จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการทำงานในองค์การอย่างไร

16 Jan 2020

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

เมื่อเอ่ยชื่อวิชา “จิตวิทยา” คนส่วนมาก็คงนึกถึงนักจิตวิทยาที่นั่งฟังผู้ป่วยเล่าปัญหาของตัวเอง หรือไม่ก็นึกถึงคนที่ใช้จิตวิทยาหลอกล่อให้คนอื่น ๆ หลงเชื่อ

 

โดยทั่วไปแล้ว หลายคนยังเข้าใจจิตวิทยาผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สังคมมักแสดงถึงนักจิตวิทยาในฐานะผู้บำบัดหรือผู้รักษา จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะศาสตร์จิตวิทยานั้นกว้างขวางและครอบคลุมกว่าแค่การบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตเท่านั้น

 

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เราจะพบว่าจิตวิทยานั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกเรื่องในชีวิตของเรา และด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทำงาน โดยส่วนมากเรามักจะไม่รู้กันว่าจิตวิทยาสามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตการทำงานได้ทั้งในการเข้าใจและพัฒนาตนเอง ทั้งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง หรือลูกค้า หรือแม้แต่องค์การเองก็สามารถนำจิตวิทยาไปใช้เพื่อบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ

 

คนที่จะกำลังหางานทำหรือพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว สามารถใช้จิตวิทยาเพื่อค้นหาความสามารถ ความถนัด บุคลิก ลักษณะต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะสมกับตน หรือมองหาเส้นทางอาชีพที่ตนจะดำเนินต่อไปในอนาคต แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของจิตวิทยาคือ คนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติแรงจูงใจ หรือความสามารถ ความแตกต่างเหล่านี้ก็ส่งผลให้คนแต่ละคนทำงานได้แตกต่างกัน คนบางคนอาจจะทำงานเป็นพนักงานขายที่เก่งกาจ สามารถสร้างเครือข่ายลูกค้าได้กว้างขวาง แต่คนคนนี้อาจจะไม่เก่งในด้านการบริหารงาน หรือไม่ได้เป็นผู้นำที่ดี จิตวิทยาจะช่วยให้บุคคลรู้ว่าตนเองมีลักษณะต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบชอบเปิดตัว ชอบเข้าสังคม เราก็จะสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับบุคลิกของเราได้ หรือ ถ้าเรามีความสนใจในการออกแบบสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือมีความถนัดด้านความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเลือกอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานโฆษณา หรืองานออกแบบ จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า จิตวิทยาช่วยให้บุคคลรู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อบุคคลรู้จักตนเองมากขึ้นก็จะสามารถเลือกและทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงได้ทำงานที่ตนเองสนใจหรือรัก นอกจากนี้จิตวิทยายังช่วยในการจัดการความเครียด การเข้าใจตนเอง การพัฒนาตนเองให้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

 

นอกจากจิตวิทยาจะช่วยให้พนักงานเข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้แล้ว วิชาจิตวิทยายังช่วยให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการในการจูงใจลูกน้อง หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับเจ้านาย

 

สำหรับองค์การ ความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้องค์การสามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถและลักษณะตรงตามที่ต้องการ ช่วยในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานมุนานะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยให้พนักงานตระหนักในขีดความสามารถของตนและนำมาใช้หรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยเหตุนี้องค์การจึงควรให้ใส่ใจกับพนักงานของตนให้มาก สาขาวิชาที่ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงเกิดขึ้น จิตวิทยาเองก็มีส่วนช่วยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ทั้งตัวองค์ความรู้และทฤษฎีที่จะช่วยให้องค์การสามารถตัดสินใจเลือกบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ทั้งแบบวัดทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้องค์การรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีลักษณะในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ความรู้ดังกล่าวช่วยให้องค์การสามารถเลือกคนได้เหมาะสมกับงาน พัฒนาพนักงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานดีและลงโทษพนักงานที่ประพฤติเสียหายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

 

ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี ช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการบรรลุเป้าหมายขององค์การ เมื่อองค์การบรรลุเป้าหมาย นั่นก็หมายถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นของพนักงาน ทั้งองค์การและพนักงานต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

ประเด็นเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ และในปัจจุบันหลาย ๆ องค์การก็เริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้ เมื่อจิตวิทยาได้ใช้อย่างจริงจังในองค์การทั้งโดยตัวพนักงานและตัวองค์การเอง เราก็คงจะได้เห็นบรรยากาศของการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพ

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้