โน้มน้าวคนใกล้ตัวอย่างไรให้เข้าสู่ new normal

22 Jun 2020

ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

 

ในยุคของการระบาดของไวรัสโควิด 19 คนเราต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินต่าง ๆ เพื่อป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดจากการติดเชื้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพกและใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ การล้างมือบ่อย ๆ การพกและใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน

 

จะทำอย่างไรดีคะ ถ้าหากคนใกล้ตัวเราไม่ยอมทำตามกฏเพื่อความอยู่รอดจากเชื้อโควิดเหล่านี้? เช่น คุณพ่อคุณแม่อายุมากแล้ว ก็อาจจะไม่อยากใส่หน้ากากเพราะรู้สึกอึดอัด ยังอยากออกไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนหรือจับกลุ่มเม้ามอยกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เราลูกหลานจะทำอย่างไรดีให้ท่านตระหนักและหันมาปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด? หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองแกร่ง หรือคนที่การ์ดตก อยากกลับไปใช้ชีวิตที่อิสระไม่ต้องเก็บเนื้อเก็บตัวให้เดียวดาย เราจะชักจูงพวกเขาอย่างไรดีให้หันมา “ตั้งการ์ด” ป้องกันเชื้อโควิดระลอกสอง

 

ลองวิธีต่อไปนี้ดูค่ะ

 

 

1. ชวนให้ทำเพื่อตัวเองหรือคนที่เขารัก

 

ทฤษฏีการโน้มน้าวใจในทางจิตวิทยาสังคม จะแนะนำให้เน้นที่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเขาเอง หรือผลเสียที่จะเกิดกับตัวเขา เพื่อเป็นแรงดันให้คนคนนั้นอยากจะทำตามที่เราบอก ดังนั้นง่ายที่สุดคือทักเขาว่า “ไม่กลัวติดโควิดตายเหรอ ทำไมไม่ใส่หน้ากาก” “ออกไปทำไมที่คนเยอะแยะ เดี๋ยวก็ติดโควิดหรอก” แน่นอนว่าคนที่ไม่ยอม “ตั้งการ์ด” กันโควิดนั้นก็จะมีข้ออ้างมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าตัวเขาคงไม่โชคร้ายไปได้เชื้อโรคมาหรอก หรือถึงจะติดจริง ๆ เป็นได้ก็หายได้ ความเชื่อเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่มักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่บ่อย ๆ เถียงไปก็ไร้ประโยชน์ค่ะ เจอแบบนี้เราก็แค่เปลี่ยนเป้าหมายจากตัวเขาไปที่ “คนที่เขารัก” แทน เราทุกคนมีครอบครัวหรือคนที่เรารัก ที่เราไม่อยากเห็นเขาต้องได้รับเชื้อโควิด ดังนั้นประโยคที่จะกระตุกใจคนที่ไม่ยอมตั้งการ์ด ก็อาจเป็น “ไม่กลัวเอาไปติดลูกเหรอ” “ไม่กลัวเป็นแล้วไม่ได้ดูแลลูกหลาน/พ่อแม่เหรอ” “เป็นแล้วติดกันทั้งบ้านได้เลยนะ เด็ก คนแก่ ถึงตายได้นะ” คนที่ได้ยินก็มักจะเถียงได้ยาก และทำให้นึกถึงคนที่เขารักและสำคัญกับเขา ซึ่งมักจะเป็นตัวกระตุ้นได้อย่างดีเพื่อให้คนเรายอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองค่ะ

 

2. ทำให้ new normal เป็นเรื่องง่าย ๆ

 

คนที่ไม่อยากจะใส่หน้ากากอนามัย ไม่สนใจจะรักษาระยะห่าง พอมีโอกาสเขาก็จะ “ไม่ทำ” สิ่งเหล่านั้น วิธีที่จะตะล่อมให้เขายอมทำได้ง่ายขึ้นก็คือการจัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมสำหรับ new normal เช่น การจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลฆ่าเชื้อโรคให้พร้อมสำหรับเขา แบบที่ใส่สบาย สวย/เท่ห์ ใส่ง่ายหายใจสะดวก มีไว้ให้พร้อมเสมอในที่ที่เขาใช้ชีวิต เช่น มีไว้ก่อนออกจากบ้าน ในรถ ในกระเป๋าถือ แบบนี้ก็จะลดอาการงอแงแก้ตัวว่า ทำไม่ได้ หรือ ไม่สะดวก ไปได้มากค่ะ และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สม่ำเสมอ และสนุกสนานด้วยจะยิ่งดี คนเราบางทีทำอะไรก็เพราะคนรอบ ๆ ตัวเราเขาทำกัน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็น new normal ก็จะช่วยให้คนดื้อค่อย ๆ ปรับตัวได้ค่ะ

 

3. ชดเชยความสูญเสีย/ไม่สะดวก

 

คนเรามักจะต่อต้านเมื่ออิสระเสรีภาพที่เคยมีต้องมาเสียไปหรือถูกจำกัด เช่น ห้ามออกจากบ้าน ห้ามไปเที่ยว ห้ามไปแดนซ์ ห้ามไปดูมวย ทั้งที่เคยทำได้ตามใจชอบ ดังที่เป็นข่าวการประท้วงการ lockdown ในต่างประเทศ การห้ามหรือแนะว่าไม่ควรทำสิ่งที่เขาเคยทำได้ ก็มักถูกมองว่าเป็น “ความสูญเสีย” ที่จะเกิดขึ้นถ้าเขายอมเชื่อตาม ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงไหมคะ? ดังนั้นเราก็ควรจะหาทางชดเชยสิ่งเหล่านี้เพื่อลดแรงต้านนั่นเอง แปลว่าเราไม่ควรห้ามอย่างเดียว แต่ควรชวนเขาทำสิ่งใหม่ทดแทน (นี่ละค่ะ new normal) เช่น การจัดให้ผู้สูงอายุได้พบเจอเพื่อนๆ ผ่านวีดีโอคอล การหากิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ สำหรับเขาให้ทำที่บ้านมาทดแทนการออกไปสังสรรค์ในแบบที่เสี่ยง แนะนำการช้อปปิ้งออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ แทนการออกไปเดินที่คนเยอะ ๆ เป็นต้นค่ะ

 

 

ที่กล่าวมาเป็นแค่สิ่งที่เราลุกขึ้นมาทำได้เองเพื่อคนใกล้ตัวที่อาจจะไม่ยอมป้องกันตัวเองค่ะ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คงทนถาวรได้นั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมในภาพกว้างด้วย การรณรงค์ของภาครัฐ การจำหน่ายจ่ายแจกหน้ากากอนามัยที่เพียงพอ การจัดสถานที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาระยะห่าง การมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง การให้ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เพื่อปรับตัว หรือการจัดพื้นที่ผู้ให้บริการต่างๆ ที่เพียงพอต่อการรักษาระยะห่าง ก็ล้วนส่งผลต่อการที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเข้าสู่ new normal ได้ยากหรือง่ายทั้งนั้นค่ะ เรียกว่าต้องปรับไปพร้อมกันทุกภาคส่วนกันทีเดียว

 

ฮึบ ทำไปพร้อม ๆ กันนะคะ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน!

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้