การรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์การ

22 Jun 2022

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

การที่องค์การจะสามารถแข่งขันในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันได้นั้น องค์การต่าง ๆ พากันมุ่งเน้นการคัดเลือกคนเก่งระดับแนวหน้า และรักษาพนักงานที่เก่งที่มีใจเชื่อมโยงกับงานและองค์การให้อยู่กับองค์การต่อไป

 

ในสงครามการแย่งชิงคนเก่งที่มีทักษะความสามารถสูง ทำให้นักจิตวิทยาและผู้บริหารให้ความสนใจในการสำรวจปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลให้พนักงานเกิดความผูกพัน และจงรักภักดีต่อองค์การ ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถรักษาคนเก่งที่มีทักษะความสามารถไว้ได้

 

จากการศึกษาแนวปฏิบัติด้านทรัพยากรบุคคลและลักษณะขององค์การที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์การ การมีจิตใจเป็นเจ้าของ (Psychological ownership) ที่พนักงานมีต่อองค์การ จัดเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีความสำคัญ ที่ส่งผลต่อเจตคติและพฤติกรรมทางบวก อันจะนำไปสู่ประสิทธิผลขององค์การที่เพิ่มขึ้น และการส่งเสริมการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์การ คำถามก็คือ การมีจิตใจเป็นเจ้าของคืออะไรและ สำคัญอย่างไรต่อการทำให้พนักงานอยู่กับองค์การ

 

 

การมีจิตใจเป็นเจ้าของแตกต่างจากการให้พนักงานมีส่วนเป็นเจ้าขององค์การโดยการถือหุ้นร่วมด้วย แม้ว่าองค์การมากมายต่างพากันมุ่งเพิ่มการจูงใจให้พนักงานอยู่กับองค์การโดยใช้รางวัลหรือสิ่งจูงใจที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น การให้สิทธิในการถือหุ้นองค์การแก่พนักงาน แต่งานวิจัยมากมายกลับพบว่า การให้สิทธิในการถือหุ้นนั้นมิได้สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของทางจิตใจ หรือทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์การอย่างแท้จริง

 

 

การมีจิตใจเป็นเจ้าของ คือ สภาวะที่บุคคลรู้สึกต่อเป้าหมายหรือวัตถุเฉพาะเจาะจง ทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ เช่น ผลการปฏิบัติงาน งาน เครื่องมือ องค์การ หรือแนวคิดต่าง ๆ ว่าส่วนหนึ่งของเป้าหมายหรือวัตถุนั้น ๆ ตนมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย
ซึ่งความรู้สึกของการเป็นเจ้าของนั้นทำให้พนักงานรู้สึกดี และรู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพและความสามารถ อันจะทำให้ต้องการอยู่กับองค์การต่อไป

 

 

 

เหตุผลที่จูงใจให้คนเราต้องการความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ

 

 

คือ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน 3 ประการ ดังนี้

 

1. ความต้องการรับรู้ความสามารถของตนเอง (self-efficacy)

 

กล่าวคือ แรงจูงใจที่ทำให้คนเราต้องการครอบครองหรือเป็นเจ้าของ ก็คือ ความต้องการควบคุมสิ่งต่าง ๆ การที่บุคคลควบคุมสิ่งต่าง ๆ โดยการได้ร่วมเป็นเจ้าของนั้นทำให้เกิดความสุขและทำให้คนรับรู้ถึงความสามารถส่วนบุคคล ดังนั้นการที่องค์การต้องการส่งเสริมให้พนักงานมีจิตใจเป็นเจ้าของต่อองค์การนั้น ก็ควรสนับสนุนการให้พนักงานฝึกบริหารหรือควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในที่ทำงาน ทั้งทางกายภาพและการทำงานกับพนักงานคนอื่น ๆ

 

2. ความต้องการระบุตัวตน (self-identity)

 

พนักงานใช้ความเป็นเจ้าของต่อสิ่งต่าง ๆ ในที่ทำงานเป็นตัวช่วยระบุตัวตนของตนเอง เพื่อแสดงว่าตนเองเป็นใคร เป็นคนอย่างไรและมีบทบาทอย่างไรต่อผู้อื่น โดยผ่านการปฏิสัมพันธ์กับองค์การ หน้าที่ หรือเป้าหมายในการทำงาน ดังนั้น องค์การต้องทำให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนและเหมาะสม รู้ว่าองค์การคาดหวังอะไรจากพวกเขา

 

3. ความต้องการที่พักพิง (having a home)

 

ซึ่งหมายรวมถึงความต้องการเป็นส่วนหนึ่งทางจิตใจที่นอกเหนือจากความต้องการทางกายภาพด้วย เมื่อพนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ ก็จะนำไปสู่การมีจิตใจเป็นเจ้าของต่อองค์การ ดังนั้น องค์การต้องตระหนักเรื่องความต้องการทางสังคมของพนักงานด้วย

 

 

 

องค์การจะสามารถสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง

 

 

เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อองค์การเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาให้คนเก่งอยู่กับองค์การต่อไป

 

1. ควรสนับสนุนการควบคุมเป้าหมายของความเป็นเจ้าของ

 

การที่ให้พนักงานควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในการทำงาน จะเพิ่มความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมากขึ้น พนักงานที่เริ่มตระหนักหรือเชื่อว่าตนสามารถควบคุมวัตถุหรือสิ่งนั้นๆ ได้ ก็จะยิ่งรู้สึกว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของตนด้วย

ดังนั้น องค์การสามารถสนับสนุนสมาชิกในองค์การให้มีโอกาสในการบริหารควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการทำงาน เช่น การออกแบบการทำงานก็จัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนเรามีความรู้สึกว่าตนควบคุมสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จะเห็นได้ว่างานหรือภารกิจใดที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยการบริหารจัดการตนเองมากขึ้น ก็ยิ่งสะท้อนถึงการควบคุมสิ่งต่าง ๆ นำไปสู่ความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อเป้าหมายหรือสิ่งนั้น

 

2. การทำให้พนักงานรู้จักเป้าหมายหรือสิ่งต่าง ๆ ในงานมากขึ้น

 

การที่คนเรามีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งใดแล้ว เรามักจะหลอมรวมไปกับสิ่งนั้น ดังนั้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับงาน  เป้าหมาย หรือสิ่งต่าง ๆ ในงานมากขึ้น พนักงานก็จะมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อองค์การเข้มข้นยิ่งขึ้น พนักงานจะเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งนั้น ๆ ในงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้มีส่วนร่วม หรือเชื่อมโยงกับสิ่งนั้น ๆ อย่างเชิงรุก

มีกระบวนการมากมายที่องค์การจะสามารถส่งเสริมให้สมาชิกมีโอกาสรู้จักเป้าหมาย งาน โปรเจค และทีมงานมากขึ้น เช่น เมื่อสมาชิกในองค์การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพันธกิจขององค์การ เป้าหมายและผลการปฏิบัติงาน พวกเขามีแนวโน้มที่จะรู้รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์การมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อองค์การ

อย่างไรก็ตามการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการพัฒนาความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ความเข้มข้นในการเชื่อมโยงระหว่างพนักงานและเป้าหมาย ต้องอาศัยการติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้งเป็นเวลานาน

 

3. การลงทุนลงแรงกับเป้าหมายต่าง ๆ ในงาน

 

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในแง่ของความพยายาม พลังงาน เวลา และความใส่ใจต่อสิ่งใดก็ตาม จะส่งผลให้พนักงานกลายเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่ง ๆ นั้น และพัฒนาความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสิ่ง ๆ นั้น

องค์การสามารถสนับสนุนโอกาสมากมายให้แก่สมาชิก ในการลงทุนลงแรงหลากหลายด้าน เช่น งาน โปรเจค ผลิตภัณฑ์ รายงาน หรือทีมทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อเป้าหมายนั้น ๆ พนักงานสามารถพัฒนาความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่องานที่เขาทำ เครื่องจักร และผลผลิตที่เกิดจากแรงงานของเขา การลงทุนลงแรงอาจมีหลายรูปแบบทั้ง เวลา ทักษะ ความคิด สติปัญญา หรือทางกายภาพและด้านจิตใจ ส่งผลให้พนักงานอาจเริ่มรู้สึกว่าเป้าหมายนั้น ๆ เกิดมากจากตัวเขา

กิจกรรมในองค์การบางอย่าง เอื้อให้เกิดการลงทุนลงแรงด้วยตนเอง เช่น งานที่ไม่ได้เป็นงาน routine ที่ซับซ้อน ทำให้พนักงานสามารถใช้การตัดสินใจส่วนตัว เขาก็ต้องลงแรงด้านความคิด ความรู้เฉพาะทางที่แตกต่าง รูปแบบการทำงานส่วนบุคคล เช่น วิศวกรอาจรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ตนออกแบบ นักลงทุนหรือผู้ประกอบการรู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์การที่ตนร่วมก่อตั้ง และนักวิชาการอาจรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอย่างแรงกล้าในผลผลิตทางวิชาการที่ตนบรรลุ

 

 

 

ผลลัพธ์ของการที่พนักงานมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อองค์การ

 

การรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของต่อองค์การ สามารถส่งผลให้เกิดเจตคติและพฤติกรรมทางบวก ดังนี้

 

1. ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันต่อองค์การมากขึ้น (organizational commitment)

เช่น รู้สึกว่าปัญหาขององค์การเสมือนปัญหาของตน อยากอยู่กับองค์การต่อไปเพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ต้องตอบแทนองค์การที่ให้โอกาสหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ตน

 

2. ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ (accountability)

คือ หากพนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของต่อองค์การ เขาก็กล้าที่จะทักท้วง หรือท้าทายผู้บริหารให้อธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ตัดสินใจ เพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวขององค์การ

 

3. นำไปสู่ความพึงพอใจในงานเพิ่มมากขึ้น

 

4. ผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีการลงแรงรับผิดชอบในงานมากยิ่งขึ้น

 

5. เพิ่มพฤติกรรมการทำงานนอกเหนือบทบาทหน้าที่

เช่น ให้ความร่วมมือทำงานนอกจากที่ได้รับมอบหมายเพื่อประโยชน์ขององค์การหรือทีมงาน

 

6. มีความตั้งใจที่จะอยู่ต่อกับองค์การต่อไป

 

 

สรุปคือ การที่จะช่วยรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์การนั้น หากคนคนนั้นปราศจากความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งกับองค์การ เขาก็มักจะละทิ้งองค์การไป กลยุทธ์การรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์การแบบดั้งเดิมที่มักเน้นที่การเพิ่มสวัสดิการ ผลประโยชน์ต่าง ๆ สิ่งจูงใจที่เป็นปัจจัยภายนอก กลายเป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก

 

จากงานวิจัยและการสำรวจแนวปฏิบัติในองค์การนั้นพบว่า การสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกับองค์การนั้นมีบทบาทสำคัญในยุคสมัยนี้อย่างเห็นได้ชัด ฝ่ายบริหารต้องทำความเข้าใจว่าการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์การไม่จำเป็นต้องให้แต่สิ่งที่ปัจจัยภายนอกที่จับต้องได้ เช่น พวกเงินหรือสวัสดิการเท่านั้น ควรให้ความสำคัญและไม่มองข้ามปัจจัยทางจิตวิทยาด้วยเช่นกัน

 

 

 


 

 

บทสารคดีทางวิทยุ รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ (ปี 2559) สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/people-management

แชร์คอนเท็นต์นี้