กิจกรรม “สยองขวัญ” เพื่อความ “บันเทิง”

26 Oct 2022

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

 

ทุกคนชอบ หนังสยองขวัญ หรือ เล่นเกมสยองขวัญกันไหมครับ ?

 

คนเขียนไม่ชอบครับ แล้วมันก็มีช่วงหนึ่งของปี ที่ความสยองขวัญชอบมาวนเวียนหน้าโทรทัศน์ในสมัยเด็ก จนโตมาตอนนี้ Social platform ไหนมันก็ตามไปหมด หลัง ๆ นี้นอกจากจะเสียขวัญ แล้วบางทีก็มีการตลาดให้เสียทรัพย์ด้วย ใช่แล้วผมกำลังพูดถึงช่วง Halloween และการรับชมหนังหรือเล่นเกมสยองขวัญ

 

ถึงส่วนตัวคนเขียนจะไม่ชอบมากแค่ไหน แต่ก็มีคนใกล้ตัวหลายคนที่ค่อนข้างจะเพลิดเพลินจากกิจกรรมเหล่านี้ แล้วแต่ละคนชอบกิจกรรมสยองขวัญแบบไหนกันบ้าง

 

 

แรงจูงใจในการรับชมและใช้งานสื่อสยองขวัญ

 

Johnston (1995) ได้จำแนกแรงจูงใจในการรับชมและใช้งานสื่อสยองขวัญ ไว้ 3 กลุ่ม

  1. resolved-ending types : กลุ่มผู้ที่พึงพอใจกับบทสรุปของเนื้อเรื่องที่ได้รับการคลี่คลายสบายใจ เพลิดเพลินกันเนื้อเรื่อง และต้องการตอนจบที่ไม่ค้างคา ไม่ทิ้งปมให้ต้องเก็บไปนอนคิด หรือว่าจุดจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะในตอนต่อไป ที่จะสร้างความไม่สบายใจคนคนกลุ่มนี้เก็บไปนอนกลุ้มใจฝันร้าย
  2. thrill watchers : กลุ่มผู้ที่รู้สึกเพลิดเพลินกับความรู้สึก ตื่นเต้น ตกใจ หวาดกลัว ลุ้นระทึก มักจะมีอารมณ์ร่วมลุ้นไปกับ ตัวละครหลักที่ต้องเอาชีวิตรอดหรือถูกไล่ล่า
  3. gore watchers : กลุ่มผู้สนใจในการไล่ล่า การทำลายล้าง กล้าหาญไม่กลัวเลือด เอฟเฟกต์ทั้งนองเลือด และเลือดสาด และสนใจเกี่ยวกับวิธีการฆาตกรรมและฉากการตายของตัวละคร และจะเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องราวที่แสดงมุมมองของผู้ล่ามากกว่า

 

สำหรับผู้เขียนแล้วโดยทั่วไปก็คือแทบไม่มีแรงจูงใจใด ๆ เลย เพื่อนฝูงชวนเล่นเกมผีก็ขอเป็นแค่ผู้ชม หรี่เสียง ดูครึ่งจอ หรือโดนตี๊อให้เล่นก็เล่นได้ไม่นาน เพราะรู้สึกถูกกระตุ้นมากเกินไป เครียดจนออกมาเป็นอาการทางกาย ใจเต้น มือสั่นและชา แต่ก็จะมีบางโอกาสที่มีแรงจูงใจในรูปแบบของ resolved-ending types โอกาสที่มีเกมสยองขวัญออกใหม่แล้วพี่เอก HRK (สตรีมเมอร์) อัพคลิปขึ้นมาบน YouTube มาให้ดูก็สนใจเข้าไปชมเนื้อเรื่องบ้าง แต่ก็จะดูแบบหรี่เสียง-ครึ่งจออยู่ดี หลังจากนั้นก็จะมีความสนใจกับเกมที่มีทางเลือกระหว่างเนื้อเรื่อง และมีหลายฉากจบ รู้สึกสนใจเนื้อเรื่องความเป็นมา ก็ไปหาคลิปที่มีคนเล่าสรุปแบบตัดฉากสยองขวัญ เสียงที่ทำให้ตกใจ และอื่น ๆ ที่ทำคนขวัญอ่อนอย่างผู้เขียนให้รู้สึกปลอดภัยที่จะดู ซึ่งก็เพลิดเพลินกับเนื้อเรื่อง แต่ก็มีภาพติดตาและเสียงหลอนหูให้ไปนอนคิดหลายคืนอยู่ดี

 

นี่คือเรื่องราวของคนขวัญอ่อนคนหนึ่ง ในขณะที่โลกใบนี้ก็ยังมีผู้คนมากมายที่แข็งแกร่งและสนุกสนานกับความตื่นเต้นตกใจเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นแล้ว หนังและเกมเหล่านี้ก็คงไม่มีคนสนใจใช้งาน และไม่มีการทำออกมาเยอะขนาดนี้ จึงชวนมาลองดูกันว่า

 

 

จิตวิทยามีอะไรมาอธิบายความแตกต่างที่ทำให้แต่ละคน เพลิดเพลิน หรือ หลีกเลี่ยง กิจกรรมสยองขวัญหล่านี้

 

บุคลิคภาพที่พบในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อแนวสยองขวัญมากที่สุด คือ การแสวงหาการสัมผัส (sensation seeking) ที่พูดถึงความพึงพอใจจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่าง ๆ โดยคนที่มีแรงจูงใจในเชิง thrill watchers และ gore watchers ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีคะแนนองค์ประกอบของ adventure seeking สูง ซึ่งนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า ลักษณะต่าง ๆ ของการแสวงหาการสัมผัส จะสูงสุดในช่วงวัยรุ่น ส่งเสริมให้มีพฤติกรรมอยากรู้อยากลอง และนิยมความกล้า ความท้าทาย

 

ตัวแปรที่ศึกษารองลงมาก็จะเป็น ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ในกลุ่มเห็นอกเห็นใจสูงก็มักจะสนใจในมุมมองของเหยื่อ กระตุ้นให้มีแรงจูงใจในการรับชมแบบ thrill watchers มากกว่า และชอบตอนจบที่ได้รับการคลี่คลาย

 

นอกจากที่พบว่าลักษณะการแสวงหาการสัมผัสมีจุดสูงสุดในช่วงวัยรุ่นแล้ว ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับความกลัวตามพัฒนาการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัยเด็ก นึกย้อนไปถึงช่วงที่เรายังใช้โทรทัศน์เป็นสื่อหลัก และเป็นสถานที่ที่หลายครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน เด็กก็มักจะได้รับชมในสิ่งที่ครอบครัวเปิด ไม่ว่าจะเป็นแนวสยองขวัญน่ากลัว หรือความรุนแรงเลือดสาดใด ๆ เด็กก็มักจะแสดงความกลัว และความสนใจคล้อยตามไปกับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งก็ดีกว่าการปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์โดยลำพัง ความกลัวของวัยเด็กจะมีลักษณะที่เกิดการแผ่ขยาย (generalization) ได้ง่าย ซึ่งถ้าหากว่ามีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำระหว่างการรับชมก็จะช่วยให้เด็กสามารถแยกแยะและระบุสาเหตุของกลัวได้ ทั้งในลักษณะของ

  1. การช่วยให้เด็กสามารถแยกสิ่งสมมติที่สร้างความกลัวในสื่อต่าง ๆ แต่ไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ปีศาจในหนัง/การ์ตูน
  2. หากเป็นสิ่งที่มีในโลกความเป็นจริงก็อาจช่วยถามเพื่อให้เด็กอธิบายว่าเด็กกำลังกลัวอะไร เพราะอะไร อย่างเช่น กลัวงูเพราะอานาคอนด้ามันจะกลืนเราลงไปทั้งตัว ก็จะเป็นโอกาสอันที่ที่จะสอนเด็กให้เรียนรู้ระหว่างงูใหญ่ งูเล็ก รวมถึงงูมีพิษ และงูที่มีโอกาสพบเจอได้ในละแวกบ้าน เป็นต้น

 

 

ความกลัวโดยทั่วไปของแต่ละช่วงวัย

 

เด็กอายุประมาณ 3-8 ปี จะตกใจเมื่อวัตถุ หรือสัตว์ใด ๆ เคลื่อนที่โดยฉับพลัน และจะกลัวสัตว์ ความมืด สิ่งลี้ลับต่าง ๆ เช่นผี หรือ ปีศาจ ที่พบเห็นตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงคน สัตว์ วัตถุ ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นชินและมีลักษณะไม่น่าไว้ใจ

 

ในช่วงวัย 9–12 ปีจะเริ่มกลัวที่จะเจ็บป่วยใด ๆ ซึ่งก็ทำให้มนุษย์เรียนรู้และระวังอันตรายรอบตัวมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะกลัวการตายของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว และอาจรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย

 

หลังจากช่วงวัยรุ่น ทุกวัยก็จะมีลักษณะความกลัวที่เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น แต่ละคนก็จะเรียนรู้ที่จะกลัวตามประสบการณ์และความสนใจ และสิ่งที่บุคคลกังวล ณ ขณะนั้นของแต่ละคน อย่างเช่น กลัวโรงเรียน กลัวสังคม กลัวภัยพิบัติ ซึ่งก็จะเป็นทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม (คน สัตว์ วัตถุ สถานที่ ฯลฯ) นามธรรม (กลัวยากจน กลัวไม่ได้รับการยอมรบ ฯลฯ) หรือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตที่มาจากการรับข่าวสาร ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การเมือง สภาพแวดล้อมของโลก ฯลฯ

 

เราก็จะพอเห็นว่ามนุษย์เราก็มีทั้งความกลัวทั่วไปที่มีประโยชน์อย่างการกลัวเจ็บ กลัวตาย เพื่อให้ชีวิตปลอดภัย ความกลัวที่บอกให้เรารู้และเตรียมความพร้อมว่าปัญหานั้นกำลังจะเข้ามา ให้ระวังและจงเตรียมตัวรับมือ และความกลัวที่เหมือนจะไม่สมเหตุสมผลอย่าง กลัวผี กลัวเลือด ฯลฯ ซึ่งเจ้าตัวคนที่กลัวก็คงไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรก็แค่หลีกเลี่ยงเอา แต่ก็จะมีคนกลุ่มที่ไม่กลัวจะพยายามทำให้คนที่กลัว “เอาชนะ” ความกลัวเหล่านั้นด้วยความเชื่อต่าง ๆ อย่างเช่น “ดู/ทำบ่อย ๆ จนชิน จะได้หายกลัว” เป็นต้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครใช้วิธีไหนแล้วสำเร็จบ้าง ไว้โอกาสหน้าจะลองหาอ่านมาเขียนต่อนะครับผม

แชร์คอนเท็นต์นี้