บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (Highly Sensitive Person) และความแตกต่างในการเลี้ยงดูผ่านกรณีศึกษาของคริสเตนและชาร์ล

03 Oct 2022

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

(สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง ขอให้ย้อนกลับไปทำความเข้าใจในบทความเรื่อง ทำความรู้จักคนที่มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง และความจำเป็นต่อวิวัฒนาการมนุษย์)

 

 

โดยธรรมชาติของมนุษย์ การหยิบเอาบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ (majority) มาตัดสินความเป็นปกติเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในทุกยุคทุกสมัย สำหรับบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนสูง (HSP) การถูกตีตราว่า “ดราม่า” “ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” “เรื่องมาก” หรือ “แปลก” เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ๆ และผู้ที่เป็น HSP ส่วนใหญ่ซึ่งอาจไม่เข้าใจในบุคลิกภาพของตนเอง มักจะต้องทนแบกรับความรู้สึกว่าตนเองแปลกแยก หรือพยายามที่จะเลี่ยงการถูกตีตราด้วยการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของคนส่วนมาก ซึ่งนั่นกลับทำให้พวกเขายิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง และเกิดความเครียดในที่สุด

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างของ ดร. เอเลน แอรอน ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดและผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพแบบ HSP ดร. แอรอนได้พบว่า การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เด็กที่เป็น HSP เติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง สามารถยินดีกับข้อดีและมีความสามารถในการรับมือกับข้อด้อยของการเป็น HSP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คริสเตน เป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งที่สงสัยว่าตัวเอง “บ้า” เธอกล่าวว่าตั้งแต่เล็ก ๆ เธอมักจะรู้สึกกลัวเวลาต้องเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน เธอรู้สึกว่าเสียงหม้อและกระทะของเล่นที่เพื่อเคาะในห้องนั้นดังเกินไปจนเธอต้องปิดหูร้องไห้ ในวัยเด็กครูมักจะลงความเห็นว่าเธอ “ชอบเหม่อ” แต่เมื่อประเมินพัฒนาการแล้วกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ แถมเธอยังถูกส่งไปในชั้นเรียนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (gifted) อีกด้วย สุดท้ายจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเธอน่าจะไม่สามารถ “กรองสิ่งเร้า” รอบตัวออกได้แบบเด็กคนอื่น คริสเตน ผ่านวัยเด็กมาได้ด้วยการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย เธอเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันต่ำและอยู่แถวบ้าน จนเมื่อถึงวัยในวัยรุ่น คริสเตนตกหลุมรักและติดตามแฟนของเธอไปพบพ่อแม่ของเขาที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่แม้จะชั่วคราวก็ทำให้คริสเตนเกิดความเครียด จนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า คริสเตนแสดงอาการกังวลออกมาบ่อยครั้งจนทำให้แฟนของคริสเตนขอตัดความสัมพันธ์ เมื่อคริสเตนกลับมาเรียนเธอก็กังวลกับการเรียน คริสเตนกำลังอยู่ในจุดที่อันตรายต่อสุขภาวะทางจิตเป็นอย่างยิ่ง

 

ในขณะที่ ชาร์ล ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนสูงและเกิดในครอบครัวศิลปินซึ่งเข้าใจความละเอียดอ่อนได้ดี ครอบครัวของชาร์ลสนับสนุนความเป็นตัวเองของเขาอย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสให้ชาร์ลแสดงอารมณ์ที่ล้นเอ่อทั้งทางบวกและลบออกมาได้ ชาร์ลรับรู้ถึงลักษณะบุคลิกภาพของตนเองมาตลอดและรับรู้ว่าบุคลิกภาพของตนเองเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ ชาร์ลเห็นข้อดีของการเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนสูงมากมาย เขามองว่าแม้เขาจะเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่เขามีอะไรที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น การมีรสนิยมที่ดีในด้านดนตรี ความรู้สึกดีกับตนเองนี้ทำให้ชาร์ลสามารถปรับตัวได้ดีเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ แม้ว่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูงระดับ Ivy League และขณะเดียวกัน ชาร์ลก็สามารถยอมรับข้อด้อยของบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงและหาวิธีจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม เขาเลือกซื้อบ้านที่อยู่ในละแวกเงียบสงบ และเขาทราบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะคิดมากและเกิดอาการซึมเศร้าในบางครั้ง แต่ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ชาร์ลมีชีวิตที่มีความสุข และนับถือตนเอง

 

แม้บุคคลจะถือกำเนิดด้วยพื้นฐานบุคลิกภาพที่คล้ายกัน แต่พื้นฐานบุคลิกภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินอนาคตของแต่ละคน จากกรณีตัวอย่างของคริสเตนและชาร์ล เราจะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคม มีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพื้นฐานที่ติดตัวพวกเขามาแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เลี้ยงดูพึงระวังคือ แม้เด็กแต่ละคนจะมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงเหมือนกัน แต่ HSP แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างเฉพาะตัวกันออกไป

 

คุณลักษณะสำคัญ 3 ด้านที่ HSP แต่ละคนมีต่างกันมากน้อย ซึ่งก่อให้เกิดความเฉพาะตัว ได้แก่

1. ความยากง่ายในการถูกกระตุ้นทางจิตใจ (Ease of Excitation) เช่น เหนื่อยง่ายเมื่อต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน หรืออารมณ์เสียง่ายเมื่อหิว หรือง่วง

2.ความอ่อนไหวกับความงาม (Aesthetic Sensitivity) เช่น การรู้สึกประทับใจกับศิลปะและดนตรี และ

3.การมีขีดความอดทนต่อการกระตุ้นทางผัสสะที่ต่ำ (Low Sensory Threshold) เช่น รู้สึกไม่ดีได้ง่ายเมื่อต้องอยู่ในที่แสงจ้า หรือมีกลิ่นแรง

 

การทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของผู้ที่เป็น HSP จึงต้องอาศัยการสังเกต ซักถามจากผู้เลี้ยงดูหรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เจาะจง และนำไปสู่การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโต

 

 


 

บทความวิชาการโดย
อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

แชร์คอนเท็นต์นี้