ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง – Post-traumatic stress disorders

23 Nov 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

ความสะเทือนใจ (trauma) คือ ความรู้สึกตกใจหรือสั่นสะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจเป็นเวลานาน

 

ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง (Post-traumatic stress disorders) คือ ภาวะกระทบกระเทือนใจอันเนื่องมาจากความกลัว ความตกใจ ความฝังใจจากเหตุการณ์วิกฤตที่รุนแรง หรือความสูญเสียอย่างกะทันหัน ผลอันเกิดจากความสะเทือนใจซึ่งอาจสังเกตได้ไม่เด่นชัด แต่มีผลเรื้อรังในระยะยาวทั้งต่อสภาวะจิตใจ ทัศนคติ การมองโลก รวมถึงการปรับตัวและการมีสุขภาวะที่เหมาะสมในสังคม

 

ภายหลังเหตุการณ์วิกฤตหรือเหตุการณ์ความสูญเสียที่รุนแรงต่าง ๆ บุคคลจะมีความรู้สึกสะเทือนใจนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งใน คู่มือวินิจฉัยทางจิตเวช 4 (DSM-IV) กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจอย่างรุนแรงเฉียบพลัน แต่ในฉบับปรับปรุง (DSM-IV-TR) ได้เปลี่ยนแปลงและเรียกอาการในระยะ 3 เดือนแรกว่า trauma หรือความสะเทือนใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะฟื้นตัวได้ภายในช่วง 3 เดือนแรก และเรียกอาการความสะเทือนใจที่คงอยู่นานหลัง 3 เดือนว่าเป็น Post-traumatic stress disorders (PTSD) ซึ่งใน DSM-IV ฉบับก่อนหน้านี้กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจเรื้อรัง

 

 

อาการ


 

เกณฑ์การวินิจฉัยอาการทางจิตเวชในคู่มือการวินิจฉัยได้จำแนกอาการของภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงไว้ 3 กลุ่มอาการคือ

 

  1. การย้อนเห็นภาพเหตุการณ์ (Intrusion) การคิดถึง ย้อนระลึกถึงซ้ำ ๆ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่งเมื่อพบสิ่งที่สะกิดใจหรือทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ
  2. การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ (Dissociation) บางทีก็เรียกลักษณะนี้ว่าการตัดความรู้สึกหรือการหลีกเลี่ยงความรู้สึก มีการหลีกหนี ไม่เผชิญหรือพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน มีการระงับไม่รับรู้และแสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ พยายามหลีกเลี่ยงผู้คนหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน
  3. มีปฏิกิริยาไวในการระแวดระวังและตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เกินระดับปกติ (Hyperarousal) โดยแสดงอาการตื่นตัว สะดุ้งบ่อยกว่าปกติ นอนหลับยาก ตั้งสมาธิลำบาก และมีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนง่าย

 

 

สาเหตุของอาการ


 

 

1. ปัจจัยภายนอกตัวบุคคล

 

คือลักษณะเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกวิสัยที่พบได้ตามปกติ เช่น สงคราม ที่มีทหารผ่านศึกหลายนายที่ทนทุกข์จากภาวะสะเทือนใจรุนแรง (แต่ทหารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการนี้) รวมถึงเหตุวิกฤตซึ่งเกิดเป็นปกติในช่วงชีวิต เช่น การหย่าร้าง การตายของคู่ชีวิต ความล้มเหลวในงาน การแท้งบุตร ความเจ็บป่วย และเหตุการณ์วิกฤตรุนแรงอื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไฟไหม้ วินาศกรรม อุบัติเหตุ อาชญากรรม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์หลากหลายเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง ไม่คาดฝัน และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินในระดับต่าง ๆ ต่อผู้ประสบเหตุการณ์

 

2. ปัจจัยภายในตัวบุคคล

 

คือ ปฏิกิรยาตอบสนองส่วนตัวของผู้ประสบเหตุการณ์ หากผู้ประสบเหตุการณ์มีความรู้สึกโดยส่วนตัวอย่างเข้มข้นว่าเหตุการณ์นั้นคุกคามต่อชีวิตและร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้ รู้สึกหวาดกลัวและตกใจอย่างที่สุด ประจวบกับความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ไร้ทางออก การรับรู้เช่นนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงในระดับสูง

 

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงและตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลให้บุคคลได้รับผลจากเหตุการณ์วิกฤตและความสูญเสียลักษณะเดียวกันแตกต่างกัน พบว่า ตัวแปรที่ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่ออาการดังกล่าว คือ ตัวแปรด้านบุคลิกภาพ และการคิด โดยปัจจัยด้านการคิดอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการอนุมานสาเหตุ หรือลักษณะที่บุคคลมักใช้ในการหาเหตุผลเมื่อพบเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต อาทิ แนวโน้มคิดโทษตนเอง การมองว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป และคิดแผ่ขยายประสบการณ์ที่ไม่ดีไปสู่เหตุการณ์อื่น ๆ และด้านอื่น ๆ ในชีวิต แทนที่จะมองว่าเป็นความบังเอิญหรือเป็นเหตุการณ์เฉพาะ

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ประสบการณ์ความสะเทือนใจของผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ : กรณีศึกษาชุมชนในเขตบางยี่ขัน” โดย ธีร์จุฑา จรัสโยธินนุวัฒน์ (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/78

 

แชร์คอนเท็นต์นี้