ปัจจัยขัดขวางและปัจจัยเอื้อต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล

04 Mar 2022

อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

เคยบ้างไหมครับ ที่คุณรู้สึกเครียด มีปัญหาชีวิตต้องแบกรับ คุณอยากจะหาใครสักคนมาคอยปรึกษา แต่เมื่อปรึกษาแล้วคุณก็พบว่าคนที่คุณปรึกษานั้นไม่ได้เข้าใจปัญหาของคุณอย่างแท้จริง หรือคนที่คุณไปปรึกษานั้น ทำได้แค่รับฟังเรื่องราวของคุณอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ หรือมาเป็นที่ระบายเท่านั้น ไม่ได้ช่วยหาทางแก้ปัญหา ที่สำคัญ คุณอาจจะรู้สึกผิดหลังจากที่ได้ระบายเรื่องสำคัญกับเขาไป กลัวว่าความลับขอบคุณจะถูกแพร่งพราย

 

มีหลายคนในโลกที่เลือกจะเก็บความลับนั้นไว้กับตัว บอกใครไม่ได้ เคร่งเครียดอยู่คนเดียว จนนานวันเข้าปัญหาก็ยิ่งทับถมหนักขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ความจริง อาการเครียด โรคซึมเศร้า ความกังวลเล็ก ๆ น้อย เช่น เครียดเรื่องการเรียน การปรับตัว มีปัญหากับคนรอบข้าง ผิดหวังในความรัก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเจออยู่ทุกวันไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นปัญหาเล็ก ๆ เราก็สามารถแก้เองได้ แต่เมื่อปัญหามีความหนักหน่วงหรือถูกถาโถมเข้ามามากเกินไป ใจเราก็คงไม่ไหวใช่ไหมครับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าได้รับหนทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ มันจะไม่ลุกลามใหญ่โต และยังช่วยให้การดำเนินชีวิตของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทราบดีว่าการไปรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตนั้นจะช่วยให้เขาสามารถคลายจากความทุกข์ใจได้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เมื่อรู้ว่าตนเองมีปัญหาที่แก้ไม่ตก เครียด นอนไม่หลับ แต่ก็ลังเลที่จะไปปรึกษาผู้เชียวชาญ

 

 

ทำไมคนจึงทำเช่นนั้น?

 

สาเหตุหลัก ๆ ก็คือคนกลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่าตัวเองมีปัญหา หรือกลายเป็นผู้ล้มเหลวในสายตาของผู้อื่น โดยเฉพาะสังคมไทยมักจะมีภาพเกี่ยวกับไปปรึกษาเรื่องปัญหาความเครียดกับแพทย์หรือนักจิตวิทยา ว่าจะต้องเป็นคนที่มีปัญหาหนักจริง ๆ ทำนองว่าเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง หรือเริ่มเพี้ยน ๆ หรือถ้าจะหมายถึงตัวแปรทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่บ่งชี้ถึงสาเหตุได้ดี นั่นคือ ความกลัวการถูกประทับตราว่าด้อยค่าจากสังคม ขยายความหน่อยว่ามันหมายถึง การที่บุคคลกลัวว่าการไปพบผู้เชี่ยวชาญนั้นจะทำให้สังคมมองว่าตนผิดปกติ ตนไม่สมบูรณ์ มีปัญหาทางจิต กลัวถูกหาว่าเป็นคนบ้านั่นเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น ถือเป็นอุปสรรคปัญหาสำคัญที่กีดขวางการมาพบผู้เชี่ยวชาญ และทำให้ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ตนเผชิญนั้นไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง

 

 

งานวิจัยในต่างประเทศเองก็พบว่าสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรับรู้บุคคลที่มีอาการทางจิตในทางลบอยู่แล้ว และการแสวงหาความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการมีความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยงานวิจัยในอดีตพบว่าบุคคลที่ทำการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพมักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอาการทางจิต และถูกรับรู้ในทางลบกว่าบุคคลที่ไม่แสวงหาความช่วยเหลือ และอย่างที่กล่าวไป ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าหมายถึงตนเองมีความอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้ว บุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ตรงกันข้าม ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนเองสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่แล้ว บุคคลก็จะเต็มใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

ดังนั้นการจะแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติของเขาว่ามองการแสวงหาความช่วยเหลือในทางบวกหรือทางลบ ถ้ามองในทางลบเขาก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ถ้าเขามองในทางบวกก็จะทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ความทุกข์ของเขาได้รับการจัดการได้อย่างทันท่วงที และทำให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้โดยเร็ว

 

 

ปัจจัยที่ขัดขวางการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล นอกจากจะเป็นเรื่องทัศนคติแล้วยังมีเรื่องเพศและอายุร่วมด้วย จากผลสำรวจที่ได้จากงานวิจัยพบว่า เพศหญิงเป็นเพศมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือบ่อยกว่าเพศชาย ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุอาจเกิดจากจากการยึดบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมของเพศชาย โดยบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมนั้นจะคาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นเพศที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้ที่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และจากบทบาททางเพศดังกล่าวก็ทำให้ผู้ชายไม่เข้ารับการแสวงหาความช่วยเหลือ ในขณะที่ผู้หญิงจะเลือกที่จะพึ่งพาผู้อื่นมากกว่า นอกจากนี้ อายุก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ จากการสำรวจพบว่าบุคคลที่มีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี หรือบุคคลที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีอายุในช่วงอื่น ๆ

 

 

จากข้างต้น อายุและเพศถือเป็นปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ทีนี้เรามาดูปัจจัยด้านสถานการณ์กันบ้างว่ามีส่วนด้วยหรือไม่

 

สำหรับปัจจัยด้านสถานการณ์ (situational factors) หรือสิ่งแวดล้อม พบว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลให้บุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้นหรือน้อยลงเช่นกัน ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น การกลัวว่าความลับของตนจะเปิดเผย ถ้าหากเรื่องที่ต้องการปรึกษานั้นเป็นเรื่องที่ผู้แสวงหาความช่วยเหลือต้องการเก็บไว้เป็นความลับกับตัว เขาย่อมไม่อยากให้ใครรู้ชื่อ นามสกุล หรือเห็นหน้าค่าตา ดังนั้นถ้าหากว่าหนทางที่จะเข้ารับการบรรเทาปัญหาในจิตใจเป็นไปอย่างลับ ๆ เช่น ให้โทรศัพท์ไปไปปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือปรึกษาผ่านการเล่น msn กับนักจิตวิทยาก็จะช่วยให้คนกล้าที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

สิ่งที่เราควรจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ (personality factors) ซี่งส่งผลกระทบต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลเช่นกัน ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่ขี้อายมาก ๆ จะไม่ค่อยกล้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย โดยบุคคลที่ขี้อายนั้นต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นประทับใจและรู้สึกดีกับตนเอง แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นการยากที่จะทำได้เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง ดังนั้นเมื่อบุคคลที่ขี้อายอยู่ต่อหน้าผู้อื่นนั้นก็จะแสดงออกโดยผ่านการควบคุมเป็นอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มากที่สุด เนื่องจากมองว่าการพูดคุยกับผู้คนในสังคม รวมไปถึงการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ทำให้บุคคลเหล่านี้หลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ

 

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า คนขี้อายหรือคนที่เก็บตัวมักไม่ชอบการเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) คนพวกนี้มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องส่วนตัวกับผู้คนรอบข้าง ไม่ชอบแสดงความรู้สึกหรือความอ่อนไหวทางอารมณ์ให้ใครเห็น เราจะเห็นคนพวกนี้เป็นคนเย็นชา ดูมีกำแพง ไม่ชอบเปิดใจ ไม่สนิทกับใครง่ายๆ หรือไม่สนิทกับใครเป็นพิเศษ ดูเงียบๆ มีอะไรไม่สบายใจก็ไม่บอกใคร ไม่พอใจอะไรก็เก็บไว้ ทำนองว่าเกรงใจนะครับ ซึ่งสังคมไทยมักจะคิดว่าบุคลิกแบบนี้เป็นบุคลิกที่ดี ถือว่าเรียบร้อย ถือว่ามีกาลเทศะ เพราะสังคมไทยมักจะชอบคนที่มีบุคลิกแบบปิดมากกว่าเปิด ซึ่งผมอยากจะให้คำแนะนำว่าลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพแบบนั้น ไม่ใช่บุคลิกภาพที่สนับสนุนให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ดีครับ

 

ตามหลักการ คนที่กล้าเปิดเผย คนที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือกล้าบอกให้คนอื่นฟัง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่า โดยเฉพาะในการแสวงหาความช่วยเหลือทุกชนิด ผู้ที่เข้ารับการปรึกษามีความจำเป็นเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นะครับ การที่บุคคลสามารถตระหนักได้ถึงสภาวะภายในของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจนจะเป็นการดีต่อการให้ความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้หาทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น

 

ที่กล่าวไปข้างต้น คงเห็นแล้วว่าการแสวงหาความช่วยเหลือกับการเปิดเผยตนเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้เลย คนที่มีการเปิดเผยตนเองมากกว่าก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีการเปิดเผยตนเองน้อยกว่า

 

ดังนั้นการกล้าที่จะเปิดเผยตนเอง ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง โดยให้เป็นไปอย่างพอดี ๆ ให้สอดคล้องกับหลักกาลเทศะ และวัฒนธรรมไทย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่านะครับ

 

 

เราจะมาว่าด้วยปัจจัยทางสังคมกันบ้าง

 

 

เคยสังเกตไหมครับ ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ หรือเป็นคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้นำ เป็นคนที่ถูกจับตามองในสังคมมาก ๆ มักจะไม่ค่อยกล้าแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น หรือไม่ค่อยกล้ายอมรับความล้มเหลวของตนเอง

 

สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจาก การเห็นคุณค่าในตนเอง และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (self-esteem and achievement motivation) นั่นเอง หมายความว่าคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้นจะต่อต้านการแสวงหาความช่วยเหลือเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเขาควรที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือก็เหมือนกับเป็นการยอมรับว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และจะทำให้สูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเอง แต่ในทางกลับกันคนที่มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำก็จะรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นจึงไม่ทำให้บุคคลสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเองลงไปอีก

 

เช่นกัน ในคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง หมายถึง บุคคลมีความตั้งใจที่จะเอาชนะปัญหาได้อย่างดีและด้วยความสามารถของตนเองเพียงผู้เดียว ก็จะทำให้บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์นั้นไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก เพราะเขามักจะมีความคิดว่าเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ เขาจัดการเองได้ ไม่เห็นต้องไปพึ่งคนอื่นเลย อย่างเขาไม่จำเป็นต้องไปเข้าพบนักจิตวิทยาหรอก จะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราต้องยอมรับกันก็คือ คนทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ฉลาดหรือไม่ฉลาด ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเท่าเทียมกัน

 

ดังนั้นถ้าหากบุคคลมีต้นทุนทางสังคมสูง มีหน้าที่มากมาย มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนักเอาการ การบำรุงรักษาร่างกายและจิตใจให้มีความพร้อมเต็มที่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะถ้าร่างกายและจิตใจของคุณล้มครืนเมื่อไร คนที่ประสบปัญหาไม่ใช่คุณคนเดียว แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้ความรับผิดชอบของคุณ ทำนองว่า ต้นทุนทางสังคมสูง ความเสี่ยงสูง นั่นเอง ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบสุขภาพกายใจเนือง ๆ ว่าตอนนี้คุณไหวไหม ท้อไหม เครียดเกินไปไหม เรียนรู้ที่จะหาทางระบายออกซึ่งปัญหาและความเครียดโดยการแสวงหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณและสังคมที่คุณเป็นคนขับเคลื่อนอยู่ด้วย

 

ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงแต่ปัจจัยที่เกิดจากตัวบุคคลผู้แสวงหาความช่วยเหลือกันมามาก ทีนี้ผมขอกล่าวถึงปัจจัยของผู้ให้การช่วยเหลือบ้างดีกว่า เป็นที่แน่นอนว่าบุคคลย่อมต้องการที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาที่ตนเองกำลังประสบ งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มารับความช่วยเหลือนั้นจะให้ความสำคัญกับความชำนาญ และความน่าไว้วางใจของผู้ให้ความช่วยเหลือ ความสามารถของผู้ให้ความช่วยเหลือ (helper’s ability) จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

นอกจากนี้ จรรยาบรรณในการรักษาความลับของผู้ให้ความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งชีพ เป็นเหมือนตราสัญลักษณ์ประจำกายที่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญต้องยึดไว้ ราวกับว่าถ้าสูญเสียมันไปเราก็ไม่อาจเรียกตนเองว่าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือได้อีกต่อไป งานวิจัยในภายหลังยังพบว่าผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถในการสื่อสาร ความเข้าใจ และการไม่ตัดสินหรือตำหนิผู้รับบริการในทางศีลธรรมนั้นจะประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้ผู้รับบริการเข้ามารับการปรึกษา ตัดสินใจอยู่ในกระบวนการให้การปรึกษาต่อไป และประสบความสำเร็จในการรับบริการ

 

 

ผมขอฝากคำแนะว่าการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือ บุคคลควรเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี วิธีดูก็ง่าย ๆ คือผู้ให้ความช่วยเหลือนั้นควรจะต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับการรับรองจากสถาบันต่าง ๆ มาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลผู้ต้องการแสวงหาความช่วยเหลือ ควรคำนึงไว้ ก่อนเข้ารับการช่วยเหลือนะครับ

 

ทางคณะจิตวิทยาของเรามีการให้บริการให้คำปรึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป ผมขอให้ข้อมูลเผื่อไว้สำหรับคนที่ต้องการใช้บริการนะครับ ว่าสามารถติดต่อไปได้ที่ ศูนย์สุขภาวะทางจิต เปิดให้บริการโดยนักจิตวิทยาและคณาจารย์ของคณะจิตวิทยา ณ ชั้น 5 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ โดยมีเวลาทำการตั้งแต่ 9.00 น. – 17.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการ) สามารถติดต่อนัดหมายหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-218-1171 หรือ ในช่วงที่มีการปิดสถานที่ทำการ สามารถติดต่อได้ที่ 061-736-2859 หรือ Inbox FB: ศูนย์สุขภาวะทางจิต

 

สุดท้ายนี้ผมขอกระตุ้นเตือนบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในบุคคลที่เป็นผู้นำครอบครัวทั้งหลายให้หมั่นประเมินปัญหาที่ตนเองกำลังประสบว่ารับมือไหวหรือไม่ ถ้ารับมือไม่ไหว อยากให้พิจารณาการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างที่เราได้เคยเน้นย้ำกันไปแล้วนะครับว่า การสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองของเขา อาจส่งผลสะเทือนไปถึงคนรักหรือคนรอบข้าง ในสังคมไทยที่เราต้องเลี้ยงดูบุพการีและอยู่ใกล้ชิดกับบุพการีมากกว่าในสังคมอื่น ๆ ถ้าเราเป็นอะไรไปคนหนึ่ง ไม่เพียงแค่ลูกและภรรยาของเราเท่านั้น แต่พ่อแม่ของเราก็จะลำบากไปด้วย บุคคลจึงควรมีการประเมินความคุกคามของปัญหาที่บุคคลประสบ ว่าเป็นสิ่งที่อาจกระทบต่อคนในครอบครัวหรือไม่ ถ้าปัญหานั้นกระทบต่อคนรอบข้าง บุคคลก็จะควรทำการแสวงหาความช่วยเหลือ ดีกว่าเพิกเฉย และปล่อยให้ปัญหาบานปลายออกไปนะครับ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/senivpetro

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้