ความฉลาดทางอารมณ์ – Emotional intelligence

27 Mar 2024

 

 

 

 

ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการตระหนักรู้ และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ทั้งของตนเองและผู้อื่น รวมถึงการจัดการและการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ส่งผลต่อความสำเร็จในการปรับตัว

 

 

Goleman (1995) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ว่าประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบที่สำคัญคือ

 

  1. ขั้นตระหนักรู้จักอารมณ์ของตนเอง – เป็นการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในภาวะอารมณ์และความต้องการของตนในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ รับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและสามารถเข้าอารมณ์ได้
  2. ขั้นบริหารจัดการอารมณ์ – เป็นความสามารถที่จะควบคุมจัดการกับความรู้สึกหรือภาวะอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม ทั้งอารมณ์ทางบวกและทางลบให้เป็นไปตามทิศทางที่สังคมยอมรับ
  3. ขั้นการจูงใจตนเอง – เป็นการกระตุ้นเตือนตนเองให้คิดริเริ่ม อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และผลักดันไปสู่เป้าที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ สามารถอดได้รอได้ ไม่หุนหันใจเร็วด่วนได้
  4. ขั้นตระหนักรู้อารมณ์ของผู้อื่น – เป็นความสามารถที่จะเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ตลอดจนรับรู้ความต้องการของผู้อื่นได้
  5. ขั้นความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์กับผู้อื่น – มีความเป็นผู้นำ สามารถมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างดีจนก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน

 

 

นอกจากนี้ Bar-on (2006) ได้เสนอองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน 15 คุณลักษณะ ดังนี้

 

1. ความสามารถภายในบุคคล (Intrapersonal)
  • Self-regard — รับรู้ เข้าใจ ตนเองอย่างถูกต้อง และยอมรับตนเองได้
  • Emotional self-awareness — ตระหนักและเข้าใจภาวะอารมณ์ของตนเอง
  • Assertiveness — แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
  • Independence — เชื่อในอำนาจและการตัดสินของตน มีอิสระทางอารมณ์จากคนอื่น
  • Self-actualization — มีความพากเพียรเพื่อบรรลุเป้าหมาย และไปถึงศักยภาพที่แท้จริงของตน

 

2. ทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal)
  • Empathy — ตระหนักและเข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร
  • Social responsibility — ระบุกลุ่มทางสังคมของตนได้และให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
  • Interpersonal relationship — สร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นได้

 

3. การจัดการความเครียด (Stress management)
  • Stress tolerance — จัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์
  • Impulse control — ควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์

 

4. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
  • Reality-testing — คิดและรู้สึกอย่างสมเหตุสมผลสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
  • Flexibility — ปรับความคิดและความรู้สึกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้
  • Problem-solving — แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะแก่ตนและความสัมพันธ์

 

5. ด้านแรงจูงใจและภาวะอารมณ์ (General mood)
  • Optimism — คิดบวก มองเห็นด้านที่ดีของชีวิต
  • Happiness — รู้สึกพึงพอใจในตนเอง ผู้อื่น และชีวิตโดยรวม

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์


 

 

1. พันธุกรรมหรือพื้นอารมณ์ – แต่ละคนมีบุคลิกและพื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแตกต่างกัน จากพันธุกรรมและภาวะความเครียดของแม่ในขณะตั้งครรภ์ หากบุคคลมีพื้นอารมณ์ดี ก็เปรียบได้กับมีพื้นที่แข็งแรงสามารถรองรับแรงกระแทกได้มาก

 

2. สภาพแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดู – การเป็นแบบอย่างและการสอนถึงทักษะทางอารมณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับเด็ก ด้วยบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกครอบครัวมีความไว้วางใจกัน มีการสื่อสารที่เปิดเผย รับฟัง ไม่ทำร้ายจิดใจกัน ให้การสนับสนุนและกำลังใจ เหล่านี้จะช่วยพัฒนากล่อมเกลาและควบคุมพื้นอารมณ์ด้านลบ และส่งเสริมพื้นอารมณ์ด้านบวกได้

 

3. การศึกษา – ครูอาจารย์มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียน เป็นประชาธิปไตย มีอิสระ ให้ความเคารพและรับฟัง ฝึกฝนเรื่องการเอื้ออาทรผู้อื่น ระมัดระวังคำพูดและอารมณ์ของตนเอง ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ บริหารจัดการภาวะอารมณ์ของตนเองได้

 

4. อายุ – ความฉลาดทางอารมณ์สามารถพัฒนาได้และเปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต ตามวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้

 

5. ความแตกต่างระหว่างเพศ – มีงานวิจัยพบว่า ระดับความฉลาดทางอารมณ์ของเพศชายและหญิงไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างในบางองค์ประกอบ เช่น เพศหญิงมีทักษะระหว่างบุคคลมากกว่า จะตระหนักในอารมณ์ทั้งของตนเองและผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ส่วนเพศชายจะมีความนับถือตนเอง มีความเป็นอิสระ มีความสามารถในการแก้ปัญหา รู้จักยืดหยุ่น รับมือกับความเครียดได้ดี และมองโลกในแง่ดีกว่า

 

นอกจากนี้ ความฉลาดทางอารมณ์ยังมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของสมองส่วนต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะสมองซีกขวา ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการรับรู้โดยภาพรวมในเชิงมิติสัมพันธ์ การคิดเป็นภาพ คิดคาดคะเนอารมณ์ สีหน้า ความรู้สึก คิดโดยประมวลสิ่งเร้าต่าง ๆ พร้อมกัน ศิลปะ ภาพสัญลักษณ์ ความสุนทรีย์ คิดรับรู้จินตนาการในลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ คิดแบบทันทีทันใด และญาณหยั่งรู้เรื่องของจิตใจ

 

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งสมองเป็น 3 ขั้นตามลำดับความซับซ้อนในการทำงาน ได้แก่ ชั้นในสุด เรียกว่า Reptilian ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณ, สมองส่วนกลาง ที่มี Amygdala ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรับรู้ ตอบสนองต่ออารมณ์โกรธ กลัว โดยส่งผลต่อการทำงานของสมองชั้นนอกสุด, สมองชั้นนอกสุด เรียกว่า Neocortex ซึ่งทำหน้าที่คิด รับรู้ พูด และวางแผน

 

พัฒนาการทางอารมณ์และสมองมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากสมองได้รับความเสียหาย กระบวนการคิด การตัดสินใจ การตอบสนองทางอารมณ์ และการแสดงออกต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์กับการปรับตัวในมหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่ 1” โดย ณัฐวุฒิ ศรีวัฒนาวานิช และ มินตรา ศรศิริ (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47863

 

“การเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดของผู้ป่วยยาเสพติดในสถาบันธัญญารักษ์” โดย วรรณิศา แสงแย้ม (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47575

 

Bar-On, R. (2006). The Bar-On model of emotional-social intelligence (ESI) 1. Psicothema, Retrieved from http://www.psicothema.com/pdf/3271.pdf

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้