สีในแง่จิตวิทยา – Psychological aspects of color

06 Aug 2018

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

จากการที่เรามองเห็นสีต่างๆ นั้น ทางจิตวิทยาถือว่าสีเป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดการตอบสนอง กระบวนการของสิ่งเร้านี้มีอิทธิพลต่อระบบประสาทของมนุษย์มาก สามารถเปลี่ยนอารมณ์ นิสัยใจคอ ตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์ได้

 

สีเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางตาและก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน การศึกษาเรื่องสีในแง่จิตวิทยานี้มีนักจิตวิทยาหลายคนได้ศึกษาและทดลอง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (Graves, 1951)

 

  1. สีร้อน เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง มีคุณสมบัติเป็นบวก สามารถทำให้เกิดความรู้สึกที่ก้าวร้าว กระสับกระส่าย ตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสีเย็น เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นลบ สามารถเร้าให้เกิดความรู้สึกเยือกเย็น สันโดษ และเงียบสงบ
  2. สีที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว สีส้ม และสีเหลือง ตามลำดับ
  3. สีแดงเป็นสีที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ชื่นชอบ และสีน้ำเงินเป็นสีที่ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบ
  4. โดยทั่วไป ผู้หญิงจะมีความรู้สึกต่อสีไวกว่าผู้ชาย และลักษณะการบอดสีจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  5. สีบริสุทธิ์ (pure color) มักได้รับการเลือกมากกว่าพวกสีค่าแก่ (shades) และสีค่าอ่อน (tints) ในพื้นที่แคบๆ ขณะที่ในพื้นที่กว้างๆ พวกสีค่าแก่และสีค่าอ่อนจะได้รับเลือกมากกว่า
  6. การใช้สีร่วมกันนิยมใช้ในแง่ต่อไปนี้ คือ ใช้สีที่ตัดกัน (contrasted or complementary) ใช้สีที่กลมกลืนกัน (harmonic or analogous) และใช้สีสีเดียว (monochromatic)

 

 

ลักษณะและสัญลักษณ์ของสี (Characteristics and Symbolism of Color)


 

 

สีแต่ละสีได้ก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน มนุษย์จึงได้ให้ลักษณะของสีแต่ละสี และความหมายหรือสัญลักษณ์ไว้ต่างๆ กัน ดังนี้

 

สีเหลือง – เป็นสีที่มีค่าความสว่างมากที่สุด แต่เป็นสีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดโดยเฉพาะเฉดสีเข้ม สีเหลืองเป็นสีแห่งความสว่างสดใส เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์ ความหนุ่มสาว ความฉลาด ความยินดีปรีดา ความรื่นเริงเบิกบาน และความมั่งคั่งสมบูรณ์ ในด้านบวกสีเหลืองทองเป็นสีที่นำมาซึ่งความเมตตากรุณาและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนสีเหลืองหม่นกลับเป็นทางตรงกันข้าม แสดงถึงความอิจฉาริษยา การทรยศหักหลัง การไร้สัจจะ และความขี้ขลาด นอกจากนี้ยังพบว่าสีเหลืองเป็นสีที่โปรดปรานของคนขี้สงสัยที่พูดคุยกับคนอื่นๆ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยง่าย สีเหลืองช่วยทำให้ระบบประสาทเข้มแข็งและปลุกฝังการมองโลกในแง่ดี

 

สีแดง – เป็นสีที่มีค่าสีสูงที่สุด และมีอำนาจดึงดูดความสนใจมากที่สุด เป็นสีที่แสดงถึงความก้าวร้าว ความตื่นเต้นเร้าใจ สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความกระปรี้กระเปร่าและการกระทำ เชื่อมโยงถึงพลังอำนาจ ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความเกรียงไกร การต่อสู้ และภยันตราย สีแดงเป็นสีที่ทำให้เมื่อยตาได้ง่าย และกระตุ้นประสาทได้มากที่สุด สะดุดตาคนได้ในทันทีที่เห็น และจะเบื่อได้เร็วเช่นกัน

 

สีน้ำเงิน – เป็นสีที่แสดงถึงความสุภาพเรียบร้อย สง่าผ่าเผย ความสงบเยือกเย็น ความซื่อสัตย์ และเกียรติยศ สีน้ำเงินเข้มทำให้รู้สึกเงียบสงบ วังเวง และเศร้า ในทางศาสนาสีน้ำเงินแสดงถึงความหวัง ส่วนสีฟ้าอ่อนช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้าและช่วยกล่อมจิตใจให้เบิกบาน ทั้งอาจยังช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้รู้สึกเย็นสบาย สีฟ้าอ่อนเป็นสีของความอดทน

 

สีเขียว – มีลักษณะคล้ายสีน้ำเงิน คือเป็นที่ให้ความรู้สึกค่อนข้างจะเป็นกลาง ให้ความรู้สึกสงบมากกว่ากระตือรือร้น เป็นสีแห่งธรรมชาติ แสดงถึงความสดชื่น ร่มเย็น มีชีวิตชีวา และความศรัทธา สีเขียวมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ความสงบ เป็นสีที่ช่วยให้ปลายประสาทสายตาและกล้ามเนื้อผ่อนคลายจากความตึงเครียด มีงานวิจัยพบว่า คนที่ชอบสีเขียวจะพยายามแสดงความสามารถ สำหรับคนที่ไม่ชอบมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าเป็นคนกลัวปัญหาในชีวิตประจำวัน

 

สีม่วง – เป็นสีแห่งเกียรติยศ เมื่อใช้ในปริมาณมากจะเป็นสีที่แสดงถึงความรู้สึกสงบ เยือกเย็น ภาคภูมิ ส่วนสีม่วงอ่อนทำให้รู้สึกซึมเศร้า เหงา เวิ้งว้าง และลึกลับน่ากลัว คนที่ชอบสีม่วงมักเป็นคนที่มีลักษณะเจ้าอารมณ์และอ่อนไหว และพบว่าสีนี้ชักจูงให้เด็กๆเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ได้

 

สีชมพู – คล้ายกับธรรมชาติที่อ่อนนุ่มและค่อนข้างจะดูเป็นทารก มีงานวิจัยพบว่าคนที่ถือหลักประโยชน์จะไม่ชอบสีนี้

สีน้ำตาล – เป็นสัญลักษณ์ของความกระวนกระวายและความไม่พอใจ

 

สีขาว สีเทา และสีดำ เรียกว่า “achromatic” หมายถึง การไม่มีสี ในทางทฤษฎีไม่จัดว่าเป็นสี แต่ก็มีอิทธิพลต่อสภาวะอารมณ์เช่นกัน

 

สีขาว – เป็นสีที่สว่าง นุ่มนวล ให้ความรู้สึกในทางบวกมากกว่าสีดำและสีเทา สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา และสันติภาพ บางครั้งหมายถึงการยอมแพ้หรือการสงบศึก ดูจะเป็นสีในอุดมคติที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและข้อโต้แย้งใด ๆ ในประเทศจีนใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียและการไว้ทุกข์ ส่วนชาวตะวันตกหมายถึงสีของเครื่องแต่งกายเจ้าสาวในวันแต่งงาน

 

สีเทา – แสดงถึงการเกษียณอายุ ความสุขุม รอบคอบ ความสงบเสงี่ยมถ่อมตัว เคร่งขรึม และความแก่ชรา เป็นสีของการประนีประนอม บ้างก็ว่าเป็นสีของคนที่มีลักษณะของใช้เหตุผลและไม่ค่อยไว้ใจอะไรง่าย ๆ

 

สีดำ – เป็นสีที่แสดงถึงความเคร่งขรึม ความมืด ความลึกลับ น่าเกรงกลัว ให้ความรู้สึกเศร้าหมอง สีดำเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ความโศกเศร้า และความตาย เคยถูกมองว่าเป็นสีของคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มองชีวิตอย่างหดหู่ และไม่สู้จะมีความสุข

 

 

 

 

 

 

สีกับบุคลิกภาพ (Color and Personality)


 

 

ในปี 1921 Rorschach ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองต่อสีและลักษณะบุคลิกภาพ โดยเขาสังเกตว่า บุคคลที่ซึมเศร้าจะมองทุกอย่างเป็นสีดำ และคนไม่สามารถจินตนาการงานปาร์ตี้ที่สนุกสนานโดยปราศจากสีได้ นอกจากนี้สียังดึงบุคคลออกจากความตึงเครียดได้

 

ต่อมา ในปี 1947 Luscher ได้ทำแบบทดสอบสีเพื่อประเมินบุคลิกภาพ แบบทดสอบนี้กล่าวถึงลำดับการชอบสีของบุคคล โดยสีที่ใช้มี 8 สี ได้แก่ แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง น้ำตาล ม่วง เทา และดำ วิธีการเลือกสีให้ผู้เลือกดูสีแล้วบอกลำดับการเลือกโดยไม่ต้องนำไปเชื่อมโยงว่าเป็นสีของอะไร เป็นการเลือกสีที่ตัวสีเอง จากนั้นจึงนำลำดับการเลือกสีนั้นๆ มาทำนายบุคลิกภาพ

 

การทำนายบุคลิกภาพขึ้นอยู่กับลำดับ 8 ลำดับของสีทั้งแปด และคำทำนายจะปรับเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ของลำดับเหล่านี้ เช่น ผู้ที่เลือกสีใดเป็นอันดับแรกจะมีบุคลิกอย่างไร

 

  • สีเขียว เป็นผู้มีความนับถือในตนเอง โดยแสดงออกทางการวางอุดมคติสำหรับตนเอง หรือโดยการแสวงหาชื่อเสียง ต้องการชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพสำหรับตนเองและผู้อื่น
  • สีแดง เป็นผู้คำนึงถึงความสำเร็จ ปรารถนาในความตื่นเต้นที่จะเพิ่มรสชาติในชีวิตและประสบการณ์ ต้องการชัยชนะ โดยจะแสดงออกมาในรูปของการประชันแข่งขัน และการเสี่ยงโชค
  • สีน้ำตาล เป็นผู้คำนึงถึงความปลอดภัยของครอบครัว ความอบอุ่นภายในบ้าน จะคบเพื่อนที่เหมือน ๆ กับตน มีความต้องการทางวัตถุ รักความสะดวกสบาย และในขณะเดียวกันก็รักสันโดษ
  • สีเทา เป็นผู้ที่ชอบกันตนเองออกจากอิทธิพลภายนอก ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ชอบที่จะเป็นผู้เฝ้าดูอยู่เบื้องหลัง เป็นคนระมัดระวังตน และมักจะสร้างเกราะป้องกันตน
  • สีน้ำเงิน เป็นผู้เคร่งครัดเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ต้องการความสงบและสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องการให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ดำเนินอย่างนุ่มนวลไม่ติดขัด มีความกลมกลืนทางร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณที่สงบสันโดษ เป็นผู้มีธรรมะและจรรยาที่สมบูรณ์แบบ
  • สีเหลือง เป็นผู้ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง ปรารถนาสูงสุดถึงความสุขสมบูรณ์ในชีวิต มีความหวังในอนาคต รักความก้าวหน้า ชอบสิ่งใหม่ๆ ทันสมัย เป็นนักพัฒนา
  • สีม่วง เป็นผู้มีเสน่ห์ น่าสนใจต่อผู้คนทั้งหลาย และพยายามทำให้ผู้อื่นติดใจหลงใหล
  • สีดำ เป็นผู้ที่รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ผิดที่ผิดทาง เป็นคนดื้อรั้น ต่อต้านทิศทางของโชคชะตา

 

นอกจากนี้ Schaie ปี 1957 เสนอว่า สีมีอิทธิพลต่อระบบชีวภาพ โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อความสว่างและความมืดของสี สีจึงมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของมนุษย์ เขาได้คิดค้นแบบทดสอบบุคลิกภาพปิรามิดของสี ใช้สีทั้งหมด 9 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง ดำ ขาว และน้ำตาล โดยมีเฉดสีต่างๆ กันออกไปอีกถึง 24 สี เขากล่าวว่า ผู้ที่จัดเรียงปิรามิดของสีโดยใช้สีหลาย ๆ สี และจัดไม่เป็นระเบียบ มักมีบุคลิกภาพแบบไม่แน่นอน ส่วนคนที่ใช้สีเพียง 2 สี และสลับกันแถวละสีอย่างเป็นระเบียบ แสดงถึงเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบเข้มงวด และสำหรับผู้ที่ใช้สีหลายสี แต่มีการจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ แสดงว่าเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบมีโครงสร้างที่ดี

 

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีปฏิบัติการสูง มุ่งสู่เป้าหมาย และมีการควบคุมการแสดงออกที่ดีจะชอบสีเหลือง ส่วนพวกที่ชอบสีแดงเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรม พวกที่ชอบสีม่วงเป็นกลุ่มที่มีความวิตกกังวลและมีความตึงเครียด

Chougourian (1968) เชื่อว่า การที่มนุษย์ชอบสีใดสีหนึ่งนั้น ตัวตัดสินไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางอารมณ์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วย

 

เมื่อเขาทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย 4 ชาติ คือ อเมริกัน เลบานอน คูเวต และอิหร่าน เพศชายและหญิงเท่า ๆ กัน สีที่ใช้มี 8 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียวใบไม้ เขียวน้ำทะเล คราม น้ำเงิน และม่วง โดยเสนอสีให้ดูเป็นคู่ ๆ ผลปรากฏว่า สีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีที่นักศึกษาอเมริกันชอบมากที่สุด ในทางกลับกันเป็นสีที่นักศึกษาคูเวตชอบน้อยที่สุด สีเขียวครามเป็นสีที่นักศึกษาอเมริกันชอบน้อยที่สุด แต่เป็นสีที่นักศึกษาอิหร่านและคูเวตชอบมากที่สุด ส่วนสีที่อยู่ในลำดับกลาง ๆ ของทั้ง 4 ชาติ ได้แก่ สีส้ม และสีเขียวใบไม้ สำหรับความแตกต่างระหว่างเพศในการชอบสีนั้นไม่เด่นชัดนัก มีเพียงสีเดียวคือ สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่ชื่นชอบของเพศชายในขณะที่เพศหญิงไม่ชอบ

 

 

งานวิจัยไทย : สีกับสภาวะอารมณ์


 

 

งานวิจัยของซูฟียา เจะอารง ปี 2547 ที่ทดสอบเรื่องการเชื่อมโยงสีกับสภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ตอนต้นหญิงและชาย พบว่า
กลุ่มตัวอย่างเชื่อมโยงสีแดงกับสภาวะอารมณ์ตื่นเต้น สีเขียวและสีเหลืองกับสภาวะอารมณ์สบายใจ สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีน้ำตาลกับสภาวะอารมณ์อบอุ่น สีน้ำเงินและสีน้ำตาลกับสภาวะอารมณ์ปลอดภัย สีส้มและสีเหลืองกับสภาวะอารมณ์สนุกสนาน สีแดง สีเทา และสีดำกับสภาวะอารมณ์ต่อต้าน สีแดงกับสภาวะอารมณ์มีพลัง และสีดำกับสภาวะอารมณ์โศกเศร้า โดยไม่พบความแตกต่างทางเพศและกลุ่มอายุในการเชื่อมโยงสีกับอารมณ์

 

ซูฟียา เจะอารง เสนอว่าข้อค้นพบนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวคิดเชิงพาณิชย์ ในการออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็สามารถกระตุ้นสภาวะอารมณ์ของผู้บริโภคให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิตได้

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“การเชื่อมโยงสีกับสภาวอารมณ์ของวัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ตอนต้น” โดย ซูฟียา เจะอารง (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75

 

ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้