ถอดความ PSY Talk เรื่อง Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่

18 May 2023

บริการวิชาการ

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่

 

โดยวิทยากร
  • คุณกมลกานต์ จีนช้าง (อ.น้ำ)
    นิสิตปริญญาเอก แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ กำลังศึกษาวิจัยเรื่อง Beauty Standard
  • คุณพงศ์มนัส บุศยประทีป (คุณนัส)
    มหาบัณฑิตแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม เคยเขียนหนังสือและแปลหนังสือความรู้ทางจิตวิทยา ปัจจุบันเป็นคอลัมน์นิสต์และนักแปล

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ (อ.สาม)
    ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 18.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/550041026469217

 

 

 

 

ความหมายของคำว่า Beauty Privileges


 

คุณนัส

ก็ตรงตามตัวเลย คือคนที่หน้าตาดีจะมีอภิสิทธิ์ มีสิทธิประโยชน์มากกว่า เช่น ทำอะไรเหมือนกัน แต่คนหน้าตาดีกว่าย่อมได้สิ่งที่ดีกว่า ได้รับการประเมินดีกว่า มีคนเห็นและคนชอบมากกว่า โอกาสก็อย่างเช่นในการสมัครงาน หรือในการทดสอบความสามารถที่ได้เห็นหน้าค่าตา โอกาสที่จะชนะโอกาสที่จะได้รับคะแนนมากกว่า ถ้าเป็นในด้านความถูกต้อง หรือการพิจารณาผิด โอกาสที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์มากกว่า ก็คือแทบทุกด้านเลย ทุกครั้งที่มีการประเมินเกิดขึ้นคนหน้าตาดีจะได้เปรียบ

 

อ.น้ำ

คนที่หน้าตาถูกรับรู้ว่าสวยกว่าหล่อกว่าก็จะมีโอกาสในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตเยอะกว่า ทั้งในเรื่องทางสังคม และเศรษฐกิจ ทางสังคมก็เช่น ถูกรับรู้ว่าน่าจะมีแนวโน้มมี personality บางอย่างที่ดีกว่า เช่น ดูอบอุ่นกว่า น่าจะเป็นมิตรมากกว่า น่าเข้าหา เพราะเมื่อคนเราเจอกันแรก ๆ เราจะประเมินแค่ภายนอกก่อน เราไม่มีข้อมูลมากพอที่จะประเมินลึกกว่านั้น ในบริบททางเศรษฐกิจ เราจะพบว่า โอกาสเวลาที่คนหน้าตาดีส่งเรซูเม่เข้าไป แล้วเขาประเมิน ก็จะได้รับการคัดเลือกขั้นต้น และเวลามาสัมภาษณ์ ก็มีโอกาสได้รับการประเมินดี ในบางงานวิจัยก็บอกเลยว่า เรื่องค่าตอบแทนก็ได้รับมากกว่าด้วย

 

ในความสัมพันธ์เชิงโรงแมนติก คนหน้าตาดีก็มีโอกาสในการออกเดตและสานความสัมพันธ์มากกว่า แม้บอกไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ในขั้นต้นก็ได้รับโอกาสตรงนี้มากกว่า

 

อ.สาม

เหมือนเป็นต้นทุน หรือที่เขาบอกว่าความสวยเป็นใบเบิกทาง what is beautiful is good. แต่หลังจากนั้นอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วแต่บุคคล แต่ก็เหมือนตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็น privilege

 

 

คำว่าสวยคำว่าหล่อในทางจิตวิทยาเป็นอย่างไร


 

คุณนัส

ขอแบ่งเป็น 2 แง่หลัก ๆ คือ วัตถุกับคน มนุษย์เราเนี่ย ไม่จำเป็นต้องสอน เราก็มีรสนิยมของสิ่งที่เรียกว่าความสวยความงามตั้งแต่เกิดมาอยู่แล้ว อาจไม่ถึงขนาดว่าเราเกิดมาแล้วรู้ทุกอย่างว่าอะไรสวยอะไรไม่สวย แต่ว่าเราค่อย ๆ เรียนรู้และค่อย ๆ ซึมซับและแบ่งแยกว่าอะไรสวยไม่สวย แต่ในเรื่องหน้าตาจะค่อนข้างพิเศษกว่านิดหน่อย เพราะเราจะแบ่งแยกคนหน้าตาดีกับไม่ดีได้เหมือนกับว่าเป็นโปรแกรมที่ติดตัวมาแต่เกิดเลย ถ้าเราถามตัวเองว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าใครหน้าตาดี ก็ไม่ได้มีใครมาสอนเรา คือเราก็สังเกตและเห็นมาตั้งแต่เด็ก คือเราดูละครหรือโฆษณาในทีวี แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่พ่อแม่จะบอกเราว่าคนนี้สวยนะคนนี้ไม่สวย แต่ว่าสักพักหนึ่ง เราเห็นคนหลาย ๆ คน เราจะรู้เองว่าใครที่หน้าตาดีใครที่หน้าตาไม่ดี

 

สังเกตได้ว่าคนที่เป็นดาราเนี่ยผู้คนก็จะมองว่าหน้าตาดี แน่นอนว่าคนเรามีรสนิยมที่ต่างกันไป แต่มันจะมีความสวยความหล่อมาตรฐานที่ใครเห็นใครก็ชอบ ขนาดดาราต่างประเทศไม่ว่าจะชนชาติไหนก็ตาม ถ้าเป็นดาราก็จะหน้าตาดีโดยที่เรารู้สึกว่าคนนี้หน้าตาดีกว่ามาตรฐาน ดังนั้นการรับรู้ความสวยความหล่อเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถึงขนาดมีงานวิจัยระบุว่าเด็กทารกจะชอบคนหน้าตาดีมากกว่า เห็นแล้วอารมณ์ดีมากกว่า แสดงว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้

 

นักจิตวิทยาก็พยายามหาว่าแล้วความสวยความหล่อมันมาจากไหน คือถ้าติดตัวมาตั้งแต่เกิดแสดงว่ามาจากยีนส์ (genes) ถ้ามาจากยีนส์แปลว่า มันเป็นเรื่องพันธุกรรม เป็นเรื่องวิวัฒนาการ ถ้าเป็นเรื่องวิวัฒนาการแปลว่ามันเกี่ยวกับความอยู่รอด เขาก็เลยลองพยายามหาสาเหตุของมันดู มีการวิจัยที่เขาเอาหน้าคนมาหลาย ๆ คน แล้วดูว่าคนหน้าตาแบบไหนที่คนจะบอกว่าหน้าตาดี เขาพบว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตามีสัดส่วนที่เป็นเฉลี่ย หมายความว่า ขนาดของอวัยวะบนใบหน้าเฉลี่ย คือไม่โตไปไม่เล็กไป นอกจากขนาดแล้วตำแหน่งที่อยู่บนใบหน้าเฉลี่ยแล้วอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างกลาง ๆ พอดี นักจิตวิทยาเอาใบหน้าคนจำนวนมากมาใช้คอมพิวเตอร์เฉลี่ยขนาดและตำแหน่งเข้าด้วยกัน แล้วพบว่า ใบหน้าที่เข้าใกล้กับใบหน้าเฉลี่ยมากเท่าไร ยิ่งดูหน้าตาดีมากขึ้นเท่านั้น เขาก็เลยคิดว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตาเป็นค่าเฉลี่ยที่สุด

 

ส่วนเหตุผลว่าทำไม ย้อนกลับไปที่เรื่องวิวัฒนาการ ความชอบอะไรที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดมันต้องมีประโยชน์อะไรกับเราสักอย่างหนึ่งในการเอาตัวรอด ก็มีข้อสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เราเจอกันแรกสุดเราเห็นหน้าก่อน ดังนั้นใบหน้าคือสิ่งที่เราพิจารณาเยอะที่สุด แล้วการพิจารณาที่สำคัญมากที่สุดของการเอาตัวรอด สิ่งแรกอาจเป็นเรื่องของการเป็นมิตรหรือศัตรู ข้อต่อมาคือเรื่องของการหาคนรัก เรามักจะหลงรักคนที่หน้าตา ดังนั้นเรื่องหน้าตาดีกับเรื่องคนรักมันเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน แล้วทำไมเราถึงอยากมีคนรักที่หน้าตาดี นักจิตวิทยาและนักชีววิทยาเขามองว่าคนที่หน้าตาดีคือคนที่หน้าตาเฉลี่ย หน้าตาเฉลี่ยหมายความว่าปกติ ปกติที่สุดแปลว่ามีโอกาสน้อยที่จะมียีนส์ที่มันผิดแปลก ดังนั้นคนที่หน้าเฉลี่ยที่สุดก็มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะมีความผิดแปลกทางพันธุกรรมและน่าจะเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่แข็งแรง มีโอกาสผิดปกติน้อย นึกภาพคนที่มีใบหน้าที่มีอวัยวะอยู่ในตำแหน่งแปลก ๆ หรือมีขนาดใหญ่เกินไปเล็กเกินไปมาก ห่างจากค่าเฉลี่ยเยอะ โอกาสที่เขาจะมียีนส์ที่ไม่ดีนั้นสูงกว่า วิวัฒนาการก็เลยสอนสะสมมาให้เราชอบคนที่มีลักษณะแบบนี้ คนหน้าเฉลี่ยเลยเป็นคนหน้าตาดี

 

อ.น้ำ

ความหน้าตาดีมีการรับรู้ที่เป็นเอกฉันท์ของมนุษย์ส่วนหนึ่ง แต่อีกพาร์ทหนึ่งมีปัจจัยเชิงสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วยเช่นกัน อย่างที่เรารับรู้เรื่องมาตรฐานความงาม หรือ beauty standard ซึ่งในบางประเด็นก็จะแตกต่างกันไปตามค่านิยม ของการให้คุณค่าของแต่ละบริบทสังคม เช่น ลักษณะรูปหน้าบางรูปแบบ สีผิว อย่างที่เราก็คุ้นกันในปัจจุบัน ความสวยที่เป็น universal ก็มีส่วน ความสวยที่เป็นผลร่วมมาจากความนิยมของสังคมหรือยุคสมัยที่ต่างกันก็มีส่วน

 

 

ปัจจัยทางสังคมอะไรบ้างที่กำหนดกรอบความสวยความหล่อ


 

อ.น้ำ

ถ้าในปัจจุบัน ส่วนที่เข้ามาเป็นบทบาทหลักก็คือการให้ข้อมูลโดยสินค้าและผลิตภัณฑ์ เราถูกไดรฟ์ให้ชอบลักษณะบางรูปแบบเพื่อความต้องการเชิงการตลาด เช่น ถ้าพูดเรื่องหุ่น เทรนด์ของผู้หญิงเอเชีย กึ่งหนึ่งก็ยังเป็นหุ่นสลิมแบบผอม อีกกึ่งหน้าก็เป็นแบบสายฝอที่เราเรียกกัน ที่ฟิต มีกล้ามนิดหน่อย ไม่ผอมแบบสกินนี่ คือผอมแบบมีกล้ามเนื้อดูแข็งแรง ส่วนผู้ชาย ก็จะต้องมีกล้ามเนื้อ ดูเป็นนักกีฬา แต่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งก่อนหน้านี้ในเอเชียน จะชอบผู้ชายหุ่นผอมบาง ข้อมูลเหล่านี้น่าจะถูกบรรจุในไม่เรื่องการตลาดก็เรื่องภาพลักษณ์ที่ปรากฏในสื่อ โดยเฉพาะสื่อบันเทิง

 

อ.สาม

ในนิยายที่อ่าน จะมีการบรรยายรูปลักษณ์ของตัวละครที่เป็นตัวหลัก อ่านกี่เล่ม ๆ นางเอกก็จะสูงผอม เพรียวบาง จมูกเชิด เราจะเห็นว่าผู้หญิงต้องมีรูปร่างประมาณนี้ถึงจะเป็นตัวเอก ส่วนผู้ชายก็มีคาแรคเตอร์บางอย่างที่มีการผลิตภาพซ้ำ ๆ อยู่

 

คุณนัส

จากฐานเดิมที่เรารู้อยู่แล้วว่าใครสวยใครหล่อจากวิวัฒนาการ พอโตขึ้นเราจะมีการเรียนรู้ เราจะดูสื่อ ดูคนรอบตัว สำหรับมนุษย์ข้อมูลที่เราจะไวที่สุดที่จะรับรู้คือข้อมูลของคน พูดง่าย ๆ คือเรื่องของชาวบ้าน เราจะไม่รู้ตัวหรอก แต่เราจะเรียนรู้ว่าคนหน้าตาแบบไหนที่คนชอบ คนชื่นชม แล้วเราก็จะเก็บสะสมเอาไว้ ตรงนี้ความแตกต่างระหว่างสมัยจึงเกิดขึ้นตามที่อ.น้ำบอก เช่น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะนิยมนางแบบผู้หญิงที่ผอมมาก แล้วถ้าเรามองย้อนกลับไปเรื่อย ๆ นางแบบกับนางงามสมัยก่อนจะท้วมกว่านี้แล้วค่อย ๆ ผอมลงมาเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แล้วเราเพิ่งมาตระหนักในช่วงสิบปีมานี้ว่ามันมีผลเสียค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับเรื่องของโรค anorexia bulimia ที่ผู้หญิงกดดันตัวเองเพื่อให้ผอมจนเกินไป จนเดี๋ยวนี้มาพยายามเหมือนกับว่าไม่ต้องผอมจนไม่ healthy มีกระแสใหม่ว่าไม่ผอมแต่ดูแข็งแรง มีน้ำมีเนื้อมากขึ้น

 

ประเด็นคือสื่อก็เป็นตัวชักนำ นิยายอาจจะไม่เห็นภาพชัดเท่าละคร เพราะละครเขาหยิบมาเลยว่าใครควรจะเป็นพระเอกนางเอก ดูละครมากี่สิบเรื่อง โอกาสที่จะเห็นพระเอกนางเอกไม่ใช่คนหน้าตาดีมีกี่เรื่อง เว้นแต่จะเป็นละครอินดี้หรือละครที่เน้นจริง ๆ ว่าพระเอกนางเอกเป็นคนธรรมดา ขณะที่ละครส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอก พระเอกนางเอกหน้าตาดี ดังนั้นก็เป็นความชินว่าสิ่งนี้แหละคือหน้าตาดี

 

ในวงการของความสวยความงาม เคยได้ยินไหมว่า สวยนางงามกับสวยนางเอกมันต่างกัน เราไปดูการประกวดนางงาม เราจะเห็นหน้าตาที่เป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง แต่พอเราไปดูทีวีเราจะเห็นหน้านางเอกอีกแบบหนึ่งที่เราจะไม่เห็นบนเวทีนางงาม มันไม่ใช่เป็นสิ่งตายตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มพอสมควร แต่ทุกอย่างมันจะมีฐานหรือมีกรอบของมันว่าความหน้าตาดีมันจะไม่หลุดไปจากนี้มากนัก คือสุดท้ายคนที่เป็นพระเอกนางเอกหรือนางงามคนก็จะมองว่าเขาสวยเขาหล่อ แต่อาจจะมีลักษณะคนละแบบ หรือมีหุ่นคนละแบบกัน

 

ในตอนนี้เทรนด์เกี่ยวกับฟิตเนสมาแรงมาก ตอนเราเด็ก ๆ ดาราสมัยนั้นหุ่นไม่ใช่แบบนี้ จะเป็นหุ่นผอม ๆ พระเอกก็จะไม่ได้ล่ำ แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น พระเอกก็จะตัวตัน ๆ หน่อย มีความแมนหน่อย เน้นห้าว ๆ ขรึม ๆ แต่พอเราเริ่มได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง พระเอกที่ดูโรแมนติกก็จะมีความอ่อนหวาน มีความเป็นหญิงเข้ามาผสมนิดหน่อย หุ่นก็จะเพรียวบางลง แต่พอมาปัจจุบัน กระแสของการรักษาหุ่นมันเกิดขึ้นมาในสังคม พระเอกก็จะมีกล้ามหนาขึ้นมาตามความต้องการของสังคมไปด้วย มีลักษณะคล้ายกับแฟชั่น ซึ่งแฟชั่นเป็นเรื่องของทางสังคมวิทยามากกว่า แต่ว่ามันก็หนีกันไม่พ้นในเรื่องของสังคมกับเรื่องของมนุษย์ เราก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มมาจากไหน แต่พอมันเริ่มมันกระจายตัวไปเรื่อย ๆ แล้วคนก็ชอบตาม ๆ ๆ กันหมดเลย ยิ่งมีคนชอบเยอะคนก็ยิ่งชอบตาม ส่วนนี้จึงเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรที่ทำให้สวยอะไรที่ทำให้หล่อ มันเหมือนกันแฟชั่นที่ว่าทำไมคนถึงแต่งตัวแบบนี้ ยุคหนึ่งทำไมคนถึงแต่งกระโปรงสั้น แต่ยุคต่อมาคนไม่แต่งกระโปรงสั้นแล้ว ยุคหนึ่งทำผมทรงนี้ อีกยุคก็ทำผมอีกทรง มันไม่มีคำตอบตายตัว แต่มันมีตัวเริ่ม อาจจะเป็น influencer เป็นดาราที่ดังเขาเริ่ม หรือบางครั้งเราก็ไม่รู้เลยว่ามาจากไหน แต่มันกระจายตัวมาเรื่อย ๆ แล้วสังคมยอมรับ สังคมเห็นด้วย ก็เป็นตัวกำหนดของยุคนั้น ๆ ไป

 

อ.สาม

เหมือนคำว่าสวยคำว่าหล่อไม่ได้มีคำนิยามตายตัว แต่เป็นผลของสังคมว่าในยุคนั้นว่าให้คุณค่าให้ความสำคัญในเรื่องใด

 

 

คนที่มี Beauty privileges จะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จมากกว่าจริงหรือไม่


 

อ.น้ำ

อยากให้มันไม่เป็นจริง แต่ถ้าในหลักฐานเชิงประจักษ์มันปฏิเสธไม่ได้ หลักฐานค่อนข้างหนักแน่น เมื่อมีแนวโน้มที่จะถูกรับรู้ดีกว่า พอถูกรับรู้ดีกว่าโอกาสในเรื่องต่าง ๆ ก็มากกว่า นำไปสู่วลีฮิตที่ว่า “แค่สวยก็ชนะแล้ว” “ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อยนะ”

 

งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสุขความสำเร็จ เปรียบเทียบคนที่หน้าตาน่าดึงดูดใจกับไม่น่าดึงดูดใจ ผลพบว่าคนหน้าตาน่าดึงดูดใจมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่า มีสุขภาวะดีมากกว่า แต่งานนั้นก็บอกได้แค่ เหตุคือหน้าตา ผลคือความสุขความสำเร็จ แต่มันขาดตัวอธิบายตรงกลางไป มันก็มีสิ่งที่น่าสนใจในทางจิตวิทยาที่จะมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ คือความรู้สึกมั่นใจในตัวเองหรือ self-confidence เพราะตั้งแต่เด็กเป็นต้นมาจนโต ตั้งแต่อยู่ที่บ้านจนมาถึงโรงเรียน เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นในรูปแบบที่ต่างกัน มันส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเขา ที่เคยคุยกับน้องบางคน เขารู้ว่าเขาไม่ใช่คนหน้าตาตรงตาม beauty standard แต่ที่บ้านเขาดีมาก คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงเรื่องพวกนี้แล้วก็สนับสนุนลูกให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ลูกเป็น ในรูปร่างหน้าตาที่ลูกเป็น ไม่ใช่ว่าชมจนเฟ้อ แต่มีวิธีที่อยู่ด้วยกันแล้วเป็นแบบนั้น รวมถึงเพื่อนในกลุ่มที่อยู่ด้วย ซึ่งความมั่นใจตรงนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนที่สวยตาม beauty standard แต่เขามีความมั่นใจ เขาเชื่อมั่นในตัวเอง มันก็ทำให้ตัวเขารู้สึกมั่นใจในการไปทำอะไรต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน

 

คนสวยมักจะได้รับการปฏิบัติที่จะเสริมความมั่นใจในบริบทสังคมตั้งแต่เล็กจนโต พอเสริมความมั่นใจ เขาจึงมีแนวโน้มที่เขาจะประสบความสำเร็จ เพราะกล้าทำ กล้าคิด กล้าแสดงออก ในทางกลับกัน คนที่หน้าตาไม่ตรงตามพิมพ์นิยมหรือถูกรับรู้ว่าไม่น่าดึงดูดเท่าไร เขาได้รับการปฏิบัติที่ต่างไปหรือเปล่า อันนี้เป็นการตั้งคำถามว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา แต่ปัญหามันอยู่ที่การรับรู้ของคนในสังคมที่มีอคติ แล้วเราควรหรือไม่ที่จะมีความตระหนักในเรื่องนี้ ถ้าเราลดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ว่าเราจะหน้าตาเป็นอย่างไรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ กัน

 

อ.สาม

ตอนเด็ก ๆ คนหน้าตาดีมักจะได้รับโอกาส อย่างได้ไปถือพาน เป็นผู้นำ ก็มีโอกาสได้สำรวจตัวเองมากขึ้น และมีโอกาสได้รับคำชื่นชมที่จะมาเสริมความมั่นใจ

 

คุณนัส

แน่นอนว่าคนเรามีอคติ พอเห็นใครหน้าตาดีกว่าก็มีโอกาสจะลำเอียง ปฏิบัติกับเขาดีกว่า มองเขาดีกว่า แต่บางทีมันก็เป็นอคติที่เราไม่รู้ตัว เวลาที่เราเจอหน้ากันเราก็จะมีการประเมินกันและกันเป็นธรรมชาติ แต่ข้อมูลที่เรามีมันน้อยเหลือเกินโดยเฉพาะคนที่เราไม่รู้จัก พอเป็นคนไม่รู้จักสิ่งที่เราเห็นก็มีเพียงรูปร่างภายนอก หน้าตา การแต่งตัว บุคลิกภาพ บุคลิกภาพอาจไม่ได้เห็นด้วยซ้ำในแวบแรก จะเห็นว่าเปลือกนอกมันมีพลังมาก เพราะแค่มองไปก็เห็นแล้ว เมื่อเห็นก็เป็นตัวตั้งมาตรฐานของคนนั้น มนุษย์เรามีกลไกที่เป็นทางลัดทางความคิดที่ทำให้การประเมินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถ้าเราข้อมูลไม่พอ สมองของเขาจะพยายามดึงข้อมูลอื่น ๆ ที่มีมาแทน หลายๆ ครั้งข้อมูลมันไม่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์งานเราก็ดูเรซูเม่ ดูประวัติการทำงาน ซึ่งทุกคนก็จะเขียนมาให้มันสวยหรูอยู่แล้ว แต่คนนี้เก่งจริงหรือเปล่าดีจริงหรือเปล่า ไม่รู้ เพราะยังไม่เคยทำงานด้วยกัน แต่สิ่งที่เห็นแล้วรู้แน่ ๆ คือหน้าตาดีหรือเปล่า พอเห็นเสร็จมันก็ไปดึงคะแนนด้านอื่นที่มันไม่รู้มันสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม สมองเราจะใช้กลไกนี้กับสิ่งที่เราไม่รู้ เมื่อคนเรามาทำงานจริง ถ้าเกิดทำงานไม่ได้ แม้หน้าตาดีมันก็ไม่ช่วย คือสุดท้ายแล้วข้อมูลที่เรารู้ได้มันเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็มาทดแทน

 

หรือคนรัก คนที่หน้าตาดีย่อมมีคนเลือก เวลาที่เราจะจีบใครเราก็มักจะเลือกจีบคนที่หน้าตาดีหรือค่อนข้างโอเคในสายตาเรา แล้วค่อยไปดูทีหลังว่าอย่างอื่นเข้ากันได้มั้ย แต่พอคบกันไปแล้ว มันไม่มีงานวิจัยใดที่บอกว่าหน้าตาส่งผลให้คนคบกันได้ยืด พอคบกันแล้ว นิสัยใจคอ ความเป็นอยู่ ไลฟ์สไตล์ ความชอบพอ มันจะชัดเจนมากขึ้น หน้าตาก็มีผลลดลงไป แล้วหน้าตาพอเราเห็นไปนาน ๆ จะเกิดความชิน พอชินก็ไม่มีผลเท่าไร คนที่แฟนสวยแฟนหล่อเท่าไรก็ตาม พอคบกันไปสักสิบปีก็ไม่หล่อไม่สวยเหมือนคนอื่นที่เราไม่ค่อยเห็นมาก่อน ไม่มีอะไรที่สวยตลอด หล่อตลอด พอเริ่มชินอคติก็ลดลง แล้วความจริงในด้านอื่น ๆ ก็โผล่ขึ้นมา ดังนั้นหน้าตาดีมีผลในช่วงแรก ๆ แต่ไม่มีผลตลอดไป

 

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขามีใบเบิกทาง มีความได้เปรียบ แต่ถ้าเขามีแค่นั้น สักพักหนึ่งเขาก็จะไม่ประสบความสำเร็จต่อไป ดังนั้นไม่ใช่คนหน้าตาดีทุกคนจะประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน คนที่หน้าตาไม่ดี แต่เขายืนหยัดและพยายามดึงความสามารถ ดึงสิ่งดี ๆ อย่างอื่นของเขา สติปัญญา บุคลิกภาพ ให้มันดี พอทำงานไปด้วยนาน ๆ คนทำงานด้วยจะรู้ว่าคนนี้เก่งจริงดีจริง และเขาจะประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าเขาจะหน้าตาอย่างไร เราจะเห็นคนดังหรือนักธุรกิจหลาย ๆ คนที่หน้าตาไม่ได้ดี เขาก็ประสบความสำเร็จ หรือพิธีกร ดาราหลาย ๆ คนที่เขาไม่ได้หน้าตาดี แต่แสดงหนังมาเยอะ อยู่ในวงการได้นาน เพราะว่ามีฝีมือได้รับการยอมรับ

 

 

ความสวยความหล่อนอกจากสร้างข้อได้เปรียบแล้ว มีผลทางลบด้วยหรือไม่


 

คุณนัส

ในวิจัยของแอพหาคู่ คนหน้าตาดีจะมีคนปัดเยอะอยู่แล้วโดยปกติ แต่คนหน้าตาดีจะประสบความสำเร็จในการหาคู่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว คนหน้าตาดีเองก็มีความลำบากส่วนตัวเหมือนกัน มีคนหน้าตาดีบางคนเหมือนกันที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองหน้าตาดี แต่ส่วนใหญ่แล้วคนหน้าตาดีเขาก็จะรู้ว่าตัวเองหน้าตาดี ดังนั้นเมื่อมีคนมาชอบ มีคนมากดปัดฉันในแอพ เขาชอบฉันเพราะอะไร เพราะหน้าตาหรือ มันเพียงพอต่อการที่คนเราจะหาคู่รักหรือเปล่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าไม่พอ เพราะสังคมเราสอนกันมาเสมอว่าอย่าคบคนที่ใบหน้า และคู่รักก็มีอะไรอย่างอื่นนอกจากหน้าตา ดังนั้นเขาจะมีปัญหาว่า ฉันมีดีอย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นสิ่งที่ฉันเห็นว่าดีนั้นไหม ดังนั้นคนสวยคนหล่อเองก็จะมีความระแวงว่าคนที่เข้ามา นอกจากหน้าตาแล้วเห็นข้อดีอย่างอื่นของเขาสักกี่คน มันก็ทำให้เขาช่างเลือก อีกประเด็นคือพอมีคนปัดเขาเยอะ ความช่างเลือกของเขาก็จะเยอะขึ้น เพราะมีตัวเลือกเยอะ ตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีตัวเลือกเยอะเกินไปเรามักจะเลือกได้ไม่มีประสิทธิภาพ เรียกว่า supermarket effect คือของเยอะมากเราก็เลือกไม่ถูก มีข้อมูลล้นไปหมด คนนั้นก็ดูดีคนนี้ก็ได้ พอข้อมูลเยอะไปหมดเราก็อาจจะเลือกข้อมูลที่มันไม่จำเป็นเสมอไป เช่น ไปดูที่เงินเดือน หรือความน่าสนใจอื่น ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญใด ๆ เลยที่ทำให้คบกันยืด ความช่างเลือกอาจทำให้ได้คนที่มีเกณฑ์สูงมาตามเกณฑ์พื้น ๆ ทั่วไปที่ชัด ๆ เช่น หน้าตาดี การงานดี เงินเดือนดี ฐานะดี สังคมดี แต่เกณฑ์เหล่านี้อาจไม่ทำให้เราเจอคนที่ใช่

 

เทียบกับคนที่หน้าตาธรรมดาที่พอคลิกกันมันมีความคลิกกันอย่างอื่น เช่น อ่านโปรไฟล์แล้วมีความสนใจตรงกัน มีงานอดิเรกเหมือนกัน ซึ่งอาจจะส่งผลมากกว่า และความรู้สึกระแวงว่าจะชอบฉันที่หน้าตาก็มีน้อยกว่า ไม่คิดว่าจะมีใครมาหลอก

 

สรุปว่าก็มีข้อเสีย แต่ถ้าถามว่าเป็นข้อเสียที่เยอะมั้ยเมื่อเทียบกับอภิสิทธิ์ที่ได้มาก็คิดว่าน้อยกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นข้อเสีย

 

อ.น้ำ

ในเรื่องงาน ถ้าเป็นงานที่มีความจริงจัง เช่นต้องอาศัยความสามารถหรือทักษะทางปัญญาสูง ๆ มันก็จะมีความเชื่อเหมารวมติดในหัวที่มองว่าคนสวยคนหล่ออาจจะไม่ได้เก่งจริง เหมือนถูกตีตราจากบางส่วนของสังคมที่มองแบบนี้ ซึ่งถ้าเขาเป็นคนสวยและอยากจะสำเร็จด้วยความสามารถ เขาก็ต้องต่อสู้อย่างหนัก พิสูจน์ตัวเองให้คนเห็นความสามารถของเขา ซึ่งเขาอาจจะทำงานได้ดี แต่มันจะมีเงาเล็ก ๆ ที่คนคิดว่า ที่ทำได้ ที่ได้ผลงานผลประเมินที่ดีมา จริง ๆ แล้วเป็นเพราะหน้าตาหรือเปล่า

 

ถ้าเป็นเรื่องงานทั่ว ๆ ไปจะไม่เท่าไร แต่ในบริบทงานที่เน้นผู้ชายเป็นหลัก เช่น งานที่เป็น male dominant อย่างวิศวะ ถ้าผู้หญิงสวยเข้าไปทำ ถ้าเขาอยากให้คนยอมรับว่าผลงานของเขามาจากความสามารถไม่ได้มาจากความสวย ยิ่งถ้าเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่เป็นเพศตรงข้าม ที่ความสวยจะมีอิทธิพลในการรับรู้ มันเลยกลายเป็น gender bias ที่เขาจะต้องต่อสู้ให้เห็นว่าฉันสำเร็จเพราะความสามารถ

หรือแม้แต่งานที่เป็นผู้ชายมาก ๆ แล้วเป็นผู้ชายหน้าสวยเข้าไปทำ ก็อาจจะมีเรื่องลำบากใจเหมือนกัน เพราะจะถูกประเมินว่าเจ้าสำอางจะทำงานได้ไหม บางงานมีภาพจำว่าต้องอาศัยแรง ขณะที่ความหน้าตาดีไปเชื่อมโยงกับความเจ้าสำอาง ไม่แข็งแรง เป็นต้น ในแง่หนึ่งคนสวยคนหล่อต้องพิสูจน์ตัวเองเรื่องความสามารถ

 

งานวิจัยในมหาวิทยาลัยก็พบว่า คนหน้าตาดีบางคนไม่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถเชิงวิชาการ เพียงเพราะว่าเขาสวย

 

นอกจากนี้ ในการทำงานถ้าอยู่ในเซตติ้งที่มีคนเพศเดียวกันเยอะ ๆ ก็กลายเป็นว่า สวยมากไปคนก็ไม่ค่อยชอบ กลายเป็นว่าความสวยไปสร้างความระคายเคืองให้เพื่อนร่วมงานได้ มันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของการเขม่นกันว่าคนหน้าตาดีจะมีโอกาสได้รับการประเมินดีกว่าหรือไม่

 

อ.สาม

ที่เคยมีคนเล่า เขาบอกว่าบางทีเขาไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เขาถูกปฏิบัติแบบแปลกแยกเพราะเขาสวย พูดกันง่าย ๆ คือเขาถูกเขม่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ถ้าไม่ได้รับการเชิดชูไปเลย ก็จะมีกลุ่มที่คล้าย ๆ แอนตี้แฟน โดยที่เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไรผิด

 

อ.น้ำ

ในแง่ของการรังแกกัน ในกลุ่มเด็กผู้หญิง เด็กที่หน้าตาดี สวยดึงดูดใจ กลายเป็นเป้าของการรังแกมากกว่า เพราะเวลาเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนก็มักจะเป็นเพื่อนเพศเดียวกัน คนสวยก็มีจุดเจ็บเหมือนกัน

 

อ.นัส

เราจะรู้สึกมีมุทิตาหรือยินดีกับสิ่งดีที่คนอื่นมี เมื่อเราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งนั้น เช่น ถ้าในบริบทของการงานถ้าหน้าตาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับงานที่ได้ สมมุติว่าทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานต่างเป็นเพศเดียวกัน โอกาสที่หัวหน้างานจะชอบคนสวยคนหล่อมากกว่าก็มีไม่เยอะนัก เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานฉันหน้าตาดีฉันต้องอิจฉา แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าเป็นคนละเพศกัน แล้วรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น แล้วเขาไปคิดว่ามันอาจจะเกิดจากหน้าตาเมื่อไร ความอิจฉาก็จะเกิดขึ้นได้ โดยที่ว่าหัวหน้าเขาจะลำเอียงจริงไหมไม่รู้ แต่มันขึ้นอยู่กับคนมองว่าเขามองว่า เป็นเพราะคนนี้หน้าตาดีเลยได้สิ่งที่ดีกว่าเขา ถ้าเขามองอย่างนึ้ความอิจฉาจะเกิด

 

ในบริบทอื่น เช่น นักกีฬา ถ้าเป็นกีฬาที่ผลการแข่งขันมันชัดเจน อย่างการแข่งวิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน เทนนิส ฟุตบอล คะแนนมันเห็นชัด ๆ ว่ามันเกิดจากอะไร ไม่ได้เกิดจากใบหน้า แต่ถ้าเป็นอย่างอื่นที่เป็นคะแนนแบบไม่ชัดเจนหรือมีการประเมินที่ดูยาก เช่น ยิมนาสติก การเต้น การร้องเพลง คนก็จะมองได้ว่าหน้าตามีส่วนช่วยอีกฝ่ายหรือไม่ ความอิจฉาก็อาจจะเกิดขึ้นได้

 

สรุปว่า ถ้าหน้าตาไม่ทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียกับเรา เราก็มักจะโอเคกับคนหน้าตาดี แต่ถ้ามีการแข่งขัน เกิดผลกระทบกับเรา หน้าตาของคนอื่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะยินดีสักเท่าไร เพราะมันทำให้เราดูแย่ลง หรือทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม

 

 

ผู้ชายหน้าตาดีกับผู้หญิงหน้าตาดี การรับรู้เกี่ยวกับความสามารถแตกต่างกันหรือไม่ เพศไหนที่หน้าตาดีแล้วได้เปรียบกว่า


 

คุณนัส

ตอบยากมาก เพราะมันมีการที่ ผู้ชายประเมินผู้ชาย ผู้ชายประเมินผู้หญิง ผู้หญิงประเมินผู้หญิง และผู้หญิงประเมินผู้ชาย แล้วเรื่องหน้าตากับการรับรู้ทางสังคมก็ไม่เหมือนกันอีก และยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาพอสมควรเหมือนกัน

 

ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่าพรีวิลเลจกับหน้าตามันเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณนานมากแล้ว แต่สังคมโบราณผู้หญิงไม่มีโอกาสได้ทำงานเหมือนปัจจุบัน ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเท่าไร ผู้หญิงในอดีตมีหน้าที่เป็นภรรยาเป็นแม่ ถ้าไม่ใช่งานบ้าน ดูแลลูกและสามี ก็เป็นงานที่เกี่ยวกับความงามโดยตรง เป็นนักร้องนักแสดง ดังนั้นอคติของผู้หญิงในเรื่องหน้าตาจะส่งผลแรงกว่า เพราะผู้หญิงในสังคมในอดีตไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ แต่ผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายต้องแข่งขันกันในเรื่องความสามารถมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ผู้ชายมีความกดดันว่าต้องทำงานเก่ง ต้องมีฐานะ ดังนั้นแต่เดิมผู้ชายน่าจะได้รับผลกระทบเรื่องหน้าตาน้อยกว่าผู้หญิง ที่เรามักพูดกันว่าผู้หญิงชอบผู้ชายที่รวย ความรวยก็เป็นความสามารถอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ชายมีผลกระทบเบากว่าผู้หญิง แต่มาในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ชายมีการแข่งขันในเรื่องหน้าตามากขึ้น วงการความงามของผู้ชายก็เข้มข้นขึ้น ในสายตาของผู้ชาย หน้าตาและหุ่น โดยเฉพาะหุ่น เริ่มเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าผู้ชายเริ่มได้รับผลกระทบตรงนี้บ้าง แต่ตอนนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน ผู้หญิงยังน่าจะได้รับผลประทบเยอะกว่าอยู่ดี

 

ถ้าในวงการการงาน อย่างที่อ.น้ำบอก ว่าบางทีหน้าตามันกลายเป็นแสงส่องที่ทำให้ความสามารถกลายเป็นเงา คนมองแต่หน้าไม่ได้มองความสามารถ เลยทำให้เขาถูกรับรู้ว่าเขาไม่ได้เก่ง และในการประเมิน ถ้ามีผู้ชายมาชมพนักงานผู้หญิงที่หน้าตาดี ผู้หญิงคนอื่นอาจจะรู้สึกว่าชมเพราะงานหรือชมเพราะใบหน้า แต่ในทางกลับกันผู้ชายมีผลกระทบลักษณะนี้เบากว่า คือผู้ชายจะไม่ได้รับผลกระทบจากใบหน้า แต่เป็นเพศ จากงานวิจัย ความเป็นเพศชายมักจะได้เปรียบในเรื่องของงานมากกว่าอยู่แล้ว งานส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะได้รับการประเมินที่ดีกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่าผู้หญิง เป็นมาตั้งแต่โบราณที่ผู้ชายจะครองในเรื่องของการงาน ส่วนผู้หญิงจะถูกมองว่าทำหน้าที่รองมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงก็พยายามบอกว่าฉันทำงานได้เหมือนผู้ชาย งานอะไรก็แล้วแต่ฉันทำได้เหมือนผู้ชายทั้งหมด อย่างที่บอกว่ามันค่อนข้างซับซ้อน แล้วแต่กรณี แล้วแต่เรื่อง

 

อ.น้ำ

ถ้าเทียบกันแล้วระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย บทบาททางเพศแบบ tradition ทุกวันนี้อาจจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่ ต้องยอมรับ ด้วยบทบาททางเพศและความคาดหวังทางสังคม ผู้ชายไม่ได้ถูกคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตา ดังนั้นในการประเมินการทำงาน ปัจจัยนี้จึงไม่ค่อยส่งผลกับผู้ชายมากนัก ความสวยงามที่จะมาเป็นตัวขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการรับรู้ความสามารถ ผู้หญิงจึงน่าจะได้รับผลกระทบเยอะกว่า

 

 

มีโอกาสที่เราจะลดผลกระทบของ Beauty Privilege ได้หรือไม่


 

คุณนัส

ทางจิตวิทยา เมื่อเราพูดถึงอคติ บางครั้งเราอาจจะรู้ตัว แต่บ่อยครั้งจะไม่ พอไม่รู้ตัวเนี่ยคนก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองลำเอียง แต่อย่างที่บอกว่าสมองเรามักจะดึงข้อมูลเปลือกนอกมาใช้เมื่อเรามีข้อมูลไม่พอ แต่พอผ่านเวลาไป ข้อมูลอย่างอื่นเริ่มมาเติมเต็มมากขึ้น อิทธิพลของหน้าตาก็จะลดลงไป แต่แน่นอนว่าการเจอกันครั้งแรกมันยากอยู่แล้วที่หน้าตาจะไม่มีผล เพราะเรามีข้อมูลอื่นน้อย ถามว่ามันทุเลาได้หรือไม่ การตระหนักก็ช่วยได้ในส่วนหนึ่ง และในการพิจารณาอะไรที่ไม่เกี่ยวกับความงาม เช่น การสัมภาษณ์งาน หรือการสอบ เราต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาให้ชัดเจนและยุติธรรม ว่าทำอะไรหรือมีลักษณะใดควรจะได้รับคะแนนเท่าไร อย่าปล่อยให้เป็นความรู้สึกคร่าว ๆ แล้วออกมาเป็น ผ่าน/ไม่ผ่าน ชอบ/ไม่ชอบ หรือเป็นคะแนนที่คิดเอาเอง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอคติมันจะเกิดขึ้นง่ายและไม่รู้ตัวด้วยว่าเราไม่ยุติธรรม

 

ทั้งนี้มันก็มีปัญหาเหมือนกัน บางทีก็มีการกดคะแนนของคนหน้าตาดี เพราะเขากลัวว่าที่ให้คะแนนดีไปเป็นเพราะหน้าตาหรือเปล่า กลายเป็นว่าคนหน้าตาดีได้คะแนนน้อยกว่าปกติ พยายามที่จะปรับให้คะแนนยุติธรรม แต่กลายเป็นทำให้คะแนนน้อยกว่าความเป็นจริง กลายเป็นไม่ยุติธรรมแทน

 

ถ้าต้องการลดอคติ ก็ต้องรู้ให้ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์การประเมิน ก็จะช่วยลดได้บ้าง แต่ถ้าจะให้หายไปเลยคงยากมาก

 

อ.น้ำ

ถ้าจะลดอิทธิพลของ Beauty Privileges ก็ต้องพยายามมีความตระหนักรู้ว่าเรากำลังอคติอยู่ หลายครั้งเวลาเราพูดถึงอคติ เรามักจะนึกถึงเรื่องอื่น เราจะนึกถึงเรื่องเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น แล้วเรื่องบิวตี้จะเป็นลำดับท้าย ๆ ที่เราจะนึกถึงว่านี่คือการเลือกปฏิบัติ เป็นเรื่องความไม่เท่าเทียม ดังนั้นหนึ่งในคำแนะนำคือต้องมีความตระหนักรู้ ถ้าคนตระหนักรู้ก็จะควบคุมตัวเอง แม้ว่าจะทำได้ยากและบางครั้งอาจจะกลายเป็นผลสะท้อนกลับแบบที่คุณนัสอธิบาย

 

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจาก Beauty Privileges เช่น รู้สึกไม่ค่อยดีเพราะรู้สึกว่าฉันไม่สวยตามมาตรฐานนั้น ทำไมฉันถึงไม่ได้รับพรีวิลเลจนั้น ฉันน้อยเนื้อต่ำใจ ฉันขาดโอกาสหรือเปล่า ในมุมนี้ เราควรขยายมุมมองเรื่องความสวยจะดีกว่า อย่าให้ความสวยมันจำกัด เราลองมาขยายคอนเซปต์ของตัวเองว่าความสวยนั้นเป็นไปได้หลายอย่าง มีหลายแบบ เราก็จะไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่เราจะไม่ได้ Beauty Privileges นั้น
จริง ๆ มันเป็นปัญหา เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งถูกจัดประเภทไว้ในมาตรฐานนี้ คนอีกกลุ่มไม่ได้ถูกจัดประเภท ก็เลยไม่ได้พรีวิลเลจนั้น ดังนั้นก็ขยายมุมมอง ซึ่งขยายได้ทั้งสำหรับตัวเราเองเพื่อให้เรารับรู้ตัวเองดีขึ้น เพื่อให้เรามีความสุขกับตัวเองมากขึ้น หรือไปขยายมุมมองของสังคมเพื่อที่ว่าเมื่อ beauty standard มันเปลี่ยนไป เราก็สามารถโอบคนหลาย ๆ แบบเข้ามาได้มากขึ้น

 

เรื่องอคตินั้นเข้าไปจัดการได้แต่ยอมรับตรง ๆ ว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นเรื่องค่อนข้างอัตโนมัติเราไม่รู้ตัว การแทรกแซงบางทีมันก็ไม่ทัน ก็ต้องใช้อย่างอื่นช่วยบ้าง เคยไปสัมภาษณ์กลุ่มคนที่มีมุมมองบวกเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาตัวเองมาก ๆ พบว่าเด็กกลุ่มนี้เวลาเขามองความสวย เขาไม่ได้มองความสวยเฉพาะแบบที่รับรู้กันทั่ว ๆ ไปในสังคม ที่เป็น popular standard อยู่ แต่เขามองหลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะในเรื่องร่างกาย และคุณสมบัติอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องร่างกายด้วย เช่น ทักษะทางสังคม ลักษณะข้างในตัวบุคคล เขาเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้กับความสวยด้วย เด็กกลุ่มนี้เขาจะมีสุขภาพจิตที่ดีกับร่างกายตัวเอง มี body positivity ซึ่งตัวนี้แหละที่ทำให้เรามีความสุขกับตัวเอง เรามั่นใจ และไปเสริมสร้างอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต อันนี้ในมุมสำหรับตัวเอง สำหรับสังคม ถ้าเราสามารถกระตุ้นให้สังคมปรับมาตรฐานความงามได้ มันก็ช่วยได้อีกระดับหนึ่ง ส่วนตัวมองว่าขั้นนี้มันกำลัง move ถ้าคุณดูกระแสโซเชียลในตอนนี้ เด็กรุ่นใหม่เขารับสิ่งนี้มากขึ้น เขาไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเหมือนสมัยที่เราเป็นวัยรุ่น

 

อ.สาม

ในต่างประเทศมีแคมเปญหนึ่งที่ค่อนข้างไวรัล คือ Check your privileges คือเขาชวนให้กลับมาลองถามตัวเองดูว่าเราเองได้อภิสิทธิ์อะไรไหม หรือถูกกดทับด้วยพรีวิลเลจอะไรบ้าง และตัวเรามองว่าอภิสิทธิ์เหล่านี้มีอยู่ตรงไหนบ้าง อันนี้อาจจะช่วยเสริมให้เราตระหนักและเท่าทันกับมันมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ทำให้พรีวิลเลจเหล่านั้นมันเข้มแข็ง

 

นอกจากนี้ที่อ.น้ำพูดถึงเรื่องการขยายกรอบของความงามให้มากขึ้น ซึ่งเราได้เห็นการเคลื่อนไหวนี้ในปัจจุบันมากขึ้น เราเห็นการให้คุณค่ากับสีผิวที่แตกต่าง รูปร่างที่แตกต่าง เรามองความต่างของความงามเป็นเรื่องที่หลากหลาย เรามีคำพูดว่า “ความหลากหลายคือความงดงาม” ของมนุษย์

 

 

ในกรณีของการตัดสินโทษในทางคดี หน้าตามีผลหรือไม่


 

คุณนัส

จากงานวิจัยมีครับ และมีค่อนข้างชัดเจน ส่วนใหญ่คนที่หน้าตาดีมักจะได้รับโทษน้อยกว่า ซึ่งความจริงก็ไม่น่าแปลกใจเพราะการตัดสินโทษในศาล หลาย ๆ ครั้งหลักฐานมันไม่ชัดเจน และโทษของมนุษย์มันไม่มีคะแนนเป็น 1 2 3 คะแนนว่ามันผิดระดับไหน แล้วก็กฎหมายมันต้องใช้การตีความค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจะสังเกตว่ามันมีจุดที่มีการประเมินในใจเยอะมาก และมีความไม่ชัดเจนเยอะมาก ยิ่งความไม่ชัดเจนมากขึ้นเท่าไรอคติยิ่งมีผลมากขึ้นเท่านั้น แล้วสิ่งที่มันส่งผลมากที่สุดก็คือใบหน้า เมื่อศาลเห็นใบหน้าของคนหน้าตาดีที่น่าสงสาร กับคนหน้าตาไม่ดีที่น่าสงสาร ก็ส่งผลต่างกัน คนที่หน้าตาดีก็ดูมีความบริสุทธิ์มากขึ้นไปด้วย แต่นี่ก็คือเป็นแนวโน้มในภาพรวม ๆ มากกว่า งานวิจัยไม่ได้บอกว่าทุกคดีต้องเป็นอย่างนั้น

 

ส่วนในเรื่องคดีฉ้อโกง มันขึ้นอยู่กับบริบทมากกว่าว่าเกิดการตีความ อันนี้ก็คือเป็นอคติ ว่าคนทั่วไปมองอย่างไร มองว่ามีการใช้หน้าตาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงหรือเปล่า ถ้ามีการใช้หน้าตาเมื่อไร คนที่พิจารณาคดีเขาก็มีการเรียนเกี่ยวกับเรื่องอคติมาบ้างว่าคนนี้อาจจะใช้หน้าตามาเป็นเครื่องมือในการหลอกล่อ เช่น การล่อลวงเพื่อให้เกิดการให้เงินโดยเสน่หา ศาลก็อาจจะพิจารณาว่าคนนี้น่าจะมีโอกาสในการหลอกลวงมากกว่า เทียบกับคนที่หน้าตาธรรมดาที่ไปหลอกให้เงินโดยเสน่หา คือจะถูกมองว่าแล้วจะใช้อะไรไปหลอก และในการพิจารณาคดีหลาย ๆ ครั้ง โทษหนักหรือไม่หนักดูกันที่เจตนา แต่เจตนาเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้นการหน้าตาดีก็ทำให้ศาลมองเห็นชัดเจนว่ามีเจตนาเอาหน้าตาตัวเองไปหลอกล่อมากกว่าคนที่หน้าตาธรรมดา ดังนั้นก็ถือว่าเป็นผลลบกับคนหน้าตาดีอยู่บ้างใบบางคดี ไม่ใช่ทุกคดี

 

อย่างคดีข่มขืน คือมันแล้วแต่สังคมด้วย บางสังคม พอคนร้ายหน้าตาดี เหยื่อที่ถูกข่มขืนก็โดนมองว่าสมยอมหรือเปล่า ยอมนอนกับเขาแล้วมาอ้างว่าถูกข่มขืนทีหลังหรือเปล่า ก็จะมีอะไรแบบนี้ ขณะที่ถ้าคนร้ายหน้าตาไม่ดี ลักษณะคล้ายโจร คนก็จะมองว่าอย่างนี้เป็นการข่มขืนแน่ ๆ เลย ไม่มีทางที่ใครจะยอมนอนด้วย ดังนั้นเรื่องพวกนี้มันขึ้นอยู่กับรายละเอียด ก็ต้องดูเป็นเคสไป แต่โดยภาพรวมหน้าตาดีก็มีผล และเป็นผลดี แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคดีเสียทีเดียว

 

อ.น้ำ

งานที่พวกเราชอบอ่านคืองานฝั่ง western หรืองานฝั่งอเมริกัน ซึ่งเขาใช้ระบบ civil law และมันจะมีระบบลูกขุนด้วย ขณะของเราเป็น common law ที่เป็นการตัดสินโดยคณะผู้พิพากษาเท่านั้น และการตัดสินต้องเป็นไปตามตัวอักษรที่บัญญัติในกฎหมาย ประเด็นนี้ก็น่าสนใจว่าจะมีความแตกต่างกันไหม

 

อ.สาม

เรื่องความยุติธรรม มองมาที่นอกศาล บางทีเราจะเห็นกรณีที่มีกลุ่มแฟนคลับกับผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาที่หน้าตาดี หรือมีคาแรกเตอร์ที่น่าดึงดูดใจ ก็เกิดปรากฏการณ์ที่น่าตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีการชื่นชมหรือให้กำลังใจคนที่กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความผิดหรือบางทีชัดเจนแล้วว่าผิด ขณะเดียวกันในเคสเดียวกันเลยแต่หน้าตาไม่ดีเท่าไม่มีคาแรกเตอร์ที่น่าดึงดูดเท่า ไม่มีใครเข้าไปให้กำลังใจหรือแฟนคลับแบบนั้น

 

และขยายความจากของพี่นัส มีงานวิจัยในต่างประเทศพบจริง ๆ ว่า ในกระบวนการตัดสิน เรื่องของหน้าตามีผล และมีการศึกษาว่าเพิ่มว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะลดอิทธิพลของหน้าตา เขาบอกว่าให้ใช้เวลาตัดสินที่นานขึ้น อย่างที่เราคุยกันไปว่าหน้าตานั้นใช้เป็นใบเบิกทาง แต่ว่าความคุ้นชินจะทำให้ความสวยความงามที่เคยมีอิทธิพลนั้นมันลดลง ก็เลยเป็นข้อเสนอว่า ในการพิจารณาแบบที่ไม่ได้ตัดสินไปตามตัวอักษร หากใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้นานขึ้น หรือหลายครั้งขึ้น ก็จะช่วยให้มีความแม่นยำมากขึ้นและลดอิทธิพลของหน้าตา

 

 

ฝากทิ้งท้าย


 

คุณนัส

ถ้าจะถามว่าโลกนี้มีความยุติธรรมหรือไม่ แค่ดูหน้าตาก็เห็นแล้วว่าคนเราเกิดมาหน้าตาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป็นธรรมชาติของโลกที่คนเราเกิดมาต้นทุนไม่เท่ากัน มีความแตกต่างกัน ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกน้อยใจถ้าเราเกิดมาไม่ดีเท่าคนอื่น ๆ แต่หน้าตาไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และหน้าตาไม่ใช่สิ่งที่จะบอกความสำเร็จ หน้าตาดีทำให้มีคนมาชอบมารักเยอะจริง แต่หน้าตาดีไม่ได้ทำให้มีความรักที่ประสบความสำเร็จ และเราคงเคยเห็นดารานักร้องหลายคนที่ทั้งหน้าตาดีและมีความสามารถ แต่กลับฆ่าตัวตาย เรามองว่าชีวิตเขาดูเพอร์เฟก อะไรก็ดี แต่ทำไมเขาไม่มีความสุข ดังนั้นหน้าตากับความสุขมันคนละเรื่องกัน ให้ตระหนักไว้ให้เราไม่ไปอคติเวลาที่จะประเมินใคร ส่วนสังคมจะมาประเมินเรายังไงเราไปบังคับเขาไม่ได้ ก็ยอมรับมันไป

 

แต่ในเรื่องความสวยงาม อย่างที่อ.น้ำ อ.สามบอก โลกเราสวยงามเพราะมีความแตกต่าง มีคนหน้าตาดีได้เพราะมีคนหน้าตาธรรมดาให้เปรียบเทียบ ทุกอย่างก็มีประโยชน์ของมัน และมีความสวยงามของมันเองเหมือนกัน คุณค่ามันมีอยู่ในความแตกต่าง แต่ว่าจะมีคุณค่าในด้านไหนก็ขึ้นอยู่ที่คนจะมอง สังคมมันมีความไม่ยุติธรรมแต่เราต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้ คนหน้าตาดีที่อยู่ไม่รอดก็มีอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปอิจฉาเขา เพราะมันมีปัจจัยอื่นอีกเยอะแยะที่ทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จ

 

อ.น้ำ

สิ่งที่เราจะทำได้นอกจากการยอมรับว่ามีเรื่องนี้อยู่ นอกจากการตระหนักเพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติ คือในเมื่อเรามองว่าความหน้าตาดีเป็นเซตอย่างหนึ่ง เราก็ขยายเซตนั้น ทั้งกับตัวเองและกับการรับรู้ของสังคม เพื่อให้มีคนอยู่ในกลุ่มนี้มากขึ้น ความงามหลาย ๆ แบบก็ถูกเลือกเข้าไปอยู่ในกลุ่มมากขึ้น

 

ถ้าคุณบอกว่าคนที่มี Beauty Privileges เขาจะมีความสุข มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่อย่างที่บอกไปว่าคีย์สำคัญมันอยู่ตรงกลาง คือ ความมั่นใจ ดังนั้นพ่อแม่มีสิทธิ์ให้ตรงนี้ได้ตั้งแต่ในครอบครัว คุณครูที่โรงเรียน เพื่อนและสังคมที่เราอยู่ ซึ่งเราเลือกคบได้ การเลือกเสพสื่อก็เช่นกัน มีงานที่พบว่า คนที่ชอบตัวเอง เวลาเล่นโซเชียลก็จะเลือกแต่เนื้อหาที่เพิ่มความรู้สึกดีให้กับตัวเอง และอัลกอริทึ่มของแพลตฟอร์มนั้นก็จะเลือกเนื้อหาเชิงบวกให้กับเราด้วย

 

หากทำได้เช่นนี้ Body positivity ก็เกิดขึ้น มีกรอบความงามกว้างขึ้น หลายคนก็มีสิทธิที่จะได้รับความมั่นใจและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ มีความสุข เช่นกัน

 

คุณนัส

แน่นอนว่าหน้าตาดีที่เป็นมาตรฐานสากลมันมีอยู่จริง แต่รสนิยมของคนมันมีความแตกต่างกันไป แต่ละคนมีความชอบส่วนตัว บางคนก็ชอบคนที่ตาโตกว่าปกติ ผู้หญิงบางคนชอบผู้ชายตัวเล็ก ๆ บางประเทศก็มีรสนิยมที่ต่างกันไป เช่น บางประเทศไม่ชอบคนผอม บางประเทศไม่ชอบผู้หญิงขาว อย่างคนไทยชอบผู้หญิงขาว แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นชอบเอาตัวไปอบแดด ดังนั้น ถ้าเราไม่สวยหรือหน้าตาไม่ดีในประเทศนี้ อาจจะหน้าตาดีในประเทศอื่น หรืออย่างน้อยเราก็จะหน้าตาดีในสายตาใครสักคนหนึ่ง ในโลกนี้มีเป็นพันล้านคน ต้องมีคนที่มองว่าเราหน้าตาดี ดังนั้นอย่าคิดว่าตัวเองไม่ดีเอาเสียเลย มันจะมีคนที่มองว่าเราหน้าตาดีในแบบของเรา

 

อ.สาม

สรุปได้ว่าความงามมีไม่จำกัด ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน แต่ละบริบทมันไม่ได้มีขีดจำกัดของความงาม แต่บางครั้งมุมมองของเราที่เรามอง อาจจะไปจำกัดว่าความงามมันมีแค่นี้ ดังนั้นคีย์สำคัญคือการขยายมุมมองของทั้งตัวเราเองและสังคมว่าความงามมีความหลากหลายและแตกต่าง ดอกไม้ยังมีหลายแบบหลายสี ทุกดอกก็สวยในแบบของมัน ถ้าเรามองตรงนั้นได้ Privileges ที่เราปฏิบัติต่อกันอาจจะเบาบางลง เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องความลำเอียง แต่เราเลือกที่จะปฏิบัติและเคารพกันและกันได้

 

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้