Moral Disengagement – การละเลยคุณธรรม

09 Oct 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การละเลยคุณธรรม คือ การที่บุคคลรับรู้ว่าพฤติกรรมที่ตนทำเป็นสิ่งไม่ดี (ผิดศีลธรรม) แต่ก็ยังเลือกที่จะทำ โดยบุคคลได้โน้มน้าวตนเองว่าคุณธรรมที่ตนมีเป็นมาตรฐานนั้นไม่สามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์หรือบริบทที่ตนกำลังเผชิญอยู่ เพื่อลดความรู้สึกไม่ดีและความรู้สึกผิดที่ได้ทำพฤติกรรมนั้นลงไป เพื่อปกป้องมโนภาพแห่งตนและช่วยบรรเทาความไม่คล้องจองของปัญญา (Cognitive dissonance)

 

การเปลี่ยนโครงสร้างทางการรู้คิด (cognitive restructuring) เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีในมุมมองที่ดีขึ้น เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะได้อนุญาตให้ตนสามารถทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้โดยไม่รู้สึกผิด และนำมาสู่การทำพฤติกรรมที่ไม่ดีซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ

 

 

กลไกการโน้มน้าวตนเองในการละเลยคุณธรรม มีทั้งหมด 8 กลไก ดังนี้


 

1. การให้เหตุผลรองรับพฤติกรรมที่ไม่ดี (Moral Justification)

คือ กระบวนการในการให้เหตุผลต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ทำลงไปว่าเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ โดยอ้างว่านำไปสู่คุณค่าของสังคมหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางศีลธรรมอื่น ๆ เช่น การที่ฉันทำร้ายผู้อื่นเพื่อเป็นการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของโรงเรียนของฉัน

2. การเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่แย่กว่า (Advantageous comparison)

คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ได้กระทำกับพฤติกรรมที่แย่กว่า เมื่อเปรียบเทียบผลของการกระทำจะเห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีมีความร้ายแรงน้อยลง เช่น การโกหกในการรายงานหน้าชั้นยังดีกว่านักข่าวที่รายงานเรื่องโกหกออกสื่อ

3. การเปลี่ยนแปลงคำเพื่อลดความรุนแรงของพฤติกรรม (Euphemistic labeling)

คือ การใช้คำใหม่ให้บรรเทาความรุนแรงของพฤติกรรม เป็นการเปลี่ยนความ เช่น การนำของของคนอื่นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช่การขโมย แต่เป็นการขอยืมไปก่อนเท่านั้น

 

การปิดบังความรับผิดชอบของผู้กระทำ (minimizing one’s agentive role) เป็นการปิดบังหรือลดความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้ตนเองสบายใจว่าตนไม่ได้ต้องการเป็นผู้กระทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ต้องทำเพราะเป็นความต้องการของผู้อื่น

 

4. การปัดความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น (Displacement of responsibilities)

คือ การส่งต่อความรับผิดชอบของตนว่ามาจากคำสั่งของผู้อื่น เช่น ฉันปลอมเอกสารเพราะหัวหน้ามอบหมายให้ฉันทำ คนที่ต้องรับผิดชอบคือหัวหน้างานของฉัน

5. การกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น (Diffusion of responsibilities)

คือ การกระจายความรับผิดชอบให้กับกลุ่ม เช่น การลอกงานเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถ้าฉันถูกลงโทษคนอื่นก็ต้องถูกลงโทษด้วย

 

การลดความรู้สึกต่อผลที่เกิดขึ้นของพฤติกรรม (disregarding or distorting the consequence) เป็นการลดความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นหลังจากทำพฤติกรรม โดยการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ได้รับผลกระทบ

 

6. ลดความร้ายแรงของผลที่ตามมาของพฤติกรรม (Distortion of consequence)

คือ การลดความร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการทำพฤติกรรมเพื่อลดความรู้สึกผิดที่จะเกิดขึ้น เช่น การปลอมแปลงเอกสารไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ไม่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงได้หรอก

7. ลดมุมมองความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ (Dehumanization)

คือ หากผู้กระทำผิดรับรู้ว่าผู้ถูกกระทำเป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะเกิดความเห็นใจและรู้สึกผิดต่อการกระทำ จึงลดความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำลง เช่น มองเป็นคนนอกกลุ่มที่ไม่สมควรได้รับความเห็นใจ เช่น ฉันไม่ได้ว่าร้ายคนนั้น แต่ว่าร้ายบริษัทคู่แข่งของเราที่เขาทำงานอยู่

8. โทษผู้อื่น (Attribution of blame)

คือ การที่มนุษย์มองตนเองว่าดี ไม่มีข้อผิดพลาด ทำให้เปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่าผลของการกระทำที่ไม่ดีเป็นความรับผิดชอบของเหยื่อที่สมควรได้รับอยู่แล้ว เช่น ที่ฉันทำร้ายเชา เพราะเขาทำตัวไม่ดีสมควรได้รับการลงโทษจากฉัน

 

 

ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยคุณธรรม


 

ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ

 

บุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการละเลยคุณธรรม ได้แก่ บุคลิกภาพแบบแมคคิวิเลียน (Machiavellianism) ความเชื่อเรื่องอำนาจควบคุมภายนอก (External locus of control)

 

บุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์ทางลบกับการละเลยคุณธรรม ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเป็นมิตรและการมีจิตสำนึก (Agreeableness and Conscientiousness) การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) การรู้สึกผิดและความละอาย (Guilt and Shame)

 

ปัจจัยด้านเพศและวัย

 

มีการวิจัยบางงานพบว่า กลุ่มบุคคลช่วงวัยรุ่นมีการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมมากกว่ากลุ่มวัยเด็ก และกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยแต่ละวัยมีรูปแบบการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมต่างกัน วัยรุ่นมักใช้กลไกการกระจายความรับผิดชอบกับกลุ่ม ส่วนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะใช้กลไกการละเลยคุณธรรมในการสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่นเป็นรายบุคคล

 

ส่วนงานวิจัยที่เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า เพศหญิงมักใช้กลไกการกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น ขณะที่เพศชายมักใช้กลไกการให้เหตุผลรองรับพฤติกรรมที่ไม่ดี

 

งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องการละเลยคุณธรรมกับการรังแกภายในโรงเรียน พบว่า กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ในโรงเรียนมีการใช้กลไกการละเลยคุณธรรมดังนี้ (ตามลำดับ)

    • “การถูกรังแกเป็นเรื่องปกติของการเป็นเด็ก” – เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการรู้คิด
    • “นักเรียนที่ถูกรังแกสมควรได้รับการกระทำเหล่านั้น” – โทษเหยื่อ
    • “เป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการดูแลไม่ให้เกิดการรังแกในโรงเรียน” – ส่งต่อความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด
    • “การถูกรังแกทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น” – ลดความรู้สึกต่อผลของพฤติกรรม

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 

ภาพจาก https://thenounproject.com/term/angel-and-devil/

 

แชร์คอนเท็นต์นี้