ทำใจรับการจากลา

03 Feb 2017

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

 

เช้าวันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นวันทำงานวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่เราตื่นแต่เช้า อาบน้ำ แต่งตัว ออกจากบ้าน เพื่อรีบฝ่าการจราจรในเมืองหลวงเพื่อไปทำงานให้ทันเวลา

 

แต่พอขับรถได้ไม่ถึงครึ่งทาง โทรศัพท์ดังขึ้น มาพร้อมกับข่าวเศร้าที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ยิน “แม่เสียแล้ว!”

 

การพรากจากคนที่เรารัก โดยเฉพาะเมื่อคนรักหมดลมหายใจ จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับคืน เป็นอุบัติการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าพลิกเปลี่ยนชีวิตของเราไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตประจำวันที่ได้รู้ว่าเรามีคนสำคัญมีชีวิตอยู่กับเรานั้นช่างสมบูรณ์ วันนี้ไม่มีอีกแล้ว

 

เมื่อคนรักได้จากไป เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตเราได้ขาดอะไรไป รู้สึกคิดถึง รู้สึกติดค้าง อยากจะมีโอกาสอีกสักครั้งที่จะได้บอกรัก ได้พูดคุยกับคนผู้นั้นอีกสักครั้ง

 

แต่ความตาย เป็นความจริงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเราไม่มีวันล่วงรู้ว่าการสูญเสียจะเกิดขึ้นเมื่อใด ความตายจึงเป็นเรื่องที่เร้นลับ น่าหวาดกลัว และไม่มีใครอยากให้คนที่เรารักตายจากไป เพราะนั่นหมายถึงว่า เราจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนผู้นั้นอีกต่อไปแล้ว

 

ฉันรู้สึกชา หูอื้อ ชีวิตหลังจากนั้นดำเนินไปได้อย่างไรฉันยังไม่แน่ใจ เป็นเวลาเกือบปี กว่าจะตั้งสติได้ ยังเสียใจ ยังคิดถึง แต่เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องอยู่ให้ได้

 

ช่วงเวลานั้น ฉันเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ฉันเรียนจบมาทางจิตวิทยา ฉันศึกษาและพยายามเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับการทำใจรับกับการจากไปของคนที่รักนั้น มันช่างยากเย็น

 

มีคนบอกว่า วิญญาณของแม่ยังอยู่ นี่ไงได้กลิ่นธูป ฉันก็ไม่ได้กลิ่นอะไร

 

มีคนบอกว่าได้ฝันถึงแม่ แม่มาหาในฝัน ฉันมีฝันถึงการไปเที่ยวกับแม่ แต่ไม่ใช่ แม่ไม่ได้บอกอะไรกับฉันในฝัน

 

มีคนบอกให้ทำบุญใส่บาตรให้แม่ ฉันไม่รู้หรอกว่าไปถึงแม่จริงไหม แต่ก็สบายใจที่ได้ทำ

 

และก็มีนักจิตวิทยาจำนวนไม่น้อย ที่ทำงานวิจัยเพื่อทำความเข้าใจการรับมือกับการสูญเสีย ตามแนวคิดของนักจิตวิทยา มีวารสารเฉพาะทาง อย่าง Journal of Death and Dying ที่เสนองานวิจัยทางจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องความตาย ความโศกเศร้า และ การสูญเสียคนที่รักโดยเฉพาะ อ่านแล้วได้ความรู้ ได้แนวทางไปปรับใช้ และเข้าใจตนเองได้ด้วย

 

 

ว่าด้วยระยะเวลาของความโศกเศร้า


 

แต่ละบุคคลมีระยะเวลาเยียวยาแผลใจช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่มักจะก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้ (Howarth, 2011) เริ่มเข้าใจความเป็นจริงที่ว่า เราต้องอยู่ต่อไปให้ได้ แม้ว่าคนที่เรารักจะไม่อยู่แล้ว และต้องกลับไปเข้าสังคม มีเพื่อน มีกิจกรรมอีกครั้ง (reconciliation)

 

กว่าจะทำใจได้นั้น เราต้องผ่านกระบวนการคิดทบทวนเกี่ยวกับความตายซ้ำ ๆ ผ่านการทบทวนเรื่องราว ประสบการณ์ความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ที่จากไป ผ่านความคิดวนเวียน รู้สึกผิดกับเรื่องที่ยังไม่มีโอกาสได้พูดหรือได้ทำกับคนที่เรารัก

 

ถ้ายังสลัดความคิดความหลังที่ฝังใจเหล่านี้ไปไม่ได้ ปล่อยให้ยาวนานเรื้อรังเกิน 6 เดือนขึ้นไป จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ (Cohen, Mannarino, Greenberg, Padlo, & Shipley, 2002)

 

 

เราจะจัดการกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียนี้ได้อย่างไร


 

วิธีการจัดการกับความเศร้านั้น มีทั้งที่แบบทำแล้วได้ผลดี กับแบบที่ทำแล้วแย่ลง ซึ่งมักเกี่ยวกับวิธีคิดของเรานี่เอง

 

วิธีคิดที่ได้ผล คือ การพยายามทำความเข้าใจความเศร้า การสูญเสียของตนเอง (adaptive rumination)

 

ในทางพระพุทธศาสนา ก็น่าจะเปรียบได้กับการมีสติรับรู้เท่ากันอารมณ์ความรู้สึกของเรา เศร้าก็รู้ว่าเศร้า เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ไม่พยายามไปปิดกั้นหรือปฏิเสธความจริงที่เป็น แต่ให้ยอมรับตามความเป็นจริง ฝึกคิดเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ความทุกข์จากการสูญเสียค่อย ๆ ผ่อนคลาย

 

วิธีคิดที่ทำให้ยิ่งแย่ลง คือ ความคิดว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมกับเราเอาเสียเลย ทำไมถึงเป็นเราที่ต้องมาเผชิญกับการสูญเสียเช่นนี้ และมักคิดซ้ำ ๆ ว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น ถ้าคนที่รักไม่มาจากไป ชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้ (maladaptive rumination) ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่พยายามหลีกหนีจากความเป็นจริง ไม่ได้ช่วยให้เราหายจากความโศกเศร้าได้ ยิ่งคิดเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นเหมือนการขุดหลุมให้จิตใจเรายิ่งจม หาทางออกได้ยาก (Eisma, Schut, Stroebe, Boelen, van den Bout, & Stroebe, 2014)

 

กลับมารัก ดูแลตัวเองและครอบครัว

 

การจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ และการสูญเสีย ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น อย่าลืมว่า เรามีผู้ร่วมแชร์ความสูญเสียเดียวกัน ก็คือ คนในครอบครัว พี่น้องของเรานั่นเอง ถ้าเราต่างช่วยกันเสริมพลังใจของกันและกันให้เข้มแข็ง ดูแลกันและกันทั้งทางกายและทางใจ ก็จะช่วยให้เราร่วมกันก้าวผ่านกระบวนการนี้ไปได้

 

ดูให้ดี ๆ มีกำลังใจอยู่เยอะ

 

การสนับสนุนทางสังคม เช่น กำลังใจจากเพื่อนและคนรอบข้าง ช่วยให้เราก้าวผ่านความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรักได้ แค่มีเพื่อนซักคน เดินมาบอกกับเราว่า เขาเข้าใจเรา เพราะเขาก็เพิ่งสูญเสียคนที่รักเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เผชิญกับเรื่องร้ายนี้เพียงลำพัง การมีเพื่อน มีสังคม จะช่วยให้เราฟื้นจากความโศกเศร้าได้ง่ายขึ้น ง่ายกว่าการเก็บตัวเงียบคนเดียว (Breen & O’ Connor, 2011)

 

ทำใจได้ ไม่ได้แปลว่าลืม

 

หลายคนรู้สึกผิดที่ตนทำใจได้ กลัวว่าการเริ่มชีวิตใหม่ทำให้หลงลืมคนรักที่จากไป แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ความทรงจำที่สวยงามระหว่างเรากับคนที่รักไม่มีวันจางหายไป ยังคิดถึงได้ทุกวันทุกเวลา แถมยังจะมีช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เราระลึกถึงคนที่รักของเรามากเป็นพิเศษอีกด้วย เช่น วันเกิด วันครบรอบของการจากไป

 

ข้อคิดเมื่อได้ใกล้ชิดกับการสูญเสีย

 

การสูญเสียคนที่เรารัก ทำให้เราได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตมากมายเลยทีเดียว ทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต ว่าชีวิตนี้นั้นช่างเปราะบาง ไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเกิดขึ้นกับเราหรือคนที่รักวันไหน ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาในชีวิตของเรานี้มีจำกัด ไม่ควรประมาทกับชีวิต และชีวิตให้คุ้มค่า ณ วันนี้ ตอนนี้ กับคนที่เรารัก (Lang & Carstensen, 2002) และที่สำคัญ ใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คนที่อยู่บนฟ้าได้ภาคภูมิใจในตัวเรา

 

 

จึงมักมีคำสอนเตือนใจเสมอว่า เมื่อต่างคนยังต่างมีลมหายใจอยู่ ก็ขอให้ทำดีต่อกันไว้ หากมีเหตุที่ทำให้เราต้องจากกันไป อย่างน้อยก็ได้ถือว่าเราจากกันโดยไม่มีอะไรค้างคาต่อกัน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านก้าวผ่านช่วงเวลาร้าย ๆ ไปได้ และก้าวเดินต่อไปอย่างมีความสุขนะคะ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Breen, L. J., & O’ Connor, M. (2011). Family and social networks after bereavement: Experiences of support, change, and isolation. Journal of Family Therapy, 33, 98-120.

 

Cohen, J. A., Mannarino, A. P., Greenberg, T., Padlo, S., & Shipley, C. (2002). Childhood traumatic grief: Concepts and controversies. Trauma, Violence, & Abuse, 3(4), 307-327.

 

Eisma, M. C., Schut, H. A. W., Stroebe, M. S., Boelen, P. A., van den Bout, J., & Stroebe, W. (2014). Adaptive and maladaptive rumination after loss: A three-wave longitudinal study. British Journal of Clinical Psychology, 54, 163-180.

 

Howarth, R. A. (2011). Concepts and controversies in grief and loss. Journal of Mental Health Counseling, 33(1), 4-10.

 

Lang F. R., & Carstensen, L. L. (2002). Time counts: Future time perspective, goals, and social relationships. Psychology and Aging, 17(1), 125-139.

 

ภาพจาก http://www.publicdomainpictures.net/view-image.php?image=14475

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้