Lying – การโกหก

17 Sep 2019

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การโกหก หมายถึง การที่ผู้พูดบอกข้อมูลเท็จให้กับบุคคลอื่น โดยที่ผู้พูดรู้ว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยจงใจ

 

วัตถุประสงค์ของการโกหกไม่เพียงเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการหลอกลวงเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้สำเร็จในการโน้มน้าวใจบางสิ่ง นักจิตวิทยา พบว่า มีแรงจูงใจมากมายในการโกหก เช่น รักษาหน้าตา หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น สร้างความประทับใจ การขอความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงเพื่อทำร้ายผู้อื่น (Miller & Stiff, 1993; Kashy & DePaulo, 1996)

 

 

Lindgkold และ Walters (1983) จัดรูปแบบการโกหกเป็น 6 ประเภท โดยเรียงลำกับที่มีการยอมรับมากที่สุดถึงน้อยที่สุด คือ

 

  1. Save others shame – การโกหกเพื่อช่วยผู้อื่นจากความเจ็บปวดที่เล็กน้อย ความอับอาย หรือความละอาย
  2. Protect from punishment – การโกหกเพื่อปกป้องตนเองหรือบุคคลอื่นจากการถูกลงโทษหรือความไม่พอใจ สำหรับการล้มเหลวเล็กน้อย หรือการทำผิดพลาดร้ายแรงจากความสะเพร่าซึ่งทำร้ายบางคน
  3. Influence officials – การโกหกเพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น ในทางที่ได้รับการตอบสนองที่ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
  4. Enhancing appearance and protect gain – การโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีกว่าความเป็นจริง หรือปกป้องผลประโยชน์บางอย่าง
  5. Exploitative persuasion – การโกหกเพื่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้ตนเองได้ประโยชน์
  6. Direct harm, Self-gain – การโกหกเพื่อทำร้ายคนอื่นแต่ตัวเองได้ผลประโยชน์

 

สำหรับงานวิจัยในประเทศไทย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) ได้แบ่งประเภทการโกหกไว้ 4 รูปแบบ ตามแรงจูงใจเป้าหมาย ดังนี้

 

  1. Altruistic – การโกหกเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องผู้อื่น
  2. Conflict avoidance – การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับผู้อื่น
  3. Social acceptance – การโกหกเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ หรือให้คนอื่นดูมีความคิดเห็นเหมือนผู้อื่น
  4. Self-gain – การโกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะทางวัตถุนิยม

 

 

ความถี่และมุมมองต่อการโกหก


 

งานวิจัยของ DePaulo และคณะ (อ้างถึงใน Vrji, 2008) พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 147 คน รายงานว่าตนมีการโกหก 1-2 ครั้งต่อวัน และจะเป็นการโกหกเพื่อตนเองมากกว่าโกหกเพื่อคนอื่น ยกเว้นกรณีของคู่รักเพศหญิง ที่จะโกหกเพื่อตนเองและเพื่อคนอื่นพอ ๆ กัน และผู้ร่วมการวิจัยเพศชายมักโกหกเพื่อตนเองกับเพศชายด้วยกัน แต่จะโกหกเพื่อผู้อื่นกับเพศหญิง

 

เมื่อถามถึงมุมมองของการโกหก ผู้เข้าร่วมการวิจัยรายงานว่า พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องโกหกของตนอย่างจริงจัง และไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย หรือไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการถูกจับได้ อย่างไรก็ตาม การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่ไม่มีการโกหกก็ยังน่าพอใจมากกว่า และช่วยให้มีความใกล้ชิดกันมากกว่า

 

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Oliveira และ Levine (2008) พบว่า ผู้ที่มองการโกหกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้จะเห็นการโกหกเป็นเครื่องมือที่จะนำความสำเร็จทางสังคมหรือความสำเร็จส่วนตนมาสู่ตนเอง พวกเขาจะฝึกโกหกมากกว่าผู้อื่น และยังสำนักผิดน้อยกว่า จริงจังน้อยกว่า แต่ให้ความเข้าใจมากกว่า ส่วนผู้ที่ไม่ยอมรับการโกหก จะโกหกน้อยกว่าและรู้สึกมากกว่า มีความโกรธมากกว่าหากทราบว่าตนถูกโกหก และยังตัดสินคนที่โกหกในแง่ร้ายมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า หากเป็นการโกหกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันหรือเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น การโกหกจะได้รับการยอมรับมากขึ้น และวัฒนธรรม รวมถึงประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก (เป็นคู่สมรส เพื่อน หรือคนแปลกหน้า) ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับการโกหกด้วย

 

 

ความเป็นไปได้ในการโกหก


 

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการโกหก พบว่า ผู้ที่มีลักษณะชอบสร้างความประทับใจและชอบเข้าสังคมมีการรายงานการโกหกสูงกว่าผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวต่ำ (Karhy & DePaulo, 1996) ส่วนผู้ที่วิตกกังวลทางสังคมสูงและคนขี้อาย รายงานว่ามีความรู้สึกอึดอัดไม่สบายระหว่างโกหก มีการแสดงท่าทีพิรุธสูง และโกหกไม่ได้นาน (Vrij & Holland, 1998) ตรงข้ามกับผู้ที่มีลักษณะการหาผลประโยชน์จากผู้อื่น จะรับรู้ความสามารถในการโกหกในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน และรู้สึกละอายใจเพียงเล็กน้อย และเมื่อต้องโกหกในสถานการณ์ร้ายแรง ผู้ที่มีการหาผลประโยชน์จากผู้อื่นจะรู้สึกสบายใจทั้งก่อนและหลังการโกหก (Gozna, Vrij, & Bull, 2001)

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่า คนที่มีลักษณะซื่อสัตย์และกล้าแสดงออก มักไม่โกหกเพื่อให้สังคมยอมรับตน รวมถึงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนบุคคลที่มีลักษณะแมคคาวิลเลี่ยนสูง มักโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และโกหกเพื่อตนเอง ในขณะที่บุคคลที่มีทำตามแรงจูงใจสูงจะโกหกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนผู้ที่มีความเมตตาสูงจะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่จะไม่โกหกเพื่อตัวเอง (McLeod & Genereux, 2008)

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับการโกหก (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) พบว่า ความซื่อสัตย์ไม่สามารถทำนายความเป็นไปได้ในการโกหก แต่สามารถทำนายการยอมรับการโกหกได้ กล่าวคือ สำหรับบุคคลที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะโกหกหรือไม่ (อาจขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะโกหกหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก) แต่ทั้งนี้ ผู้ที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูงมักจะไม่ยอมรับการที่ตนต้องถูกโกหก

 

นอกจากนี้ บุคคลที่มีความเมตตาสูง จะลังเลกับการโกหกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หากพิจารณาว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือเห็นว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้นั้นกระทำผิด

 

ส่วนผู้ที่มีความกล้าแสดงออกสูงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และไม่กังวลใจต่อการแสดงปฏิกิริยาของตนอย่างตรงไปตรงมา แต่กรณีที่ตนถูกโกหก อาจยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) เช่นเดียวกับผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง มักจะไม่โกหกเพื่อตนเอง แต่จะโกหกเพื่อคนอื่นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงผู้ที่มีความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็จะไม่โกหกเพื่อตนเองและไม่ยอมรับการโกหกเพื่อตนเองเท่าใดนัก (ฉัตรดนัย ศรชัย และคณะ, 2556)

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบมองโลกในแง่ดี บุคลิกภาพแบบเป็นมิตร การเห็นคุณค่าในตนเอง และความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อการยอมรับการโกหกและความเป็นไปได้ในการโกหก” โดย ฉัตรดนัย ศรชัย, นชา พัฒน์ชนะ และ สุณิสา พรกิตติโชติเจริญ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44154

 

“การทำนายความเป็นไปได้ในการโกหกและการยอมรับการโกหกด้วยตัวแปรบุคลิกภาพ” โดย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46443

 

ภาพประกอบจาก https://timedotcom.files.wordpress.com/

 

แชร์คอนเท็นต์นี้