อิทธิพลของสื่อต่อการเพิ่มการช่วยเหลือ

01 Mar 2018

ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

 

สื่อช่วยเพิ่มการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนในสังคมได้อย่างไร?


 

การใช้สื่อเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนในสังคม คือ การใช้สื่อต่าง ๆ เช่นรายการโทรทัศน์ หรือเพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวัน ให้เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการทำความดีของคนในสังคม ด้วยการเพิ่มการทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งก็คือการทำอะไรก็ได้ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้คนอื่น นอกเหนือจากตนเองได้รับประโยชน์

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ การมีน้ำใจต่อผู้อื่น การช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์หรือกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนโดยการใช้สื่อนั่นเอง แน่นอนว่าน้ำใจและการช่วยเหลือกันนั้น เป็นสิ่งที่ดี ที่เราอยากจะเห็นคนในสังคมเราแสดงออกให้มากขึ้น

 

ถ้าหากลองจินตนาการว่า มีเหตุการณ์ไม่ดีนี้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ก็คงจะเข้าใจว่า การมีคนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ในเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าเราลองแทนตัวเรา เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง และต้องตัดสินใจว่า จะเข้าไปช่วยเขาดีหรือไม่ เราก็อาจต้องไตร่ตรองว่า การเข้าไปช่วยเขาหมายถึงการที่ตัวเราเองต้องเสียเวลา หรือต้องเสียสละอะไรบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกัน หากเราตัดสินใจให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน เราก็จะอิ่มเอมใจว่าได้ทำความดี หรืออาจได้รับการยกย่องในความมีน้ำใจ

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไร ที่คนในสังคมจะช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น วิธีหนึ่งก็คือการใช้สื่อเข้ามาช่วยนั่นเอง เนื่องจากสื่อเป็นหนทางเข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า แทนที่สื่อจะเสนอความก้าวร้าว การชกต่อย เข่นฆ่ากัน ซึ่งจะเพิ่มความก้าวร้าวในตัวผู้ชม แล้วหันมาเสนอเนื้อหาการช่วยเหลือ หรือการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ก็จะช่วยให้เกิดพฤติกรรมดี ๆ เหล่านี้ในผู้ชมมากขึ้นได้

 

การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า การนำเสนอบุคคลตัวอย่างที่เสียสละตน หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การช่วยเปลี่ยนยางรถยนต์ให้แก่เจ้าของรถสุภาพสตรี ที่อาจจะทำเองไม่ถนัด เป็นการเพิ่มแนวโน้มที่ผู้พบเห็นจะทำตาม ดังนั้นรายการโทรทัศน์ ที่เสนอเรื่องราวของคนใจบุญ ที่ช่วยเหลือคนอื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ผู้ชมทำพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น การได้เห็นตัวแบบที่ให้ความช่วยเหลือสัตว์หรือคนอื่น ๆ ทำให้ผู้ชมมีพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น

 

มีการศึกษาทางจิตวิทยางานหนึ่ง ให้เด็กอายุ 7 ถึง 8 ขวบ ชมละครตลกทางโทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาให้ตัวละครได้เรียนรู้ผลของการลักขโมย การทะเลาะกับพี่น้อง การโกหก และผลของการทำความดี เช่น การแบ่งปันสิ่งของระหว่างพี่น้อง การให้อภัย และการทำเพื่อส่วนรวม จากการวิจัยนี้พบว่า ผู้ชมวัยเด็กบางคนก็ไม่เข้าใจคติสอนใจด้านคุณธรรมจากละครเหล่านี้ ส่วนเด็กที่เข้าใจว่าละครสอนให้ทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นในชีวิตจริงมากขึ้น ดังนั้น เราควรจะเลือกรายการ หรือละครเพื่อสังคม ที่ผู้ชมแต่ละวัยเข้าใจได้ให้เขาดู รายการเหล่านี้สามารถช่วยสอนให้เด็กและคนในสังคมของเราเป็นคนดีและช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้นได้

 

“เพลง” สามารถทำให้ผู้ฟังกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขึ้นได้

 

การศึกษาทางจิตวิทยาในต่างประเทศ พบว่า คนที่ฟังเพลงที่มีเนื้อหาของการทำเพื่อสังคม เช่น เพลงฮีลเดอะเวิลด์ ของไมเคิล แจ็คสัน แสดงพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นได้หลายรูปแบบ เช่น ช่วยคนคนหนึ่งเก็บของที่ตกบนพื้น หรืออาสาช่วยเป็นผู้ร่วมการวิจัยในการศึกษาอื่น มากกว่าคนที่ฟังเพลงที่มีเนื้อหากลาง ๆ ไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือกัน

 

ทำไมเพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้คนเราช่วยเหลือกัน จึงทำให้ผู้ฟังมีพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นขึ้นมาได้จริง ๆ?

 

นักจิตวิทยาสังคมพบว่า การฟังเพลงเนื้อหาดี ๆ แบบนี้ ช่วยทำให้ผู้ฟังเกิดความ “รู้สึก” รู้ซึ้งถึงความรู้สึกลำบากของผู้อื่นมากขึ้น และการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี่เอง ทำให้เราอยากช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริมการเอื้ออาทรกัน จะช่วยเพิ่ม “ความคิด” เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่นในผู้ฟัง เมื่อคิดวนเวียนเรื่องการช่วยเหลือ ก็ทำให้คนเรามักลงมือช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส

 

สรุปง่าย ๆ ก็คือเนื้อหาของเพลงนั้นเป็นส่วนสำคัญ เพลงที่พูดถึงคุณงามความดีและการเอื้ออาทรของคนในสังคม สามารถเพิ่มความคิดดี ๆ และความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้ผู้ฟังนั้นช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นได้ และงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะเพิ่มการเอื้ออาทรกันของคนเราได้แล้ว เพลงที่มีเนื้อหาดี ๆ เช่นนี้ ยังช่วยลดความคิดและพฤติกรรมแบบก้าวร้าวในผู้ฟังได้ด้วย ดังนั้นการฟังเพลงจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือเอาไว้ผ่อนคลายเท่านั้น แต่เพลงสามารถสอนให้เราทำความดีหรือทำเพื่อผู้อื่นได้

 

หากเราได้อ่านเรื่องราวของการทำความดี ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นประจำ เราจะหันมาทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นกันมากขึ้นหรือไม่?

 

การศึกษาพบว่า หลังจากผู้ร่วมการทดลองได้อ่านเรื่องของการให้อภัย เช่น เรื่องครอบครัวของเหยื่อที่ให้อภัยฆาตรกรที่ฆ่าคนในครอบครัวของตน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบเจอได้ยาก แสดงถึงความมีความเมตตา และการปล่อยวางความเจ็บแค้นส่วนตนเพื่อคนอื่นอย่างน่านับถืออย่างยิ่ง เมื่ออ่านเรื่องเช่นนี้แล้ว ผู้ร่วมการทดลองรายงานว่าตนรู้สึกว่าได้รับแรงบันดาลใจให้กระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี หรือเกิดความใฝ่คุณธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหากบุคคลเป็นคนที่ยึดถือคุณธรรมเป็นสิ่งชี้นำชีวิตด้วยแล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมากขึ้น

 

ดังนั้น การที่เราแบ่งปันเรื่องราวของการช่วยเหลือกันลงในบล็อคหรือเฟสบุค นิตยสาร หรืองานเขียนผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ก็จะมีส่วนช่วยสร้างให้คนในสังคมหันมาทำความดี รักษาคุณธรรมกันมากขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เราทุกคน ในฐานะผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือ เช่น เฟสบุ๊ก อินสตราแกรม หรือบล็อกต่าง ๆ ก็สามารถมีส่วนช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นได้

 

นอกจากนี้ เรายังสามารถอาศัยสื่อดังกล่าว ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย แน่นอนว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้เข้ามาอ่านหรือมาพบเห็น เช่น การตั้งสังคมออนไลน์เพื่อช่วยเหลือ หรือให้กำลังใจผู้ติดโรคร้าย การโพสต์ลิงค์ขององค์กรการกุศลที่ต้องการรับบริจาคเงินหรือสิ่งของ การแบ่งปันความรู้ของตัวเราเองแก่ผู้อื่นโดยการเขียนบล็อค หรือการตอบกลับข้อความของเพื่อนออนไลน์ ในแบบที่ให้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์แก่คนอ่าน

 

สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นการทำหน้าที่สื่อ เพียงแต่เป็นสื่อส่วนบุคคล ในการช่วยเหลือผู้อื่นนั่นเอง…

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้