักล้างเป็นข้อมูลที่สอดคล้องแทน ทำให้บางกรณีการแผ่ขยายนี้อาจจะเป็นไปมากเกินกว่าขอบข่ายของข้อมูลหรือข่าวสารที่มีอยู่จริงในขณะนั้น

 

ดังนั้น ภาพในความคิดที่บุคคลมีต่อคนอื่นหรือกลุ่มคนจึงอาจมีลักษณะนั้น ๆ อยู่จริงหรือไม่จริงก็ได้ กล่าวคือ ภาพในความคิดจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มที่ถูกต้อง แต่ยังมีภาพในความคิดอีกจำนวนมากเช่นกันที่เกิดจากความสัมพันธ์ลวง (จากการที่ได้รับข้อมูล 2 เรื่องคู่กันบ่อยครั้ง จึงคิดว่าข้อมูล 2 เรื่องนั้นมีความสัมพันธ์กัน)

 

 

ผลจากการรับรู้ภาพในความคิด


 

การรับรู้ภาพในความคิดของกลุ่มบุคคลมีผลต่อการรับรู้ใน 2 ลักษณะ

ประการแรก การรับรู้ลักษณะบุคคลในกลุ่มจะสอดคล้องกับลักษณะภาพในความคิดของกลุ่ม แต่ถ้าเกิดพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับภาพในความคิด เราก็จะตีความบุคคลนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้การรับรู้มีการสอดคล้องกัน ตรงกับแนวคิดที่ว่าถ้ามีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับภาพในความคิดเข้าสู่การรับรู้ของเรา เราก็จะหาข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพในความคิดของเรามาหักล้าง

ประการที่สอง การรับรู้ภาพในความคิดระหว่างกันมีผลต่อพฤติกรรมระหว่างกลุ่ม ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอันเนื่องมาจากการมีภาพในความคิดทางลบระหว่างกันได้เสมอ ตั้งแต่ระดับนักเรียนต่างสถาบันที่ยกพวกตีกัน ไปจนถึงระดับสงครามอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ถ้าผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายของประเทศใดมีภาพในความคิดที่เลวร้ายต่ออีกประเทศหนึ่ง ก็มักกจะเลือกดำเนินนโยบาลที่ไม่เป็นมิตรต่อประเทศนั้น)

 

 

การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิด


 

ในการศึกษาระยะยาวหลาย ๆ การศึกษา พบว่า ภาพในความคิดของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และนอกจากการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาแล้ว ภาพในความคิดยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ภายหลังเกิดสงครามหรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ ประชาชนจะมีภาพในความคิดต่อประเทศที่เป็นคู่กรณีในทางลบมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิดเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงไปตามการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอก การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากกระบวนการเรียนรู้ในสองลักษณะ ได้แก่ การเรียนรู้โดยตรงด้วยตนเอง อาทิ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มบุคคลนั้น ๆ และการเรียนรู้ทางอ้อม คือการเรียนรู้ผ่านตัวแทนที่หลากหลาย อาทิ บิดามารดา เพื่อน ครู ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนา และสื่อสารมวลชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การรวมกันของวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้นในโลกยุคปัจจุบันที่การรับรู้ข่าวสารเป็นไปอย่างแพร่หลาย มีการเผยแพร่วัฒนธรรมและข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิดจึงเป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว

 


 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการอภิปรายกลุ่มและการกระจายข้อมูลต่อภาพในความคิด” โดย ฑศพล รัตนภากร (2546) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/11002

 

“ภาพในความคิดเกี่ยวกับคนสัญชาติต่างๆ ตามการรับรู้ของนิสิตนักศึกษาไทย” โดย ชลัมพล เถระกุล (2548) https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47643

 

“อิทธิพลของการกระตุ้นภาพในความคิดของความเป็นหญิงเป็นชาย และปฎิกิริยาทางจิตต่อการเกิดปฎิกิริยาต่อภาพในความคิดในการเจรจาต่อรอง” โดย รัตติกาล พาฬเสวต (2553) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20206

 

แชร์คอนเท็นต์นี้