อ่อนไหวเกินไป…หรือใครกำลังบีบให้รู้สึกผิด? รู้จักกับ Guilt Trip ทริคทางจิตวิทยาของการควบคุมความสัมพันธ์

08 Mar 2024

บุณยาพร อนะมาน

 

หลายต่อหลายครั้งที่คำพูดของบุคคลอื่นทำให้เราต้องรู้สึกเจ็บปวดหรือทุกข์ใจ แต่เช่นกันที่หลายครั้งความเจ็บปวดเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็น “ความอ่อนไหว” ของเราแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

  • “ไม่รักกันแล้วใช่ไหม?”
  • “ทำไมไม่เชื่อใจกันบ้าง?”
  • “ช่วยเพื่อนแค่นี้ไม่ได้เหรอ?”
  • “พูดเล่นแค่นี้ไม่ได้ อ่อนไหวเกินไปหรือเปล่า?”
  • “ฉันทำเพื่อเธอมามากแล้วนะ ทำให้กันแค่นี้ไม่ได้เหรอ?”

 

คำพูดเหล่านี้หลายครั้งเป็นคำพูดที่คุ้นหู แต่กลับทำให้ผู้ฟังรู้สึกผิดได้อย่างง่ายดายทั้งที่ในบางครั้งผู้ฟังไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่อย่างเดียว แต่กลับต้องยอมรับและคล้อยตามเพราะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น ราวกับตนเองทำให้ผู้พูดเป็นฝ่ายเจ็บช้ำใจและตนเองเป็นคนผิดในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น

 

การตั้งคำถาม หรือการหาเหตุผลสนับสนุนเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตามว่าเป็นฝ่ายผิดในเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Guilt Trip” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงทางจิตวิทยาหรือ Emotional Manipulation ที่บุคคลอาจใช้เพื่อครอบงำทางความคิดและพฤติกรรมของบุคคลอื่นเพื่อผลประโยชน์บางประการของตนเอง Guilt Trip นี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่เป็นที่นิยมในการใช้ควบคู่กันไปกับ Gaslighting เพื่อทำให้คนคนหนึ่งสงสัยในการกระทำของตนเองและรู้สึกว่าการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด หลายต่อหลายครั้งที่การควบคุมจิตใจเหล่านี้ทำให้บุคคลต้องยอมลดความสำคัญของความรู้สึกของตนเอง เพื่อใส่ใจและทุ่มเทให้กับผู้ที่แสดงตนว่าเจ็บปวดนั้นแทน

 

 

Guilt Trip กับ Gaslight ต่างกันอย่างไร?

 

ในความเป็นจริง ทริคทางจิตวิทยาทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการชักจูงทางจิตใจเช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นควบคู่กันเพื่อให้ได้ผลการชักจูงตามที่ฝ่ายควบคุมต้องการ โดย Gaslighting เป็นการลดทอนความรู้สึกของบุคคล ทำให้บุคคลมีความคิดว่าความรู้สึกของตนเอง หรือประสบการณ์ของตนเองนั้นเป็นเพียงเรื่องอ่อนไหวของตนเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญมากมายไปกว่าความรู้สึกของผู้ที่ควบคุมความสัมพันธ์นั้นอยู่ ในขณะที่ Guilt Trip เป็นการกดดันทั้งทางอารมณ์ คำพูด หรือการกระทำเพื่อให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด เป็นฝ่ายที่ทำให้ผู้ควบคุมนั้นต้องเสียใจ หรืออาจเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ ดังนั้น Guilt Trip จึงมักเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด หรือความสัมพันธ์ที่ส่งผลทางอารมณ์ของบุคคลได้ง่าย เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือความสัมพันธ์บางรูปแบบที่ต้องอาศัยความรู้สึกร่วมของบุคคล เช่น ศิลปินและแฟนคลับ

 

 

ในเมื่อไม่ได้ผิด แล้วทำไมถึงยอมเป็นฝ่ายขอโทษ?

 

เพราะความรู้สึกผิด เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่มีพลังในการชักจูงพฤติกรรมของบุคคลไม่น้อยไปกว่าความรู้สึกอื่น ๆ ในบางครั้งเมื่อเรารู้สึกว่าเราทำผิด หรือทำให้ผู้อื่นเสียใจโดยเฉพาะคนที่มีความสำคัญกับเรา เราย่อมอยากที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ หายโกรธ หรือรู้สึกดีขึ้นจากความเสียใจนั้น หลายครั้งที่ความสนิทสนมทำให้บุคคลรู้สึกว่ายิ่งต้องให้ความสนใจในความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น นั่นอาจเป็นโอกาสให้ฝ่ายควบคุมในความสัมพันธ์ใช้ทริคเหล่านี้เพื่อทำให้คนคนหนึ่งยอมทำตามสิ่งที่ตนต้องการได้ โดยการ Guilt Trip นั้น อาจพบเจอได้ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

 

1. การบังคับ (Manipulating)

คือการใช้ความสัมพันธ์มาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างแรงกดดันทางจิตใจและอารมณ์ เป็นการบีบบังคับอีกฝ่ายทางอ้อมด้วยอำนาจบางอย่างในความสัมพันธ์ และทำให้อีกฝ่ายต้องจำยอมเพราะไม่อยากเสียความสัมพันธ์นั้นไป เช่น การโน้มน้าวให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยการอ้างความเป็นคนรัก การบังคับให้โดดเรียนไปด้วยกันเนื่องจากเป็นเพื่อนกัน เป็นต้น

 

2. การเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา (Conflict Avoidance)

คือการใช้การหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือกล่าวถึงปัญหาในเรื่องราวที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงที่จะสำรวจถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของอีกฝ่ายและปล่อยให้ปัญหานั้นยังคงค้างคาในความรู้สึกของอีกฝ่ายไป จนกระทั่งฝ่ายที่เกิดความเจ็บปวดนั้นรู้สึกว่าความเจ็บปวดของตนไม่ได้มีความสำคัญ เช่น ใช้ความเหน็ดเหนื่อยจากงานมาเป็นข้ออ้างในการเลี่ยงการพูดคุย “แค่นี้ก็เหนื่อยมากลแล้ว อย่าเพิ่งคุยเรื่องนี้ได้ไหม?” หรือ “ทำงานมาเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ยังต้องมาเถียงกันเรื่องนี้อีกเหรอ?” เป็นต้น

 

3. การสั่งสอนทางศีลธรรม (Moral Education)

คือการพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมหรือแนวคิดของอีกฝ่ายให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ โดยการพยายามทำให้สิ่งที่อีกฝ่ายทำกลายเป็นเรื่องผิด และแสดงออกว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่เป็นเรื่องถูกต้อง เช่น การบอกคนอื่นว่าแม้จะทำงานเสร็จเร็วก็ห้ามกลับก่อน เพราะตนยังรอกลับพร้อมคนอื่นได้ หรือ ในตอนที่ฉันเป็นเด็ก ฉันยังอดทนกับเรื่องเหล่านี้ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยในชีวิตของแต่ละคนและสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่แต่ละคนต้องเผชิญก็มีความแตกต่างกันออกไป

 

4. การทำให้อีกฝ่ายเห็นใจ (Elicit Sympathy)

คือการพยายามใช้ความรู้สึกสงสาร ความเห็นอกเห็นใจเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่ทำให้ตนเองต้องเจ็บปวด ไม่ว่าจะในรูปแบบของการทำร้ายตัวเองเพื่อรั้งให้อีกฝ่ายยังคงรักษาความสัมพันธ์ไว้ หรือการใช้คำพูดเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าหากตนเองจากไป จะทำให้ฝ่ายควบคุมต้องสูญเสียอย่างมาก หรืออยู่ไม่ได้หากไม่มีตน ซึ่งการกระทำเหล่านี้ มักเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ตามมาได้

 

 

แล้วอะไรคือสัญญาณว่าเรากำลังเผชิญกับ Guilt Trip?

 

เราอาจเจอกับสิ่งเหล่านี้ ที่บุคคลอื่นกำลังพยายามทำให้เรารู้สึกผิดไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เช่น

  • การใช้ถ้อยคำประชดประชัน ทำให้เกิดความรู้สึกละอายหรือรู้สึกผิด เช่น “ดีใจนะที่ในที่สุดเธอก็สนใจฉันสักที”
  • ย้ำเตือนอยู่บ่อย ๆ ถึงความพยายาม หรือความทุ่มเทของตนเองให้เราฟัง คล้ายกับการทวงบุญคุณทางอ้อม
  • นำความผิดพลาดในอดีตของเรากลับมาพูดซ้ำบ่อยครั้ง หรือทำบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรา “ไม่ดีพอ”
  • พูดหรือย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดของตนเอง ประสบการณ์เลวร้ายของตนเองบ่อย ๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าความรู้สึกของเขาสำคัญ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

 

 

รับมือให้เป็น แสดงให้เห็นว่า “ฉันไม่ได้อ่อนไหว คุณต่างหากที่ทำเกินไป”

 

ประโยคที่ว่า “ฉันไม่ได้อ่อนไหว คุณต่างหากที่ทำเกินไป” เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของจิตแพทย์หญิงชาวเกาหลีใต้ ยูอึนจ็อง ที่จะพาผู้อ่านไปสังเกตพฤติกรรมของคนที่ชอบล้ำเส้นอารมณ์ของผู้อื่น รวมไปถึงวิธีการสร้างความมั่นคงทางจิตใจเพื่อสร้างขอบเขตทางอารมณ์ (Boundary) ที่แข็งแกร่ง ไม่ให้ใครหรือสิ่งใดมาทำร้ายความรู้สึกของเราได้ง่าย ๆ และไม่ปล่อยให้ตัวเองทำร้ายความรู้สึกของใครเช่นเดียวกัน โดยวิธีการรับมือกับ Guilt Trip นั้น อาจจะทำได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของบุคคล แต่ก็มีวิธีการคร่าว ๆ ให้ได้ลองฝึกฝนกันดังนี้

 

  • รู้ตัวอยู่เสมอว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา สังเกตถึงความพยายามที่จะทำให้เรารู้สึกผิดของผู้อื่น และรู้ทันการ Guilt Trip นั้น
  • เข้าใจถึงผลของการ Guilt Trip ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เรารู้สึกผิดได้อย่างไร เราทำอะไรเมื่อรู้สึกผิด และสถานการณ์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้อีก
  • ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้สึกของตนเอง ทบทวนให้มั่นใจว่าความเจ็บปวด ความรู้สึกต่าง ๆ ของเราเป็นเรื่องจริงและไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าใคร ถึงแม้เราไม่ได้โต้ตอบด้วยอารมณ์ไปในทันที แต่เมื่อทบทวนตนเองชัดเจนแล้วก็ควรที่จะสำรวจสาเหตุของความเจ็บปวดเหล่านั้นร่วมกัน
  • สร้างขอบเขตทางอารมณ์ให้ชัดเจน ยืนยันในความรู้สึกของตนและยืนยันว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เขาต้องเจ็บปวด
  • รับฟังและเปิดพื้นที่ให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกของตน แลกเปลี่ยนพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟังความรู้สึกซึ่งกันและกัน หากคนนั้นไม่ได้มีความพยายามจะทำให้เรารู้สึกผิดด้วยผลประโยชน์บางอย่าง การเปิดพื้นที่รับฟังนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในกันและกันมากขึ้น

 

 

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการไม่ลืมว่าเราทุกคนต่างเป็นตัวของตัวเอง มีความรู้สึกของตัวเอง อย่าปล่อยให้ใครมาลดความสำคัญของความรู้สึกของเรา และอย่าไปก้าวล้ำความรู้สึกของใคร การเคารพในความรู้สึกของกันและกัน เปิดใจพูดคุยและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กัน คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีต่อจิตใจนะคะ

 

 

 

รายการอ้างอิง 

 

กรุงเทพธุรกิจ. (2023). ไม่ใช่คนผิด แต่ดันรู้สึกผิด เมื่อ “การชักจูงทางจิตวิทยา” กระทบใจวัยทำงาน. https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1071758

 

PsychCentral. (2022). Why the ‘Guilt Trip’ Comes Naturally (but Can Be Problematic). https://psychcentral.com/health/guilt-trip

 

Talk Your Heart Out. (2022). Guilt-tripping: Definition, Signs, Examples, and How to Respond. https://talkyourheartout.com/guilt-tripping/

 

Urban Creature. (2022). มนุษย์ออฟฟิศอ่าน 5 หนังสือพักจากงานที่เหมาะอ่านในวันหยุด. https://urbancreature.co/books-for-office-worker/

 

 


 

 

บทความโดย

บุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้