ความเหงากำลังระบาด?

08 Dec 2023

คงพล แวววรวิทย์

 

ความเหงากำลังระบาด?

 

มีใครในช่วงนี้กำลังรู้สึกเหงาบ้างไหม? เมื่อองก์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่าความเหงากำลังเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ มีผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ในบทความนี้อยากจะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “ความเหงา” เพื่อทำความเข้าใจความเหงา และวิธีการจัดการกับความเหงา

 

ความเหงา (Loneliness) เป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่าตนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และตีความสถานการณ์ในความสัมพันธ์ของตน เช่น การที่คนคนหนึ่งมีเพื่อนหลายคน ไปพบและเจอเพื่อนบ่อย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาได้จากการรับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ตนมีนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความคาดหวัง ในขณะเดียวกันคนที่มีเพื่อนน้อย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ก็อาจจะไม่ได้มีความเหงาเกิดขึ้น

 

 

ประเภทของความเหงา


 

ความเหงาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคร่าวๆได้ ดังนี้

 

  1. ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient Loneliness) หรือจะเรียกว่า ความเหงาในชีวิตประจำวัน (Everyday Loneliness) ก็ได้ เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดแต่อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก
  2. ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การจบความสัมพันธ์กับใครสักคน หรือการย้ายถิ่นฐานของคนที่มีความผูกพันต่อกัน
  3. ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกัน และไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ความเหงาประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาในด้านการปรับตัว

 

สาเหตุของความเหงา


 

ความเหงาสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

 

  1. ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน เช่น บุคลิกภาพแบบขี้อาย (shyness) หรือการขาดทักษะทางสังคม ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบมั่นใจ (confident)
  2. ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมของคนตะวันตกเน้นให้บุคคลพึ่งพาตนเองสูงและพยายามทำเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเอง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาได้มากกว่า วัฒนธรรมของคนเอเชียที่เน้นการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันภายในสมาชิกของครอบครัว
  3. สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความรู้สึกไม่พึงพอใจในสถานภาพสมรส การสูญเสียคนรัก การเปลี่ยนแปลงจากการย้ายที่อยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหงาได้

 

 

ผลกระทบของความเหงา


 

ความเหงาไม่ได้ส่งผลกระทบกับสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย ผลกระทบของความเหงา ได้แก่

 

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
  • ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ
  • ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
  • ส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ

 

 

วิธีป้องกันและรับมือกับความเหงา


 

  1. กลับมาทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตน ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว หรือเป็นความรู้สึกอะไร เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
  2. กลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มองหาความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการหรือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า ปริมาณของความสัมพันธ์อาจไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีอยู่
  3. พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพของตน บอกเล่าความรู้สึก เรื่องราวในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ
  4. เปิดโอกาสให้ตนได้เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และไม่ปิดกั้นตัวเองในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบๆข้าง
  5. หากิจกรรม งานอดิเรกทำเพิ่มเติม การกลับมาอยู่กับตัวเอง ให้เวลาตัวเอง บางครั้งสามารถทำให้ความเหงาชั่วครั้งชั่วคราวลดลงได้
  6. เลี้ยงสัตว์เลี้ยง การมีสัตว์เลี้ยงสักตัวจะทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความสัมพันธ์ที่มีความหมายและช่วยลดความเหงาลงไปได้
  7. พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Beutel, M. E., Klein, E. M., Brähler, E., Reiner, I., Jünger, C., Michal, M., Wiltink, J., Wild, P.S., Münzel, T., Lackner, K. J., & Tibubos, A. N. (2017). Loneliness in the general population: prevalence, determinants and relations to mental health. BMC psychiatry, 17, 1-7. https://doi.org/10.1186/s12888-017-1262-x

 

Cacioppo, J. T., Hughes, M. E., Waite, L. J., Hawkley, L. C., & Thisted, R. A. (2006b). Loneliness as a specific risk factor for depressive symptoms: Cross-sectional and longitudinal analyses. Psychology and aging, 21(1), 140-151. https://doi.org/10.1037/0882-7974.21.1.140

 

Caspi, A., Harrington, H., Moffitt, T. E., Milne, B. J., & Poulton, R. (2006).Socially Isolated Children 20 Years Later: Risk of Cardiovascular Disease. Archives of pediatrics & adolescent medicine, 160(8) ,805-811. https://doi.org/10.1001/archpedi.160.8.805

 

Gardner, W., Gabriel, S., & Diekman, A. B. (2000). Interpersonal processes. In J. Cacioppo, L. Tassinary, & G. Berntson (Eds.), Handbook of psychophysiology (pp.643-664). Cambridge University Press.

 

Hawkley, L., Thisted, R., Masi, C., & Cacioppo, J. (2010). Loneliness Predicts Increased Blood Pressure:5-Year Cross-Lagged Analyses in Middle-Aged and Older Adults. Psychology and aging, 25(1), 132-141. https://doi.org/10.1037/a0017805

 

Kong, F., & You, X. (2013). Loneliness and Self-Esteem as Mediators Between Social Support and Life Satisfaction in Late Adolescence. Social Indicators Research, 110(1), 271-279. https://doi.org/10.1007/s11205-011-9930-6

 

Ladd, G. W., & Ettekal, I. (2013). Peer-related loneliness across early to late adolescence: Normative trends, intra-individual trajectories, and links with depressive symptoms. Journal of Adolescence, 36(6), 1269-1282. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2013.05.004

 

Peplau, L. A., & Perlman, D. (1982). Loneliness: A sourcebook of current theory, research and therapy. Wiley-Interscience.

 

Richard, A., Rohrmann, S.,Vandeleur, C. L., Schmid, M., Barth, J., & Eichholzer, M. (2017). Loneliness is adversely associated with physical and mental health and lifestyle factors: Results from a Swiss national survey. PLOS ONE, 12(7), e0181442. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0181442

 

Schultz, N. R., & Moore, D. (1988). Loneliness: Differences Across Three Age Levels. Journal of Social and Personal Relationships, 5(3), 275-284. https://doi.org/10.1177/0265407588053001

 

Vanhalst, J., Goossens, L., Luyckx, K., Scholte, R. H. J., & Engels, R. C. M. E. (2013). The development of loneliness from mid-to late adolescence: Trajectory classes, personality traits, and psychosocial functioning. Journal of Adolescence, 36(6), 1305-1312. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2012.04.002

 

Weiss, R. S. (1973). Loneliness: The experience of emotional and social isolation. The MIT Press.

 

 


 

 

 

บทความโดย
คงพล แวววรวิทย์
นักจิตวิทยาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้