มองโลกในแง่ดี = ชีวิตดี = มีต้นทุนทางจิตวิทยา (ตอนที่ 3)

24 Jan 2022

คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน และ ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

มองโลกในแง่ดี = ชีวิตดี = มีต้นทุนทางจิตวิทยา

“Optimism” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 3

 

 

หากทุกท่านเคยตอบคำถามว่า ในยามที่ท่านต้องการดื่มน้ำสักแก้ว ท่านคิดอย่างไรกับภาพน้ำครึ่งแก้วที่วางอยู่ตรงหน้า บ้างก็ตอบว่า “ดีจัง มีน้ำให้ดับกระหายตั้งครึ่งแก้ว” ในขณะที่บางคนอาจจะคิดว่า “น้ำที่มีอยู่เพียงครึ่งแก้วนั้น ช่างน้อยเหลือเกิน” คำถามง่าย ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดานี้สามารถจัดกลุ่มความคิดทัศนคติและลักษณะนิสัยของคนออกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือคนที่มองโลกในแง่ดีและคนที่มองโลกในแง่ร้าย

 

 

การมองโลกในแง่ดีเป็นแนวคิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) และเป็นองค์ประกอบของทุนทางจิตวิทยาและเป็นที่มาของอักษร O ในคำว่า HERO หากทุกท่านติดตามเรื่องราวของบทความชุดนี้มาตั้งแต่ตอนแรก [(1)Resilience(2)Hope] น่าจะเข้าใจความหมายและที่มากันเป็นอย่างดี การมองโลกในแง่ดีได้รับความสนใจมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยในระยะแรกถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการของคนป่วยทางด้านจิตใจ เช่น อาการวิตกกังวล หวาดกลัวหรืออาการทางโรคประสาท

 

หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่สนใจแนวคิดจิตวิทยาด้านบวกที่มุ่งเน้นและสนับสนุนให้คนเราใช้พลังที่มีในตัวเองช่วยขับเคลื่อน ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหาเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่ทุกชีวิตต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญและอธิบายได้ถึงความสามารถและทักษะดังกล่าวในตัวคนเรา คือ ทฤษฎี Broaden and Build ของนักจิตวิทยาที่โด่งดังจากแนวคิดจิตวิทยาด้านบวกที่ชื่อว่า Barbara L. Fredrikson ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันของภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ผู้ที่สนับสนุนให้คนเราเห็นคุณค่าและความสำคัญของอารมณ์ในเชิงบวกซึ่งจะช่วยให้จิตใจของเราเปิดกว้างมากขึ้น สามารถยอมรับและมองเห็นมุมมองความคิดในด้านอื่น ๆ ในขณะที่อารมณ์และความคิดด้านลบมักจะนำไปสู่การหลีกหนี ไม่รับรู้ ปิดกั้นการยอมรับความคิดเห็นในแง่มุมที่ต่างออกไป

 

เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 เราทุกคนต่างต้องประสบกับผลพวงของความรู้สึกที่มีผลกระทบต่อจิตใจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ความกลัว ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ซึ่งความกลัวนั้นจัดเป็นอารมณ์ในเชิงลบที่มาพร้อมกับการถูกกระตุ้นจากความตื่นตัวต่อภยันตรายที่รายรอบอยู่ใกล้ตัว ในทางจิตวิทยาพบว่า ยามที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากช่วงเวลาที่สะเทือนใจนั้น คุณสมบัติในทางบวกที่คอยเป็นกำลังใจต่อตนเอง เช่น  ความนับถือตนเอง ความไว้วางใจผู้อื่น การควบคุมตนเอง และการคาดการณ์ต่อสถานการณ์ทุกอย่างรอบตัวนั้นอาจถูกทำลายลงได้ ซึ่งจะส่งผลไปสู่การมีทัศนคติด้านลบต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จนนำไปสู่ผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความกลัวและความวิตกกังวล (Janoff-Bulman, 2010) ผู้ที่เคยประสบกับความกลัวมาแล้วอย่างแสนสาหัส มักจะเชื่อและคิดว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อีกครั้งแค่เพียงพวกเขารู้สึกได้ว่าเบาะแสของฝันร้ายนั้นเริ่มเข้ามาใกล้ตัว (Farnsworth & Sewell, 2011) การมองโลกในแง่ดีจึงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาสถานการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกในทางร้ายที่หลายคนกำลังกังวลและเผชิญอยู่

 

 

การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

 

หมายความถึง การที่บุคคลสามารถมองเห็นถึงสาเหตุหรือคุณลักษณะของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในทางบวก และเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นมีความคงทนถาวร สามารถแปลความหมายของเหตุการณ์เชิงลบว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามแต่สถานการณ์เท่านั้น (Seligman, 2011) องค์ประกอบด้านการมองโลกในแง่ดีของทุนทางจิตวิทยานี้ จะช่วยให้คนเรานำมาปรับใช้ได้ในชีวิต ในการสร้างเสริมความคาดหวังในเชิงบวก ลดการจดจ่ออยู่กับความคิดในด้านลบของตนเองในการตีความหมายของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและในสถานที่ทำงาน (Carver & Scheier, 2002) ส่วน Seligman (2011) ให้ความหมาย การมองโลกในแง่ดี คือ กระบวนการทางปัญญาเกี่ยวกับความคาดหวังเชิงบวกของคนเราและการระบุสาเหตุของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกตนเอง ดำรงอยู่เพียงชั่วคราว และเกิดขึ้นเฉพาะเหตุการณ์นั้นเท่านั้น ส่วนการระบุสาเหตุของเหตุการณ์ที่ดีนั้นจะเกิดจากปัจจัยภายในตนเองและสามารถเกิดขึ้นได้อีกอย่างสม่ำเสมอและอาจขยายผลต่อไปยังสถานการณ์อื่นได้

 

แนวคิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการอธิบายที่มาและความสำคัญของการมองโลกในแง่ดีหรือร้าย ได้แก่ ทฤษฎีความคาดหวังและการให้คุณค่า (Expectancy Value Theory) (Vroom,1964) ซึ่งอธิบายว่า บุคคลจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อคุณค่าหรือเป้าหมายตามที่ตนเองปรารถนา ซึ่งความพยายามนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าคุณค่าของสิ่งนั้นมีมากพอที่จะไขว่คว้าหรือไม่ นอกจากคุณค่า (Value) แล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญที่ร่วมกัน คือ ความคาดหวัง (Expectancies) อันหมายถึง บุคคลมีความมั่นใจหรือความลังเลว่าเป้าหมายนั้นตนสามารถจะไปถึงได้หรือไม่ หากความมั่นใจนั้นมีไม่มากพอ บุคคลนั้นมักจะล้มเลิกความตั้งใจและหยุดการกระทำในการไปสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหมายเอาไว้ จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง (Fibromyaglia) พบว่า ผู้ที่มองโลกในแง่ดีจะมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยล้มเลิกความตั้งใจในการไปสู่เป้าหมายที่ตนเองวางไว้ แม้อาการเจ็บปวดจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม (Affleck et al., 2001)  จากทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จึงพอสรุปได้ว่าทั้งความคาดหวังและการให้คุณค่านั้นมีความสำคัญในการอธิบายความหมายและที่มาของการมองโลกในแง่ดีได้เป็นอย่างดี

 

อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจและอธิบายถึงการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายได้ คือ ทฤษฎีการระบุสาเหตุ (Attribution theory) โดยใช้รูปแบบของการอธิบาย (Explanatory style) การอธิบายสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัย กระบวนการคิดของบุคคลนั้น ที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ มุมมองของบุคคลที่คาดหวังต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกิดขึ้นมาจากการตีความของเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตว่ามีมุมมองความคิดในสิ่งนั้น ๆ เป็นเช่นไร เช่น คนมองโลกในแง่ดีจะอธิบายเหตุการณ์ดี ๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากการกระทำหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล มีความเชื่อว่าจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตและรวมไปถึงด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น คนมองโลกในแง่ดีมักมองว่าเหตุการณ์ผิดพลาดหรือเรื่องราวในทางลบนั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกไม่ใช่ความผิดของพวกเขาและยังมองว่าเหตุการณ์เลวร้ายนั้นเป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนอื่น ๆ ในชีวิตหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น หากคนที่มองโลกในแง่ดีได้รับการเลื่อนขั้น เขามักจะเชื่อว่าเป็นเพราะเขาทำงานเก่งและเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นั้น มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานต่อไป หากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในครั้งนี้ พวกเขาจะคิดว่าอาจเป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยดี แต่ทุกอย่างย่อมจะดีขึ้นได้ในอนาคต

 

คนมองโลกในแง่ร้ายกลับคิดในทางตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่าเหตุการณ์เลวร้ายนั้นเกิดจากความผิดพลาดหรือลักษณะนิสัยของตนเอง คนกลุ่มนี้มีมุมมองว่าความผิดพลาดครั้งเดียวที่เกิดขึ้นจะนำความผิดพลาดมากขึ้นตามมาอีก และความผิดพลาดในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หากมีเหตุการณ์ดีเกิดขึ้น คนมองโลกในแง่ร้ายจะมีความคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางบวกหรือเรื่องราวดี ๆ นั้นเป็นแค่เรื่องบังเอิญ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น คนมองโลกในแง่ร้ายจะมองว่าการได้เลื่อนขั้นในการทำงาน (เป็นเหตุการณ์ดี) เป็นเรื่องบังเอิญซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกได้อีกในอนาคต และยังกังวลอีกว่า ตำแหน่งใหม่ที่ได้รับอาจถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น หากพลาดการเลื่อนตำแหน่ง (เป็นเหตุการณ์ร้าย) นั่นเป็นเพราะตนเองไม่มีความชำนาญพอ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงมักคาดการณ์ไว้ว่าจะพลาดโอกาสดี ๆ อีกในคราวต่อไป กล่าวโดยสรุปคือคนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเป็นเรื่องเลวร้ายไปทั้งหมด มีรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มักมีอัตราการการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีการควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นร่วมด้วยแล้วก็ตาม (Schulz et al., 1996)

 

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการจัดการกับความเครียดแบบมุ่งจัดการกับปัญหา (Active coping) งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มองโลกในแง่ดีมักมีภาวะอารมณ์ทางลบหรืออาการซึมเศร้าที่ลดลง (Anderson, 1996) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Solberg Nes และ Segestrom (2006) ที่พบว่า การมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์ทางลบกับการจัดการกับความเครียดแบบหลีกหนีปัญหา (Avoidance coping)  โดยมีงานวิจัยพบว่า นักศึกษากฎหมายที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี มักใช้วิธีการการหลีกหนีปัญหา (Avoidance coping) น้อยกว่านักศึกษาอื่น ๆ (Segestrom et al., 1998) และยังพบในการวิจัยอีกว่า เมื่อเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ การมองโลกในแง่ดีส่งผลให้บุคคลมีความเครียดลดน้อยลง (Steptoe, 2008)

 

การที่คนเราคิดและคาดหวังแต่เรื่องดีและเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกับการใช้กลยุทธ์ในการรับมือที่พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยความเข้าใจดีว่าในชีวิตของคนเรานั้นย่อมมีทั้งเรื่องราวที่ดีและร้าย ดังนั้นการมองโลกในแง่ดี พร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกสถานการณ์จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมและสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตในปัจจุบันของเราได้ กลยุทธ์ในการรับมือและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่หนักหน่วงนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองให้เป็นไปในทางบวก (Positive reframing) การมีอารมณ์ขัน (Humour) หรือ แม้แต่การยอมรับความจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance) (Wrosch & Scheier, 2003)

กระบวนการทางความคิดของกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีมีลักษณะดังนี้ คือ มีการปกป้องตนเองจากเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์และมักคิดเสมอว่าเรื่องดี ๆ จะเกิดขึ้นกับตนเองมากกว่าคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน เรื่องร้าย ๆ ก็มักจะเกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ มากกว่าตนเอง Schwarzer (1994) ได้ให้คำนิยามชุดความคิดในลักษณะนี้ว่า Defensive optimism ซึ่งการคิดในรูปแบบดังกล่าวนี้ จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันทางอารมณ์ ต่อการรับรู้หรือยอมรับกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแง่ลบได้เป็นอย่างดี ช่วยพยุงความรู้สึกของคนชอกช้ำให้หลุดพ้นจากความเป็นจริงที่กดดันในบางช่วงบางสถานการณ์ของชีวิต

 

ที่ผ่านมามีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่ร้ายและความทุกข์ใจในกลุ่มคนที่ประสบความทุกข์ในกรณีที่แตกต่างกันออกไป เช่น นักเรียนที่สอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย พนักงานในแวดวงธุรกิจ และผู้รอดชีวิตจากขีปนาวุธและการถูกโจมตี ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่ศึกษาประสบการณ์ความเครียดของผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การศึกษาในเด็ก การคลอดบุตร การทำแท้ง การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ความพยายามในการทำเด็กหลอดแก้ว การปลูกถ่ายไขกระดูกและหัวใจ การรับฟังผลการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบ และความก้าวหน้าของการต่อสู้กับโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Scheier & Carver, 1992)

 

ตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มสตรีที่ได้รับการบำบัดมะเร็งเต้านม พบว่า กลุ่มคนมองโลกในแง่ร้ายมักจะมีแนวโน้มที่จะตีตัวออกห่างจากกิจกรรมทางสังคมมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี (Carver et al., 2003) สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะการมีเครือข่ายทางสังคมจะส่งผลดีต่อสุขภาวะของคนเรา (Taylor, 2007) โดยมีหลักฐานยืนยันได้ว่าการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์ทางบวกกับขนาดของเครือข่ายทางสังคมของแต่ละบุคคล โดยสรุปคือ ยิ่งมองโลกในแง่ดีมากเท่าไร บุคคลก็จะมีเครือข่ายทางสังคมที่กว้างมากขึ้นเท่านั้น (Segerstrom, 2007)

 

การมองโลกในแง่ดีจึงถือเป็นทรัพยากรเชิงบวกที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เครือข่ายทางสังคม และความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทด้วย

 

สาเหตุที่การมองโลกในแง่ดีสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมได้มากกว่าการมองโลกในแง่ร้ายนั้น เป็นเพราะว่าโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักชอบคบหาสมาคมกับคนที่มองโลกในแง่ดี มักให้การยอมรับคนที่มีมุมมองในอนาคตหรือความคาดหวังในเชิงบวก และมักปฏิเสธความสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวในชีวิตที่มีแต่แง่ลบ (Carver et al., 1994; Helweg-Larsen et al., 2002)

 

แม้การมองโลกในแง่ดีจะดูคล้ายกับว่าเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาในแต่ละบุคคล (Trait) ต่างจากสภาวะ (State) ที่สามารถจะกระตุ้นหรือสร้างให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาได้จากกระบวนการต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม หรือ กิจกรรมกระตุ้นสภาวะที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม Folkman และ Moskowitz (2000) แนะนำว่า การประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมาในอดีต ช่วยสร้างความเชื่อในการมองโลกในแง่ดี (Optimism belief) ได้ ดังนั้นการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ และการให้ผลตอบกลับที่เป็นบวก (Positive feedback) จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาคุณลักษณะของการมองโลกในแง่ดีได้เช่นกัน หากเราปรับมุมมองความคิดใหม่ว่าในทุกการแข่งขันที่มีเป้าหมายเป็นรางวัลของความสำเร็จนั้น ไม่เคยมีคำว่า “แพ้” มีแต่คำว่า “ชนะ” กับ “ได้รับบทเรียน” ซึ่งบทเรียนเหล่านั้นไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสมากเพียงใดก็ตาม หากเรายังมีลมหายใจและยังมีชีวิตอยู่ เราจะแข็งแกร่งมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ตามคำกล่าวที่เป็นข้อความอมตะของนักปรัชญาชาวเยอรมัน Friedrich Nietzscher ที่เคยเขียนเอาไว้ว่า “อะไรก็ตามที่ฆ่าเราไม่ได้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” (What doesn’t kill us makes us stronger.)

 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การมองโลกในแง่ดี จะมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Efficacy) ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะของ HERO  ลำดับสุดท้าย ขอเชิญทุกท่านติดตามบทความวิชาการ 4 ตอนจบสำหรับตอนสุดท้ายในโอกาสต่อไป

 

 

รายการอ้างอิง

 

Affleck, G., Tennen, H., Urrows, S., Higgins, P., Abeles, M., Hall, C., Karoly, P., & Newton, C.     (1998). Fibromyalgia and women’s pursuit of daily goals: A daily process analysis. Health Psychology, 17, 40–47.

 

Anderrson, G. (1996). The benefits of optimism: A meta-analytic review of the Life Orientation Test. Personality and Individual Differences, 21, 719–725.

 

Carver, C. S., Kus, L. A., & Scheier, M. F. (1994). Effects of good versus bad mood and optimistic versus pessimistic outlook on social acceptance versus rejection. Journal of Social and Clinical Psychology, 13, 138−151.

 

Carver, C. S., & Scheier, M. F. (2002). Optimism. In C. R. Snyder & S. J. Lopez (Eds.). Handbook of positive psychology (pp. 231–243). London: Oxford University Press.

 

Carver, C. S., Lehman, J. M., & Antoni, M. H. (2003). Dispositional pessimism predicts illness-related disruption of social and recreational activities among breast cancer patients. Journal of Personality and Social Psychology, 84, 813– 821.

 

Farnsworth, J. K., & Sewell, K. W. (2011). Fear of emotion as a moderator between PTSD and firefighter social interactions. Journal of Traumatic Stress, 24, 444–450.

 

Folkman, S., & Moskowitz, J. T. (2000). Positive affect and the other side of coping. American Psychologist, 55, 647– 654.

 

Helweg-Larsen, M., Sadeghian, P., & Webb, M. S. (2002). The stigma of being pessimistically biased. Journal of Social and Clinical Psychology, 21, 92−107.

 

Janoff-Bulman, R. (2010). Shattered assumptions. Simon and Schuster.

 

Scheier, M. F., & Carver, C. S. (1992). Effects of optimism on psychological and physical well-being: Theoretical overview and empirical data. Cognitive Therapy and Research, 16, 201–228.

 

Schulz, R., Bookwala, J., Knapp, J. E., Scheier, M., & Williamson, G. M. (1996). Pessimism, age, and cancer mortality. Psychology and Aging, 11(2), 304-309.

 

Schwarzer, R. (1994). Optimism, vulnerability, and self-beliefs as health-related cognitions: A systematic overview. Psychology and Health, 9, 161-180

 

Segerstrom, S. C, Taylor, S. E., Kemeny, M. E., & Fahey, J. L. (1998). Optimism is associated with mood, coping, and immune change in response to stress. Journal of Personality and Social Psychology, 74, 1646-1655.

 

Segerstrom, S. C. (2007) Optimism and resources: Effects on each other and on health over 10 years. Journal of Research in Personality, 41:772–86.

 

Seligman, M. E. P. (2011). Learned optimism: How to change your mind and your life. New York, NY: William Heinemann.

 

Solberg Nes, L., & Segerstrom, S. C. (2006). Dispositional optimism and coping: A meta-analytic review. Personality and Social Psychology Review, 10, 235–251.

 

Steptoe, A., O’Donnell, K., Marmot, M., & Wardle, J. (2008). Positive affect and psychosocial processes related to health. British Journal of Psychology, 99, 211–217.

 

Taylor, S. E. (2007). Social support. In H. S. Friedman & R.C. Silver (Eds.), Foundations of health psychology (pp. 145−171). New York: Oxford University Press.

 

Vroom, V. H., Work and Motivation, Wiley, New York, 1964.

 

Wrosch, C., & Scheier, M. F. (2003). Personality and quality of life: The importance of optimism and goal adjustment. Quality of Life Research, 12, 59-72.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้