หากไม่รักตัวเอง… แล้วจะรักคนอื่นได้อย่างไร ?

08 Aug 2020

อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

ปกติเวลาที่เราพูดถึงความรัก เราก็มักจะนึกถึงความรักที่เรามีให้กับคนอื่น ๆ หรือความรักที่เราได้รับจากคนอื่น ๆ เช่น พ่อแม่ จากญาติพี่น้อง เพื่อน คุณครู และคนรัก

 

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “หากคุณยังรักตัวเองไม่เป็น แล้วคุณจะรักคนอื่นได้อย่างไร” หรือ “เมื่อคุณรักตัวเองเป็น คุณจึงจะรักคนอื่นเป็น” ด้วยประโยคเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาสนใจว่าความคิดและความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองนั้น จะมีผลอย่างไรบ้างกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

คำว่า “รักตัวเอง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึง การเห็นแก่ตัว หรือ การตามใจตัวเอง ซึ่งเป็นการทำเพื่อให้เราได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่สิ่งที่เราได้มานั้นกลับเป็นเพียงความสุขที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น “การรักตัวเอง” ในที่นี้หมายถึง การเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-compassion)

 

 

การเมตตากรุณาต่อตนเองประกอบไปด้วย 3 สิ่งหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • การใจดีต่อตนเอง (Self-kindness)
  • การรับรู้ว่าสิ่งที่เราเจอนั้นคนอื่นก็เจอเหมือนกันกับเรา (Common humanity) และ
  • การมีสติ (Mindfulness)

 

สิ่งแรก การใจดีต่อตนเอง คือ การที่เราดูแลและเข้าใจตัวเองเมื่อเรารู้สึกแย่ ซึ่งความรู้สึกแย่นั้นอาจจะมาจากเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ หรือจากการไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราคาดหวัง ซึ่งตรงกันข้ามกับ การวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง (Self-criticism) คือ การที่เราตัดสินหรือต่อว่าตัวเราเองเมื่อเจอปัญหาใด ๆ โทษตัวเองว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นเพราะตัวเราเองที่ทำไม่ดี ทำพลาด

 

ต่อมา การเข้าใจว่าสิ่งที่เราเจอนั้นคนอื่นก็เจอเหมือนกันกับเรา จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า เราแต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์บางอย่างที่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำผิดพลาด เป็นสิ่งที่เราทุกคนพบเจอ และเป็นเรื่องปกติ เรื่องทุกเรื่องในชีวิตคนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป ความเข้าใจนี้จะทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นเพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากคนอื่นเมื่อเจอกับความผิดพลาดในชีวิต

 

และสุดท้าย ารมีสติ เป็นการตระหนักรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่มีความพยายามที่จะเก็บกดความคิดหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น หรือหมกหมุ่นครุ่นคิดถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้น (Rumination) อย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นการมีสติจะทำให้เราตระหนักรู้ในประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความสุข หรือ ความเจ็บปวด พร้อมกับเข้าใจสิ่งนั้นตามที่มันเป็น

 

 

ทำไมการรักตัวเองหรือการเมตตากรุณาต่อตนเอง จึงเกี่ยวข้องกับ การรักคนอื่น

 

เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในความรัก การที่เรามีความเมตตากรุณาต่อตนเอง จะทำให้เราดูแลตัวเองและทำความเข้าใจในความรู้สึกของตัวเอง รวมไปถึงเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเราและคู่รักนั้นเป็นเรื่องที่คู่อื่น ๆ ก็มีโอกาสเจอกับปัญหาเดียวกับเรา และเรายังตระหนักรู้ในความคิดและความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหานั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

จากกระบวนการเหล่านี้เอื้อให้เกิดการดูแล การสร้างความไว้วางใจ และทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ในทุกความสัมพันธ์ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความคาดหวังที่เรามีต่อคู่รัก “เขาต้องมารับฉันทุกวัน” “เขาต้องมาง้อฉันสิ” คำว่า “เขาต้อง…” คำพูดนี้เป็นการแสดงถึงความคาดหวังที่เรามีต่อบุคคลอื่น แต่การมองเห็นในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เข้าใจว่าความเป็นไม่สมบูรณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนก็มีเหมือน ๆ กัน รวมถึงตระหนักรู้ถึงความคิดและความคาดหวังของตัวเอง เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เกิดการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบหรือการไม่เป็นไปตามความคาดหวังของอีกฝ่าย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคู่รักลงไปได้

 

ยิ่งเราเข้าใจตัวเอง ดูแลตัวเอง ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองมากเท่าใด การทำความเข้าใจ การดูแล และการยอมรับจะถูกขยายไปสู่คู่รักและคนรอบข้างของเราได้มากยิ่งขึ้น

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อีกคือ ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ (Emotional resilience) นั่นคือ เราสามารถวางอารมณ์ไม่ดี ความเครียด หรือความท้อใจที่กำลังมีอยู่ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นลงได้ เพราะเข้าใจว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ความรู้สึกหรือความคิดเท่านั้น และกลับมาหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีการตอบสนองต่อคู่รักที่ดีมากขึ้น เช่น แทนที่จะหนีปัญหา ไม่คุยกัน ใช้การควบคุม หรือใช้การบังคับให้อีกฝ่ายทำตาม แต่จะมีการแสดงถึงการใส่ใจ การดูแลซึ่งกันและกัน หรือการให้อิสระกับคู่รักที่เพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ การที่เราตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการมีเมตตากรุณาต่อตนเองนั้น อาจกลายเป็นตัวอย่างที่อีกฝ่ายหยิบไปใช้ในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นการตอบสนองกลับไปกลับมาในลักษณะนี้จะยิ่งช่วยให้ไม่เกิดการกล่าวโทษซึ่งกันและกันเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดการขยายปัญหาให้กลายไปเป็นเรื่องใหญ่ และสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ต่อไปได้

 

 

รายการอ้างอิง

 

Neff, K. D. (2008). Self-compassion: Moving beyond the pitfalls of a separate self-concept. In J. Bauer & H. A. Wayment (Eds.). Transcending self-interest: Psychological explorations of the quiet ego. (p. 95-105). APA Books: Washington, DC.

 

Neff, K. D., & Beretvas, S. N. (2013). The role of self-compassion in romantic relationships. Self and Identity, 12, 78-98. https://doi.org/10.1080/15298868.2011.639548

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้