Psyche Poll #2 : Poll เลือกตั้ง 2562

13 Mar 2019

บริการวิชาการ

 

Election Poll :

เหตุผลของการตัดสินใจ ปัญหาที่อยากให้เร่งแก้ไข และคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ

 

 

โพลลำดับที่ 2 ของเพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเราได้ห่างหายจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นกันมานานพอสมควร การเลือกตั้งหนนี้จึงเรียกความตื่นตัวให้กับคน 50 กว่าล้านคนทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี

 

ครั้งนี้มีท่านผู้มีอุปการะคุณมาร่วมตอบโพลนี้ทั้งสิ้น 173 คน เป็นผู้หญิง 125 คน (72.3%) ผู้ชาย 43 คน (24.9%) และเพศอื่นๆ 5 คน (2.9%) มีอายุเฉลี่ย 29.86 ปี (ต่ำสุด 14 ปี และสูงสุด 67 ปี) การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด (49.7%) ตามด้วยปริญญาโท (40.5%) เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ (67.6%) และเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคกลาง (9.2%)  ภาคใต้ (0.9%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (5.8%) ภาคเหนือ (4.6%) ภาคตะวันตก (1.7%) และภาคตะวันออก (1.2%) ตามลำดับ (ไม่ระบุ 2.9%)

โดยกว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาแล้ว และอีก 1 ใน 3 ไม่เคยใช้สิทธิ์หรือไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาก่อน

 

 

 

 

จากคำถามใน Psyche Poll#2 ของเราที่ประกอบด้วย
  • การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ท่านมีตัวเลือกในใจแล้วหรือยัง
  • สิ่งที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของท่าน ในการเลือกตั้งครั้งนี้
  • ปัญหาที่ท่านอยากให้รัฐบาลใหม่ แก้ไขหรือปฏิรูปมากที่สุด
  • คุณสมบัติ 3 ข้อสำคัญของผู้นำที่ท่านต้องการ

 

ผลการสำรวจปรากฏดังนี้

1. ตัวเลือกในใจ

 

 

 

ผู้ตอบโพลส่วนใหญ่มีตัวเลือกในใจในการเลือกตั้งครั้งนี้แบบแน่วแน่ไม่เปลี่ยนใจ (38.7%) แต่ก็ไม่ทิ้งห่างกันนักกับกลุ่มที่ถึงแม้จะมีตัวเลือกในใจแต่ก็ยังเอนไปเอนมา (32.9%) แล้วก็มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยังไม่ตัดสินใจ (26.6%) และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจแล้วว่าเลือกที่จะไม่เลือก (1.7%)

 

เป็นที่น่าสนใจว่า โดยทั่วไปแล้วเรื่องการเมืองถือเป็นเจตคติ (attitude) ที่หนักแน่นเปลี่ยนแปลงได้ยาก คนมักมีความชอบและเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อแนวคิดทางการเมืองและพรรคการเมืองแบบแทบที่จะไม่สามารถโน้มน้าวได้ ดังที่เรามักพูดกันว่า จะเถียงกันเรื่องใดก็เถียงไป แต่อย่าเถียงกันเรื่องการเมืองและศาสนา

 

แต่จากข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ นี้ หลายคนเลือกที่จะไม่ออกตัวแรง หรือชะลอการตัดสินใจเอาไว้จนถึงนาทีสุดท้าย สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างออกไป

 

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเกือบ 5 ปี โครงสร้างการแข่งขันหรือส่วนแบ่งทางการตลาดเปลี่ยนรูปแบบออกไป จากที่เคยมีพรรคใหญ่ ๆ ไม่กี่พรรค ครั้งนี้ด้วยรูปแบบการนับคะแนนที่เปลี่ยนไปจากเดิมทำให้มีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กแตกขยายออกเป็นจำนวนมาก มีพรรคใหญ่ที่เป็นพรรคใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือกที่มาแรงทั้งกระแสและฐานความนิยม

 

และระหว่างที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวทุกพรรคก็ได้ซุ่มตระเตรียมนโยบายด้านต่าง ๆ พร้อมออกมาขายกันอย่างมากมาย นับว่ามีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะได้ใช้พิจารณา

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องที่จะต้องชั่งน้ำหนักอีกหลายประการ ได้แก่ เราจะเลือกจากอะไรเป็นสำคัญ ระหว่าง “ผู้สมัครในเขต” “พรรคการเมือง” หรือ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เพราะมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เราจะพอใจผู้สมัครจากพรรคหนึ่ง แต่มีจิตใจต่อต้านหรือโอนเอียงต่อพรรคหนึ่ง และประทับใจต่อตัวแคนดิเดตนายกฯ จากอีกพรรคหนึ่ง และข้อกังวลว่า ถ้าไม่เลือกพรรคนี้ พรรคนั้นเขาจะมาแน่ใช่หรือไม่ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) เหล่านี้ก็นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจ

 

และนี่จึงนำไปสู่คำถามข้อถัดไป ว่าด้วย

 

 

2. ตัวกำหนดการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

 

 

เมื่อมีตัวเลือกจำนวนมาก ข้อมูลประกอบมาก และ dilemma มาก ทั้งสมองและอารมณ์ของเราก็ต้องทำงานอย่างหนัก

 

โดยเมื่อโพลให้เลือกถึงตัวกำหนดการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ 3 ข้อจากตัวเลือกทั้งสิ้น 7 ตัวเลือก พบว่าสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ตอบโพลคือ นโยบายที่ถูกใจ ตามมาด้วยความชื่นชอบในตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ความชื่นชอบในพรรคการเมือง และความชื่นชอบในตัวผู้สมัครในเขตของตนเอง ส่วนตัวกำหนดที่อาจจะมีน้ำหนักน้อย แต่ก็ไม่ได้ไร้อิทธิพลเสียทีเดียว ก็คือ กระแสสังคม อิทธิพลจากครอบครัวและเพื่อนฝูง

 

หลักจิตวิทยาเกี่ยวกับการตัดสินใจนั้น มีอธิบายไว้มากมายหลายทฤษฎี เช่น การเลือกด้วยทางสายแกนและทางสายเปลือก คือเราอาจถูกโน้มน้าวใจได้ด้วยข้อมูลอันมีเหตุมีผล มีการพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หรือเราอาจถูกโน้มน้าวใจได้ด้วยภาพลักษณ์ ความสวยงาม ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล รวมถึงอคติทางบวกและทางลบที่มีอยู่เดิม

 

โดยสิ่งใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสนใจในเรื่องนั้น และบุคลิกภาพส่วนบุคคล (ความต้องการทางปัญญา)

 

อีกทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล คือ ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน ที่กล่าวว่าบุคคลจะมีพฤติกรรมเป็นเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ เจตคติ บรรทัดฐาน และความเชื่อในอำนวจควบคุม ถ้านำทฤษฎีนี้มาประยุกต์กับในกรณีนี้ เราสามารถอธิบายได้ว่า พฤติกรรมการเลือกหรือเจตนาที่จะเลือกของเรา สามารถอาจเป็นไปตามเจตคติหรือความเชื่อความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเลือกต่าง ๆ และอาจโน้มเอียงไปตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ หรือกระแสในสื่อหลักและสื่อออนไลน์ (ซึ่งจะส่งอิทธิพลอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับในสังคมแบบคติรวมหมู่) และยังขึ้นอยู่กับการที่เรารับรู้ว่าเรามีอำนาจในการเลือกนั้นแค่ไหน เราสามารถเลือกได้ตามใจเราหรือไม่ หรือเสียงของเรามีความหมายเพียงใด สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่

 

ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้เลือกตอบถึงตัวนโยบาย หรือพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ก็อาจไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ใช้ทางสายแกนในการคิด แต่เป็นเพราะตระหนักว่าอคติและอิทธิพลทางสังคมมีผลต่อการตัดสินใจของตนเอง ทั้งยังมีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจของสิทธิ์และเสียงของตนเองอีกด้วย

 

 

3. ปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขหรือปฏิรูปมากที่สุด

 

 

 

มาถึงประเด็นที่คนให้ความสำคัญและฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่

 

เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งตลอดกาล เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุกผู้ทุกคน ไม่ว่าจะวัยใด ฐานะไหน มีบทบาทสถานะอะไร ความมีอยู่มีกิน ไร้หนี้สิน มีสภาพคล่องก็เป็นยอดปรารถนา เศรษฐกิจที่ดีนำมาซึ่งความบริบูรณ์ของปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่องลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ที่เสนอว่า มนุษย์มีความต้องการหลายอย่าง มากน้อยแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของชีวิต โดยความจำเป็นพื้นฐานที่มีความจำเป็นมากที่สุดจะอยู่ในชั้นฐานของปิระมิดที่มีพื้นที่มากที่สุด และความจำเป็นในระดับรองลงมาก็จะอยู่ในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไปจนถึงยอดปิระมิดที่มีพื้นที่น้อยที่สุด

 

มาสโลว์กล่าวถึงความต้องการในชั้นฐาน ซึ่งก็คือความต้องการทางกายภาพ เป็นความต้องการเพื่อความอยู่รอด ความต้องการพื้นฐานนี้จำเป็นจะต้องได้รับการเติมเต็มก่อนความต้องการใด ๆ ความมั่นคงปลอดภัย มิตรภาพและความรัก ความเคารพนับถือ และการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ยังรอได้หากความต้องการทางกายภาพยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือเราอาจมองได้ว่า ความเพียงพอทางกายภาพนี้เองจะเป็นต้นทุนสำหรับการสร้างและแสวงหาความต้องการด้านอื่น ๆ

 

ถัดจากเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญในอันดับต่อมา อาจด้วยหลายคนมองว่าการศึกษาเป็นต้นตอแห่งความเจริญพัฒนาของเรื่องอื่น ๆ (หรือความเสื่อมหากจะมองกลับกัน) หากอยากแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องพัฒนาที่คุณภาพคน ซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพก็จะเป็นตัวรับประกันคุณภาพคนประการหนึ่ง และด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบโพลนี้เกือบทั้งหมดจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จึงเป็นกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และเห็นปัญหาที่คิดว่าประเทศควรได้รับการแก้ไข

สำหรับประเด็นคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเรื่องระบบราชการ ด้วยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบอุปถัมป์ ปัญหาลักษณะนี้จึงพบได้ทั่วไปในสังคมทุกระดับ แม้วิธีคิดหรือวัฒนธรรมของคนในสังคมเองที่เป็นตัวบ่มเพาะปัญหา แต่การจะเปลี่ยนแปลงถึงระดับรากฐานนั้นเป็นงานใหญ่ที่ผู้คนต่างคาดหวังให้รัฐบาลที่ประชาชนให้อำนาจ จะใช้อำนาจในการสร้างกฎระเบียบ วิถีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่

 

ในทางจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเชื่อเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและวัฒนธรรม แม้จะต้องมีองค์ประกอบที่เอื้อหลายๆ อย่าง และได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่ผู้นำก็เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงของผู้นำจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้

 

จึงมาถึงคำถามประเด็นสุดท้าย

 

 

4. คุณสมบัติ 3 ข้อสำคัญของผู้นำที่ท่านต้องการ

 

ผู้นำ (leader) คือตัวแทนของกลุ่ม คือผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจของกลุ่ม คือตัวกลางในการสื่อสาร การประสานการทำงานของกลุ่ม คือผู้กำหนดทิศทาง เป้าหมายและแรงจูงใจของกลุ่ม ทั้งยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของกลุ่ม

 

ในทางจิตวิทยามีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของผู้นำเป็นจำนวนมาก รวมถึงงานที่ศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบหรือสไตล์ของผู้นำที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ โดยคุณสมบัติที่ทำให้บุคคลได้รับการยอมรับเป็นผู้นำนั้นมีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ด้านสติปัญญา ความรู้ความสามารถ การมีส่วนร่วมในงาน บุคลิกภาพ สายสัมพันธ์ กระทั่งเรื่องรูปร่างหน้าตา

 

สำหรับเรื่องสติปัญญา การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า โดยทั่วไปแล้วผู้นำมักมีระดับสติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม กลุ่มต้องการผู้นำที่ฉลาดกว่าสมาชิก (แต่ไม่ต้องมากนักก็ได้) มีความรู้มากกว่า ตัดสินใจได้เด็ดขาดกว่า มีไหวพริบ พูดคล่องกว่า และความฉลาดที่จำเป็นคือความฉลาดทางอารมณ์และสังคม มีความยืดหยุ่นที่จะปรับบทบาทของตนเองได้ว่าสถานการณ์ใดควรมุ่งงาน และสถานการณ์ใดต้องมุ่งคน (task and relationship oriented)

 

ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ก็เป็นประเด็นสำคัญ ผู้นำที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นสูง และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความกระตือรือร้น ที่จะใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะที่มี อุทิศให้กับงาน เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มประสบความสำเร็จ คือผู้นำที่สมาชิกกลุ่มชื่นชอบ

ด้านบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสรุปได้ยาก แต่โดยทั่วไปพบว่าผู้นำมีลักษณะต่อไปนี้สูงกว่าสมาชิก ได้แก่ พลังงานและอำนาจ ความรับผิดชอบ การปรับตัว ความมั่นใจในตนเอง ความตื่นตัว การควบคุมอารมณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ คุณธรรม ความเป็นชายและความเป็นหญิง (masculinity-femininity) การเปิดตัว (extraversion) เป็นต้น

 

เรื่องหน้าตาใครคิดว่าไม่สำคัญ แม้ความสวยความหล่อจะไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพการนำของบุคคล แต่ในด้านความน่าเชื่อถือ ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาดี เหมาะกับวัย ก็จะมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องความลำเอียงทางปัญญาว่าด้วย Halo Effect  คือการที่เรารับรู้ลักษณะที่ดีประการหนึ่งของบุคคล ส่งผลให้เราประเมินว่าบุคคลมีลักษณะอื่นๆ ในทางที่ดีด้วย ดังนั้นคนที่หน้าตาดี จึงมักได้รับการประเมินอย่างลำเอียงว่าเป็นคนเก่งและมีอุปนิสัยที่น่าพึงปรารถนาด้วย

 

อย่างไรก็ดี รูปร่างหน้าตาไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิด Halo Effect ความร่ำรวย การศึกษา ฐานะทางสังคม หน้าที่การงาน เสน่ห์ ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

 

ข้างต้นที่กล่าวมานั้นคือคุณสมบัติทั่วไปของบุคคลที่ได้รับการยอมรับให้มาเป็นผู้นำกลุ่ม สำหรับการเป็นผู้นำประเทศ สมาชิกกลุ่มคือประชาชนทุกคนในประเทศ ดังนั้นคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านั้นจึงต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เป็นผู้กำหนดทิศทาง และประสานการทำงานที่จะส่งผลต่อพลเมืองทุก ๆ คน

 

เรามาดูกันว่า คุณสมบัติใดที่มีน้ำหนักในมุมมองของผู้ตอบโพลมากที่สุด

 

 

 

 

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ที่ลงมือทำงานเองทุกอย่าง อาจไม่ต้องมีความสามารถเฉพาะด้านเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นผู้ที่มองภาพรวมออก กำหนดทิศทางได้ เรื่องวิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกลจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญเป็นอันดับที่หนึ่ง ไม่ไกลกันนักกับลำดับที่สาม คือเรื่องความฉลาดมีไหวพริบ เนื่องจากงานนายกรัฐมนตรีเป็นงานที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ กำกับ ติดตาม การทำงานของคณะทำงาน จะต้องมองเห็นปัญหาอย่างรวดเร็ว และตอบสนองต่อปัญหาในทางสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งรู้เท่าทันในตัวบุคคลและสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่

 

นอกจากนี้ ในตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์สูง คุณธรรมจริยธรรมก็เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่อาจละเลยได้ นายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องเป็นคนดีที่สุด แต่ถ้าเมื่อใดที่มีความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม จะต้องละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมให้ได้ ความซื่อสัตย์สุจริตอาจไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็น (จะผิดสัญญาบ้างก็ได้) แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำ ซึ่งผู้นำคือผู้ที่ทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มด้วยความเห็นชอบจากสมาชิก ดังนั้นความซื่อสัตย์สุจริตที่ชาติต้องการ คือความซื่อสัตย์สุจริตที่นำมาเพื่อประโยชน์ของคนในชาตินั่นเอง

 

เรามักมีคำถามว่า ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับคนดีจะเลือกอะไร สำหรับคำถามนี้ นักจิตวิทยาจะตอบว่า ผู้นำประเทศไม่ต้องเก่งมากหรือดีมากกว่าใคร แต่ต้องทั้งเก่งและดีไปด้วยกัน

 

แชร์คอนเท็นต์นี้