จิตวิทยาพัฒนาการ

20 Oct 2017

อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

“จิตวิทยาพัฒนาการ” คือ ศาสตร์แห่งการเข้าใจมนุษย์ โดยใช้องค์ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์มาช่วยอธิบาย

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการมองว่า พัฒนาการมนุษย์นี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ชีวิตเกิดขึ้น ก็คือตั้งแต่เมื่อเซลล์จากทางพ่อ และรังไข่จากทางแม่ผสมกันสำเร็จเป็นเซลล์แรกของชีวิตใหม่ ดังนั้น พัฒนาการของชีวิตหนึ่งชีวิต จะเริ่มดูกันตั้งแต่ภายในครรภ์มารดาเลยว่า มีความสมบูรณ์ในระดับโครโมโซมหรือไม่ ระดับฮอร์โมนเพศอย่างไรที่ทำให้เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย มลภาวะ หรือสารพิษ อะไรบ้างที่ไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการในช่วงนี้ ต้องอาศัยศาสตร์ทางชีววิทยาเข้ามาช่วยอธิบาย ประกอบกับดูปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย จากนั้นเมื่อทารกเกิด นักวิจัยทางจิตวิทยาพัฒนาการจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการทารก ในช่วง 0 – 2 ปี เช่นว่าบุคลิกภาพที่ติดตัวมากับทารกแรกเกิดแต่ละคน มีทั้งแบบที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย บางคนก็ปรับตัวได้ปานกลาง บางคนก็ปรับตัวได้ยาก พ่อแม่บางคนจึงอาจรู้สึกท้อใจว่าบุคลิกภาพนี้จะติดตัวเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

 

จากผลการวิจัยที่ติดตามพัฒนาการระยะยาวของทารกไปจนถึงวัยรุ่น พบว่า เด็กทารกจะเติบโตมาเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพแรกเกิดเท่าใดนัก เพราะการเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่พ่อแม่สร้างกับลูก ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน จึงไม่จำเป็นว่าเด็กทารกที่เลี้ยงยาก จะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการไม่ดีเสมอไป หากทารกได้รับความรัก ความใส่ใจ และการตอบสนองที่เหมาะสม ก็จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมได้ นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการยังสนใจว่าทารกมีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร เช่น ผลจากการศึกษาที่พบว่า ทารกสามารถแยกแยะเสียงของแม่กับเสียงของคนแปลกหน้าได้ หรือการศึกษาที่พบว่าทารกชอบมองภาพที่มีลายเส้น มากกว่าภาพพื้น ๆ เป็นต้น

 

Baby doing his first steps

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการยังศึกษากระบวนการที่แม่มีปฎิสัมพันธ์กับลูกทารกเพื่อช่วยส่งเสริมความรู้สึกผูกพันของแม่และลูก และให้ลูกทารกรู้สึกปลอดภัย ซึ่งความรู้สึกอุ่นใจจากการที่มีคนดูแลนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญขั้นแรกของทารก ดังนั้น เด็กจะมีพัฒนาการใน 2 ขวบปีแรกได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความรัก ความเอาใจใส่ที่คนในครอบครัวมอบให้ลูกน้อย

 

จะเห็นได้ว่า จิตวิทยาพัฒนาการเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการมนุษย์ ผลที่ได้การศึกษาและวิจัยในศาสตร์นี้ จะช่วยให้เรารู้ว่า พัฒนาการเช่นไรที่ถือว่าเป็นปกติ และอย่างไรที่ถือว่าผิดปกติ การที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยเป็นแนวทางให้เราเลี้ยงดูลูกหลานและปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างเป็นปกติสุข และการที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ไม่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยไม่ให้เราไปเลี้ยงดูลูกหรือแนะนำคนอื่น ๆ แบบผิด ๆ หรือหากผิดพลาดไปแล้ว ก็จะต้องศึกษารายละเอียดของความผิดปกตินั้น เพื่อแก้ไขปัญหานั้นต่อไป

 

มีการศึกษามากมาย ที่ช่วยอธิบายว่าทารก 0 – 2 ปีแรก ควรมีพัฒนาการเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูได้เข้าใจว่า เด็กวัยทารกนี้ทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถทางกาย ทางการเรียนรู้ และทางอารมณ์สังคมเป็นเช่นไร และในช่วงนี้เราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้ทารกมีพัฒนาการไปในทางที่ดี นักจิตวิทยาพัฒนาการจึงมักศึกษาพัฒนาการที่เป็นปกติ ที่สามารถใช้อธิบายประชากรส่วนใหญ่ได้ เช่น พัฒนาการทางร่างกาย นักจิตวิทยาพัฒนาการ ก็จะศึกษารวบรวมข้อมูลพัฒนาการจนสรุปออกมาเป็นตารางได้ว่า เด็กโดยทั่วไปจะลุกนั่งทรงตัวหลังตรงโดยไม่ต้องมีพนักพิงได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน ตั้งไข่ได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน เป็นต้น โดยช่วงอายุที่แสดงก็จะเป็นช่วงกว้าง ๆ เพราะเด็กแต่ละคนอาจเริ่มมีพัฒนาการเร็วช้าต่างกัน แต่ตราบใดที่เด็กมีพัฒนาการในช่วงนี้ ก็ยังถือว่ามีพัฒนาการที่เป็นปกติ

 

ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กก็คือ การศึกษาว่าสินค้าและโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ที่บอกว่า ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่อายุเท่ากันได้นั้น สามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้เร็วขึ้นจริงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? …เพื่อตอบประเด็นนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการก็จะทำการศึกษาเชิงทดลอง เปรียบเทียบกลุ่มเด็กที่ได้ใช้สินค้าหรือที่ได้รับโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการ กับเด็กวัยเดียวกันที่ไม่ได้ใช้สินค้าหรือโปรแกรมใด ๆ ผลจากการทดลองรูปแบบนี้ก็จะช่วยทำไขข้อข้องใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ โดยรวมแล้ว สินค้าหรือโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กบางอย่าง ก็ช่วยส่งเสริมความสามารถของเด็กได้จริง แต่บางอย่างก็เป็นอวดอ้างที่เกินจริง

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการบางกลุ่มตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กคนหนึ่งพูดได้เร็ว ท่องคำศัพท์ หรือบวกลบคูณหารได้ก่อนใคร ๆ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราให้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกับเด็ก ให้ความรักความอบอุ่น เด็กก็จะเติบโตมาได้ มีพัฒนาการเป็นปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว บางทีความสุขของเด็ก อาจไม่ได้อยู่ที่ทำสิ่งใดได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่เป็นที่การได้เล่นกับพ่อแม่และคนในครอบครัวก็เป็นได้ แต่ถ้าประเมินดูแล้วว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องไปขอคำปรึกษาจากนักกระตุ้นพัฒนาการ

“นักกระตุ้นพัฒนาการ” ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งของนักจิตวิทยาพัฒนาการเช่นกัน นักพัฒนาการกลุ่มนี้ไม่เน้นการทำวิจัย หรือเน้นการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่เน้นในทางปฏิบัติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางพัฒนาการให้แก่เด็ก และช่วยแนะนำการดูแลลูกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้

นอกจากนี้ผู้ที่เรียนจบทางจิตวิทยาพัฒนาการหลายคน ก็ได้เอาความรู้ ไปประยุกต์ในสถาบันส่งเสริมพัฒนาการเด็กของตน หรือสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กมีกิจกรรมวันหยุด และได้ประสบการณ์ความรู้ใหม่ ๆ ไปด้วย

 

 

การส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กมีทักษะหรือความสามารถเร็วกว่าคนอื่นนั้นจำเป็นหรือไม่?

 

คำตอบก็คือ ถ้าเป็นความสามารถที่เด็กจะเรียนรู้ และทำได้อยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่สมควร เช่น การพูด การเดิน การวิ่งก็อาจจะไม่ต้องไปกระตุ้นพัฒนาการอะไรมาก แต่ถ้าเด็กมีภาวะที่ผิดปกติ เป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น อายุ 3 ขวบกว่าแล้วแต่ยังพูดเพียงไม่กี่คำ เป็นต้น ก็จะต้องพาเด็กไปพบกับผู้เชี่ยวชาญทางการกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อประเมินพัฒนาการทางการพูดของเด็ก และวางแผนช่วยกระตุ้นพัฒนาการ

 

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียน

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมนอกบ้าน การพิสูจน์ตนเองให้พ่อแม่เห็นว่าตนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และการพยายามทำความรู้จักกับตนเอง ว่าตนเองถนัดอะไร ทำอะไรได้ดีหรือแย่กว่าเพื่อนในชั้นเรียนบ้าง เด็กจะเริ่มมีสังคมเพื่อน เริ่มมีความสนใจกิจกรรมนอกชั้นเรียนต่าง ๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือกีฬาเป็นต้น

 

จากการวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูและการปรับตัวของเด็กวัยเรียน ก็จะแนะให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ทำหน้าที่คอยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักตนเอง ยิ่งเด็กโตมากขึ้น ก็จะเริ่มรับรู้ตนเองในทางที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น รู้ว่าตนเก่งภาษาอังกฤษ แต่อ่อนวิชาเลข ชอบวิชาพละ แต่ไม่ค่อยถนัดวิชาศิลปะ เป็นต้น เด็กโตจะมีการรู้คุณค่าในตนเองแบบแยกเป็นเรื่อง ๆ ได้ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า แม้ว่าตนจะทำได้ไม่ดีในทุกเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำได้ดี ซึ่งถ้าเด็กคิดได้เช่นนี้ ก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถรู้จุดเด่น เอาจุดเด่นมาเป็นคุณค่าในตนเองได้ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนชอบทำ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันลูกให้เก่งและดีในทุกเรื่องก็ได้ ให้เค้าทำอะไรได้ดีซักวิชานึง แล้วสอนให้เค้าพยายามให้เต็มที่กับวิชาที่ไม่ถนัด ค่อย ๆ สอนเค้าให้เห็นคุณค่าของทุกวิชาที่เรียน ว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตของเค้า บอกให้เค้าลองตั้งใจเรียนวิชาที่ไม่ชอบให้ถึงที่สุดก่อน เด็กบางคนไม่ชอบเรียนเลข แต่ฝันอยากเป็นวิศวกร เราก็ต้องช่วยอธิบายว่าวิชาเลขเกี่ยวข้องกับการเป็นวิศวกรอย่างไร เด็กหลาย ๆ คน พอได้ลองตั้งใจกับวิชาที่ไม่ชอบแล้ว กลับทำได้ดี กลายเป็นอีกวิชาหนึ่งที่ชื่นชอบก็ได้ ต้องอย่าลืมว่า เด็กแต่ละคนทำความเข้าใจต่อเรื่องต่าง ๆ ช้าเร็วไม่เท่ากัน เด็กที่เข้าใจความรู้บางเรื่องช้า ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง แต่เพราะยังไม่พร้อม หากได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากพ่อแม่และครู เด็กคนนั้นก็จะพัฒนาตนเองได้ เด็กวัยนี้โตพอที่จะเข้าใจหลักการของเหตุผล พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ด้วยเหตุผล ขอเพียงเราดูแลเขาด้วยความเข้าใจ และให้ความรัก ก็ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดแล้ว

 

มนุษย์เราทุกคนล้วนมีพัฒนาการ เกิด เรียนรู้ ปรับตัว เติบโต พัฒนาการจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา และอยู่กับเราตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นถ้าเราเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ เราก็จะเข้าใจตนอง และเข้าใจคนอื่น และสามารถนำความรู้ไปช่วยคนอื่น ๆ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้

หลายคนเข้าใจว่าจิตวิทยาพัฒนาการเน้นที่พัฒนาการเด็ก และสอนเรื่องการเลี้ยงลูกเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว ยังมีนักจิตวิทยาพัฒนาการอีกมากมายที่ไม่ได้สนใจพัฒนาการเด็ก แต่สนใจพัฒนาการวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยก็มี

 

 

พัฒนาการของวัยรุ่น

 

สำหรับวัยรุ่นแล้ว การมีกลุ่มเพื่อน และได้รับการยอมรับจากเพื่อนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ วัยรุ่นจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่เสียอีก แม้เมื่อกลับบ้านแล้ว ก็ยังแชทคุยกับเพื่อนอยู่ตลอด

 

พ่อแม่ของลูกวัยรุ่นต้องเข้าใจธรรมชาตินี้ให้มาก ๆ พยายามคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้สิทธิลูกวัยรุ่นในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญเราต้องทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะคุยกับเราในเวลาที่เขามีปัญหา คนวัยนี้ ถ้าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เขาอาจจะไปได้รับคำแนะนำที่ผิด ๆ จากคนอื่นนอกครอบครัว

 

นอกจากเรื่องเพื่อน ก็อาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์ด้วย วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มคิดเรื่องการมีแฟน หรือการดูแลให้ตัวเองดูดีเพื่อให้เป็นที่สนใจต่อคนรอบข้าง วัยรุ่นมักมีความเชื่อว่าตนเองเป็นจุดสนใจของผู้อื่น เช่น ถ้ามีสิว หรือผมยุ่ง หรือใส่เสื้อตัวที่เคยใส่มาก่อน คนจะจำได้

 

ถ้าอยากให้ลูกวัยรุ่นไว้ใจเรา คุยกับเรา ในฐานะพ่อแม่เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น หากลูกแต่งตัวหรือทำตัวไม่เหมาะสม เราก็สามารถตักเตือนได้ด้วยความรักความหวังดี แต่ไม่ควรไปต่อว่าให้ลูกรู้สึกอาย หรือไม่เป็นตัวของตัวเอง วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาความชอบความสนใจของตนเอง เพียงเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้เขาได้ลองทำ ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยที่ยังอยู่ในกรอบที่เราวางไว้ ขอเพียงเราสื่อให้ลูกวัยรุ่นรู้ว่า เขามีเราเป็นที่พึ่งคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อมีปัญหาเขาก็จะเข้ามาหาเรา มาเล่าให้เราฟังเอง จะเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ คิดเสียว่า ลูกวัยรุ่นกำลังฝึกการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ และเรามีหน้าที่เป็นครูผู้ฝึกชั้นดี มีอะไรที่เราเคยเรียนรู้ เคยผ่านมาก่อน ก็เอามาเล่ามาเตือนให้ลูกฟังได้

 

พ่อแม่บางคนมองว่าลูกของเรา ต่อให้โตยังไงอายุเท่าไหร่ เราก็ยังเห็นเขาเป็นเด็กอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าอยากให้ลูกไว้ใจ และสนิทกับเราไปนาน ๆ เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับบทบาทให้เข้ากับวัยของลูกที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะอีกไม่นาน เขาก็จะต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องดูแลตนเอง และรับผิดชอบตนเองอย่างเต็มตัว

 

 

พัฒนาการวัยผู้ใหญ่

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการแบ่งพัฒนาการช่วงวัยผู้ใหญ่ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่ตอนกลาง และผู้ใหญ่ตอนปลาย

 

Medium shot happy people together

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เราต่างคนก็จะมีทางชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนมีสถานการณ์ในชีวิต เช่น ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือมีลูกเร็ว ตั้งแต่อายุ 18 ก็จะทำให้คนผู้นั้นได้ชื่อว่ามีความเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าคนอื่น ๆ ในช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่บางคน ฐานะทางบ้านดี ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว พ่อแม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนได้สูงที่สุดเท่าที่คนคนนั้นจะทำได้ คนบางคนในกลุ่มนี้ บางทีอายุ 30 กว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอาชีพแน่นอน ยังเรียนต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังหาความสนใจของตนเองไม่เจอ จะเห็นได้ว่าอายุ ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะบ่งชี้ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ละคนจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นสั้นยาวไม่เท่ากัน

 

ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น ถือเป็นก้าวแรกของเราในการมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง มีรายได้เป็นของตนเอง มีหน้าที่การงานหรืออาชีพที่แน่นอน หรือเริ่มใช้ชีวิตคู่ มีครอบครัวมีลูก ช่วงวัยนี้ก็จะเน้นสร้างความก้าวหน้าในงานที่ตนทำ พยายามพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานยอมรับ ในขณะเดียวกันก็สร้างฐานะ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว

 

พอมาถึงวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ก็จะเริ่มมีลูกโตขึ้น เรียนมัธยมหรือเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนหน้าที่การงานก็จะเริ่มมั่นคงอยู่ตัว ได้เป็นหัวหน้างานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำอยู่ ถือเป็นรุ่นพี่ ที่ต้องทำหน้าที่สอนงานให้รุ่นน้อง ผู้ใหญ่วัยกลางคนในที่ทำงานมักเริ่มรู้สึกว่าอีกไม่กี่ปี ตนก็ต้องเกษียณอายุออกไป ดังนั้นเพื่อให้รู้สึกว่าตนได้ทิ้งอะไรที่เป็นประโยชน์ก่อนไป ก็มักจะแชร์ประสบการณ์ในงานให้คนรุ่นหลัง

 

ผู้ใหญ่ตอนกลางถือเป็นวัยแห่งการให้ เพราะถือว่าต้องดูแลใส่ใจความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอีกถึง 2 รุ่นด้วยกัน คือลูกวัยรุ่น และพ่อแม่ผู้สูงวัยของตน เป็นวัยที่พอตนประสบความสำเร็จด้านการเงินการงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มคิดถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เช่นงานอาสา งานบุญ การช่วยเหลือสังคม เป็นต้น

 

มาถึงวัยหลังเกษียณที่มักจะกำหนดด้วยอายุ 60 ปี ก็จะถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เป็นวัยที่หลาย ๆ คน มักเชื่อมโยงคนวัยนี้เข้ากับความเชื่องช้า ความเสื่อมถอย แต่แท้จริงแล้ว มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงวัยแต่ละคน มีระดับความเสื่อมถอยช้าเร็วแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายที่สะสมมาตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะคล้ายกับการสะสมบุญ เพราะหากเราเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ก็จะไปมีผลส่งให้เราเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงในวันข้างหน้า

 

นอกจากนี้ เนื่องจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนเราในยุคปัจจุบัน เรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น และยังคงความสามารถในการเรียนรู้ และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป เราคงจะตัดสินคนจากแค่อายุ ไม่ได้อีกแล้ว คุณค่าของคน ไม่ควรอยู่ที่ว่าเขามีอายุเท่าไหร่ แต่สามารถทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

แชร์คอนเท็นต์นี้