ถอดความ PSY Talk เรื่อง ทำอย่างไร? เมื่อบ้านไม่ใช่ Safety Zone ครอบครัวไม่ใช่ที่เซฟใจ

05 Apr 2023

บริการวิชาการ

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

ทำอย่างไร? เมื่อบ้านไม่ใช่ Safety Zone ครอบครัวไม่ใช่ที่เซฟใจ

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล (อ.นุท) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิก
  • อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (อ.นีท) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและการสื่อสาร

 

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 – 11.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่

https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1184208352457325

 

 

 

 

พื้นที่ปลอดภัยภายในบ้านเป็นอย่างไร


 

อ.นุท

พื้นที่ปลอดภัย คือ การที่บ้านเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนในบ้านได้เชื่อมต่อกัน ไม่ว่าเวลาดีหรือเวลาร้าย คือการที่ทุกคนกล้าที่จะพูดคุยและเข้าหากันได้อย่างเป็นตัวเอง อย่างเปิดเผย ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบที่ตัวเองไม่อาจยอมรับหรือไม่อยากที่จะได้รับ

 

อ.นีท

สำหรับเด็กเล็กที่ยังใช้ภาษาได้ไม่ชัด ความรู้สึกจึงสำคัญ การสื่อสารของพ่อแม่ที่ไม่ต้องคิดว่าลูกจะไม่เข้าใจ สามารถพูดกับลูกได้ตั้งแต่ทารกไปเลย เป็นการปูพื้นให้รู้ว่านี่คือน้ำเสียง บรรยากาศ และความรักที่พ่อแม่มีให้ และถ้าเขาหนาวมีคนหาผ้าห่อให้ ถ้าเขาหิวมีคนทำอะไรให้กิน และเวลาเขาร้องไห้ พ่อแม่อาจจะยังตีความไม่ออกว่าเพราะอะไร แต่พ่อแม่ที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นได้คือพ่อแม่ที่พยายามตีความความหมายของการร้องไห้ด้วยการลองทุกวิถีทาง หิวหรือเปล่า หรือปวดท้อง หรือร้อนหนาวเกินไป

 

แม้ว่าเราจะยังสื่อสารกับลูกทารกไม่ได้ แต่เด็กเขาจับความรู้สึกได้หมด เช่น เสียงที่โกรธ เสียงที่สนุก ดีใจ แม้ภาษาของเขาจะยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่เขาก็รู้ว่าวิธีการพูดแบบนี้คือบรรยากาศที่ดี รู้ว่าเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ตะโกนใส่กัน เป็นสิ่งที่เขากลัว อย่างที่เราเคยเห็นคลิปเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกทารกก็จะร้องไห้จ้า

 

เด็กสามารถจับความรู้สึกได้ และบรรยากาศที่เขารับรู้มันจะบอกไปถึงว่าเขาจะรู้สึกปลอดภัยหรือเปล่า รู้สึกว่าในสองปีแรกที่เขายังเดินไม่คล่องยังพูดไม่เก่ง เขาไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้นอกจากการร้องไห้ เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ทะเลาะกันต่อหน้าเขา เขาก็จะรู้สึกว่านี่ไม่เป็นเซฟโซนของเขาแน่เลย เพราะบรรยากาศมันไม่ดี

 

อ.กล้า

เคสเด็กและวัยรุ่นที่บอกว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน ก็มักจะเป็นเคสที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ มีความรู้สึกไม่มั่นคงทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นในมุมมองของนักจิตวิทยาตามทฤษฎี schema therapy พื้นที่เซฟโซนจะประกอบไปด้วย 5 ลักษณะ

  1. เด็กจะต้องเติบโตและรู้สึกปลอดภัย ทั้งร่างกายและจิตใจ รู้สึกว่าได้รับความรักความอบอุ่น ไม่ถูกลงโทษหรือตำหนิว่ากล่าวอย่างรุนแรง
  2. เด็กจะต้องได้มีโอกาสได้แสดงออกถึงความสามารถ สิ่งที่เขาชอบ ที่เขาถนัด
  3. เด็กต้องมีโอกาสแสดงออกถึงความรู้สึกความต้องการของเขา ถ้าเขาโกรธ ก็ได้มีโอกาสแสดงออกอย่างเหมาะสม ถ้าเขาดีใจ ก็มีโอกาสได้แสดงออกกับพ่อแม่หรือคนรอบตัวอย่างเหมาะสม
  4. เด็กต้องมีโอกาสได้เล่น ได้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติของเด็ก
  5. เด็กได้รับความคาดหวังของพ่อแม่อย่างเหมาะสม พ่อแม่จัดเตรียมเรื่องระเบียบวินัยให้อย่างไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป

 

ถ้าพื้นที่เซฟโซนตรงนี้เขาไม่ได้รับอย่างเหมาะสม เด็กจะสร้างเลนส์ตาทางจิตวิทยา คือมีการมองโลกทางบวกหรือลบจนเกินไป และนำมาสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาซึมเศร้า ก้าวร้าว หรือวิตกกังวลมากเกินผิดปกติ หรือวัยรุ่นบางคนมีลักษณะของ self-entitlement คือมองว่าโลกเป็นของฉันทั้งหมด

 

อ.หยก

ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ถ้าพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี ก็จะสร้างบรรยากาศเชิงบวกในบ้าน และเด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ มีการเลียนแบบทางอารมณ์ หรือเจริญรอยตาม ดังที่เราเห็นกันในหลาย ๆ ประเด็นของสังคมไทย บางครั้งบุคคลที่ก่อเหตุไม่ดีในสังคม เขาอาจจะมีพื้นหลังทางครอบครัวที่ไม่ดี

 

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในบ้าน โรงเรียน และทุกพื้นที่ที่เด็กเข้าถึง


 

อ.นุท

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทำได้ในทุกระดับ โดยอาจจะเริ่มจากระดับครอบครัว ให้เด็กเขาได้เติบโตมาได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงสังคม สามารถที่จะเป็นตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวผลเสีย หรือการตัดสินในแง่ลบจากคนในครอบครัว และถ้าจะขยายมุมมองไปในมิติอื่น ๆ ของสังคม เช่น สถานศึกษา ถ้ามองจากมุมจิตวิทยาการปรึกษา ก็คือการให้อยู่บนพื้นฐานของการเข้าอกเข้าใจ ให้รู้ว่าโลกใบนี้ยังมีใครบางคนที่เข้าใจฉันและยอมรับฉันในแบบที่ฉันเป็น เราก็จะสามารถเติบโตแบบที่เป็นเรา และมีความเชื่อมั่นในดำรงตนอยู่บนโลกใบนี้ อย่างไม่มีอุปสรรคหรือมีข้อขัดแย้งในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกดีกับตัวเอง กับความสัมพันธ์ที่มีกับผู้อื่น รวมถึงกับโลกใบนี้ด้วย อันนี้เริ่มมาจากคนรอบตัวของเด็ก ๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่ครอบครัว แต่เป็นทั้งชุมชมที่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งขึ้นมา

 

ดังนั้นทั้ง community หรือสังคมแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ล้วนมีความจำเป็น ในโรงเรียนก็สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ โดยคุณครูเป็นพื้นที่หลัก เพราะเป็นคนส่งต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในโรงเรียนที่สำคัญ คุณครูที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้คือคุณครูที่ไม่ใช้อำนาจนิยม คือการไม่แสดงความเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง การลงโทษเด็กอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงโทษทางกายเพราะมันจะมีผลต่อจิตใจด้วย และคุณครูจะต้องเป็นคนที่เด็กรู้สึกว่าจะยอมรับในความเป็นเขา และเป็นคนที่เขาจะสามารถเข้าถึงได้เสมอ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ครูก็สามารถมองลึกเข้าไปได้ว่าอะไรที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ คุณครูที่พยายามเข้าใจเรื่องราว ไม่ได้มองว่าคือเด็กเป็นปัญหา แต่มองว่าอะไรบ้างที่นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจจะมาจากประสบการณ์วัยเด็กที่ยากลำบาก สภาพแวดล้อมครอบครัวที่มีความรุนแรง หรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม ครอบครัวที่ disfunction ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าคุณครูสามารถมองไปถึงเบื้องหลังของพฤติกรรมอะไรต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา และทำความเข้าใจอย่างแท้จริง ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยการยอมรับ ก็จะเป็นพื้นที่สำคัญให้เด็กคนหนึ่งได้ผ่านพ้นความเลวร้ายที่เขาอาจจะควบคุมหรือกำหนดไม่ได้ และพัฒนาเติบโตได้ผ่านพื้นที่เซฟโซนที่คุณครูได้สร้างขึ้นมา

 

ทั้งนี้ถ้ามองในภาพรวม คุณครูก็ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จำเป็นจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คุณครูด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานร่วมกัน เช่น นักจิตวิทยาในโรงเรียน หรือนโยบายของโรงเรียน ที่เอื้อให้คุณครูสามารถให้ความสำคัญกับเรื่องใด ดังนั้นสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลไม่เพียงแค่กับเด็ก แต่ส่งผลทางอ้อมผ่านคุณครูด้วยเช่นกัน

 

และถ้ามองถึงในระดับสังคม การที่สังคมที่จะสร้างเด็กขึ้นมาได้ ก็ต้องเริ่มจากโครงสร้างของสังคมที่ต้องเน้นในเรื่องของการสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกันหรืออย่างน้อยค่อนข้างเท่าเทียมกัน งานวิจัยพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหามักจะเป็นเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถเป็นเซฟโซนให้กับเด็ก ไม่สามารถสนองความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม โดยพื้นฐานแล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความยากจน ดังนั้นความยากจนเป็นหนึ่งในโครงสร้างสำคัญของปัญหาในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ให้บุคคลที่อยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อย สามารถเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ เข้าถึงการได้รับการดูแลด้านร่างกายและสุขภาพจิต รวมไปการได้รับการดูแลในมิติครอบครัวที่เขาอาจจะไม่มีทรัพยากรที่จะซัพพอร์ตครอบครัวได้ ครอบครัวที่มีความไม่สมบูรณ์อาจไม่สามารถสร้างพื้นที่เซฟโซนที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยตรงนี้ และถ้ามองไปถึงรากลึกเลยจริง ๆ ก็ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความยากจน

 

 

การสร้างความเห็นอกเห็นใจสามารถทำได้อย่างไร


 

อ.นุท

Empathy เป็นสิ่งที่สร้างได้ เพราะเป็นทักษะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมา ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นสามารถสร้างได้ผ่านการพยายามมองโลกในแบบที่ผู้อื่นมอง มองตามสิ่งที่คนคนนั้นเขารับรู้ ไม่ใช่มองแบบที่เรามองและยึดตัวเองเป็นหลัก เช่น เราพยายามทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่ง ว่าเรื่องแค่นี้ทำไมคิดมากขนาดนี้ เพราะเราเคยผ่านวัยเหล่านั้นมาแล้ว แต่สำหรับแต่ละวัยจะมีความทุกข์ไม่เหมือนกัน ความทุกข์ของวัยเด็ก เช่น การที่เขาไม่ได้เล่น หรือไม่ได้ขอเล่นอย่างที่เขาอยากได้ อันนี้คือความทุกข์อย่างหนึ่งของเขา ซึ่งถ้าเรามองในมุมของเด็กเขาก็จะเข้าใจในโลกทัศน์ของเขา เข้าใจความทุกข์ที่สำหรับเรามันดูเบาบางเหลือเกิน แต่มันเป็นทุกข์หนักหน่วงของเขา ถ้าเราใช้มุมมองของเขามองปัญหาของเขามันก็จะนำมาสู่ความเข้าอกเข้าใจในสภาวะที่เขากำลังเผชิญ

 

 

พ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกแบบไหนให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นเซฟโซน


 

อ.นีท

รูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมที่สุดคือรูปแบบการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย คือรูปแบบการเลี้ยงดูที่ประกอบด้วยการให้ความรักความอบอุ่น ในมิติที่ให้ข้อกำหนดที่ตกลงกันได้ เป็นระเบียบที่เหมาะสมกับการมีอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น การไม่แซงคิว การรอคอยเพื่อให้ได้สิ่งจำเป็น เช่นไม่เกินขนมก่อนกินข้าว ซึ่งมันเป็นกฎง่าย ๆ ที่พ่อแม่ให้กฎเหล่านี้เพื่อให้ลูกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข และในขณะเดียวกันลูกก็พูดคุยกับพ่อแม่และพ่อแม่ให้เหตุผลได้ ว่ากฎเกณฑ์ที่พ่อแม่ตั้งให้ด้วยความรักความอบอุ่น ลูกจะรับรู้ได้ว่าถึงแม้มันจะเป็นเรื่องไม่สนุกเลย ไม่ได้กินขนม แต่ว่าถ้าเราบอกเขาได้ว่ามันจำเป็นเพราะอะไร เช่นบอกว่า ถ้ากินขนมจนอิ่มแล้วไม่ได้กินข้าว ก็จะไม่ได้สารอาหารที่จำเป็น คือเราต้องมองถึงเรื่องเหตุและผล มีผู้ใหญ่บางคนมองว่าเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องหลักเหตุผล บังคับเขาไปเลยดีกว่า ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้รับการรองรับจากงานวิจัย เพราะงานวิจัยเราพบว่า พ่อแม่ที่พูดกับลูกด้วยเหตุผลแบบที่ผู้ใหญ่เราพูด ๆ กัน เด็กยอมรับได้เยอะ ถ้าเด็กได้รับการควบคุมจากพ่อแม่ ที่เขารับรู้ว่าเป็นการควบคุมด้วยความรักและด้วยเหตุและผลที่เข้าใจได้

 

หลักการเลี้ยงดูมันคือเรื่องวิธีคิดที่ปล่อยให้เด็กได้คิดเอง แต่เราเป็นเพียงผู้ช่วยให้เขาทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเขา เหตุและผลคืออะไร ทำไมถึงไม่ให้วิ่งในห้าง เหตุผลคืออะไร ถ้าชนของของแตกเราอาจจะบาดเจ็บ หรือเราอาจจะต้องจ่ายตังค์ซื้อของที่เราไม่ได้ใช้ ทุกอย่างมีเหตุและผลหมดเลย แต่อาจเป็นที่พ่อแม่ที่ไม่ใจเย็นพอที่จะอธิบาย โดยเฉพาะกับเด็กสองขวบขึ้นไป เขาพูดเก่งแล้ว มีคำถามเยอะ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็น นี่เป็นวิธีสร้างบรรยากาศในครอบครัว ถ้าลูกถามอย่าหงุดหงิดที่จะตอบ เพราะการตอบทุกครั้งคือการยอมรับกับลูกว่านี่คือเซฟโซนจริง ๆ ทุกครั้งที่เราถามแล้วบอกว่ายุ่งน่าอย่าเพิ่งมา เขาก็จะรู้สึกอยากออกห่างไปเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่ถามไม่เคยได้คำตอบ เขาก็อาจจะคิดไปเองว่าผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องการเพียงใช้อำนาจบังคับเราเท่านั้นหรือ

 

 

สำหรับบ้านที่ไม่เป็นเซฟโซนยังสามารถแก้ไขได้หรือไม่


 

อ.กล้า

ยังสามารถแก้ไขได้ตลอด โดยเฉพาะในเชิงบุคลิกภาพ งานวิจัยพบว่าบุคลิกภาพของเราจะเริ่มนิ่งตอนอายุ 30 เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นไม้อ่อนก็ยังพอที่จะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็ก ๆ ก็ยังต้องหวังพึ่งผู้ใหญ่ คือครอบครัวและโรงเรียนไม่ควรจะมีสิ่งเหล่านี้ถ้าอยากจะให้เด็ก ๆ กลับลำได้

  1. ต้องไม่มีความคับข้องใจ ไม่มีบรรยากาศให้เด็กรู้สึกสับสน ว่าทำอะไรก็ผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง หลาย ๆ เคสที่เข้ามา จะมีการรีพอร์ตว่าไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวที่บ้านอย่างไร เวลาที่ผมเงียบ ก็บอกว่าผมไม่ร่าเริง เวลาที่ผมพูดก็บอกว่าผมไม่มีมารยาท พ่อแม่ก็ควรมีความชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ก้าวร้าว กดดัน ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ และจะต้องไม่สับสน
  2. ต้องไม่มีการลงโทษ ต่อว่า ตำหนิอย่างรุนแรง ที่สร้างบาดแผลทางด้านจิตใจ (trauma)
  3. บ้านและโรงเรียนไม่ต้องจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เด็ก แบบ too much good things ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรบางอย่างเขาควรจะได้ อะไรบางอย่างที่เขาไม่สมควรที่จะได้รับ ณ ตอนนี้

 

นอกจากนี้ ครูและพ่อแม่จะต้องเป็นตัวแบบที่ดี มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการ มีทักษะเรื่อง positive parenting นโยบายทางภาครัฐก็ควรจะต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น จัดเตรียมหลักสูตรเหล่านี้ในครู นักวิชาการ หรือพ่อแม่

 

สิ่งที่บ้านและโรงเรียนสอนอาจจะไม่เหมือนกันได้ หลักสำคัญอยู่ที่การสื่อสาร ที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา มีเหตุผล และเอาตัวเด็กเป็นที่ตั้ง มองว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ฉันคิดว่าลูกต้องรู้สึกอย่างไร เช่น เมื่อลูกถูกคุณครูที่โรงเรียนดุมา ก็มาตั้งคำถามว่า ลูกกำลังรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ การตั้งคำถามนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าอกเข้าใจ อย่างที่อ.นุทบอกเรื่อง empathy และมาที่การสื่อสารที่อ.นีทบอก ถึงกฎหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นโดยไม่ใช้อารมณ์ชองเราเป็นที่ตั้ง สิ่งนี้ก็จะลดความสับสนขัดแย้งในใจของเด็กได้

 

 

สัญญาณที่เด็กบอกว่าเขารู้สึกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซน


 

อ.นุท

สัญญาณที่เด็กบอกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ เขาต้องการได้รับความเข้าอกเข้าใจ สิ่งที่จะสังเกตได้ชัด ๆ เลยคือ การมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เขามีบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง เช่น ช่างพูดช่างคุย กลายเป็นคนเก็บตัวมากยิ่งขึ้น หรือการมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบางอย่าง เช่น ขาดโรงเรียนบ่อย มีผลการเรียนด้อยลง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับการเรียน รวมถึงการมีพฤติกรรมก้าวร้าว การเก็บตัว การแยกตัว

นอกจากนี้อาจสังเกตทางด้านร่างกาย เด็กบางคนถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว เราอาจจะเห็นร่องรอยบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย อันนี้เป็นสัญญาณเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ใส่ใจ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

 

เมื่อเราพบสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งที่เราจะต้องทำ คือการซักถามเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาจะเป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือในการแก้ไขได้อย่างไร ถ้าบ้านมีพื้นที่เซฟโซน เด็กสะดวกใจในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที ไม่นำไปสู่ผลกระทบอื่น ๆ หรือปัญหาเพิ่มเติม แต่สำหรับบ้านที่ไม่เป็นเซฟโซน และเป็นพื้นที่ตรงนั้นที่สร้างบาดแผลทางใจและทางกาย คนรอบข้างที่นอกเหนือจากครอบครัวก็จำเป็นต้องให้การสังเกต ทำความเข้าใจปัญหา และให้ความช่วยเหลือ

 

สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถสังเกตได้จากภาษากาย เช่น การร้องไห้ที่ต่อเนื่อง ถ้าเราเป็นคนในชุมชนแล้วได้ยินเสียงเด็กร้องไห้อย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องของครอบครัวเขา การที่เรารู้สึกว่าสังคมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลของเรา จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสังคมได้เช่นกัน และในฐานะคนในครอบครัว การที่เด็กส่งสัญญาณบางอย่าง เช่น แสดงท่าทีหวาดกลัว แสดงท่าทีไม่สามารถอดทนกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้หรือการปฏิเสธอย่างรุนแรง พ่อแม่สังเกตสัญญาณตรงนี้และต้องคาดการณ์ว่าลูกกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ทำความเข้าใจ และตอบสนอง แม้ว่าจะยังตอบสนองได้ไม่ตรงจุด ก็ให้เราสังเกต ตั้งคำถาม และพยายามตอบสนอง ในท้ายที่สุดเราก็จะสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

 

 

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยส่งผลต่อพัฒนาการอย่างไร


 

อ.นีท

เราสามารถสังเกตได้จากที่โรงเรียน เด็กที่เคยเรียนเก่ง ถ้าผลการเรียนถดถอย มีรายงานจากคุณครูว่าโดดเรียน เป็นประจำทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยเป็นเลย อันนี้ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่เราจับสังเกตได้ สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่ฝึกการเข้าห้องน้ำได้แล้ว สามารถเดินเข้าห้องน้ำเองได้ ทำความสะอาดร่างกายด้วยตัวเองได้ เมื่อมีปัญหาบางอย่างมากระทบจิตใจ อาจทำให้เขาเกิดอาการถดถอย (regression) เช่น มีอาการฉี่รดที่นอน หรือการที่เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยแล้วแต่ย้อนกลับไปทำตัวเหมือนน้องเล็ก มีอาการไม่อยากกินข้าวเอง ร้องให้ป้อนข้าว กรณีแบบนี้อาจต้องอาศัยนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิกเข้ามาร่วมเข้ามาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นทางจิตใจ

 

ในฐานะนักจิตวิทยาพัฒนาการ จะสามารถบอกถึงความเป็นไปได้ว่าเด็กน่าจะมีความรู้สึกอะไรหรือมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก แต่ตัวเด็กยังเล็กเกินไปที่จะสื่อสารออกมา เขาอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจ รู้สึกว่ามีความไม่ชอบมาพากล เขารู้สึกไม่มีความสุขกับเหตุการณ์นี้ แต่เขาไม่สามารถอธิบายมันออกมาเป็นคำพูด หรือเขาอาจจะตีความไปเองว่าถ้าเล่าให้พ่อแม่ฟังพ่อแม่จะโกรธ จะไม่รักเขา เด็กทุกคนมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้พ่อแม่รัก ดังนั้นถ้ามีอะไรที่เขารู้สึกสับสน มีอะไรที่มันไม่ชัดเจน เด็กอาจจะไม่อยากเปิดปากพูด ถ้าเด็กมีพี่น้อง พี่น้องอาจจะเป็นคนที่ได้รับข่าวก่อน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องแล้วว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้พ่อแม่ฟังอย่างไร และจะนัดแนะกันอย่างไรที่จะไม่กระโตกกระตากจนทำให้น้องรู้สึกว่าถูกตัดสินหรือถูกเหมารวม ในกรณีแบบนี้บางทีก็อาจต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

แบบไหนถึงเรียกว่าวิกฤตและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ


 

อ.กล้า

การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับใครสักคนเราต้องมีเวลาจริง ๆ ที่จะสังเกตเขา พ่อแม่ต้องใช้เวลาในการสังเกตเพื่อให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะสังเกตคือ

  1. สิ่งที่เขาเคยชอบ แล้วอยู่ดี ๆ เขาไม่ชอบ หรือเคยเรียนได้ดีในวิชานี้ แต่เทอมนี้กลับเปลี่ยนไป
  2. เริ่มมีอาการฝันร้ายอย่างรุนแรง หงุดหงิด ก้าวร้าว ความรู้สึกไม่สบายใจที่เขายังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ อาจแสดงออกด้วยการหงุดหงิดหรือซึมลงอย่างเห็นได้ชัด

 

เมื่อพบสัญญาณเช่นนี้ก็ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ อย่างแรกอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู พูดคุยสอบถาม แต่ไม่คาดคั้น ถ้ายังเป็นเช่นนั้นต่อไปก็อาจจะต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

 

องค์ความรู้ด้านพัฒนาการของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะประเมินได้ว่าอะไรคือความเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย และอะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ เช่น การเก็บตัว ไม่ดูแลตัวเอง ไม่พูดกับเราเลย หรือมีคำพูดในเชิงลบ คำพูดบางคำที่เราจัดให้เป็นคำพูดกลุ่ม A เช่น “ผมรู้สึกไม่มีคุณค่า” “ผมรู้สึกไร้ค่า” “ไม่รู้เกิดมาเพื่ออะไร” เป็นระดับคำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกที่มันกระทบใจของเขาจริง ๆ คำพูดอื่น ๆ เช่น “วันนี้เรียนได้ไม่ค่อยดี” “วันนี้ผมไม่ค่อยชอบ” คำพูดเหล่านี้เราอาจจะรับฟัง แต่ไม่ต้องกระโตกกระตาก หรือรู้สึกระแวงมากนัก

 

 

การทำให้บ้านกลับมาเป็นเซฟโซน


 

อ.นุท

การซัพพอร์ตบุคคลในครอบครัวหรือนอกครอบครัวก็ตาม พื้นฐานสำคัญเลยคือความเชื่อมโยง อย่างที่กล่าวตอนต้นว่าเซฟโซนคือการที่สมาชิกในครอบครัว connect กัน ซึ่งการเชื่อมโยงสัมพันธภาพนั้นสามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ตลอดชั่วชีวิตเลย สัมพันธภาพอาจจะดาวน์ลงได้ตามช่วงวัย เช่น ช่วงวัยรุ่นเขาอาจจะต้องการ space ส่วนตัวมากขึ้น ต่างจากในวัยเด็กที่ space กับพ่อแม่นั้นใกล้ชิดกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เราจะสามารถเข้าใจและสนับสนุนกันได้ ก็จะทำไม่ได้เลยหากปราศจากสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน สัมพันธภาพอาจคลายลงไปได้แต่ก็สามารถฟื้นฟูได้เสมอถ้าเรามีความใส่ใจและเห็นว่าสัมพันธภาพนั้นมีความสำคัญ ทั้งกับเขาและกับเรา เราสามารถฟื้นฟูสิ่งที่มันหย่อนมันคลายหรือที่ผุทลายลงไปให้กลับคืนมาได้เช่นกัน ไม่ว่าลูกจะอยู่ในช่วงวัยใด และแม้ว่าเราจะขาดความเชื่อมโยงกับเขาไปบางโมเมนต์ของชีวิต เราสามารถกลับมาเชื่อมจุดนี้ได้ถ้าหากเราใส่ใจซึ่งกันและกัน และมีความปรารถนาที่จะให้บ้านของเรามีความปลอดภัย เป็นบ้านที่ทุกคนสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้การยอมรับความแตกต่างของบุคคลในบ้านได้

 

การมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การถามถึงเรื่องราวชีวิตกิจวัตรประจำวัน สิ่งเล็ก ๆ พื้นฐานเหล่านี้สามารถทำให้สัมพันธภาพที่ต่อกันไม่ค่อยติดสามารถกลับมาติดกันยิ่งขึ้นได้ ทำให้บุคคลในบ้านได้รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียงกัน ถึงความเป็นทีมเดียวกันได้

 

อ.นีท

ในมุมจิตวิทยาพัฒนาการ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมันมีจุดตั้งต้นตั้งแต่วันที่เขาลืมตาดูโลก ดังนั้นต้องดูว่าเราให้กรอบความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเป็นแบบไหนตั้งแต่แรก ถ้าถามว่าเราจะสนิทกับลูกวัยรุ่นได้มั้ย ก็ต้องกลับไปดูก่อนว่าตั้งแต่เด็กจนโตเราเลี้ยงดูเขาแบบไหน ถ้าเราคุ้นชินกับการเลี้ยงดูแบบเผด็จการ ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เด็กจะยอมรับกับการเลี้ยงดูแบบที่บอกบังคับให้เขาทำแบบนั้นแบบนี้ได้ ตั้งแต่เด็กจนโตถึงวัยประถมต้น เด็กประถมต้นจะเริ่มเห็นความหลากหลาย เห็นว่าพ่อแม่คนอื่นเป็นอย่างไร เขาก็จะเริ่มมีคำถามมากขึ้นจากการเปรียบเทียบและเห็นตัวอย่างจากหลาย ๆ บ้าน พอลูกเป็นวัยรุ่น หลายคนจะรู้สึกว่าไม่สนิทกับลูกเหมือนเดิม ห่างกับลูกมากกว่าเดิม เราก็ต้องกลับไปย้อนถามว่าที่สนิทกันตอนเด็ก ๆ เป็นเพราะเราเป็นผู้คุมกฎ และเด็กยังไม่มีการตั้งคำถาม เพราะยังรู้สึกสนุกกับการรับประสบการณ์จากพ่อแม่ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เขาโตขึ้นและมีคำถาม และพ่อแม่ให้ความชัดเจนไม่ได้เนื่องจากว่าชินกับการเลี้ยงดูแบบบอกให้ทำ หรือถ้าเขาทำไม่ได้ก็ทำให้ พอเด็กโตขึ้นมาแล้วแต่พ่อแม่ยังคงทำแบบเดิม เขาก็จะเริ่มมีระยะห่างออกไป จะเห็นว่าเด็กม.ปลาย เด็กมหาลัย จะเริ่มมีความรู้สึกและแสดงออกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซน นั่นอาจจะเป็นเพราะเรายังคงเป็นพ่อแม่เจนก่อน ที่ดูลูกในแบบที่พ่อแม่เลี้ยงเรามาอย่างไรเราก็เลี้ยงต่อไปแบบนั้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงแนวคิด positive parent อย่างที่อ.กล้าอธิบาย ซึ่งมีบทบาทในสมัยนี้อย่างมาก พ่อแม่ยุคใหม่นี้จะเริ่มเข้าใจคำนี้มากขึ้น แต่เด็กมหาลัยทุกวันนี้เขายังโตมากับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขาแบบโอบอุ้มมากเกินไปหรือปกครองมากเกินไป และไม่เคยมีเหตุมีผลให้เขา จึงกลายเป็นช่องว่าง ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่ซ่อมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะรู้ตัวเมื่อไร หากคุ้นชินกับการเลี้ยงดูแบบบอกให้ทำหรือแบบเผด็จการ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยน บอกลูกว่าโอเครู้แล้วว่ามันไม่ดี และเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนวัฒนธรรมครอบครัว สิ่งเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าทุกฝ่ายตั้งใจที่จะทำ

 

 

ถ้าเราเติบโตมาแบบไม่อบอุ่น เราจะเป็นคนที่สร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้อย่างไร


 

อ.นีท

ตามโมเดล Resilience ที่บอกว่าแม้คนเราเกิดโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนต้นทุนต่ำจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเสมอไป มันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในเชิงของจิตวิทยาครอบครัว เราจะมองถึงตัวแปรทางจิตวิทยาตัวหนึ่งที่เรียกว่า Very important person คนสำคัญในชีวิตของคนคนหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นสมาชิกครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ เช่น เราอาจจะคุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง แต่เราคุยกับน้ารู้เรื่อง หรือทุกวันนี้จะมี para-social relationship เช่น เราเห็นต้นแบบจากศิลปินดาราที่เขามีความพยายามไปสู่เป้าหมายที่เขาตั้งใจ เด็กบางคนที่แม้ว่าที่บ้านจะไม่เป็นเซฟโซน แต่เมื่ออยู่ในโลกที่ได้เฝ้าสังเกตการสู้ฝันของศิลปินคนนั้น ก็เกิดพลังที่จะต่อสู้ ได้อยู่ในกลุ่มแฟนคลับที่มีการแลกเปลี่ยนพูดคุย ก็เกิดเป็นกำลังใจ แม้ para-social จะไม่ได้มีผลทางบวกอย่างเดียว แง่มุมทางลบก็มี เช่นการคลั่งไคล้ศิลปินคนหนึ่งมากเกินไป แต่ในมุมหนึ่ง โซเชียลมีเดียทุกวันนี้มันทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้น เห็นตัวแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวได้ เราเลือกมาหยิบใช้ได้เมื่อเราโตขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มของคนในครอบครัวเสมอไป สิ่งนี้พิสูจน์แล้วในการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) ว่า A ไม่ได้นำไปสู่ B เสมอไป ครอบครัวที่ไม่อบอุ่นอาจทำให้เราได้เรียนรู้ว่านี่คือตัวอย่างที่ไม่ดี และตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นมากมายและเราสามารถเลือกใช้ได้

 

อ.กล้า

เราเลือกที่จะอยู่ได้ แม้จะมาจากครอบครัวที่กระพร่องกระแพร่ง และจริง ๆ ทุกครอบครัวในโลกนี้ก็ไม่มีครอบครัวไหนที่สมบูรณ์แบบ ต่างมีความบกพร่องในบางจุด แต่เราเลือกที่จะรับจุดตรงนั้นจนลืมโฟกัสในจุดดีของครอบครัวหรือคนรอบข้างหรือเปล่า เราสามารถเลือกที่จะอยู่กับต้นแบบหรือโมเดลที่เรารู้สึกว่า positive ได้ การเลือกที่จะอยู่กับตัวแบบที่ดี ที่ positive ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างครอบครัวที่ฉีกออกไปจากที่เราเผชิญมาได้

 

อ.นุท

เราล้วนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ถ้าสิ่งแวดล้อมในครอบครัวไม่เอื้อต่อการเติบโตของเราในวิถีที่เหมาะสมหรือที่เราต้องการ สิ่งแวดล้อมข้างนอกก็เป็นตัวแบบหรือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่เราจะเติบโตได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราจะสามารถสร้างบุคคลขึ้นมาให้เป็นบุคคลที่ functional ในสังคม เป็นบุคคลที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ตัวเขา ครอบครัวเขา และสังคมโดยรวมได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนรอบข้าง ก็จะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งใครล่ะคือคนที่รับผิดชอบที่จะจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็ก คำตอบก็คงเป็นทุกคน รวมถึงตัวเรา ตัวบุคคลคนนั้นเองเขาก็สามารถเลือกสิ่งแวดล้อมให้กับเขาเองได้ในระดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด

 

ดังนั้นภายใต้การที่เราเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีความบกพร่อง มีความขาดแคลาน ไม่สมบูรณ์ เราจะเติมเต็มสิ่งแวดล้อมในชีวิตต่อ ๆ ให้กับทั้งตัวเรา คนรอบข้าง หรือครอบครัวใหม่ของเราในวันข้างหน้า ก็คือการที่เราจะต้องมีความหวัง ความหวังว่าเราจะไปสู่วิถีชีวิตที่แตกต่างหรือไม่เหมือนเดิมจากสิ่งที่เรามา มันจะต้องมี mindset ที่มองว่าชีวิตฉันเลือกได้ ชีวิตฉันกำหนดให้ไม่เหมือนเดิม ชีวิตฉันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ฉันผ่านมา นอกจาก mindset ส่วนบุคคลแล้วสังคมก็ต้องให้ความหวังด้วย ต้องทำให้บุคคลมีความหวังในการดำรงตนในโลกใบนี้ในแบบที่เขามุ่งหวังด้วยเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาได้จากชุมชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา กลุ่มเพื่อน หรือนโยบายของประเทศ ด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ การเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ จะทำให้บุคคลสามารถมีความหวัง และเข้าถึงทรัพยากรที่จะทำให้หวังของเขาที่จะมีชีวิตที่แตกต่างนั้นเป็นจริงได้ รวมถึงนักจิตวิทยาด้วย ที่จะมอบกลไก เครื่องไม้เครื่องมือในการปรับพฤติกรรม ปรับความคิด ปรับอารมณ์หรือสภาพจิตใจของบุคคล ให้เป็นบุคคลที่สามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมเดิม และสามารถพัฒนาตนเข้าไปแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่ รวมถึดำรงตนในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้