Self-fulfilling prophecy – ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

18 May 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

 

คือ การให้คำนิยามที่ผิดพลาดในตอนเริ่มต้นของสถานการณ์ นำไปสู่การกระทำใหม่ ซึ่งทำให้ความคาดหวังในตอนเริ่มต้นนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมีอิทธิพลต่อแนวทางของเหตุการณ์ ชึ่งทำให้ความคาดหวังที่ผิดพลาดกลายเป็นความจริง

 

[ตัวอย่าง]

ถ้าฉันคิดว่าเธอมีธรรมชาติเป็นคนเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ ฉันจะแสดงเสน่ห์และความน่าชื่นชมของตัวฉันเองออกมาเมื่อฉันกับเธอมีโอกาสใช้เวลาด้วยกันโดยไม่ต้องสงสัย เธอคงจะตอบสนองในทิศทางเดียวกับที่ฉันแสดงออกมา และในบางทีฉันจะสรุปว่าเธอมีความเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ามุมมองของฉันต่อบุคลิกภาพของเธอในตอนแรกที่พบกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

 

ในทางกลับกัน หากฉันเชื่อว่าเธอเป็นคนเย็นชาและทำตัวห่างเหิน เป็นไปได้ที่ฉันจะค่อนข้างรักษาระยะห่างและสงวนท่าทีเมื่อฉันมีปฏิสัมพันธ์กับเธอ และเป็นไปได้เช่นกันว่าเธอก็จะมีปฏิกิริยาตอบฉันด้วยการแสดงความเย็นชาและห่างเหินกับฉัน ซึ่งฉันคงตีความว่าที่ฉันคิดในตอนแรกนั้นถูกต้องแล้ว

 

ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ฉันไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่าการแสดงออกของฉันต่อเธอจะเป็นสาเหตุให้เกิดหลักฐานที่จะเติมเต็มความคาดหวังก่อนหน้านี้ของฉัน

 

 

กล่าวโดยสรุป ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง เป็นกระบวนการที่

 

  1. บุคคลมีความคาดหวังเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือเหตุการณ์บางอย่าง
  2. เป็นสาเหตุให้บุคคลแสดงออกในทางที่จะยืนยันหรือสอดคล้องกับความคาดหวังนั้น

 

ปรากฏการณ์นี้เป็นที่สนใจอย่างมากในวงการการศึกษา ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการทดลองเรื่องผลจากความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน และพบว่ามีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เช่น การให้ครูได้รับรายชื่อพร้อมคะแนนจากแบบวัดความฉลาดทางปัญญา โดยมีนักเรียนจำนวนหนึ่งในชั้นเรียนมีคะแนนสูงมาก ทั้งที่ตามจริงแล้วคะแนน IQ ดังกล่าวเป็นเพียงการสุ่มของผู้วิจัย แต่หลังจากนั้นอีกแปดเดือน เมื่อให้นักเรียนทำการทดสอบจริง ๆ นักเรียนที่ถูกบอกในตอนต้นว่าเป็นนักเรียนที่ฉลาด ก็มีคะแนนในการทดสอบสูงกว่านักเรียนคนอื่น ๆ ขึ้นมาจริง ๆ

 

เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดแล้วพบว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะครูได้ให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกสร้างความคาดหวังมากกว่า ให้งานที่ท้าท้ายความสามารถมากกว่า ให้ผลป้อนกลับที่มากกว่าและมีคุณภาพมากกว่า รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กกลุ่มทดลองก็มีคุณภาพมากกว่าด้วย กล่าวคือ ครูแสดงออกในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อนักเรียนที่ครูคาดว่าจะเป็นเด็กฉลาด ท้ายที่สุดเด็กเหล่านี้ก็หลายเป็นเด็กที่ฉลาดขึ้นมาจริง ๆ ทั้งยังสนุกสนานกับการมาโรงเรียนมากกว่าอีกด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความดึงดูดใจทางกายภาพและปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงในคู่สนทนาต่างเพศผ่านอินเทอร์เน็ต” โดย คเณศ ศิรินภากุล (2546) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6198

 

ภาพประกอบโดย เพจมิติคู่ขนาน
http://www.ookbeecomics.com/authors-and-artists/Phongmanus-Nus/detail-page/14571

 

แชร์คอนเท็นต์นี้