Learned helplessness – การยอมจำนนอันเกิดจากการเรียนรู้

06 Mar 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การยอมจำนนอันเกิดจากการเรียนรู้ หรือ การช่วยตัวเองไม่ได้ที่เกิดจากการเรียนรู้ หมายถึง ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเฉื่อยชาอันเป็นผลจากเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นโดยควบคุมไม่ได้ เป็นภาวะของมนุษย์และสัตว์ที่เรียนรู้ที่จะประพฤติตนอย่างสิ้นหวัง ยอมจำนน แม้ว่ามีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอันตรายได้ก็ตาม

 

Learned helplessness เป็นมโนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยนักจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการทดลอง ชื่อ Seligman จากการทดลองความซึมเศร้าของสัตว์และมนุษย์ ในสัตว์เป็นการทดลองกับสุนัขโดยให้ฟังเสียง 5 วินาที แล้วตามด้วยการช็อตกระแสไฟฟ้า 5 วินาที สุนัขไม่สามารถที่จะหนีได้เนื่องจากถูกผูกด้วยสายรัดตัวอยู่ ในวันต่อมาเมื่อนำมาทดลองโดยไม่มีสายรัดตัว ปรากฏว่าสุนัขก็ไม่หนี ทั้ง ๆ ที่สามารถหนีได้ เป็นเพราะมันเรียนรู้ว่ามันไม่มีทางที่จะหนีจากการถูกช็อต

 

ในมนุษย์ มีการทดลองโดยให้ผู้ร่วมการทดลองบางคนแก้ปัญหาบางอย่างที่แก้ได้ แต่ให้ผู้ร่วมการทดลองบางคนแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ จากนั้นก็ให้แต่ละคนสร้างคำจากอักษรที่กำหนดให้ (anagram) ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มที่เคยทำงานแก้ปัญหาไม่ได้มาก่อน สร้างคำจากตัวอักษรได้น้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มที่เคยทำงานแก้ปัญหาได้มาก่อน และมีงานวิจัยต่อมาพบอีกด้วยว่า ถ้าผู้ร่วมการทดลองต้องทำงานที่แก้ปัญหาไม่ได้นานขึ้น learned helplessness ก็จะยิ่งมีมากขึ้น

 

ในสังคมและชีวิตประจำวัน สภาพการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้มากมายในรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ กัน เช่น การประสบภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและการถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลางของประชาชน ที่ไม่ว่าพวกเขาต้องอดทนและพยายามเท่าไรก็ไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์และได้ผลผลิตที่คุ้มค่าเพียงพอจะลืมตาอ้าปากได้ สภาพเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวเกิดการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จากการเรียนรู้ สิ้นหวัง หมดความมานะพยายาม และรอแต่ความช่วยเหลือจากภายนอก หรือกรณีที่เด็กบางคนถูกพ่อแม่บังคับให้พัฒนาทักษะบางอย่าง ซึ่งตามพัฒนาการของเด็กอาจจะยังไม่พร้อมและไม่สามารถทำได้ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ ต่อมาภายหลังเด็กเหล่านี้ก็มักจะไม่ยอมทำพฤติกรรมเหล่านั้น แม้ว่าพัฒนาการของเด็กจะเอื้ออำนวยแล้วก็ตาม

 

ซิลิกแมนได้สรุปว่า learned helplessness เกิดจากภาวะที่บุคคลรับรู้ว่า ผลที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับการตอบสนองของตน โดยสภาวะนี้จะส่งผลให้เกิดความด้อยต่าง ๆ คือ

 

  • ความด้อยทางปัญญา – ด้วยความสามารถในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ในอนาคต
  • ความด้อยทางแรงจูงใจ – บุคคลลดแรงจูงใจในกิจกรรมการตอบสนองในเวลาต่อมา
  • ความด้อยทางอารมณ์ – บุคคลเกิดความรู้สึกซึมเศร้า

 

นอกจากการรับรู้ความล้มเหลวในอดีตของตนแล้ว ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเกิด learned helplessness ด้วยเช่น

  • การถูกชี้แนะว่ามีผู้อื่นเป็นผู้ควบคุมการเกิดหรือไม่เกิดสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่ใช่อยู่ที่การตอบสนองของตนเอง
  • ความสำคัญของงาน งานที่มีความสำคัญมากจะทำให้เกิด learned helplessness มากขึ้น
  • การระบุสาเหตุของความล้มเหลว หากระบุว่าความล้มเหลวเกิดจากการด้อยความสามารถของตน จะเกิด learned helplessness มากกว่าการที่บุคคลระบุความล้มเหลวนั้นว่าเป็นเพราะสถานการณ์หรือความยากของงาน
  • ความเชื่อในอำนาจการควบคุมของตน (internal Vs. External locus of control) บุคคลที่เชื่อว่าไม่สามารถควบคุมหรือจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ หรือเชื่อในอำนาจภายนอกตน จะเกิด learned helplessness ได้ง่ายกว่า
  • เพศ การวิจัยพบว่าเพศหญิงเกิด learned helplessness มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมักระบุเหตุของความล้มเหลวว่าเป็นเพราะตนเองไม่มีความสามารถ ขณะที่เพศชายมักระบุไปที่การขาดความพยายาม

 

 

**************************************

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทดลองกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับผลของการช่วยตนเองไม่ได้ ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่มีต่อความมั่นใจในการทำงานและผลงานในภายหลัง” โดย นภาพร จึงพัฒนาปรีชา (2527) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18461

แชร์คอนเท็นต์นี้